ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ค้นพระไตรปิฎก ชาดก หนังสือธรรมะ
พจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลธรรม สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ป.อ. ปยุตฺโต) พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ. ปยุตฺโต) พระธรรมปิฎก (ประยุทธ์ ปยุตฺโต)
            การค้นหาคำว่า “ พุทธคุณ ”             ผลการค้นหาพบ  3  ตำแหน่ง ดังนี้ :-

แสดงผลการค้น ลำดับที่  1 / 3
[303] พุทธคุณ 9 (คุณของพระพุทธเจ้า — virtues or attributes of the Buddha)
       อิติปิ โส ภควา (แม้เพราะอย่างนี้ๆ พระผู้มีพระภาคเจ้านั้น — thus indeed is he, the Blessed One,)
       1. อรหํ (เป็นพระอรหันต์ คือ เป็นผู้บริสุทธิ์ ไกลจากกิเลส ทำลายกำแห่งสังสารจักรได้แล้ว เป็นผู้ควรแนะนำสั่งสอนผู้อื่น ควรได้รับความเคารพบูชา เป็นต้น — holy; worthy; accomplished)
       2. สมฺมาสมฺพุทฺโธ (เป็นผู้ตรัสรู้ชอบเอง — fully self-enlightened)
       3. วิชฺชาจรณสมฺปนฺโน (เป็นผู้ถึงพร้อมด้วยวิชา คือความรู้ และจรณะ คือความประพฤติ — perfect in knowledge and conduct)
       4. สุคโต (เป็นผู้เสด็จไปดีแล้ว คือ ทรงดำเนินพระพุทธจริยาให้เป็นไปโดยสำเร็จผลด้วยดี พระองค์เองก็ได้ตรัสรู้สำเร็จเป็นพระพุทธเจ้า ทรงบำเพ็ญพุทธกิจก็สำเร็จประโยชน์ยิ่งใหญ่แก่ชนทั้งหลายในที่ที่เสด็จไป และแม้ปรินิพพานแล้ว ก็ได้ประดิษฐานพระศาสนาไว้เป็นประโยชน์แก่มหาชนสืบมา — well-gone; well-farer; sublime)
       5. โลกวิทู (เป็นผู้รู้แจ้งโลก คือ ทรงรู้แจ้งสภาวะอันเป็นคติธรรมดาแห่งโลกคือสังขารทั้งหลาย ทรงหยั่งทราบอัธยาศัยสันดานแห่งสัตวโลกทั้งปวง ผู้เป็นไปตามอำนาจแห่งคติธรรมดาโดยถ่องแท้ เป็นเหตุให้ทรงดำเนินพระองค์เป็นอิสระ พ้นจากอำนาจครอบงำแห่งคติธรรมดานั้น และทรงเป็นที่พึ่งแห่งสัตว์ทั้งหลายผู้ยังจมอยู่ในกระแสโลกได้ — knower of the worlds)
       6. อนุตฺตโร ปุริสทมฺมสารถิ (เป็นสารถีฝึกบุรุษที่ฝึกได้ ไม่มีใครยิ่งไปกว่า คือ ทรงเป็นผู้ฝึกคนได้ดีเยี่ยม ไม่มีผู้ใดเทียมเท่า — the incomparable leader of men to be tamed)
       7. สตฺถา เทวมนุสฺสานํ (เป็นศาสดาของเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย — the teacher of gods and men)
       8. พุทฺโธ (เป็นผู้ตื่นและเบิกบานแล้ว คือ ทรงตื่นเองจากความเชื่อถือและข้อปฏิบัติทั้งหลายที่ถือกันมาผิดๆ ด้วย ทรงปลุกผู้อื่นให้พ้นจากความหลงงมงายด้วย อนึ่ง เพราะไม่ติด ไม่หลง ไม่ห่วงกังวลในสิ่งใดๆ มีการคำนึงประโยชน์ส่วนตน เป็นต้น จึงมีพระทัยเบิกบาน บำเพ็ญพุทธกิจได้ถูกต้องบริบูรณ์ โดยถือธรรมเป็นประมาณ การที่ทรงพระคุณสมบูรณ์เช่นนี้ และทรงบำเพ็ญพุทธกิจได้เรียบร้อยบริบูรณ์เช่นนี้ ย่อมอาศัยเหตุคือความเป็นผู้ตื่นและย่อมให้เกิดผลคือทำให้ทรงเบิกบานด้วย — awakened)
       9. ภควา (ทรงเป็นผู้มีโชค คือ จะทรงทำการใด ก็ลุล่วงปลอดภัยทุกประการ หรือ เป็นผู้จำแนกแจกธรรม — blessed; analyst)

       พุทธคุณ 9 นี้ เรียกอีกอย่างว่า นวารหาทิคุณ (คุณของพระพุทธเจ้า 9 ประการ มีอรหํ เป็นต้น) บางทีเลือนมาเป็น นวรหคุณ หรือ นวารหคุณ แปลว่า คุณของพระพุทธเจ้าผู้เป็นพระอรหันต์ 9 ประการ

M.I.37;
A.III.285.
ม.มู. 12/95/67;
องฺ.ฉกฺก. 22/281/317.

แสดงผลการค้น ลำดับที่  2 / 3
[304] พุทธคุณ 2 (virtues, qualities or attributes of the Buddha)
       1. อัตตหิตสมบัติ (ความถึงแห่งประโยชน์ตน, ทรงบำเพ็ญประโยชน์ส่วนพระองค์เอง เสร็จสิ้นสมบูรณ์แล้ว — to have achieved one’s own good; accomplishment of one’s own welfare) พระคุณข้อนี้มุ่งเอาพระปัญญาเป็นหลัก เพราะเป็นเครื่องให้สำเร็จพุทธภาวะ คือ ความเป็นพระพุทธเจ้า และความเป็นอัตตนาถะ คือ พึ่งตนเองได้
       2. ปรหิตปฏิบัติ (การปฏิบัติเพื่อประโยชน์แก่ผู้อื่น, ทรงบำเพ็ญพุทธจริยาเพื่อประโยชน์แก่ผู้อื่น — practice for the good or welfare of others) พระคุณข้อนี้มุ่งเอาพระกรุณาเป็นหลัก เพราะเป็นเครื่องให้สำเร็จพุทธกิจ คือ หน้าที่ของพระพุทธเจ้า และความเป็นโลกนาถ คือ เป็นที่พึ่งของชาวโลกได้

       พุทธคุณ 9 ในข้อก่อน [303] ย่อลงแล้วเป็น 2 อย่างดังแสดงมานี้ คือ ข้อ 1-2-3-5 เป็นส่วนอัตตหิตสมบัติ ข้อ 6-7 เป็นส่วนของปรหิตปฏิบัติ ข้อ 4-8-9 เป็นทั้งอัตตหิตสมบัติ และปรหิตปฏิบัติ

DAT.I.8
(ฉบับไทยยังไม่พิมพ์)
วิสุทธิ.ฎีกา. 1/258/381; 246/338
(ฉบับโรมันยังไม่พิมพ์)

แสดงผลการค้น ลำดับที่  3 / 3
[305] พุทธคุณ 3 (virtues, qualities or attributes of the Buddha)
       1. ปัญญาคุณ (พระคุณคือพระปัญญา — wisdom)
       2. วิสุทธิคุณ (พระคุณคือความบริสุทธิ์ — purity)
       3. กรุณาคุณ (พระคุณคือพระมหากรุณา — compassion)

       ในพระคุณ 3 นี้ ข้อที่เป็นหลักและกล่าวถึงทั่วไปในคัมภีร์ต่างๆ มี 2 คือ ปัญญา และกรุณา ส่วนวิสุทธิ เป็นพระคุณเนื่องอยู่ในพระปัญญาอยู่แล้ว เพราะเป็นผลเกิดเองจากการตรัสรู้ คัมภีร์ทั้งหลายจึงไม่แยกไว้เป็นข้อหนึ่งต่างหาก

(ฉบับโรมันยังไม่พิมพ์) นัย. วิสุทธิ. ฎีกา 1/1.


พจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลธรรม พิมพ์ครั้งที่ ๑๒ พ.ศ. ๒๕๔๖
http://84000.org/tipitaka/dic/d_seek.php?text=พุทธคุณ
http://84000.org/tipitaka/dic/d_seek.php?text=%BE%D8%B7%B8%A4%D8%B3


บันทึก  ๙ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๔๗,  ๔ มกราคม พ.ศ. ๒๕๔๘ การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจาก พจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลธรรม พิมพ์ครั้งที่ ๗ พ.ศ. ๒๕๓๕, พิมพ์ครั้งที่ ๑๒ พ.ศ. ๒๕๔๖ หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]