บทนำ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ค้นพระไตรปิฎก ชาดก หนังสือธรรมะ | |
|
|
๔. โภชนวรรค สิกขาบทที่ ๒ เรื่องพระเทวทัต [๔๗๕] โดยสมัยนั้น พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าประทับอยู่ ณ พระเวฬุวันวิหาร อันเป็น สถานที่พระราชทานเหยื่อแก่กระแต เขตพระนครราชคฤห์. ครั้งนั้น พระเทวทัตเสื่อมจากลาภและ สักการะ พร้อมด้วยบริษัทเที่ยวขออาหารในตระกูลทั้งหลายมาฉัน ประชาชนเพ่งโทษ ติเตียน โพนทะนาว่า ไฉนพระสมณะเชื้อสายพระศากยบุตรจึงได้เที่ยวขออาหารในตระกูลทั้งหลายมาฉัน เล่า โภชนะที่ดีใครจะไม่พอใจ อาหารที่อร่อยใครจะไม่ชอบใจ. ภิกษุทั้งหลายได้ยินประชาชนพวกนั้นเพ่งโทษ ติเตียน โพนทะนาอยู่ บรรดาที่เป็นผู้ มักน้อย ... ต่างก็เพ่งโทษ ติเตียน โพนทะนาว่า ไฉนพระเทวทัตจึงได้พร้อมด้วยบริษัทเที่ยวขอ อาหารในตระกูลทั้งหลายมาฉันเล่า แล้วกราบทูลเรื่องนั้นแด่พระผู้มีพระภาค ...ทรงสอบถาม พระผู้มีพระภาคทรงสอบถามพระเทวทัตว่า ดูกรเทวทัต ข่าวว่า เธอพร้อมด้วยบริษัท เที่ยวขออาหารในตระกูลทั้งหลายมาฉัน จริงหรือ? พระเทวทัตทูลรับว่า จริง พระพุทธเจ้าข้า.ทรงติเตียนแล้วบัญญัติสิกขาบท พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าทรงติเตียนว่า ดูกรโมฆบุรุษ ไฉนเธอจึงได้พร้อมด้วยบริษัทเที่ยว ขออาหารในตระกูลทั้งหลายมาฉันเล่า การกระทำของเธอนั่น ไม่เป็นไปเพื่อความเลื่อมใสของชุมชนที่ยังไม่เลื่อมใส หรือเพื่อ ความเลื่อมใสยิ่งของชุมชนที่เลื่อมใสแล้ว ... . ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็แลพวกเธอพึงยกสิกขาบทนี้ขึ้นแสดงอย่างนี้ ว่าดังนี้:-พระบัญญัติ ๘๑.๒. ก. เป็นปาจิตตีย์ ในเพราะฉันเป็นหมู่. ก็สิกขาบทนี้ ย่อมเป็นอันพระผู้มีพระภาคทรงบัญญัติแล้วแก่ภิกษุทั้งหลาย ด้วยประการ ฉะนี้.เรื่องพระเทวทัต จบ. เรื่องภิกษุอาพาธ [๔๗๖] สมัยนั้นแล ประชาชนนิมนต์ภิกษุทั้งหลาย ผู้อาพาธฉันภัตตาหาร. ภิกษุ ทั้งหลายพากันรังเกียจ ไม่รับนิมนต์ด้วยอ้างว่า การฉันเป็นหมู่พระผู้มีพระภาคทรงห้ามแล้ว แล้วกราบทูลเนื้อความนั้นแด่พระผู้มีพระภาค.ทรงอนุญาตให้ภิกษุอาพาธฉันเป็นหมู่ได้ ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคทรงทำธรรมีกถา ในเพราะเหตุเป็นเค้ามูลนั้น ในเพราะเหตุ แรกเกิดนั้น แล้วรับสั่งกะภิกษุทั้งหลายว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้ภิกษุผู้อาพาธ ฉันเป็นหมู่ได้. ก็แลพวกเธอพึงยกสิกขาบทนี้ขึ้นแสดงอย่างนี้ ว่าดังนี้:-พระอนุบัญญัติ ๑ ๘๑.๒. ข. เว้นไว้แต่สมัย เป็นปาจิตตีย์ ในเพราะฉันเป็นหมู่ นี้สมัยใน เรื่องนั้น คือ คราวอาพาธ นี้สมัยในเรื่องนั้น. ก็สิกขาบทนี้ ย่อมเป็นอันพระผู้มีพระภาคทรงบัญญัติแล้วแก่ภิกษุทั้งหลาย ด้วยประการ ฉะนี้.เรื่องภิกษุอาพาธ จบ. เรื่องทรงอนุญาตให้ฉันเป็นหมู่ในฤดูถวายจีวร [๔๗๗] สมัยต่อมาเป็นฤดูที่ชาวบ้านถวายจีวรกัน ประชาชนตกแต่งภัตตาหารพร้อม ด้วยจีวร แล้วนิมนต์ภิกษุทั้งหลายด้วยตั้งใจว่า ให้ท่านฉันแล้วจักให้ครองจีวร ภิกษุทั้งหลายพา กันรังเกียจ ไม่รับนิมนต์ด้วยอ้างว่า การฉันเป็นหมู่พระผู้มีพระภาคทรงห้ามแล้ว จีวรจึงเกิดขึ้น เล็กน้อย. ภิกษุทั้งหลายได้กราบทูลเรื่องนั้นแด่พระผู้มีพระภาค พระผู้มีพระภาคทรงอนุญาตว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย ในคราวที่ถวายจีวรกัน เราอนุญาตให้ฉันเป็นหมู่ได้. ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็แลพวกเธอพึงยกสิกขาบทนี้ขึ้นแสดงอย่างนี้ ว่าดังนี้:-พระอนุบัญญัติ ๒ ๘๑.๒. ค. เว้นไว้แต่สมัย เป็นปาจิตตีย์ ในเพราะฉันเป็นหมู่ นี้สมัยใน เรื่องนั้น คือ คราวอาพาธ คราวที่เป็นฤดูถวายจีวร นี้สมัยในเรื่องนั้น. ก็สิกขาบทนี้ ย่อมเป็นอันพระผู้มีพระภาคทรงบัญญัติแล้วแก่ภิกษุทั้งหลาย ด้วยประการ ฉะนี้.เรื่องทรงอนุญาตให้ฉันเป็นหมู่ในฤดูถวายจีวร จบ. เรื่องทรงอนุญาตให้ฉันเป็นหมู่ในฤดูทำจีวร [๔๗๘] สมัยต่อมา ประชาชนนิมนต์ภิกษุทั้งหลายผู้ช่วยกันทำจีวรฉันภัตตาหาร. ภิกษุ ทั้งหลายพากันรังเกียจ ไม่รับนิมนต์ด้วยอ้างว่า การฉันเป็นหมู่พระผู้มีพระภาคทรงห้ามแล้ว แล้วกราบทูลเรื่องนั้นแด่พระผู้มีพระภาค พระผู้มีพระภาคทรงอนุญาตว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย ในคราวที่ทำจีวรกัน เราอนุญาตให้ฉันเป็นหมู่ได้. ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็แลพวกเธอพึงยกสิกขาบทนี้ขึ้นแสดงอย่างนี้ ว่าดังนี้:-พระอนุบัญญัติ ๓ ๘๑. ๒. ง. เว้นไว้แต่สมัย เป็นปาจิตตีย์ ในเพราะฉันเป็นหมู่ นี้สมัยใน เรื่องนั้น คือ คราวอาพาธ คราวที่เป็นฤดูถวายจีวร คราวทำจีวร นี้สมัยในเรื่องนั้น. ก็สิกขาบทนี้ ย่อมเป็นอันพระผู้มีพระภาคทรงบัญญัติแล้วแก่ภิกษุทั้งหลาย ด้วยประการ ฉะนี้.เรื่องทรงอนุญาตให้ฉันเป็นหมู่ในฤดูทำจีวร จบ. เรื่องทรงอนุญาตให้ฉันเป็นหมู่ในคราวเดินทางไกล [๔๗๙] สมัยต่อมา ภิกษุทั้งหลายพากันเดินทางไกลไปกับประชาชน คราวนั้นภิกษุ เหล่านั้นได้บอกประชาชนพวกนั้นว่า โปรดรอสักครู่หนึ่งเถิดจ๊ะ พวกฉันจักไปบิณฑบาต. ประชาชนพวกนั้นกล่าวนิมนต์อย่างนี้ว่า นิมนต์ฉันที่นี้แหละ เจ้าข้า. ภิกษุทั้งหลายพากันรังเกียจไม่รับนิมนต์ด้วยอ้างว่า การฉันเป็นหมู่ พระผู้มีพระภาคทรง ห้ามแล้ว แล้วกราบทูลเรื่องนั้นแด่พระผู้มีพระภาค พระผู้มีพระภาคทรงอนุญาตว่า ดูกรภิกษุ ทั้งหลาย ในคราวที่เดินทางไกล เราอนุญาตให้ฉันเป็นหมู่ได้. ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็แลพวกเธอพึงยกสิกขาบทนี้ขึ้นแสดงอย่างนี้ ว่าดังนี้:-พระอนุบัญญัติ ๔ ๘๑.๒. จ. เว้นไว้แต่สมัย เป็นปาจิตตีย์ ในเพราะฉันเป็นหมู่ นี้สมัยใน เรื่องนั้น คือ คราวอาพาธ คราวที่เป็นฤดูถวายจีวร คราวที่ทำจีวร คราวที่เดินทาง ไกล นี้สมัยในเรื่องนั้น. ก็สิกขาบทนี้ ย่อมเป็นอันพระผู้มีพระภาคทรงบัญญัติแล้วแก่ภิกษุทั้งหลาย ด้วยประการ ฉะนี้.เรื่องทรงอนุญาตให้ฉันเป็นหมู่ในคราวเดินทางไกล จบ. เรื่องทรงอนุญาตให้ฉันเป็นหมู่ในคราวโดยสารเรือ [๔๘๐] สมัยต่อมา ภิกษุทั้งหลายโดยสารเรือไปกับประชาชน ครั้งนั้นภิกษุพวกนั้น ได้บอกประชาชนพวกนั้นว่า โปรดจอดเรือที่ฝั่งสักครู่หนึ่งเถิดจ้า พวกฉันจักไปบิณฑบาต. ประชาชนพวกนั้นกล่าวนิมนต์อย่างนี้ว่า นิมนต์ฉันที่นี้แหละ เจ้าข้า. ภิกษุทั้งหลายรังเกียจไม่รับนิมนต์ด้วยอ้างว่า การฉันเป็นหมู่พระผู้มีพระภาคทรงห้ามแล้ว แล้วกราบทูลเรื่องนั้นแด่พระผู้มีพระภาค พระผู้มีพระภาคทรงอนุญาตว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย ในคราวโดยสารเรือ เราอนุญาตให้ฉันเป็นหมู่ได้. ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็แลพวกเธอพึงยกสิกขาบทนี้ขึ้นแสดงอย่างนี้ ว่าดังนี้:-พระอนุบัญญัติ ๕ ๘๑.๒. ฉ. เว้นไว้แต่สมัย เป็นปาจิตตีย์ ในเพราะฉันเป็นหมู่ นี้สมัยใน เรื่องนั้น คือ คราวอาพาธ คราวที่เป็นฤดูถวายจีวร คราวที่ทำจีวร คราวที่เดิน ทางไกล คราวที่โดยสารเรือไป นี้สมัยในเรื่องนั้น. ก็สิกขาบทนี้ ย่อมเป็นอันพระผู้มีพระภาคทรงบัญญัติแล้วแก่ภิกษุทั้งหลาย ด้วยประการ ฉะนี้.เรื่องทรงอนุญาตให้ฉันเป็นหมู่ในคราวโดยสารเรือ จบ. เรื่องทรงอนุญาตให้ฉันเป็นหมู่ในคราวประชุมใหญ่ [๔๘๑] สมัยต่อมา ภิกษุทั้งหลายที่จำพรรษาในทิศทั้งหลาย เดินทางมายังพระนคร ราชคฤห์เพื่อเฝ้าเยี่ยมพระผู้มีพระภาค. ประชาชนเห็นภิกษุผู้มาจากราชอาณาเขตต่างๆ จึงนิมนต์ ฉันภัตตาหาร. ภิกษุทั้งหลายพากันรังเกียจไม่รับนิมนต์ด้วยอ้างว่า การฉันเป็นหมู่พระผู้มีพระภาคทรง ห้ามแล้ว แล้วกราบทูลเรื่องนั้นแด่พระผู้มีพระภาค พระผู้มีพระภาคทรงอนุญาตว่า ดูกรภิกษุ ทั้งหลาย ในคราวประชุมใหญ่ เราอนุญาตให้ฉันเป็นหมู่ได้. ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็แลพวกเธอพึงยกสิกขาบทนี้ขึ้นแสดงอย่างนี้ ว่าดังนี้:-พระอนุบัญญัติ ๖ ๘๑.๒. ช. เว้นไว้แต่สมัย เป็นปาจิตตีย์ ในเพราะฉันเป็นหมู่ นี้สมัยใน เรื่องนั้น คือ คราวอาพาธ คราวที่เป็นฤดูถวายจีวร คราวที่ทำจีวร คราวที่เดิน ทางไกล คราวที่โดยสารเรือไป คราวประชุมใหญ่ นี้สมัยในเรื่องนั้น. ก็สิกขาบทนี้ ย่อมเป็นอันพระผู้มีพระภาคทรงบัญญัติแล้วแก่ภิกษุทั้งหลาย ด้วยประการ ฉะนี้.เรื่องทรงอนุญาตให้ฉันเป็นหมู่ในคราวประชุมใหญ่ จบ. เรื่องทรงอนุญาตให้ฉันเป็นหมู่ในคราวภัตของสมณะ [๔๘๒] สมัยต่อมา พระญาติร่วมสายโลหิตของพระเจ้าพิมพิสารจอมเสนามาคธราช ทรงผนวชอยู่ในสำนักอาชีวก. คราวนั้นแล อาชีวกนั้นเข้าเฝ้าพระเจ้าพิมพิสารจอมเสนามาคธราช ถึงพระราชสำนัก ครั้นแล้วได้ถวายพระพรว่า ขอถวายพระพร อาตมภาพปรารถนาจะทำภัตตาหาร เลี้ยงนักบวชที่ถือลัทธิต่างๆ. ท้าวเธอตรัสว่า พระคุณเจ้าผู้เจริญ ถ้าพระคุณเจ้านิมนต์ภิกษุสงฆ์ มีพระพุทธเจ้าเป็นมุขให้ฉันก่อน ฉันจึงจะจัดทำถวายอย่างนั้นได้. จึงอาชีวกนั้นส่งทูตไปในสำนักภิกษุทั้งหลาย อาราธนาว่า ขอภิกษุทั้งหลายจงรับภัตตา- *หารของข้าพเจ้า เพื่อฉันในวันพรุ่งนี้. ภิกษุทั้งหลายรังเกียจไม่รับนิมนต์ด้วยอ้างว่า การฉันเป็นหมู่ พระผู้มีพระภาคทรงห้ามแล้ว. จึงอาชีวกนั้นเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงพุทธสำนัก. ครั้นแล้วได้กราบทูลปราศรัยกับ พระผู้มีพระภาค ครั้นผ่านการปราศรัยพอให้เป็นที่ระลึกถึงกันไปแล้ว ได้ยืน ณ ที่ควรส่วนข้าง หนึ่งกราบทูลว่า แม้พระโคดมผู้เจริญก็เป็นบรรพชิต แม้ข้าพเจ้าก็เป็นบรรพชิต บรรพชิตควร รับอาหารของบรรพชิต ขอพระโคดมผู้เจริญจงทรงรับภัตตาหารของข้าพเจ้าเพื่อเสวยในวันพรุ่งนี้ พร้อมด้วยภิกษุสงฆ์เถิด พระพุทธเจ้าข้า. พระผู้มีพระภาคทรงรับนิมนต์โดยอาการดุษณี. ครั้นอาชีวกนั้นทราบการทรงรับนิมนต์ของ พระผู้มีพระภาคแล้ว กลับไป. ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคทรงทำธรรมีกถา ในเพราะเหตุเป็นเค้ามูลนั้น ในเพราะเหตุ แรกเกิดนั้น แล้วรับสั่งกะภิกษุทั้งหลายว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย ในคราวภัตของสมณะ เราอนุญาต ให้ฉันเป็นหมู่ได้. ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็แลพวกเธอพึงยกสิกขาบทนี้ขึ้นแสดงอย่างนี้ ว่าดังนี้:-พระอนุบัญญัติ ๗ ๘๑.๒. ญ. เว้นไว้แต่สมัย เป็นปาจิตตีย์ ในเพราะฉันเป็นหมู่ นี้สมัย ในเรื่องนั้น คือ คราวอาพาธ คราวที่เป็นฤดูถวายจีวร คราวที่ทำจีวร คราวที่เดิน ทางไกล คราวที่โดยสารเรือไป คราวประชุมใหญ่ คราวภัตของสมณะ นี้สมัยใน เรื่องนั้น. ก็สิกขาบทนี้ ย่อมเป็นอันพระผู้มีพระภาคทรงบัญญัติแล้วแก่ภิกษุทั้งหลาย ด้วยประการ ฉะนี้.เรื่องทรงอนุญาตให้ฉันเป็นหมู่ในคราวภัตของสมณะ จบ. ----------------------------------------------------- สิกขาบทวิภังค์ [๔๘๓] ที่ชื่อว่า ฉันเป็นหมู่ คือ คราวที่มีภิกษุ ๔ รูป อันเขานิมนต์ด้วยโภชนะ ๕ อย่างใดอย่างหนึ่ง แล้วฉัน นี้ชื่อว่าฉันเป็นหมู่. บทว่า เว้นไว้แต่สมัย คือ ยกเว้นสมัย. ที่ชื่อว่า คราวอาพาธ คือ โดยที่สุดแม้เท้าแตก ภิกษุคิดว่าเป็นคราวอาพาธแล้วฉันได้. ที่ชื่อว่า คราวที่เป็นฤดูถวายจีวร คือ เมื่อกฐินยังไม่ได้กรานกำหนดท้ายฤดูฝน ๑ เดือน เมื่อกฐินกรานแล้ว ๕ เดือน ภิกษุคิดว่าเป็นคราวที่เป็นฤดูถวายจีวร แล้วฉันได้. ที่ชื่อว่า คราวที่ทำจีวร คือ เมื่อภิกษุกำลังทำจีวรกันอยู่ ภิกษุคิดว่าเป็นคราวที่ทำจีวร แล้วฉันได้. ที่ชื่อว่า คราวเดินทางไกล คือ ภิกษุคิดว่า จักเดินทางไปถึงกึ่งโยชน์ แล้วฉันได้ เมื่อจะไปก็ฉันได้ มาถึงแล้วก็ฉันได้. ที่ชื่อว่า คราวโดยสารเรือไป คือภิกษุคิดว่า เราจักโดยสารเรือไปแล้วฉันได้ เมื่อ จะโดยสารไปก็ฉันได้ โดยสารกลับมาแล้วก็ฉันได้. ที่ชื่อว่า คราวประชุมใหญ่ คือ คราวที่มีภิกษุ ๒-๓ รูปเที่ยวบิณฑบาตพอเลี้ยงกัน แต่เมื่อมีรูปที่ ๔ มารวมด้วย ไม่พอเลี้ยงกัน ภิกษุคิดว่าเป็นคราวประชุมใหญ่ แล้วฉันได้. ที่ชื่อว่า คราวภัตของสมณะ คือ คราวที่มีผู้ใดผู้หนึ่งซึ่งนับเนื่องว่าเป็นนักบวชทำ ภัตตาหารถวาย ภิกษุคิดว่าเป็นคราวภัตของสมณะ แล้วฉันได้. นอกจากสมัย ภิกษุรับว่า จักฉัน ต้องอาบัติทุกกฏ กลืนกิน ต้องอาบัติปาจิตตีย์ ทุกๆ คำกลืนบทภาชนีย์ ติกปาจิตตีย์ [๔๘๔] ฉันเป็นหมู่ ภิกษุสำคัญว่าฉันเป็นหมู่ เว้นไว้แต่สมัย ฉัน ต้องอาบัติปาจิตตีย์. ฉันเป็นหมู่ ภิกษุสงสัย เว้นไว้แต่สมัย ฉัน ต้องอาบัติปาจิตตีย์. ฉันเป็นหมู่ ภิกษุสำคัญว่ามิใช่ฉันเป็นหมู่ เว้นไว้แต่สมัย ฉัน ต้องอาบัติปาจิตตีย์.ทุกทุกกฏ มิใช่ฉันเป็นหมู่ ภิกษุสำคัญว่าฉันเป็นหมู่ ... ต้องอาบัติทุกกฏ. มิใช่ฉันเป็นหมู่ ภิกษุสงสัย ... ต้องอาบัติทุกกฏ.ไม่ต้องอาบัติ มิใช่ฉันเป็นหมู่ ภิกษุสำคัญว่ามิใช่ฉันเป็นหมู่ ไม่ต้องอาบัติ.อนาปัตติวาร [๔๘๕] ภิกษุฉันในสมัย ๑ ภิกษุ ๒-๓ รูปฉันรวมกัน ๑ ภิกษุหลายรูปเที่ยวบิณฑบาต แล้วประชุมฉันแห่งเดียวกัน ๑ ภัตเขาถวายเป็นนิตย์ ๑ ภัตเขาถวายตามสลาก ๑ ภัตเขาถวาย ในปักษ์ ๑ ภัตเขาถวายในวันอุโบสถ ๑ ภัตเขาถวายในวันปาฏิบท ๑ ภิกษุฉันอาหารทุกชนิด เว้นโภชนะ ห้า ๑ ภิกษุวิกลจริต ๑ ภิกษุอาทิกัมมิกะ ๑ ไม่ต้องอาบัติแล.โภชนวรรค สิกขาบทที่ ๒ จบ. ----------------------------------------------------- เนื้อความพระไตรปิฎก เล่มที่ ๒ บรรทัดที่ ๑๐๒๖๙-๑๐๔๔๓ หน้าที่ ๔๒๖-๔๓๓. https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=2&A=10269&Z=10443&pagebreak=0 ฟังเนื้อความพระไตรปิฎก : [1], [2], [3] อ่านเทียบพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาฯ :- https://84000.org/tipitaka/attha/m_siri.php?B=2&siri=68 ศึกษาอรรถกถานี้ได้ที่ :- https://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=2&i=475 ศึกษาพระไตรปิฏกฉบับภาษาบาลีอักษรไทย :- [475-485] https://84000.org/tipitaka/pali/pali_item_s.php?book=2&item=475&items=11 อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย :- https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=2&A=8111 The Pali Tipitaka in Roman :- [475-485] https://84000.org/tipitaka/pali/roman_item_s.php?book=2&item=475&items=11 The Pali Atthakatha in Roman :- https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=2&A=8111 สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่ ๒ https://84000.org/tipitaka/read/?index_2 อ่านเทียบฉบับแปลอังกฤษ Compare with English Translation :- https://suttacentral.net/pli-tv-bu-vb-pc32/en/brahmali
บันทึก ๒๗ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๔๖ บันทึกล่าสุด ๒๒ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๖๐ การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจากพระไตรปิฎกฉบับหลวง. หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]