ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ค้นพระไตรปิฎก ชาดก หนังสือธรรมะ
     ฉบับหลวง   ฉบับมหาจุฬาฯ   บาลีอักษรไทย   PaliRoman 
อ่านหน้า[ต่าง] แรกอ่านหน้า[ต่าง] ที่แล้วแสดงหมายเลขหน้า
ในกรณี :- 
   บรรทัดแรกของแต่ละหน้าอ่านหน้า[ต่าง] ถัดไปอ่านหน้า[ต่าง] สุดท้าย
พระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๐ พระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๑๒ อังคุตตรนิกาย เอก-ทุก-ติกนิบาต
             [๒๗๗] ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราจักแสดงภูมิอสัตบุรุษและสัตบุรุษแก่
เธอทั้งหลาย เธอทั้งหลายจงฟัง จงใส่ใจให้ดี เราจักกล่าว ภิกษุทั้งหลายนั้น
ทูลรับพระดำรัสพระผู้มีพระภาคแล้ว พระผู้มีพระภาคได้ตรัสว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย
ก็ภูมิอสัตบุรุษเป็นไฉน อสัตบุรุษย่อมเป็นคนอกตัญญูอกตเวที ก็ความเป็นคน
อกตัญญูอกตเวทีนี้ อสัตบุรุษทั้งหลายสรรเสริญ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ความเป็นคน
อกตัญญูอกตเวทีนี้ เป็นภูมิอสัตบุรุษทั้งสิ้น ดูกรภิกษุทั้งหลาย ส่วนสัตบุรุษ
ย่อมเป็นคนกตัญญูกตเวที ก็ความเป็นคนกตัญญูกตเวทีนี้ สัตบุรุษทั้งหลาย
สรรเสริญ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ความเป็นคนกตัญญูกตเวทีทั้งหมดนี้เป็นภูมิ
สัตบุรุษ ฯ
             [๒๗๘] ดูกรภิกษุทั้งหลาย เรากล่าวการกระทำตอบแทนไม่ได้ง่ายแก่
ท่านทั้ง ๒ ท่านทั้ง ๒ คือใคร คือ มารดา ๑ บิดา ๑ ดูกรภิกษุทั้งหลาย บุตร
พึงประคับประคองมารดาด้วยบ่าข้างหนึ่ง พึงประคับประคองบิดาด้วยบ่าข้างหนึ่ง
เขามีอายุ มีชีวิตอยู่ตลอดร้อยปี และเขาพึงปฏิบัติท่านทั้ง ๒ นั้นด้วยการอบกลิ่น
การนวด การให้อาบน้ำ และการดัด และท่านทั้ง ๒ นั้น พึงถ่ายอุจจาระ
ปัสสาวะบนบ่าทั้งสองของเขานั่นแหละ ดูกรภิกษุทั้งหลาย การกระทำอย่างนั้น
ยังไม่ชื่อว่าอันบุตรทำแล้วหรือทำตอบแทนแล้วแก่มารดาบิดาเลย ดูกรภิกษุทั้งหลาย
อนึ่ง บุตรพึงสถาปนามารดาบิดาในราชสมบัติ อันเป็นอิสราธิปัตย์ ในแผ่นดิน
ใหญ่อันมีรตนะ ๗ ประการมากหลายนี้ การกระทำกิจอย่างนั้น ยังไม่ชื่อว่าอัน
บุตรทำแล้วหรือทำตอบแทนแล้วแก่มารดาบิดาเลย ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะ
มารดาบิดามีอุปการะมาก บำรุงเลี้ยง แสดงโลกนี้แก่บุตรทั้งหลาย ส่วนบุตร
คนใดยังมารดาบิดาผู้ไม่มีศรัทธา ให้สมาทานตั้งมั่นในศรัทธาสัมปทา ยังมารดา
บิดาผู้ทุศีล ให้สมาทานตั้งมั่นในศีลสัมปทา ยังมารดาบิดาผู้มีความตระหนี่ ให้
สมาทานตั้งมั่นในจาคสัมปทา ยังมารดาบิดาทรามปัญญา ให้สมาทานตั้งมั่นใน
ปัญญาสัมปทา ดูกรภิกษุทั้งหลาย ด้วยเหตุมีประมาณเท่านี้แล การกระทำอย่างนั้น
ย่อมชื่อว่าอันบุตรนั้นทำแล้ว และทำตอบแทนแล้ว แก่มารดาบิดา ฯ
