ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ค้นพระไตรปิฎก ชาดก หนังสือธรรมะ
พจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลธรรม สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ป.อ. ปยุตฺโต) พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ. ปยุตฺโต) พระธรรมปิฎก (ประยุทธ์ ปยุตฺโต)
            การค้นหาคำว่า “ เจตสิก ”             ผลการค้นหาพบ  9  ตำแหน่ง ดังนี้ :-

แสดงผลการค้น ลำดับที่  1 / 9
[16] ทุกข์ 2 (สภาพที่ทนได้ยาก, ความทุกข์, ความไม่สบาย - pain; suffering; discomfort)
       1. กายิกทุกข์ (ทุกข์ทางกาย - bodily pain; physical suffering)
       2. เจตสิกทุกข์ (ทุกข์ทางใจ, โทมนัส - mental pain; mental suffering)

       ดู [79] ทุกขตา 3 ด้วย.

D.II.306;
S.V.204
ที.ม. 10/295/342;
สํ.ม. 19/942/280; 944/280.

แสดงผลการค้น ลำดับที่  2 / 9
[50] สัจจะ 2 (ความจริง : truth)
       1. สมมติสัจจะ (ความจริงโดยสมมุติ, ความจริงที่ถือตามความกำหนดตกลงกันไว้ของชาวโลก เช่นว่า คน สัตว์ โต๊ะ หนังสือ เป็นต้น : conventional truth)
       2. ปรมัตถสัจจะ (ความจริงโดยปรมัตถ์, ความจริงตามความหมายขั้นสุดท้ายที่ตรงตามสภาวะและเท่าที่จะกล่าวถึงได้ เช่นว่า รูป นาม เวทนา จิต เจตสิก เป็นต้น : absolute truth)

AA.I.95;
KvuA.34
องฺ.อ. 1/100;
ปญฺจ.อ. 153,182,241; ฯลฯ

แสดงผลการค้น ลำดับที่  3 / 9
[52] สุข 2 (ความสุข — pleasure; happiness)
       1. กายิกสุข (สุขทางกาย — bodily happiness)
       2. เจตสิกสุข (สุขทางใจ — mental happiness)

A.I.80. องฺ.ทุก. 20/315/101.

แสดงผลการค้น ลำดับที่  4 / 9
[110] เวทนา 2 (กายเสวยอารมณ์ — feeling; sensation)
       1. กายิกเวทนา (เวทนาทางกาย — physical feeling)
       2. เจตสิกเวทนา (เวทนาทางใจ — mental feeling)

S.IV.231. สํ.สฬ. 18/431/287.

แสดงผลการค้น ลำดับที่  5 / 9
[157] ปรมัตถธรรม 4 (สภาวะที่มีอยู่โดยปรมัตถ์, สิ่งที่เป็นจริงโดยความหมายสูงสุด - ultimate realities; abstract realities; realities in the ultimate sense)
       1. จิต (สภาพที่คิด, ภาวะที่รู้แจ้งอารมณ์ - consciousness; state of consciousness)
       2. เจตสิก (สภาวะที่ประกอบกับจิต, คุณสมบัติและอาการของจิต - mental factors)
       3. รูป (สภาวะที่เป็นร่าง พร้อมทั้งคุณและอาการ - matter; corporeality)
       4. นิพพาน (สภาวะที่สิ้นกิเลสและทุกข์ทั้งปวง, สภาวะที่ปราศจากตัณหา)

       ดู รายละเอียดแต่ละอย่างใน [356] จิต 89; [355] เจตสิก 52; [38] รูป 28; [27] นิพพาน 2.

Comp.81. สงฺคห. 1

แสดงผลการค้น ลำดับที่  6 / 9
[212] อาหาร 4 (สภาพที่นำมาซึ่งผลโดยความเป็นปัจจัยค้ำจุนรูปธรรมและนามธรรมทั้งหลาย, เครื่องค้ำจุนชีวิต, สิ่งที่หล่อเลี้ยงร่างกายและจิตใจ ทำให้เกิดกำลังเจริญเติบโตและวิวัฒน์ได้ - nutriment)
       1. กวฬิงการาหาร (อาหารคือคำข้าว ได้แก่ อาหารสามัญที่กลืนกินดูดซึมเข้าไป หล่อเลี้ยงร่างกาย - material food; physical nutriment) เมื่อกำหนดรู้กวฬิงการาหารได้แล้ว ก็เป็นอันกำหนดรู้ราคะที่เกิดจากเบญจกามคุณได้ด้วย
       2. ผัสสาหาร (อาหารคือผัสสะ ได้แก่ การบรรจบแห่งอายตนะภายใน อายตนะภายนอก และวิญญาณ เป็นปัจจัยให้เกิดเวทนา พร้อมทั้งเจตสิกทั้งหลายที่จะเกิดตามมา - nutriment consisting of contact; contact as nutriment) เมื่อกำหนดรู้ผัสสาหารได้แล้ว ก็เป็นอันกำหนดรู้เวทนา 3 ได้ด้วย
       3. มโนสัญเจตนาหาร (อาหารคือมโนสัญเจตนา ได้แก่ ความจงใจ เป็นปัจจัยแห่งการทำ พูด คิด ซึ่งเรียกว่ากรรม เป็นตัวชักนำมาซึ่งภพ คือ ให้เกิดปฏิสนธิในภพทั้งหลาย - nutriment consisting of mental volition; mental choice as nutriment) เมื่อกำหนดรู้มโนสัญเจตนาหารได้แล้ว ก็เป็นอันกำหนดรู้ตัณหา 3 ได้ด้วย.
       4. วิญญาณาหาร (อาหารคือวิญญาณ ได้แก่ วิญญาณเป็นปัจจัยให้เกิดนามรูป - nutriment consisting of consciousness; consciousness as nutriment) เมื่อกำหนดรู้วิญญาณาหารได้แล้วก็เป็นอันกำหนดรู้นามรูปได้ด้วย.

D.III.228;
M.I.48;
S.II.101;
Vbh.401.
ที.ปา. 11/244/240;
ม.มู. 12/113/87;
สํ.นิ. 16/245/122;
อภิ.วิ. 35/1081/543.

แสดงผลการค้น ลำดับที่  7 / 9
ปัญจกะ - หมวด 5
Groups of Five
(including related groups)
[***] กัลยาณธรรม 5 ดู [239] เบญจธรรม.
[***] กามคุณ 5 ดู [6] กามคุณ 5.
[***] กำลัง 5 ของพระมหากษัตริย์ ดู [230] พละ 5 ของพระมหากษัตริย์

[216] ขันธ์ 5 หรือ เบญจขันธ์ (กองแห่งรูปธรรมและนามธรรม 5 หมวด ที่ประชุมกันเข้าเป็นหน่วยรวม ซึ่งบัญญัติเรียกว่า สัตว์ บุคคล ตัวตน เรา เขา เป็นต้น, ส่วนประกอบ 5 อย่างที่รวมเข้าเป็นชีวิต — the Five Groups of Existence; Five Aggregates)
       1. รูปขันธ์ (กองรูป, ส่วนที่เป็นรูป, ร่างกาย พฤติกรรม และคุณสมบัติต่างๆ ของส่วนที่เป็นร่างกาย, ส่วนประกอบฝ่ายรูปธรรมทั้งหมด, สิ่งที่เป็นร่างพร้อมทั้งคุณและอาการ — corporeality)
       2. เวทนาขันธ์ (กองเวทนา, ส่วนที่เป็นการเสวยอารมณ์, ความรู้สึกสุข ทุกข์ หรือเฉยๆ — feeling; sensation)
       3. สัญญาขันธ์ (กองสัญญา, ส่วนที่เป็นความกำหนดหมาย, ความกำหนดได้หมายรู้ในอารมณ์ 6 เช่นว่า ขาว เขียว ดำ แดง เป็นต้น — perception)
       4. สังขารขันธ์ (กองสังขาร, ส่วนที่เป็นความปรุงแต่ง, สภาพที่ปรุงแต่งจิตให้ดีหรือชั่วหรือเป็นกลางๆ, คุณสมบัติต่างๆ ของจิต มีเจตนาเป็นตัวนำ ที่ปรุงแต่งคุณภาพของจิต ให้เป็นกุศล อกุศล อัพยากฤต — mental formations; volitional activities)
       5. วิญญาณขันธ์ (กองวิญญาณ, ส่วนที่เป็นความรู้แจ้งอารมณ์, ความรู้อารมณ์ทางอายตนะทั้ง 6 มีการเห็น การได้ยิน เป็นต้น ได้แก่ วิญญาณ 6 — consciousness)

       ขันธ์ 5 นี้ ย่อลงมาเป็น 2 คือ นาม และ รูป; รูปขันธ์จัดเป็นรูป, 4 ขันธ์ นอกนั้นเป็นนาม. อีกอย่างหนึ่ง จัดเข้าในปรมัตถธรรม 4 : วิญญาณขันธ์เป็น จิต, เวทนาขันธ์ สัญญาขันธ์ และสังขารขันธ์ เป็น เจตสิก, รูปขันธ์ เป็น รูป, ส่วน นิพพาน เป็นขันธวินิมุต คือ พ้นจากขันธ์ 5

       เรื่องขันธ์ 5 พึงดูประกอบในหมวดธรรมอื่นๆ เช่น
       1. รูปขันธ์ ดู [38] รูป 2, 28; [39] มหาภูต 4; [40] อุปาทายรูป 24.
       2. เวทนาขันธ์ ดู [110] เวทนา 2; [111] เวทนา 3; [112] เวทนา 5; [113] เวทนา 6.
       3. สัญญาขันธ์ ดู [271] สัญญา 6.
       4. สังขารขันธ์ ดู [119] สังขาร 3; [120] สังขาร 3; [129] อภิสังขาร 3; [263] เจตนา 6.
       5. วิญญาณขันธ์ ดู [268] วิญญาณ 6.

       นอกนี้ ดู [356] จิตต์ 89; [355] เจตสิก 52

S.III.47;
Vbh.1.
สํ.ข. 17/95/58;
อภิ.วิ. 35/1/1.

[***] คติ 5 ดู [351] ภูมิ 4 หรือ 31.

แสดงผลการค้น ลำดับที่  8 / 9
[355] เจตสิก 52 (ธรรมที่ประกอบกับจิต, สภาวธรรมที่เกิดดับพร้อมกับจิต มีอารมณ์และวัตถุที่อาศัยเดียวกันกับจิต, อาการและคุณสมบัติต่างๆ ของจิต - mental factors; mental concomitants)
       ก. อัญญาสมานาเจตสิก 13 (เจตสิกที่มีเสมอกันแก่จิตพวกอื่น คือ ประกอบเข้าได้กับจิตทุกฝ่ายทั้งกุศลและอกุศล มิใช่เข้าได้แต่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งพวกเดียว - the Common-to-Each-Other; general mental factors)
           1) สัพพจิตตสาธารณเจตสิก 7 (เจตสิกที่เกิดทั่วไปกับจิตทุกดวง - universal mental factors; the Primary)
               1. ผัสสะ (ความกระทบอารมณ์ - contact; sense-impression)
               2. เวทนา (ความเสวยอารมณ์ - feeling)
               3. สัญญา (ความหมายรู้อารมณ์ - perception)
               4. เจตนา (ความจงใจต่ออารมณ์ - volition)
               5. เอกัคคตา (ความมีอารมณ์เป็นอันเดียว - one-pointedness; concentration)
               6. ชีวิตินทรีย์ (อินทรีย์คือชีวิต, สภาวะที่เป็นใหญ่ในการรักษานามธรรมทั้งปวง - vitality; life-faculty)
               7. มนสิการ (ความกระทำอารมณ์ไว้ในใจ, ใส่ใจ - attention)

           2) ปกิณณกเจตสิก 6 (เจตสิกที่เรี่ยรายแพร่กระจายทั่วไป คือ เกิดกับจิตได้ทั้งฝ่ายกุศล และอกุศล แต่ไม่แน่นอนเสมอไปทุกดวง - particular mental factors; the Secondary)
               8. วิตก (ความตรึกอารมณ์ - initial application; thought conception; applied thought)
               9. วิจาร (ความตรองหรือพิจารณาอารมณ์ - sustained application; discursive thinking; sustained thought)
               10. อธิโมกข์ (ความปลงใจหรือปักใจในอารมณ์ - determination; resolution)
               11. วิริยะ (ความเพียร - effort; energy)
               12. ปีติ (ความปลาบปลื้มในอารมณ์, อิ่มใจ - joy; interest)
               13. ฉันทะ (ความพอใจในอารมณ์ - conation; zeal)

       ข. อกุศลเจตสิก 14 (เจตสิกฝ่ายอกุศล - immoral or unwholesome mental factors; unprofitable mental factors)
           1) สัพพากุสลสาธารณเจตสิก 4 (เจตสิกที่เกิดทั่วไปกับอกุศลจิตทุกดวง - universal immorals; the Primary)
               14. โมหะ (ความหลง - delusion)
               15. อหิริกะ (ความไม่ละอายต่อบาป - shamelessness; lack of moral shame)
               16. อโนตตัปปะ (ความไม่สะดุ้งกลัวต่อบาป - fearlessness; lack of moral dread)
               17. อุทธัจจะ (ความฟุ้งซ่าน - restlessness; unrest)

           2) ปกิณณกอกุศลเจตสิก 10 (อกุศลเจตสิกที่เกิดเรี่ยรายแก่อกุศลจิต - particular immorals; the Secondary)
               18. โลภะ (ความอยากได้อารมณ์ - greed)
               19. ทิฏฐิ (ความเห็นผิด - wrong view)
               20. มานะ (ความถือตัว - conceit)
               21. โทสะ (ความคิดประทุษร้าย - hatred)
               22. อิสสา (ความริษยา - envy; jealousy)
               23. มัจฉริยะ (ความตระหนี่ - stinginess; meanness)
               24. กุกกุจจะ (ความเดือดร้อนใจ - worry; remorse)
               25. ถีนะ (ความหดหู่ - sloth)
               26. มิทธะ (ความง่วงเหงา - torpor)
               27. วิจิกิจฉา (ความคลางแคลงสงสัย - doubt; uncertainty; scepsis)

       ค. โสภณเจตสิก 25 (เจตสิกฝ่ายดีงาม - beautiful mental factors; lofty mental factors)
           1) โสภณสาธารณเจตสิก 19 (เจตสิกที่เกิดทั่วไปกับจิตดีงามทุกดวง - universal beautiful mental factors; the Primary)
               28. สัทธา (ความเชื่อ - confidence; faith)
               29. สติ (ความระลึกได้, ความสำนึกพร้อมอยู่ - mindfulness)
               30. หิริ (ความละอายต่อบาป - moral shame; conscience)
               31. โอตตัปปะ (ความสะดุ้งกลัวต่อบาป - moral dread)
               32. อโลภะ (ความไม่อยากได้อารมณ์ - non-greed)
               33. อโทสะ (ความไม่คิดประทุษร้าย - non-hatred)
               34. ตัตรมัชฌัตตตา (ความเป็นกลางในอารมณ์นั้นๆ - equanimity; specific neutrality)
               35. กายปัสสัทธิ (ความสงบแห่งกองเจตสิก - tranquillity of mental body)
               36. จิตตปัสสัทธิ (ความสงบแห่งจิต - tranquillity of mind)
               37. กายลหุตา (ความเบาแห่งกองเจตสิก - lightness of mental body; agility of ~)
               38. จิตตลหุตา (ความเบาแห่งจิต - lightness of mind; agility of ~)
               39. กายมุทุตา (ความอ่อนหรือนุ่มนวลแห่งกองเจตสิก - pliancy of mental body; elasticity of ~)
               40. จิตตมุทุตา (ความอ่อนหรือนุ่มนวลแห่งจิต - pliancy of mind; elasticity of ~)
               41. กายกัมมัญญตา (ความควรแก่การงานแห่งกองเจตสิก - adaptability of mind; wieldiness of ~)
               42. จิตตกัมมัญญตา (ความควรแก่การงานแห่งจิต - adaptability of mind; wieldiness of ~)
               43. กายปาคุญญตา (ความคล่องแคล่วแห่งกองเจตสิก - proficiency of mental body)
               44. จิตตปาคุญญตา (ความคล่องแคล่วแห่งจิต - proficiency of mind)
               45. กายุชุกตา (ความซื่อตรงแห่งกองเจตสิก - rectitude of mental body; uprightness of ~)
               46. จิตตุชุกตา (ความซื่อตรงแห่งจิต - rectitude of mind; uprightness of ~)

           2) วิรตีเจตสิก 3 (เจตสิกที่เป็นตัวความงดเว้น - abstinences)
               47. สัมมาวาจา (เจรจาชอบ - right speech)
               48. สัมมากัมมันตะ (กระทำชอบ - right action)
               49. สัมมาอาชีวะ (เลี้ยงชีพชอบ - right livelihood)

           3) อัปปมัญญาเจตสิก 2 (เจตสิกคืออัปปมัญญา - boundless states)
               50. กรุณา (ความสงสารสัตว์ผู้ถึงทุกข์ - compassion)
               51. มุทิตา (ความยินดีต่อสัตว์ผู้ได้สุข - sympathetic joy)

           4) ปัญญินทรีย์เจตสิก 1 (เจตสิกคือปัญญินทรีย์ - faculty of wisdom)
               52. ปัญญินทรีย์ หรือ อโมหะ (ความรู้เข้าใจ ไม่หลง - undeludedness; wisdom)

Comp. 94 สงฺคห. 7.

แสดงผลการค้น ลำดับที่  9 / 9
[359] กิเลส 1500 (สภาพที่ทำให้จิตเศร้าหมอง - defilements)
       กิเลส 1500 ที่จัดเป็นชุดจำนวนอย่างนี้ ไม่มีในพระบาลี แม้จะมีกล่าวถึงในอรรกกถาบางแห่งก็แสดงเพียงตัวอย่าง ไม่ครบถ้วน ระบุไว้อย่างมากที่สุดเพียง 336 อย่าง (ดู อุ.อ.172,424; อิติ.อ.166) เช่น โลภะ โทสะ โมหะ วิปริตมนสิการ อหิริกะ อโนตตัปปะ ถีนะ มิทธะ โกธะ อุปนาหะ ฯลฯ อกุศลกรรมบถ 10 ... ตัณหา 108
       ในคัมภีร์รุ่นหลังต่อมา ได้มีการพยายามนับจำนวนกิเลสพันห้าให้เป็นตัวเลขที่ชัดเจน ดังปรากฏในธัมมสังคณีอนุฏีกา (ฉบับ มจร. สงฺคณี.อนุฏีกา 23-24) ซึ่งได้แสดงระบบวิธีนับไว้หลายอย่าง สรุปได้เป็น 2 แบบ คือ แบบลงตัวจำนวน 1500 ถ้วน และแบบนับคร่าวๆ ขาดเกินเล็กน้อย นับแต่จำนวนเต็ม

       แบบที่ 1 จำนวนลงตัว 1500 ถ้วน คือ
           อารมณ์ 150 x กิเลส 10 = กิเลส 1,500
           กิเลส 10 ดู [316] กิเลส 10
           อารมณ์ 150 หมายถึง อารมณ์ซึ่งเป็นที่ตั้งของกิเลส แต่มีวิธีนับ 2 นัย คือ
           ก) อารมณ์ 150 = ธรรม 75 [อรูปธรรม 53 (คือจิต 1 + เจตสิก 52) + รูปรูป 18* + อากาสธาตุ 1 + ลักขณรูป 3**] x 2 (ภายใน + ภายนอก)
           ข) อารมณ์ 150 = ธรรม 75 [อรูปธรรม 57 (คือจิต 1 + เวทนาเจตสิก 5 + เจตสิกอื่นๆ 51) + รูปรูป 18] x 2 (ภายใน + ภายนอก)

       แบบที่ 2 จำนวนไม่ลงตัว ขาดหรือเกินเล็กน้อย นับจำนวนเต็มปัดเศษ
           แบบที่ 2 นี้ ท่านแจงวิธีนับไว้หลายอย่าง เป็น 1,584 บ้าง 1,512 บ้าง 1,510 บ้าง 1,416 บ้าง แต่จะไม่นำรายละเอียดมาแสดงในที่นี้ เพราะจะทำให้ฟั่นเฝือ

       ในภาษาไทย มีคำพูดเป็นสำนวนเก่า ที่นิยมกล่าวอ้างกันสืบๆ มาแบบติดปากว่า “กิเลสพันห้า ตัณหาร้อยแปด” พึงทราบว่า เป็นถ้อยคำที่อิงหลักธรรม 2 หมวด คือ [359] กิเลส 1500 และ [357] ตัณหา 108 ที่แสดงแล้วนี้
----------------------------------------------
* รูปทั้งหมดมี 28 (ดู [40]) ในจำนวนนี้ 18 อย่าง เรียกว่า รูปรูป เพราะเป็นรูปที่เป็นรูปธรรมจริงๆ หรือแปลง่ายๆ ว่า “รูปแท้” ได้แก่ มหาภูตรูป 4, ปสาทรูป 5, วิสัยรูป 4, ภาวรูป 2, หทัยรูป 1, ชีวิตรูป 1 และอาหารรูป 1 ส่วนรูปที่เหลืออีก 10 อย่าง (คือ ปริจเฉทรูป 1, วิญญัติรูป 2, วิการรูป 3, ลักขณรูป 4) เป็นเพียงอาการลักษณะหรือความเป็นไปของรูปเหล่านั้น จึงไม่เป็นรูปรูป
** ลักขณรูป นับเต็มมี 4 (ดู [40] ฏ.) แต่ 2 อย่างแรก นับรวมเป็น 1 ได้ เรียกว่า ชาติรูป กล่าวคือ อุปจยะ หมายถึง การเกิดที่เป็นการก่อตัวขึ้นทีแรก และ สันตติ หมายถึง การเกิดสืบเนื่องต่อๆ ไป โดยนัยนี้ จึงนับลักขณรูปเป็น 3

พจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลธรรม พิมพ์ครั้งที่ ๑๒ พ.ศ. ๒๕๔๖
http://84000.org/tipitaka/dic/d_seek.php?text=เจตสิก&detail=on
http://84000.org/tipitaka/dic/d_seek.php?text=%E0%A8%B5%CA%D4%A1&detail=on


บันทึก  ๙ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๔๗,  ๔ มกราคม พ.ศ. ๒๕๔๘ การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจาก พจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลธรรม พิมพ์ครั้งที่ ๗ พ.ศ. ๒๕๓๕, พิมพ์ครั้งที่ ๑๒ พ.ศ. ๒๕๔๖ หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]