ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ค้นพระไตรปิฎก ชาดก หนังสือธรรมะ
อ่านข้อแรกอ่านข้อก่อนนี้อ่านข้อถัดไปอ่านข้อสุดท้าย
พจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลธรรม สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ป.อ. ปยุตฺโต) พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ. ปยุตฺโต) พระธรรมปิฎก (ประยุทธ์ ปยุตฺโต)

[238] ศีล 5 หรือ เบญจศีล (ความประพฤติชอบทางกายและวาจา, การรักษากายวาจาให้เรียบร้อย, การรักษาปกติตามระเบียบวินัย, ข้อปฏิบัติในการเว้นจากความชั่ว, การควบคุมตนให้ตั้งอยู่ในความไม่เบียดเบียน — the Five Precepts; rules of morality)
       1. ปาณาติปาตา เวรมณี (เว้นจากการปลงชีวิต, เว้นจากการฆ่าการประทุษร้ายกัน — to abstain from killing)
       2. อทินฺนาทานา เวรมณี (เว้นจากการถือเอาของที่เขามิได้ให้, เว้นจากการลักโกง ละเมิดกรรมสิทธิ์ ทำลายทรัพย์สิน — to abstain from stealing)
       3. กาเมสุมิจฺฉาจารา เวรมณี (เว้นจากการประพฤติผิดในกาม, เว้นจากการล่วงละเมิดสิ่งที่ผู้อื่นรักใคร่หวงแหน — to abstain from sexual misconduct)
       4. มุสาวาทา เวรมณี (เว้นจากการพูดเท็จ โกหก หลอกลวง — to abstain from false speech)
       5. สุราเมรยมชฺชปมาทฏฺฐานา เวรมณี (เว้นจากน้ำเมา คือสุราและเมรัยอันเป็นที่ตั้งแห่งความประมาท, เว้นจากสิ่งเสพติดให้โทษ — to abstain from intoxicants causing heedlessness)

       ศีล 5 ข้อนี้ ในบาลีชั้นเดิมส่วนมากเรียกว่า สิกขาบท 5 (ข้อปฏิบัติในการฝึกตน — training rules) บ้าง ธรรม 5 บ้าง เมื่อปฏิบัติได้ตามนี้ ก็ชื่อว่าเป็นผู้มีศีล คือเป็นเบื้องต้นที่จัดว่าเป็นผู้มีศีล (virtuous) คำว่า เบญจศีล ที่มาในพระไตรปิฎก ปรากฏในคัมภีร์ชั้นอปทาน และพุทธวงส์ ต่อมาในสมัยหลัง มีชื่อเรียกเพิ่มขึ้นว่าเป็น นิจศีล (ศีลที่คฤหัสถ์ควรรักษาเป็นประจำ — virtues to be observed uninterruptedly) บ้าง ว่าเป็น มนุษยธรรม (ธรรมของมนุษย์หรือธรรมที่ทำให้เป็นมนุษย์ — virtues of man) บ้าง

       ดู คำสมาทาน ใน Appendix

D.III.235;
A.III.203,275;
Vbh.285.
ที.ปา. 11/286/247;
องฺ.ปญฺจก. 22/172/227; 264/307;
อภิ.วิ. 35/77/388


พจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลธรรม พิมพ์ครั้งที่ ๑๒ พ.ศ. ๒๕๔๖
http://84000.org/tipitaka/dic/d_seek.php?text=ศีล_5
http://84000.org/tipitaka/dic/d_seek.php?text=%C8%D5%C5_5

อ่านข้อแรกอ่านข้อก่อนนี้อ่านข้อถัดไปอ่านข้อสุดท้าย

บันทึก  ๙ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๔๗,  ๔ มกราคม พ.ศ. ๒๕๔๘ การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจาก พจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลธรรม พิมพ์ครั้งที่ ๗ พ.ศ. ๒๕๓๕, พิมพ์ครั้งที่ ๑๒ พ.ศ. ๒๕๔๖ หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]