             [๒๗๙] ครั้งนั้นแล พราหมณ์คนหนึ่งเข้าเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ
ได้ปราศรัยกับพระผู้มีพระภาค ครั้นผ่านการปราศรัยพอให้ระลึกถึงกันไปแล้ว จึง
นั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นแล้วได้ทูลถามพระผู้มีพระภาคว่า ท่านพระโคดม
มีวาทะว่าอย่างไร กล่าวว่าอย่างไร พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า ดูกรพราหมณ์
เรามีวาทะว่าควรทำ และมีวาทะว่าไม่ควรทำ ฯ
             พ. ท่านพระโคดม มีวาทะว่าควรทำ และมีวาทะว่าไม่ควรทำอย่างไร ฯ
             ภ. ดูกรพราหมณ์ เรากล่าวว่า ไม่ควรทำกายทุจริต วจีทุจริต
มโนทุจริต เรากล่าวว่า ไม่ควรทำอกุศลธรรมอันลามกหลายอย่าง และเรากล่าว
ว่า ควรทำกายสุจริต วจีสุจริต มโนสุจริต เรากล่าวว่า ควรทำกุศลธรรม
หลายอย่าง ดูกรพราหมณ์ เรากล่าวว่าควรทำและกล่าวว่าไม่ควรทำอย่างนี้แล ฯ
             พ. ข้าแต่ท่านพระโคดม ภาษิตของพระองค์แจ่มแจ้งนัก ... ขอท่าน
พระโคดมจงทรงจำข้าพระองค์ว่า เป็นอุบาสกผู้ถึงสรณะตลอดชีวิต ตั้งแต่วันนี้
เป็นต้นไป ฯ
             [๒๘๐] ครั้งนั้นแล อนาถบิณฑิกคฤหบดี ได้เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค
ถึงที่ประทับ ถวายบังคมพระผู้มีพระภาคแล้วนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นแล้ว
ได้ทูลถามพระผู้มีพระภาคว่าข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ในโลกมีทักขิไณยบุคคลกี่
จำพวก และควรให้ทานในเขตไหน พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า ดูกรคฤหบดี
ในโลกมีทักขิไณยบุคคล ๒ จำพวก คือ พระเสขะ ๑ พระอเสขะ ๑ ดูกร
คฤหบดี ในโลกนี้มีทักขิไณยบุคคล ๒ จำพวกนี้แล และควรให้ทานในเขตนี้
             ครั้นพระผู้มีพระภาคผู้สุคตศาสดาได้ตรัสไวยากรณภาษิตนี้จบลงแล้ว จึง
ได้ตรัสคาถาประพันธ์ต่อไปอีกในภายหลังว่า
                          "ในโลกนี้ พระเสขะกับพระอเสขะเป็นผู้ควรแก่ทักษิณา
                          ของทายกผู้บูชาอยู่ พระเสขะและอเสขะเหล่านั้นเป็นผู้ตรง
                          ทั้งทางกาย ทางวาจา และทางใจ นี้เป็นเขตบุญของทายก
                          ผู้บูชาอยู่ ทานที่ให้แล้วในเขตนี้มีผลมาก" ฯ
             [๒๘๑] สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระวิหารเชตวัน
อารามของท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี ใกล้พระนครสาวัตถีสมัยนั้นแล ท่านพระ
สารีบุตรอยู่ที่ปราสาทของนางวิสาขา มิคารมารดาในบุพพาราม ใกล้พระนคร
สาวัตถี ณ ที่นั้นแล ท่านพระสารีบุตรได้เรียกภิกษุทั้งหลายมาว่า ดูกรผู้มีอายุ
ทั้งหลาย ภิกษุเหล่านั้นตอบรับท่านพระสารีบุตรแล้ว ท่านพระสารีบุตรได้กล่าวว่า
ดูกรผู้มีอายุทั้งหลาย เราจักแสดงบุคคลที่มีสังโยชน์ในภายใน และบุคคลที่มี
สังโยชน์ในภายนอก ท่านทั้งหลายจงฟัง จงใส่ใจให้ดี เราจักกล่าว ภิกษุเหล่านั้น
ตอบรับท่านพระสารีบุตรแล้ว ท่านพระสารีบุตรได้กล่าวว่า ดูกรผู้มีอายุทั้งหลาย
ก็บุคคลที่มีสังโยชน์ในภายในเป็นไฉน ภิกษุในพระธรรมวินัยนี้ เป็นผู้มีศีล
สำรวมแล้วในปาติโมกขสังวร ถึงพร้อมด้วยอาจาระและโคจร มีปรกติเห็นภัยใน
โทษเพียงเล็กน้อย สมาทานศึกษาอยู่ในสิกขาบททั้งหลาย เมื่อแตกกายตายไป
ภิกษุนั้นย่อมเข้าถึงหมู่เทพหมู่ใดหมู่หนึ่ง ครั้นจุติจากอัตภาพนั้นแล้ว เป็นอาคามี
กลับมาสู่ความเป็นผู้เช่นนี้ นี้เรียกว่าบุคคลผู้มีสังโยชน์ในภายใน เป็นอาคามี
กลับมาสู่ความเป็นผู้เช่นนี้ ฯ
             ดูกรผู้มีอายุทั้งหลาย ก็บุคคลผู้มีสังโยชน์ในภายนอกเป็นไฉน ภิกษุใน
พระธรรมวินัยนี้ เป็นผู้มีศีล สำรวมแล้วในพระปาติโมกขสังวร ถึงพร้อมด้วย
อาจาระและโคจร มีปรกติเห็นภัยในโทษเพียงเล็กน้อย สมาทานศึกษาอยู่ใน
สิกขาบททั้งหลาย ภิกษุนั้นย่อมบรรลุเจโตวิมุติอันสงบอย่างใดอย่างหนึ่ง เมื่อแตก
กายตายไป ย่อมเข้าถึงหมู่เทพหมู่ใดหมู่หนึ่ง ครั้นจุติจากอัตภาพนั้นแล้ว เป็น
อนาคามีไม่กลับมาสู่ความเป็นผู้เช่นนี้ นี้เรียกว่า บุคคลผู้มีสังโยชน์ในภายนอก
เป็นอนาคามี ไม่กลับมาสู่ความเป็นผู้เช่นนี้ ฯ
             ดูกรผู้มีอายุทั้งหลาย อีกประการหนึ่ง ภิกษุเป็นผู้มีศีล สำรวมแล้วใน
ปาติโมกขสังวร ถึงพร้อมด้วยอาจาระและโคจร มีปรกติเห็นภัยในโทษเพียง
เล็กน้อย สมาทานศึกษาอยู่ในสิกขาบททั้งหลาย ภิกษุนั้นย่อมปฏิบัติเพื่อความ
หน่าย เพื่อคลาย เพื่อความดับกามทั้งหลาย ย่อมปฏิบัติเพื่อความหน่าย เพื่อ
คลาย เพื่อความดับภพทั้งหลาย ย่อมปฏิบัติเพื่อสิ้นตัณหา เพื่อสิ้นความโลภ
ภิกษุนั้นเมื่อแตกกายตายไป ย่อมเข้าถึงหมู่เทพหมู่ใดหมู่หนึ่ง ครั้นจุติจากอัตภาพ
นั้นแล้ว เป็นอนาคามี ไม่กลับมาสู่ความเป็นผู้เช่นนี้ ดูกรผู้มีอายุทั้งหลาย
นี้เรียกว่า บุคคลมีสังโยชน์ในภายนอก เป็นอนาคามี ไม่กลับมาสู่ความเป็นผู้
เช่นนี้ ฯ
             ครั้งนั้นแล เทวดาที่มีจิตเสมอกันมากองค์เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่
ประทับ ถวายบังคมพระผู้มีพระภาคแล้ว ยืนอยู่ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้น
แล้วได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ท่านพระสารีบุตรนั่น
กำลังเทศนาถึงบุคคลที่มีสังโยชน์ในภายใน และบุคคลที่มีสังโยชน์ในภายนอก
แก่ภิกษุทั้งหลาย อยู่ที่ปราสาทของนางวิสาขามิคารมารดาในบุพพาราม ข้าแต่
พระองค์ผู้เจริญ บริษัทร่าเริง ขอประทานพระวโรกาส ขอพระผู้มีพระภาคจงทรง
พระกรุณา เสด็จไปหาท่านพระสารีบุตรจนถึงที่อยู่เถิด พระผู้มีพระภาคทรงรับคำ
อาราธนาด้วยดุษณีภาพ ลำดับนั้นพระผู้มีพระภาคทรงหายจากพระเชตวันวิหาร
ไปปรากฏเฉพาะหน้าท่านพระสารีบุตร ที่ปราสาทของนางวิสาขามิคารมารดาใน
บุพพาราม เหมือนบุรุษมีกำลังเหยียดแขนที่คู้หรือคู้แขนที่เหยียดฉะนั้น พระผู้มี-
*พระภาคประทับนั่งบนอาสนะที่ปูลาดไว้ แม้ท่านพระสารีบุตรก็ได้ถวายบังคมพระ
ผู้มีพระภาค แล้วนั่งลง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นแล้วพระผู้มีพระภาคได้ตรัส
กะท่านพระสารีบุตรว่า ดูกรสารีบุตร เทวดาที่มีจิตเสมอกันมากองค์เข้าไปหาเรา
จนถึงที่อยู่ ไหว้เราแล้วยืนอยู่ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นแล้วบอกว่า ข้าแต่
พระองค์ผู้เจริญ ท่านพระสารีบุตรกำลังเทศนาถึงบุคคลที่มีสังโยชน์ในภายใน
และบุคคลที่มีสังโยชน์ในภายนอก แก่ภิกษุทั้งหลาย อยู่ที่ปราสาทของนาง
วิสาขามิคารมารดาในบุพพาราม ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ บริษัทร่าเริง ขอประทาน
พระวโรกาส ขอพระผู้มีพระภาคทรงพระกรุณาเสด็จไปหาท่านพระสารีบุตรจนถึง
ที่อยู่เถิด ดูกรสารีบุตร ก็เทวดาเหล่านั้นยืนอยู่ในโอกาสแม้เท่าปลายเหล็กแหลม
จดลง ๑๐ องค์บ้าง ๒๐ องค์บ้าง ๓๐ องค์บ้าง ๔๐ องค์บ้าง ๕๐ องค์บ้าง ๖๐
องค์บ้าง แต่ก็ไม่เบียดกันและกัน ดูกรสารีบุตร ก็เธอพึงมีความคิดอย่างนี้ว่า
จิตอย่างนั้น ซึ่งเป็นเหตุให้เทวดาเหล่านั้นยืนอยู่ได้ในโอกาสแม้เท่าปลายเหล็ก
แหลมจดลง ๑๐ องค์บ้าง ... ๖๐ องค์บ้าง เป็นจิตอันเทวดาเหล่านั้นอบรมแล้ว
ในภพนั้นแน่นอน ดูกรสารีบุตร ก็ข้อนั้นเธอไม่ควรเห็นเช่นนี้ ดูกรสารีบุตร
ก็จิตอย่างนั้น ซึ่งเป็นเหตุให้เทวดาเหล่านั้นยืนอยู่ได้ในโอกาสแม้เท่าปลายเหล็ก
แหลมจดลง ๑๐ องค์บ้าง ฯลฯ แต่ก็ไม่เบียดกันและกัน เทวดาเหล่านั้นได้อบรม
แล้วในศาสนานี้เอง เพราะฉะนั้นแหละสารีบุตร เธอพึงศึกษาอย่างนี้ว่า จักเป็น
ผู้มีอินทรีย์สงบ มีใจระงับอยู่ เธอควรศึกษาเช่นนี้แหละ สารีบุตร กายกรรม
วจีกรรม มโนกรรมของผู้มีอินทรีย์สงบ มีใจระงับ จักสงบระงับ เพราะฉะนั้น
แหละ สารีบุตร เธอพึงศึกษาว่า จักนำกายและจิตที่สงบระงับแล้วเท่านั้นเข้าไป
ในพรหมจารีทั้งหลาย ดูกรสารีบุตร เธอควรศึกษาเช่นนี้แหละ ดูกรสารีบุตร
พวกอัญญเดียรถีย์ปริพาชกที่ไม่ได้ฟังธรรมบรรยายนี้ ได้พากันฉิบหายเสียแล้ว ฯ
             [๒๘๒] สมัยหนึ่ง ท่านพระมหากัจจานะอยู่ที่ฝั่งแม่น้ำกัททมทหะ
ใกล้พระนครวรรณะ ครั้งนั้นแล พราหมณ์อารามทัณฑะได้เข้าไปหาท่านพระมหา-
*กัจจานะถึงที่อยู่ ได้ปราศรัยกับท่านพระมหากัจจานะ ครั้นผ่านการปราศรัยพอให้
ระลึกถึงกันไปแล้ว จึงนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นแล้วได้ถามว่า ดูกรท่าน
กัจจานะ อะไรหนอเป็นเหตุเป็นปัจจัย เครื่องให้กษัตริย์กับกษัตริย์ พราหมณ์
กับพราหมณ์ คฤหบดีกับคฤหบดี วิวาทกัน ท่านมหากัจจานะตอบว่า ดูกรพราหมณ์
เพราะเหตุเวียนเข้าไปหากามราคะ ตกอยู่ในอำนาจกามราคะ กำหนัดยินดีในกาม
ราคะ ถูกกามราคะกลุ้มรุม และถูกกามราคะท่วมทับ แม้กษัตริย์กับกษัตริย์
พราหมณ์กับพราหมณ์ คฤหบดีกับคฤหบดี วิวาทกัน ฯ
             อา. ดูกรท่านกัจจานะ ก็อะไรเป็นเหตุ เป็นปัจจัย เครื่องให้สมณะ
กับสมณะวิวาทกัน ฯ
             มหา. ดูกรพราหมณ์ เพราะเหตุเวียนเข้าไปหาทิฐิราคะ ตกอยู่ใน
อำนาจทิฐิราคะ กำหนัดยินดีในทิฐิราคะ ถูกทิฐิราคะกลุ้มรุม และถูกทิฐิราคะ
ท่วมทับ แม้สมณะกับสมณะก็วิวาทกัน ฯ
             อา. ดูกรท่านกัจจานะ ก็ในโลก ยังจะมีใครบ้างไหม ที่ก้าวล่วงการ
เวียนเข้าไปหากามราคะ การตกอยู่ในอำนาจกามราคะ การกำหนัดยินดีในกาม-
*ราคะ การถูกกามราคะกลุ้มรุม และการถูกกามราคะท่วมทับนี้ และก้าวล่วงการ
เวียนเข้าไปหาทิฐิราคะ การตกอยู่ในอำนาจทิฐิราคะ การกำหนัดยินดีในทิฐิราคะ
การถูกทิฐิราคะกลุ้มรุม และการถูกทิฐิราคะท่วมทับนี้เสียได้ ฯ
             มหา. ดูกรพราหมณ์ ในโลก มีท่านที่ก้าวล่วงการเวียนเข้าไปหากาม-
*ราคะ การตกอยู่ในอำนาจกามราคะ การกำหนัดยินดีในกามราคะ การถูกกาม-
*ราคะกลุ้มรุม และการถูกกามราคะท่วมทับนี้เสียได้ และก้าวล่วงความเวียนเข้าไป
หาทิฐิราคะ การตกอยู่ในอำนาจทิฐิราคะ การกำหนัดยินดีในทิฐิราคะ การถูกทิฐิ-
*ราคะกลุ้มรุม และการถูกทิฐิราคะท่วมทับนี้ ฯ
             อา. ดูกรท่านกัจจานะ ใครในโลกเป็นผู้ก้าวล่วงการเวียนเข้าไปหากาม-
*ราคะ ... และการถูกทิฐิราคะท่วมทับนี้ ฯ
             มหา. ดูกรพราหมณ์ ในชนบทด้านทิศบูรพา มีพระนครชื่อว่าสาวัตถี
ณ พระนครสาวัตถีนั้นทุกวันนี้ พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์
นั้นกำลังประทับอยู่ ดูกรพราหมณ์ ก็พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น ทรงก้าวล่วง
การเวียนเข้าไปหากามราคะ ... และการถูกทิฐิราคะท่วมทับนี้ด้วย
             เมื่อท่านพระมหากัจจานะตอบอย่างนี้แล้ว พราหมณ์อารามทัณฑะลุกจาก
ที่นั่ง ห่มผ้าเฉวียงบ่าข้างหนึ่งแล้ว คุกมณฑลเข่าข้างขวาลงบนแผ่นดิน ประนม
อัญชลีไปทางที่พระผู้มีพระภาคประทับอยู่แล้วเปล่งอุทาน ๓ ครั้งว่า ขอนอบน้อม
แด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น ขอนอบน้อมแด่พระผู้มี-
*พระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาค
อรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น ผู้ก้าวล่วงการเวียนเข้าไปหากามราคะ การ
ตกอยู่ในอำนาจกามราคะ การกำหนัดยินดีในกามราคะ การถูกกามราคะกลุ้มรุม
และการถูกกามราคะท่วมทับนี้แล้ว กับทั้งได้ก้าวล่วงการเวียนเข้าไปหาทิฐิราคะ
การตกอยู่ในอำนาจทิฐิราคะ การกำหนัดยินดีในทิฐิราคะ การถูกทิฐิราคะกลุ้มรุม
และการถูกทิฐิราคะท่วมทับนี้ด้วย ข้าแต่ท่านกัจจานะ ภาษิตของท่านแจ่มแจ้งนัก
ข้าแต่ท่านกัจจานะ ภาษิตของท่านแจ่มแจ้งนัก ท่านกัจจานะประกาศธรรมโดย
อเนกปริยาย เปรียบเหมือนบุคคลหงายของที่คว่ำ เปิดของที่ปิด บอกทางแก่ผู้หลง
ทาง หรือส่องประทีปในที่มืดด้วยตั้งใจว่าคนมีจักษุจักเห็นรูป ฉะนั้น ข้าแต่ท่าน
กัจจานะ ข้าพเจ้านี้ ขอถึงพระโคดมผู้เจริญพระองค์นั้น กับทั้งพระธรรมและ
พระภิกษุสงฆ์ว่าเป็นสรณะ ขอท่านกัจจานะจงจำข้าพเจ้าว่า เป็นอุบาสกผู้ถึง
สรณะตลอดชีวิตจำเดิมแต่วันนี้เป็นต้นไป ฯ
             [๒๘๓] สมัยหนึ่ง ท่านพระมหากัจจานะอยู่ที่ป่าคุนทาวัน ใกล้เมือง
มธุรา ครั้งนั้นแล พราหมณ์กัณฑรายนะเข้าไปหาท่านพระมหากัจจานะถึงที่อยู่ ได้
ปราศรัยกับท่านพระมหากัจจานะ ครั้นผ่านการปราศรัยพอให้ระลึกถึงกันไปแล้ว
จึงนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นแล้วได้ถามว่า ดูกรท่านกัจจานะ ข้าพเจ้าได้
ฟังมาดังนี้ว่า ท่านสมณะกัจจานะหาอภิวาท ลุกขึ้นต้อนรับพวกพราหมณ์ที่ชรา
แก่เฒ่าล่วงกาลผ่านวัย หรือเชื้อเชิญด้วยอาสนะไม่ ดูกรท่านกัจจานะ ข่าวที่ได้
ฟังมานั้นจริงแท้ เพราะท่านกัจจานะหาอภิวาท ลุกขึ้นต้อนรับพวกพราหมณ์ที่ชรา
แก่เฒ่าล่วงกาลผ่านวัย หรือเชื้อเชิญด้วยอาสนะไม่ ดูกรท่านกัจจานะ การ
กระทำเช่นนี้นั้นเป็นการไม่สมควรแท้ ฯ
             ท่านมหากัจจานะตอบว่า ดูกรพราหมณ์ ภูมิคนแก่และภูมิเด็ก ที่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าผู้ทรงรู้ทรงเห็นพระองค์นั้นตรัสไว้มีอยู่
ดูกรพราหมณ์ ถึงแม้จะเป็นคนแก่มีอายุ ๘๐ ปี ๙๐ ปี หรือ ๑๐๐ ปี แต่กำเนิด
ก็ดี แต่เขายังบริโภคกาม อยู่ในท่ามกลางกาม ถูกความเร่าร้อนเพราะกามแผดเผา
ถูกกามวิตกเคี้ยวกินอยู่ ยังเป็นผู้ขวนขวายเพื่อแสวงหากาม เขาก็ย่อมถึงการนับ
ว่าเป็นพาล ไม่ใช่เถระโดยแท้ ดูกรพราหมณ์ ถึงแม้ว่าจะเป็นเด็กยังเป็นหนุ่ม
มีผมดำสนิท ประกอบด้วยความเป็นหนุ่มอันเจริญ ยังตั้งอยู่ในปฐมวัย แต่เขาไม่
บริโภคกาม ไม่อยู่ในท่ามกลางกาม ไม่ถูกความเร่าร้อนเพราะกามแผดเผา ไม่ถูก
กามวิตกเคี้ยวกิน ไม่ขวนขวายเพื่อแสวงหากาม เขาก็ย่อมถึงการนับว่าเป็นบัณฑิต
เป็นเถระแน่แท้ทีเดียวแล
             ทราบว่า เมื่อท่านพระมหากัจจานะกล่าวอย่างนี้แล้ว พราหมณ์กัณฑรายนะ
ได้ลุกจากที่นั่งแล้วห่มผ้าเฉวียงบ่าข้างหนึ่ง ไหว้เท้าของภิกษุที่หนุ่มด้วยเศียรเกล้า
กล่าวว่า พระผู้เป็นเจ้าแก่ ตั้งอยู่แล้วในภูมิคนแก่ เรายังเด็ก ตั้งอยู่ในภูมิเด็ก
ข้าแต่ท่านกัจจานะ ภาษิตของท่านแจ่มแจ้งนัก ข้าแต่ท่านกัจจานะ ภาษิต
ของท่านแจ่มแจ้งนัก ท่านพระกัจจานะประกาศธรรมโดยอเนกปริยาย เปรียบ
เหมือนบุคคลหงายของที่คว่ำ เปิดของที่ปิด บอกทางแก่ผู้หลงทาง หรือส่อง
ประทีปในที่มืดด้วยตั้งใจว่า คนมีจักษุจักเห็นรูป ฉะนั้น ข้าแต่ท่านกัจจานะ
ข้าพเจ้านี้ ขอถึงพระโคดมผู้เจริญพระองค์นั้น กับทั้งพระธรรมและพระภิกษุสงฆ์
เป็นสรณะ ขอท่านพระกัจจานะจงจำข้าพเจ้าว่าเป็นอุบาสก ผู้ถึงสรณะตลอดชีวิต
ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป ฯ
             [๒๘๔] ดูกรภิกษุทั้งหลาย สมัยใด พวกโจรมีกำลัง สมัยนั้นพระเจ้า-
*แผ่นดินย่อมถอยกำลัง ดูกรภิกษุทั้งหลาย ในสมัยเช่นนั้น พระเจ้าแผ่นดินย่อม
ไม่สะดวกที่จะเสด็จผ่านไป เสด็จออกไป หรือจะออกคำสั่งไปยังชนบทชายแดน
ในสมัยเช่นนั้น แม้พวกพราหมณ์และคฤหบดีก็ไม่สะดวกที่จะผ่านไป จะออกไป
หรือเพื่อตรวจตราการงานภายนอก ดูกรภิกษุทั้งหลาย ฉันนั้นเหมือนกัน สมัยใด
พวกภิกษุเลวทรามมีกำลัง สมัยนั้น พวกภิกษุที่มีศีลเป็นที่รักย่อมถอยกำลัง
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ในสมัยเช่นนั้น ภิกษุพวกที่มีศีลเป็นที่รัก เป็นผู้นิ่งเงียบ
ทีเดียว นั่งในท่ามกลางสงฆ์ หรือคบชนบทชายแดน ข้อนี้นั้นย่อมเป็นไปเพื่อ
มิใช่ประโยชน์ของชนมาก เพื่อมิใช่สุขของชนมาก เพื่อความฉิบหาย เพื่อ
มิใช่ประโยชน์แก่ชนเป็นอันมาก เพื่อทุกข์แก่เทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย ดูกรภิกษุ
ทั้งหลาย สมัยใด พระเจ้าแผ่นดินมีกำลัง สมัยนั้น พวกโจรย่อมถอยกำลัง
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ในสมัยเช่นนั้น พระเจ้าแผ่นดินย่อมสะดวกที่จะเสด็จผ่านไป
เสด็จออกไป หรือที่จะออกคำสั่งไปยังชนบทชายแดน ในสมัยเช่นนั้น แม้
พวกพราหมณ์และคฤหบดีย่อมสะดวกที่จะไป ออกไป หรือตรวจการงานภายนอก
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ฉันนั้นเหมือนกัน สมัยใด พวกภิกษุที่มีศีลเป็นที่รัก มีกำลัง
สมัยนั้น พวกภิกษุที่เลวทราม ย่อมถอยกำลัง ดูกรภิกษุทั้งหลาย ในสมัยเช่นนั้น
พวกภิกษุที่เลวทราม เป็นผู้นิ่งเงียบทีเดียว นั่งในท่ามกลางสงฆ์ หรือออกไป
ทางใดทางหนึ่ง ดูกรภิกษุทั้งหลาย ข้อนี้ย่อมเป็นไปเพื่อประโยชน์ของชนมาก
เพื่อสุขของชนมาก เพื่อประโยชน์ เพื่อเกื้อกูลแก่ชนเป็นอันมาก เพื่อความ
สุขแก่เทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย ฯ
             [๒๘๕] ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราไม่สรรเสริญความปฏิบัติผิดของคน ๒
จำพวก คือ คฤหัสถ์ ๑ บรรพชิต ๑ ดูกรภิกษุทั้งหลาย คฤหัสถ์หรือบรรพชิต
ปฏิบัติผิดแล้ว ย่อมไม่ยังกุศลธรรมที่นำออกให้สำเร็จก็ได้ เพราะการปฏิบัติผิด
เป็นเหตุ ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราสรรเสริญความปฏิบัติชอบของคน ๒ จำพวก คือ
คฤหัสถ์ ๑ บรรพชิต ๑ ดูกรภิกษุทั้งหลาย คฤหัสถ์หรือบรรพชิตปฏิบัติชอบแล้ว
ย่อมยังกุศลธรรมที่นำออกให้สำเร็จได้ เพราะการปฏิบัติชอบเป็นเหตุ ฯ
             [๒๘๖] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุพวกที่ห้ามอรรถและธรรมโดยสูตรซึ่ง
ตนเรียนไว้ไม่ดี ด้วยพยัญชนะปฏิรูปนั้น ชื่อว่าปฏิบัติแล้วเพื่อมิใช่ประโยชน์ของ
ชนมาก เพื่อมิใช่สุขของชนมาก เพื่อความฉิบหาย เพื่อมิใช่ประโยชน์แก่ชน
เป็นอันมาก เพื่อทุกข์แก่เทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย อนึ่ง ภิกษุพวกนั้นยังจะ
ประสพบาปเป็นอันมาก และทั้งชื่อว่าทำสัทธรรมนี้ให้อันตรธานไปอีกด้วย ดูกร
ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุพวกที่อนุโลมอรรถและธรรม โดยสูตรซึ่งตนเรียนไว้ดี ด้วย
พยัญชนะปฏิรูปนั้น ชื่อว่าปฏิบัติแล้วเพื่อประโยชน์ของชนมาก เพื่อความสุขของ
ชนมาก เพื่อประโยชน์ เพื่อเกื้อกูลแก่ชนเป็นอันมาก เพื่อความสุขแก่เทวดา
และมนุษย์ทั้งหลาย ดูกรภิกษุทั้งหลาย อนึ่ง ภิกษุพวกนั้นยังประสพบุญเป็นอัน
มาก ทั้งชื่อว่าดำรงสัทธรรมนี้ไว้อีกด้วย ฯ
จบสมจิตตวรรคที่ ๔

             เนื้อความพระไตรปิฎก เล่มที่ ๒๐ บรรทัดที่ ๑๖๑๗-๑๘๔๐ หน้าที่ ๗๐-๗๙. https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=20&A=1617&Z=1840&pagebreak=0              ฟังเนื้อความพระไตรปิฎก : [1], [2], [3], [4]              อ่านเทียบพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาฯ :- https://84000.org/tipitaka/attha/m_siri.php?B=20&siri=32              ศึกษาอรรถกถานี้ได้ที่ :- https://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=20&i=277              ศึกษาพระไตรปิฏกฉบับภาษาบาลีอักษรไทย :- [277-286] https://84000.org/tipitaka/pali/pali_item_s.php?book=20&item=277&items=10              อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย :- https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=15&A=706              The Pali Tipitaka in Roman :- [277-286] https://84000.org/tipitaka/pali/roman_item_s.php?book=20&item=277&items=10              The Pali Atthakatha in Roman :- https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=15&A=706              สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๐ https://84000.org/tipitaka/read/?index_20              อ่านเทียบฉบับแปลอังกฤษ Compare with English Translation :- https://84000.org/tipitaka/english/metta.lk/20i277-e.php# https://accesstoinsight.org/tipitaka/an/an02/an02.031.than.html https://accesstoinsight.org/tipitaka/an/an02/an02.033.niza.html https://accesstoinsight.org/tipitaka/an/an02/an02.038.than.html https://suttacentral.net/an2.32-41/en/sujato https://suttacentral.net/an2.32-41/en/thanissaro

อ่านหน้า[ต่าง] แรกอ่านหน้า[ต่าง] ที่แล้วแสดงหมายเลขหน้า
ในกรณี :- 
   บรรทัดแรกของแต่ละหน้าอ่านหน้า[ต่าง] ถัดไปอ่านหน้า[ต่าง] สุดท้าย

บันทึก ๒๗ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๔๖ บันทึกล่าสุด ๒๒ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๖๐ การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจากพระไตรปิฎกฉบับหลวง. หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :