ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ค้นพระไตรปิฎก ชาดก หนังสือธรรมะ
     ฉบับหลวง   ฉบับมหาจุฬาฯ   บาลีอักษรไทย   PaliRoman 
อ่านหน้า[ต่าง] แรกอ่านหน้า[ต่าง] ที่แล้วแสดงหมายเลขหน้า
ในกรณี :- 
   บรรทัดแรกของแต่ละหน้าอ่านหน้า[ต่าง] ถัดไปอ่านหน้า[ต่าง] สุดท้าย
พระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๓ พระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๑๕ อังคุตตรนิกาย สัตตก-อัฏฐก-นวกนิบาต
วัสสการสูตร
[๒๐] สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ ภูเขาคิชฌกูฏ ใกล้ พระนครราชคฤห์ ก็โดยสมัยนั้นแล พระเจ้าแผ่นดินมคธ พระนามว่าอชาตศัตรู เวเทหีบุตร ทรงพระประสงค์จะยาตราทัพไปย่ำยีชาววัชชี ท้าวเธอจึงตรัสอย่างนี้ว่า เราจักตัดเจ้าวัชชีผู้มีฤทธิ์ มีอานุภาพมากอย่างนี้ๆ ให้ขาดสูญ ให้พินาศ ให้ถึง ความย่อยยับดับสูญ ครั้งนั้นแล พระเจ้าแผ่นดินมคธพระนามว่าอชาตศัตรูเวเทหี บุตร จึงตรัสเรียกวัสสการพราหมณ์มหาอำมาตย์ของแคว้นมคธมาปรึกษาว่า ดูกร ท่านพราหมณ์ เชิญท่านเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ จงถวายบังคม พระบาทของพระผู้มีพระภาคด้วยเศียรเกล้าตามคำสั่งของเรา จงทูลถามถึงความเป็น ผู้มีพระอาพาธน้อย มีพระโรคเบาบาง กระปรี้กระเปร่า ทรงมีกำลัง ความอยู่ สำราญว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พระเจ้าแผ่นดินมคธพระนามว่าอชาตศัตรูเวเทหี บุตร ทรงถวายบังคมพระบาทของพระผู้มีพระภาคด้วยเศียรเกล้า ฯ ทรงทูลถามถึง ความเป็นผู้มีพระอาพาธน้อย มีพระโรคเบาบาง กระปรี้กระเปร่า ทรงมีกำลัง ความอยู่สำราญ และจงกราบทูลอย่างนี้ว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พระเจ้าแผ่นดิน มคธพระนามว่าอชาตศัตรูเวเทหีบุตร ทรงพระประสงค์จะยาตราทัพไปย่ำยีชาววัชชี ท้าวเธอตรัสอย่างนี้ว่า เราจักตัดเจ้าวัชชีผู้มีฤทธิ์มีอานุภาพมากอย่างนี้ๆ ให้ขาดสูญ ให้พินาศ ให้ถึงความย่อยยับดับสูญ ดังนี้ ท่านจงสำเหนียกพระดำรัสที่พระผู้มี พระภาคทรงพยากรณ์นั้นไว้ให้ดี แล้วมาบอกแก่เรา พระตถาคตเจ้าทั้งหลายจะไม่ ตรัสพระดำรัสที่คลาดเคลื่อนจากความจริงเลย วัสสการพราหมณ์มหาอำมาตย์แห่ง แคว้นมคธ รับพระราชโองการพระเจ้าแผ่นดินมคธพระนามว่าอชาตศัตรูเวเทหีบุตร แล้วเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ได้ปราศรัยกับพระผู้มีพระภาค ครั้น ผ่านการปราศรัยพอให้ระลึกถึงกันไปแล้ว จึงนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นแล้ว ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ พระเจ้าแผ่นดินมคธ พระนามว่าอชาตศัตรูเวเทหีบุตร ทรงถวายบังคมพระบาทของพระโคดมผู้เจริญด้วย เศียรเกล้า ทรงกราบทูลถามถึงความเป็นผู้มีพระอาพาธน้อย มีพระโรคเบาบาง กระปรี้กระเปร่า ทรงมีกำลัง ความอยู่สำราญ ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ พระเจ้า แผ่นดินมคธทรงพระนามว่าอชาตศัตรูเวเทหีบุตร ทรงมีพระประสงค์จะยาตราทัพ ไปย่ำยีชาววัชชี ท้าวเธอตรัสอย่างนี้ว่า จักตัดเจ้าวัชชีผู้มีฤทธิ์มีอานุภาพมาก อย่างนี้ๆ ให้ขาดสูญ ให้พินาศ ให้ถึงความย่อยยับดับสูญ ฯ ก็สมัยนั้นแล ท่านพระอานนท์ยืนถวายงานพัดพระผู้มีพระภาค อยู่ ณ เบื้องพระปฤษฎางค์ ครั้งนั้นแล พระผู้มีพระภาคตรัสถามท่านพระอานนท์ว่า ดูกรอานนท์ เธอได้สดับมาแล้วดังนี้หรือว่า ชาววัชชีหมั่นประชุมกันเนืองนิตย์ พระอานนท์กราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์ได้สดับมาว่า ชาววัชชี หมั่นประชุมกันเนืองนิตย์ พระเจ้าข้า ฯ พ. ดูกรอานนท์ ชาววัชชีจักประชุมกันเนืองนิตย์ เพียงใด ชาววัชชี พึงหวังความเจริญได้แน่นอน ไม่พึงหวังความเสื่อมเลย เพียงนั้น ดูกรอานนท์ เธอสดับมาแล้วดังนี้หรือว่า ชาววัชชีเมื่อประชุมก็พร้อมเพรียงกันประชุม เมื่อ เลิกประชุมก็พร้อมเพรียงกันเลิกประชุม พร้อมเพรียงช่วยกันทำกิจที่ควรทำ ฯ อา. ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์ได้สดับมาว่า ชาววัชชีเมื่อประชุม ก็พร้อมเพรียงกันประชุม เมื่อเลิกประชุมก็พร้อมเพรียงกันเลิกประชุม พร้อม เพรียงช่วยกันทำกิจที่ควรทำ พระเจ้าข้า ฯ พ. ดูกรอานนท์ ชาววัชชีเมื่อประชุมก็พร้อมเพรียงกันประชุม เมื่อเลิก ประชุมก็พร้อมเพรียงกันเลิกประชุม พร้อมเพรียงช่วยกันทำกิจที่ควรทำ เพียงใด ชาววัชชีพึงหวังความเจริญได้แน่นอน ไม่พึงหวังความเสื่อมเลย เพียงนั้น ดูกร อานนท์ เธอได้สดับมาแล้วดังนี้หรือว่า ชาววัชชีไม่บัญญัติสิ่งที่ยังไม่ได้บัญญัติ ไม่เพิกถอนสิ่งที่บัญญัติแล้ว ประพฤติมั่นอยู่ในธรรมของชาววัชชีตามที่ได้บัญญัติ ไว้ในครั้งก่อน ฯ อา. ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์ได้สดับมาว่า ชาววัชชีไม่บัญญัติ สิ่งที่ยังไม่ได้บัญญัติ ไม่เพิกถอนสิ่งที่บัญญัติไว้แล้ว ประพฤติมั่นอยู่ในธรรมของ ชาววัชชี ตามที่ได้บัญญัติไว้ในครั้งก่อน พระเจ้าข้า ฯ พ. ดูกรอานนท์ ชาววัชชีจักไม่บัญญัติสิ่งที่ยังไม่ได้บัญญัติ ไม่เพิกถอน สิ่งที่บัญญัติไว้แล้ว จักประพฤติมั่นอยู่ในธรรมของชาววัชชี ตามที่บัญญัติไว้ใน ครั้งก่อนๆ เพียงใด ชาววัชชีพึงหวังความเจริญได้แน่นอน ไม่พึงหวังความ เสื่อมเลย เพียงนั้น ดูกรอานนท์ เธอได้สดับมาดังนี้หรือว่า ชาววัชชียังสักการะ เคารพ นับถือ บูชา ชาววัชชีผู้ใหญ่ และย่อมสำคัญถ้อยคำแห่งท่านเหล่านั้นว่า เป็นถ้อยคำอันตนพึงเชื่อฟัง ฯ อา. ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์ได้สดับมาว่า ชาววัชชียังสักการะ เคารพ นับถือ บูชา ชาววัชชีผู้ใหญ่ และย่อมสำคัญถ้อยคำแห่งท่านเหล่านั้นว่า เป็นถ้อยคำอันตนพึงเชื่อฟัง พระเจ้าข้า ฯ พ. ดูกรอานนท์ ชาววัชชียังสักการะ เคารพ นับถือ บูชา ชาววัชชี ผู้ใหญ่ และจักสำคัญถ้อยคำแห่งท่านเหล่านั้นว่าเป็นถ้อยคำอันตนพึงเชื่อฟัง เพียงใด ชาววัชชีพึงหวังความเจริญได้แน่นอน ไม่พึงหวังความเสื่อมเลย เพียงนั้น ดูกรอานนท์ เธอได้สดับมาดังนี้หรือว่า ชาววัชชีไม่ข่มขืนบังคับปกครองหญิงใน สกุล ฯ อา. ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์ได้สดับมาว่า ชาววัชชีไม่ข่มขืน บังคับปกครองหญิงในสกุล พระเจ้าข้า ฯ พ. ดูกรอานนท์ ชาววัชชีไม่ข่มขืนบังคับปกครองหญิงในสกุล เพียงใด ชาววัชชีพึงหวังความเจริญได้แน่นอน ไม่พึงหวังความเสื่อมเลย เพียงนั้น ดูกร อานนท์ เธอได้สดับมาดังนี้หรือว่า ชาววัชชียังคงสักการะ เคารพ นับถือ บูชา เจติยสถานของชาววัชชี ทั้งภายในภายนอก และไม่ลบล้างพลีกรรมอันชอบธรรม ซึ่งเคยให้ เคยทำแก่เจติยสถานเหล่านั้น ฯ อา. ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์ได้สดับมาว่า ชาววัชชียังคง สักการะ เคารพ นับถือ บูชา เจติยสถานของชาววัชชีทั้งภายในภายนอก และ ไม่ลบล้างพลีกรรมอันชอบธรรมซึ่งเคยให้เคยทำแก่เจติยสถานเหล่านั้น พระเจ้าข้า ฯ พ. ดูกรอานนท์ ชาววัชชีจักสักการะ เคารพ นับถือ บูชา เจติยสถาน ของชาววัชชี ทั้งภายในภายนอก และจักไม่ลบล้างพลีกรรมอันชอบธรรมซึ่งเคย ให้ เคยทำแก่เจติยสถานเหล่านั้น เพียงใด ชาววัชชีพึงหวังความเจริญได้แน่นอน ไม่พึงหวังความเสื่อมเลย เพียงนั้น ดูกรอานนท์ เธอได้สดับมาดังนี้หรือว่า ชาววัชชีถวายความอารักขา ความคุ้มครอง ป้องกัน อันชอบธรรม ในพระอรหันต์ ทั้งหลาย เป็นอย่างดี ด้วยหวังว่า ไฉนพระอรหันต์ทั้งหลายที่ยังไม่มา พึงมาสู่ แว่นแคว้น และที่มาแล้วพึงอยู่เป็นสุข ฯ อา. ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์ได้สดับมาว่า ชาววัชชีจักถวาย ความอารักขา ความคุ้มครอง ป้องกัน อันชอบธรรมในพระอรหันต์ทั้งหลาย เป็นอย่างดี ด้วยหวังว่า ไฉนพระอรหันต์ทั้งหลายที่ยังไม่มา พึงมาสู่แว่นแคว้น และที่มาแล้วพึงอยู่เป็นสุข พระเจ้าข้า พ. ดูกรอานนท์ ชาววัชชีจักถวายความอารักขา ความคุ้มครอง ป้องกัน อันชอบธรรม ในพระอรหันต์ทั้งหลาย เป็นอย่างดี ด้วยหวังว่า ไฉนพระอรหันต์ ทั้งหลายที่ยังไม่มา จงมาสู่แว่นแคว้น ที่มาแล้วพึงอยู่เป็นสุข เพียงใด ชาววัชชี พึงหวังความเจริญได้แน่นอน ไม่พึงหวังความเสื่อมเลย เพียงนั้น ฯ ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคตรัสกะวัสสการพราหมณ์มหาอำมาตย์แห่ง แคว้นมคธว่า ดูกรพราหมณ์ สมัยหนึ่ง เราอยู่ ณ สารันททเจดีย์ ใกล้พระนคร เวสาลี ณ ที่นั้น เราได้แสดงอปริหานิยธรรม ๗ ประการนี้ แก่เจ้าวัชชีว่า ดูกร พราหมณ์ อปริหานิยธรรม ๗ ประการนี้ จักตั้งอยู่ในชาววัชชี และชาววัชชีจัก ปรากฏอยู่ในอปริหานิยธรรม ๗ ประการนี้ เพียงใด ชาววัชชีพึงหวังความเจริญ ได้แน่นอน ไม่พึงหวังความเสื่อมเลย เพียงนั้น ฯ วัสสการพราหมณ์กราบทูลว่า ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ ชาววัชชีประกอบ ด้วยอปริหานิยธรรมแม้แต่ละอย่าง ก็พึงหวังความเจริญได้แน่นอน ไม่พึงหวัง ความเสื่อมเลย จะกล่าวไยถึงชาววัชชีผู้ประกอบด้วยอปริหานิยธรรม ๗ ประการ เล่า ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ อนึ่ง ชาววัชชีอันพระเจ้าแผ่นดินมคธพระนามว่า อชาตศัตรูเวเทหีบุตร ไม่พึงทำการต่อยุทธด้วยได้ เว้นเสียจากการเกลี้ยกล่อม เว้นเสียจากการยุยงให้แตกกัน ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ ข้าพระองค์ผู้มีกิจมาก มีกรณีย์มาก ขอกราบลาไป ณ บัดนี้ ฯ พ. ดูกรพราหมณ์ บัดนี้ท่านจงรู้กาลที่ควรเถิด ฯ ลำดับนั้น วัสสการพราหมณ์มหาอำมาตย์แห่งแคว้นมคธชื่นชมอนุโมทนา ภาษิตของพระผู้มีพระภาค ลุกจากอาสนะแล้วหลีกไป ฯ
จบสูตรที่ ๒

             เนื้อความพระไตรปิฎก เล่มที่ ๒๓ บรรทัดที่ ๔๒๑-๕๒๖ หน้าที่ ๑๙-๒๓. https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=23&A=421&Z=526&pagebreak=0              ฟังเนื้อความพระไตรปิฎก : [1], [2]              อ่านเทียบพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาฯ :- https://84000.org/tipitaka/attha/m_siri.php?B=23&siri=20              ศึกษาอรรถกถานี้ได้ที่ :- https://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=23&i=20              ศึกษาพระไตรปิฏกฉบับภาษาบาลีอักษรไทย :- [20] https://84000.org/tipitaka/pali/pali_item_s.php?book=23&item=20&items=1              อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย :- https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=16&A=3803              The Pali Tipitaka in Roman :- [20] https://84000.org/tipitaka/pali/roman_item_s.php?book=23&item=20&items=1              The Pali Atthakatha in Roman :- https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=16&A=3803              สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๓ https://84000.org/tipitaka/read/?index_23              อ่านเทียบฉบับแปลอังกฤษ Compare with English Translation :- https://84000.org/tipitaka/english/metta.lk/23i019-e.php#sutta2 https://suttacentral.net/an7.22/en/sujato

อ่านหน้า[ต่าง] แรกอ่านหน้า[ต่าง] ที่แล้วแสดงหมายเลขหน้า
ในกรณี :- 
   บรรทัดแรกของแต่ละหน้าอ่านหน้า[ต่าง] ถัดไปอ่านหน้า[ต่าง] สุดท้าย

บันทึก ๒๗ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๔๖ บันทึกล่าสุด ๒๒ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๖๐ การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจากพระไตรปิฎกฉบับหลวง. หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :