ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ค้นพระไตรปิฎก ชาดก หนังสือธรรมะ
     ฉบับหลวง   ฉบับมหาจุฬาฯ   บาลีอักษรไทย   PaliRoman 
อ่านหน้า[ต่าง] แรกอ่านหน้า[ต่าง] ที่แล้วแสดงหมายเลขหน้า
ในกรณี :- 
   บรรทัดแรกของแต่ละหน้าอ่านหน้า[ต่าง] ถัดไปอ่านหน้า[ต่าง] สุดท้าย
พระไตรปิฎกเล่มที่ ๕ พระวินัยปิฎกเล่มที่ ๕ มหาวรรค ภาค ๒
เรื่องวุฑฒบรรพชิต
[๘๙] ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาค ประทับอยู่ในพระนครกุสินาราตามพระพุทธาภิรมย์ แล้วเสด็จพระพุทธดำเนินทางอาตุมานครพร้อมด้วยภิกษุสงฆ์หมู่ใหญ่ประมาณ ๑,๒๕๐ รูป สมัยนั้น มีภิกษุบวชภายแก่รูปหนึ่ง เคยเป็นช่างกัลบก อาศัยอยู่ในอาตุมานคร เธอมีบุตรชายสองคน เป็นเด็กพูดจาอ่อนหวาน มีไหวพริบดี ขยันแข็งแรง มีฝีมือยอดเยี่ยมในการช่างกัลบกของตน ดีเท่าอาจารย์ เธอได้ทราบข่าวว่า พระผู้มีพระภาคกำลังเสด็จมาสู่อาตุมานคร พร้อมด้วยภิกษุสงฆ์ หมู่ใหญ่ประมาณ ๑,๒๕๐ รูป ครั้นแล้วได้แจ้งความประสงค์อันนั้นแก่บุตรทั้งสองนั้นว่า พ่อ ทั้งหลายข่าวว่า พระผู้มีพระภาคกำลังเสด็จสู่อาตุมานคร พร้อมด้วยภิกษุสงฆ์หมู่ใหญ่ประมาณ ๑,๒๕๐ ไปเถิด พ่อทั้งสอง จงถือเครื่องมือตัดผม และโกนผม กับทะนานและถุง เที่ยวไปตัด และโกนผม ตามบ้านเรือนทุกแห่ง แลกเกลือบ้าง น้ำมันบ้าง ข้าวสารบ้าง ของขบฉันบ้าง พ่อจักทำยาคูที่ดื่มได้ถวายพระผู้มีพระภาคผู้เสด็จมาถึงแล้ว. บุตรชายทั้งสองรับคำสั่งของหลวงพ่อว่า จะปฏิบัติเช่นนั้น แล้วถือเครื่องมือตัดผม โกนผมกับทะนานและถุง เที่ยวไปตัดและโกนผมตามบ้านเรือนทุกแห่ง แลกเกลือบ้าง น้ำมันบ้าง ข้าวสารบ้าง ของขบฉันบ้าง ชาวบ้านเห็นเด็กสองคนนั้นพูดจาอ่อนหวาน มีไหวพริบดี แม้ผู้ที่ ไม่ประสงค์จะให้ตัดและโกนผม ก็ให้ตัดให้โกนผม ถึงให้ตัดให้โกนผมแล้ว ก็ให้ค่าแรงมาก เป็นอันว่าเด็กทั้งสองคนนั้นเก็บรวบรวมเกลือบ้าง น้ำมันบ้าง ข้าวสารบ้าง ของขบฉันบ้าง ได้เป็นอันมาก. ครั้นพระผู้มีพระภาคเสด็จจาริกโดยลำดับ เสด็จถึงอาตุมานครแล้ว ทราบว่าพระองค์ ประทับอยู่ที่ภูสาคารเขตอาตุมานครนั้น จึงพระขรัวตานั้น สั่งให้คนตกแต่งข้าวยาคูเป็นอันมาก โดยผ่านราตรีนั้นแล้ว น้อมถวายพระผู้มีพระภาคกราบทูลว่า พระพุทธเจ้าข้า ขอพระผู้มีพระภาค จงโปรดรับข้าวยาคูของข้าพระพุทธเจ้า.
พุทธประเพณี
พระตถาคตทั้งหลายทรงทราบอยู่ ย่อมตรัสถามก็มี ทรงทราบอยู่ ย่อมไม่ตรัสถามก็มี ทรงทราบกาลแล้วตรัสถาม ทรงทราบกาลแล้วไม่ตรัสถาม พระตถาคตทั้งหลาย ย่อมตรัสถาม สิ่งที่ประกอบด้วยประโยชน์ ไม่ตรัสถามสิ่งที่ไม่ประกอบด้วยประโยชน์ สิ่งที่ไม่ประกอบด้วย ประโยชน์ พระองค์ทรงกำจัดด้วยข้อปฏิบัติ พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าทั้งหลาย ทรงสอบถาม ภิกษุทั้งหลายด้วยอาการ ๒ อย่าง คือ จักทรงแสดงธรรมอย่าง ๑ จักทรงบัญญัติสิกขาบท แก่พระสาวกทั้งหลายอย่าง ๑. ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคได้ตรัสถามพระขรัวตานั้นว่า ดูกรภิกษุ ข้าวยาคูนี้เธอได้มา จากไหน พระขรัวตาจึงกราบทูลเรื่องนั้นให้ทรงทราบทุกประการ.
ห้ามภิกษุผู้เคยเป็นช่างกัลบกเก็บรักษามีดโกน
พระผู้มีพระภาคทรงติเตียนว่า ดูกรโมฆบุรุษ การกระทำของเธอนั่นไม่เหมาะ ไม่สม ไม่ควร ไม่ใช่กิจของสมณะ ใช้ไม่ได้ ไม่ควรทำ ไฉนเธอบวชแล้วจึงได้ชักจูงทายกในสิ่งอัน ไม่ควรเล่า การกระทำของเธอนั่น ไม่เป็นไปเพื่อความเลื่อมใสของชุมชนที่ยังไม่เลื่อมใส .... ครั้นแล้วทรงทำธรรมีกถารับสั่งกะภิกษุทั้งหลายว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย บรรพชิตไม่พึงชักจูงทายก ในสิ่งอันไม่ควร รูปใดชักจูง ต้องอาบัติทุกกฏ. ดูกรภิกษุทั้งหลาย อนึ่ง ภิกษุผู้เคยเป็นช่างกัลบก ไม่พึงเก็บรักษาเครื่องตัดโกนผม ไว้สำหรับตัว รูปใดเก็บรักษาไว้ ต้องอาบัติทุกกฏ.
พระพุทธานุญาตผลไม้
[๙๐] ครั้นพระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ อาตุมานครตามพระพุทธาภิรมย์ แล้วเสด็จ พุทธดำเนินไปทางพระนครสาวัตถี เสด็จจาริกโดยลำดับ ถึงพระนครสาวัตถีแล้ว ทราบว่าพระองค์ ประทับอยู่ที่พระเชตวัน อารามของอนาถบิณฑิกคหบดี เขตพระนครสาวัตถีนั้น เวลานั้น ของขบฉันคือผลไม้ในนครสาวัตถีมีดาดดื่นมาก จึงภิกษุทั้งหลายได้มีความสงสัยว่า ของขบฉันคือ ผลไม้ พระผู้มีพระภาคทรงอนุญาตไว้แล้วหรือมิได้ทรงอนุญาต แล้วได้กราบทูลเรื่องนั้นแด่ พระผู้มีพระภาค. พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตผลไม้ทุกชนิด.
พืชของสงฆ์และของบุคคล
[๙๑] ก็โดยสมัยนั้นแล พืชของสงฆ์เขาเพาะปลูกในที่ของบุคคล พืชของบุคคล เขาเพาะปลูกในที่ของสงฆ์ ภิกษุทั้งหลายจึงกราบทูลเรื่องนั้นแด่พระผู้มีพระภาค. พระผู้มีพระภาคตรัสกะภิกษุทั้งหลายว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย พืชของสงฆ์ที่เพาะปลูกในที่ ของบุคคล พึงให้ส่วนแบ่ง แล้วบริโภค พืชของบุคคลที่เพาะปลูกในที่ของสงฆ์ พึงให้ส่วนแบ่ง แล้วบริโภค.

             เนื้อความพระไตรปิฎก เล่มที่ ๕ บรรทัดที่ ๒๕๒๐-๒๕๗๑ หน้าที่ ๑๐๒-๑๐๔. https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=5&A=2520&Z=2571&pagebreak=0              ฟังเนื้อความพระไตรปิฎก : [คลิกเพื่อฟัง]              อ่านเทียบพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาฯ :- https://84000.org/tipitaka/attha/m_siri.php?B=5&siri=25              ศึกษาอรรถกถานี้ได้ที่ :- https://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=5&i=89              ศึกษาพระไตรปิฏกฉบับภาษาบาลีอักษรไทย :- [89-91] https://84000.org/tipitaka/pali/pali_item_s.php?book=5&item=89&items=3              อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย :- https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=3&A=4208              The Pali Tipitaka in Roman :- [89-91] https://84000.org/tipitaka/pali/roman_item_s.php?book=5&item=89&items=3              The Pali Atthakatha in Roman :- https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=3&A=4208              สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่ ๕ https://84000.org/tipitaka/read/?index_5              อ่านเทียบฉบับแปลอังกฤษ Compare with English Translation :- https://suttacentral.net/pli-tv-kd6/en/brahmali#pli-tv-kd6:37.1.0 https://suttacentral.net/pli-tv-kd6/en/horner-brahmali#Kd.6.37

อ่านหน้า[ต่าง] แรกอ่านหน้า[ต่าง] ที่แล้วแสดงหมายเลขหน้า
ในกรณี :- 
   บรรทัดแรกของแต่ละหน้าอ่านหน้า[ต่าง] ถัดไปอ่านหน้า[ต่าง] สุดท้าย

บันทึก ๒๗ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๔๖ บันทึกล่าสุด ๒๒ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๖๐ การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจากพระไตรปิฎกฉบับหลวง. หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :