บทนำ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ค้นพระไตรปิฎก ชาดก หนังสือธรรมะ | |
|
|
๖. สุราปานวรรค สิกขาบทที่ ๗ เรื่องพระเจ้าพิมพิสาร [๖๑๐] โดยสมัยนั้น พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าประทับอยู่ ณ พระเวฬุวันวิหาร อันเป็น สถานที่พระราชทานเหยื่อแก่กระแต เขตพระนครราชคฤห์. ครั้งนั้นภิกษุพากันสรงน้ำอยู่ในแม่น้ำ ตโปทา ขณะนั้นแล พระเจ้าพิมพิสารจอมทัพแห่งมคธรัฐเสด็จไปสู่แม่น้ำตโปทา ด้วยพระราช- *ประสงค์จะทรงสนานพระเศียรเกล้า แล้วประทับพักรออยู่ในที่ควรแห่งหนึ่ง ด้วยตั้งพระทัยว่า จักทรงสนานต่อเมื่อพระคุณเจ้าสรงน้ำเสร็จ ภิกษุทั้งหลายได้สรงน้ำอยู่จนถึงเวลาพลบ ดังนั้น ท้าวเธอจึงสรงสนานพระเศียรเกล้าในเวลาพลบค่ำ เมื่อประตูพระนครปิด จำต้องประทับแรมอยู่ นอกพระนคร แล้วเสด็จเข้าเฝ้าพระผู้มีพระภาคแต่เช้า ทั้งๆ ที่เครื่องประทิ่นทรงยังคงปรากฏอยู่ ถวายบังคมพระผู้มีพระภาค แล้วประทับเหนือพระราชอาสน์อันสมควรส่วนข้างหนึ่ง. พระผู้มีพระภาคตรัสถามท้าวเธอผู้นั่งประทับเรียบร้อยแล้วว่า ดูกรมหาบพิตร พระองค์ เสด็จมาแต่เช้า ทั้งเครื่องวิเลปนะที่ทรงยังคงปรากฏอยู่ เพื่อพระราชประสงค์อะไร? จึงท้าวเธอกราบทูลเรื่องนั้นแด่พระผู้มีพระภาค พระผู้มีพระภาคทรงชี้แจ้งให้ท้าวเธอ ทรงเห็นแจ้ง สมาทาน อาจหาญ ร่าเริง ด้วยธรรมีกถา. ครั้นท้าวเธออันพระผู้มีพระภาคทรง ชี้แจ้ง ให้เห็นแจ้ง สมาทาน อาจหาญ ร่าเริง ด้วยธรรมีกถาแล้วเสด็จลุกจากที่ประทับ ทรงอภิวาทพระผู้มีพระภาค ทำประทักษิณแล้วเสด็จกลับ.ประชุมสงฆ์ทรงบัญญัติสิกขาบท ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาครับสั่งให้ประชุมภิกษุสงฆ์ ในเพราะเหตุเป็นเค้ามูลนั้น ใน เพราะเหตุแรกเกิดนั้น แล้วทรงสอบถามภิกษุทั้งหลายว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย ข่าวว่า พวกภิกษุ แม้พบพระเจ้าแผ่นดินแล้ว ก็ยังอาบน้ำอยู่ไม่รู้จักประมาณจริงหรือ? ภิกษุทั้งหลายทูลรับว่า จริง พระพุทธเจ้าข้า.ทรงติเตียนแล้วบัญญัติสิกขาบท พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าทรงติเตียนว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย ไฉน ภิกษุโมฆบุรุษเหล่านั้น แม้เห็นพระเจ้าแผ่นดินแล้ว จึงยังอาบน้ำอยู่ ไม่รู้จักประมาณเล่า การกระทำของภิกษุโมฆบุรุษ เหล่านั้นนั่น ไม่เป็นไปเพื่อความเลื่อมใสของชุมชนที่ยังไม่เลื่อมใส หรือเพื่อความเลื่อมใสยิ่ง ของชุมชนที่เลื่อมใสแล้ว ... ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็แลพวกเธอพึงยกสิกขาบทนี้ขึ้นแสดงอย่างนี้ ว่าดังนี้:-พระบัญญัติ ๑๐๖. ๗. อนึ่ง ภิกษุใด ยังหย่อนกึ่งเดือน อาบน้ำ เป็นปาจิตตีย์. ก็สิกขาบทนี้ ย่อมเป็นอันพระผู้มีพระภาคทรงบัญญัติแล้วแก่ภิกษุทั้งหลายด้วยประการฉะนี้.เรื่องพระเจ้าพิมพิสาร จบ. ทรงอนุญาตให้อาบน้ำในฤดูร้อน [๖๑๑] ครั้นถึงคราวร้อน คราวกระวนกระวาย ภิกษุทั้งหลายพากันรังเกียจไม่อาบน้ำ ย่อมนอนทั้งๆ ที่ร่างกายชุ่มด้วยเหงื่อ เหงื่อนั้นย่อมประทุษร้ายทั้งจีวรทั้งเสนาสนะ ภิกษุ ทั้งหลายได้กราบทูลเรื่องนั้นแด่พระผู้มีพระภาค พระผู้มีพระภาคทรงอนุญาตว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย ในคราวร้อน ในคราวกระวนกระวาย เราอนุญาต ยังหย่อนกึ่งเดือนก็อาบน้ำได้. ก็แลพวกเธอพึงยกสิกขาบทนี้ขึ้นแสดงอย่างนี้ ว่าดังนี้:-พระอนุบัญญัติ ๑ ๑๐๖. ๗. ก. อนึ่ง ภิกษุใด ยังหย่อนกึ่งเดือน อาบน้ำ เว้นไว้แต่สมัย เป็นปาจิตตีย์ นี้สมัยในเรื่องนั้น เดือนกึ่งท้ายฤดูร้อน เดือนต้นแห่งฤดูฝน สองเดือน กึ่งนี้ เป็นคราวร้อน เป็นคราวกระวนกระวาย นี้สมัยในเรื่องนั้น. ก็สิกขาบทนี้ ย่อมเป็นอันพระผู้มีพระภาคทรงบัญญัติแล้วแก่ภิกษุทั้งหลายด้วยประการ ฉะนี้.เรื่องทรงอนุญาตให้อาบน้ำในฤดูร้อน จบ. ทรงอนุญาตให้ภิกษุผู้อาพาธอาบน้ำได้ [๖๑๒] สมัยต่อมา ภิกษุทั้งหลายอาพาธ บรรดาภิกษุผู้พยาบาลไข้ได้ถามพวกภิกษุ ผู้อาพาธว่า อาวุโสทั้งหลาย พออดทนได้หรือ? พอยังอัตภาพให้เป็นไปได้หรือ? ภิกษุผู้อาพาธตอบว่า อาวุโสทั้งหลาย เมื่อก่อน พวกผมอาบน้ำในกาลยังหย่อนกึ่งเดือน ได้ เพราะเหตุนั้น พวกผมจึงมีความผาสุก แต่บัดนี้พวกผมรังเกียจอยู่ว่า พระผู้มีพระภาคทรง ห้ามแล้ว จึงไม่ได้อาบน้ำ เพราะเหตุนั้น พวกผมจึงไม่มีความผาสุก. ภิกษุทั้งหลายได้กราบทูลเรื่องนั้นแด่พระผู้มีพระภาค พระผู้มีพระภาคทรงอนุญาตว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้ภิกษุอาพาธ ยังหย่อนกึ่งเดือน อาบน้ำได้. ก็แลพวกเธอพึงยกสิกขาบทนี้ขึ้นแสดงอย่างนี้ ว่าดังนี้:-พระอนุบัญญัติ ๒ ๑๐๖. ๗. ข. อนึ่ง ภิกษุใด ยังหย่อนกึ่งเดือน อาบน้ำเว้นไว้แต่สมัย เป็นปาจิตตีย์. นี้สมัยในเรื่องนั้น เดือนกึ่งท้ายฤดูร้อน เดือนต้นแห่งฤดูฝน สองเดือน กึ่งนี้ เป็นคราวร้อน เป็นคราวกระวนกระวาย คราวเจ็บไข้ นี้สมัยในเรื่องนั้น. ก็สิกขาบทนี้ ย่อมเป็นอันพระผู้มีพระภาคทรงบัญญัติแล้วแก่ภิกษุทั้งหลายด้วยประการ ฉะนี้.เรื่องอนุญาตให้ภิกษุผู้อาพาธอาบน้ำได้ จบ. ทรงอนุญาตให้ภิกษุทำนวกรรมอาบน้ำได้ [๖๑๓] สมัยต่อมา ภิกษุทั้งหลายทำนวกรรมแล้ว พากันรังเกียจไม่อาบน้ำ ย่อมนอน ทั้งๆ ที่ร่างกายชุ่มด้วยเหงื่อ เหงื่อนั้นย่อมประทุษร้ายทั้งจีวรทั้งเสนาสนะ ภิกษุทั้งหลายได้ กราบทูลเรื่องนั้นแด่พระผู้มีพระภาค พระผู้มีพระภาคทรงอนุญาตว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย ในคราว ทำงาน เราอนุญาต หย่อนกึ่งเดือน อาบน้ำได้. ก็แลพวกเธอพึงยกสิกขาบทนี้ขึ้นแสดงอย่างนี้ ว่าดังนี้:-พระอนุบัญญัติ ๓ ๑๐๖. ๗. ค. อนึ่ง ภิกษุใด ยังหย่อนกึ่งเดือน อาบน้ำ เว้นไว้แต่สมัย เป็นปาจิตตีย์ นี้สมัยในเรื่องนั้น เดือนกึ่งท้ายฤดูร้อน เดือนต้นแห่งฤดูฝน สองเดือน กึ่งนี้ เป็นคราวร้อน เป็นคราวกระวนกระวาย คราวเจ็บไข้ คราวทำการงาน นี้สมัย ในเรื่องนั้น. ก็สิกขาบทนี้ ย่อมเป็นอันพระผู้มีพระภาคทรงบัญญัติแล้วแก่ภิกษุทั้งหลายด้วยประการ ฉะนี้.เรื่องทรงอนุญาตให้ภิกษุทำนวกรรมอาบน้ำได้ จบ. ทรงอนุญาตให้ภิกษุไปทางไกลอาบน้ำได้ [๖๑๔] สมัยต่อมา ภิกษุทั้งหลายพากันเดินทางไกลไปแล้ว พากันรังเกียจไม่อาบน้ำ ย่อมนอนทั้งๆ ที่ร่างกายชุ่มด้วยเหงื่อ เหงื่อนั้นย่อมประทุษร้ายทั้งจีวร ทั้งเสนาสนะ ภิกษุ ทั้งหลายได้กราบทูลเรื่องนั้นแด่พระผู้มีพระภาค พระผู้มีพระภาคทรงอนุญาตว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย คราวไปทางไกล เราอนุญาต ยังหย่อนกึ่งเดือน อาบน้ำได้. ก็แลพวกเธอพึงยกสิกขาบทนี้ขึ้นแสดงอย่างนี้ ว่าดังนี้:-พระอนุบัญญัติ ๔ ๑๐๖. ๗. ง. อนึ่ง ภิกษุใด ยังหย่อนกึ่งเดือน อาบน้ำ เว้นไว้แต่สมัย เป็นปาจิตตีย์ นี้สมัยในเรื่องนั้น เดือนกึ่งท้ายฤดูร้อน เดือนต้นแห่งฤดูฝน สองเดือน กึ่งนี้ เป็นคราวร้อน เป็นคราวกระวนกระวาย คราวเจ็บไข้ คราวทำการงาน คราวไปทางไกลนี้สมัยในเรื่องนั้น. ก็สิกขาบทนี้ ย่อมเป็นอันพระผู้มีพระภาคทรงบัญญัติแล้วแก่ภิกษุทั้งหลายด้วยประการ ฉะนี้.เรื่องทรงอนุญาตให้ภิกษุไปทางไกลอาบน้ำได้ จบ. ทรงอนุญาตให้ภิกษุทำจีวรอาบน้ำได้ [๖๑๕] สมัยต่อมา ภิกษุหลายรูปกำลังช่วยกันทำจีวรกรรมอยู่ในที่แจ้ง ถูกต้องลมผสม ธุลี ทั้งฝนก็ตกถูกต้องประปราย ภิกษุทั้งหลายพากันรังเกียจไม่อาบน้ำ ย่อมนอนทั้งๆ ที่ร่างกาย โสมม ร่างกายที่โสมมนั้นย่อมประทุษร้ายทั้งจีวร ทั้งเสนาสนะ ภิกษุทั้งหลายได้กราบทูลเรื่องนั้น แด่พระผู้มีพระภาค พระผู้มีพระภาคทรงอนุญาตว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย ในคราวฝนปนพายุ เราอนุญาต ยังหย่อนกึ่งเดือน อาบน้ำได้. ก็แลพวกเธอพึงยกสิกขาบทนี้ขึ้นแสดงอย่างนี้ ว่าดังนี้:-พระอนุบัญญัติ ๕ ๑๐๖. ๗. จ. อนึ่ง ภิกษุใด ยังหย่อนกึ่งเดือน อาบน้ำ เว้นไว้แต่สมัย เป็นปาจิตตีย์ นี้สมัยในเรื่องนั้น เดือนกึ่งท้ายฤดูร้อน เดือนต้นแห่งฤดูฝน สองเดือน กึ่งนี้ เป็นคราวร้อน เป็นคราวกระวนกระวาย คราวเจ็บไข้ คราวทำการงาน คราว ไปทางไกล คราวฝนมากับพายุ นี้สมัยในเรื่องนั้น.เรื่องทรงอนุญาตให้ภิกษุทำจีวรอาบน้ำได้ จบ. สิกขาบทวิภังค์ [๖๑๖] บทว่า อนึ่ง ... ใด ความว่า ผู้ใด คือ ผู้เช่นใด ... บทว่า ภิกษุ ความว่า ที่ชื่อว่า ภิกษุ เพราะอรรถว่าเป็นผู้ขอ ... นี้ ชื่อว่า ภิกษุ ที่ทรงประสงค์ในอรรถนี้. บทว่า ยังหย่อนกึ่งเดือน คือ ยังไม่ถึงครึ่งเดือน. บทว่า อาบน้ำ ได้แก่ อาบน้ำด้วยจุรณหรือดินเหนียว เป็นทุกกฏในประโยค เมื่อ อาบน้ำเสร็จ ต้องอาบัติปาจิตตีย์. บทว่า เว้นไว้แต่สมัย คือ ยกไว้แต่มีสมัย. ที่ชื่อว่า คราวร้อน คือ เดือนกึ่งท้ายฤดูร้อน. ที่ชื่อว่า คราวกระวนกระวาย คือ เดือนต้นแห่งฤดูฝน ภิกษุอาบน้ำได้ เพราะ ถือว่าสองเดือนกึ่งนี้ เป็นคราวร้อน เป็นคราวกระวนกระวาย. ที่ชื่อว่า คราวเจ็บไข้ คือ เว้นอาบน้ำ ย่อมไม่สบาย ภิกษุอาบน้ำได้ เพราะถือว่า เป็นคราวเจ็บไข้. ที่ชื่อว่า คราวทำการงาน คือ โดยที่สุดแม้กวาดบริเวณ ภิกษุอาบน้ำได้ เพราะถือว่า เป็นคราวทำการงาน. ที่ชื่อว่า คราวไปทางไกล คือ ภิกษุตั้งใจว่า จักเดินทางกึ่งโยชน์ อาบน้ำได้ คือ ตอนจะไปอาบน้ำได้ ไปถึงแล้วก็อาบน้ำได้. ที่ชื่อว่า คราวฝนมากับพายุ คือ ภิกษุทั้งหลายถูกต้องลมผสมธุลี หยาดฝนตกถูกต้อง กาย ๒-๓ หยาด อาบน้ำได้ เพราะถือว่าเป็นคราวฝนมากับพายุ.บทภาชนีย์ ติกะปาจิตตีย์ [๖๑๗] หย่อนกึ่งเดือน ภิกษุสำคัญว่าหย่อน อาบน้ำ เว้นไว้แต่สมัย ต้องอาบัติ- *ปาจิตตีย์. หย่อนกึ่งเดือน ภิกษุสงสัย อาบน้ำ เว้นไว้แต่สมัย ต้องอาบัติปาจิตตีย์. หย่อนกึ่งเดือน ภิกษุสำคัญว่าเกิน อาบน้ำ เว้นไว้แต่สมัย ต้องอาบัติปาจิตตีย์.ทุกะทุกกฏ เกินกึ่งเดือน ภิกษุสำคัญว่าหย่อน ... ต้องอาบัติทุกกฏ. เกินกึ่งเดือน ภิกษุสงสัย ... ต้องอาบัติทุกกฏ.ไม่ต้องอาบัติ เกินกึ่งเดือน ภิกษุสำคัญว่าเกิน ... ไม่ต้องอาบัติ.อนาปัตติวาร [๖๑๘] ภิกษุอาบน้ำในสมัย ๑ ภิกษุอาบน้ำในเวลากึ่งเดือน ๑ ภิกษุอาบน้ำในเวลาเกิน กึ่งเดือน ๑ ภิกษุข้ามฟากอาบน้ำ ๑ ภิกษุอาบน้ำในปัจจันตชนบท ทุกๆ แห่ง ๑ ภิกษุอาบน้ำ เพราะมีอันตราย ๑ ภิกษุวิกลจริต ๑ ภิกษุอาทิกัมมิกะ ๑ ไม่ต้องอาบัติแล.สุราปานวรรค สิกขาบทที่ ๗ จบ. ----------------------------------------------------- เนื้อความพระไตรปิฎก เล่มที่ ๒ บรรทัดที่ ๑๒๒๗๕-๑๒๔๑๑ หน้าที่ ๕๒๒-๕๒๗. https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=2&A=12275&Z=12411&pagebreak=0 ฟังเนื้อความพระไตรปิฎก : [1], [2] อ่านเทียบพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาฯ :- https://84000.org/tipitaka/attha/m_siri.php?B=2&siri=93 ศึกษาอรรถกถานี้ได้ที่ :- https://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=2&i=610 ศึกษาพระไตรปิฏกฉบับภาษาบาลีอักษรไทย :- [610-618] https://84000.org/tipitaka/pali/pali_item_s.php?book=2&item=610&items=9 อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย :- https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=2&A=9599 The Pali Tipitaka in Roman :- [610-618] https://84000.org/tipitaka/pali/roman_item_s.php?book=2&item=610&items=9 The Pali Atthakatha in Roman :- https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=2&A=9599 สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่ ๒ https://84000.org/tipitaka/read/?index_2 อ่านเทียบฉบับแปลอังกฤษ Compare with English Translation :- https://suttacentral.net/pli-tv-bu-vb-pc57/en/brahmali https://suttacentral.net/pli-tv-bu-vb-pc57/en/horner
บันทึก ๒๗ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๔๖ บันทึกล่าสุด ๒๒ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๖๐ การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจากพระไตรปิฎกฉบับหลวง. หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]