ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ค้นพระไตรปิฎก ชาดก หนังสือธรรมะ
พจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลธรรม พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ. ปยุตฺโต) พระธรรมปิฎก (ประยุทธ์ ปยุตฺโต)
            การค้นหาคำว่า “ มหาภูต ”             ผลการค้นหาพบ  10  ตำแหน่ง ดังนี้ :-

แสดงผลการค้น ลำดับที่  1 / 10
[38] รูป 2, 28 (สภาวะที่แปรปรวนแตกสลายเพราะปัจจัยต่างๆ อันขัดแย้ง, ร่างกายและส่วนประกอบฝ่ายวัตถุพร้อมทั้งพฤติกรรมและคุณสมบัติของมัน, ส่วนที่เป็นร่างกับทั้งคุณและอาการ : corporeality; materiality; matter)
       1. มหาภูต หรือ ภูตรูป 4 (สภาวะอันปรากฏได้เป็นใหญ่ๆ โตๆ หรือเป็นต่างๆ ได้มากมาย, รูปที่มีอยู่โดยสภาวะ, รูปต้นเดิม ได้แก่ ธาตุ 4 : primary elements)
       2. อุปาทารูป หรือ อุปาทายรูป 24 (รูปอาศัย, รูปที่เป็นไปโดยอาศัยมหาภูต, คุณและอาการแห่งมหาภูต : derivative materiality)

M.II.262;
Ps.I.183
ม.อุ. 14/83/75;
ขุ.ปฏิ. 31/403/275.

       รูป 28 ก็คือรูป 2 หมวดข้างต้นนี้เอง แต่นับข้อย่อย กล่าวคือ
       1. มหาภูต หรือ ภูตรูป 4 (รูปใหญ่, รูปเดิม : primary elements; great essentials) ดู [39]
       2. อุปาทายรูป 24 (รูปอาศัย, รูปสืบเนื่อง : derived material qualities) ดู [40]

Comp.157. สงฺคห. 33.

แสดงผลการค้น ลำดับที่  2 / 10
[39] มหาภูต หรือ ภูตรูป 4 (the Four Primary Elements; primary matter)
       1. ปฐวีธาตุ (สภาวะที่แผ่ไปหรือกินเนื้อที่, สภาพอันเป็นหลักที่ตั้งที่อาศัยแห่งสหชาตรูป เรียกสามัญว่า ธาตุแข้นแข็ง หรือ ธาตุดิน : element of extension; solid element; earth)
       2. อาโปธาตุ (สภาวะที่เอิบอาบหรือดูดซึม หรือซ่านไป ขยายขนาด ผนึก พูนเข้าด้วยกัน เรียกสามัญว่า ธาตุเหลว หรือ ธาตุน้ำ : element of cohesion; fluid element; water)
       3. เตโชธาตุ (สภาวะที่ทำให้ร้อน เรียกสามัญว่า ธาตุไฟ : element of heat or radiation; heating element; fire)
       4. วาโยธาตุ (สภาวะที่ทำให้สั่นไหวเคลื่อนที่ และค้ำจุน เรียกสามัญว่า ธาตุลม : element of vibration or motion; air element; wind)

       สี่อย่างนี้ เรียกอีกอย่างหนึ่งว่า ธาตุ 4

D.I.214;
Vism. 443;
Comp. 154.
ที.สี. 9/343/277;
วิสุทธิ. 3/11;
สงฺคห. 33

แสดงผลการค้น ลำดับที่  3 / 10
[40] อุปาทารูป หรือ อุปาทายรูป 24 (derivative materiality)
       ก. ปสาทรูป 5 (รูปที่เป็นประสาทสำหรับรับอารมณ์: sensitive material qualities)
           1. จักขุ (ตา - the eye)
           2. โสต (หู - the ear)
           3. ฆาน (จมูก - the nose)
           4. ชิวหา (ลิ้น - the tongue)
           5. กาย (กาย - the body)

       ข. โคจรรูป หรือ วิสัยรูป 5 (รูปที่เป็นอารมณ์หรือแดนรับรู้ของอินทรีย์ : material qualities of sense-fields)
           6. รูปะ (รูป - form)
           7. สัททะ (เสียง - sound)
           8. คันธะ (กลิ่น - smell)
           9. รสะ (รส - taste)
           0. โผฏฐัพพะ (สัมผัสทางกาย - tangible objects) ข้อนี้ไม่นับเพราะเป็นอันเดียวกับมหาภูต 3 คือ ปฐวี เตโช และ วาโย ที่กล่าวแล้วในมหาภูต

       ค. ภาวรูป 2 (รูปที่เป็นภาวะแห่งเพศ - material qualities of sex)
           10. อิตถัตตะ, อิตถินทรีย์ (ความเป็นหญิง - femininity)
           11. ปุริสัตตะ, ปุริสินทรีย์ (ความเป็นชาย - masculinity)

       ง. หทยรูป 1 (รูปคือหทัย - physical basis of mind)
           12. หทัยวัตถุ* (ที่ตั้งแห่งใจ, หัวใจ - heart-base)
*ข้อนี้ ในพระไตรปิฎก รวมทั้งอภิธรรมปิฎก ไม่มี เว้นแต่ปัฏฐานใช้คำว่า “วัตถุ” ไม่มีหทัย

       จ. ชีวิตรูป 1 (รูปที่เป็นชีวิต - material qualities of life)
           13. ชีวิตินทรีย์ (อินทรีย์คือชีวิต - life-faculty; vitality; vital force)

       ฉ. อาหารรูป 1 (รูปคืออาหาร - material quality of nutrition)
           14. กวฬิงการาหาร (อาหารคือคำข้าว, อาหารที่กิน : edible food; nutriment)

       ช. ปริจเฉทรูป 1 (รูปที่กำหนดเทศะ : material quality of delimitation)
           15. อากาสธาตุ (สภาวะคือช่องว่าง : space-element)

       ญ. วิญญัติรูป 2 (รูปคือการเคลื่อนไหวให้รู้ความหมาย : material intimation; gesture)
           16. กายวิญญัติ (การเคลื่อนไหวให้รู้ความหมายด้วยกาย : bodily intimation; gesture)
           17. วจีวิญญัติ (การเคลื่อนไหวให้รู้ความหมายด้วยวาจา : verbal intimation; speech)

       ฏ. วิการรูป 5 (รูปคืออาการที่ดัดแปลงทำให้แปลกให้พิเศษได้ : material quality of plasticity or alterability)
           18. (รูปัสส) ลหุตา (ความเบา - lightness; agility)
           19. (รูปัสส) มุทุตา (ความอ่อนสลวย : elasticity; malleability)
           20. (รูปัสส) กัมมัญญตา (ความควรแก่การงาน, ใช้การได้ : adaptability; wieldiness)
           0. วิญญัติรูป 2 ไม่นับเพราะซ้ำในข้อ ญ.

       ฏ. ลักขณรูป 4 (รูปคือลักษณะหรืออาการเป็นเครื่องกำหนด : material quality of salient features)
           21. (รูปัสส) อุปจย (ความก่อตัวหรือเติบขึ้น : growth; integration)
           22. (รูปัสส) สันตติ (ความสืบต่อ : continuity)
           23. (รูปัสส) ชรตา (ความทรุดโทรม : decay)
           24. (รูปัสส) อนิจจตา (ความปรวนแปรแตกสลาย : impermanence)

Dhs. 127;
Vism.443;
Comp.155
อภิ.สํ. 34/504/185;
วิสุทธิ. 3/11;
สงฺคห. 34

แสดงผลการค้น ลำดับที่  4 / 10
[146] ธาตุ 4 (สิ่งที่ทรงสภาวะของตนอยู่เอง คือมีอยู่โดยธรรมดา เป็นไปตามเหตุปัจจัย ไม่มีผู้สร้าง ไม่มีอัตตา มิใช่สัตว์ มิใช่ชีวะ - elements) ได้แก่ ปฐวีธาตุ อาโปธาตุ เตโชธาตุ และ วาโยธาตุ คือ มหาภูต หรือ ภูตรูป 4 นั่นเอง. ดู [39] มหาภูต 4 และ [147] ธาตุกัมมัฏฐาน 4

แสดงผลการค้น ลำดับที่  5 / 10
[148] ธาตุ 6 (the six elements) ได้แก่ธาตุ 4 หรือมหาภูต 4 คือ ปฐวีธาตุ อาโปธาตุ เตโชธาตุ และ วาโยธาตุ นั้น กับเพิ่มอีก 2 อย่าง คือ
       5. อากาสธาตุ (สภาวะที่ว่าง โปร่งไป เป็นช่อง - the space-element)
       6. วิญญาณธาตุ (สภาวะที่รู้แจ้งอารมณ์, ธาตุรู้ ได้แก่ วิญญาณธาตุ 6 คือ จักขุวิญญาณธาตุ โสต~ ฆาน~ ชิวหา~ กาย~ มโนวิญญาณธาตุ - element of consciousness; consciousness-element)

       ดู [39] มหาภูต 4 และ [146] ธาตุ 4.

M.III.31;
Vbh.82.
ม.อุ. 14/169/125;
อภิ.วิ. 35/114/101.

แสดงผลการค้น ลำดับที่  6 / 10
ปัญจกะ - หมวด 5
Groups of Five
(including related groups)
[***] กัลยาณธรรม 5 ดู [239] เบญจธรรม.
[***] กามคุณ 5 ดู [6] กามคุณ 5.
[***] กำลัง 5 ของพระมหากษัตริย์ ดู [230] พละ 5 ของพระมหากษัตริย์

[216] ขันธ์ 5 หรือ เบญจขันธ์ (กองแห่งรูปธรรมและนามธรรม 5 หมวด ที่ประชุมกันเข้าเป็นหน่วยรวม ซึ่งบัญญัติเรียกว่า สัตว์ บุคคล ตัวตน เรา เขา เป็นต้น, ส่วนประกอบ 5 อย่างที่รวมเข้าเป็นชีวิต — the Five Groups of Existence; Five Aggregates)
       1. รูปขันธ์ (กองรูป, ส่วนที่เป็นรูป, ร่างกาย พฤติกรรม และคุณสมบัติต่างๆ ของส่วนที่เป็นร่างกาย, ส่วนประกอบฝ่ายรูปธรรมทั้งหมด, สิ่งที่เป็นร่างพร้อมทั้งคุณและอาการ — corporeality)
       2. เวทนาขันธ์ (กองเวทนา, ส่วนที่เป็นการเสวยอารมณ์, ความรู้สึกสุข ทุกข์ หรือเฉยๆ — feeling; sensation)
       3. สัญญาขันธ์ (กองสัญญา, ส่วนที่เป็นความกำหนดหมาย, ความกำหนดได้หมายรู้ในอารมณ์ 6 เช่นว่า ขาว เขียว ดำ แดง เป็นต้น — perception)
       4. สังขารขันธ์ (กองสังขาร, ส่วนที่เป็นความปรุงแต่ง, สภาพที่ปรุงแต่งจิตให้ดีหรือชั่วหรือเป็นกลางๆ, คุณสมบัติต่างๆ ของจิต มีเจตนาเป็นตัวนำ ที่ปรุงแต่งคุณภาพของจิต ให้เป็นกุศล อกุศล อัพยากฤต — mental formations; volitional activities)
       5. วิญญาณขันธ์ (กองวิญญาณ, ส่วนที่เป็นความรู้แจ้งอารมณ์, ความรู้อารมณ์ทางอายตนะทั้ง 6 มีการเห็น การได้ยิน เป็นต้น ได้แก่ วิญญาณ 6 — consciousness)

       ขันธ์ 5 นี้ ย่อลงมาเป็น 2 คือ นาม และ รูป; รูปขันธ์จัดเป็นรูป, 4 ขันธ์ นอกนั้นเป็นนาม. อีกอย่างหนึ่ง จัดเข้าในปรมัตถธรรม 4 : วิญญาณขันธ์เป็น จิต, เวทนาขันธ์ สัญญาขันธ์ และสังขารขันธ์ เป็น เจตสิก, รูปขันธ์ เป็น รูป, ส่วน นิพพาน เป็นขันธวินิมุต คือ พ้นจากขันธ์ 5

       เรื่องขันธ์ 5 พึงดูประกอบในหมวดธรรมอื่นๆ เช่น
       1. รูปขันธ์ ดู [38] รูป 2, 28; [39] มหาภูต 4; [40] อุปาทายรูป 24.
       2. เวทนาขันธ์ ดู [110] เวทนา 2; [111] เวทนา 3; [112] เวทนา 5; [113] เวทนา 6.
       3. สัญญาขันธ์ ดู [271] สัญญา 6.
       4. สังขารขันธ์ ดู [119] สังขาร 3; [120] สังขาร 3; [129] อภิสังขาร 3; [263] เจตนา 6.
       5. วิญญาณขันธ์ ดู [268] วิญญาณ 6.

       นอกนี้ ดู [356] จิตต์ 89; [355] เจตสิก 52

S.III.47;
Vbh.1.
สํ.ข. 17/95/58;
อภิ.วิ. 35/1/1.

[***] คติ 5 ดู [351] ภูมิ 4 หรือ 31.

แสดงผลการค้น ลำดับที่  7 / 10
[315] กสิณ 10 (วัตถุอันจูงใจ, วัตถุสำหรับเพ่งเพื่อจูงจิตให้เป็นสมาธิ — meditation devices)
       ก. ภูตกสิณ 4 (กสิณคือมหาภูตรูป —Element-Kasina)
           1. ปฐวีกสิณ (กสิณคือดิน, กสิณที่ใช้ดินเป็นอารมณ์ — the Earth Kasina)
           2. อาโปกสิณ (กสิณคือน้ำ — the Water Kasina)
           3. เตโชกสิณ (กสิณคือไฟ — the Fire Kasina)
           4. วาโยกสิณ (กสิณคือลม — the Air Kasina: Wind Kasina)
       ข. วรรณกสิณ 4 (กสิณคือสี — Color Kasina)
           5. นีลกสิณ (กสิณคือสีเขียว — the Blue Kasina)
           6. ปีตกสิณ (กสิณคือสีเหลือง — the Yellow Kasina)
           7. โลหิตกสิณ (กสิณคือสีแดง — the Red Kasina)
           8. โอทาตกสิณ (กสิณคือสีขาว — the White Kasina)
       ค. กสิณอื่นๆ
           9. อาโลกกสิณ (กสิณคือแสงสว่าง — the Light Kasina)
           10. อากาสกสิณ (กสิณคือที่ว่างเปล่า, ช่องว่าง — the Space Kasina)

       กสิณที่มาในบาลี เช่น องฺ.ทสก. 24/25/48 (A.V. 46) ไม่มีอาโลกกสิณแต่มีวิญญาณกสิณ (กสิณคือวิญญาณ -- the Consciousness Kasina) เป็นข้อที่ 10 และอากาสกสิณ เป็นข้อที่ 9

Vism.118-169. วิสุทธิ. 1/150-217.

แสดงผลการค้น ลำดับที่  8 / 10
[340] ปฏิจจสมุปบาท มีองค์หรือหัวข้อ 12 (การเกิดขึ้นพร้อมแห่งธรรมทั้งหลาย เพราะอาศัยกัน, ธรรมที่อาศัยกันเกิดขึ้นพร้อม, การที่สิ่งทั้งหลายอาศัยกันๆ จึงเกิดมีขึ้น — the Dependent Origination; conditioned arising)
       1/2. อวิชฺชาปจฺจยา สงฺขารา เพราะอวิชชา เป็นปัจจัย สังขาร จึงมี
           (Dependent on lgnorance arise Kamma-Formations)
       3. สงฺขารปจฺจยา วิญฺญาณํ เพราะสังขารเป็นปัจจัย วิญญาณ จึงมี
           (Dependent on Kamma-Formations arise Consciousness)
       4. วิญฺญาณปจฺจยา นามรูปํ เพราะวิญญาณเป็นปัจจัย นามรูป จึงมี
           (Dependent on Consciousness arise Mind and Matter)
       5. นามรูปปจฺจยา สฬายตนํ เพราะนามรูปเป็นปัจจัย สฬายตนะ จึงมี
           (Dependent on Mind and Matter arise the Six Sense-Bases.)
       6. สฬายตนปจฺจยา ผสฺโส เพราะสฬายตนะเป็นปัจจัย ผัสสะ จึงมี
           (Dependent on the Six Sense-Bases arises Contact)
       7. ผสฺสปจฺจยา เวทนา เพราะผัสสะเป็นปัจจัย เวทนา จึงมี
           (Dependent on Contact arise Feeling)
       8. เวทนาปจฺจยา ตณฺหา เพราะเวทนาเป็นปัจจัย ตัณหา จึงมี
           (Dependent on Feeling arise Craving.)
       9. ตณฺหาปจฺจยา อุปาทานํ เพราะตัณหาเป็นปัจจัย อุปาทาน จึงมี
           (Dependent on Craving arises Clinging.)
       10. อุปาทานปจฺจยา ภโว เพราะอุปาทานเป็นปัจจัย ภพ จึงมี
           (Dependent on Clinging arises Becoming.)
       11. ภวปจฺจยา ชาติ เพราะภพเป็นปัจจัย ชาติ จึงมี
           (Dependent on Becoming arises Birth.)
       12. ชาติปจฺจยา ชรามรณํ เพราะชาติเป็นปัจจัย ชรามรณะ จึงมี
           (Dependent on Birth arise Decay and Death.)
       โสกปริเทวทุกฺขโทมนสฺสุปายาสา สมฺภวนฺติ
       ความโศก ความคร่ำครวญ ทุกข์ โทมนัส และความคับแค้นใจ ก็มีพร้อม
           (There also arise sorrow, lamentation, pain, grief and despair.)
       เอวเมตสฺส เกวลสฺส ทุกฺขกฺขนฺธสฺส สมุทโย โหติ.
       ความเกิดขึ้นแห่งกองทุกข์ทั้งปวงนี้ จึงมีด้วยประการฉะนี้
           (Thus arises this whole mass of suffering.)

       แสดงตามลำดับ จากต้นไปหาปลายอย่างนี้ เรียกว่า อนุโลมเทศนา (teaching in forward order) ถ้าแสดงย้อนกลับจากปลายมาหาต้น ว่า ชรามรณะเป็นต้น มีเพราะชาติเป็นปัจจัย ชาติมีเพราะภพเป็นปัจจัย ฯลฯ สังขาร มีเพราะอวิชชาเป็นปัจจัย เรียกว่า ปฏิโลมเทศนา (teaching in backward order)

       องค์ (factors) หรือหัวข้อ 12 นั้น มีความหมายโดยสังเขป ดังนี้
       1. อวิชชา ความไม่รู้ คือไม่รู้ในอริยสัจ 4 หรือตามนัยอภิธรรม ว่า อวิชชา 8 ดู [208] อวิชชา 4; [209] อวิชชา 8
       2. สังขาร (Kamma-formations) สภาพที่ปรุงแต่ง ได้แก่ [120] สังขาร 3 หรือ [129] อภิสังขาร 3
       3. วิญญาณ (consciousness) ความรู้แจ้งอารมณ์ ได้แก่ [268] วิญญาณ 6
       4. นามรูป (mind and matter) นามและรูป ได้แก่ เวทนา สัญญา เจตนา ผัสสะ มนสิการ หรือตามนัยอภิธรรมว่า นามขันธ์ 3 + รูป ดู [216] ขันธ์ 5 (ข้อ 2, 3, 4); [38] รูป 2, 28; [39] มหาภูต หรือ ภูตรูป 4; [40] อุปาทารูป หรือ อุปาทายรูป 24; [41] รูป 2
       5. สฬายตนะ (six sense-bases) อายตนะ 6 ได้แก่ [276] อายตนะภายใน 6
       6. ผัสสะ (contact) ความกระทบ, ความประจวบ ได้แก่ [272] สัมผัส 6
       7. เวทนา (feeling) ความเสวยอารมณ์ ได้แก่ [113] เวทนา 6
       8. ตัณหา (craving) ความทะยานอยาก ได้แก่ ตัณหา 6 มีรูปตัณหา เป็นต้น (ตัณหาในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในสัมผัสทางกาย และในธัมมารมณ์) ดู [74] ตัณหา 3 ด้วย
       9. อุปาทาน (clinging; attachment) ความยึดมั่น ได้แก่ [214] อุปาทาน 4
       10. ภพ (becoming) ภาวะชีวิต ได้แก่ [98] ภพ 3 อีกนัยหนึ่งว่า ได้แก่ กรรมภพ (ภพคือกรรม — active process of becoming ตรงกับ [129] อภิสังขาร 3) กับ อุปปัตติภพ (ภพคือที่อุบัติ — rebirth-process of becoming ตรงกับ [98] ภพ 3)
       11. ชาติ (birth) ความเกิด ได้แก่ ความปรากฏแห่งขันธ์ทั้งหลาย การได้อายตนะ
       12. ชรามรณะ (decay and death) ความแก่และความตาย ได้แก่ ชรา (ความเสื่อมอายุ, ความหง่อมอินทรีย์) กับมรณะ (ความสลายแห่งขันธ์, ความขาดชีวิตินทรีย์)

       ทั้ง 12 ข้อ เป็นปัจจัยต่อเนื่องกันไป หมุนเวียนเป็นวงจร ไม่มีต้นไม่มีปลาย เรียกว่า ภวจักร (วงล้อหรือวงจรแห่งภพ — wheel of existence) และมีข้อควรทราบเกี่ยวกับภวจักรอีกดังนี้
       ก. อัทธา (periods; times) คือ กาล 3 ได้แก่
           1) อดีต = อวิชชา สังขาร
           2) ปัจจุบัน = วิญญาณ นามรูป สฬายตนะ ผัสสะ เวทนา ตัณหา อุปาทาน ภพ
           3) อนาคต = ชาติ ชรา มรณะ (+ โสกะ ฯลฯ)

       ข. สังเขป หรือ สังคหะ 4 (sections; divisions) คือ ช่วง หมวด หรือ กลุ่ม 4 ได้แก่
           1) อดีตเหตุ = อวิชชา สังขาร
           2) ปัจจุบันผล = วิญญาณ นามรูป สฬายตนะ ผัสสะ เวทนา
           3) ปัจจุบันเหตุ = ตัณหา อุปาทาน ภพ
           4) อนาคตผล = ชาติ ชรา มรณะ (+ โสกะ ฯลฯ)

       ค. สนธิ 3 (links; connection) คือ ขั้วต่อ ระหว่างสังเขปหรือช่วงทั้ง 4 ได้แก่
           1) ระหว่าง อดีตเหตุ กับ ปัจจุบันผล
           2) ระหว่าง ปัจจุบันผล กับ ปัจจุบันเหตุ
           3) ระหว่าง ปัจจุบันเหตุ กับ อนาคตผล

       ง. วัฏฏะ 3 ดู [105] วัฏฏะ 3
       จ. อาการ 20 (modes; spokes; qualities) คือองค์ประกอบแต่ละอย่าง อันเป็นดุจกำของล้อ จำแนกตามส่วนเหตุ (causes) และส่วนผล (effects) ได้แก่
           1) อดีตเหตุ 5 = อวิชชา สังขาร ตัณหา อุปาทาน ภพ
           2) ปัจจุบันผล 5 = วิญญาณ นามรูป สฬายตนะ ผัสสะ เวทนา
           3) ปัจจุบันเหตุ 5 = อวิชชา สังขาร ตัณหา อุปาทาน ภพ
           4) อนาคตผล 5 = วิญญาณ นามรูป สฬายตนะ ผัสสะ เวทนา
       อาการ 20 นี้ ก็คือ หัวข้อที่กระจายให้เต็ม ในทุกช่วงของสังเขป 4 นั่นเอง

       ฉ. มูล 2 (roots) คือ กิเลสที่เป็นตัวมูลเหตุ ซึ่งกำหนดเป็นจุดเริ่มต้นในวงจรแต่ละช่วง ได้แก่
           1) อวิชชา เป็นจุดเริ่มต้นในช่วงอดีต ส่งผลถึงเวทนาในช่วงปัจจุบัน
           2) ตัณหา เป็นจุดเริ่มต้นในช่วงปัจจุบัน ส่งผลถึงชรามรณะในช่วงอนาคต

       พึงสังเกตด้วยว่า การกล่าวถึงส่วนประกอบของภวจักรตามข้อ ก. ถึง ฉ. นี้ เป็นคำอธิบายในคัมภีร์รุ่นหลัง เช่น อภิธัมมัตถสังคหะ เป็นต้น

       การแสดงหลักปฏิจจสมุปบาท ให้เห็นความเกิดขึ้นแห่งธรรมต่างๆ โดยอาศัยปัจจัยสืบทอดกันไปอย่างนี้ เป็น สมุทยวาร คือฝ่ายสมุทัย ใช้เป็นคำอธิบายอริยสัจข้อที่ 2 (สมุทัยสัจ) คือ แสดงให้เห็นความเกิดขึ้นแห่งทุกข์ ปฏิจจสมุปบาท ที่แสดงแบบนี้ เรียกว่า อนุโลมปฏิจจสมุปบาท — direct Dependent Origination)
       การแสดงในทางตรงข้ามกับข้างต้นนี้ เป็น นิโรธวาร คือฝ่ายนิโรธ ใช้อธิบายอริยสัจข้อที่ 3 (นิโรธสัจ) เรียกว่า ปฏิโลมปฏิจจสมุปบาท (reverse Dependent Origination ซึ่งความจริงก็คือ Dependent Extinction นั่นเอง) แสดงให้เห็นความดับไปแห่งทุกข์ ด้วยอาศัยความดับไปแห่งปัจจัยทั้งหลายสืบทอดกันไป ตัวบทของปฏิจจสมุปบาทแบบปฏิโลมนี้ พึงเทียบจากแบบอนุโลมนั่นเอง เช่น
       1/2. อวิชฺชาย เตฺวว อเสสวิราคนิโรธา สงฺขารนิโรโธ เพราะอวิชชาสำรอกดับไปไม่เหลือ สังขารจึงดับ
           (Through the total fading away and cessation of lgnorance, cease Kamma-Formations.)
       3. สงฺขารนิโรธา วิญฺญาณนิโรโธ เพราะสังขารดับ วิญญาณจึงดับ
           (Through the cessation of Kamma-Formations. ceases Consciousness.)
       ฯลฯ
       12. ชาตินิโรธา ชรามรณํ เพราะชาติดับ ชรามรณะ (จึงดับ)
           (Through the cessation go Birth, cease Decay and Death.)
       โสกปริเทวทุกฺขโทมนสฺสุปายาสา นิรุชฺฌนฺติ
       ความโศก ความคร่ำครวญ ทุกข์ โทมนัส ความคับแค้นใจ ก็ดับ
           (Also cease sorrow, lamentation, pain, grief and despair.)
       เอวเมตสฺส เกวลสฺส ทุกฺขกฺขนฺธสฺส นิโรโธ โหติ.
       ความดับแห่งกองทุกข์ทั้งปวงนี้ ย่อมมีด้วยประการฉะนี้
           (Thus comes about the cessation of this whole mass of suffering.)

       นี้เป็นอนุโลมเทศนาของปฏิโลมปฏิจจสมุปบาท ส่วนปฏิโลมเทศนา ก็พึงแสดงย้อนว่า ชรามรณะ เป็นต้น ดับ เพราะชาติดับ ชาติดับเพราะภพดับ ฯลฯ สังขารดับเพราะอวิชชาดับ อย่างเดียวกับในอนุโลมปฏิจจสมุปบาท
       ปฏิจจสมุปบาทนี้ มีชื่อเรียกอย่างอื่นอีก ที่สำคัญคือ อิทัปปัจจยตา (ภาวะที่มีอันนี้ๆ เป็นปัจจัย — specific conditionality) ธรรมนิยาม (ความเป็นไปอันแน่นอนแห่งธรรมดา, กฎธรรมชาติ — orderliness of nature; natural law) และ ปัจจยาการ (อาการที่สิ่งทั้งหลายเป็นปัจจัยแก่กัน — mode of conditionality; structure of conditions) เฉพาะชื่อหลังนี้เป็นคำที่นิยมใช้ในคัมภีร์อภิธรรม และคัมภีร์รุ่นอรรถกถา.

Vin.I.1;
S.II.1;
Vbh.135;
Vism.517;
Comp.188.
วินย. 4/1/1;
สํ.นิ. 16/1/1;
อภิ.วิ. 35/274/185;
วิสุทธิ. 3/107;
สงฺคห. 45.

[***] ปัจจยาการ 12 ดู [340] ปฏิจจสมุปบาท
[***] สันโดษ 12 ดู [122] สันโดษ 3, 12

แสดงผลการค้น ลำดับที่  9 / 10
[350] ปัจจัย 24 (ลักษณะหรืออาการแห่งความสัมพันธ์ระหว่างสิ่งทั้งหลาย ที่สิ่งหนึ่งหรือสภาวธรรมอย่างหนึ่ง เป็นองค์ประกอบที่ช่วยเอื้อ เกื้อหนุน ค้ำจุน เป็นเหตุ หรือเป็นเงื่อนไขให้สิ่งอื่น หรือสภาวธรรมอย่างอื่น เกิดขึ้น คงอยู่ หรือเป็นไปอย่างใดอย่างหนึ่ง - condition; mode of conditionality or relation)
       1. เหตุปัจจัย (ปัจจัยโดยเป็นเหตุ - root condition)
       2. อารัมมณปัจจัย (ปัจจัยโดยเป็นอารมณ์ - object condition)
       3. อธิปติปัจจัย (ปัจจัยโดยเป็นเจ้าใหญ่ - predominance condition)
       4. อนันตรปัจจัย (ปัจจัยโดยเป็นภาวะต่อเนื่องไม่มีช่องระหว่าง - immediacy condition)
       5. สมนันตรปัจจัย (ปัจจัยโดยเป็นภาวะต่อเนื่องทันที - contiguity condition)
       6. สหชาตปัจจัย (ปัจจัยโดยเกิดร่วมกัน - connascence condition)
       7. อัญญมัญญปัจจัย (ปัจจัยโดยเป็นอาศัยซึ่งกันและกัน - mutuality condition)
       8. นิสสยปัจจัย (ปัจจัยโดยเป็นที่อาศัย - dependence condition)
       9. อุปนิสสยปัจจัย (ปัจจัยโดยเป็นเครื่องหนุนหรือกระตุ้นเร้า - decisive-support condition; inducement condition)
       10. ปุเรชาตปัจจัย (ปัจจัยโดยเกิดก่อน - pernascence condition)
       11. ปัจฉาชาตปัจจัย (ปัจจัยโดยเกิดหลัง - postnascence condition)
       12. อาเสวนปัจจัย (ปัจจัยโดยการซ้ำบ่อยหรือทำให้ชิน - repetiton condition)
       13. กรรมปัจจัย (ปัจจัยโดยเป็นกรรมคือเจตจำนง - kamma condition)
       14. วิปากปัจจัย (ปัจจัยโดยเป็นวิบาก - kamma-resuit condition)
       15. อาหารปัจจัย (ปัจจัยโดยเป็นอาหาร คือเป็นเครื่องหล่อเลี้ยง - nutriment condition)
       16. อินทรียปัจจัย (ปัจจัยโดยเป็นเจ้าการ - faculty condition)
       17. ฌานปัจจัย (ปัจจัยโดยเป็นภาวะจิตที่เป็นฌาน - absorption condition)
       18. มรรคปัจจัย (ปัจจัยโดยเป็นมรรค - path condition)
       19. สัมปยุตตปัจจัย (ปัจจัยโดยประกอบกัน - association condition)
       20. วิปปยุตตปัจจัย (ปัจจัยโดยแยกต่างหากกัน - dissociation condition)
       21. อัตถิปัจจัย (ปัจจัยโดย[ต้อง]มีอยู่ - presence condition)
       22. นัตถิปัจจัย (ปัจจัยโดย[ต้อง]ไม่มีอยู่ - absence condition)
       23. วิคตปัจจัย (ปัจจัยโดย[ต้อง]ปราศไป - disappearance condition)
       24. อวิคตปัจจัย (ปัจจัยโดย[ต้อง]ไม่ปราศไป - non-disappearance condition)

       ปัจจัย 24 นี้ เป็นสาระของคำอธิบายทั้งหมดในคัมภีร์ปัฏฐานแห่งพระอภิธรรมปิฎก คือพระไตรปิฎกบาลี 6 เล่ม ตั้งแต่เล่ม 40 ถึงเล่ม 45

Pat.1 อภิ.ป. 40/1/1

[***] รูป 28 ดู [38] รูป 28; [39] มหาภูต 4; [40] อุปาทารูป 24

แสดงผลการค้น ลำดับที่  10 / 10
[359] กิเลส 1500 (สภาพที่ทำให้จิตเศร้าหมอง - defilements)
       กิเลส 1500 ที่จัดเป็นชุดจำนวนอย่างนี้ ไม่มีในพระบาลี แม้จะมีกล่าวถึงในอรรกกถาบางแห่งก็แสดงเพียงตัวอย่าง ไม่ครบถ้วน ระบุไว้อย่างมากที่สุดเพียง 336 อย่าง (ดู อุ.อ.172,424; อิติ.อ.166) เช่น โลภะ โทสะ โมหะ วิปริตมนสิการ อหิริกะ อโนตตัปปะ ถีนะ มิทธะ โกธะ อุปนาหะ ฯลฯ อกุศลกรรมบถ 10 ... ตัณหา 108
       ในคัมภีร์รุ่นหลังต่อมา ได้มีการพยายามนับจำนวนกิเลสพันห้าให้เป็นตัวเลขที่ชัดเจน ดังปรากฏในธัมมสังคณีอนุฏีกา (ฉบับ มจร. สงฺคณี.อนุฏีกา 23-24) ซึ่งได้แสดงระบบวิธีนับไว้หลายอย่าง สรุปได้เป็น 2 แบบ คือ แบบลงตัวจำนวน 1500 ถ้วน และแบบนับคร่าวๆ ขาดเกินเล็กน้อย นับแต่จำนวนเต็ม

       แบบที่ 1 จำนวนลงตัว 1500 ถ้วน คือ
           อารมณ์ 150 x กิเลส 10 = กิเลส 1,500
           กิเลส 10 ดู [316] กิเลส 10
           อารมณ์ 150 หมายถึง อารมณ์ซึ่งเป็นที่ตั้งของกิเลส แต่มีวิธีนับ 2 นัย คือ
           ก) อารมณ์ 150 = ธรรม 75 [อรูปธรรม 53 (คือจิต 1 + เจตสิก 52) + รูปรูป 18* + อากาสธาตุ 1 + ลักขณรูป 3**] x 2 (ภายใน + ภายนอก)
           ข) อารมณ์ 150 = ธรรม 75 [อรูปธรรม 57 (คือจิต 1 + เวทนาเจตสิก 5 + เจตสิกอื่นๆ 51) + รูปรูป 18] x 2 (ภายใน + ภายนอก)

       แบบที่ 2 จำนวนไม่ลงตัว ขาดหรือเกินเล็กน้อย นับจำนวนเต็มปัดเศษ
           แบบที่ 2 นี้ ท่านแจงวิธีนับไว้หลายอย่าง เป็น 1,584 บ้าง 1,512 บ้าง 1,510 บ้าง 1,416 บ้าง แต่จะไม่นำรายละเอียดมาแสดงในที่นี้ เพราะจะทำให้ฟั่นเฝือ

       ในภาษาไทย มีคำพูดเป็นสำนวนเก่า ที่นิยมกล่าวอ้างกันสืบๆ มาแบบติดปากว่า “กิเลสพันห้า ตัณหาร้อยแปด” พึงทราบว่า เป็นถ้อยคำที่อิงหลักธรรม 2 หมวด คือ [359] กิเลส 1500 และ [357] ตัณหา 108 ที่แสดงแล้วนี้
----------------------------------------------
* รูปทั้งหมดมี 28 (ดู [40]) ในจำนวนนี้ 18 อย่าง เรียกว่า รูปรูป เพราะเป็นรูปที่เป็นรูปธรรมจริงๆ หรือแปลง่ายๆ ว่า “รูปแท้” ได้แก่ มหาภูตรูป 4, ปสาทรูป 5, วิสัยรูป 4, ภาวรูป 2, หทัยรูป 1, ชีวิตรูป 1 และอาหารรูป 1 ส่วนรูปที่เหลืออีก 10 อย่าง (คือ ปริจเฉทรูป 1, วิญญัติรูป 2, วิการรูป 3, ลักขณรูป 4) เป็นเพียงอาการลักษณะหรือความเป็นไปของรูปเหล่านั้น จึงไม่เป็นรูปรูป
** ลักขณรูป นับเต็มมี 4 (ดู [40] ฏ.) แต่ 2 อย่างแรก นับรวมเป็น 1 ได้ เรียกว่า ชาติรูป กล่าวคือ อุปจยะ หมายถึง การเกิดที่เป็นการก่อตัวขึ้นทีแรก และ สันตติ หมายถึง การเกิดสืบเนื่องต่อๆ ไป โดยนัยนี้ จึงนับลักขณรูปเป็น 3

พจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลธรรม พิมพ์ครั้งที่ ๑๒ พ.ศ. ๒๕๔๖
http://84000.org/tipitaka/dic/d_seek.php?text=มหาภูต&detail=on
http://84000.org/tipitaka/dic/d_seek.php?text=%C1%CB%D2%C0%D9%B5&detail=on


บันทึก  ๙ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๔๗,  ๔ มกราคม พ.ศ. ๒๕๔๘ การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจาก พจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลธรรม พิมพ์ครั้งที่ ๗ พ.ศ. ๒๕๓๕, พิมพ์ครั้งที่ ๑๒ พ.ศ. ๒๕๔๖ หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]