ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ค้นพระไตรปิฎก ชาดก หนังสือธรรมะ
     ฉบับหลวง   ฉบับมหาจุฬาฯ   บาลีอักษรไทย   PaliRoman 
อ่านหน้า[ต่าง] แรกอ่านหน้า[ต่าง] ที่แล้วแสดงหมายเลขหน้า
ในกรณี :- 
   บรรทัดแรกของแต่ละหน้าอ่านหน้า[ต่าง] ถัดไปอ่านหน้า[ต่าง] สุดท้าย
พระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๗ พระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๑๙ ขุททกนิกาย ชาดก ภาค ๑
๔. สังขปาลชาดก
ว่าด้วยสังขปาลนาคราชบำเพ็ญตบะ
[๒๔๙๕] ท่านเป็นผู้มีรูปร่างงดงาม มีดวงตาแจ่มใส ข้าพเจ้าสำคัญว่าท่านผู้เจริญ บวชจากสกุล ไฉนหนอ ท่านผู้มีปัญญาจึงละทรัพย์ และโภคสมบัติออก บวชเป็นบรรพชิตเสียเล่า? [๒๔๙๖] ดูกรมหาบพิตรผู้จอมนรชน อาตมภาพได้เห็นวิมานของพระยาสังขปาล นาคราชตัวมีอานุภาพมากมาด้วยตนเอง ครั้นเห็นแล้วจึงออกบวชด้วย เชื่อมหาวิบากของบุญทั้งหลาย. [๒๔๙๗] บรรพชิตทั้งหลายย่อมไม่กล่าวคำเท็จ เพราะความรัก เพราะความกลัว เพราะความชัง ข้าพเจ้าถามท่านแล้ว ขอท่านได้โปรดบอกเนื้อความนั้น แก่ข้าพเจ้า เพราะข้าพเจ้าได้ฟังแล้วจักเกิดความเลื่อมใส. [๒๔๙๘] ดูกรมหาบพิตร ผู้เป็นอธิบดีในรัฐมณฑล อาตมภาพเดินทางไปค้าขาย ได้เห็นบุตรนายพรานช่วยกันหามนาคตัวมีร่างกายใหญ่โต เดินร่าเริงไป ในหนทาง. ดูกรพระจอมประชานิกร อาตมภาพ มาประจวบเข้ากับ ลูกนายพรานเหล่านั้น ก็กลัวจนขนลุกขนพอง ได้ถามเขาว่า ดูกรพ่อ บุตรนายพราน ท่านทั้งหลายจงนำงูซึ่งมีร่างกายน่ากลัวไปไหน ท่านทั้ง หลายจักทำอะไรกับงูนี้. งูใหญ่มีกายอันเจริญพวกเรานำไปเพื่อจะกิน เนื้อของมันมีรสอร่อยมันและอ่อนนุ่ม ดูกรท่านผู้เป็นบุตรชาววิเทหรัฐ ท่านยังไม่รู้จักรส. เราทั้งหลายไปจากที่นี้ถึงบ้านของตนแล้ว จะเอามีด สับกินเนื้อกันให้สำราญใจ เพราะว่าเราทั้งหลายเป็นศัตรูของพวกงู. ถ้าท่านทั้งหลายจะนำงูใหญ่มีกายอันเจริญนี้ไปเพื่อกิน เราจะให้โค ๑๖ ตัว แก่ท่านทั้งหลาย ขอให้ปล่อยงูนี้เสียจากเครื่องผูกเถิด. ความจริงงูตัวนี้ เป็นอาหารที่ชอบใจของเราทั้งหลายโดยแท้ และเราทั้งหลายเคยกินงูมา มาก ดูกรนายอฬาระผู้เป็นบุตรชาววิเทหรัฐ เราทั้งหลายจะทำตามคำของ ท่าน แต่ว่าท่านจงเป็นมิตรของเราทั้งหลาย. ชนเหล่านั้นก็แก้นาคราช ออกจากเครื่องผูก นาคราชนั้นได้พ้นจากเครื่องผูกซึ่งเขาร้อยไว้ที่จมูกกับ บ่วงนั้นแล้วบ่ายหน้าตรงปาจีนทิศหลีกไปได้ครู่หนึ่ง ครั้นบ่ายหน้าตรง ปาจีนทิศไปสักครู่หนึ่ง มีดวงตาเต็มไปด้วยน้ำตา เหลียวมาดูอาตมภาพ อาตมภาพได้ตามไปข้างหลังของนาคราชนั้นประคองอัญชลีทั้ง ๑๐ นิ้ว เตือนว่า. จงรีบไปเสียโดยเร็ว ขอพวกศัตรูอย่าจับได้อีกเลย เพราะว่า การสมาคมด้วยพวกพรานบ่อยๆ เป็นทุกข์ ท่านจงไปสู่ที่ที่พวกบุตรนาย พรานจะไม่เห็น. นาคราชนั้นได้ไปสู่ห้วงน้ำใสมีสีเขียวน่ารื่นรมย์ มีท่า ราบเรียบ ปกคลุมไปด้วยไม้หว้า และย่างทราย เป็นสัตว์ปลอดภัย มีปีติ เข้าไปยังนาคพิภพ. ดูกรพระจอมประชานิกร นาคราชนั้น ครั้นเข้าไปสู่ นาคพิภพแล้ว ไม่ช้าก็มีบริวารทิพย์มาปรากฏแก่อาตมภาพ บำรุงอาตมภาพ เหมือนบุตรบำรุงบิดาฉะนั้น กล่าวคำจับใจรื่นหูแก่อาตมภาพว่า. ข้าแต่ ท่านอฬาระ ท่านเป็นเหมือนมารดาบิดาของข้าพเจ้า เป็นดังดวงใจ เป็นผู้ ให้ชีวิต เป็นสหาย ข้าพเจ้าจึงกลับได้ฤทธิ์ของตน ข้าแต่ท่านอฬาระ ขอเชิญท่านไปเยี่ยมนาคพิภพของข้าพเจ้า ซึ่งมีภักษาหารมาก มีข้าวและ น้ำมากมาย ดังเทพนครของท้าววาสวะ ฉะนั้น. [๒๔๙๙] นาคพิภพนั้นสมบูรณ์ด้วยภูมิภาค พื้นไม่มีกรวด อ่อนนุ่ม งาม มีหญ้า เตี้ยๆ ไม่มีธุลี นำมาซึ่งความเลื่อมใส เป็นที่ละความเศร้าโศกของคนผู้ เข้าไป. ในนาคพิภพนั้นมีสระโบกขรณีอันไม่อากูล เขียวชะอุ่มดังแก้ว ไพฑูรย์ มีต้นมะม่วงน่ารื่นรมย์ทั้ง ๔ ทิศ มีผลสุกกิ่งหนึ่ง ผลอ่อนกิ่ง หนึ่ง เผล็ดผลเป็นนิตย์. [๒๕๐๐] ดูกรมหาบพิตรผู้ประเสริฐกว่านรชน ในท่ามกลางสวนเหล่านั้น มีนิเวศน์ เลื่อมภัสสรล้วนแล้วไปด้วยทองคำ มีบานประตูแล้วไปด้วยเงิน งาม รุ่งเรืองยิ่ง ดุจสายฟ้าในอากาศฉะนั้น. ขอถวายพระพร ในท่ามกลาง สวนเหล่านั้น เรือนยอดและห้องแล้วไปด้วยแก้วมณี แล้วไปด้วย ทองคำโอฬารวิจิตร เป็นอเนกประการ นิรมิตด้วยดี ติดต่อกันเต็มไป ด้วยนางนาคกัญญาทั้งหลายผู้ประดับแล้ว ล้วนทรงสายสร้อยทองคำ. สังขปาลนาคราชนั้นมีผิวพรรณไม่ทราม ว่องไว ขึ้นสู่ปราสาทมีเสา ประมาณ ๑,๐๐๐ ต้น มีอานุภาพชั่งไม่ได้ เป็นที่อยู่ของมเหสีแห่ง สังขปาลนาคราชนั้น. นารีนางหนึ่งว่องไว ไม่ต้องเตือนยกอาสนะ ล้วน แล้วด้วยแก้วไพฑูรย์ มีค่ามากงดงาม สมบูรณ์ด้วยแก้วมีชาติดังแก้วมณี มาปูลาด. ลำดับนั้น นาคราชจูงมืออาตมภาพให้นั่งบนอาสนะอันเป็น ประธาน กล่าวว่า นี่อาสนะ เชิญท่านนั่งบนอาสนะนี้ เพราะว่าท่านเป็น ที่เคารพคนหนึ่งของข้าพเจ้า ในจำนวนท่านที่เคารพทั้งหลาย. ดูกร พระจอมประชานิกร นารีอีกนางหนึ่งก็ว่องไว ตักเอาน้ำเข้ามาล้างเท้าของ อาตมภาพ ดุจภรรยาล้างเท้าสามีที่รักฉะนั้น มีนารีอีกนางหนึ่งว่องไว ประคองภาชนะทองคำเต็มไปด้วยภัตตาหารน่าบริโภค มีสูปะหลายอย่าง มีพยัญชนะต่างๆ นำเข้ามาให้อาตมภาพ. ขอถวายพระพร นารีเหล่านั้น รู้จักใจสามี พากันบำรุง อาตมภาพผู้บริโภคแล้วด้วยดนตรีทั้งหลาย นาคราชนั้นก็เข้ามาหาอาตมภาพพร้อมด้วยทิพกามคุณมิใช่น้อย ใหญ่ยิ่ง กว่าการฟ้อนรำนั้น. [๒๕๐๑] ข้าแต่ท่านอฬาระ ภรรยาของข้าพเจ้าทั้ง ๓๐๐ นี้ ล้วนมีเอวอ้อนแอ้น มี รัศมีรุ่งเรืองดังกลีบปทุม นางเหล่านี้ จะเป็นผู้ทำความใคร่ให้ท่าน ข้าพเจ้าขอยกนางเหล่านี้ให้ท่าน ท่านจงให้นางเหล่านั้นบำเรอท่านเถิด. [๒๕๐๒] อาตมภาพได้เสวยรสอันเป็นทิพย์อยู่ปีหนึ่ง คราวนั้นอาตมภาพได้ไต่ถาม ถึงสมบัติอันยิ่งว่า ท่านพญานาคได้สมบัตินี้ด้วยอุบายอย่างไร ได้ วิมานอันประเสริฐอย่างไร? ได้โดยไม่มีเหตุหรือเกิดเพราะใครน้อมมา ให้แก่ท่าน ท่านกระทำเอง หรือว่าเทวดาให้ ดูกรพญานาคราช ข้าพเจ้าขอถามเนื้อความนั้นกะท่าน ท่านได้วิมานอันประเสริฐอย่างไร? [๒๕๐๓] ข้าพเจ้าได้วิมานนี้มิใช่โดยไม่มีเหตุ และมิใช่เกิดเพราะใครน้อมมาให้ ข้าพเจ้า ข้าพเจ้ามิได้ทำเอง แม้เทวดาก็มิได้ให้ ข้าพเจ้าได้วิมานนี้ด้วย บุญกรรมอันไม่เป็นบาปของตน. [๒๕๐๔] พรตของท่านเป็นอย่างไร และพรหมจรรย์ของท่านเป็นไฉน นี้เป็นวิบาก แห่งกรรมอะไรที่ท่านประพฤติดีแล้ว ดูกรพญานาคราช ขอท่านจงบอก เนื้อความนี้แก่ข้าพเจ้า ท่านได้วิมานนี้มาอย่างไรหนอ? [๒๕๐๕] ข้าพเจ้าเป็นพระราชาใหญ่กว่าชนชาวมคธ มีนามว่า ทุยโยธนะ มี อานุภาพมาก ทราบชัดว่า ชีวิตเป็นของน้อยไม่เที่ยง มีความแปรปรวนไป เป็นธรรมดา. จึงเป็นผู้มีจิตเลื่อมใส ได้ให้ข้าวและน้ำเป็นทานอัน ไพบูลย์โดยเคารพ วังของข้าพเจ้าในครั้งนั้นเป็นดุจบ่อน้ำ สมณพราหมณ์ ทั้งหลายก็อิ่มหนำสำราญในที่นั้น. ข้าพเจ้าได้ให้ดอกไม้ ของหอม เครื่องลูบไล้ ประทีบ ยวดยาน ที่พัก ผ้านุ่งห่ม ที่นอน และข้าวน้ำ เป็นทานโดยเคารพ. นั่นเป็นพรต และเป็นพรหมจรรย์ของข้าพเจ้า นี้ เป็นวิบากแห่งกรรมนั้น ที่ข้าพเจ้าประพฤติดีแล้ว ข้าพเจ้าได้วิมานอันมี ภักษาหารเพียงพอ มีข้าวน้ำมากมาย เพราะวัตรและพรหมจรรย์นั้นแล. [๒๕๐๖] วิมานนี้บริบูรณ์ด้วยการฟ้อนรำขับร้อง ตั้งอยู่ช้านาน แต่เป็นของไม่ เที่ยง บุตรนายพรานทั้งหลายผู้มีอานุภาพน้อย ไม่มีเดช ไยจึงเบียด เบียนท่านผู้มีอานุภาพมากมีเดชได้? ดูกรพญานาคราช เพราะอาศัยอะไร หรือท่านจึงตกอยู่ในเงื้อมมือของบุตรนายพรานทั้งหลาย ความกลัวใหญ่ ตามถึงท่าน หรือว่าพิษของท่านไม่แล่นไปยังรากเขี้ยว ดูกรพญานาคราช เพราะอาศัยอะไรหรือ ท่านจึงถึงความเศร้าหมองในสำนักของบุตรนาย พรานทั้งหลาย? [๒๕๐๗] ความกลัวใหญ่มิได้ตามถึงข้าพเจ้า บุตรนายพรานเหล่านั้นไม่สามารถจะ ทำลายเดชของข้าพเจ้า แต่ว่าธรรมของสัตบุรุษทั้งหลายท่านประกาศไว้ ยากที่จะล่วงได้ เหมือนเขตแดนสมุทร ฉะนั้น ข้าแต่ท่านอฬาระ ข้าพเจ้าเข้าจำอุโบสถในวันจาตุททสีปัณณรสีเป็นนิตย์ ต่อมา บุตรนาย- พราน ๑๖ คนเป็นคนหยาบช้า ถือเอาเชือกและบ่วงอันมั่นคงมาแล้ว. แทงจมูกเอาเชือกร้อยช่วยกันหามข้าพเจ้าไป ข้าพเจ้าอดทนความทุกข์ เช่นนี้ ไม่ทำอุโบสถให้กำเริบ. [๒๕๐๘] บุตรนายพรานเหล่านั้น ได้พบท่านผู้สมบูรณ์ด้วยกำลังและผิวพรรณ ที่ ทางเดินคนเดียว ดูกรพญานาคราช ท่านเป็นผู้เจริญด้วยศิริและปัญญา จะบำเพ็ญตบะเพื่อประโยชน์อะไรอีกเล่า? [๒๕๐๙] ข้าแต่ท่านอฬาระ ข้าพเจ้าบำเพ็ญตบะมิใช่เพราะเหตุแห่งบุตร มิใช่เพราะ เหตุแห่งทรัพย์ และมิใช่เพราะเหตุแห่งอายุ เพราะข้าพเจ้าปรารถนา กำเนิดมนุษย์ จึงบากบั่นบำเพ็ญตบะ. [๒๕๑๐] ท่านเป็นผู้มีนัยน์ตาแดง มีรัศมีรุ่งเรือง ประดับตบแต่งแล้ว ปลงผม และหนวด ชโลมทาด้วยจุรณจันทร์แดง ส่องสว่างไปทั่วทิศ ดุจคน ธรรพราชาฉะนั้น. ท่านเป็นผู้ถึงแล้วซึ่งเทวฤทธิ์ มีอานุภาพมาก พร้อมพรั่งไปด้วยกามารมณ์ทั้งปวง ดูกรพญานาคราช ข้าพเจ้าขอถาม เนื้อความนี้กะท่าน เหตุไรมนุษยโลกจึงประเสริฐกว่านาคพิภพนี้? [๒๕๑๑] ข้าแต่ท่านอฬาระ นอกจากมนุษยโลก ความบริสุทธิ์หรือความสำรวม ย่อมไม่มี ถ้าข้าพเจ้าได้กำเนิดมนุษย์แล้ว จักกระทำที่สุดแห่งชาติและ มรณะ. [๒๕๑๒] ข้าพเจ้าอยู่ในสำนักของท่านปีหนึ่งแล้ว เป็นผู้ที่ท่านบำรุงด้วยข้าวด้วยน้ำ ข้าพเจ้าขอลาท่าน ดูกรท่านผู้เป็นจอมนาค ข้าพเจ้าจากมนุษยโลกมา เสียนาน. [๒๕๑๓] ข้าแต่ท่านอฬาระ บุตร ภรรยา และชนบริวารข้าพเจ้าพร่ำสอนเป็นนิตย์ ให้บำรุงท่าน ใครมิได้แช่งด่าท่านแลหรือ ก็การได้พบเห็นท่านเป็นที่รัก ของข้าพเจ้า. [๒๕๑๔] ดูกรพญานาคราช บุตรผู้เป็นที่รักปฏิบัติมารดาบิดาอยู่ในเรือน แม้ด้วย ประการใด ท่านบำรุงข้าพเจ้าอยู่ในนาคพิภพนี้ ประเสริฐกว่าประการนั้น เพราะว่าจิตของท่านเลื่อมใสข้าพเจ้า. [๒๕๑๕] แก้วทับทิม อันจะนำทรัพย์มาให้ตามประสงค์ของข้าพเจ้ามีอยู่ ท่านจง ถือเอามณีรัตน์อันโอฬารนั้นไปยังที่อยู่ของตน ได้ทรัพย์แล้วจงเก็บแก้ว มณีนั้น. [๒๕๑๖] ขอถวายพระพร แม้กามคุณเป็นของมนุษย์ อาตมภาพได้เห็นแล้ว เป็นของไม่เที่ยง มีความแปรปรวนเป็นธรรมดา อาตมภาพเห็นโทษใน กามคุณทั้งหลาย จึงออกบวชด้วยศรัทธา. ขอถวายพระพร ทั้งคนหนุ่ม คนแก่ย่อมมีสรีระทำลาย ร่วงหล่นไป เปรียบเหมือนผลไม้ฉะนั้น อาตมภาพเห็นคุณข้อนี้ว่า สามัญผลเป็นข้อปฏิบัติอันไม่ผิด ประเสริฐ จึงออกบวช. [๒๕๑๗] ชนเหล่าใดเป็นพหูสูต ค้นคิดเหตุผลได้มาก ชนเหล่านั้นเป็นคนมีปัญญา บุคคลควรคบหาโดยแท้ทีเดียว ข้าแต่ท่านอฬาระ ข้าพเจ้าได้ฟังคำของ นาคราช และของท่านแล้วจักทำบุญไม่ใช่น้อย. [๒๕๑๘] ขอถวายพระพร ชนทั้งหลายเป็นพหูสูต ค้นคิดเหตุผลได้มาก ชนเหล่า นั้นเป็นคนมีปัญญา บุคคลควรคบหาโดยแท้ทีเดียว ได้ทรงสดับเรื่อง ราวของนาคราช และของอาตมภาพแล้ว ขอจงทรงบำเพ็ญบุญให้มาก เถิด ขอถวายพระพร.
จบ สังขปาลชาดกที่ ๔

             เนื้อความพระไตรปิฎก เล่มที่ ๒๗ บรรทัดที่ ๑๐๔๒๒-๑๐๕๖๓ หน้าที่ ๔๕๑-๔๕๗. https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=27&A=10422&Z=10563&pagebreak=0              ฟังเนื้อความพระไตรปิฎก : [1], [2], [3]              อ่านเทียบพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาฯ :- https://84000.org/tipitaka/attha/m_siri.php?B=27&siri=524              ศึกษาอรรถกถาชาดกนี้ได้ที่ :- https://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=27&i=2495              ศึกษาพระไตรปิฏกฉบับภาษาบาลีอักษรไทย :- [2495-2518] https://84000.org/tipitaka/pali/pali_item_s.php?book=27&item=2495&items=24              อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย :- https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=41&A=8443              The Pali Tipitaka in Roman :- [2495-2518] https://84000.org/tipitaka/pali/roman_item_s.php?book=27&item=2495&items=24              The Pali Atthakatha in Roman :- https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=41&A=8443              สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๗ https://84000.org/tipitaka/read/?index_27              อ่านเทียบฉบับแปลอังกฤษ Compare with English Translation :- https://suttacentral.net/ja524/en/francis

อ่านหน้า[ต่าง] แรกอ่านหน้า[ต่าง] ที่แล้วแสดงหมายเลขหน้า
ในกรณี :- 
   บรรทัดแรกของแต่ละหน้าอ่านหน้า[ต่าง] ถัดไปอ่านหน้า[ต่าง] สุดท้าย

บันทึก ๒๗ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๔๖ บันทึกล่าสุด ๒๒ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๖๐ การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจากพระไตรปิฎกฉบับหลวง. หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :