ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ค้นพระไตรปิฎก ชาดก หนังสือธรรมะ
     ฉบับหลวง   ฉบับมหาจุฬาฯ   บาลีอักษรไทย   PaliRoman 
อ่านหน้า[ต่าง] แรกอ่านหน้า[ต่าง] ที่แล้วแสดงหมายเลขหน้า
ในกรณี :- 
   บรรทัดแรกของแต่ละหน้าอ่านหน้า[ต่าง] ถัดไปอ่านหน้า[ต่าง] สุดท้าย
พระไตรปิฎกเล่มที่ ๔ พระวินัยปิฎกเล่มที่ ๔ มหาวรรค ภาค ๑
ติตถิยปริวาส
[๑๐๐] ก็โดยสมัยนั้นแล ภิกษุผู้เคยเป็นอัญญเดียรถีย์ อันพระอุปัชฌายะว่ากล่าวอยู่ โดยชอบธรรม ได้ยกวาทะของอุปัชฌายะเสีย แล้วเข้าไปสู่ลัทธิเดียรถีย์นั้นดังเดิม. เธอกลับมา ขออุปสมบทต่อภิกษุทั้งหลายอีก. ภิกษุทั้งหลายจึงกราบทูลเรื่องนั้นแด่พระผู้มีพระภาค. พระผู้ มีพระภาคตรัสว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุที่เคยเป็นอัญญเดียรถีย์ อันพระอุปัชฌายะว่ากล่าวอยู่โดย ชอบธรรม ได้ยกวาทะของอุปัชฌายะเสีย แล้วเข้าไปสู่ลัทธิเดียรถีย์นั้นดังเดิม มาแล้ว ไม่พึง อุปสมบทให้ แม้ผู้อื่นที่เคยเป็นอัญญเดียรถีย์ หวังบรรพชาอุปสมบทในพระธรรมวินัยนี้ พึงให้ ปริวาส ๔ เดือนแก่เธอ. ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็แลสงฆ์พึงให้ติตถิยปริวาสอย่างนี้:-
วิธีให้ติตถิยปริวาส
ชั้นต้นพึงให้กุลบุตรที่เคยเป็นอัญญเดียรถีย์ปลงผมและหนวด ให้ครองผ้ากาสายะ ให้ห่มผ้าเฉวียงบ่า ให้กราบเท้าภิกษุทั้งหลาย แล้วนั่งกระหย่ง ให้ประคองอัญชลีสั่งว่า จงว่า อย่างนี้ แล้วให้ว่าสรณคมน์ ดังนี้:-
ไตรสรณคมน์
พุทฺธํ สรณํ คจฺฉามิ ข้าพเจ้าถึงพระพุทธเจ้า เป็นที่พึ่ง ธมฺมํ สรณํ คจฺฉามิ ข้าพเจ้าถึงพระธรรม เป็นที่พึ่ง สงฺฆํ สรณํ คจฺฉามิ ข้าพเจ้าถึงพระสงฆ์ เป็นที่พึ่ง ทุติยมฺปิ พุทฺธํ สรณํ คจฺฉามิ ข้าพเจ้าถึงพระพุทธเจ้า เป็นที่พึ่ง แม้ครั้งที่สอง ทุติยมฺปิ ธมฺมํ สรณํ คจฺฉามิ ข้าพเจ้าถึงพระธรรม เป็นที่พึ่ง แม้ครั้งที่สอง ทุติยมฺปิ สงฺฆํ สรณํ คจฺฉามิ ข้าพเจ้าถึงพระสงฆ์ เป็นที่พึ่ง แม้ครั้งที่สอง ตติยมฺปิ พุทฺธํ สรณํ คจฺฉามิ ข้าพเจ้าถึงพระพุทธเจ้า เป็นที่พึ่ง แม้ครั้งที่สาม ตติยมฺปิ ธมฺมํ สรณํ คจฺฉามิ ข้าพเจ้าถึงพระธรรม เป็นที่พึ่ง แม้ครั้งที่สาม ตติยมฺปิ สงฺฆํ สรณํ คจฺฉามิ ข้าพเจ้าถึงพระสงฆ์ เป็นที่พึ่ง แม้ครั้งที่สาม ดูกรภิกษุทั้งหลาย กุลบุตรที่เคยเป็นอัญญเดียรถีย์นั้น พึงเข้าไปหาสงฆ์ ห่มผ้าเฉวียงบ่า กราบเท้าภิกษุทั้งหลาย นั่งกระหย่ง ประคองอัญชลี แล้วกล่าวคำขอติตถิยปริวาสอย่างนี้ ว่าดังนี้:-
คำขอติตถิยปริวาส
ท่านเจ้าข้า ข้าพเจ้าผู้มีชื่อนี้ เคยเป็นอัญญเดียรถีย์ หวังอุปสมบทในพระธรรมวินัยนี้ ท่านเจ้าข้า ข้าพเจ้านั้น ขอปริวาส ๔ เดือนต่อสงฆ์. พึงขอแม้ครั้งที่สอง พึงขอแม้ครั้งที่สาม. ภิกษุผู้ฉลาด ผู้สามารถ พึงประกาศให้สงฆ์ทราบด้วยญัตติทุติยกรรมวาจา ว่าดังนี้:-
กรรมวาจาให้ติตถิยปริวาส
ท่านเจ้าข้า ขอสงฆ์จงฟังข้าพเจ้า ผู้มีชื่อนี้ผู้นี้ เคยเป็นอัญญเดียรถีย์ หวังอุปสมบท ในพระธรรมวินัยนี้ เธอขอปริวาส ๔ เดือนต่อสงฆ์. ถ้าความพร้อมพรั่งของสงฆ์ถึงที่แล้ว สงฆ์พึงให้ปริวาส ๔ เดือน แก่ผู้มีชื่อนี้ ผู้เคยเป็นอัญญเดียรถีย์. นี่เป็นญัตติ. ท่านเจ้าข้า ขอสงฆ์จงฟังข้าพเจ้า ผู้มีชื่อนี้ เคยเป็นอัญญเดียรถีย์ หวังอุปสมบท ในพระธรรมวินัยนี้ เธอขอปริวาส ๔ เดือนต่อสงฆ์. สงฆ์ให้ปริวาส ๔ เดือนแก่ผู้มีชื่อนี้ ผู้เคยเป็นอัญญเดียรถีย์. การให้ปริวาส ๔ เดือนแก่ผู้มีชื่อนี้ ผู้เคยเป็นอัญญเดียรถีย์ ชอบ แก่ท่านผู้ใด ท่านผู้นั้นพึงเป็นผู้นิ่ง ไม่ชอบแก่ท่านผู้ใด ท่านผู้นั้นพึงพูด ปริวาส ๔ เดือน สงฆ์ให้แล้ว แก่ผู้มีชื่อนี้ ผู้เคยเป็นอัญญเดียรถีย์ ชอบแก่สงฆ์ เหตุนั้นจึงนิ่ง ข้าพเจ้าทรงความนี้ไว้ด้วยอย่างนี้. ดูกรภิกษุทั้งหลาย กุลบุตรผู้เคยเป็นอัญญเดียรถีย์ เป็นผู้ปฏิบัติให้สงฆ์ยินดี อย่างนี้ และ เป็นผู้ปฏิบัติมิให้สงฆ์ยินดีอย่างนี้.
ข้อปฏิบัติที่มิให้สงฆ์ยินดี
ดูกรภิกษุทั้งหลาย อย่างไรเล่า กุลบุตรผู้เคยเป็นอัญญเดียรถีย์ ชื่อว่าเป็นผู้ปฏิบัติมิให้ สงฆ์ยินดี? ๑. ดูกรภิกษุทั้งหลาย กุลบุตรผู้เคยเป็นอัญญเดียรถีย์ในพระธรรมวินัยนี้ เข้าบ้านเช้า เกินไป กลับสายเกินไป แม้เช่นนี้ ก็ชื่อว่า เป็นผู้ปฏิบัติมิให้สงฆ์ยินดี. ๒. ดูกรภิกษุทั้งหลาย อีกประการหนึ่ง กุลบุตรผู้เคยเป็นอัญญเดียรถีย์ เป็นผู้มีหญิง แพศยาเป็นโคจร มีหญิงหม้ายเป็นโคจร มีสาวเทื้อเป็นโคจร มีบัณเฑาะก์เป็นโคจร หรือมี ภิกษุณีเป็นโคจร แม้เช่นนี้ ก็ชื่อว่าเป็นผู้ปฏิบัติมิให้สงฆ์ยินดี. ๓. ดูกรภิกษุทั้งหลาย อีกประการหนึ่ง กุลบุตรผู้เคยเป็นอัญญเดียรถีย์ เป็นผู้ไม่ขยัน เกียจคร้านในการงานใหญ่น้อยของเพื่อนสพรหมจารีทั้งหลาย ไม่ประกอบด้วยปัญญาพิจารณา สอดส่อง ในการนั้น ไม่อาจทำ ไม่อาจจัดการ แม้เช่นนี้ ก็ชื่อว่าเป็นผู้ปฏิบัติมิให้สงฆ์ยินดี ๔. ดูกรภิกษุทั้งหลาย อีกประการหนึ่ง กุลบุตรผู้เคยเป็นอัญญเดียรถีย์ เป็นผู้ไม่สนใจ ในการเรียนบาลี ในการเรียนอรรถกถา ในอธิศีล อธิจิต อธิปัญญา แม้เช่นนี้ ก็ชื่อว่าเป็นผู้ ปฏิบัติมิให้สงฆ์ยินดี. ๕. ดูกรภิกษุทั้งหลาย อีกประการหนึ่ง กุลบุตรผู้เคยเป็นอัญญเดียรถีย์ ตนหลีกมาจาก สำนักเดียรถีย์แห่งครูคนใด เมื่อมีผู้กล่าวติครูคนนั้น ติความเห็น ความชอบใจ ความพอใจ และความยึดถือ ของครูคนนั้น ยังโกรธ ไม่พอใจ ไม่ชอบใจ เมื่อมีผู้กล่าวติพระพุทธเจ้า พระธรรม หรือพระสงฆ์ กลับพอใจ ร่าเริง ชอบใจ ก็หรือตนหลีกมาจากสำนักเดียรถีย์ แห่งครูคนใด เมื่อมีผู้กล่าวสรรเสริญครูคนนั้น สรรเสริญความเห็น ความชอบใจ ความพอใจ และความยึดถือ ของครูคนนั้น ย่อมพอใจ ร่าเริง ชอบใจ เมื่อมีผู้กล่าวสรรเสริญพระพุทธเจ้า พระธรรม หรือพระสงฆ์ กลับโกรธ ไม่พอใจ ไม่ชอบใจ. ดูกรภิกษุทั้งหลาย ข้อนี้เป็นเครื่องสอบสวนในข้อปฏิบัติที่ไม่ชวนให้สงฆ์ยินดีแห่ง กุลบุตรผู้เคยเป็นเดียรถีย์. ดูกรภิกษุทั้งหลาย อย่างนี้แล กุลบุตรผู้เคยเป็นอัญญเดียรถีย์ ชื่อว่าเป็นผู้ปฏิบัติมิให้ สงฆ์ยินดี. กุลบุตรผู้เคยเป็นอัญญเดียรถีย์ ปฏิบัติมิให้สงฆ์ยินดีเช่นนี้แล มาแล้ว ไม่พึง อุปสมบทให้.
ข้อปฏิบัติที่ให้สงฆ์ยินดี
ดูกรภิกษุทั้งหลาย อย่างไรเล่า กุลบุตรผู้เคยเป็นอัญญเดียรถีย์ เป็นผู้ปฏิบัติให้สงฆ์ยินดี? ๑. ดูกรภิกษุทั้งหลาย กุลบุตรผู้เคยเป็นอัญญเดียรถีย์ในพระธรรมวินัยนี้ เข้าบ้าน ไม่เช้าเกินไป กลับไม่สายเกินไป แม้เช่นนี้ ก็ชื่อว่าเป็นผู้ปฏิบัติให้สงฆ์ยินดี. ๒. ดูกรภิกษุทั้งหลาย อีกประการหนึ่ง กุลบุตรผู้เคยเป็นอัญญเดียรถีย์ ไม่เป็นผู้มี หญิงแพศยาเป็นโคจร ไม่มีหญิงหม้ายเป็นโคจร ไม่มีสาวเทื้อเป็นโคจร ไม่มีบัณเฑาะก์เป็นโคจร ไม่มีภิกษุณีเป็นโคจร แม้เช่นนี้ ก็ชื่อว่าเป็นผู้ปฏิบัติให้สงฆ์ยินดี. ๓. ดูกรภิกษุทั้งหลาย อีกประการหนึ่ง กุลบุตรผู้เคยเป็นอัญญเดียรถีย์ เป็นผู้ขยัน ไม่เกียจคร้านในการงานใหญ่น้อยของเพื่อนสพรหมจารีทั้งหลาย ประกอบด้วยปัญญาพิจารณา สอดส่องในการนั้น อาจทำได้ อาจจัดการได้ แม้เช่นนี้ ก็ชื่อว่าเป็นผู้ปฏิบัติให้สงฆ์ยินดี ๔. ดูกรภิกษุทั้งหลาย อีกประการหนึ่ง กุลบุตรผู้เคยเป็นอัญญเดียรถีย์ เป็นผู้สนใจ ในการเรียนบาลี ในการเรียนอรรถกถา ในอธิศีล อธิจิต อธิปัญญา แม้เช่นนี้ ก็ชื่อว่า เป็นผู้ปฏิบัติให้สงฆ์ยินดี. ๕. ดูกรภิกษุทั้งหลาย อีกประการหนึ่ง กุลบุตรผู้เคยเป็นอัญญเดียรถีย์ ตนหลีกมาจาก สำนักเดียรถีย์แห่งครูคนใด เมื่อมีผู้กล่าวติครูคนนั้น ติความเห็น ความชอบใจ ความพอใจ และความยึดถือ ของครูคนนั้น ย่อมพอใจ ร่าเริง ชอบใจ เมื่อเขากล่าวติพระพุทธเจ้า พระธรรม หรือพระสงฆ์ กลับโกรธ ไม่พอใจ ไม่ชอบใจ ก็หรือตนหลีกมาจากสำนักเดียรถีย์แห่งครูคนใด เมื่อมีผู้กล่าวสรรเสริญครูคนนั้น สรรเสริญความเห็น ความชอบใจ ความพอใจ และความยึดถือ ของครูคนนั้น ย่อมโกรธ ไม่พอใจ ไม่ชอบใจ เมื่อเขากล่าวสรรเสริญพระพุทธเจ้า พระธรรม หรือพระสงฆ์ กลับพอใจ ร่าเริง ชอบใจ. ดูกรภิกษุทั้งหลาย ข้อนี้เป็นเครื่องสอบสวนในข้อปฏิบัติที่ชวนให้สงฆ์ยินดี แห่ง กุลบุตรผู้เคยเป็นอัญญเดียรถีย์. ดูกรภิกษุทั้งหลาย อย่างนี้แล กุลบุตรผู้เคยเป็นอัญญเดียรถีย์ ชื่อว่าเป็นผู้ปฏิบัติให้สงฆ์ ยินดี. กุลบุตรผู้เคยเป็นอัญญเดียรถีย์ปฏิบัติให้สงฆ์ยินดีเช่นนี้แล มาแล้ว พึงอุปสมบทให้. ดูกรภิกษุทั้งหลาย ถ้ากุลบุตรผู้เคยเป็นอัญญเดียรถีย์ เปลือยกายมา ต้องแสวงหาจีวร ซึ่งมีอุปัชฌายะเป็นเจ้าของ ถ้ายังมิได้ปลงผมมา สงฆ์พึงอปโลกน์ เพื่อปลงผม. ดูกรภิกษุทั้งหลาย ชฎิลผู้บูชาไฟเหล่านั้นมาแล้ว พึงอุปสมบทให้ ไม่ต้องให้ปริวาส แก่พวกเธอ. ข้อนั้นเป็นเพราะเหตุไร? ดูกรภิกษุทั้งหลาย เพราะชฎิลเหล่านั้น เป็นกรรมวาที กิริยวาที. ถ้าศากยะโดยกำเนิดเคยเป็นอัญญเดียรถีย์มา เธอมาแล้วพึงอุปสมบทให้ ไม่ต้องให้ ปริวาสแก่เธอ. ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราให้บริหารข้อนี้เป็นส่วนพิเศษเฉพาะหมู่ญาติ.
อัญญติถิยปุพพกถา จบ
ภาณวารที่ ๗ จบ
-----------------------------------------------------

             เนื้อความพระไตรปิฎก เล่มที่ ๔ บรรทัดที่ ๒๗๖๔-๒๘๗๕ หน้าที่ ๑๑๓-๑๑๗. https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=4&A=2764&Z=2875&pagebreak=0              ฟังเนื้อความพระไตรปิฎก : [1], [2]              อ่านเทียบพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาฯ :- https://84000.org/tipitaka/attha/m_siri.php?B=4&siri=30              ศึกษาอรรถกถานี้ได้ที่ :- https://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=4&i=100              ศึกษาพระไตรปิฏกฉบับภาษาบาลีอักษรไทย :- [100] https://84000.org/tipitaka/pali/pali_item_s.php?book=4&item=100&items=1              อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย :- https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=3&A=1107              The Pali Tipitaka in Roman :- [100] https://84000.org/tipitaka/pali/roman_item_s.php?book=4&item=100&items=1              The Pali Atthakatha in Roman :- https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=3&A=1107              สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่ ๔ https://84000.org/tipitaka/read/?index_4              อ่านเทียบฉบับแปลอังกฤษ Compare with English Translation :- https://84000.org/tipitaka/english/metta.lk/04i001-e.php#topic38 https://suttacentral.net/pli-tv-kd1/en/brahmali#pli-tv-kd1:38.1.0 https://suttacentral.net/pli-tv-kd1/en/horner-brahmali#Kd.1.37.2

อ่านหน้า[ต่าง] แรกอ่านหน้า[ต่าง] ที่แล้วแสดงหมายเลขหน้า
ในกรณี :- 
   บรรทัดแรกของแต่ละหน้าอ่านหน้า[ต่าง] ถัดไปอ่านหน้า[ต่าง] สุดท้าย

บันทึก ๒๗ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๔๖ บันทึกล่าสุด ๒๒ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๖๐ การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจากพระไตรปิฎกฉบับหลวง. หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :