ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ค้นพระไตรปิฎก ชาดก หนังสือธรรมะ
พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ. ปยุตฺโต) พระธรรมปิฎก (ประยุทธ์ ปยุตฺโต)
            การค้นหาคำว่า “ ประเคน ”             ผลการค้นหาพบ  9  ตำแหน่ง ดังนี้ :-

แสดงผลการค้น ลำดับที่  1 / 9
กาลิก เนื่องด้วยกาล, ขึ้นกับกาล, ของอันจะกลืนกินให้ล่วงลำคอเข้าไปซึ่งพระวินัยบัญญัติให้ภิกษุรับเก็บไว้และฉันได้ภายในเวลาที่กำหนด จำแนกเป็น ๔ อย่าง คือ
       ๑. ยาวกาลิก รับประเคนไว้และฉันได้ชั่วเวลาเช้าถึงเที่ยงของวันนั้น
           เช่น ข้าว ปลา เนื้อ ผัก ผลไม้ ขนมต่างๆ
       ๒. ยามกาลิก รับประเคนไว้และฉันได้ชั่ววันหนึ่งกับคืนหนึ่ง คือก่อนอรุณของวันใหม่
           ได้แก่ ปานะ คือ น้ำคั้นผลไม้ที่ทรงอนุญาต
       ๓. สัตตาหกาลิก รับประเคนไว้แล้วฉันได้ภายในเวลา ๗ วัน
           ได้แก่ เภสัชทั้ง ๕
       ๔. ยาวชีวิก รับประเคนแล้ว ฉันได้ตลอดไปไม่จำกัดเวลา
           ได้แก่ ของที่ใช้ปรุงเป็นยา นอกจากกาลิก ๓ ข้อต้น
           (ความจริงยาวชีวิก ไม่เป็นกาลิก แต่นับเข้าด้วยโดยปริยาย เพราะเป็นของเกี่ยวเนื่องกัน)

แสดงผลการค้น ลำดับที่  2 / 9
ประเคน ส่งของถวายพระภายในหัตถบาส, ส่งให้ถึงมือ;
       องค์แห่งการประเคนมี ๕ คือ
           ๑. ของไม่ใหญ่โตหรือหนักเกินไป พอคนปานกลางคนเดียวยกได้
           ๒. ผู้ประเคนเข้ามาอยู่ในหัตถบาส คือห่างประมาณศอกหนึ่ง
           ๓. เขาน้อมของนั้นเข้ามาให้
           ๔. น้อมให้ด้วยกาย ด้วยของเนื่องด้วยกาย หรือโยนให้ก็ได้
           ๕. ภิกษุรับด้วยกายก็ได้ ด้วยของเนื่องด้วยกายก็ได้
               (ถ้าผู้หญิงประเคน ใช้ผ้ากราบหรือผ้าเช็ดหน้าที่สะอาดรับ)

แสดงผลการค้น ลำดับที่  3 / 9
ปานะ เครื่องดื่ม, น้ำสำหรับดื่ม ที่คั้นจากลูกไม้ (น้ำคั้นผลไม้) จัดเป็นยามกาลิก
       ท่านแสดงไว้ ๘ ชนิด คือ
           ๑. อมฺพปานํ น้ำมะม่วง
           ๒. ชมฺพุปานํ น้ำชมพู่หรือน้ำหว้า
           ๓. โจจปานํ น้ำกล้วยมีเม็ด
           ๔. โมจปานํ น้ำกล้วยไม่มีเม็ด
           ๕. มธุกปานํ น้ำมะทราง (ต้องเจือน้ำจึงจะควร)
           ๖. มุทฺทิกปานํ น้ำลูกจันทร์หรือองุ่น
           ๗. สาลุกปานํ น้ำเหง้าอุบล
           ๘. ผารุสกปานํ น้ำมะปรางหรือลิ้นจี่
       นิยมเรียกว่า อัฏฐบาน หรือ น้ำอัฏฐบาน (ปานะ ๘ อย่าง)
       วิธีทำปานะที่ท่านแนะไว้ คือ ปอกหรือคว้านผลไม้เหล่านี้ที่สุก เอาผ้าห่อ บิดให้ตึงอัดเนื้อผลไม้ให้คายน้ำออกจากผ้า เติมน้ำลงให้พอดี (จะไม่เติมน้ำก็ได้เว้นแต่ผลมะทรางซึ่งท่านระบุว่าต้องเจือน้ำจึงควร) แล้วผสมน้ำตาลและเกลือเป็นต้นลงไปพอให้ได้รสดี
       ข้อจำกัดที่พึงทราบคือ
           ๑. ปานะนี้ให้ใช้ของสดห้ามมิให้ต้มด้วยไฟ
               (ข้อนี้พระมติสมเด็จพระมหาสมณเจ้ากรมพระยาวชิรญาณวโรรสว่าแม้สุกก็ไม่น่ารังเกียจ)
           ๒. ต้องเป็นของที่อนุปสัมบันทำ จึงควรฉันในเวลาวิกาล
               (ถ้าภิกษุทำถือเป็นเหมือนยาวกาลิก เพราะรับประเคนมาทั้งผล)
           ๓. ของประกอบเช่นน้ำตาลและเกลือ ไม่ให้เอาของที่รับประเคนค้างคืนไว้มาใช้
               (แสดงว่ามุ่งให้เป็นปานะที่อนุปสัมบันทำถวายด้วยของของเขาเอง)

แสดงผลการค้น ลำดับที่  4 / 9
เภสัช ยา, ยารักษาโรค, ยาแก้โรค เป็นอย่างหนึ่งในปัจจัย ๔,
       เภสัช ๕ ที่เป็นสัตตาหกาลิก รับไว้ฉันได้ตลอด ๗ วัน คือ
           ๑. สัปปิ เนยใส
           ๒. นวนีตะ เนยข้น
           ๓. เตละ น้ำมัน
           ๔. มธุ น้ำผึ้ง
           ๕. ผาณิต น้ำอ้อย;
       ส่วนยาแก้โรคที่ทำจากรากไม้ เปลือกไม้ ใบไม้ เป็นต้น จัดเป็นยาวชีวิก คือรับประเคนไว้แล้ว เก็บไว้ฉันได้ตลอดชีวิต

แสดงผลการค้น ลำดับที่  5 / 9
มหาวิกัฏ ยา ๔ อย่าง คือ มูตร คูถ เถ้า ดิน
       ภิกษุอาพาธฉันได้โดยไม่ต้องรับประเคน คือไม่ต้องอาบัติเพราะขาดประเคน

แสดงผลการค้น ลำดับที่  6 / 9
วัตถุ ๑๐ เรื่องที่เป็นต้นเหตุ, ข้อซึ่งเป็นที่ตั้งหรือเป็นจุดเริ่มเรื่อง,
       ข้อปฏิบัติ ๑๐ ประการของพวกภิกษุวัชชีบุตร ชาวเมืองเวสาลี ที่ผิดเพี้ยนย่อหย่อนทางพระวินัย แปลกจากสงฆ์พวกอื่น เป็นเหตุปรารภให้มีการสังคายนาครั้งที่ ๒ เมื่อ พ.ศ. ๑๐๐ มีดังนี้
           ๑. สิงคิโลณกัปปะ เรื่องเกลือเขนง
               ถือว่า เกลือที่เก็บไว้ในเขนง (ครั้งนั้นภิกษุเก็บเกลือไว้ในเขนง ความหมายคือ รับประเคนไว้ค้างคืนแล้ว) เอาออกผสมอาหารฉันได้
           ๒. ทวังคุลกัปปะ เรื่องสองนิ้ว
               ถือว่า เงาแดดบ่ายเลยเที่ยงเพียง ๒ นิ้ว ฉันอาหารได้
           ๓. คามันตรกัปปะ เรื่องเข้าละแวกบ้าน
               ถือว่า ภิกษุฉันแล้ว ห้ามอาหารแล้ว ปรารภว่าจะเข้าละแวกบ้านเดี๋ยวนั้น ฉันโภชนะเป็นอนติริตตะได้
           ๔. อาวาสกัปปะ เรื่องอาวาส
               ถือว่า ภิกษุในหลายอาวาสที่มีสีมาเดียวกัน แยกทำอุโบสถต่างหากกันได้
           ๕. อนุมติกัปปะ เรื่องอนุมัติ
               ถือว่า ภิกษุยังมาไม่พร้อม ทำสังฆกรรมไปพลาง ภิกษุที่มาหลังจึงขออนุมัติก็ได้
           ๖. อาจิณณกัปปะ เรื่องเคยประพฤติมา
               ถือว่า ธรรมเนียมใดอุปัชฌาย์อาจารย์เคยประพฤติมาแล้ว ควรประพฤติตามอย่างนั้น
           ๗. อมถิตกัปปะ เรื่องไม่กวน
               ถือว่า น้ำนมสดแปรไปแล้วแต่ยังไม่เป็นทธิคือนมส้ม ภิกษุฉันแล้ว ห้ามอาหารแล้ว ดื่มน้ำนมอย่างนั้น อันเป็นอนติริตตะได้
           ๘. ชโลคิง ปาตุง ถือว่า สุราอย่างอ่อน ไม่ให้เมา ดื่มได้
           ๙. อทสกัง นิสีทนัง ถือว่า ผ้านิสีทนะไม่มีชายก็ใช้ได้
           ๑๐. ชาตรูปรชตัง ถือว่า ทองและเงินเป็นของควร รับได้
       กรณีวัตถุ ๑๐ ประการนี้ จัดเป็นวิวาทาธิกรณ์ใหญ่เรื่องหนึ่ง

แสดงผลการค้น ลำดับที่  7 / 9
สังฆทาน ทานเพื่อสงฆ์,
       การถวายแก่สงฆ์ คือ ถวายเป็นกลางๆ ไม่จำเพาะเจาะจงภิกษุรูปใดรูปหนึ่ง
       เช่น จะทำพิธีถวายของที่มีจำนวนจำกัด พึงแจ้งแก่ทางวัดให้จัดพระไปรับตามจำนวนที่ต้องการ
       หัวหน้าสงฆ์จัดภิกษุใดไป พึงทำใจว่า ท่านมารับในนามของสงฆ์ หรือ เป็นผู้แทนของสงฆ์ทั้งหมด
       ไม่พึงเพ่งเล็งว่า เป็นบุคคลใด คิดตั้งใจแต่ว่า จะถวายอุทิศแก่สงฆ์;
       ในพิธีพึงจุดธูปเทียนบูชาพระ อาราธนาศีล รับศีล จบแล้วตั้งนโม ๓ จบ กล่าวคำถวายเสร็จแล้วประเคนของ และเมื่อพระสงฆ์อนุโมทนา พึงกรวดน้ำ รับพร เป็นเสร็จพิธี;
       คำถวายสังฆทานว่าดังนี้ :
           “อิมานิ มยํ ภนฺเต, ภตฺตานิ, สปริวารานิ, ภิกฺขุสงฺฆสฺส, โอโณชยาม, สาธุ โน ภนฺเต, ภิกฺขุสงฺโฆ, อิมานิ, ภตฺตานิ, สปริวารานิ, ปฏิคฺคณฺหาตุ, อมฺหากํ, ทีฆรตฺตํ, หิตาย, สุขาย”
       แปลว่า :
           “ข้าแต่พระสงฆ์ผู้เจริญ ข้าพเจ้าทั้งหลายขอน้อมถวาย ภัตตาหาร กับทั้งบริวารเหล่านี้แก่พระภิกษุสงฆ์
           ขอพระภิกษุสงฆ์จงรับ ภัตตาหาร กับทั้งบริวารเหล่านี้ ของข้าพเจ้าทั้งหลาย เพื่อประโยชน์ และความสุข แก่ข้าพเจ้าทั้งหลาย สิ้นกาลนานเทอญ”
       อนึ่ง ถ้าเป็นสังฆทานประเภทอุทิศผู้ตาย เรียกว่า มตกภัต
       พึงเปลี่ยนแปลงคำถวายที่ พิมพ์ตัวเอน ไว้คือ
           ภตฺตานิ เป็น มตกภตฺตานิ,
           อมฺหากํ เป็น อมฺหากญฺเจว มาตาปิตุอาทีนญฺจ ญาตกานํ กาลกตานํ;
           ภัตตาหาร เป็น มตกภัตตาหาร,
           แก่ข้าพเจ้าทั้งหลาย เป็น แก่ข้าพเจ้าทั้งหลายด้วย แก่ญาติของข้าพเจ้าทั้งหลาย มีมารดา บิดา เป็นต้น ผู้ล่วงลับไปแล้วด้วย

แสดงผลการค้น ลำดับที่  8 / 9
สัตตาหกาลิก ของที่รับประเคนเก็บไว้ ฉันได้ชั่ว ๗ วัน
       ได้แก่เภสัชทั้ง ๕ คือ เนยใส เนยข้น น้ำมัน น้ำผึ้ง น้ำอ้อย
       ดู กาลิก

แสดงผลการค้น ลำดับที่  9 / 9
สันนิธิ การสั่งสม, ของที่สั่งสมไว้
       หมายถึง ของเคี้ยวของฉันที่รับประเคนแล้วเก็บไว้ค้างคืนเพื่อจะฉันในวันรุ่งขึ้น ภิกษุฉันของนั้น เป็นปาจิตตีย์ทุกคำกลืน
       (สิกขาบทที่ ๘ แห่งโภชนวรรค ปาจิตติยกัณฑ์)


พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์
http://84000.org/tipitaka/dic/v_seek.php?text=ประเคน&detail=on
http://84000.org/tipitaka/dic/v_seek.php?text=%BB%C3%D0%E0%A4%B9&detail=on


บันทึก  ๒, ๓๐ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๔๗ การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจาก พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ พิมพ์ครั้งที่ ๑๐. พ.ศ. ๒๕๔๖ หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]