ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ค้นพระไตรปิฎก ชาดก หนังสือธรรมะ
อ่านข้อแรกอ่านข้อก่อนนี้อ่านข้อถัดไปอ่านข้อสุดท้าย
พจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลธรรม พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ. ปยุตฺโต) พระธรรมปิฎก (ประยุทธ์ ปยุตฺโต)

[203] อริยวงศ์ 4 (ปฏิปทาที่พระอริยะทั้งหลายปฏิบัติสืบกันมาแต่โบราณไม่ขาดสาย, อริยประเพณี - Ariyan lineage; noble tradition; the fourfold traditional practice of the Noble Ones)
       1. จีวรสันโดษ (ความสันโดษด้วยจีวร - contentment as regards robes or clothing)
       2. ปิณฑปาตสันโดษ (ความสันโดษด้วยบิณฑบาต - contentment as regards alms-food)
       3. เสนาสนสันโดษ (ความสันโดษด้วยเสนาสนะ - contentment as regards lodging)
       4. ภาวนาปหานารามตา (ความยินดีในการเจริญกุศลและละอกุศล - delight in the development of good and the abandonment of evil)

       การปฏิบัติที่จัดเป็นอริยวงศ์ในธรรมทั้ง 4 ข้อนั้น พระภิกษุพึงประพฤติดังนี้
       ก. สันโดษด้วยปัจจัยใน 3 ข้อต้นตามมีตามได้
       ข. มีปรกติกล่าวสรรเสริญคุณของความสันโดษใน 3 ข้อนั้น
       ค. ไม่ประกอบอเนสนาคือการแสวงหาที่ผิด (ทุจริต) เพราะปัจจัยทั้ง 3 อย่างนั้นเป็นเหตุ (เพียรแสวงหาแต่โดยชอบธรรม ไม่เกียจคร้าน)
       ง. เมื่อไม่ได้ ก็ไม่เร่าร้อนทุรนทุราย
       จ. เมื่อได้ ก็ใช้โดยไม่ติด ไม่หมกมุ่น ไม่สยบ รู้เท่าทันเห็นโทษ มีปัญญาใช้สิ่งนั้นตามประโยชน ตามความหมายของมัน (มีและใช้ด้วยสติสัมปชัญญะ ดำรงตนเป็นอิสระ ไม่ตกเป็นทาสของสิ่งนั้น)
       ฉ. ไม่ถือเอาอาการที่ได้ประพฤติธรรม 4 ข้อนี้ เป็นเหตุยกตนข่มผู้อื่น

       โดยสรุปว่า เป็นผู้ขยันไม่เกียจคร้าน มีสติสัมปชัญญะในข้อนั้นๆ เฉพาะข้อ 4 ทรงสอนไม่ให้สันโดษ ส่วน 3 ข้อแรกทรงสอนให้ทำความเพียรแสวงหาในขอบเขตที่ชอบด้วยธรรมวินัยและมีความสันโดษตามนัยที่แสดงข้างต้น
       อนึ่ง ในจูฬนิทเทส ท่านแสดงอริยวงศ์ของพระปัจเจกพุทธเจ้าต่างไปเล็กน้อย คือ เปลี่ยนข้อ 4 เป็น สันโดษด้วยคิลานปัจจัยเภสัชบริขาร (medical equipment)

D.III.224;
A.II.27;
Ndii 107.
ที.ปา. 11/237/236;
องฺ.จตุกฺก. 21/28/35;
ขุ.จู. 30/691/346.


พจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลธรรม พิมพ์ครั้งที่ ๑๒ พ.ศ. ๒๕๔๖
http://84000.org/tipitaka/dic/d_seek.php?text=อริยวงศ์
http://84000.org/tipitaka/dic/d_seek.php?text=%CD%C3%D4%C2%C7%A7%C8%EC

อ่านข้อแรกอ่านข้อก่อนนี้อ่านข้อถัดไปอ่านข้อสุดท้าย

บันทึก  ๙ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๔๗,  ๔ มกราคม พ.ศ. ๒๕๔๘ การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจาก พจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลธรรม พิมพ์ครั้งที่ ๗ พ.ศ. ๒๕๓๕, พิมพ์ครั้งที่ ๑๒ พ.ศ. ๒๕๔๖ หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]