ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ค้นพระไตรปิฎก ชาดก หนังสือธรรมะ
อ่านหน้า[ต่าง] แรกอ่านหน้า[ต่าง] ที่แล้วอ่านหน้า[ต่าง] ถัดไปอ่านหน้า[ต่าง] สุดท้าย
พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ป.อ. ปยุตฺโต) พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ. ปยุตฺโต) พระธรรมปิฎก (ประยุทธ์ ปยุตฺโต)

นิสัย
       1. ที่พึ่ง, ที่อาศัย เช่น ขอนิสัยในการอุปสมบท (คือกล่าวคำขอร้องต่ออุปัชฌาย์ในพิธีอุปสมบท ขอให้ท่านเป็นที่พึ่ง ที่อาศัยของตน ทำหน้าที่ปกครองสั่งสอนให้การศึกษาอบรมต่อไป)
           อาจารย์ผู้ให้นิสัย (อาจารย์ผู้รับที่จะทำหน้าที่เป็นที่พึ่ง ที่อาศัยปกครองแนะนำในการศึกษาอบรม)
       2. ปัจจัยเครื่องอาศัยของบรรพชิต ๔ อย่าง คือ จีวร บิณฑบาต เสนาสนะ คิลานเภสัช
       3. ความประพฤติที่เคยชิน เช่น ทำจนเป็นนิสัย
       การขอนิสัย (ขออยู่ในปกครองหรือขอให้เป็นที่พึ่งในการศึกษา) สำเร็จด้วยการถืออุปัชฌาย์ (ขอให้เป็นอุปัชฌาย์) นั่นเอง ในพิธีอุปสมบทอย่างที่ปฏิบัติกันอยู่ การขอนิสัยถืออุปัชฌาย์เป็นบุพกิจตอนหนึ่งของการอุปสมบท ก่อนจะทำการสอนซ้อม ถามตอบอันตรายิกธรรม
       ผู้ขออุปสมบทเปล่งวาจาขอนิสัยถืออุปัชฌาย์ดังนี้
       (เฉพาะข้อความที่พิมพ์ตัวหนาเท่านั้นเป็นวินัยบัญญัติ นอกนั้นท่านเสริมเข้ามาเพื่อให้หนักแน่น) :
           “อหํ ภนฺเต นิสฺสยํ ยาจามิ,
           ทุติยมฺปิ อหํ ภนฺเต นิสฺสยํ ยาจามิ,
           ตติยมฺปิ อหํ ภนฺเต นิสฺสยํ ยาจามิ,
           อุปชฺฌาโย เม ภนฺเต โหหิ, อุปชฺฌาโย เม ภนฺเต โหหิ, อุปชฺฌาโย เม ภนฺเต โหหิ”
       ลำดับนั้น ผู้จะเป็นอุปัชฌายะกล่าวตอบว่า
           “สาหุ” (ดีละ)
           “ลหุ” (เบาใจดอก)
           “โอปายิกํ” (ชอบแก่อุบาย)
           “ปฏิรูปํ” (สมควรอยู่)
           “ปาสาทิเกน สมฺปาเทหิ” (จงให้ถึงพร้อมด้วยอาการอันน่าเลื่อมใสเถิด)
       คำใดคำหนึ่ง หรือให้รู้เข้าใจด้วยอาการทางกายก็ตาม ก็เป็นอันได้ถืออุปัชฌาย์แล้ว แต่นิยมกันมาให้ผู้ขอกล่าวรับคำของท่านแต่ละคำว่า สาธุ ภนฺเต หรือ สมฺปฏิจฺฉามิ แล้ว กล่าวต่อไปอีกว่า
           อชฺชตฺตคฺเคทานิ เถโร มยฺหํ ภาโร, อหมฺปิ เถรสฺส ภาโร (ว่า ๓ หน)
           (= ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป พระเถระเป็นภาระของข้าพเจ้า แม้ข้าพเจ้าก็เป็นภาระของพระเถระ)
       ภิกษุนวกะถ้าไม่ได้อยู่ในปกครองของอุปัชฌาย์ด้วยเหตุอย่างใดอย่างหนึ่งที่ทำให้นิสัยระงับ เช่น อุปัชฌาย์ ไปอยู่เสียที่อื่น ต้องถือภิกษุอื่นเป็นอาจารย์และอาศัยท่านแทน วิธีถืออาจารย์ก็เหมือนกับวิธีถืออุปัชฌาย์เปลี่ยนแต่คำของว่า
           “อาจริโย เม ภนฺเต โหหิ, อายสฺมโต นิสฺสาย วจฺฉามิ”
           (ขอท่านจงเป็นอาจารย์ของข้าพเจ้าๆ จักอยู่อาศัยท่าน)


พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ บรรทัดที่ ๑๓๓๖ - ๑๓๓๘.
http://84000.org/tipitaka/dic/v_line.php?A=1336&Z=1338

อ่านหน้า[ต่าง] แรกอ่านหน้า[ต่าง] ที่แล้วอ่านหน้า[ต่าง] ถัดไปอ่านหน้า[ต่าง] สุดท้าย

บันทึก  ๒, ๓๐ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๔๗ การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจาก พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ พิมพ์ครั้งที่ ๑๐. พ.ศ. ๒๕๔๖ หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]