ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ค้นพระไตรปิฎก ชาดก หนังสือธรรมะ

นโม ตสฺส ภควโต อรหโต สมฺมาสมฺพุทฺธสฺส ฯ
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น



นานาปัญหา
โดย คณะสหายธรรม
 

๔๒. ทำไมจึงเป็นคนอาภัพ
          ถาม  คนอาภัพ เกิดจากสาเหตุอะไร ทุกวันนี้ผมมีปมด้อยมาก เพราะเป็นคนอาภัพ ไม่ค่อยมีเพื่อนฝูง

          ตอบ  คำว่า คนอาภัพ ในทางโลกกับทางธรรมนั้นไม่เหมือนกัน คนอาภัพทางโลกนั้นคือคนที่อยากได้อะไรหรืออยากเป็นอะไรแล้วก็ไม่สมหวัง อยากมีเพื่อนฝูงอย่างคุณผู้ถามเป็นต้น ก็ไม่ค่อยมี แล้วก็กล่าวว่าเป็นคนอาภัพ นี่เป็นความหมายของคนอาภัพทางโลก
          แต่คนอาภัพทางธรรมนั้น หมายถึงคนที่ไม่อาจบรรลุมรรคผลในชาตินี้ ท่านเรียกว่า อภัพพบุคคล ได้แก่คน ๔ ประเภทคือ
          ๑. คนที่เกิดด้วยอุเบกขาสันตีรณะอเหตุกกุศลวิบาก คือเกิดด้วยปฏิสนธิจิตที่เป็นผลของกุศลที่ไม่มีเหตุประกอบ เป็นกุศลที่มีกำลังอ่อน เกิดเป็นบ้าใบ้ ตาบอด หูหนวก ปัญญาอ่อนมาแต่กำเนิด คนพวกนี้เป็นคนอาภัพเพราะไม่อาจบรรลุมรรคผลได้ แม้จะได้หันเหชีวิตมาเจริญมรรคมีองค์ ๘ ก็ตาม
          ๒. คนที่ทำกรรมหนักชนิดที่เรียกว่าอนันตริยกรรม คือฆ่าแม่ ฆ่าพ่อ ฆ่าพระอรหันต์ ทำโลหิตพระพุทธเจ้าให้ห้อ ทำลายสงฆ์ให้แตกกัน คนที่ทำกรรม ๕ อย่างนี้ แม้อย่างใดอย่างหนึ่ง ท่านเรียกว่าอภัพพบุคคล เพราะแม้จะฉลาดอย่างไรก็ไม่อาจบรรลุมรรคผลได้ เพราะได้ทำกรรมหนักที่จะต้องนำไปสู่นรกทันทีเมื่อตายลง กรรมดีใดๆ ไม่อาจขวางกั้นกรรมหนักได้ กรรมหนักทั้ง ๕ นี้ต้องให้ผลก่อน
          ๓. เป็นมิจฉาทิฏฐิ คือเป็นคนมีความเห็นผิด ไม่เชื่อบุญเชื่อบาปเป็นต้น ใครจะชี้แจงแสดงเหตุผลอย่างไรก็ไม่ยอมเชื่อฟัง คนอย่างนี้เป็นคนอาภัพเช่นกัน เพราะไม่มีทางบรรลุมรรคผลในชาตินี้ได้
          ๔. คนที่แม้จะเกิดมาด้วยไตรเหตุ ไม่ทำกรรมหนัก เป็นสัมมาทิฏฐิ คือเชื่อบุญเชื่อบาปแล้ว แต่ว่าไม่มีศรัทธาประพฤติปฏิบัติตามอริยมรรคมีองค์ ๘ หรือเป็นผู้เกียจคร้านไม่มีฉันทะในการทำกุศล พวกนี้พระพุทธเจ้าก็ตรัสว่าเป็นคนอาภัพเช่นกัน เพราะไม่อาจบรรลุมรรคผลได้
          บุคคล ๔ พวกนี้แหละ คือคนอาภัพในความหมายของทางธรรม
          คณะสหายธรรมก็ยังเป็นคนอาภัพในทางธรรมเช่นท่านผู้ฟังอีกหลายท่าน รวมทั้งผู้ถามด้วย เพราะฉะนั้นอย่าได้น้อยใจไปเลย เพราะคนที่ยังเป็นคนอาภัพเช่นเดียวกับท่านผู้ถามยังมีอีกมากเหลือเกิน คงจะเกือบทั้งโลกกระมัง
          ก็ในเมื่อคนทั้งโลก มีคนที่บรรลุมรรคผลเป็นพระอริยะ พ้นจากการถูกเรียกว่าคนอาภัพน้อยมาก เพราะฉะนั้น อย่าได้น้อยใจไปเลย ผู้ถามมีพรรคพวกประเภทเดียวกันมากมาย
          คราวนี้ขอพูดถึงคนอาภัพทางโลกบ้าง ซึ่งก็ได้ให้ความหมายของคำว่าคนอาภัพในทางโลกไว้แล้วว่า ได้แก่คนที่ทำอะไรไม่ได้ดั่งใจ ไม่สมหวังไปเสียทุกอย่าง อยากมีเพื่อนก็ไม่มีเพื่อนเป็นต้น อันนี้จัดเป็นผลของอกุศลกรรมที่ทำไว้
          คนที่ทำบุญไว้หลายๆ อย่าง คือทานก็ทำ ศีลก็รักษา ซ้ำเวลาทำทานรักษาศีลก็ไม่ทำคนเดียว เที่ยวชักชวนพรรคพวกเพื่อนฝูงญาติพี่น้องให้ทำทานรักษาศีลร่วมกับตนด้วย การทำอย่างนี้แหละ เป็นเหตุให้เมื่อต้องการสิ่งใดก็จะได้สิ่งนั้นตามประสงค์ การชักชวนคนอื่นๆ ให้ทำดี เป็นเหตุให้ได้บริวารมาก
          ในอดีตคุณคงทำบุญไว้น้อย เวลาทำแล้วไม่ได้ชักชวนคนอื่นๆ ด้วย คุณจึงขาดเพื่อนฝูง ถึงอย่างนั้นคุณก็อย่าน้อยใจในความอาภัพของคุณเลย เพราะเราไม่อาจแก้ไขสิ่งที่เราทำไปแล้วได้ เพราะฉะนั้น คุณต้องทำเหตุในชาตินี้ของคุณให้ดีให้ถูก เพื่อคุณจะได้ไม่ต้องเป็นอย่างนี้ในชาติต่อไป
          ในปัจจุบันนี้ เราก็หาเพื่อนได้ไม่ยากเลย ถ้าเรามีเมตตาเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่แก่ผู้อื่นอยู่เสมอ ใครๆ ก็อยากคบหาผู้นั้น

          พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า ผู้ให้ย่อมผูกไมตรีไว้ได้
          นั่นคือถ้าเราเป็นผู้ให้คือเผื่อแผ่อยู่เสมอแล้ว เป็นธรรมดาใครๆ ก็ย่อมจะรักใคร่เรา คุณลองทำดูเถิด รับรองว่าคุณจะมีเพื่อนมากมายจนคบไม่หวาดไหว แต่ว่าการจะได้เพื่อนกินหรือเพื่อนแท้นั้นเป็นอีกเรื่องหนึ่ง เรื่องของเพื่อนแท้ เราดูกันประเดี๋ยวประด๋าวไม่ได้ ต้องคบกันนานๆ จึงจะตัดสินใจ

          คณะคิดว่าคนอาภัพทางโลกไม่สำคัญ เรามีมิตรดี มิตรแท้ ที่จะชักนำเราไปในทางดี ไม่ประพฤติชั่วเพียงคนสองคนก็พอแล้ว แต่คนอาภัพทางธรรมสิสำคัญมาก เพราะถ้าเราอาภัพทางธรรมอยู่ทุกๆ ชาติ เราก็ต้องพบกับความทุกข์ต่างๆ รวมทั้งการเป็นคนอาภัพเพื่อนฝูงด้วยอยู่ทุกๆ ชาติ ถ้าเราพ้นจากความอาภัพทางธรรมเสียแล้ว ความอาภัพทางโลกจะมีได้อย่างไร เพราะฉะนั้นควรสนใจเรื่องความอาภัพทางธรรมดีกว่า แล้วทำตนให้พ้นจากความเป็นคนอาภัพในทางธรรมเสีย แล้วคุณจะไม่พบกับความอาภัพทั้งทางโลกและทางธรรมอีกเลย
________________________________________

ที่มา อ้างอิงและแนะนำ :-
          พระไตรปิฎกเล่มที่ ๓๑ พระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๒๓
          ขุททกนิกาย ปฏิสัมภิทามรรค
          อภัพพสัตว์เป็นไฉน
https://84000.org/tipitaka/book/v.php?B=31&A=3121&Z=3129

          พระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๓ พระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๑๕
          อังคุตตรนิกาย สัตตก-อัฏฐก-นวกนิบาต
          อักขณสูตร
https://84000.org/tipitaka/book/v.php?B=23&A=4639&Z=4716

          พระไตรปิฎกเล่มที่ ๑๕ พระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๗
          สังยุตตนิกาย สคาถวรรค
          อาฬวกสูตร
https://84000.org/tipitaka/book/v.php?B=15&A=6878&Z=6943

          พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์
          พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ. ปยุตฺโต)
          คำว่า อาภัพ, อภัพบุคคล
https://84000.org/tipitaka/dic/v_seek.php?text=อาภัพ
https://84000.org/tipitaka/dic/v_seek.php?text=อภัพบุคคล

          คำว่า มิตรเทียม (ลักษณะมิตรเทียม)
https://84000.org/tipitaka/dic/v_seek.php?text=มิตรเทียม
          คำว่า มิตรแท้ (ลักษณะมิตรแท้)
https://84000.org/tipitaka/dic/v_seek.php?text=มิตรแท้

ดาวน์โหลดนานาปัญหาทั้ง ๕๑ ข้อ นานาปัญหา โดยคณะสหายธรรม บันทึก ๒๐ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๔๘ หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]