ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ค้นพระไตรปิฎก ชาดก หนังสือธรรมะ
     ฉบับหลวง   ฉบับมหาจุฬาฯ   บาลีอักษรไทย   PaliRoman 
อ่านหน้า[ต่าง] แรกอ่านหน้า[ต่าง] ที่แล้วแสดงหมายเลขหน้า
ในกรณี :- 
   บรรทัดแรกของแต่ละหน้าอ่านหน้า[ต่าง] ถัดไปอ่านหน้า[ต่าง] สุดท้าย
พระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๓ พระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๑๕ อังคุตตรนิกาย สัตตก-อัฏฐก-นวกนิบาต
สังขิตตสูตร
[๑๖๐] ครั้งนั้นแล ภิกษุรูปหนึ่งได้เข้าเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ฯลฯ ครั้นแล้วได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ขอประทานพระ วโรกาส ขอพระผู้มีพระภาคโปรดแสดงธรรมโดยย่อแก่ข้าพระองค์ ที่ข้าพระองค์ ได้ฟังแล้ว พึงเป็นผู้หลีกออกจากหมู่อยู่ผู้เดียว ไม่ประมาท มีความเพียร มีใจ เด็ดเดี่ยวอยู่เถิด ฯ พระผู้มีพระภาคตรัสว่า โมฆบุรุษบางพวกในโลกนี้ ย่อมเชื้อเชิญเรา โดยหาเหตุมิได้ เมื่อเรากล่าวธรรมแล้ว ย่อมสำคัญเราว่าควรติดตาม ด้วยคิดว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ขอพระผู้มีพระภาคโปรดแสดงธรรมโดยย่อแก่ข้าพระองค์ ขอพระสุคตโปรดแสดงธรรมโดยย่อ ไฉนหนอเราพึงรู้ทั่วถึงเนื้อความแห่งภาษิต ของพระผู้มีพระภาค ไฉนหนอเราพึงเป็นทายาทแห่งภาษิตของพระผู้มีพระภาค เพราะฉะนั้นแหละภิกษุ เธอพึงศึกษาอย่างนี้ว่า จิตของเราจักตั้งมั่น ดำรงอยู่ ด้วยดีในภายใน และธรรมอันเป็นบาปอกุศลที่เกิดขึ้นแล้วจักไม่ครอบงำจิตได้ ดูกรภิกษุ เธอพึงศึกษาอย่างนี้แล ดูกรภิกษุ เมื่อใด จิตของเธอเป็นจิตตั้งมั่น ดำรงอยู่ด้วยดีแล้วในภายใน และธรรมอันเป็นบาปอกุศลที่เกิดขึ้นแล้วไม่ครอบงำ จิตได้ เมื่อนั้น เธอพึงศึกษาอย่างนี้ว่า เราจักเจริญ กระทำให้มากซึ่งเมตตา เจโตวิมุติ ทำให้เป็นดุจยาน ทำให้เป็นที่ตั้ง ให้มั่นคง สั่งสม ปรารภดีแล้ว ดูกร ภิกษุ เธอพึงศึกษาอย่างนี้แล ดูกรภิกษุ เมื่อใด เธอเจริญกระทำให้มากซึ่ง สมาธินี้อย่างนี้แล้ว เมื่อนั้น เธอพึงเจริญสมาธินี้แม้มีวิตกวิจาร พึงเจริญสมาธินี้ แม้ไม่มีวิตก มีแต่วิจาร พึงเจริญสมาธินี้แม้ไม่มีวิตก ไม่มีวิจาร พึงเจริญสมาธินี้ แม้มีปีติ พึงเจริญสมาธินี้แม้ไม่มีปีติ พึงเจริญสมาธินี้แม้สหรคตด้วยความสำราญ พึงเจริญสมาธินี้แม้สหรคตด้วยอุเบกขา ดูกรภิกษุ เมื่อใด เธอเจริญสมาธินี้ อย่างนี้ เจริญดีแล้ว เมื่อนั้น เธอพึงศึกษาอย่างนี้ว่า เราจักเจริญ กระทำให้มาก ซึ่งกรุณาเจโตวิมุติ ฯลฯ มุทิตาเจโตวิมุติ ฯลฯ เราจักเจริญกระทำให้มากซึ่ง อุเบกขาเจโตวิมุติ ทำให้เป็นดุจยาน ทำให้เป็นที่ตั้ง ให้มั่นคง สั่งสม ปรารภ ดีแล้ว ดูกรภิกษุ เธอพึงศึกษาอย่างนี้แล ดูกรภิกษุ เมื่อใด เธอเจริญกระทำ ให้มากซึ่งสมาธินี้อย่างนี้แล้ว เมื่อนั้น เธอพึงเจริญสมาธินี้แม้มีวิตก มีวิจาร ... พึงเจริญสมาธินี้แม้สหรคตด้วยอุเบกขา ดูกรภิกษุ เมื่อใด เธอเจริญสมาธินี้ อย่างนี้ เจริญดีแล้ว เมื่อนั้น เธอพึงศึกษาอย่างนี้ว่า เราจักพิจารณากายในกายอยู่ มีความเพียร มีสัมปชัญญะ มีสติ กำจัดอภิชฌาและโทมนัสในโลกเสีย ดูกร ภิกษุ เธอพึงศึกษาอย่างนี้แล ดูกรภิกษุ เมื่อใด เธอเจริญกระทำให้มากซึ่งสมาธิ นี้อย่างนี้แล้ว เมื่อนั้น เธอพึงเจริญสมาธินี้แม้มีวิตก มีวิจาร ... เธอพึงเจริญ สมาธินี้แม้สหรคตด้วยอุเบกขา ดูกรภิกษุ เมื่อใด เธอเจริญสมาธินี้อย่างนี้ เจริญดีแล้ว เมื่อนั้น เธอพึงศึกษาอย่างนี้ว่า เราจักพิจารณาเวทนาในเวทนา ทั้งหลายอยู่ ฯลฯ พิจารณาจิตในจิตอยู่ ฯลฯ พิจารณาธรรมในธรรมทั้งหลายอยู่ มีความเพียร มีสัมปชัญญะ มีสติ กำจัดอภิชฌาและโทมนัสในโลกเสีย ดูกร ภิกษุ เธอพึงศึกษาอย่างนี้แล ดูกรภิกษุ เมื่อใด เธอเจริญกระทำให้มากซึ่ง สมาธินี้อย่างนี้แล้ว เมื่อนั้น เธอพึงเจริญสมาธินี้แม้มีวิตก มีวิจาร พึงเจริญ สมาธินี้แม้ไม่มีวิตก มีแต่วิจาร พึงเจริญสมาธินี้แม้ไม่มีวิตก ไม่มีวิจาร พึง เจริญสมาธินี้แม้มีปีติ พึงเจริญสมาธินี้แม้ไม่มีปีติ พึงเจริญสมาธินี้แม้สหรคต ด้วยความสำราญ พึงเจริญสมาธินี้แม้สหรคตด้วยอุเบกขา ดูกรภิกษุ เมื่อใด เธอเจริญสมาธินี้อย่างนี้ เจริญดีแล้ว เมื่อนั้น เธอจักเดินไปทางใดๆ ก็จักเดิน เป็นสุขในทางนั้นๆ ยืนอยู่ในที่ใดๆ ก็จักยืนเป็นสุขในที่นั้นๆ นั่งอยู่ในที่ ใดๆ ก็จักนั่งอยู่เป็นสุขในที่นั้นๆ นอนอยู่ที่ใดๆ ก็จักนอนเป็นสุขในที่ นั้นๆ ฯ ครั้งนั้นแล ภิกษุรูปนั้น อันพระผู้มีพระภาคตรัสสอนด้วยพระโอวาท นี้แล้ว ลุกจากอาสนะ ถวายบังคมพระผู้มีพระภาค กระทำประทักษิณแล้ว หลีกไป ภิกษุนั้นหลีกจากหมู่อยู่ผู้เดียว ไม่ประมาท มีความเพียร มีใจเด็ดเดี่ยว ไม่นานนัก ก็กระทำให้แจ้งซึ่งที่สุด แห่งพรหมจรรย์อันยอดเยี่ยม ที่กุลบุตร ออกบวชเป็นบรรพชิตโดยชอบต้องการนั้น ด้วยปัญญาอันยิ่งเอง ในปัจจุบัน เข้าถึงอยู่ รู้ชัดว่าชาติสิ้นแล้ว พรหมจรรย์อยู่จบแล้ว กิจที่ควรทำ ทำเสร็จแล้ว กิจอื่นเพื่อความเป็นอย่างนี้มิได้มี และภิกษุรูปนั้นได้เป็นพระอรหันต์องค์หนึ่งใน จำนวนพระอรหันต์ทั้งหลาย ฯ
จบสูตรที่ ๑๐

             เนื้อความพระไตรปิฎก เล่มที่ ๒๓ บรรทัดที่ ๖๓๑๔-๖๓๖๗ หน้าที่ ๒๗๓-๒๗๕. https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=23&A=6314&Z=6367&pagebreak=0              ฟังเนื้อความพระไตรปิฎก : [คลิกเพื่อฟัง]              อ่านเทียบพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาฯ :- https://84000.org/tipitaka/attha/m_siri.php?B=23&siri=136              ศึกษาอรรถกถานี้ได้ที่ :- https://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=23&i=160              ศึกษาพระไตรปิฏกฉบับภาษาบาลีอักษรไทย :- [160] https://84000.org/tipitaka/pali/pali_item_s.php?book=23&item=160&items=1              อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย :- https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=16&A=6032              The Pali Tipitaka in Roman :- [160] https://84000.org/tipitaka/pali/roman_item_s.php?book=23&item=160&items=1              The Pali Atthakatha in Roman :- https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=16&A=6032              สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๓ https://84000.org/tipitaka/read/?index_23              อ่านเทียบฉบับแปลอังกฤษ Compare with English Translation :- https://84000.org/tipitaka/english/metta.lk/23i151-e.php#sutta3 https://accesstoinsight.org/tipitaka/an/an08/an08.063.than.html https://suttacentral.net/an8.63/en/sujato https://suttacentral.net/an8.63/en/thanissaro

อ่านหน้า[ต่าง] แรกอ่านหน้า[ต่าง] ที่แล้วแสดงหมายเลขหน้า
ในกรณี :- 
   บรรทัดแรกของแต่ละหน้าอ่านหน้า[ต่าง] ถัดไปอ่านหน้า[ต่าง] สุดท้าย

บันทึก ๒๗ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๔๖ บันทึกล่าสุด ๒๒ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๖๐ การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจากพระไตรปิฎกฉบับหลวง. หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :