ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ค้นพระไตรปิฎก ชาดก หนังสือธรรมะ
พจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลธรรม สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ป.อ. ปยุตฺโต) พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ. ปยุตฺโต) พระธรรมปิฎก (ประยุทธ์ ปยุตฺโต)
            การค้นหาคำว่า “ อานาปานสติ ”             ผลการค้นหาพบ  8  ตำแหน่ง ดังนี้ :-

แสดงผลการค้น ลำดับที่  1 / 8
[87] นิมิต 3 (เครื่องหมายสำหรับให้จิตกำหนดในการเจริญกรรมฐาน, ภาพที่เห็นในใจอันเป็นตัวแทนของสิ่งที่ใช้อารมณ์กรรมฐาน — sign; mental image)
       1. บริกรรมนิมิต (นิมิตแห่งบริกรรม, นิมิตตระเตรียมหรือนิมิตแรกเริ่ม ได้แก่สิ่งใดก็ตามที่กำหนดเป็นอารมณ์ในการเจริญกรรมฐาน เช่น ดวงกสิณที่เพ่งดู หรือ พุทธคุณที่นึกเป็นอารมณ์ว่าอยู่ในใจเป็นต้น — preliminary sign) ได้ในกรรมฐานทั้ง 40
       2. อุคคหนิมิต (นิมิตที่ใจเรียน, นิมิตติดตา ได้แก่ บริกรรมนิมิตนั้นเพ่งหรือนึกกำหนดจนเห็นแม่นในใจ เช่น ดวงกสิณที่เพ่งจนติดตา หลับตามองเห็น เป็นต้น — learning sign; abstract sign; visualized image) ได้ในกรรมฐานทั้ง 40
       3. ปฏิภาคนิมิต (นิมิตเสมือน, นิมิตเทียบเคียง ได้แก่ นิมิตที่เป็นภาพเหมือนของอุคคหนิมิตนั้น แต่เป็นสิ่งที่เกิดจากสัญญา เป็นเพียงอาการปรากฏแก่ผู้ได้สมาธิจึงบริสุทธิ์จนปราศจากสีเป็นต้น และไม่มีมลทินใดๆ ทั้งสามารถนึกขยายหรือย่อส่วนได้ตามปรารถนา — sign; conceptualized image) นิมิตนี้ได้เฉพาะในกรรมฐาน 22 คือ กสิณ 10 อสุภะ 10 กายคตาสติ1 และอานาปานสติ 1

       เมื่อเกิดปฏิภาคนิมิตขึ้น จิตย่อมตั้งมั่นเป็นอุปจารสมาธิ จึงชื่อว่าปฏิภาคนิมิตเกิดพร้อมกับอุปจารสมาธิ เมื่อเสพปฏิภาคนิมิตนั้นสม่ำเสมอด้วยอุปจารสมาธิก็จะสำเร็จเป็นอัปปนาสมาธิต่อไป ปฏิภาคนิมิตจึงชื่อว่าเป็นอารมณ์แก่อุปจารภาวนาและอัปปนาภาวนา.

       ดู [99] ภาวนา 3

Comp.203;
Vism.125.
สงฺคห. 51;
วิสุทธิ. 1/59.

แสดงผลการค้น ลำดับที่  2 / 8
[99] ภาวนา 3 (การเจริญ หมายถึงการเจริญกรรมฐานหรือฝึกสมาธิขั้นต่างๆ — stages of mental culture)
       1. บริกรรมภาวนา (ภาวนาขั้นบริกรรม, ฝึกสมาธิขั้นตระเตรียม ได้แก่ การถือเอานิมิตในสิ่งที่กำหนดเป็นอารมณ์กรรมฐาน เช่น เพ่งดวงกสิณ หรือนึกถึงพุทธคุณเป็นอารมณ์ว่าอยู่ในใจเป็นต้น กล่าวสั้นๆ คือ การกำหนดบริกรรมนิมิตนั่นเอง — preliminary stage) ได้ในกรรมฐานทั้ง 40
       2. อุปจารภาวนา (ภาวนาขั้นจวนเจียน, ฝึกสมาธิขั้นเป็นอุปจาร ได้แก่ เจริญกรรมฐานต่อไป ถึงขณะที่ปฏิภาคนิมิตเกิดขึ้นในกรรมฐานที่เพ่งวัตถุก็ดี นิวรณ์สงบไปในกรรมฐานประเภทนึกเป็นอารมณ์ก็ดี นับแต่ขณะนั้นไปจัดเป็นอุปจารภาวนา — proximate stage) ขั้นนี้เป็น กามาวจรสมาธิ ได้ในกรรมฐานทั้ง 40; อุปาจารภาวนา สิ้นสุดแค่โคตรภูขณะ ในฌานชวนะ
       3. อัปปนาภาวนา (ภาวนาขั้นแน่วแน่, ฝึกสมาธิขั้นเป็นอัปปนา ได้แก่ เสพปฏิภาคนิมิตที่เกิดขึ้นแล้วนั้นสม่ำเสมอด้วยอุปจารสมาธิ จนบรรลุปฐมฌาน คือ ถัดจากโคตรภูขณะในฌานชวนะเป็นต้นไป ต่อแต่นั้นเป็นอัปปนาภาวนา - concentrative or attainment stage) ขั้นนี้เป็นรูปาวจรสมาธิ ได้เฉพาะในกรรมฐาน 30 คือ หักอนุสสติ 8 ข้างต้น ปฏิกูลสัญญา 1 และจตุธาตุววัตถาน 1 ออกเสีย คงเหลือ อสุภะ 10 และกายคตาสติ 1 (ได้ถึงปฐมฌาน) อัปปมัญญา 3 ข้อต้น (ได้ถึงจตุตถฌาน) อัปปมัญญาข้อท้ายคืออุเบกขา 1 กสิณ 10 และ อานาปานสติ 1 (ได้ถึงปัญจมฌาน) อรูป 4 (ได้อรูปฌาน)

       ดู [87] นิมิต 3

Comp.203. สงฺคห. 51.

แสดงผลการค้น ลำดับที่  3 / 8
[182] สติปัฏฐาน 4 (ที่ตั้งของสติ, การตั้งสติกำหนดพิจารณาสิ่งทั้งหลายให้รู้เห็นตามความเป็นจริง คือ ตามที่สิ่งนั้นๆ มันเป็นของมันเอง - foundations of mindfulness)
       1. กายานุปัสสนา สติปัฏฐาน (การตั้งสติกำหนดพิจารณากายให้รู้เห็นตามเป็นจริง ว่า เป็นเพียงกาย ไม่ใช่สัตว์บุคคลตัวตนเราเขา - contemplation of the body; mindfulness as regards the body) ท่านจำแนกปฏิบัติไว้หลายอย่าง คือ อานาปานสติ กำหนดลมหายใจ 1 อิริยาบถ กำหนดรู้ทันอิริยาบถ 1 สัมปชัญญะ สร้างสัมปชัญญะในการกระทำความเคลื่อนไหวทุกอย่าง 1 ปฏิกูลมนสิการ พิจารณาส่วนประกอบอันไม่สะอาดทั้งหลายที่ประชุมเข้าเป็นร่างกายนี้ 1 ธาตุมนสิการ พิจารณาเห็นร่างกายของตนโดยสักว่าเป็นธาตุแต่ละอย่างๆ 1 นวสีวถิกา พิจารณาซากศพในสภาพต่างๆ อันแปลกกันไปใน 9 ระยะเวลา ให้เห็นคติธรรมดาของร่างกาย ของผู้อื่นเช่นใด ของตนก็จักเป็นเช่นนั้น 1
       2. เวทนานุปัสสนา สติปัฏฐาน (การตั้งสติกำหนดพิจารณาเวทนา ให้รู้เห็นตามเป็นจริงว่า เป็นแต่เพียงเวทนา ไม่ใช่สัตว์บุคคลตัวตนเราเขา - contemplation of feelings; mindfulness as regards feelings) คือ มีสติรู้ชัดเวทนาอันเป็นสุขก็ดี ทุกข์ก็ดี เฉยๆ ก็ดี ทั้งที่เป็นสามิส และเป็นนิรามิสตามที่เป็นไปอยู่ในขณะนั้นๆ
       3. จิตตานุปัสสนา สติปัฏฐาน (การตั้งสติกำหนดพิจารณาจิต ให้รู้เห็นตามเป็นจริงว่า เป็นแต่เพียงจิต ไม่ใช่สัตว์บุคคลตัวตนเราเขา - contemplation of mind; mindfulness as regards thoughts) คือ มีสติรู้ชัดจิตของตนที่มีราคะ ไม่มีราคะ มีโทสะ ไม่มีโทสะ มีโมหะ ไม่มีโมหะ เศร้าหมองหรือผ่องแผ้ว ฟุ้งซ่านหรือเป็นสมาธิ ฯลฯ อย่างไรๆ ตามที่เป็นไปอยู่ในขณะนั้นๆ
       4. ธัมมานุปัสสนา สติปัฏฐาน (การตั้งสติกำหนดพิจารณาธรรม ให้รู้เห็นตามเป็นจริงว่า เป็นแต่เพียงธรรม ไม่ใช่สัตว์บุคคลตัวตนเราเขา - contemplation of mind-objects; mindfulness as regards ideas) คือ มีสติรู้ชัดธรรมทั้งหลาย ได้แก่ นิวรณ์ 5 ขันธ์ 5 อายตนะ 12 โพชฌงค์ 7 อริยสัจ 4 ว่าคืออะไร เป็นอย่างไร มีในตนหรือไม่ เกิดขึ้น เจริญบริบูรณ์ และดับไปได้อย่างไร เป็นต้น ตามที่เป็นจริงของมันอย่างนั้นๆ.

D.II.290.315. ที.ม. 10/273-300/325-351.

แสดงผลการค้น ลำดับที่  4 / 8
[262] จริต หรือ จริยา 6 (ความประพฤติปกติ, ความประพฤติซึ่งหนักไปทางใดทางหนึ่ง อันเป็นปกติประจำอยู่ในสันดาน, พื้นเพของจิต, อุปนิสัย, พื้นนิสัย, แบบหรือประเภทใหญ่ๆ แห่งพฤติกรรมของคน — intrinsic nature of a person; characteristic behavior; character; temperament)
       ตัวความประพฤติเรียกว่า จริยา บุคคลผู้มีความประพฤติอย่างนั้นๆ เรียกว่า จริต
       1. ราคจริต (ผู้มีราคะเป็นความประพฤติปกติ, ประพฤติหนักไปทางรักสวยรักงาม — one of lustful temperament) กรรมฐานคู่ปรับสำหรับแก้ คือ อสุภะและกายคตาสติ
       2. โทสจริต (ผู้มีโทสะเป็นความประพฤติปกติ, ประพฤติหนักไปทางใจร้อนหงุดหงิด — one of hating temperament) กรรมฐานที่เหมาะ คือ พรหมวิหารและกสิณ โดยเฉพาะวัณณกสิณ
       3. โมหจริต (ผู้มีโมหะเป็นความประพฤติปกติ, ประพฤติหนักไปทางเขลา เหงาซึมเงื่องงง งมงาย — one of deluded temperament) กรรมฐานที่เกื้อกูล คือ อานาปานสติ และพึงแก้ด้วยมีการเรียน ถาม ฟังธรรม สนทนาธรรมตามกาลหรืออยู่กับครู
       4. สัทธาจริต (ผู้มีศรัทธาเป็นความประพฤติปกติ, ประพฤติหนักไปทางมีจิตซาบซึ้ง ชื่นบาน น้อมใจเลื่อมใสโดยง่าย — one of faithful temperament) พึงชักนำไปในสิ่งที่ควรแก่ความเลื่อมใส และความเชื่อที่มีเหตุผล เช่น พิจารณาอนุสติ 6 ข้อต้น
       5. พุทธิจริต หรือ ญาณจริต (ผู้มีความรู้เป็นความประพฤติปกติ, ประพฤติหนักไปในทางใช้ความคิดพิจารณา — one of intelligent temperament)
       6. วิตกจริต (ผู้มีวิตกเป็นความประพฤติปกติ, ประพฤติหนักไปทางนึกคิดจับจดฟุ้งซ่าน — one of speculative temperament) พึงแก้ด้วยสิ่งที่สะกดอารมณ์ เช่น เจริญอานาปานสติ หรือเพ่งกสิณ เป็นต้น

Ndi 359,453;
Ndii 138;
Vism.101
ขุ.ม. 29/727/435; 889/555;
ขุ.จู. 30/492/242;
วิสุทธิ. 1/127.

แสดงผลการค้น ลำดับที่  5 / 8
[331] สัญญา 10 (ความกำหนดหมาย, แนวความคิดความเข้าใจ สำหรับใช้กำหนดพิจารณาในการเจริญกรรมฐาน — perception; contemplation; ideas as objects of meditation)
       1. อนิจจสัญญา (กำหนดหมายความไม่เที่ยงแห่งสังขาร — contemplation on impermanency)
       2. อนัตตสัญญา (กำหนดหมายความเป็นอนัตตาแห่งธรรมทั้งปวง -- contemplation on impersonality)
       3. อสุภสัญญา (กำหนดหมายความไม่งามแห่งกาย — contemplation on foulness or loathsomeness)
       4. อาทีนวสัญญา (กำหนดหมายโทษทุกข์ของกายอันมีความเจ็บไข้ต่างๆ — contemplation on the disadvantages of the body)
       5. ปหานสัญญา (กำหนดหมายเพื่อละอกุศลวิตกและบาปธรรมทั้งหลาย -- contemplation on abandonment or overcoming)
       6. วิราคสัญญา (กำหนดหมายวิราคะว่าเป็นธรรมละเอียดประณีต — contemplation on detachment)
       7. นิโรธสัญญา (กำหนดหมายนิโรธว่าเป็นธรรมละเอียดประณีต — contemplation on cessation)
       8. สัพพโลเก อนภิรตสัญญา (กำหนดหมายความไม่น่าเพลิดเพลินในโลกทั้งปวง — contemplation on the non-delightfulness of the whole world)
       9. สัพพสังขาเรสุ อนิฏฐสัญญา (กำหนดหมายความไม่น่าปรารถนาในสังขารทั้งปวง — contemplation on the non-pleasantness of the whole world)
       10. อานาปานสติ (สติกำหนดลมหายใจเข้าออก — mindfulness of in- and out-breathing)

D.III.291;
A.V.109.
ที.ปา. 11/473/340;
องฺ.ทสก. 24/60/116

แสดงผลการค้น ลำดับที่  6 / 8
[335] อนุสติ 10 (ความระลึกถึง, อารมณ์อันควรระลึกถึงเนืองๆ — recollection; constant mindfulness)
       1. พุทธานุสติ (ระลึกถึงพระพุทธเจ้า คือ น้อมจิตระลึกถึงและพิจารณาคุณของพระองค์ — recollection of the Buddha; contemplation on the virtues of the Buddha)
       2. ธัมมานุสติ (ระลึกถึงพระธรรม คือ น้อมจิตระลึกถึงและพิจารณาคุณของพระธรรม — recollection of the Dhamma; contemplation on the virtues the Doctrine)
       3. สังฆานุสติ (ระลึกถึงพระสงฆ์ คือ น้อมจิตระลึกถึงและพิจารณาคุณของพระสงฆ์ — recollection of the Sangha; contemplation on the virtues of the Order)
       4. สีลานุสติ (ระลึกถึงศีล คือ น้อมจิตรำลึกพิจารณาศีลของตนที่ได้ประพฤติปฏิบัติบริสุทธิ์ไม่ด่างพร้อย — recollection of morality; contemplation on one’s own morals)
       5. จาคานุสติ (ระลึกถึงการบริจาค คือ น้อมจิตระลึกถึงทานที่ตนได้บริจาคแล้ว และพิจารณาเห็นคุณธรรมคือความเผื่อแผ่เสียสละนี้ที่มีในตน — recollection on liberality; contemplation on one’s own liberality)
       6. เทวตานุสติ (ระลึกถึงเทวดา คือ น้อมจิตระลึกถึงเทวดาทั้งหลายที่ตนเคยรู้และพิจารณาเห็นคุณธรรมอันทำบุคคลให้เป็นเทวดานั้นๆ ตามที่มีอยู่ในตน — recollection of deities; contemplation on the virtues which make people become gods as can be found in oneself)
       7. มรณสติ (ระลึกถึงความตายอันจะต้องมีมาถึงตนเป็นธรรมดา พิจารณาที่จะให้เกิดความไม่ประมาท — mindfulness of death; contemplation on death)
       8. กายคตาสติ (สติอันไปในกาย คือ กำหนดพิจารณากายนี้ ให้เห็นว่าประกอบด้วยส่วนต่างๆ อันไม่สะอาด ไม่งาม น่ารังเกียจ เป็นทางรู้เท่าทันสภาวะของกายนี้ มิให้หลงใหลมัวเมา — mindfulness occupied with the body; contemplation on the 32 impure parts of the body)
       9. อานาปานสติ (สติกำหนดลมหายใจเข้าออก — mindfulness on breathing)
       10. อุปสมานุสติ (ระลึกถึงธรรมเป็นที่สงบ คือ ระลึกถึงและพิจารณาคุณของพระนิพพาน อันเป็นที่ระงับกิเลสและความทุกข์ — recollection of peace; contemplation on the virtue of Nibbana)

       ดู [354] กรรมฐาน 40

A.I.30, 41;
Vism.197.
องฺ.เอก. 20/179-180/39-40; 224/54;
วิสุทธิ. 1/251.

[***] อภิณหปัจจเวกขณ์ 10 ดู [248] ปัพพชิตอภิณหปัจจเวกขณ์ 10.
[***] อเสขธรรม 10 ดู [333] สัมมัตตะ 10.

แสดงผลการค้น ลำดับที่  7 / 8
[345] ญาณ 16 หรือ โสฬสญาณ (ความหยั่งรู้ ในที่นี้หมายถึงญาณที่เกิดขึ้นแก่ผู้เจริญวิปัสสนาตามลำดับ ตั้งแต่ต้นจนถึงที่สุด — insight; knowledge)
       1. นามรูปปริจเฉทญาณ (ญาณกำหนดจำแนกรู้นามและรูป คือ รู้ว่าสิ่งทั้งหลายมีแต่รูปธรรมและนามธรรม และกำหนดแยกได้ว่า อะไรเป็นรูปธรรม อะไรเป็นนามธรรม — knowledge of the delimitation of mentality-materiality)
       2. ปัจจยปริคคหญาณ (ญาณกำหนดรู้ปัจจัยของนามและรูป คือรู้ว่า รูปธรรมและนามธรรมทั้งหลายเกิดจากเหตุปัจจัยและเป็นปัจจัยแก่กัน อาศัยกัน โดยรู้ตามแนวปฏิจจสมุปบาท ก็ดี ตามแนวกฏแห่งกรรม ก็ดี ตามแนววัฏฏะ 3 ก็ดี เป็นต้น — knowledge of discerning the conditions of mentality-materiality)
       3. สัมมสนญาณ (ญาณกำหนดรู้ด้วยพิจารณาเห็นนามและรูปโดยไตรลักษณ์ คือ ยกรูปธรรมและนามธรรมทั้งหลายขึ้นพิจารณาโดยเห็นตามลักษณะที่เป็นของไม่เที่ยง เป็นทุกข์ มิใช่ตัวตน — knowledge of comprehending mentality-materiality as impermanent, unsatisfactory and not-self)
       4-12. ได้แก่ วิปัสสนาญาณ 9 ดู [311]
       13. โคตรภูญาณ (ญาณครอบโคตร คือ ความหยั่งรู้ที่เป็นหัวต่อแห่งการข้ามพ้นจากภาวะปุถุชนเข้าสู่ภาวะอริยบุคคล — knowledge at the moment of the ‘Change-of-lineage’)
       14. มัคคญาณ (ญาณในอริยมรรค คือ ความหยั่งรู้ที่ให้สำเร็จภาวะอริยบุคคลแต่ละขั้น —knowledge of the Path)
       15. ผลญาณ (ญาณในอริยผล คือ ความหยั่งรู้ที่เป็นผลสำเร็จของพระอริยบุคคลชั้นนั้นๆ — knowledge of Fruition)
       16. ปัจจเวกขณญาณ (ญาณหยั่งรู้ด้วยการพิจารณาทบทวน คือ สำรวจรู้มรรค ผล กิเลสที่ละแล้ว กิเลสที่เหลืออยู่ และนิพพาน เว้นแต่ว่าพระอรหันต์ไม่มีการพิจารณากิเลสที่ยังเหลืออยู่ — knowledge of reviewing)

       ในญาณ 16 นี้ 14 อย่าง (ข้อ 1-13 และ 16) เป็น โลกียญาณ, 2 อย่าง (ข้อ 14 และ 15) เป็น โลกุตตรญาณ
       ญาณ 16 (บางทีเรียกว่า โสฬสญาณ ซึ่งก็แปลว่าญาณ 16 นั่นเอง) ที่จัดลำดับเป็นชุดและเรียกชื่อเฉพาะอย่างนี้ มิใช่มาในพระบาลีเดิมโดยตรง พระอาจารย์ในสายวงการวิปัสสนาธุระได้สอนสืบกันมา โดยประมวลจากคัมภีร์ปฏิสัมภิทามรรค และวิสุทธิมรรค ในกาลต่อมา

       (พึงดู ขุ.ปฏิ. 31/มาติกา/1-2 = Ps.1 และ วิสุทธิ. 3/206-328 = Vism. 587-678)

[***] รูปพรหม หรือ พรหมโลก 16 ดู [351] ภูมิ 4 หรือ 31.
[***] โสฬสวัตถุกอานาปานสติ ดู [346] อานาปานสติ 16 ฐาน
[***] อานาปานสติ 16 ขั้น ดู [346] อานาปานสติ 16 ฐาน

แสดงผลการค้น ลำดับที่  8 / 8
[346] อานาปานสติ 16 ฐาน (สติกำหนดลมหายใจ, การเจริญอานาปานสติ คือใช้สติกำหนดลมหายใจเข้า-ออก แบบที่เป็นการเจริญสติปัฏฐานไปด้วยครบทั้ง 4 - mindfulness of breathing with sixteen bases)
       จตุกกะที่ 1 : กายานุปัสสนา
       1) ทีฆํ วา อสฺสสนฺโต 'ทีฆํ อสฺสสามี'ติ ปชานาติ,
ทีฆํ วา ปสฺสสนฺโต 'ทีฆํ ปสฺสสามี'ติ ปชานาติ;
       2) รสฺสํ วา อสฺสสนฺโต 'รสฺสํ อสฺสสามี'ติ ปชานาติ,
รสฺสํ วา ปสฺสสนฺโต 'รสฺสํ ปสฺสสามี'ติ ปชานาติ;
       3) 'สพฺพกายปฏิสํเวที อสฺสสิสฺสามี'ติ สิกฺขติ,
'สพฺพกายปฏิสํเวที ปสฺสสิสฺสามี'ติ สิกฺขติ;
       4) 'ปสฺสมฺภยํ กายสงฺขารํ อสฺสสิสฺสามี'ติ สิกฺขติ,
'ปสฺสมฺภยํ กายสงฺขารํ ปสฺสสิสฺสามี'ติ สิกฺขติ.
       1) เมื่อหายใจเข้ายาว เธอก็รู้ชัดว่า เราหายใจเข้ายาว
หรือเมื่อหายใจออกยาว เธอก็รู้ชัดว่า เราหายใจออกยาว
       2) เมื่อหายใจเข้าสั้น เธอก็รู้ชัดว่า เราหายใจเข้าสั้น
หรือเมื่อหายใจออกสั้น เธอก็รู้ชัดว่า เราหายใจออกสั้น
       3) เธอสำเหนียกว่า เราจักรู้ทั่วกาย(กองลม)ทั้งหมด หายใจเข้า
เธอสำเหนียกว่า เราจักรู้ทั่วกาย(กองลม)ทั้งหมด หายใจออก
       4) เธอสำเหนียกว่า เราจักผ่อนระงับกายสังขาร หายใจเข้า
เธอสำเหนียกว่า เราจักผ่อนระงับกายสังขาร หายใจออก
       1. Breathing in long, he knows: “I am breathing in long”,
or breathing out long, he knows: “I am breathing out long”,
       2. Breathing in short, he knows: “I am breathing in short”:
or breathing out short, he knows: “I am breathing out short”;
       3. He trains thus: “Experiencing the entire (breath-) body, I shall breathe in”,
He trains thus: “Experiencing the entire (breath-) body, I shall breathe out”;
       4. He trains thus: “Calming the bodily formation, I shall breathe in”,
He trains thus: “Calming the bodily formation, I shall breathe out”.

       จตุกกะที่ 2 : เวทนานุปัสสนา
       5) 'ปีติปฏิสํเวที อสฺสสิสฺสามี'ติ สิกฺขติ,
'ปีติปฏิสํเวที ปสฺสสิสฺสามี'ติ สิกฺขติ;
       6) 'สุขปฏิสํเวที อสฺสสิสฺสามี'ติ สิกฺขติ,
'สุขปฏิสํเวที ปสฺสสิสฺสามี'ติ สิกฺขติ;
       7) 'จิตฺตสงฺขารปฏิสํเวที อสฺสสิสฺสามี'ติ สิกฺขติ,
'จิตฺตสงฺขารปฏิสํเวที ปสฺสสิสฺสามี'ติ สิกฺขติ;
       8) 'ปสฺสมฺภยํ จิตฺตสงฺขาร อสฺสสิสฺสามี'ติ สิกฺขติ,
'ปสฺสมฺภยํ จิตฺตสงฺขาร ปสฺสสิสฺสามี'ติ สิกฺขติ.
       5) เธอสำเหนียกว่า เราจักเสวยรู้ปีติ หายใจเข้า
เธอสำเหนียกว่า เราจักเสวยรู้ปีติ หายใจออก
       6) เธอสำเหนียกว่า เราจักเสวยรู้ความสุข หายใจเข้า
เธอสำเหนียกว่า เราจักเสวยรู้ความสุข หายใจออก
       7) เธอสำเหนียกว่า เราจักเสวยรู้จิตตสังขาร หายใจเข้า
เธอสำเหนียกว่า เราจักเสวยรู้จิตตสังขาร หายใจออก
       8) เธอสำเหนียกว่า เราจักผ่อนระงับจิตตสังขาร หายใจเข้า
เธอสำเหนียกว่า เราจักผ่อนระงับจิตตสังขาร หายใจออก
       5. He trains thus: “Experiencing rapture, I shall breathe in”,
He trains thus: “Experiencing rapture, I shall breathe out”;
       6. He trains thus: “Experiencing joy, I shall breathe in”,
He trains thus: “Experiencing joy, I shall breathe out”;
       7. He trains thus: “Experiencing the mental formation, I shall breathe in”,
He trains thus: “Experiencing the mental formation, I shall breathe out”;
       8. He trains thus: “Calming the mental formation, I shall breathe in”,
He trains thus: “Calming the mental formation, I shall breathe out”;

       จตุกกะที่ 3 : จิตตานุปัสสนา
       9) 'จิตฺตปฏิสํเวที อสฺสสิสฺสามี'ติ สิกฺขติ,
'จิตฺตปฏิสํเวที ปสฺสสิสฺสามี'ติ สิกฺขติ;
       10) 'อภิปฺปโมทย์ จิตฺตํ อสฺสสิสฺสามี'ติ สิกฺขติ,
'อภิปฺปโมทย์ จิตฺตํ ปสฺสสิสฺสามี'ติ สิกฺขติ;
       11) 'สมาทหํ จิตฺตํ อสฺสสิสฺสามี'ติ สิกฺขติ,
'สมาทหํ จิตฺตํ ปสฺสสิสฺสามี'ติ สิกฺขติ;
       12) 'วิโมจยํ จิตฺตํ อสฺสสิสฺสามี'ติ สิกฺขติ,
'วิโมจยํ จิตฺตํ ปสฺสสิสฺสามี'ติ สิกฺขติ.
       9) เธอสำเหนียกว่า เราจักรู้ทั่วถึงจิต หายใจเข้า
เธอสำเหนียกว่า เราจักรู้ทั่วถึงจิต หายใจออก
       10) เธอสำเหนียกว่า เราจักทำจิตให้ร่าเริง หายใจเข้า
เธอสำเหนียกว่า เราจักทำจิตให้ร่าเริง หายใจออก
       11) เธอสำเหนียกว่า เราจักทำจิตให้ตั้งมั่น หายใจเข้า
เธอสำเหนียกว่า เราจักทำจิตให้ตั้งมั่น หายใจออก
       12) เธอสำเหนียกว่า เราจักปล่อยเปลื้องจิต หายใจเข้า
เธอสำเหนียกว่า เราจักปล่อยเปลื้องจิต หายใจออก
       9. He trains thus: “Experiencing the mind, I shall breathe in”,
He trains thus: “Experiencing the mind, I shall breathe out”;
       10. He trains thus: “Gladdening the mind, I shall breathe in”,
He trains thus: “Gladdening the mind, I shall breathe out”;
       11. He trains thus: “Concentrating the mind, I shall breathe in”,
He trains thus: “Concentrating the mind, I shall breathe out”;
       12. He trains thus: “Liberating the mind, I shall breathe in”,
He trains thus: “Liberating the mind, I shall breathe out”.

       จตุกกะที่ 4 : ธัมมานุปัสสนา
       13) 'อนิจฺจานุปสฺสี อสฺสสิสฺสามี'ติ สิกฺขติ,
'อนิจฺจานุปสฺสี ปสฺสสิสฺสามี'ติ สิกฺขติ;
       14) 'วิราคานุปสฺสี อสฺสสิสฺสามี'ติ สิกฺขติ,
'วิราคานุปสฺสี ปสฺสสิสฺสามี'ติ สิกฺขติ;
       15) 'นิโรธานุปสฺสี อสฺสสิสฺสามี'ติ สิกฺขติ,
'นิโรธานุปสฺสี ปสฺสสิสฺสามี'ติ สิกฺขติ;
       16) 'ปฏินิสฺสคฺคานุปสฺสี อสฺสสิสฺสามี'ติ สิกฺขติ,
'ปฏินิสฺสคฺคานุปสฺสี ปสฺสสิสฺสามี'ติ สิกฺขติ.
       13) เธอสำเหนียกว่า เราจักพิจารณาเห็นความไม่เที่ยง หายใจเข้า
เธอสำเหนียกว่า เราจักพิจารณาเห็นความไม่เที่ยง หายใจออก
       14) เธอสำเหนียกว่า เราจักพิจารณาเห็นความคลายออกได้ หายใจเข้า
เธอสำเหนียกว่า เราจักพิจารณาเห็นความคลายออกได้ หายใจออก
       15) เธอสำเหนียกว่า เราจักพิจารณาเห็นความดับกิเลส หายใจเข้า
เธอสำเหนียกว่า เราจักพิจารณาเห็นความดับกิเลส หายใจออก
       16) เธอสำเหนียกว่า เราจักพิจารณาเห็นความสลัดคืนได้ หายใจเข้า
เธอสำเหนียกว่า เราจักพิจารณาเห็นความสลัดคืนได้ หายใจออก
       13. He trains thus: “Contemplating impermanence, I shall breathe in”,
He trains thus: “Contemplating impermanence, I shall breathe out”;
       14. He trains thus: “Contemplating fading away, I shall breathe in”,
He trains thus: “Contemplating fading away, I shall breathe out”;
       15. He trains thus: “Contemplating cessation, I shall breathe in”,
He trains thus: “Contemplating cessation, I shall breathe out”;
       16. He trains thus: “Contemplating relinquishment, I shall breathe in”,
He trains thus: “Contemplating relinquishment, I shall breathe out”.

       ข้อควรทราบ :
       ก) คำว่า หายใจเข้า และหายใจออก นั้นพึงทราบว่า เป็นคำที่มีการแปลต่างกัน คือ อรรถกถาแห่งพระวินัยแปล อสฺสาส ว่า “หายใจออก” และ ปสฺสาส ว่า “หายใจเข้า” ส่วนอรรถกถาแห่งพระสูตรแปลกลับตรงข้าม คือแปล อสฺสาส ว่า “หายใจเข้า” และ ปสฺสาส ว่า “หายใจออก” ในที่นี้ถือตามคำแปลของอรรถกถาแห่งพระสูตร ผู้ศึกษาทราบอย่างนี้แล้ว จะใช้แบบใดก็ได้ พึงเลือกตามปรารถนา
       ข) “สำเหนียกว่า” เป็นคำแปลตามสำนวนเก่า หมายถึงคำบาลีว่า สิกฺขติ จะแปลแบบทับศัพท์เป็น “ศึกษาว่า” ก็ได้
       ค) ธรรมหมวดนี้ เรียกตามบาลีแห่งคัมภีร์ปฏิสัมภิมัคค์ว่า โสฬสวัตถุกอานาปานสติ (เช่น ขุ.ปฏิ. 31/362/244: 387/260= Ps.I.162;173 คำบาลีเดิมเป็น โสฬสวตฺถุกา อานาปานสฺสติ บ้าง โสฬสวตฺถุโก อานาปานสฺสติสมาธิ บ้าง บางทีอรรถกถาก็เรียกยักเยื้องไปว่า โสฬสวตฺถุกา อานาปานสฺสติสมาธิภาวนา บ้าง โสฬสวตฺถุ อานาปานสฺสติกมฺมฏฺฐานํ บ้าง) แปลแบบรักษาศัพท์ว่า “อานาปานสติมีวัตถุ 16” แต่ในที่นี้เลือกแปลตามคำอธิบายในคัมภีร์ ปรมัตถมัญชุสา มหาฎีกาแห่งวิสุทธิมัคคฺ (วิสุทฺธิ.ฏีกา 2/34) ว่า “อานาปานสติ 16 ฐาน” เพราะในภาษาไทย คำว่า ฐาน เป็นคำที่คุ้นและช่วยสื่อความหมายของคำว่า วัตถุ ในที่นี้ได้ดี แต่จะแปลว่า “อานาปานสติ 16 หลัก” หรือ “อานาปานสติ 16 หัวข้อ (หรือ 16 ข้อ)” ก็ได้ บางทีก็เรียกให้ฟังเป็นลำดับว่า “อานาปานสติ 16 ชั้น”
       ง) 16 ฐาน หรือ 16 หลัก หรือ 16 หัวข้อ หรือ 16 ข้อ ข้อ หรือ 16 ชั้นนั้น ท่านจัดเป็น 4 จตุกกะ คือ เป็นหมวดสี่ 4 หมวด ดังนี้
           1. กายานุปัสสนาจตุกกะ (หมวดสี่แห่งกายานุปัสสนา)
           2. เวทนานุปัสสนาจตุกกะ (หมวดสี่แห่งเวทนานุปัสสนา)
           3. จิตตานุปัสสนาจตุกกะ (หมวดสี่แห่งจิตตานุปัสสนา)
           4. ธัมมานุปัสสนาจตุกกะ (หมวดสี่แห่งธัมมานุปัสสนา)
           เป็นการระบุชัดว่า ส่วนไหนเป็นสติปัฏฐานข้อใด
       จ) ว่าโดยไตรสิกขา ระหว่างปฏิบัตินั้น
           - ความมีกายวาจาตั้งอยู่ในความสงบสำรวม โดยมีเจตนาอันปลอดจากการละเมิดหรือเบียดเบียน (กายิกวาจสิกอวีตีกกมะ) เป็น ศีล
           - การมีสติกำหนด ด้วยจิตที่ตั้งมั่นมีอารมณ์อารมณ์หนึ่งเดียวตามที่กำหนด (จิตตัสเสกัคตา) เป็น สมาธิ
           - ความมีสัมปชัญญะรู้ทั่วพร้อม มองเห็นตามสภาวะ เป็น ปัญญา
       ฉ) ในการปฏิบัติ ศีลเป็นเพียงฐานที่รองรับอยู่ ส่วนธรรมที่ปฏิบัติซึ่งจะเจริญขึ้นไป คือ สมาธิ และปัญญา อันได้แก่ สมถะ ในข้อต่อไป
       ช) ในการปฏิบัติทั้งหมดนี้ สามจตุกกะแรก มีทั้ง สมถะ และ วิปัสสนา แต่จตุกกะที่ ๔ เป็น วิปัสสนา ล้วน
       ฌ) โสฬสวัตถุกอานาปานสติ นี้ พระพุทธเจ้าตรัสแสดงบ่อย พบได้หลายแห่งในพระไตรปิฎก แต่ที่ประมวลเรื่องเกี่ยวข้องและข้อความแวดล้อมไว้ครบถ้วน ซึ่งรู้จักกันดีและเป็นที่อ้างอิงกันทั่วไป คือ อานาปานสติสูตร (ม.อุ. 14/282-291/190-202=M.III.78-82) นอกจากนั้นยังมีคำอธิบายโดยพิสดารในพระไตรปิฎก ปรากฏใน ปฏิสัมภิทามัคค์ (ขุ.ปฏิ. 31/362-422/244-299; = Ps.I.162-196) ส่วนในชั้นอรรถกถา ก็มีอธิบายหลายแห่ง โดยเฉพาะที่ค้นคว้าได้สะดวก คือ วิสุทธิมัคค์ (วิสุทฺธิ. 25/52-82= Vism.266-296)

Vin.III.70;
M.I.425;
M.III.82;
S.V.311;
A.V.111;
Ps.I.162.
วินย. 1/178/132;
ม.ม. 13/146/140;
ม.อุ. 14/287-288/193;
สํ.ม. 19/1305-1306/394;
องฺ.ทสก. 24/60/119;
ขุ.ปฏิ. 31/362/244.


พจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลธรรม พิมพ์ครั้งที่ ๑๒ พ.ศ. ๒๕๔๖
http://84000.org/tipitaka/dic/d_seek.php?text=อานาปานสติ&detail=on
http://84000.org/tipitaka/dic/d_seek.php?text=%CD%D2%B9%D2%BB%D2%B9%CA%B5%D4&detail=on


บันทึก  ๙ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๔๗,  ๔ มกราคม พ.ศ. ๒๕๔๘ การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจาก พจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลธรรม พิมพ์ครั้งที่ ๗ พ.ศ. ๒๕๓๕, พิมพ์ครั้งที่ ๑๒ พ.ศ. ๒๕๔๖ หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]