ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ค้นพระไตรปิฎก ชาดก หนังสือธรรมะ
พจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลธรรม สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ป.อ. ปยุตฺโต) พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ. ปยุตฺโต) พระธรรมปิฎก (ประยุทธ์ ปยุตฺโต)
            การค้นหาคำว่า “ ภวตัณหา ”             ผลการค้นหาพบ  4  ตำแหน่ง ดังนี้ :-

แสดงผลการค้น ลำดับที่  1 / 4
[74] ตัณหา 3 (ความทะยานอยาก — craving)
       1. กามตัณหา (ความทะยานอยากในกาม, ความอยากได้กามคุณ คือสิ่งสนองความต้องการทางประสาททั้งห้า — craving for sensual pleasures; sensual craving)
       2. ภวตัณหา (ความทะยานอยากในภพ, ความอยากในภาวะของตัวตนที่จะได้จะเป็นอย่างใดอย่างหนึ่ง อยากเป็น อยากคงอยู่ตลอดไป, ความใคร่อยากที่ประกอบด้วยภวทิฏฐิหรือสัสสตทิฏฐิ — craving for existence)
       3. วิภวตัณหา (ความทะยานอยากในวิภพ, ความอยากในความพรากพ้นไปแห่งตัวตนจากความเป็นอย่างใดอย่างหนึ่งอันไม่ปรารถนา อยากทำลาย อยากดับสูญ, ความใคร่อยากที่ประกอบด้วยวิภวทิฏฐิหรืออุจเฉททิฏฐิ — craving for non-existence; craving for self-annihilation)

A.III.445;
Vbh.365
องฺ.ฉกฺก. 22/377/494;
อภิ.วิ. 35/933/494

แสดงผลการค้น ลำดับที่  2 / 4
[204] อริยสัจจ์ 4 (ความจริงอันประเสริฐ, ความจริงของพระอริยะ, ความจริงที่ทำให้ผู้เข้าถึงกลายเป็นอริยะ - The Four Noble Truths)
       1. ทุกข์ (ความทุกข์, สภาพที่ทนได้ยาก, สภาวะที่บีบคั้น ขัดแย้ง บกพร่อง ขาดแก่นสารและความเที่ยงแท้ ไม่ให้ความพึงพอใจแท้จริง, ได้แก่ ชาติ ชรา มรณะ การประจวบกับสิ่งอันไม่เป็นที่รัก การพลัดพรากจากสิ่งที่รัก ความปรารถนาไม่สมหวัง โดยย่อว่า อุปาทานขันธ์ 5 เป็นทุกข์ - suffering; unsatisfactoriness)
       2. ทุกขสมุทัย (เหตุเกิดแห่งทุกข์, สาเหตุให้ทุกข์เกิด ได้แก่ ตัณหา 3 คือ กามตัณหา ภวตัณหา และวิภวตัณหา - the cause of suffering; origin of suffering)
       3. ทุกขนิโรธ (ความดับทุกข์ ได้แก่ ภาวะที่ตัณหาดับสิ้นไป, ภาวะที่เข้าถึงเมื่อกำจัดอวิชชา สำรอกตัณหาสิ้นแล้ว ไม่ถูกต้อง ไม่ติดข้อง หลุดพ้น สงบ ปลอดโปร่ง เป็นอิสระ คือนิพพาน - the cessation of suffering; extinction of suffering)
       4. ทุกขนิโรธคามีนิปฏิปทา (ปฏิปทาที่นำไปสู่ความดับแห่งทุกข์, ข้อปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์ ได้แก่ อริยอัฏฐังคิกมรรค หรือเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า มัชฌิมาปฏิปทา แปลว่า ทางสายกลาง มรรคมีองค์ 8 นี้ สรุปลงในไตรสิกขา คือ ศีล สมาธิ ปัญญา - the path leading to the cessation of suffering)

       อริยสัจจ์ 4 นี้ เรียกกันสั้นๆ ว่า ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค การแสดงอริยสัจ 4 นี้ มีชื่อเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า สามุกกังสิกา ธรรมเทศนา (เช่น องฺ.อฏฺฐก. 23/102/190) แปลตามอรรถกถาว่า พระธรรมเทศนาที่พระพุทธเจ้าทรงหยิบยกขึ้นถือเอาไว้ด้วยพระองค์เอง คือ ทรงเห็นด้วยพระสยัมภูญาณ (= ตรัสรู้เอง) ไม่สาธารณะแก่ผู้อื่น (แต่ตามที่อธิบายกันมา มักแปลว่า พระธรรมเทศนาที่พระพุทธเจ้าทรงยกขึ้นแสดงเอง โดยไม่ต้องปรารภคำถามหรือการทูลขอร้องของผู้ฟัง อย่างการแสดงธรรมเรื่องอื่นๆ; ความจริง จะแปลว่า พระธรรมเทศนาขั้นสุดยอดก็ได้ ซึ่งสมกับเป็นเรื่องที่ทรงแสดงท้ายสุดต่อจาก อนุปุพพิกถา 5 คำแปลอย่างหลังนี้ พึงเทียบ องฺ.ทสก. 24/95/208)

       ดู [216] ขันธ์ 5; [74] ตัณหา 3; [293] มรรคมีองค์ 8 [124] สิกขา 3.

Vin.I.9;
S.V.421;
Vbh.99
วินย. 4/14/18;
สํ.ม. 19/1665/528;
อภิ.วิ. 35/145/127

แสดงผลการค้น ลำดับที่  3 / 4
[206] ธรรม 4 (ธรรมทั้งปวงประดามี จัดประเภทตามลักษณะความสัมพันธ์ที่มนุษย์พึงปฏิบัติหรือเกี่ยวข้องเป็น 4 จำพวก อันสอดคล้องกับหลักอริยสัจจ์ 4 และกิจในอริยสัจจ์ 4 - all dhammas [states, things] classified into 4 categories according as they are to be rightly treated)
       1. ปริญโญยธรรม - ธรรมที่เข้ากันกิจในอริยสัจจ์ที่ 1 คือ ปริญญา (ธรรมอันพึงกำหนดรู้, สิ่งที่ควรรอบรู้ หรือรู้เท่าทันตามสภาวะของมัน ได้แก่ อุปาทานขันธ์ 5 กล่าวคือ ทุกข์และสิ่งทั้งหลายที่อยู่ในจำพวกที่เป็นปัญหาหรือเป็นที่ตั้งแห่งปัญหา - things to be fully understood, i.e. the five aggregates of existence subject to clinging)
       2. ปหาตัพพธรรม - ธรรมที่เข้ากับกิจในอริยสัจจ์ข้อที่ 2 คือ ปหานะ (ธรรมอันพึงละ, สิ่งที่จะต้องแก้ไขกำจัดทำให้หมดไป ว่าโดยต้นตอรากเหง้า ได้แก่ อวิชชา และภวตัณหา กล่าวคือธรรมจำพวกสมุทัยที่ก่อให้เกิดปัญหา เป็นสาเหตุของทุกข์ หรือพูดอีกอย่างหนึ่งว่า อกุศลทั้งปวง - things to be abandoned, i.e. ignorance and craving for being)
       3. สัจฉิกาตัพพธรรม - ธรรมที่เข้ากับกิจในอริยสัจจ์ข้อที่ 3 คือ สัจฉิกิริยา (ธรรมอันพึงประจักษ์แจ้ง, สิ่งที่ควรได้ควรถึงหรือควรบรรลุ ได้แก่ วิชชา และวิมุตติ เมื่อกล่าวโดยรวบยอด คือ นิโรธ หรือนิพพาน หมายถึงจำพวกที่เป็นจุดหมาย หรือเป็นที่ดับหายสิ้นไปแห่งทุกข์หรือปัญหา - things to be realized, i.e. true knowledge and freedom or liberation)
       4. ภาเวตัพพธรรม - ธรรมที่เข้ากับกิจในอริยสัจจ์ข้อที่ 4 คือ ภาวนา (ธรรมอันพึงเจริญหรือพึงปฏิบัติบำเพ็ญ, สิ่งที่จะต้องปฏิบัติหรือลงมือทำ ได้แก่ ธรรมที่เป็นมรรค โดยเฉพาะสมถะ และวิปัสสนา กล่าวคือ ประดาธรรมที่เป็นข้อปฏิบัติ หรือเป็นวิธีการที่จะทำหรือดำเนินการเพื่อให้บรรลุจุดหมายแห่งการสลายทุกข์หรือดับปัญหา - things to be developed, i.e. tranquillity and insight, or, in other words the Noble Eightfold Path)

M.III.289;
S.V.52;
A.II.246.
ม.อุ. 14/829/524;
สํ.ม. 19/291-295/78;
องฺ.จตุกฺก. 21/254/333.

แสดงผลการค้น ลำดับที่  4 / 4
[357] ตัณหา 108 (ความทะยานอยาก, ความร่านรน - craving)
       ตัณหา 108 ในพระบาลีเดิมเรียก ตัณหาวิจริต (ความเป็นไป หรือการออกเที่ยวแสดงตัวของตัณหา) [องฺ.จตุกฺก. 21/199/290; อภิ.วิ. 35/1033/530 = A.II.212; Vbh.393] จัดดังนี้
       ตัณหาวิจริต 18 อันอาศัยเบญจขันธ์ภายใน = เมื่อมีความถือว่า “เรามี” จึงมีความถือว่า : เราเป็นอย่างนี้ เราเป็นอย่างนั้น เราเป็นอย่างอื่น เราไม่เป็นอยู่ เราพีงเป็นอย่างนี้ เราพึงเป็นอย่างนั้น เราพึงเป็นอย่างอื่น ฯลฯ
       ตัณหาวิจริต 18 อันอาศัยเบญจขันธ์ภายนอก = เมื่อมีความถือว่า “เรามีด้วยเบญจขันธ์นี้” จึงมีความถือว่า : เราเป็นอย่างนี้ด้วยเบญจขันธ์นี้ เราเป็นอย่างนั้น ด้วยเบญจขันธ์นี้ เราเป็นอย่างอื่นด้วยเบญจขันธ์นี้ ฯลฯ
       ตัณหาวิจริต 18 สองชุดนี้ รวมเป็น 36 x กาล 3 (ปัจจุบัน อดีต อนาคต) = 108

       อีกอย่างหนึ่ง ตัณหา 3 (กามตัณหา ภวตัณหา วิภวตัณหา)
       x ตัณหา 6 (ตัณหาในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะ ในธรรมารมณ์) = 18
       x ภายในและภายนอก = 36
       x กาล 3 = 108 (วิสุทธิ. 3/180 = Vism.568)

       ดู [74] ตัณหา 3.


พจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลธรรม พิมพ์ครั้งที่ ๑๒ พ.ศ. ๒๕๔๖
http://84000.org/tipitaka/dic/d_seek.php?text=ภวตัณหา&detail=on
http://84000.org/tipitaka/dic/d_seek.php?text=%C0%C7%B5%D1%B3%CB%D2&detail=on


บันทึก  ๙ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๔๗,  ๔ มกราคม พ.ศ. ๒๕๔๘ การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจาก พจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลธรรม พิมพ์ครั้งที่ ๗ พ.ศ. ๒๕๓๕, พิมพ์ครั้งที่ ๑๒ พ.ศ. ๒๕๔๖ หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]