ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ค้นพระไตรปิฎก ชาดก หนังสือธรรมะ
     ฉบับหลวง   ฉบับมหาจุฬาฯ   บาลีอักษรไทย   PaliRoman 
อ่านหน้า[ต่าง] แรกอ่านหน้า[ต่าง] ที่แล้วแสดงหมายเลขหน้า
ในกรณี :- 
   บรรทัดแรกของแต่ละหน้าอ่านหน้า[ต่าง] ถัดไปอ่านหน้า[ต่าง] สุดท้าย
พระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๘ พระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๒๐ ขุททกนิกาย ชาดก ภาค ๒
อสีตินิบาตชาดก
๑. จุลลหังสชาดก
พระยาหงส์ทรงติดบ่วง
[๑๖๓] ดูกรสุมุขะ ฝูงหงส์พากันบินหนีไปไม่เหลียวหลัง แม้ท่านก็จงไปเสีย เถิด อย่าหวังอยู่ในที่นี้เลย ความเป็นสหายในเราผู้ติดบ่วงย่อมไม่มี. [๑๖๔] ข้าพระองค์จะพึงไปหรือไม่พึงไป ความไม่ตาย ก็ไม่พึงมีเพราะการไป หรือการไม่ไปนั้น เมื่อพระองค์มีความสุขจึงอยู่ใกล้ เมื่อพระองค์ได้รับ ทุกข์ จะพึงละไปอย่างไรได้ ความตายพร้อมกับพระองค์ หรือว่าความ เป็นอยู่เว้นจากพระองค์ ความตายนั้นแลประเสริฐกว่า เว้นจากพระองค์ แล้วพึงเป็นอยู่ประเสริฐอะไร ข้าแต่พระมหาราชผู้เป็นจอมหงส์ ข้า พระองค์พึงละทิ้งพระองค์ผู้ทรงถึงทุกข์อย่างนี้ ข้อนี้ไม่เป็นธรรมเลย คติของพระองค์ ข้าพระองค์ย่อมชอบใจ. [๑๖๕] คติ ของเราผู้ติดบ่วงจะเป็นอื่นไปอย่างไรเล่า นอกจากเข้าโรงครัวใหญ่ คตินั้นย่อมชอบใจแก่ท่านผู้มีความคิดผู้พ้นแล้วอย่างไร ดูกรหงส์สุมุขะ ท่านจะพึงเห็นประโยชน์อะไรในการสิ้นชีวิตของเราและของท่านทั้งสอง หรือของพวกญาติที่เหลือ ดูกรท่านผู้มีปีกทั้งสองดังสีทอง เมื่อท่าน ยอมสละชีวิตในเพราะคุณอันไม่ประจักษ์ ดังคนตาบอดกระทำแล้วใน ที่มืดจะพึงยังประโยชน์อะไรให้รุ่งเรืองได้. [๑๖๖] ข้าแต่พระองค์ผู้ประเสริฐกว่าฝูงหงส์ทั้งหลาย ทำไมหนอ พระองค์จึงไม่ ทรงรู้อรรถในธรรม ธรรมอันบุคคลเคารพแล้วย่อมแสดงประโยชน์แก่ สัตว์ทั้งหลาย ข้าพระองค์นั้นเพ่งเล็งอยู่ซึ่งธรรมและประโยชน์อันตั้ง ขึ้นจากธรรม ทั้งเห็นพร้อมอยู่ซึ่งความภักดีในพระองค์ จึงมิได้เสียดาย ชีวิต ความที่มิตรเมื่อระลึกถึงธรรมไม่พึงทอดทิ้งมิตรในยามทุกข์ แม้ เพราะเหตุแห่งชีวิต นี้เป็นธรรมของสัตบุรุษทั้งหลายโดยแท้. [๑๖๗] ธรรมนี้นั้นท่านประพฤติแล้ว และความภักดีในเราก็ปรากฏแล้ว ท่านจง ทำตามความปรารถนาของเรานี้เถิด ท่านผู้เป็นอันเราอนุมัติแล้ว จงไป เสียเถิด ดูกรท่านผู้ถึงพร้อมด้วยปัญญา ก็แลเมื่อกาลล่วงไปอย่างนี้ คือ เมื่อเราติดบ่วงอยู่ในที่นี้ ท่านพึงกลับไป ปกครองหมู่ญาติทั้งหลายของ เราให้จงดีเถิด. [๑๖๘] เมื่อสุวรรณหงส์ผู้ประเสริฐ ผู้ประพฤติธรรมอันประเสริฐกำลังโต้ตอบ กันอยู่ด้วยประการฉะนี้ นายพรานได้ปรากฏแล้วเหมือนดังมัจจุราช ปรากฏแก่บุคคลผู้ป่วยหนัก ฉะนั้น สุวรรณหงส์ทั้งสองผู้เกื้อกูลกันมาสิ้น กาลนานนั้น เห็นศัตรูเดินมาแล้ว ก็นิ่งเฉยมิได้เคลื่อนจากที่ ฝ่ายว่านาย พรานผู้เป็นศัตรูของพวกนก เห็นพระยาหงส์ธตรฐผู้เป็นจอมหงส์กำลัง เดินส่ายไปมาแต่ที่นั้นๆ จึงรีบเดินเข้าไป ก็นายพรานนั้นครั้นรีบเดิน เข้าไปแล้ว เกิดความสงสัยขึ้นว่า หงส์ทั้งสองนั้นติดบ่วงหรือไม่ จึง ค่อยลดความเร็วลง ค่อยๆ เดินเข้าไปให้ใกล้สุวรรณหงส์ทั้งสอง ได้เห็นตัวหนึ่งติดบ่วงอีกตัวหนึ่งไม่ติดบ่วง แต่มายืนอยู่ใกล้ตัวติดบ่วง จึงเพ่งดูตัวที่ติดบ่วงผู้เป็นโทษ ลำดับนั้น นายพรานนั้นเป็นผู้มีความ สงสัยจึงได้กล่าวถามสุมุขหงส์ผู้มีผิวพรรณเหลือง มีร่างกายใหญ่ ผู้เป็น ใหญ่ในหมู่หงส์ ซึ่งยืนอยู่ว่า เพราะเหตุไรหนอพระยาหงส์ตัวที่ติดบ่วง ใหญ่ ย่อมไม่กระทำซึ่งทิศ เมื่อเป็นเช่นนั้นเพราะเหตุไรท่านผู้ไม่ติด บ่วง เป็นผู้มีกำลัง จึงไม่บินหนีไป พระยาหงส์ตัวนี้เป็นอะไรกับท่าน หรือท่านพ้นแล้วทำไมจึงยังเฝ้าหงส์ผู้ติดบ่วงอยู่ หงส์ทั้งหลายพากัน ละทิ้งหนีไปหมด เพราะเหตุไร ท่านจึงยังอยู่ผู้เดียว. [๑๖๙] ดูกรนายพรานนก พระยาหงส์นั้นเป็นราชาของเรา ทั้งเป็นเพื่อนเสมอ ด้วยชีวิตของเราด้วย เราจึงไม่ละท่านไป จนกว่าจะถึงที่สุดแห่งกาละ. [๑๗๐] ก็ไฉนพระยาหงส์นี้จึงไม่เห็นบ่วงที่ดักไว้ ความจริงการรู้อันตรายของตน เป็นเหตุของบุคคลผู้ใหญ่ทั้งหลาย เพราะเหตุนั้น บุคคลผู้ใหญ่เหล่านั้น ควรรู้อันตราย. [๑๗๑] เมื่อใดมีความเสื่อม เมื่อนั้น สัตว์แม้เข้าใกล้ข่ายหรือบ่วงก็ไม่รู้สึก ในเมื่อถึงคราวจะสิ้นชีวิต. [๑๗๒] ดูกรท่านผู้มีปัญญามาก ก็แลบ่วงทั้งหลายที่เขาดักไว้มีมากอย่าง สัตว์ ทั้งหลายย่อมเข้ามาติดบ่วงที่เขาดักอำพรางไว้ในเมื่อถึงคราวจะสิ้นชีวิต อย่างนี้. [๑๗๓] เออก็การอยู่ร่วมกันกับท่านนี้ พึงมีสุขเป็นกำไรหนอ และขอท่าน อนุญาตแก่ข้าพเจ้าทั้งสองเถิด และขอท่านพึงให้ชีวิตแก่ข้าพเจ้าทั้งสอง ด้วยเถิด. [๑๗๔] เรามิได้ผูกท่านไว้ และไม่ปรารถนาจะว่าท่าน เชิญท่านรีบไปจากที่นี้ตาม ปรารถนา แล้วจงอยู่เป็นสุขตลอดกาลนานเถิด. [๑๗๕] ข้าพเจ้าไม่ปรารถนาจะมีชีวิตอยู่ โดยเว้นจากชีวิตของพระยาหงส์นี้ ถ้า ท่านยินดีเพียงตัวเดียว ขอให้ท่านปล่อยพระยาหงส์นี้ และจงกินข้าพเจ้า ข้าพเจ้าทั้งสองเป็นผู้เสมอกัน ด้วยรูปทรงสัณฐานและวัย ท่านไม่เสื่อม แล้วจากลาภ ขอท่านจงเปลี่ยนข้าพเจ้ากับพระยาหงส์นี้เถิด เชิญท่าน พิจารณาดูในข้าพเจ้าทั้งสอง เมื่อท่านมีความปรารถนาเฉพาะตัวเดียว จงเอาบ่วงผูกข้าพเจ้าไว้ก่อน จงปล่อยพระยาหงส์ในภายหลัง ถ้าท่าน ทำตามที่ข้าพเจ้าขอร้อง ลาภของท่านก็คงมีประมาณเท่านั้นเหมือนกัน ทั้งท่านจะได้เป็นมิตรกับฝูงหงส์ธตรฐจนตลอดชีวิต [๑๗๖] มิตร อำมาตย์ ทาส ทาสี บุตร ภรรยา และพวกพ้องหมู่ใหญ่ทั้งหลาย จงดูว่า พระยาหงส์ธตรฐพ้นจากที่นี้ไปได้เพราะท่าน บรรดามิตรทั้งหลาย เป็นอันมาก มิตรเช่นท่านนั้นหามีในโลกนี้ เหมือนท่านผู้เป็นเพื่อนร่วม ชีวิต ของพระยาหงส์ธตรฐไม่ เรายอมปล่อยสหายของท่าน พระยา หงส์จงบินตามท่านไปเถิด ท่านทั้งสองจงรีบไปจากที่นี้ตามความ ปรารถนา จงรุ่งเรืองอยู่ในท่ามกลางหมู่ญาติ. [๑๗๗] สุมุขหงส์ผู้มีความเคารพนาย มีความปลื้มใจ เพราะพระยาหงส์ผู้เป็น นายหลุดพ้นจากบ่วง เมื่อจะกล่าววาจาอันรื่นหูได้กล่าวว่า ดูกรนายพราน ขอให้ท่านพร้อมด้วยหมู่ญาติทั้งปวงจงเบิกบานใจ เหมือนข้าพเจ้าเบิก บานใจในวันนี้เพราะได้เห็นพระยาหงส์พ้นจากบ่วงฉะนั้น. [๑๗๘] เชิญท่านมานี่ เราจักบอกท่านถึงวิธีที่ท่านจักได้ทรัพย์เป็นลาภของท่าน พระยาหงส์ธตรฐนี้ย่อมไม่มุ่งร้ายอะไรๆ ท่านจงรีบไปภายในบุรี จง แสดงข้าพเจ้าทั้งสองผู้ไม่ติดบ่วงเป็นอยู่ตามปกติ จับอยู่ที่กระเช้า ทั้งสองข้าง แก่พระราชาว่า ข้าแต่พระมหาราช หงส์ธตรฐทั้งสองนี้เป็น อธิบดีแห่งหงส์ทั้งหลาย เพราะว่าหงส์ตัวนี้เป็นราชาของหงส์ทั้งหลาย ส่วนหงส์ตัวนี้เป็นอัครมหาเสนาบดี พระราชาจอมประชาชนทอด พระเนตรเห็นพระยาหงส์นี้แล้ว ก็จะทรงปราบปลื้มพระหฤทัย จักพระ- ราชทานทรัพย์เป็นอันมากแก่ท่านโดยไม่ต้องสงสัย. [๑๗๙] นายพรานได้สดับคำของหงส์สุมุขะดังนั้นแล้ว จัดแจงการงานเสร็จแล้ว รีบเข้าไปภายในบุรี แสดงหงส์ทั้งสองผู้มิได้ติดบ่วง เป็นอยู่ตามปกติ จับอยู่ที่กระเช้าทั้งสองข้างแก่พระราชาว่า ข้าแต่มหาราช หงส์ธตรฐทั้ง สองนี้ เป็นอธิบดีแห่งหงส์ทั้งหลาย เพราะว่าหงส์ตัวนี้เป็นราชาของ หงส์ทั้งหลาย ส่วนหงส์ตัวนี้เป็นอัครมหาเสนาบดี. [๑๘๐] ก็หงส์ทั้งสองนี้มาอยู่ในเงื้อมมือของท่านได้อย่างไร ท่านเป็นพราน นำ หงส์ผู้เป็นใหญ่ กว่าหงส์ผู้ใหญ่ทั้งหลายมาในที่นี้ได้อย่างไร. [๑๘๑] ข้าแต่พระจอมประชานิกร ข้าพระองค์ดักบ่วงเหล่านี้ไว้ที่เปือกตม ซึ่ง เป็นที่ๆ ข้าพระองค์เข้าใจว่า จะกระทำความสิ้นชีวิตแก่นกทั้งหลายได้ พระยาหงส์ได้มาติดบ่วงเช่นนั้น ส่วนหงส์ตัวนี้มิได้ติดบ่วงของ ข้าพระองค์ แต่เข้ามาจับอยู่ใกล้ๆ พระยาหงส์นั้น ได้กล่าวกะ ข้าพระองค์ หงส์นี้ประกอบแล้วด้วยธรรม ได้กระทำกรรมอันแสนยาก ที่บุคคลผู้มิใช่พระอริยะจะพึงทำได้ ประกาศภาวะอันสูงสุดของตน พยายามในประโยชน์ของนาย หงส์นี้ควรจะมีชีวิตอยู่ ยอมสละชีวิต ของตน มายืนสรรเสริญคุณของนาย ร้องขอชีวิตของนาย ข้าพระองค์ ได้สดับคำของหงส์นี้แล้ว เกิดความเลื่อมใส จึงปล่อยพระยาหงส์นั้น จากบ่วง และอนุญาตให้กลับได้ตามสบาย สุมุขหงส์ผู้มีความเคารพนาย มีความปลื้มใจ เพราะพระยาหงส์ผู้เป็นนายหลุดพ้นจากบ่วง เมื่อจะกล่าว วาจาอันรื่นหู ได้กล่าวว่า ดูกรนายพราน ขอให้ท่านพร้อมด้วยหมู่ญาติ ทั้งปวงจงเบิกบานใจ เหมือนข้าพเจ้าเบิกบานใจในวันนี้ เพราะได้เห็น พระยาหงส์พ้นจากบ่วง ฉะนั้น เชิญท่านมานี่ เราจักบอกท่าน ถึงวิธี ที่ท่านจักได้ทรัพย์อันเป็นลาภของท่าน พระยาหงส์ธตรฐนี้ย่อมไม่มุ่งร้าย อะไรๆ ท่านจงรีบเข้าไปภายในบุรี จงแสดงข้าพเจ้าทั้งสองผู้ไม่ติดบ่วง เป็นอยู่ตามปกติ จับอยู่ที่กระเช้าทั้งสองข้างแก่พระราชาว่า ข้าแต่ มหาราช หงส์ธตรฐทั้งสองนี้เป็นอธิบดีแห่งหงส์ทั้งหลาย เพราะว่าหงส์ ตัวนี้เป็นราชาของหงส์ทั้งหลาย ส่วนหงส์ตัวนี้เป็นอัครมหาเสนาบดี พระราชาผู้เป็นจอมประชาชน ทอดพระเนตรเห็นพระยาหงส์นี้แล้ว จะทรงปราโมทย์ปลาบปลื้มพระหฤทัย จักพระราชทานทรัพย์เป็นอันมาก แก่ท่านโดยไม่ต้องสงสัย ข้าพระองค์จึงนำหงส์ทั้งสองนี้มา ตามคำ ของหงส์ตัวนี้อย่างนี้ และหงส์ทั้งสองนี้ ข้าพระองค์อนุญาตให้ไปยัง เขาจิตรกูฏนั้นแล้ว หงส์ตัวนี้ เป็นผู้ประกอบด้วยธรรมอย่างยิ่ง ตกอยู่ ในเงื้อมมือของศัตรูอย่างนี้ ได้ทำให้นายพรานเช่นข้าพระองค์เกิดความ เป็นผู้มีใจอ่อนโยน ข้าแต่พระองค์ผู้สมมติเทพ ข้าพระองค์ ไม่เห็น เครื่องบรรณาการอย่างอื่นนอกจากนี้ที่จะนำมาถวายแด่พระองค์ ข้าแต่ พระองค์ผู้เป็นจอมมนุษย์ ขอพระองค์ทรงทอดพระเนตรดูเครื่องบรร- ณาการนั้น ณ บ้านพรานนกทั้งปวง. [๑๘๒] พระยาหงส์เห็นพระราชาประทับนั่งบนตั่งทองอันงดงาม เมื่อจะกล่าว วาจาอันรื่นหู จึงได้ทูลว่า พระองค์ไม่มีโรคาพาธหรือ ทรงสุขสำราญ ดีอยู่หรือ พระองค์ทรงปกครอง รัฐมณฑลอันสมบูรณ์นี้โดยธรรมหรือ. [๑๘๓] ดูกรพระยาหงส์ เราไม่มีโรคาพาธ เราสุขสำราญดี อนึ่ง เราปกครอง รัฐมณฑลอันสมบูรณ์นี้โดยธรรม. [๑๘๔] โทษอะไรๆ ย่อมไม่มีในหมู่อำมาตย์ของพระองค์แลหรือ อำมาตย์ เหล่านั้น ย่อมไม่ห่วงใยชีวิต เพราะประโยชน์ของพระองค์แลหรือ. [๑๘๕] โทษอะไรๆ ย่อมไม่มีในหมู่อำมาตย์ของเรา และอำมาตย์เหล่านั้น ย่อม ไม่ห่วงใยชีวิต เพราะประโยชน์ของเรา. [๑๘๖] พระอัครมเหสีของพระองค์ เป็นผู้มีพระชาติเสมอกัน ทรงเชื่อฟัง มี ปกติตรัสวาจาอันน่ารัก ทรงประกอบด้วยพระโอรส พระรูปโฉม และอิศริยยศ ทรงคล้อยตามพระราชอัธยาศัยของพระองค์แลหรือ. [๑๘๗] พระอัครมเหสีของเรา เป็นผู้มีพระชาติเสมอกัน ทรงเชื่อฟัง มีปกติตรัส วาจาอันน่ารัก ทรงประกอบด้วยพระโอรสพระรูปโฉมและอิศริยยศ ทรงคล้อยตามอัธยาศัยของเรา. [๑๘๘] ท่านตกอยู่ในเงื้อมมือของมหาศัตรู ได้รับทุกข์ใหญ่หลวงในเบื้องต้น พึงได้รับทุกข์นั้นบ้างแลหรือ นายพรานวิ่งเข้าไปโบยตีท่านด้วยท่อนไม้ แลหรือ เพราะว่าปกติของคนหยาบช้าเหล่านี้ ย่อมมีเป็นประจำอย่าง นั้น. [๑๘๙] ข้าแต่พระมหาราช ในยามมีทุกข์อย่างนี้ ย่อมมีความปลอดโปร่งใจ จริง อยู่ นายพรานนี้ มิได้ทำอะไรๆ ในข้าพระองค์ทั้งสองเหมือนศัตรู นาย พรานค่อยๆ เดินเข้าไปและได้ปราศรัยขึ้นก่อน ในกาลนั้น สุมุขหงส์ บัณฑิตผู้นี้ได้กล่าวตอบ นายพรานได้ฟังคำของสุมุขหงส์นั้นแล้วก็เกิด ความเลื่อมใส ปล่อยข้าพระองค์จากบ่วงนั้น และอนุญาตให้ข้าพระองค์ กลับได้ตามสบาย สุมุขหงส์ปรารถนาทรัพย์เพื่อนายพรานนี้ จึงคิดชวน กันมาในสำนักของพระองค์เพื่อประโยชน์แก่นายพรานนี้. [๑๙๐] ก็การที่ท่านทั้งสองมาในที่นี้ เป็นการมาดีแล้ว และเราก็มีความปราโมทย์ เพราะได้เห็นท่านทั้งสอง แม้นายพรานนี้ก็จะได้ทรัพย์อันมากมายตามที่ เขาปรารถนา. [๑๙๑] พระราชาผู้เป็นจอมมนุษย์ ทรงยังนายพรานให้เอิบอิ่มด้วยโภคสมบัติทั้ง หลาย พระยาหงส์ได้กล่าววาจาอันรื่นหูอนุโมทนา. [๑๙๒] ได้ยินว่า อำนาจของเราผู้ทรงธรรม ย่อมเป็นไปในที่เท่าใด ที่เท่านั้นมี ประมาณน้อย ความเป็นใหญ่ในที่ทั้งปวงจงมีแก่ท่าน ขอท่านจงปกครอง ตามปรารถนาเถิด ทานวัตถุก็ดี เครื่องอุปโภคก็ดี และสิ่งอื่นใดที่เข้าไป สำเร็จประโยชน์เราขอยกสิ่งนั้นๆ ซึ่งล้วนเป็นของปลื้มใจให้แก่ท่าน และขอสละความเป็นใหญ่ให้แก่ท่าน. [๑๙๓] ก็ถ้าว่า สุมุขหงส์บัณฑิตนี้สมบูรณ์ด้วยปัญญา พึงเจรจาแก่เราตาม ปรารถนา ข้อนั้นพึงเป็นที่รักอย่างยิ่งของเรา. [๑๙๔] ข้าแต่มหาราช ได้ยินว่า ข้าพระองค์หาอาจจะพูดสอดขึ้นในระหว่าง เหมือนพระยานาคเลื้อยเข้าไปภายในศิลาฉะนั้นไม่ข้อนั้นไม่เป็นวินัยของ ข้าพระองค์ พระยาหงส์ประเสริฐกว่าข้าพระองค์ และพระองค์ก็สูงสุด กว่าสัตว์ทั้งหลาย เป็นพระเจ้าแผ่นดินจอมมนุษย์ ทั้งสองพระองค์ควร แก่การบูชาด้วยเหตุมากมาย ข้าแต่พระองค์ผู้เป็นจอมมนุษย์ เมื่อ พระองค์ทั้งสองกำลังตรัสกันอยู่ เมื่อการวินิจฉัยกำลังเป็นไปอยู่ ข้าพระ- องค์ผู้เป็นสาวก ไม่พึงพูดสอดขึ้นในระหว่าง. [๑๙๕] ได้ยินว่า นายพรานกล่าวโดยความจริงว่า สุมุขหงส์เป็นบัณฑิต เพราะ ว่านัยเช่นนี้ไม่พึงมีแก่บุคคลผู้ไม่ได้รับอบรมเลย ความมีปกติอันเลิศ และสัตว์อันอุดมอย่างนี้ มีเพียงเท่าที่เราเห็นแล้ว เราไม่ได้เห็นผู้อื่น เป็นเช่นนี้ เราจึงยินดีด้วยปกติและวาจาอันไพเราะของท่านทั้งสอง ก็การที่เราพึงเห็นท่านทั้งสองได้นานๆ เช่นนี้ เป็นความพอใจของเรา โดยแท้. [๑๙๖] กิจใดที่บุคคลพึงกระทำในมิตร กิจนั้นพระองค์ทรงกระทำแล้ว ใน ข้าพระองค์ทั้งสอง ข้าพระองค์ทั้งสอง ย่อมเป็นผู้อันพระองค์คงปล่อย ด้วยความภักดีในข้าพระองค์ทั้งสองโดยไม่ต้องสงสัย ก็ความทุกข์คง เกิดขึ้นในหมู่หงส์เป็นอันมากโน้น เพราะมิได้เห็นข้าพระองค์ทั้งสอง ในระหว่างญาติหมู่ใหญ่เป็นแน่ ข้าแต่พระองค์ผู้ปราบปรามศัตรู ข้า- พระองค์ทั้งสอง อันพระองค์ทรงอนุญาต กระทำประทักษิณพระองค์แล้ว พึงไปพบญาติทั้งหลาย เพื่อกำจัดความเศร้าโศกของหงส์เหล่านั้น ข้าพระองค์ย่อมจะได้ปีติอันไพบูลย์ เพราะได้มาเฝ้าพระองค์ผู้ทรงพระ เจริญโดยแท้ การสงเคราะห์ญาตินี้เป็นประโยชน์อันใหญ่หลวงแท้. [๑๙๗] พระยาหงส์ธตรฐ ครั้นกราบทูลพระเจ้าสาคลราชผู้เป็นจอมประชาชนเช่น นี้แล้ว ได้เข้าไปหาหมู่ญาติ เพราะอาศัยเชาวน์อันสูงสุด หงส์เหล่านั้น เห็นหงส์ทั้งสองผู้ยิ่งใหญ่มิได้ป่วยเจ็บกลับมา ต่างก็ส่งเสียงว่า เกเก เกิดเสียงอื้ออึงไปทั่ว หงส์ผู้เคารพนายได้ที่พึ่งเหล่านั้น ต่างก็โสมนัส ยินดี เพราะนายรอดพ้นภัย พากันห้อมล้อมนายโดยรอบ. [๑๙๘] ประโยชน์ทั้งปวง ของชนทั้งหลายผู้ถึงพร้อมด้วยกัลยาณมิตร ย่อม สำเร็จผลเป็นสุขเปรียบเหมือนหงส์ธตรฐทั้งสอง ได้กลับมาอยู่ใกล้หมู่ ญาติ ฉะนั้น.
จบ จุลลหังสชาดกที่ ๑

             เนื้อความพระไตรปิฎก เล่มที่ ๒๘ บรรทัดที่ ๑๑๕๘-๑๓๔๘ หน้าที่ ๔๗-๕๔. https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=28&A=1158&Z=1348&pagebreak=0              ฟังเนื้อความพระไตรปิฎก : [1], [2], [3], [4]              อ่านเทียบพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาฯ :- https://84000.org/tipitaka/attha/m_siri.php?B=28&siri=8              ศึกษาอรรถกถาชาดกนี้ได้ที่ :- https://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=28&i=163              ศึกษาพระไตรปิฏกฉบับภาษาบาลีอักษรไทย :- [163-198] https://84000.org/tipitaka/pali/pali_item_s.php?book=28&item=163&items=36              อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย :- https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=42&A=4264              The Pali Tipitaka in Roman :- [163-198] https://84000.org/tipitaka/pali/roman_item_s.php?book=28&item=163&items=36              The Pali Atthakatha in Roman :- https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=42&A=4264              สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๘ https://84000.org/tipitaka/read/?index_28              อ่านเทียบฉบับแปลอังกฤษ Compare with English Translation :- https://suttacentral.net/ja533/en/francis

อ่านหน้า[ต่าง] แรกอ่านหน้า[ต่าง] ที่แล้วแสดงหมายเลขหน้า
ในกรณี :- 
   บรรทัดแรกของแต่ละหน้าอ่านหน้า[ต่าง] ถัดไปอ่านหน้า[ต่าง] สุดท้าย

บันทึก ๒๗ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๔๖ บันทึกล่าสุด ๒๒ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๖๐ การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจากพระไตรปิฎกฉบับหลวง. หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :