ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ค้นพระไตรปิฎก ชาดก หนังสือธรรมะ
     ฉบับหลวง   ฉบับมหาจุฬาฯ   บาลีอักษรไทย   PaliRoman 
อ่านหน้า[ต่าง] แรกอ่านหน้า[ต่าง] ที่แล้วแสดงหมายเลขหน้า
ในกรณี :- 
   บรรทัดแรกของแต่ละหน้าอ่านหน้า[ต่าง] ถัดไปอ่านหน้า[ต่าง] สุดท้าย
พระไตรปิฎกเล่มที่ ๓๐ พระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๒๒ ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส
เหมกมาณวกปัญหานิทเทส
ว่าด้วยปัญหาของท่านพระเหมกะ
[๓๒๔] (ท่านพระเหมกะทูลถามว่า) ในกาลอื่นก่อนแต่ศาสนาของพระโคดม พวกอาจารย์เหล่านี้ พยากรณ์ว่า เรื่องนี้มีแล้วดังนี้. เรื่องนี้จักมีดังนี้. คำทั้งหมดนั้น เป็นคำกล่าวสืบๆ กันมา. คำทั้งหมดนั้นเป็นเครื่องยังความตรึก ให้เจริญ. ข้าพระองค์ไม่ยินดีในคำนั้น. [๓๒๕] คำว่า เย ในอุเทศว่า เยเม ปุพฺเพ วิยากํสุ ดังนี้ ความว่า พาวรีพราหมณ์ และพราหมณ์อื่นซึ่งเป็นอาจารย์ของพาวรีพราหมณ์ พยากรณ์แล้ว คือ บอกแล้ว ... ประกาศแล้ว ซึ่งทิฏฐิของตน ความควรของตน ความชอบใจของตน ลัทธิของตน อัธยาศัยของตน ความ ประสงค์ของตน เพราะฉะนั้นจึงชื่อว่า ... ก่อน ... พวกอาจารย์เหล่านี้พยากรณ์แล้ว. คำว่า อิติ ในอุเทศว่า อิจฺจายสฺมา เหมโก ดังนี้ เป็นบทสนธิ. ฯลฯ คำว่า อิติ นี้ เป็นไปตามลำดับบท. คำว่า อายสฺมา เป็นเครื่องกล่าวด้วยความรัก เป็นเครื่องกล่าวด้วยความเคารพ. คำว่า อายสฺมา นี้ เป็นเครื่องกล่าวเป็นไปกับด้วยความเคารพและความยำเกรง. คำว่า เหมโก เป็นชื่อ ฯลฯ เป็นคำร้องเรียกของพราหมณ์นั้น เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า ท่านพระเหมกะทูลถามว่า. [๓๒๖] คำว่า ในกาลอื่นแต่ศาสนาของพระโคดม ความว่า ในกาลอื่น แต่ศาสนา ของพระโคดม คือ อื่นแต่ศาสนาของพระโคดม ก่อนกว่าศาสนาของพระโคดม กว่าศาสนา ของพระพุทธเจ้า กว่าศาสนาของพระชินเจ้า กว่าศาสนาของพระตถาคต กว่าศาสนาของพระ- *อรหันต์ เพราะฉะนั้นจึงชื่อว่า ในกาลอื่นแต่ศาสนาของพระโคดม. [๓๒๗] คำว่า เรื่องนี้มีแล้วดังนี้ เรื่องนี้จักมีดังนี้ ความว่า ได้ยินว่า เรื่องนี้มีแล้ว อย่างนี้. ได้ยินว่า เรื่องนี้จักมีอย่างนี้. เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า เรื่องนี้มีแล้วดังนี้ เรื่องนี้จักมี ดังนี้. [๓๒๘] คำว่า คำทั้งหมดนั้นเป็นคำกล่าวสืบๆ กันมา ความว่า คำทั้งปวงนั้นเป็นคำ กล่าวสืบๆ กันมา คือ อาจารย์เหล่านั้น กล่าวธรรมอันไม่ประจักษ์แก่ตน ที่ตนมิได้รู้เฉพาะเอง โดยบอกตามที่ได้ยินกันมา บอกตามลำดับสืบๆ กันมา โดยอ้างตำรา โดยเหตุที่นึกเดาเอาเอง โดยเหตุที่คาดคะเนเอาเอง ด้วยความตรึกตามอาการ ด้วยความชอบใจว่าต้องกับลัทธิของตน เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า คำทั้งหมดนั้นเป็นคำกล่าวสืบๆ กันมา. [๓๒๙] คำว่า คำทั้งหมดนั้นเป็นเครื่องยังความตรึกให้เจริญ ความว่า คำทั้งปวงนั้น เป็นเครื่องยังความตรึกให้เจริญ คือ เป็นเครื่องยังวิตกให้เจริญ เป็นเครื่องยังความดำริให้เจริญ เป็นเครื่องยังกามวิตก พยาบาทวิตก วิหิงสาวิตกให้เจริญ เป็นเครื่องยังความตรึกถึงญาติให้เจริญ เป็นเครื่องยังความตรึกถึงชนบทให้เจริญ เป็นเครื่องยังความตรึกถึงเทวดาให้เจริญ เป็นเครื่อง ยังวิตกปฏิสังยุตด้วยความเอ็นดูผู้อื่นให้เจริญ เป็นเครื่องยังวิตกอันปฏิสังยุตด้วยลาภ สักการะ และความสรรเสริญให้เจริญ เป็นเครื่องยังวิตกอันปฏิสังยุตด้วยความปรารถนามิให้ใครดูหมิ่น ให้เจริญ เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า คำทั้งหมดนั้นเป็นเครื่องยังความตรึกให้เจริญ. [๓๓๐] คำว่า ข้าพระองค์ไม่ยินดียิ่งในคำนั้น ความว่า ข้าพระองค์ไม่ได้ ไม่ประสพ ไม่ได้เฉพาะ เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า ข้าพระองค์ไม่ยินดีในคำนั้น. เพราะเหตุนั้น พราหมณ์นั้น จึงกล่าวว่า ในกาลอื่นก่อนแต่ศาสนาของพระโคดม พวกอาจารย์เหล่านี้ พยากรณ์ว่า เรื่องนี้มีแล้วดังนี้. เรื่องนี้จักมีดังนี้. คำทั้งหมด นั้นเป็นคำกล่าวสืบๆ กันมา คำทั้งหมดนั้นเป็นเครื่องยังความ ตรึกให้เจริญ. ข้าพระองค์ไม่ยินดีในคำนั้น. [๓๓๑] ข้าแต่พระมุนี ขอพระองค์โปรดตรัสบอกธรรมเป็นเครื่อง กำจัดตัณหา ที่บุคคลรู้แล้วเป็นผู้มีสติเที่ยวไป พึงข้าม ตัณหาอันซ่านไปในอารมณ์ต่างๆ ในโลกแก่ข้าพระองค์เถิด. [๓๓๒] พราหมณ์นั้นกล่าวกะพระผู้มีพระภาคว่า พระองค์ ในอุเทศว่า ตฺวญฺจ เม ธมฺมมกฺขาหิ ดังนี้. คำว่า ธมฺมํ ในอุเทศว่า ธมฺมมกฺขาหิ ดังนี้ ความว่า ขอพระองค์โปรดตรัส ... โปรด ทรงประกาศพรหมจรรย์อันงามในเบื้องต้น งามในท่ามกลาง งามในที่สุด พร้อมทั้งอรรถ พร้อมทั้งพยัญชนะ บริสุทธิ์บริบูรณ์สิ้นเชิง สติปัฏฐาน ๔ สัมมัปปธาน ๔ อิทธิบาท ๔ อินทรีย์ ๕ พละ ๕ โพชฌงค์ ๗ อริยมรรคมีองค์ ๘ นิพพาน และข้อปฏิบัติอันให้ถึงนิพพาน เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า ขอพระองค์โปรดตรัสบอกธรรมแก่ข้าพระองค์. [๓๓๓] รูปตัณหา สัททตัณหา คันธตัณหา รสตัณหา โผฏฐัพพตัณหา ธรรมตัณหา ชื่อว่าตัณหา ในอุเทศว่า ตณฺหานิคฺฆาตนํ มุนิ ดังนี้. คำว่า เป็นเครื่องกำจัดตัณหา ความว่า เป็นเครื่องปราบตัณหา เป็นเครื่องละตัณหา เป็นเครื่องสงบตัณหา เป็นเครื่องสละคืนตัณหา เป็นเครื่องระงับตัณหา เป็นอมตนิพพาน. ญาณ ท่านกล่าวว่า โมนะ ในคำว่า มุนิ. ฯลฯ พระผู้มีพระภาคล่วงแล้วซึ่งราคาทิธรรม เป็นเครื่องข้องและตัณหาเป็นดังว่าข่าย จึงเป็นมุนี เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า ข้าแต่พระมุนี ... เครื่องกำจัดตัณหา. [๓๓๔] คำว่า ที่บุคคลรู้แล้ว เป็นผู้มีสติเที่ยวไป ความว่า บุคคลทำธรรมใดให้ทราบ แล้ว คือ เทียบเคียงแล้ว พิจารณาแล้ว ให้เจริญ ทำให้แจ่มแจ้งแล้ว คือ ทำให้ทราบแล้ว ... ทำให้แจ่มแจ้งแล้วว่า สังขารทั้งปวงไม่เที่ยง สังขารทั้งปวงเป็นทุกข์ ธรรมทั้งปวงเป็นอนัตตา ฯลฯ สิ่งใดสิ่งหนึ่งมีความเกิดเป็นธรรมดาสิ่งนั้นทั้งมวลล้วนมีความดับไปเป็นธรรมดา. คำว่า เป็นผู้มีสติ คือ เป็นผู้มีสติด้วยอาการ ๔ อย่าง คือ เป็นผู้มีสติ เจริญสติ- *ปัฏฐานเครื่องพิจารณาเห็นกายในกาย ฯลฯ ผู้นั้นท่านกล่าวว่าเป็นผู้มีสติ ... คำว่า เที่ยวไป คือ เที่ยวไป เที่ยวไปทั่ว ผลัดเปลี่ยนอิริยาบถเป็นไป รักษา เยียวยา ให้เยียวยา เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า ที่บุคคลทราบแล้ว เป็นผู้มีสติเที่ยวไป. [๓๓๕] ตัณหา ราคะ สาราคะ ฯลฯ อภิชฌา โลภะ อกุศลมูล ท่านกล่าวว่า ตัณหาอันซ่านไปในอารมณ์ต่างๆ ในอุเทศว่า เตร โลเก วิสตฺติกํ. ตัณหาชื่อว่าวิสัตติกาเพราะ อรรถว่ากระไร? ฯลฯ เพราะอรรถว่าแผ่ไป ซ่านไป ฉะนั้น จึงชื่อว่า วิสตฺติกา. คำว่า ในโลก คือ ในอบายโลก มนุษยโลก เทวโลก ขันธโลก ธาตุโลก อายตนโลก. คำว่า พึงข้ามตัณหาอันซ่านไปในอารมณ์ต่างๆ ในโลก ความว่า พึงเป็นผู้มีสติข้าม คือ ข้ามขึ้น ข้ามพ้น ก้าวล่วง เป็นไปล่วง ซึ่งตัณหาอันซ่านไปในอารมณ์ต่างๆ ในโลก เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า พึงข้ามตัณหาอันซ่านไปในอารมณ์ต่างๆ ในโลก. เพราะเหตุนั้น พราหมณ์ นั้นจึงกล่าวว่า ข้าแต่พระมุนี ขอพระองค์โปรดตรัสบอกธรรมเป็นเครื่อง กำจัดตัณหาที่บุคคลรู้แล้ว เป็นผู้มีสติเที่ยวไป พึงข้ามตัณหา อันซ่านไปในอารมณ์ต่างๆ ในโลก แก่ข้าพระองค์เถิด. [๓๓๖] ดูกรเหมกะ บทนิพพานเป็นที่บรรเทาฉันทราคะในปิยรูป ทั้งหลาย ที่ได้เห็น ที่ได้ยินและที่ได้ทราบ (ที่รู้แจ้ง) เป็นที่ไม่เคลื่อน. [๓๓๗] คำว่า ทิฏฐํ ในอุเทศว่า อิธ ทิฏฐสุตมุตํ วิญฺญาเตสุ ดังนี้ ความว่า ที่ได้เห็นด้วยจักษุ. คำว่า โสตํ ความว่า ที่ได้ยินด้วยหู. คำว่า มุตํ ความว่า ที่ทราบ คือ ที่สูดด้วยจมูก ลิ้มด้วยลิ้น ถูกต้องด้วยกาย. คำว่า วิญฺญาตํ คือ ที่รู้ด้วยใจ. เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า ... ที่เห็น ที่ได้ยิน ที่ได้ทราบ ที่รู้แจ้ง. [๓๓๘] คำว่า ดูกรเหมกะ ... ในปิยรูปทั้งหลาย ความว่า สิ่งอะไรเป็นปิยรูป (เป็นที่รัก) สาตรูป (เป็นที่ยินดี) ในโลก. จักษุ โสตะ ฆานะ ชิวหา กาย ใจ เป็นปิยรูปสาตรูป ในโลก. รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ธรรมารมณ์ เป็นปิยรูปสาตรูปในโลก. จักษุวิญญาณ โสตวิญญาณ ฆานวิญญาณ ชิวหาวิญญาณ กายวิญญาณ มโนวิญญาณ เป็นปิยรูปสาตรูปในโลก. จักษุสัมผัส โสตสัมผัส ฆานสัมผัส ชิวหาสัมผัส กายสัมผัส มโนสัมผัส เป็นปิยรูป สาตรูปในโลก. จักษุสัมผัสสชาเวทนา โสตสัมผัสสชาเวทนา ฆานสัมผัสสชาเวทนา ชิวหา- *สัมผัสสชาเวทนา กายสัมผัสสชาเวทนา มโนสัมผัสสชาเวทนา เป็นปิยรูปสาตรูปในโลก. รูปสัญญา สัททสัญญา คันธสัญญา รสสัญญา โผฏฐัพพสัญญา ธรรมสัญญา เป็นปิยรูป สาตรูปในโลก. รูปสัญเจตนา สัททสัญเจตนา คันธสัญเจตนา รสสัญเจตนา โผฏฐัพพสัญเจตนา ธรรมสัญเจตนา เป็นปิยรูป สาตรูปในโลก. รูปตัณหา สัททตัณหา คันธตัณหา รสตัณหา โผฏฐัพพ- *ตัณหา ธรรมตัณหา เป็นปิยรูป สาตรูปในโลก. รูปวิตก สัททวิตก คันธวิตก รสวิตก โผฏฐัพพวิตก ธรรมวิตก เป็นปิยรูป สาตรูปในโลก. รูปวิจาร สัททวิหาร คันธวิจาร รสวิจาร โผฏฐัพพวิจาร ธรรมวิจาร เป็นปิยรูป สาตรูปในโลก. เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า ในปิยรูปทั้งหลาย. พระผู้มีพระภาคตรัสเรียกพราหมณ์นั้นโดยชื่อว่า เหมกะ. [๓๓๙] ความพอใจในกาม ความกำหนัดในกาม ความเพลินในกาม ตัณหาในกาม ความสิเน่หาในกาม ความเร่าร้อนเพราะกาม ความหลงในกาม ความชอบใจในกาม ในกาม ทั้งหลาย กามโอฆะ กามโยคะ กามุปาทาน กามฉันทนิวรณ์ ชื่อว่า ฉันทราคะ ในอุเทศว่า ฉนฺทราควิโนทนํ ดังนี้. คำว่า เป็นที่บรรเทาฉันทราคะ ความว่า เป็นที่ละฉันทราคะ เป็นที่สงบ ฉันทราคะ เป็นที่สละคืนฉันทราคะ เป็นที่ระงับฉันทราคะ เป็นอมตนิพพาน. เพราะฉะนั้น จึง ชื่อว่า เป็นที่บรรเทาฉันทราคะ. [๓๔๐] คำว่า บทนิพพาน ... ไม่เคลื่อน ความว่า บทนิพพาน คือ บทที่ต้านทาน บทที่ เร้น บทที่ยึดหน่วง บทไม่มีภัย. คำว่า ไม่เคลื่อน คือ เที่ยง ยั่งยืน มั่นคง เป็นธรรมไม่แปรปรวน. เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า บทนิพพาน ... ไม่เคลื่อน. เพราะเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคจึงตรัสว่า ดูกรเหมกะ บทนิพพานเป็นที่บรรเทาฉันทราคะในปิยรูปทั้งหลาย ที่ได้เห็น ที่ได้ยิน และที่ได้ทราบ (ที่รู้แจ้ง) เป็นที่ไม่เคลื่อน. [๓๔๑] พระอรหันตขีณาสพเหล่าใด รู้ทั่วถึงบทนิพพานนั้นแล้ว เป็นผู้มีสติ มีธรรมอันเห็นแล้ว ดับแล้ว พระอรหันตขีณาสพ เหล่านั้น เป็นผู้เข้าไปสงบแล้วทุกสมัย เป็นผู้ข้ามแล้วซึ่ง ตัณหาอันซ่านไปในอารมณ์ต่างๆ ในโลก. [๓๔๒] คำว่า เอตํ ในอุเทศว่า เอตทญฺญาย เย สตา ดังนี้ คือ อมตนิพพาน ความ สงบสังขารทั้งปวง ความสละคืนอุปธิทั้งปวง ความสิ้นตัณหา ความคลายกำหนัด ความดับตัณหา ความออกจากตัณหาเป็นเครื่องร้อยรัด. คำว่า รู้ทั่วถึง ความว่า รู้ทั่ว คือ ทราบ เทียบเคียง พิจารณา เจริญ ทำให้แจ่มแจ้ง คือ รู้ทั่ว ทราบ ... ทำให้แจ่มแจ้งแล้วว่า สังขารทั้งปวงไม่เที่ยง สังขารทั้งปวงเป็นทุกข์ ธรรม ทั้งปวงเป็นอนัตตา ฯลฯ สิ่งใดสิ่งหนึ่งมีความเกิดขึ้นเป็นธรรมดา สิ่งนั้นทั้งมวลล้วนมีความดับ ไปเป็นธรรมดา. คำว่า เย คือ พระอรหันตขีณาสพทั้งหลาย. คำว่า เป็นผู้มีสติ ความว่า เป็นผู้มีสติด้วยเหตุ ๔ ประการ คือ มีสติเจริญสติปัฏฐาน คือพิจารณาเห็นกายในกาย ฯลฯ พระอรหันตขีณาสพเหล่านั้นตรัสว่า เป็นผู้มีสติ เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า พระอรหันตขีณาสพเหล่าใดรู้ทั่วถึงบทนิพพานนี้ เป็นผู้มีสติ. [๓๔๓] คำว่า มีธรรมอันเห็นแล้ว ดับแล้ว ความว่า มีธรรมอันเห็นแล้ว คือ มีธรรม อันรู้แล้ว มีธรรมอันเทียบเคียงแล้ว มีธรรมอันพิจารณาแล้ว มีธรรมอันแจ่มแจ้งแล้ว มีธรรม อันปรากฏแล้ว มีธรรมอันเห็นแล้ว ... มีธรรมอันปรากฏแล้วว่า สังขารทั้งปวงไม่เที่ยง ฯลฯ สิ่งใดสิ่งหนึ่งมีความเกิดขึ้นเป็นธรรมดา สิ่งนั้นทั้งมวลล้วนมีความดับไปเป็นธรรมดา. คำว่า ดับแล้ว ความว่า ชื่อว่าดับแล้ว เพราะเป็นผู้ยังราคะ โทสะ โมหะ ความโกรธ ความผูกโกรธ ฯลฯ อกุสลาภิสังขารทั้งปวงให้ดับ เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า มีธรรมอันเห็นแล้ว ดับแล้ว. [๓๔๔] คำว่า เข้าไปสงบแล้ว ในอุเทศว่า อุปสนฺตา จ เต สทา ดังนี้ ความว่า ชื่อว่าเข้าไปสงบแล้ว คือ สงบแล้ว เข้าไปสงบแล้ว เข้าไปสงบวิเศษแล้ว ดับแล้ว ระงับแล้ว เพราะความที่ราคะ โมหะ ความโกรธ ความผูกโกรธ ฯลฯ อกุสลาภิสังขารทั้งปวง เป็นโทษ ชาติสงบแล้ว ถึงความสงบแล้ว ไหม้แล้ว ดับแล้ว ปราศจากไปแล้ว ระงับแล้ว เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า เป็นผู้เข้าไปสงบแล้ว. คำว่า เต คือ พระอรหันตขีณาสพทั้งหลาย. คำว่า ทุกสมัย คือ ทุกเมื่อ ในกาลทั้งปวง สิ้นกาลทั้งปวง สิ้นกาลเป็นนิตย์ กาลยั่งยืน เนืองๆ ติดต่อ ไม่เจือกับเหตุอื่น สืบต่อโดยลำดับ เหมือนละลอกน้ำมิได้ว่าง สืบต่อไม่ขาดสาย กาลมีประโยชน์ กาลที่ถูกต้อง กาลเป็นปุเรภัต กาลเป็นปัจฉาภัต ยามต้น ยามกลาง ยามหลัง ข้างแรม ข้างขึ้น คราวฝน คราวหนาว คราวร้อน ตอนวัยต้น ตอนวัยกลาง ตอนวัยหลัง เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า พระอรหันตขีณาสพเหล่านั้น เป็นผู้เข้าไปสงบแล้วทุกสมัย. [๓๔๕] ตัณหา ราคะ สาราคะ ฯลฯ อภิชฌา โลภะ อกุศลมูล ท่านกล่าวว่า วิสัตติกา ในอุเทศว่า ติณฺณา โลเก วิสตฺติกํ ดังนี้. ตัณหา ชื่อว่า วิสัตติกา ในคำว่า วิสตฺติกํ เพราะอรรถว่ากระไร? เพราะอรรถว่า ฯลฯ แผ่ไป ซ่านไป ฉะนั้น จึงชื่อ วิสัตติกา. คำว่า ในโลก คือ ในอบายโลก มนุษยโลก เทวโลก ขันธโลก ธาตุโลก อายตนโลก. คำว่า เป็นผู้ข้ามแล้ว ... ในโลก ความว่า เป็นผู้ข้ามแล้ว คือ ข้ามขึ้น ข้ามพ้น ก้าวล่วง ก้าวพ้น เป็นไปล่วงแล้ว ซึ่งตัณหาอันซ่านไปในอารมณ์ต่างๆ ในโลก เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า เป็นผู้ข้ามแล้วซึ่งตัณหาอันซ่านไปในอารมณ์ต่างๆ ในโลก. เพราะเหตุนั้น พระผู้มี- *พระภาคจึงตรัสว่า พระอรหันตขีณาสพเหล่าใด รู้ทั่วถึงบทนิพพานนั้นแล้ว เป็นผู้มีสติ มีธรรมอันเห็นแล้วดับแล้ว พระอรหันตขีณาสพ เหล่านั้น เป็นผู้เข้าไปสงบแล้วทุกสมัย เป็นผู้ข้ามแล้วซึ่ง ตัณหาอันซ่านไปในอารมณ์ต่างๆ ในโลก. พร้อมด้วยเวลาจบพระคาถา ฯลฯ พระเหมกะนั่งประนมอัญชลีนมัสการพระผู้มีพระภาค ประกาศว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พระผู้มีพระภาคเป็นพระศาสดาของข้าพระองค์. ข้าพระองค์ เป็นสาวก ฉะนี้แล.
จบ เหมกมาณวกปัญหานิทเทส ที่ ๘.
-----------------------------------------------------

             เนื้อความพระไตรปิฎก เล่มที่ ๓๐ บรรทัดที่ ๓๐๘๐-๓๒๔๐ หน้าที่ ๑๒๕-๑๓๑. https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=30&A=3080&Z=3240&pagebreak=0              ฟังเนื้อความพระไตรปิฎก : [1], [2], [3]              อ่านเทียบพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาฯ :- https://84000.org/tipitaka/attha/m_siri.php?B=30&siri=27              ศึกษาอรรถกถานี้ได้ที่ :- https://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=30&i=324              ศึกษาพระไตรปิฏกฉบับภาษาบาลีอักษรไทย :- [324-345] https://84000.org/tipitaka/pali/pali_item_s.php?book=30&item=324&items=22              อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย :- https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=46&A=837              The Pali Tipitaka in Roman :- [324-345] https://84000.org/tipitaka/pali/roman_item_s.php?book=30&item=324&items=22              The Pali Atthakatha in Roman :- https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=46&A=837              สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่ ๓๐ https://84000.org/tipitaka/read/?index_30              อ่านเทียบฉบับแปลอังกฤษ Compare with English Translation :- https://www.ancient-buddhist-texts.net/Texts-and-Translations/Parayanavagga/Parayanavaggo-08.htm

อ่านหน้า[ต่าง] แรกอ่านหน้า[ต่าง] ที่แล้วแสดงหมายเลขหน้า
ในกรณี :- 
   บรรทัดแรกของแต่ละหน้าอ่านหน้า[ต่าง] ถัดไปอ่านหน้า[ต่าง] สุดท้าย

บันทึก ๒๗ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๔๖ บันทึกล่าสุด ๒๒ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๖๐ การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจากพระไตรปิฎกฉบับหลวง. หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :