ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ค้นพระไตรปิฎก ชาดก หนังสือธรรมะ

นโม ตสฺส ภควโต อรหโต สมฺมาสมฺพุทฺธสฺส ฯ
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น



นานาปัญหา
โดย คณะสหายธรรม
 

๓๔. ระลึกถึงบุญที่ทำแล้วได้บุญเพิ่มขึ้นหรือ
          ถาม  จากหนังสือธรรมกล่าวว่า ผู้ที่เคยทำบุญทำกุศลแม้เพียงครั้งเดียว เพราะฐานะยากจน แต่ระลึกถึงเสมอ และระลึกครั้งใดก็เกิดความปิติโสมนัสในกุศลของตนเสมอ ความปลาบปลื้มใจโดยอาศัยการระลึกถึงกุศลของตนนี้ ได้ชื่อว่าเป็นกุศลอาจิณณกรรม
          จากบทความนี้แสดงว่า ถ้าเราทำบุญกุศลไว้ พอนานวันเรากลับมานึกถึงบุญกุศลที่เราทำไว้ จะทำให้เราได้บุญกุศลเพิ่มขึ้นหรือครับ

          ตอบ  คนที่ทำบุญแล้วระลึกถึงบุญที่ตนทำมาบ่อยๆ ระลึกแล้วก็ปิติโสมนัสในการกระทำนั้น บุญก็เกิดอีกแน่นอน เพราะฉะนั้น ในสมถกรรมฐานว่าด้วยอนุสสติ ๑๐ มีพุทธานุสสติ ๑ ธัมมานุสสติ ๑ สังฆานุสสติ ๑ สีลานุสสติ ๑ จาคานุสสติ ๑ เทวตานุสสติ ๑ มรณสติ หรือมรณานุสสติ ๑ กายคตาสติ ๑ อานาปานสติ ๑ และอุปสมานุสสติ ๑
          ในอนุสสติเหล่านั้น ท่านจะเห็นว่าเราสามารถจะระลึกถึงศีลที่เรารักษาดีแล้วได้บ่อยๆ นึกถึงทานที่เราบริจาคดีแล้วได้บ่อยๆ เพื่อให้จิตใจสงบเป็นสมาธิได้ ศีลที่เรารักษาแล้วก็เป็นบุญกุศลที่เราสามารถระลึกถึงได้บ่อยๆ เพื่อให้เกิดสมาธิจัดไว้ในข้อสีลานุสสติ
          ส่วนทานการบริจาคที่เราทำแล้วก็เช่นเดียวกัน เราสามารถจะระลึกได้บ่อยๆ จนจิตสงบเกิดสมาธิ จัดไว้ในข้อจาคานุสสติ เพราะฉะนั้นบุญกุศลที่เราทำแล้ว เมื่อเราระลึกถึงอยู่บ่อยๆ เนืองๆ ก็ย่อมเกิดกุศลเพิ่มขึ้นทุกครั้งที่ระลึกถึง แต่ต้องเป็นการระลึกถึงด้วยความปิติโสมนัสในการกระทำนั้น
          หากเป็นการนึกถึงด้วยความโทมนัสเสียใจ เป็นต้นว่า เสียดายของที่บริจาคไปแล้ว หรือมารู้ว่าผู้รับทุศีลก็เสียใจ ถ้าอย่างนี้ก็มีแต่อกุศลเกิดเพียงอย่างเดียว อีกประการหนึ่ง ในการทำบุญให้ทานเป็นต้นนั้น ผลของบุญที่ทำแล้วจะเต็มเปี่ยมสมบูรณ์ ก็เพราะท่านตั้งเจตนาไว้ดีแล้วใน ๓ กาล คือ
          ๑. ในกาลก่อนที่จะให้ทำหรือทำ เรียกว่าบุพเจตนาดี
          ๒. ในเวลากำลังให้ก็มีใจยินดีหรือในขณะทำกุศลก็มีใจยินดี เรียกว่ามุญจนเจตนาดี
          ๓. ทำแล้วระลึกขึ้นมาก็ยินดี เรียกว่าอปรเจตนาดี หรือแม้ทำแล้วนานๆ ระลึกถึงก็ยังยินดี เรียกว่าอปราปรเจตนาดี ซึ่งทั้งอปรเจตนาหรืออปราปรเจตนานี้ ก็รวมไว้ในเจตนาครั้งหลัง คือหลังจากทำแล้วก็ระลึกถึงด้วยความยินดี การที่เราระลึกถึงบุญกุศลที่ทำแล้วด้วยความปิติยินดีนี้ จึงจัดอยู่ในเจตนาครั้งหลังนี้
          ถ้าทำได้ครบทั้ง ๓ กาลเช่นนี้ กุศลของท่านย่อมถึงความไพบูลย์แน่นอน
________________________________________

ที่มา อ้างอิง และแนะนำ :-
          พระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๒ พระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๑๔
          อังคุตตรนิกาย ปัญจก-ฉักกนิบาต
          มหานามสูตร
https://84000.org/tipitaka/book/v.php?B=22&A=6756&Z=6837

          พระไตรปิฎกเล่มที่ ๑๔ พระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๖
          มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์
          อนาถปิณฑิโกวาทสูตร
https://84000.org/tipitaka/book/v.php?B=14&A=9311&Z=9524

          พระไตรปิฎกเล่มที่ ๕ พระวินัยปิฎกเล่มที่ ๕
          มหาวรรค ภาค ๒
          เรื่องนางวิสาขา มิคารมาตา
https://84000.org/tipitaka/book/v.php?B=5&A=4005&Z=4131

          พระไตรปิฎกเล่มที่ ๑๕ พระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๗
          สังยุตตนิกาย สคาถวรรค
          ปฐมาปุตตกสูตร
https://84000.org/tipitaka/book/v.php?B=15&A=2867&Z=2926

          พจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลธรรม
          พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ. ปยุตฺโต)
          คำว่า ทานสมบัติ 3
https://84000.org/tipitaka/dic/d_seek.php?text=ทานสมบัติ_3
          คำว่า อนุสติ 10
https://84000.org/tipitaka/dic/d_seek.php?text=อนุสติ_10

ดาวน์โหลดนานาปัญหาทั้ง ๕๑ ข้อ นานาปัญหา โดยคณะสหายธรรม บันทึก ๒๐ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๔๘ หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]