บทนำ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ค้นพระไตรปิฎก ชาดก หนังสือธรรมะ | |
|
|
ฉบับหลวง ฉบับมหาจุฬาฯ บาลีอักษรไทย PaliRoman |
ปัญญาวรรค อภิสมยกถา [๖๙๕] คำว่า ความตรัสรู้ ความว่า ย่อมตรัสรู้ด้วยอะไร ย่อมตรัสรู้ ด้วยจิต ย่อมตรัสรู้ด้วยจิตหรือ ถ้าอย่างนั้น บุคคลผู้ไม่มีญาณก็ตรัสรู้ได้ซิ บุคคล ผู้ไม่มีญาณตรัสรู้ไม่ได้ ย่อมตรัสรู้ได้ด้วยญาณ ย่อมตรัสรู้ด้วยญาณหรือ ถ้าอย่างนั้น บุคคลผู้ไม่มีจิตก็ตรัสรู้ได้ซิ บุคคลผู้ไม่มีจิตก็ตรัสรู้ไม่ได้ ย่อมตรัสรู้ ได้ด้วยจิตและญาณ ย่อมตรัสรู้ได้ด้วยจิตและญาณหรือ ถ้าอย่างนั้น ก็ตรัสรู้ได้ ด้วยกามาวจรจิตและญาณซิ ย่อมตรัสรู้ด้วยกามาวจรจิตและญาณไม่ได้ ถ้าอย่างนั้น ก็ตรัสรู้ได้ด้วยรูปาวจรจิตและญาณซิ ตรัสรู้ด้วยรูปาวจรจิตและญาณไม่ได้ ถ้า อย่างนั้น ก็ตรัสรู้ได้ด้วยอรูปาวจรจิตและญาณซิ ตรัสรู้ด้วยอรูปาวจรจิตและญาณ ไม่ได้ ถ้าอย่างนั้น ก็ตรัสรู้ได้ด้วยกัมมัสสกตาจิตและญาณซิ ตรัสรู้ ด้วยกัมมัสสกตาจิตและญาณไม่ได้ ถ้าอย่างนั้น ก็ตรัสรู้ได้ด้วยสัจจานุโลมิกจิต และญาณซิ ตรัสรู้ด้วยสัจจานุโลมิกจิตและญาณไม่ได้ ถ้าอย่างนั้น ก็ตรัสรู้ได้ด้วย จิตที่เป็นอดีตและญาณซิ ตรัสรู้ด้วยจิตที่เป็นอดีตและญาณไม่ได้ ถ้าอย่างนั้น ก็ตรัสรู้ได้ด้วยจิตที่เป็นอนาคตและญาณซิ ตรัสรู้ด้วยจิตที่เป็นอนาคตและญาณ ไม่ได้ ถ้าอย่างนั้น ก็ตรัสรู้ได้ด้วยจิตที่เป็นปัจจุบันและญาณซิ ตรัสรู้ด้วยจิต ที่เป็นปัจจุบันและญาณไม่ได้ (แต่) ตรัสรู้ได้ด้วยจิตที่เป็นปัจจุบันและญาณ ในขณะโลกุตรมรรค ฯ [๖๙๖] ย่อมตรัสรู้ด้วยจิตที่เป็นปัจจุบันและญาณในขณะแห่งโลกุตรมรรค อย่างไร ฯ ในขณะโลกุตรมรรค จิตเป็นใหญ่ในการให้เกิดขึ้น และเป็นเหตุ เป็นปัจจัยแห่งญาณ จิตอันสัมปยุตด้วยญาณนั้น มีนิโรธเป็นโคจร ญาณเป็นใหญ่ ในการเห็น และเป็นเหตุเป็นปัจจัยแห่งจิต ญาณอันสัมปยุตด้วยจิตนั้น มีนิโรธ เป็นโคจร ย่อมตรัสรู้ด้วยจิตที่เป็นปัจจุบันและด้วยญาณ ในขณะแห่งโลกุตรมรรค อย่างนี้ ฯ [๖๙๗] ถามว่า ความตรัสรู้มีเท่านี้หรือ ฯ ตอบว่า ไม่ใช่มีเท่านี้ ในขณะโลกุตรมรรค ความตรัสรู้ด้วยความเห็น เป็นสัมมาทิฐิ ความตรัสรู้ด้วยความดำริ เป็นสัมมาสังกัปปะ ความตรัสรู้ด้วยความ กำหนด เป็นสัมมาวาจา ความตรัสรู้ด้วยความเป็นสมุฏฐาน เป็นสัมมากัมมันตะ ความตรัสรู้ด้วยความขาวผ่อง เป็นสัมมาอาชีวะ ความตรัสรู้ด้วยความตั้งสติมั่น เป็นสัมมาสติ ความตรัสรู้ด้วยความไม่ฟุ้งซ่าน เป็นสัมมาสมาธิ ความตรัสรู้ ด้วยความตั้งสติมั่น เป็นสติสัมโพชฌงค์ ฯลฯ ความตรัสรู้ด้วยการพิจารณาหาทาง เป็นอุเบกขาสัมโพชฌงค์ ความตรัสรู้ด้วยความไม่หวั่นไหวไปในความเป็นผู้ ไม่มีศรัทธา เป็นสัทธาพละ ความตรัสรู้ด้วยความไม่หวั่นไหวไปในความเกียจคร้าน เป็นวิริยะพละ ความตรัสรู้ด้วยความไม่หวั่นไหวไปในความประมาท เป็นสติพละ ความตรัสรู้ด้วยความไม่หวั่นไหวไปในอุทธัจจะ เป็นสมาธิพละ ความตรัสรู้ด้วยความ ไม่หวั่นไหวไปในอวิชชา เป็นปัญญาพละ ความตรัสรู้ด้วยความน้อมใจเชื่อ เป็นสัทธินทรีย์ ความตรัสรู้ด้วยความประคองไว้ เป็นวิริยินทรีย์ ความตรัสรู้ด้วย ความตั้งสติมั่นเป็นสตินทรีย์ ความตรัสรู้ด้วยความไม่ฟุ้งซ่าน เป็นสมาธินทรีย์ ความตรัสรู้ด้วยความเห็นเป็นปัญญินทรีย์ ความตรัสรู้ด้วยอินทรีย์ด้วยความว่าเป็นใหญ่ ความตรัสรู้ด้วยพละ ด้วยความว่าไม่หวั่นไหว ความตรัสรู้ด้วยโพชฌงค์ด้วยความว่า นำออก ความตรัสรู้ด้วยมรรคด้วยความว่าเป็นเหตุ ความตรัสรู้ด้วยสติปัฏฐานด้วย ความว่าตั้งสติมั่นความตรัสรู้ ด้วยสัมมัปปธานด้วยความว่าตั้งไว้ ความตรัสรู้ด้วย อิทธิบาทด้วยความว่าให้สำเร็จ ความตรัสรู้สัจจะด้วยความว่าเป็นของแท้ ความตรัสรู้ ด้วยสมถะด้วยความว่าไม่ฟุ้งซ่าน ความตรัสรู้ด้วยวิปัสสนาด้วยความว่าพิจารณาเห็น ความตรัสรู้ด้วยสมถะและวิปัสสนาด้วยความว่ามีกิจเป็นอันเดียวกัน ความตรัสรู้ด้วย ธรรมคู่กันด้วยความว่าไม่ล่วงเกินกัน ศีลวิสุทธิด้วยความว่าสำรวม เป็นความตรัสรู้ จิตตวิสุทธิด้วยความว่าไม่ฟุ้งซ่าน เป็นความตรัสรู้ ทิฐิวิสุทธิด้วยความว่าเห็น เป็นความตรัสรู้ ความตรัสรู้ด้วยอธิโมกข์ด้วยความว่าหลุดพ้น ความตรัสรู้ด้วยวิชชา ด้วยความว่าแทงตลอด วิมุติด้วยความว่าบริจาค เป็นความตรัสรู้ ญาณในความ สิ้นไปด้วยความว่าตัดขาด เป็นความตรัสรู้ ฉันทะเป็นความตรัสรู้ด้วยความเป็น มูลเหตุ มนสิการเป็นความตรัสรู้ด้วยความว่าเป็นสมุฏฐาน ผัสสะเป็นความตรัสรู้ ด้วยความว่าเป็นที่รวม เวทนาเป็นความตรัสรู้ด้วยความว่าเป็นที่ประชุม สมาธิเป็น ความตรัสรู้ด้วยความว่าเป็นประธาน สติเป็นความตรัสรู้ด้วยความว่าเป็นใหญ่ ปัญญา เป็นความตรัสรู้ด้วยความว่าเป็นธรรมยิ่งกว่าธรรมนั้นๆ วิมุติเป็นความตรัสรู้ด้วยความ ว่าเป็นสารธรรม นิพพานอันหยั่งลงในอมตะเป็นความตรัสรู้ด้วยความว่าเป็นที่สุด ฯ [๖๙๘] ถามว่า ความตรัสรู้มีเท่านี้หรือ ฯ ตอบว่า ไม่ใช่มีเท่านี้ ในขณะโสดาปัตติมรรค ความตรัสรู้ด้วยความเห็น เป็นสัมมาทิฐิ ฯลฯ นิพพานอันหยั่งลง ในอมตะ เป็นความตรัสรู้ด้วยความว่า เป็นที่สุด ฯ ถามว่า ความตรัสรู้มีเท่านี้หรือ ตอบว่า ไม่ใช่มีเท่านี้ ในขณะโสดาปัตติผล ความตรัสรู้ด้วยความเห็น เป็นสัมมาทิฐิ ฯลฯ ญาณในนิพพานอันไม่มีความเกิดขึ้น เป็นความตรัสรู้ด้วย ความว่าระงับ ฉันทะเป็นความตรัสรู้ด้วยความว่าเป็นมูลเหตุ ฯลฯ นิพพานอันหยั่ง ลงในอมตะ เป็นความตรัสรู้ด้วยความว่าเป็นที่สุด ฯ ถามว่า ความตรัสรู้มีเท่านี้หรือ ฯ ตอบว่า ไม่ใช่มีเท่านี้ ในขณะสกทาคามิมรรค ฯลฯ ในขณะ สกทาคามิผล ในขณะอนาคามิมรรค ในขณะอนาคามิผล ในขณะอรหัตมรรค ในขณะอรหัตผล ความตรัสรู้ด้วยความเห็น เป็นสัมมาทิฐิ ความตรัสรู้ ด้วยความดำริ เป็นสัมมาสังกัปปะ ฯลฯ ญาณในนิพพานอันไม่มีความเกิดขึ้น เป็นความตรัสรู้ด้วยความว่าระงับ ฉันทะเป็นความตรัสรู้ด้วยความว่าเป็นมูลเหตุ ฯลฯ นิพพานอันหยั่งลงในอมตะ เป็นความตรัสรู้ด้วยความว่าเป็นที่สุด บุคคล นี้นั้นย่อมละได้ซึ่งกิเลสทั้งที่เป็นอดีต อนาคตและปัจจุบัน [๖๙๙] คำว่า ย่อมละได้ซึ่งกิเลสที่เป็นอดีต ความว่าบุคคลย่อมละได้ ซึ่งกิเลสที่เป็นอดีตหรือ ถ้าอย่างนั้น บุคคลนั้นก็ทำกิเลสที่สิ้นไปแล้วให้สิ้นไป ทำกิเลสที่ดับไปแล้วให้ดับไป ทำกิเลสที่ปราศไปแล้วให้ปราศไป ทำกิเลสที่หมด แล้วให้หมดไป ย่อมละได้ซึ่งกิเลสที่เป็นอดีตอันไม่มีอยู่ เพราะเหตุนั้น บุคคลนั้น ละกิเลสที่เป็นอดีตหาได้ไม่ คำว่า ย่อมละได้ซึ่งกิเลสที่เป็นอนาคต ความว่า บุคคลย่อมละได้ซึ่งกิเลส ที่เป็นอนาคตหรือ ถ้าอย่างนั้น บุคคลนั้นก็ละกิเลสที่ยังไม่เกิด ละกิเลสที่ยัง ไม่บังเกิด ละกิเลสที่ไม่เกิดขึ้นแล้ว ละกิเลสที่ยังไม่ปรากฏ ละได้ซึ่งกิเลส ที่เป็นอนาคตอันไม่มีอยู่ เพราะเหตุนั้น บุคคลนั้นละกิเลสที่เป็นอนาคตหาได้ไม่ คำว่า ย่อมละได้ซึ่งกิเลสที่เป็นปัจจุบัน ความว่า บุคคลย่อมละได้ ซึ่งกิเลสที่เป็นปัจจุบันหรือ ถ้าอย่างนั้น บุคคลผู้กำหนัดก็ละราคะได้ ผู้ขัดเคือง ก็ละโทสะได้ ผู้หลงก็ละโมหะได้ ผู้มีมานะผูกพันก็ละมานะได้ ผู้ถือผิดก็ละทิฐิได้ ผู้ถึงความฟุ้งซ่านก็ละอุทธัจจะได้ ผู้ลังเลไม่แน่ใจก็ละวิจิกิจฉาได้ ผู้มีกิเลส เรี่ยวแรงก็ละอนุสัยได้ ธรรมฝ่ายดำและธรรมฝ่ายขาวซึ่งเป็นคู่กันกำลังเป็นไป มรรคภาวนาอันมีความหม่นหมองด้วยกิเลสนั้น ก็มีอยู่ เพราะเหตุนั้น บุคคล ละกิเลสที่เป็นอดีต กิเลสที่เป็นอนาคต กิเลสที่เป็นปัจจุบัน หาได้ไม่ ฯ [๗๐๐] บุคคลย่อมละกิเลสที่เป็นอดีตหาได้ไม่ ละกิเลสที่เป็นอนาคต หาได้ไม่ ละกิเลสที่เป็นปัจจุบันหาได้ไม่ หรือ ถ้าอย่างนั้น มรรคภาวนาก็ไม่มี การทำให้แจ้งซึ่งผลก็ไม่มี การละกิเลสก็ไม่มี ธรรมาภิสมัยก็ไม่มี ฯ หามิได้ มรรคภาวนามีอยู่ การทำให้แจ้งซึ่งผลมีอยู่ การละกิเลสมีอยู่ ธรรมาภิสมัยมีอยู่ เหมือนอะไร เหมือนต้นไม้กำลังรุ่น ยังไม่เกิดผล บุรุษพึงตัด ต้นไม้นั้นที่ราก ผลที่ยังไม่เกิดแห่งต้นไม้นั้นก็ไม่เกิดเลย ที่ยังไม่บังเกิดก็ไม่ บังเกิดเลย ที่ไม่เกิดขึ้น แล้วก็ไม่เกิดขึ้นเลย ที่ยังไม่ปรากฏก็ไม่ปรากฏเลย ฉันใด ความเกิดขึ้น เป็นเหตุเป็นปัจจัยแห่งความบังเกิดแห่งกิเลสทั้งหลาย จิตเห็นโทษในความเกิดขึ้นแล้ว จึงแล่นไปในนิพพานอันไม่มีความเกิดขึ้น เพราะ ความที่จิตเป็นธรรมชาติแล่นไปในนิพพานอันไม่มีความเกิดขึ้น กิเลสเหล่าใด พึงบังเกิด เพราะความเกิดขึ้นเป็นปัจจัย กิเลสเหล่านั้นที่ยังไม่เกิดก็ไม่เกิดเลย ที่ยังไม่บังเกิดก็ไม่บังเกิดเลย ที่ไม่เกิดขึ้นแล้วก็ไม่เกิดขึ้นเลย ที่ยังไม่ปรากฏก็ไม่ ปรากฏเลย ฉันนั้นเหมือนกัน เพราะเหตุดับ ทุกข์ก็ดับ ด้วยประการฉะนี้ เพราะเหตุแห่งความเป็นไป เพราะเหตุแห่งสังขารเป็นนิมิต เพราะเหตุแห่งกรรม กรรมเป็นปัจจัยแห่งความบังเกิดแห่งกิเลสทั้งหลาย จิตเห็นโทษในกรรมแล้ว จึงแล่นไปในนิพพานอันไม่มีกรรม เพราะความที่จิตเป็นธรรมชาติแล่นไป ในนิพพานอันไม่มีกรรม กิเลสเหล่าใดพึงบังเกิดเพราะกรรมเป็นปัจจัย กิเลส เหล่านั้นที่ยังไม่เกิดก็ไม่เกิดเลย ที่ยังไม่บังเกิดก็ไม่บังเกิดเลย ที่ยังไม่เกิดขึ้น แล้วก็ไม่เกิดขึ้นเลย ที่ยังไม่ปรากฏก็ไม่ปรากฏเลย เพราะเหตุดับ ทุกข์ก็ดับ ด้วยประการฉะนี้ มรรคภาวนามีอยู่ การทำให้แจ้งซึ่งผลมีอยู่ การละกิเลสมีอยู่ ธรรมาภิสมัยมีอยู่ ด้วยประการฉะนี้แล ฯจบอภิสมยกถา ฯ ----------------------------------------------------- เนื้อความพระไตรปิฎก เล่มที่ ๓๑ บรรทัดที่ ๑๐๓๒๑-๑๐๔๓๑ หน้าที่ ๔๒๙-๔๓๓. https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=31&A=10321&Z=10431&pagebreak=0 ฟังเนื้อความพระไตรปิฎก : [1], [2] อ่านเทียบพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาฯ :- https://84000.org/tipitaka/attha/m_siri.php?B=31&siri=82 ศึกษาอรรถกถานี้ได้ที่ :- https://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=31&i=695 ศึกษาพระไตรปิฏกฉบับภาษาบาลีอักษรไทย :- [695-700] https://84000.org/tipitaka/pali/pali_item_s.php?book=31&item=695&items=6 อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย :- https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=48&A=7967 The Pali Tipitaka in Roman :- [695-700] https://84000.org/tipitaka/pali/roman_item_s.php?book=31&item=695&items=6 The Pali Atthakatha in Roman :- https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=48&A=7967 สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่ ๓๑ https://84000.org/tipitaka/read/?index_31
บันทึก ๒๗ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๔๖ บันทึกล่าสุด ๒๒ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๖๐ การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจากพระไตรปิฎกฉบับหลวง. หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]