ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ค้นพระไตรปิฎก ชาดก หนังสือธรรมะ
     ฉบับหลวง   ฉบับมหาจุฬาฯ   บาลีอักษรไทย   PaliRoman 
อ่านหน้า[ต่าง] แรกอ่านหน้า[ต่าง] ที่แล้วแสดงหมายเลขหน้า
ในกรณี :- 
   บรรทัดแรกของแต่ละหน้าอ่านหน้า[ต่าง] ถัดไปอ่านหน้า[ต่าง] สุดท้าย
พระไตรปิฎกเล่มที่ ๑๙ พระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๑๑ สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค
เทวปทสูตรที่ ๒
เทวบท ๔ ประการ
[๑๕๘๘] ดูกรภิกษุทั้งหลาย เทวบทของพวกเทพ ๔ ประการนี้ เพื่อความบริสุทธิ์ ของสัตว์ทั้งหลายผู้ยังไม่บริสุทธิ์ เพื่อความผ่องแผ้วของสัตว์ทั้งหลายผู้ยังไม่ผ่องแผ้ว เทวบท ๔ ประการเป็นไฉน? อริยสาวกในธรรมวินัยนี้ ประกอบด้วยความเลื่อมใสอันไม่หวั่นไหวใน พระพุทธเจ้าว่า แม้เพราะเหตุนี้ๆ พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น ฯลฯ เป็นผู้จำแนกธรรม อริย- *สาวกนั้นย่อมรำพึงในใจว่า อะไรหนอเป็นเทวบทของพวกเทพ อริยสาวกนั้นย่อมรู้ชัดอย่างนี้ว่า เราได้ฟังในบัดนี้แลว่า เทวดาทั้งหลายมีความไม่เบียดเบียนเป็นอย่างยิ่ง อนึ่ง เรามิได้เบียดเบียน ใครๆ ซึ่งเป็นผู้สะดุ้งหรือมั่นคง เราประกอบด้วยธรรมคือเทวบทอยู่เป็นแน่ นี้เป็นเทวบทของ พวกเทพ เพื่อความบริสุทธิ์ของสัตว์ทั้งหลายผู้ยังไม่บริสุทธิ์ เพื่อความผ่องแผ้วของสัตว์ทั้งหลาย ผู้ยังไม่ผ่องแผ้วประการที่ ๑ อีกประการหนึ่ง อริยสาวกประกอบด้วยความเลื่อมใสอันไม่หวั่นไหว ในพระธรรม ... นี้เป็นเทวบทของพวกเทพ ... ประการที่ ๒ อีกประการหนึ่ง อริยสาวกประกอบ ด้วยความเลื่อมใสอันไม่หวั่นไหวในพระสงฆ์ ... นี้เป็นเทวบทของพวกเทพ ... ประการที่ ๓ อีก ประการหนึ่ง อริยสาวกประกอบด้วยศีลที่พระอริยเจ้าใคร่แล้วไม่ขาด ... เป็นไปเพื่อสมาธิ อริยสาวกนั้นย่อมรำพึงในใจว่า อะไรหนอเป็นเทวบทของพวกเทพ อริยสาวกนั้นย่อมรู้ชัดอย่างนี้ ว่า เราได้ฟังในบัดนี้แลว่า เทวดาทั้งหลายมีความไม่เบียดเบียนเป็นอย่างยิ่ง อนึ่ง เรามิได้ เบียดเบียนใครๆ ซึ่งเป็นผู้สะดุ้งหรือมั่นคง เราประกอบด้วยธรรมคือเทวบทอยู่เป็นแน่ นี้เป็น เทวบทของพวกเทพ ... ประการที่ ๔ ดูกรภิกษุทั้งหลาย เทวบทของพวกเทพ ๔ ประการนี้แล เพื่อความบริสุทธิ์ของสัตว์ทั้งหลายผู้ยังไม่บริสุทธิ์ เพื่อความผ่องแผ้วของสัตว์ทั้งหลายผู้ยังไม่ ผ่องแผ้ว.
จบ สูตรที่ ๕
สภาคตสูตร
เทวดาสรรเสริญผู้ประกอบด้วยธรรม ๔ ประการ
[๑๕๘๙] ดูกรภิกษุทั้งหลาย เทวดาทั้งหลายปลื้มใจไปสู่ที่ประชุมแล้วกล่าวถึงบุคคล ผู้ประกอบด้วยธรรม ๔ ประการ ธรรม ๔ ประการเป็นไฉน? อริยสาวกในธรรมวินัยนี้ ประกอบ ด้วยความเลื่อมใสอันไม่หวั่นไหวในพระพุทธเจ้าว่า แม้เพราะเหตุนี้ๆ พระผู้มีพระภาคพระองค์ นั้น ฯลฯ เป็นผู้จำแนกธรรม เทวดาเหล่าใดประกอบด้วยความเลื่อมใสอันไม่หวั่นไหวในพระ- *พุทธเจ้า จุติจากอัตภาพนั้นแล้ว ไปบังเกิดในภพนั้น เทวดาเหล่านั้นย่อมมีความคิดอย่างนี้ว่า พวกเราประกอบด้วยความเลื่อมใสอันไม่หวั่นไหวในพระพุทธเจ้าเห็นปานใด จุติจากอัตภาพนั้น แล้ว มาบังเกิดในที่นี้ แม้อริยสาวกผู้ประกอบด้วยความเลื่อมใสอันไม่หวั่นไหวในพระพุทธเจ้า เห็นปานนั้น ก็ย่อมเกิดในสำนักพวกเทวดาดังจะร้องเชิญว่า มาเถิด ดังนี้ อีกประการหนึ่ง อริยสาวกประกอบด้วยความเลื่อมใสอันไม่หวั่นไหวในพระธรรม ... ในพระสงฆ์ ... อีกประการ หนึ่ง อริยสาวกประกอบด้วยศีลที่พระอริยเจ้าใคร่แล้ว ไม่ขาด ฯลฯ เป็นไปเพื่อสมาธิ เทวดา เหล่าใดประกอบด้วยศีลที่พระอริยเจ้าใคร่แล้ว จุติจากอัตภาพนั้นแล้ว ไปบังเกิดในภพนั้น เทวดาเหล่านั้นย่อมมีความคิดอย่างนี้ว่า พวกเราประกอบด้วยศีลที่พระอริยเจ้าใคร่แล้วเห็นปานใด จุติจากอัตภาพนั้นแล้ว มาบังเกิดในที่นี้ แม้อริยสาวกผู้ประกอบด้วยศีลที่พระอริยเจ้าใคร่แล้ว เห็นปานนั้น ก็ย่อมเกิดในสำนักพวกเทวดาดังจะร้องเชิญว่า มาเถิด ดังนี้ ดูกรภิกษุทั้งหลาย เทวดาทั้งหลายปลื้มใจไปสู่ที่ประชุมแล้ว กล่าวถึงผู้ประกอบด้วยธรรม ๔ ประการนี้แล.
จบ สูตรที่ ๖
มหานามสูตร
สมบัติของอุบาสก
[๑๕๙๐] สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ นิโครธาราม ใกล้พระนคร กบิลพัสดุ์ แคว้นสักกะ ครั้งนั้นแล พระเจ้ามหานามศากยราช เสด็จเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค ถึงที่ประทับ ทรงอภิวาทแล้วประทับนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นแล้ว ได้ทูลถาม พระผู้มีพระภาคว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ด้วยเหตุเพียงเท่าไร บุคคลจึงจะชื่อว่าอุบาสก? พระผู้ มีพระภาคตรัสตอบว่า ดูกรมหาบพิตร บุคคลผู้ถึงพระพุทธเจ้าเป็นสรณะ ถึงพระธรรมเป็นสรณะ ถึงพระสงฆ์เป็นสรณะ ด้วยเหตุเพียงเท่านี้แล บุคคลจึงจะชื่อว่า เป็นอุบาสก. [๑๕๙๑] ม. ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ด้วยเหตุเพียงเท่าไร อุบาสกจึงจะชื่อว่า เป็นผู้ ถึงพร้อมด้วยศีล? พ. ดูกรมหาบพิตร อุบาสกเป็นผู้งดเว้นจากปาณาติบาต เป็นผู้งดเว้นจากอทินนาทาน เป็นผู้งดเว้นจากกาเมสุมิจฉาจาร เป็นผู้งดเว้นจากมุสาวาท เป็นผู้งดเว้นจากสุราเมรยมัชช- *ปมาทัฏฐาน ด้วยเหตุเพียงเท่านี้แล อุบาสกจึงจะชื่อว่า เป็นผู้ถึงพร้อมด้วยศีล. [๑๕๙๒] ม. ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ด้วยเหตุเพียงเท่าไร อุบาสกจึงจะชื่อว่า เป็นผู้ถึงพร้อมด้วยศรัทธา? พ. ดูกรมหาบพิตร อุบาสกในธรรมวินัยนี้ เป็นผู้มีศรัทธา คือ เชื่อพระปัญญา ตรัสรู้ของพระตถาคตว่า แม้เพราะเหตุนี้ๆ พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น ฯลฯ เป็นผู้จำแนก ธรรม ด้วยเหตุเพียงเท่านี้แล อุบาสกจึงจะชื่อว่า เป็นผู้ถึงพร้อมด้วยศรัทธา. [๑๕๙๓] ม. ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ด้วยเหตุเพียงเท่าไร อุบาสกจึงจะชื่อว่า เป็นผู้ถึงพร้อมด้วยจาคะ? พ. ดูกรมหาบพิตร อุบาสกในธรรมวินัยนี้ มีใจปราศจากความตระหนี่อันเป็น มลทิน มีจาคะอันไม่ติดขัด มีฝ่ามืออันชุ่ม ยินดีในการสละ ควรแก่การขอ ยินดีในการจำแนก อยู่ครอบครองเรือน ด้วยเหตุเพียงเท่านี้ อุบาสกจึงจะชื่อว่า เป็นผู้ถึงพร้อมด้วยจาคะ. [๑๕๙๔] ม. ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ก็ด้วยเหตุเพียงเท่าไร อุบาสกจึงจะชื่อว่า เป็นผู้ถึงพร้อมด้วยปัญญา? พ. ดูกรมหาบพิตร อุบาสกในธรรมวินัยนี้ เป็นผู้มีปัญญา คือ ประกอบด้วยปัญญา เป็นเหตุให้ถึง (เห็น) ความเกิดและความดับ เป็นอริยะ เป็นไปเพื่อชำแรกกิเลส ให้ถึงความ สิ้นทุกข์โดยชอบ ด้วยเหตุเพียงเท่านี้แล อุบาสกจึงชื่อว่า เป็นผู้ถึงพร้อมด้วยปัญญา.
จบ สูตรที่ ๗

             เนื้อความพระไตรปิฎก เล่มที่ ๑๙ บรรทัดที่ ๙๓๖๔-๙๔๓๑ หน้าที่ ๓๙๐-๓๙๓. https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=19&A=9364&Z=9431&pagebreak=0              ฟังเนื้อความพระไตรปิฎก : [คลิกเพื่อฟัง]              อ่านเทียบพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาฯ :- https://84000.org/tipitaka/attha/m_siri.php?B=19&siri=353              ศึกษาอรรถกถานี้ได้ที่ :- https://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=19&i=1588              ศึกษาพระไตรปิฏกฉบับภาษาบาลีอักษรไทย :- [1588-1594] https://84000.org/tipitaka/pali/pali_item_s.php?book=19&item=1588&items=7              The Pali Tipitaka in Roman :- [1588-1594] https://84000.org/tipitaka/pali/roman_item_s.php?book=19&item=1588&items=7              สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่ ๑๙ https://84000.org/tipitaka/read/?index_19              อ่านเทียบฉบับแปลอังกฤษ Compare with English Translation :- https://suttacentral.net/sn55.35/en/sujato

อ่านหน้า[ต่าง] แรกอ่านหน้า[ต่าง] ที่แล้วแสดงหมายเลขหน้า
ในกรณี :- 
   บรรทัดแรกของแต่ละหน้าอ่านหน้า[ต่าง] ถัดไปอ่านหน้า[ต่าง] สุดท้าย

บันทึก ๒๗ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๔๖ บันทึกล่าสุด ๒๒ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๖๐ การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจากพระไตรปิฎกฉบับหลวง. หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :