บทนำ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ค้นพระไตรปิฎก ชาดก หนังสือธรรมะ | |
|
|
พระวินัยปิฎก เล่ม ๓ ภิกขุนีวิภังค์ ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น ปาราชิกกัณฑ์ ปาราชิกสิกขาบทที่ ๑ เรื่องภิกษุณีสุนทรีนันทา [๑] โดยสมัยนั้น พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าประทับอยู่ ณ พระเชตวันอารามของ อนาถบิณฑิกคหบดี เขตพระนครสาวัตถี. ครั้งนั้น นายสาฬหะหลานของมิคารมาตา มีความประสงค์ จะสร้างวิหารถวายภิกษุณีสงฆ์. ครั้งนั้นและนายสาฬหะหลานของมิคารมาตา. จึงเข้าไปหานาง ภิกษุณีทั้งหลาย แจ้งความประสงค์ว่า แม่เจ้า กระผมอยากจะสร้างวิหารถวายภิกษุณีสงฆ์ ขอแม่ เจ้าจงโปรดให้ภิกษุณีผู้อำนวยการก่อสร้างรูปหนึ่งแก่กระผม. ครั้งนั้นมีสาว ๔ พี่น้อง ชื่อนันทา ๑ ชื่อ นันทาวดี ๑ ชื่อสุนทรีนันทา ๑ ชื่อถุลลนันทา ๑ บวชอยู่ในสำนักภิกษุณี. บรรดาภิกษุณีทั้ง ๔ นั้น ภิกษุณีสุนทรีนันทา เป็นบรรพชิตสาวทรงโฉมวิไล น่าพิศ พึงชม เป็นบัณฑิต เฉียบแหลม มี ปรีชา ขยัน ไม่เกียจคร้าน กอปรด้วยปัญญาเลือกฟั้นอันเป็นทางดำเนินในการงานนั้นๆ สามารถ พอที่จะทำกิจการงานนั้นๆ ให้ลุล่วงไป. ครั้งนั้นแลจึงภิกษุณีสงฆ์ได้สมมติภิกษุณีสุนทรีนันทาให้ เป็นผู้อำนวยการก่อสร้างแก่นายสาฬหะ หลานมิคารมาตา. และต่อมาภิกษุณีสุนทรีนันทา ไปสู่ เรือนของนายสาฬหะ หลานมิคารมาตาเสมอ โดยแจ้งว่า จงให้มีด จงให้ขวาน จงให้ผึ่ง จง ให้จอบ จงให้สิ่ว. แม้นายสาฬหะ หลานมิครมาตา ก็ไปสู่สำนักนางภิกษุณีเสมอ เพื่อทราบ กิจการที่ทำแล้ว ที่ยังมิได้ทำ เขาทั้งสองได้มีจิตปฏิพัทธ์กัน เพราะเห็นกันอยู่เสมอ. ครั้นนายสาฬหะ หลานมิคารมาตา ไม่ได้โอกาสที่จะประทุษร้ายภิกษุณีสุนทรีนันทา จึงได้ตกแต่งภัตตาหารถวายภิกษุณี สงฆ์ เพื่อมุ่งจะประทุษร้ายภิกษุณีสุนทรีนันทานั้น. ครั้งนั้นแล นายสาฬหะหลานมิคารมาตา ให้ปูอาสนะในโรงฉัน จัดอาสนะสำหรับภิกษุณีทั้งหลายที่แก่กว่าภิกษุณีสุนทรีนันทาไว้ส่วนหนึ่ง สำหรับภิกษุณีทั้งหลายที่อ่อนกว่าภิกษุณีสุนทรีนันทาไว้ส่วนหนึ่ง จัดอาสนะสำหรับภิกษุณีสุนทรี นันทาไว้ในสถานที่อันกำบังนอกฝาเรือน ให้ภิกษุณีผู้เถระทั้งหลายพึงเข้าใจว่านางนั่งในสำนักพวก ภิกษุณีผู้นวกะ แม้ภิกษุผู้นวกะทั้งหลายก็พึงเข้าใจว่า นางนั่งอยู่ในสำนักพวกภิกษุณีผู้เถระ. ครั้นจัดเสร็จแล้ว นายสาฬหะหลานมิคารมาตา ได้ให้คนไปแจ้งภัตตกาลแก่ภิกษุณีสงฆ์ ว่าได้เวลาอาหารแล้ว เจ้าข้า ภัตตาหารเสร็จแล้ว. ภิกษุณีสุนทรีนันทาทราบได้ดีว่า นายสาฬหะ หลานมิคารมาตา ไม่ได้ทำอะไรมากมาย ได้ ตกแต่งภัตตาหารไว้ถวายภิกษุณีสงฆ์ ด้วยเธอมีความประสงค์จะประทุษร้ายเรา ถ้าเราไป ความอื้อฉาว จักมีแก่เรา จึงใช้ภิกษุณีอันตวาสินีไปด้วยสั่งว่า เธอจงไปนำบิณฑบาตมาให้เรา และผู้ใดถามถึงเรา เธอจงบอกว่าอาพาธ. ภิกษุณีอันเตวาสินีนั้นรับคำสั่งของภิกษุณีสุนทรีนันทาแล้วว่าดีแล้วพระแม่เจ้า. สมัยนั้น นายสาฬหะ หลานมิคารมาตา ยืนคอยอยู่ที่ซุ้มประตูข้างนอก ถามถึงภิกษุณี สุนทรีนันทาไปข้างไหน ขอรับ แม่เจ้าสุนทรีนันทา ไปข้างไหน ขอรับ? เมื่อเขาถามถึงอย่างนี้แล้ว ภิกษุณีอันเตวาสินีของนางสุนทรีนันทาตอบกะเขาดังนี้ว่า อาพาธ ค่ะ ดิฉันจักนำบิณฑบาตไปถวาย. ครั้งนั้นเขาคิดว่า การที่เราได้ตกแต่งอาหารถวายภิกษุณีสงฆ์ ก็เพราะเหตุแม่เจ้าสุนทรีนันทา จึงสั่งคนให้เลี้ยงดูภิกษุณีสงฆ์แล้วเลี่ยงไปทางสำนักภิกษุณีสงฆ์. ก็สมัยนั้น ภิกษุณีสุนทรีนันทายืนคอยมองนายสาฬหะ หลานมิคารมาตาอยู่ข้างนอกซุ้มประ ตูวัด นางเห็นเขาเดินมาแต่ไกลจึงหลบเข้าสู่สำนัก นอนคลุมศีรษะอยู่บนเตียง. ครั้นเขาเข้าไปหาแล้ว ได้ถามนางว่า แม่เจ้าไม่สบายหรือขอรับ ทำไมจึงจำวัดเสียเล่า?. นางตอบว่า นาย การที่สตรีรักใคร่กับคนที่เขาไม่รักตอบ ย่อมเป็นเช่นนี้แหละค่ะ. เขากล่าวว่า ทำไมผมจะไม่รักแม่เจ้า ขอรับ แต่ผมหาโอกาสที่จะประทุษร้ายแม่เจ้าไม่ได้ แล้วมีความกำหนัด ได้ถึงความเคล้าคลึงด้วยกายกับนางภิกษุณีสุนทรีนันทา ผู้มีความกำหนัด. ก็สมัยนั้นแล ภิกษุณีรูปหนึ่งผู้ชราทุพพลภาพ เท้าเจ็บ นอนอยู่ไม่ห่างจากภิกษุณีสุนทรี นันทา. นางภิกษุณีนั้นได้แลเห็นนายสาฬหะ หลานมิคารมาตา ถึงความเคล้าคลึงด้วยกายกับภิกษุณี สุนทรีนันทาผู้กำหนัด ครั้นเห็นแล้วจึงเพ่งโทษ ติเตียน โพนทะนาว่า ไฉนแม่เจ้าสุนทรีนันทา จึง ได้มีความกำหนัด ยินดีการเคล้าคลึงด้วยกายของบุรุษบุคคลผู้กำหนัดเล่า. ครั้งนั้นแล นางภิกษุณีนั้น ได้แจ้งเรื่องนั้นแก่ภิกษุณีทั้งหลาย. บรรดาภิกษุณีผู้มีความมักน้อย สันโดษ มีความละอาย มีความ รังเกียจ ผู้ใคร่ต่อสิกขา ต่างก็เพ่งโทษ ติเตียน โพนทะนาว่า ไฉน แม่เจ้าสุนทรีนันทา จึงได้มี ความกำหนัดยินดีการเคล้าคลึงด้วยกายของบุรุษบุคคลผู้กำหนัดเล่า. ครั้งนั้นแล นางภิกษุณีเหล่านั้น จึงแจ้งเรื่องนั้นแก่ภิกษุทั้งหลาย. ภิกษุเหล่านั้นพากันเพ่งโทษ ติเตียน โพนทะนาว่า ไฉนภิกษุณี สุนทรีนันทาจึงได้มีความกำหนัด ยินดีการเคล้าคลึงด้วยกายของบุรุษบุคคลผู้มีความกำหนัดเล่า. ครั้งนั้นแล ภิกษุเหล่านั้นจึงกราบทูลเรื่องนั้นแด่พระผู้มีพระภาค.ประชุมสงฆ์ทรงสอบถาม ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาครับสั่งให้ประชุมภิกษุสงฆ์ ในเพราะเหตุเป็นเค้ามูลนั้น ใน เพราะเหตุแรกเกิดนั้น แล้วทรงสอบถามภิกษุทั้งหลายว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย ข่าวว่า ภิกษุณีสุนทรี นันทามีความกำหนัด ยินดีการเคล้าคลึงด้วยกายของบุรุษบุคคลผู้กำหนัด จริงหรือ?. ภิกษุทั้งหลายกราบทูลว่า จริง พระพุทธเจ้าข้า.ทรงติเตียนแล้วบัญญัติสิกขาบท พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าทรงติเตียนว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย การกระทำของภิกษุณีสุนทรีนันทา ไม่เหมาะ ไม่สม ไม่ควร ไม่ใช่กิจของสมณะ ใช้ไม่ได้ ไม่ควรทำ ไฉนภิกษุณีสุนทรีนันทาจึงได้ มีความกำหนัด ยินดีการเคล้าคลึงด้วยกายของบุรุษบุคคลผู้กำหนัดเล่า การกระทำของนางนั่นไม่เป็น ไปเพื่อความเลื่อมใสของชุมชนที่ยังไม่เลื่อมใส หรือเพื่อความเลื่อมใสยิ่งของชุมชนที่เลื่อมใสแล้ว โดยที่แท้ การกระทำของนาง เป็นไปเพื่อความไม่เลื่อมใสของชุมชนที่ยังไม่เลื่อมใสและเพื่อความ เป็นอย่างอื่นของชนบางพวกที่เลื่อมใสแล้ว. ครั้นพระองค์ทรงติเตียนภิกษุณีสุนทรีนันทาโดย อเนกปริยายแล้ว จึงตรัสโทษแห่งความเป็นคนเลี้ยงยาก ความเป็นคนบำรุงยาก ความเป็นคนมักมาก ความเป็นคนไม่สันโดษ ความคลุกคลี ความเกียจคร้าน ตรัสคุณแห่ง ความเป็นคนเลี้ยงง่าย ความ เป็นคนบำรุงง่าย ความมักน้อย ความสันโดษ ความขัดเกลา ความกำจัด อาการที่น่าเลื่อมใส การไม่ สะสม การปรารภความเพียร โดยอเนกปริยาย แล้วทรงกระทำธรรมีกถาที่สมควรแก่เรื่องนั้น ที่ เหมาะสมแก่เรื่องนั้น แก่ภิกษุทั้งหลาย แล้วรับสั่งว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย เพราะเหตุนั้นแล เราจักบัญญัติสิกขาบทแก่ภิกษุณีทั้งหลาย อาศัย อำนาจประโยชน์ ๑๐ ประการ คือ เพื่อความรับว่าดีแห่งสงฆ์ ๑ เพื่อความสำราญแห่งสงฆ์ ๑ เพื่อ ข่มภิกษุณีผู้เก้อยาก ๑ เพื่ออยู่สำราญแห่งภิกษุณีผู้มีศีลเป็นที่รัก ๑ เพื่อป้องกันอาสวะอันจะบังเกิด ในปัจจุบัน ๑ เพื่อกำจัดอาสวะอันจักบังเกิดในอนาคต ๑ เพื่อความเลื่อมใสของชุมชนที่ยังไม่เลื่อมใส ๑ เพื่อความเลื่อมใสยิ่งของชุมชนที่เลื่อมใสแล้ว ๑ เพื่อความตั้งมั่นแห่งพระสัทธรรม ๑ เพื่อถือตาม พระวินัย ๑ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็แลพวกภิกษุณีจงยกสิกขาบทนี้ขึ้นแสดงอย่างนี้ ว่าดังนี้:-พระบัญญัติ ๕. ๑. อนึ่ง ภิกษุณีใด มีความกำหนัด ยินดีการลูบก็ดี คลำก็ดี จับก็ดี ต้องก็ดี บีบเคล้นก็ดี ของบุรุษบุคคลผู้กำหนัด ใต้รากขวัญลงไป เหนือเข่าขึ้นมา แม้ภิกษุณีนี้ก็เป็น ปาราชิก ชื่ออุพภชานุมัณฑลิกา หาสังวาสมิได้.เรื่องภิกษุณีสุนทรีนันทา จบ. สิกขาบทวิภังค์ [๒] บทว่า อนึ่ง ... ใด ความว่า ผู้ใด คือผู้เช่นใด มีการงานอย่างใด มีชาติอย่างใด มีชื่ออย่างใด มีโคตรอย่างใด มีปกติอย่างใด มีธรรมเครื่องอยู่อย่างใด มีอารมณ์อย่างใด เป็น เถระก็ตาม เป็นนวกะก็ตาม เป็นมัชฌิมะก็ตาม นี้พระผู้มีพระภาคตรัสว่า อนึ่ง ... ใด. บทว่า ภิกษุณี ความว่า ที่ชื่อว่า ภิกษุณี เพราะอรรถว่าเป็นผู้ขอ ชื่อว่า ภิกษุณี เพราะอรรถว่า ประพฤติภิกขาจริยวัตร ชื่อว่า ภิกษุณี เพราะอรรถว่าทรงผืนผ้าที่ถูกทำลายแล้ว ชื่อว่า ภิกษุณี โดยสมญา ชื่อ ภิกษุณี โดยปฏิญญา ชื่อว่า ภิกษุณี เพราะอรรถว่าเป็น เอหิภิกษุณี ชื่อ ภิกษุณี เพราะอรรถว่าเป็นผู้อุปสมบทแล้วด้วยไตรสรณคมน์ ชื่อว่า ภิกษุณี เพราะอรรถว่าเป็นผู้เจริญ ชื่อว่า ภิกษุณี เพราะอรรถว่ามีสารธรรม ชื่อว่า ภิกษุณี เพราะอรรถ ว่าเป็นพระเสขะ. ชื่อว่า ภิกษุณี เพราะอรรถว่าเป็นพระอเสขะ ชื่อว่า ภิกษุณี เพราะอรรถว่า เป็นผู้อันสงฆ์สองฝ่ายพร้อมเพรียงกันอุปสมบทให้ด้วยญัตติจตุถกรรม อันไม่กำเริบ ควรแก่ฐานะ บรรดาภิกษุณีเหล่านั้น ภิกษุณีอันสงฆ์สองฝ่ายพร้อมเพรียงกันอุปสมบทให้ด้วยญัตติจตุตถกรรม อัน ไม่กำเริบ ควรแก่ฐานะ นี้ชื่อว่า ภิกษุณี ที่ทรงประสงค์ในอรรถนี้. ที่ชื่อว่า มีความกำหนัด ได้แก่หญิงหรือชายมีความกำหนัดมาก มีความเพ่งเล็ง มี จิตปฏิพัทธ์. ที่ชื่อว่า บุรุษบุคคล ได้แก่ มนุษย์ผู้ชาย ไม่ใช่ยักษ์ผู้ชาย ไม่ใช่เปรตผู้ชาย ไม่ใช่ สัตว์ดิรัจฉานตัวผู้ เป็นคนรู้ความ เป็นผู้สามารถ เพื่อถึงความเคล้าคลึงด้วยกาย. บทว่า ใต้รากขวัญลงไป คือ เบื้องต่ำแห่งรากขวัญลงไป. บทว่า เหนือเข่าขึ้นมา คือ เบื้องบนแห่งมณฑลเข่าขึ้นมา. ที่ชื่อว่า ลูบ คือ เพียงลูบไป. ที่ชื่อว่า คลำ คือ จับเบาๆ ไปข้างโน้นข้างนี้. ที่ชื่อว่า จับ คือ เพียงจับตัว ที่ชื่อว่า ต้อง คือ เพียงถูกต้องตัว. บทว่า ยินดี ... การบีบเคล้นก็ดี คือยินดีการจับต้องอวัยวะแล้วบีบเคล้น. บทว่า แม้ภิกษุณีนี้ พระผู้มีพระภาคตรัสเทียบเคียงภิกษุณีรูปก่อน. คำว่า เป็นปาราชิก อธิบาย บุรุษถูกตัดศีรษะแล้วไม่อาจมีสรีระคุมกันนั้นเป็นอยู่ ชื่อ แม้ฉันใด ภิกษุณีก็ฉันเหมือนกัน มีความกำหนัด ยินดีการลูบก็ดี คลำก็ดี จับก็ดี ต้องก็ดี บีบเคล้น ก็ดี ของบุรุษบุคคลผู้กำหนัด ใต้รากขวัญลงไป เหนือเข่าขึ้นมา ย่อมไม่เป็นสมณะ ไม่เป็นธิดาของ พระศากยบุตร เพราะเหตุนั้นจึงตรัสว่า เป็นปาราชิก. บทว่า หาสังวาสมิได้ ความว่า ที่ชื่อว่าสังวาส ได้แก่กรรมที่พึงกระทำร่วมกัน อุเทศ ที่พึงสวดร่วมกัน ความเป็นผู้มีสิกขาเสมอกัน นี้ชื่อว่าสังวาส สังวาสนั้นไม่มีร่วมกับภิกษุณีนั้น เพราะเหตุนั้นจึงตรัสว่า หาสังวาสมิได้.บทภาชนีย์ [๓] เมื่อทั้งสองฝ่ายมีความกำหนัด ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งถูกกายด้วยกาย ใต้รากขวัญลงไป เหนือเข่าขึ้นมา ภิกษุณีต้องอาบัติปาราชิก. ถูกของที่เนื่องด้วยกาย ต้องอาบัติถุลลัจจัย ถูกกาย ด้วยของที่เนื่องด้วยกาย ต้องอาบัติถุลลัจจัย. ถูกของที่เนื่องด้วยกาย ด้วยของที่เนื่องด้วยกาย ต้องอาบัติทุกกฏ. ถูกกายด้วยของที่โยนให้ ต้องอาบัติทุกกฏ. ถูกของที่เนื่องด้วยกาย ด้วยของ ที่โยนให้ ต้องอาบัติทุกกฏ. ถูกของที่โยนให้ ด้วยของที่โยนให้ ต้องอาบัติทุกกฏ. [๔] กายต่อกายถูกกัน เหนือรากขวัญขึ้นไป ใต้เข่าลงมา ภิกษุณีต้องอาบัติถุลลัจจัย. ของที่เนื่องด้วยกายกับกายถูกกัน ต้องอาบัติทุกกฏ. กายกับของที่เนื่องด้วยกายถูกกัน ต้องอาบัติ- *ทุกกฏ. ของที่เนื่องด้วยกาย กับของที่เนื่องด้วยกายถูกกัน ต้องอาบัติทุกกฏ. โยนของไปถูกกาย ต้องอาบัติทุกกฏ. ของที่โยนไปถูกของที่เนื่องด้วยกาย ต้องอาบัติทุกกฏ. ของที่โยนไปถูกของที่โยน มา ต้องอาบัติทุกกฏ. [๕] ฝ่ายหนึ่งมีความกำหนัด กายต่อกายถูกกัน ใต้รากขวัญลงไปเหนือเข่าขึ้นมา ภิกษุณี ต้องอาบัติถุลลัจจัย. กายถูกของที่เนื่องด้วยกาย ต้องอาบัติทุกกฏ. ของที่เนื่องด้วยกายถูกกาย ต้องอาบัติทุกกฏ. ของที่เนื่องด้วยกาย ถูกของที่เนื่องด้วยกาย ต้องอาบัติทุกกฏ. ของที่โยนไป ถูกกาย ต้องอาบัติทุกกฏ. ของที่โยนไปถูกของที่โยนมา ต้องอาบัติทุกกฏ. [๖] กายถูกกาย เหนือรากขวัญขึ้นไป ใต้เข่าลงมา ต้องอาบัติทุกกฏ. กายถูกของที่ เนื่องด้วยกาย ต้องอาบัติทุกกฏ. ของที่เนื่องด้วยกายถูกกาย ต้องอาบัติทุกกฏ. ของที่เนื่องด้วย กายถูกของที่เนื่องด้วยกาย ต้องอาบัติทุกกฏ. โยนของถูกกาย ต้องอาบัติทุกกฏ. โยนของถูกของ ที่เนื่องด้วยกาย ต้องอาบัติทุกกฏ. ของที่โยนไปถูกของที่โยนมา ต้องอาบัติทุกกฏ. [๗] เมื่อทั้งสองฝ่ายมีความกำหนัด จับต้องกายด้วยกาย ของยักษ์ก็ดี เปรตก็ดี บัณเฑาะก็ดี สัตว์ดิรัจฉานที่มีกายคล้ายมนุษย์ก็ดี ใต้รากขวัญลงมาเหนือเข่าขึ้นไป ต้องอาบัติ ถุลลัจจัย. กายถูกของที่เนื่องด้วยกาย ต้องอาบัติทุกกฏ. ของที่เนื่องด้วยกายถูกกาย ต้องอาบัติ ทุกกฏ. ของที่เนื่องด้วยกาย ถูกของที่เนื่องด้วยกาย ต้องอาบัติทุกกฏ. โยนของถูกกาย ต้องอาบัติ ทุกกฏ. โยนของถูกของที่เนื่องด้วยกาย ต้องอาบัติทุกกฏ. ของที่โยนไป ถูกของที่โยนมา ต้อง อาบัติทุกกฏ. [๘] ถูกกายด้วยกาย เหนือรากขวัญขึ้นไป ใต้เข่าลงมา ต้องอาบัติทุกกฏ. กายถูกของ ที่เนื่องด้วยกาย ต้องอาบัติทุกกฏ. ของที่เนื่องด้วยกายถูกกาย ต้องอาบัติทุกกฏ. ของที่เนื่องด้วยกาย ถูกของที่เนื่องด้วยกาย ต้องอาบัติทุกกฏ. โยนของถูกกาย ต้องอาบัติทุกกฏ. โยนของถูกของที่ เนื่องด้วยกาย ต้องอาบัติทุกกฏ. ของที่โยนไปถูกของที่โยนมา ต้องอาบัติทุกกฏ. [๙] ฝ่ายหนึ่งมีความกำหนัด ถูกกายด้วยกาย ใต้รากขวัญลงมา เหนือเข่าขึ้นไป ต้อง อาบัติทุกกฏ. กายถูกของที่เนื่องด้วยกาย ต้องอาบัติทุกกฏ. ของที่เนื่องด้วยกายถูกกาย ต้องอาบัติ ทุกกฏ. ของที่เนื่องด้วยกายถูกของที่เนื่องด้วยกาย ต้องอาบัติทุกกฏ. โยนของถูกกาย ต้องอาบัติ- *ทุกกฏ. โยนของถูกของที่เนื่องด้วยกาย ต้องอาบัติทุกกฏ. โยนของไปถูกของที่โยนมา ต้องอาบัติ- ทุกกฏ. [๑๐] กายถูกกาย เหนือรากขวัญขึ้นไป ใต้เข่าลงมา ต้องอาบัติทุกกฏ. กายถูกของ ที่เนื่องด้วยกาย ต้องอาบัติทุกกฏ. ของที่เนื่องด้วยกายถูกกาย ต้องอาบัติทุกกฏ. ของที่เนื่องด้วยกาย ถูกของที่เนื่องด้วยกาย ต้องอาบัติทุกกฏ. โยนของไปถูกกาย ต้องอาบัติทุกกฏ. โยนของถูกของ ที่เนื่องด้วยกาย ต้องอาบัติทุกกฏ. ของที่โยนไปถูกของที่โยนมา ต้องอาบัติทุกกฏ.อนาปัตติวาร [๑๑] ภิกษุณีไม่ตั้งใจ ๑ เผลอ ๑ ไม่รู้ตัว ๑ ไม่ยินดี ๑ วิกลจริต ๑ มีจิตฟุ้งซ่าน ๑ กระสับกระส่ายเพราะเวทนา ๑ ภิกษุณีอาทิกัมมิกา ๑ ไม่ต้องอาบัติแล.ปาราชิกสิกขาบทที่ ๑ จบ. ----------------------------------------------------- เนื้อความพระไตรปิฎก เล่มที่ ๓ บรรทัดที่ ๑-๑๕๙ หน้าที่ ๑-๗. https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=3&A=1&Z=159&pagebreak=0 ฟังเนื้อความพระไตรปิฎก : [1], [2], [3] อ่านเทียบพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาฯ :- https://84000.org/tipitaka/attha/m_siri.php?B=3&siri=1 ศึกษาอรรถกถานี้ได้ที่ :- https://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=3&i=1 ศึกษาพระไตรปิฏกฉบับภาษาบาลีอักษรไทย :- [1-11] https://84000.org/tipitaka/pali/pali_item_s.php?book=3&item=1&items=11 อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย :- https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=2&A=10689 The Pali Tipitaka in Roman :- [1-11] https://84000.org/tipitaka/pali/roman_item_s.php?book=3&item=1&items=11 The Pali Atthakatha in Roman :- https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=2&A=10689 สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่ ๓ https://84000.org/tipitaka/read/?index_3 อ่านเทียบฉบับแปลอังกฤษ Compare with English Translation :- http://84000.org/tipitaka/english/metta.lk/03i001-e.php https://suttacentral.net/pli-tv-bi-vb-pj5/en/brahmali https://suttacentral.net/pli-tv-bi-vb-pj5/en/horner
บันทึก ๒๗ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๔๖ บันทึกล่าสุด ๒๒ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๖๐ การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจากพระไตรปิฎกฉบับหลวง. หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]