ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ค้นพระไตรปิฎก ชาดก หนังสือธรรมะ
     ฉบับหลวง   ฉบับมหาจุฬาฯ   บาลีอักษรไทย   PaliRoman 
อ่านหน้า[ต่าง] แรกอ่านหน้า[ต่าง] ที่แล้วแสดงหมายเลขหน้า
ในกรณี :- 
   บรรทัดแรกของแต่ละหน้าอ่านหน้า[ต่าง] ถัดไปอ่านหน้า[ต่าง] สุดท้าย
พระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๒ พระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๑๔ อังคุตตรนิกาย ปัญจก-ฉักกนิบาต
๒. มิคสาลาสูตร
[๓๑๕] ครั้งนั้น เวลาเช้า ท่านพระอานนท์นุ่งแล้วถือบาตรจีวรเข้าไป ยังนิเวศน์ของอุบาสิกาชื่อมิคสาลา แล้วนั่งบนอาสนะที่ได้ปูไว้ ครั้งนั้น อุบาสิกา ชื่อมิคสาลาเข้าไปหาท่านพระอานนท์ถึงที่อยู่ กราบไหว้แล้วนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้าง หนึ่ง ครั้นแล้ว ได้ถามท่านพระอานนท์ว่า ข้าแต่ท่านพระอานนท์ ธรรมที่พระผู้มี พระภาคทรงแสดงแล้วนี้ ที่เป็นเหตุให้คน ๒ คน คือคนหนึ่งประพฤติพรหมจรรย์ และคนหนึ่งไม่ประพฤติพรหมจรรย์ จักเป็นผู้มีคติเสมอกันในสัมปรายภพ อัน วิญญูชนจะพึงรู้ทั่วถึงได้อย่างไร คือ บิดาของดิฉันชื่อปุราณะ เป็นผู้ประพฤติพรหม- *จรรย์ประพฤติห่างไกล งดเว้นจากเมถุนอันเป็นธรรมของชาวบ้าน ท่านทำกาละแล้ว พระผู้มีพระภาคทรงพยากรณ์ว่า เป็นสกทาคามีบุคคลเข้าถึงหมู่เทวดาชั้นดุสิต บุรุษ ชื่ออิสิทัตตะผู้เป็นที่รักของบิดาของดิฉัน เป็นผู้ไม่ประพฤติพรหมจรรย์ (แต่) ยินดีด้วยภรรยาของตน แม้เขากระทำกาละแล้ว พระผู้มีพระภาคก็ทรงพยากรณ์ ว่า เป็นสกทาคามีบุคคลเข้าถึงหมู่เทวดาชั้นดุสิต ข้าแต่ท่านพระอานนท์ ธรรมที่ พระผู้มีพระภาคทรงแสดงแล้วนี้ ที่เป็นเหตุให้คน ๒ คน คือ คนหนึ่งประพฤติ พรหมจรรย์ และคนหนึ่งไม่ประพฤติพรหมจรรย์ จักเป็นผู้มีคติเสมอกันใน สัมปรายภพ อันวิญญูชนจะพึงรู้ทั่วถึงได้อย่างไร ฯ ท่านพระอานนท์กล่าวว่า ดูกรน้องหญิง ก็ข้อนี้พระผู้มีพระภาคทรง พยากรณ์ไว้อย่างนั้นแล ฯ ลำดับนั้น ท่านพระอานนท์รับบิณฑบาตที่นิเวศน์ของอุบาสิกา ชื่อ มิคสาลาแล้ว ลุกจากอาสนะกลับไป ครั้งนั้น ท่านพระอานนท์กลับจากบิณฑบาต ภายหลังภัตแล้ว เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวายบังคมแล้วนั่ง ณ ที่ ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นแล้วกราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เวลาเช้า ข้าพระองค์ นุ่งแล้วถือบาตรจีวรเข้าไปยังนิเวศน์ของอุบาสิกาชื่อมิคสาลา แล้วนั่งบนอาสนะที่ ได้ปูไว้ ลำดับนั้น อุบาสิกาชื่อมิคสาลาเข้าไปหาข้าพระองค์ถึงที่อยู่ กราบไหว้ แล้วนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นแล้วได้ถามข้าพระองค์ว่า ข้าแต่ท่าน พระอานนท์ ธรรมที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงแล้วนี้ ที่เป็นเหตุให้คน ๒ คน คือ คนหนึ่งประพฤติพรหมจรรย์ และคนหนึ่งไม่ประพฤติพรหมจรรย์ จักเป็น ผู้มีคติเสมอกันในสัมปรายภพ อันวิญญูชนพึงรู้ทั่วถึงได้อย่างไร คือ บิดาของ ดิฉันชื่อปุราณะ เป็นผู้ประพฤติพรหมจรรย์ ประพฤติห่างไกล งดเว้นจากเมถุน อันเป็นธรรมของชาวบ้าน ท่านกระทำกาละแล้ว พระผู้มีพระภาคทรงพยากรณ์ว่า เป็นสกทาคามีบุคคลเข้าถึงหมู่เทวดาชั้นดุสิต บุรุษชื่ออิสิทัตตะผู้เป็นที่รักของบิดา ของดิฉัน เป็นผู้ไม่ประพฤติพรหมจรรย์ (แต่) ยินดีด้วยภรรยาของตน แม้เขา กระทำกาละแล้ว พระผู้มีพระภาคก็ทรงพยากรณ์ว่า เป็นสกทาคามีบุคคลเข้าถึง หมู่เทวดาชั้นดุสิต ข้าแต่ท่านพระอานนท์ ธรรมที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงแล้วนี้ ที่เป็นเหตุให้คน ๒ คน คือ คนหนึ่งประพฤติพรหมจรรย์ และคนหนึ่งไม่ ประพฤติพรหมจรรย์ จักเป็นผู้มีคติเสมอกัน อันวิญญูชนพึงรู้ทั่วถึงได้อย่างไร เมื่ออุบาสิกาชื่อมิคสาลากล่าวอย่างนี้แล้ว ข้าพระองค์ได้กล่าวกะอุบาสกชื่อ มิคสาลาดังนี้ว่า ดูกรน้องหญิง ก็ข้อนี้พระผู้มีพระภาคทรงพยากรณ์ไว้อย่างนั้นแล ฯ พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดูกรอานนท์ ก็อุบาสิกาชื่อมิคสาลาเป็นพาล ไม่ฉลาด เป็นสตรี รู้ตัวว่าเป็นสตรี เป็นอะไร และพระสัมมาสัมพุทธะเป็น อะไร ในญาณเครื่องกำหนดรู้ความยิ่งและหย่อนแห่งอินทรีย์ของบุคคล ดูกร อานนท์ บุคคล ๖ จำพวกนี้มีปรากฏอยู่ในโลก ๖ จำพวกเป็นไฉน ดูกรอานนท์ บุคคลบางคนในโลกนี้ เป็นผู้งดเว้นจากบาป มีการอยู่ร่วมเป็นสุข พวกชน ที่ประพฤติพรหมจรรย์ร่วมกัน ย่อมยินดียิ่งด้วยการอยู่ร่วมกัน เขาไม่ได้กระทำกิจ แม้ด้วยการฟัง ไม่ได้กระทำกิจแม้ด้วยความเป็นพหูสูต ไม่ได้แทงตลอดแม้ด้วย ทิฐิ ไม่ได้วิมุตติแม้ที่เกิดในสมัย เขาตายไปแล้วย่อมไปทางเสื่อม ไม่ไปทาง เจริญ เป็นผู้ถึงทางเสื่อม ไม่เป็นผู้ถึงทางเจริญ ฯ ดูกรอานนท์ อนึ่ง บุคคลบางคนในโลกนี้ เป็นผู้งดเว้นจากบาป มีการอยู่ร่วมเป็นสุข พวกคนที่ประพฤติพรหมจรรย์ร่วมกัน ย่อมยินดียิ่งด้วยการ อยู่ร่วมกัน เขาได้กระทำกิจแม้ด้วยการฟัง ได้กระทำกิจแม้ด้วยความเป็นพหูสูต ได้แทงตลอดแม้ด้วยทิฐิ ได้วิมุตติแม้ที่เกิดในสมัย เขาตายไปแล้วย่อมไปทางเจริญ ไม่ไปทางเสื่อม เป็นผู้ถึงทางเจริญ ไม่เป็นผู้ถึงทางเสื่อม ดูกรอานนท์ พวกชน ผู้ถือประมาณย่อมประมาณในเรื่องนั้นว่า ธรรมของชนแม้นี้ก็เหล่านั้นและ ธรรมของชนแม้อื่นก็เหล่านั้นแหละ เหตุไฉน บรรดาคน ๒ คนนั้น คนหนึ่งเลว คนหนึ่งดี ก็การประมาณของคนผู้ถือประมาณเหล่านั้น เป็นไปเพื่อมิใช่ประโยชน์ เกื้อกูลเพื่อทุกข์ตลอดกาลนาน ดูกรอานนท์ ใน ๒ คนนั้น บุคคลใดเป็น ผู้งดเว้นจากบาป มีการอยู่ร่วมเป็นสุข พวกคนที่ประพฤติพรหมจรรย์ร่วมกัน ย่อมยินดีด้วยการอยู่ร่วมกัน เขาได้กระทำกิจแม้ด้วยการฟัง ได้กระทำกิจแม้ด้วย ความเป็นพหูสูต ได้แทงตลอดแม้ด้วยทิฐิ ย่อมได้วิมุตติแม้ที่เกิดในสมัย ดูกร อานนท์ บุคคลนี้ดีกว่า และประณีตกว่าบุคคลที่กล่าวข้างต้นโน้น ข้อนั้นเพราะ เหตุไร เพราะกระแสแห่งธรรมย่อมถูกต้องบุคคลนี้ ใครเล่านอกจากตถาคตจะพึงรู้ เหตุนั้น เพราะเหตุนั้นแหละ เธอทั้งหลายอย่าได้เป็นผู้ชอบประมาณในบุคคล และ อย่าได้ถือประมาณในบุคคล เพราะผู้ถือประมาณในบุคคล ย่อมทำลายคุณวิเศษ ของตน เราหรือผู้ที่เหมือนเราพึงถือประมาณในบุคคลได้ ฯ ดูกรอานนท์ อนึ่ง บุคคลบางคนในโลกนี้ มีความโกรธและความถือตัว บางครั้งบางคราว โลภธรรมย่อมเกิดแก่เขา เขาไม่ได้กระทำกิจแม้ด้วยการฟัง ไม่ได้ กระทำกิจแม้ด้วยความเป็นพหูสูต ไม่ได้แทงตลอดแม้ด้วยทิฐิ ย่อมไม่ได้วิมุตติ แม้ที่เกิดในสมัย เมื่อตายไปแล้ว เขาย่อมไปทางเสื่อม ไม่ไปทางเจริญ เป็น ผู้ถึงทางเสื่อม ไม่เป็นผู้ถึงทางเจริญ ฯ ดูกรอานนท์ อนึ่ง บุคคลบางคนในโลกนี้ มีความโกรธและความถือตัว บางครั้งบางคราว โลภธรรมย่อมเกิดแก่เขา เขาได้กระทำกิจแม้ด้วยการฟัง ได้กระทำกิจแม้ด้วยความเป็นพหูสูต ได้แทงตลอดแม้ด้วยทิฐิ ย่อมได้วิมุตติแม้ ที่เกิดในสมัย เมื่อตายไปแล้ว เขาย่อมไปทางเจริญ ไม่ไปทางเสื่อม เป็นผู้ถึง ทางเจริญ ไม่เป็นผู้ถึงทางเสื่อม ฯลฯ ดูกรอานนท์ อนึ่ง บุคคลบางคนในโลกนี้ มีความโกรธและความถือตัว บางครั้งบางคราว วจีสังขารย่อมเกิดแก่เขา เขาไม่ได้กระทำกิจแม้ด้วยการฟัง ไม่ได้ กระทำกิจแม้ด้วยความเป็นพหูสูต ไม่ได้แทงตลอดแม้ด้วยทิฐิ ย่อมไม่ได้วิมุตติ แม้ที่เกิดในสมัย เมื่อตายไปแล้ว เขาย่อมไปทางเสื่อม ไม่ไปทางเจริญ เป็น ผู้ถึงทางเสื่อม ไม่เป็นผู้ถึงทางเจริญ ฯ ดูกรอานนท์ อนึ่ง บุคคลบางคนในโลกนี้ มีความโกรธและความถือตัว บางครั้งบางคราว วจีสังขารย่อมเกิดแก่เขา เขาได้ทำกิจแม้ด้วยการฟัง ได้ทำกิจ แม้ด้วยความเป็นพหูสูต ได้แทงตลอดแม้ด้วยทิฐิ ย่อมได้วิมุตติแม้ที่เกิดในสมัย เมื่อตายไปแล้ว เขาย่อมไปทางเจริญ ไม่ไปทางเสื่อม เป็นผู้ถึงทางเจริญ ไม่เป็น ผู้ถึงทางเสื่อม ดูกรอานนท์ พวกคนที่ถือประมาณ ย่อมประมาณเรื่องนั้นว่า ธรรมของคนนี้ก็เหล่านั้นแหละ ธรรมของคนแม้อื่นก็เหล่านั้นแหละ เหตุไฉน บรรดาคน ๒ คนนั้น คนหนึ่งเลว คนหนึ่งดี ก็การประมาณของคนผู้ถือประมาณ เหล่านั้น ย่อมเป็นไปเพื่อมิใช่ประโยชน์เกื้อกูล เพื่อทุกข์ตลอดกาลนาน ดูกร อานนท์ ใน ๒ คนนั้น บุคคลใดมีความโกรธและความถือตัว และบางครั้ง บางคราว วจีสังขารย่อมเกิดแก่เขา เขาได้ทำกิจแม้ด้วยการฟัง ได้ทำกิจแม้ด้วย ความเป็นพหูสูต ได้แทงตลอดแม้ด้วยทิฐิ ย่อมได้วิมุตติแม้ที่เกิดในสมัย บุคคลนี้ เป็นผู้ดีกว่าและประณีตกว่าบุคคลที่กล่าวข้างต้นโน้น ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะ กระแสแห่งธรรมย่อมถูกต้องบุคคลนี้ ใครเล่านอกจากตถาคตจะพึงรู้เหตุนั้น เพราะ เหตุนั้นแหละ อานนท์ เธอทั้งหลายอย่าเป็นผู้ชอบประมาณในบุคคล และอย่าได้ ถือประมาณในบุคคล เพราะผู้ถือประมาณในบุคคล ย่อมทำลายคุณวิเศษของตน เราหรือผู้ที่เหมือนเราพึงถือประมาณในบุคคลได้ ดูกรอานนท์ ก็อุบาสิกาชื่อมิคสาลา เป็นพาล ไม่ฉลาดเป็นสตรี รู้ตัวว่าเป็นสตรี เป็นอะไร และพระสัมมาสัมพุทธะ เป็นอะไร ในญาณเครื่องกำหนดรู้ความยิ่งและหย่อนแห่งอินทรีย์ของบุคคล ดูกร อานนท์ บุคคล ๖ จำพวกนี้แล มีปรากฏอยู่ในโลก ดูกรอานนท์ บุรุษชื่อปุราณะ เป็นผู้ประกอบด้วยศีลเช่นใด บุรุษชื่ออิสิทัตตะก็เป็นผู้ประกอบด้วยศีลเช่นนั้น บุรุษชื่อปุราณะได้รู้แม้คติของบุรุษชื่ออิสิทัตตะก็หามิได้ อนึ่ง บุรุษชื่ออิสิทัตตะ เป็นผู้ประกอบด้วยปัญญาเช่นใด บุรุษชื่อปุราณะก็ได้เป็นผู้ประกอบด้วยปัญญา เช่นนั้น บุรุษชื่ออิสิทัตตะได้รู้แม้คติของบุรุษชื่อปุราณะก็หามิได้ ดูกรอานนท์ คนทั้ง ๒ เลวกว่ากันด้วยองคคุณคนละอย่างด้วยประการฉะนี้ ฯ
จบสูตรที่ ๒

             เนื้อความพระไตรปิฎก เล่มที่ ๒๒ บรรทัดที่ ๘๑๙๙-๘๓๐๒ หน้าที่ ๓๕๙-๓๖๓. https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=22&A=8199&Z=8302&pagebreak=0              ฟังเนื้อความพระไตรปิฎก : [1], [2]              อ่านเทียบพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาฯ :- https://84000.org/tipitaka/attha/m_siri.php?B=22&siri=295              ศึกษาอรรถกถานี้ได้ที่ :- https://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=22&i=315              ศึกษาพระไตรปิฏกฉบับภาษาบาลีอักษรไทย :- [315] https://84000.org/tipitaka/pali/pali_item_s.php?book=22&item=315&items=1              อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย :- https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=16&A=2804              The Pali Tipitaka in Roman :- [315] https://84000.org/tipitaka/pali/roman_item_s.php?book=22&item=315&items=1              The Pali Atthakatha in Roman :- https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=16&A=2804              สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๒ https://84000.org/tipitaka/read/?index_22              อ่านเทียบฉบับแปลอังกฤษ Compare with English Translation :- https://84000.org/tipitaka/english/metta.lk/22i314-e.php#sutta2 https://suttacentral.net/an6.44/en/sujato

อ่านหน้า[ต่าง] แรกอ่านหน้า[ต่าง] ที่แล้วแสดงหมายเลขหน้า
ในกรณี :- 
   บรรทัดแรกของแต่ละหน้าอ่านหน้า[ต่าง] ถัดไปอ่านหน้า[ต่าง] สุดท้าย

บันทึก ๒๗ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๔๖ บันทึกล่าสุด ๒๒ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๖๐ การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจากพระไตรปิฎกฉบับหลวง. หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :