ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ค้นพระไตรปิฎก ชาดก หนังสือธรรมะ
พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ป.อ. ปยุตฺโต) พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ. ปยุตฺโต) พระธรรมปิฎก (ประยุทธ์ ปยุตฺโต)
            การค้นหาคำว่า “ อุบาย ”             ผลการค้นหาพบ  18  ตำแหน่ง ดังนี้ :-

แสดงผลการค้น ลำดับที่  1 / 18
กัมมัฏฐาน ที่ตั้งแห่งการงาน, อารมณ์เป็นที่ตั้งแห่งการงานของใจ, อุบายทางใจ,
       วิธีฝึกอบรมจิต มี ๒ ประเภท คือ
           สมถกัมมัฏฐาน อุบายสงบใจ ๑
           วิปัสสนากัมมัฏฐาน อุบายเรืองปัญญา ๑
       (นิยมเขียน กรรมฐาน);
       ดู ภาวนา

แสดงผลการค้น ลำดับที่  2 / 18
กีสาโคตมี พระเถรีสำคัญองค์หนึ่ง
       เดิมเป็นธิดาคนยากจนในพระนครสาวัตถี แต่ได้เป็นลูกสะใภ้ของเศรษฐีในพระนครนั้น นางมีบุตรชายคนหนึ่ง
       อยู่มาไม่นานบุตรชายตาย นางมีความเสียใจมาก อุ้มบุตรที่ตายแล้วไปในที่ต่างๆ เพื่อหายาแก้ให้ฟื้น จนได้ไปพบพระพุทธเจ้า พระองค์ทรงสอนด้วยอุบายและทรงประทานโอวาท นางได้ฟังแล้วบรรลุโสดาปัตติผล บวชในสำนักนางภิกษุณี
       วันหนึ่งนั่งพิจารณาเปลวประทีปที่ตามอยู่ในพระอุโบสถ ได้บรรลุพระอรหัต
       ได้รับยกย่องว่า เป็นเอตทัคคะในทางทรงจีวรเศร้าหมอง

แสดงผลการค้น ลำดับที่  3 / 18
โกศล ๑-, โกสัลละ ความฉลาด, ความเชี่ยวชาญ มี ๓ คือ
       ๑. อายโกศล ความฉลาดในความเจริญ, รอบรู้ทางเจริญและเหตุของความเจริญ
       ๒. อปายโกศล ความฉลาดในความเสื่อม, รอบรู้ทางเสื่อมและเหตุของความเสื่อม
       ๓. อุปายโกศล ความฉลาดในอุบาย, รอบรู้วิธีแก้ไขเหตุการณ์และวิธีที่จะทำให้สำเร็จ ทั้งในการป้องกันความเสื่อมและในการสร้างความเจริญ

แสดงผลการค้น ลำดับที่  4 / 18
ธรรมิกอุบาย อุบายที่ประกอบด้วยธรรม, อุบายที่ชอบธรรม, วิธีที่ถูกธรรม

แสดงผลการค้น ลำดับที่  5 / 18
ธุดงค์ องค์คุณเครื่องกำจัดกิเลส,
       ชื่อข้อปฏิบัติประเภทวัตร ที่ผู้สมัครใจจะพึงสมาทานประพฤติได้ เป็นอุบายขัดเกลากิเลส ส่งเสริมความมักน้อยสันโดษเป็นต้น มี ๑๓ ข้อคือ
       หมวดที่ ๑ จีวรปฏิสังยุต - เกี่ยวกับจีวร มี
           ๑. ปังสุกูลิกังคะ ถือใช้แต่ผ้าบังสุกุล
           ๒. เตจีวริกังคะ ใช้ผ้าเพียง ๓ ผืน;
       หมวดที่ ๒ ปิณฑปาตปฏิสังยุต - เกี่ยวกับบิณฑบาต มี
           ๓. ปิณฑปาติกังคะ เที่ยวบิณฑบาตเป็นประจำ
           ๔. สปทานจาริกังคะ บิณฑบาตตามลำดับบ้าน
           ๕. เอกาสนิกังคะ ฉันวันละครั้งเดียว
           ๖. ปัตตปิณฑิกังคะ ฉันเฉพาะในบาตร
           ๗. ขลุปัจฉาภัตติกังคะ ลงมือฉันแล้วไม่ยอมรับเพิ่ม;
       หมวดที่ ๓ เสนาสนปฏิสังยุต - เกี่ยวกับเสนาสนะมี
           ๘. อารัญญิกังคะ ถืออยู่ป่า
           ๙. รุกขมูลิกังคะ อยู่โคนไม้
           ๑๐. อัพโภกาสิกังคะ อยู่กลางแจ้ง
           ๑๑. โสสานิกังคะ อยู่ป่าช้า
           ๑๒. ยถาสันถติกังคะ อยู่ในที่แล้วแต่เขาจัดให้;
       หมวดที่ ๔ วิริยปฏิสังยุต - เกี่ยวกับความเพียร มี
           ๑๓. เนสัชชิกังคะ ถือนั่งอย่างเดียวไม่นอน
       (นี้แปลเอาความสั้นๆ ความหมายละเอียด พึงดูตามลำดับอักษรของคำนั้นๆ)

แสดงผลการค้น ลำดับที่  6 / 18
นันทะ พระอนุชาของพระพุทธเจ้า แต่ต่างมารดา คือประสูติแต่พระนางมหาปชาบดีโคตมี ได้ออกบวชในวันมงคลสมรสกับนางชนปทกัลยาณี
       เบื้องแรกประพฤติพรหมจรรย์อยู่ด้วยความจำใจ แต่ต่อมาพระพุทธเจ้าทรงสอนด้วยอุบาย จนพระนันทะเปลี่ยนมาตั้งใจปฏิบัติธรรม และในที่สุดก็ได้บรรลุพระอรหัตตผล
       ได้รับยกย่องเป็นเอตทัคคะในบรรดาภิกษุผู้สำรวมอินทรีย์
       พระนันทะมีรูปพรรณสัณฐานคล้ายพระพุทธเจ้า แต่ต่ำกว่าพระพุทธองค์ ๔ นิ้ว

แสดงผลการค้น ลำดับที่  7 / 18
นัย อุบาย, อาการ, วิธี, ข้อสำคัญ, เค้าความ, เค้าเงื่อน, แง่ความหมาย

แสดงผลการค้น ลำดับที่  8 / 18
นิสัย
       1. ที่พึ่ง, ที่อาศัย เช่น ขอนิสัยในการอุปสมบท (คือกล่าวคำขอร้องต่ออุปัชฌาย์ในพิธีอุปสมบท ขอให้ท่านเป็นที่พึ่ง ที่อาศัยของตน ทำหน้าที่ปกครองสั่งสอนให้การศึกษาอบรมต่อไป)
           อาจารย์ผู้ให้นิสัย (อาจารย์ผู้รับที่จะทำหน้าที่เป็นที่พึ่ง ที่อาศัยปกครองแนะนำในการศึกษาอบรม)
       2. ปัจจัยเครื่องอาศัยของบรรพชิต ๔ อย่าง คือ จีวร บิณฑบาต เสนาสนะ คิลานเภสัช
       3. ความประพฤติที่เคยชิน เช่น ทำจนเป็นนิสัย
       การขอนิสัย (ขออยู่ในปกครองหรือขอให้เป็นที่พึ่งในการศึกษา) สำเร็จด้วยการถืออุปัชฌาย์ (ขอให้เป็นอุปัชฌาย์) นั่นเอง ในพิธีอุปสมบทอย่างที่ปฏิบัติกันอยู่ การขอนิสัยถืออุปัชฌาย์เป็นบุพกิจตอนหนึ่งของการอุปสมบท ก่อนจะทำการสอนซ้อม ถามตอบอันตรายิกธรรม
       ผู้ขออุปสมบทเปล่งวาจาขอนิสัยถืออุปัชฌาย์ดังนี้
       (เฉพาะข้อความที่พิมพ์ตัวหนาเท่านั้นเป็นวินัยบัญญัติ นอกนั้นท่านเสริมเข้ามาเพื่อให้หนักแน่น) :
           “อหํ ภนฺเต นิสฺสยํ ยาจามิ,
           ทุติยมฺปิ อหํ ภนฺเต นิสฺสยํ ยาจามิ,
           ตติยมฺปิ อหํ ภนฺเต นิสฺสยํ ยาจามิ,
           อุปชฺฌาโย เม ภนฺเต โหหิ, อุปชฺฌาโย เม ภนฺเต โหหิ, อุปชฺฌาโย เม ภนฺเต โหหิ”
       ลำดับนั้น ผู้จะเป็นอุปัชฌายะกล่าวตอบว่า
           “สาหุ” (ดีละ)
           “ลหุ” (เบาใจดอก)
           “โอปายิกํ” (ชอบแก่อุบาย)
           “ปฏิรูปํ” (สมควรอยู่)
           “ปาสาทิเกน สมฺปาเทหิ” (จงให้ถึงพร้อมด้วยอาการอันน่าเลื่อมใสเถิด)
       คำใดคำหนึ่ง หรือให้รู้เข้าใจด้วยอาการทางกายก็ตาม ก็เป็นอันได้ถืออุปัชฌาย์แล้ว แต่นิยมกันมาให้ผู้ขอกล่าวรับคำของท่านแต่ละคำว่า สาธุ ภนฺเต หรือ สมฺปฏิจฺฉามิ แล้ว กล่าวต่อไปอีกว่า
           อชฺชตฺตคฺเคทานิ เถโร มยฺหํ ภาโร, อหมฺปิ เถรสฺส ภาโร (ว่า ๓ หน)
           (= ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป พระเถระเป็นภาระของข้าพเจ้า แม้ข้าพเจ้าก็เป็นภาระของพระเถระ)
       ภิกษุนวกะถ้าไม่ได้อยู่ในปกครองของอุปัชฌาย์ด้วยเหตุอย่างใดอย่างหนึ่งที่ทำให้นิสัยระงับ เช่น อุปัชฌาย์ ไปอยู่เสียที่อื่น ต้องถือภิกษุอื่นเป็นอาจารย์และอาศัยท่านแทน วิธีถืออาจารย์ก็เหมือนกับวิธีถืออุปัชฌาย์เปลี่ยนแต่คำของว่า
           “อาจริโย เม ภนฺเต โหหิ, อายสฺมโต นิสฺสาย วจฺฉามิ”
           (ขอท่านจงเป็นอาจารย์ของข้าพเจ้าๆ จักอยู่อาศัยท่าน)

แสดงผลการค้น ลำดับที่  9 / 18
บรมพุทโธบาย อุบาย คือ วิธีของพระพุทธเจ้าผู้ยอดเยี่ยม จากศัพท์ว่า
       บรม (ปรม) + พุทธ (พุทฺธ) + อุบาย (อุปาย)

แสดงผลการค้น ลำดับที่  10 / 18
ปัพพัชชา การถือบวช,
       บรรพชาเป็นอุบายฝึกอบรมตนในทางสงบ เว้นจากความชั่วมีการเบียดเบียนกันและกัน เป็นต้น
       (ข้อ ๒ ในสัปปุริสบัญญัติ ๓)

แสดงผลการค้น ลำดับที่  11 / 18
มิจฉาญาณ รู้ผิด เช่น ความรู้ในการคิดอุบายทำความชั่วให้สำเร็จ
       (ข้อ ๙ ในมิจฉัตตะ ๑๐)

แสดงผลการค้น ลำดับที่  12 / 18
โยนิโสมนสิการ การทำในใจโดยแยบคาย, กระทำไว้ในใจโดยอุบายอันแยบคาย,
       การพิจารณาโดยแยบคาย คือพิจารณาเพื่อเข้าถึงความจริง โดยสืบค้นหาเหตุผลไปตามลำดับจนถึงต้นเหตุ แยกแยะองค์ประกอบ จนมองเห็นตัวสภาวะและความสัมพันธ์แห่งเหตุปัจจัย หรือตริตรองให้รู้จักสิ่งที่ดีที่ชั่ว ยังกุศลธรรมให้เกิดขึ้นโดยอุบายที่ชอบ ซึ่งจะมิให้เกิดอวิชชาและตัณหา,
       ความรู้จักคิด, คิดถูกวิธี;
       เทียบ อโยนิโสมนสิการ

แสดงผลการค้น ลำดับที่  13 / 18
วักกลิ พระมหาสาวกองค์หนึ่ง เป็นบุตรพราหมณ์ชาวพระนครสาวัตถี เรียนจบไตรเพทตามลัทธิพราหมณ์ บวชในพระพุทธศาสนา ด้วยความอยากเห็นพระรูปพระโฉมของพระศาสดา
       ครั้นบวชแล้วก็คอยติดตามดูพระองค์ตลอดเวลา จนไม่เป็นอันเจริญภาวนา
       พระพุทธเจ้าทรงรอเวลาให้ญาณของเธอสุกงอม ครั้นแล้วก็ตรัสเตือนเธอว่า
           “จะมีประโยชน์อะไรที่ได้เห็นกายเปื่อยเน่านี้ ผู้ใดเห็นธรรม ผู้นั้นเห็นเรา” ดังนี้เป็นต้น
       และทรงสอนต่อไปด้วยอุบายวิธี จนในที่สุดพระวักกลิก็ได้สำเร็จพระอรหัต
       และต่อมาได้รับยกย่องจากพระศาสดาว่า เป็นเอตทัคคะในทางศรัทธาวิมุต คือ หลุดพ้นด้วยศรัทธา

แสดงผลการค้น ลำดับที่  14 / 18
วัชชี ชื่อแคว้นหนึ่งในบรรดา ๑๖ แคว้นใหญ่ชมพูทวีป ตั้งอยู่บนฝั่งทิศตะวันออกของแม่น้ำคันธกะอยู่ทางทิศตะวันออกของแคว้นมัลละ ทางทิศเหนือของแคว้นมคธ นครหลวงชื่อ เวสาลี
       แคว้นวัชชีปกครองด้วยระบอบสามัคคีธรรม พวกกษัตริย์ที่ปกครองเรียกว่า กษัตริย์ลิจฉวี
       (นอกจากพวกลิจฉวีแล้วยังมีพวกวิเทหะซึ่งปกครองอยู่ที่เมืองมิถิลา แต่ในสมัยพุทธกาลมีอำนาจน้อย)
       แคว้นวัชชีรุ่งเรืองเข้มแข็งและมีอำนาจมาก ตอนปลายพุทธกาลได้กลายเป็นคู่แข่งกับแคว้นมคธ
       แต่หลังพุทธกาลไม่นานก็เสียอำนาจแก่มคธ เพราะอุบายทำลายสามัคคี ของวัสสการพราหมณ์

แสดงผลการค้น ลำดับที่  15 / 18
องคุลิมาล พระมหาสาวกองค์หนึ่งของพระพุทธเจ้า เคยเป็นมหาโจรโด่งดัง เป็นบุตรของภัคควพราหมณ์ ผู้เป็นปุโรหิตของพระเจ้าโกศล มารดาชื่อนางมันตานีพราหมณ์
       เดิมชื่ออหิงสกะ (แปลว่า “ผู้ไม่เบียดเบียน”) ไปศึกษาศิลปศาสตร์ในสำนักอาจารย์ทิศาปาโมกข์ เมืองตักสิลา มีความรู้และความประพฤติดี เพื่อนศิษย์ด้วยกันริษยา ยุอาจารย์ให้กำจัดเสีย อาจารย์ลวงด้วยอุบายให้ไปฆ่าคนครบหนึ่งพัน แล้วจะมอบวิชาวิเศษอย่างหนึ่งให้ จึงกลายเป็นมหาโจรผู้โหดร้ายทารุณ ตัดนิ้วมือคนที่ตนฆ่าตายแล้ว ร้อยเป็นพวงมาลัย จึงได้ชื่อว่า องฺคุลิมาล (แปลว่า “มีนิ้วเป็นพวงมาลัย”)
       ภายหลังพระพุทธเจ้าเสด็จไปโปรดกลับใจได้ ขอบวช ต่อมาก็ได้สำเร็จพระอรหัต
       ท่านเป็นต้นแห่งพุทธบัญญัติไม่ให้บวชโจรที่ขึ้นชื่อโด่งดัง

แสดงผลการค้น ลำดับที่  16 / 18
อนุตฺตโร ปุริสทมฺมสารถิ ทรงเป็นสารถี ฝึกคนที่ควรฝึกได้เป็นเยี่ยม ทรงรู้จักใช้อุบายให้เหมาะแก่บุคคล สอนเขาได้โดยไม่ต้องใช้อาชญา และทำให้เขาบรรลุผลที่พึงได้ เต็มตามกำลังความสามารถของเขา
       (ข้อ ๖ ในพุทธคุณ ๙)

แสดงผลการค้น ลำดับที่  17 / 18
อุบลวรรณา พระมหาสาวิกาองค์หนึ่ง เป็นธิดาเศรษฐีในพระนครสาวัตถี
       ได้ชื่อว่า อุบลวรรณา เพราะมีผิวพรรณดังดอกนิลุบล (อุบลเขียว) มีความงามมาก จึงเป็นที่ปรารถนาของพระราชาในชมพูทวีปหลายพระองค์ ต่างส่งคนมาติดต่อ
       ท่านเศรษฐีเกิดความลำบากใจ จึงคิดจะให้ธิดาบวชพอเป็นอุบาย แต่นางเองพอใจในบรรพชาอยู่แล้ว จึงบวชเป็นภิกษุณีด้วยศรัทธาอย่างจริงจัง
       คราวหนึ่งอยู่เวรจุดประทีปในพระอุโบสถ นางเพ่งดูเปลวประทีป ถือเอาเป็นนิมิต เจริญฌานมีเตโชกสิณเป็นอารมณ์ ได้บรรลุพระอรหัต
       ได้รับยกย่องว่า เป็นเอตทัคคะในทางแสดงฤทธิ์ได้ต่างๆ และเป็นอัครสาวิกาฝ่ายซ้าย

แสดงผลการค้น ลำดับที่  18 / 18
อุบาย วิธีสำหรับประกอบ, หนทาง, วิธีการ, กลวิธี,
       ไทยใช้หมายถึง เล่ห์เหลี่ยมด้วย


พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์
http://84000.org/tipitaka/dic/v_seek.php?text=อุบาย
http://84000.org/tipitaka/dic/v_seek.php?text=%CD%D8%BA%D2%C2


บันทึก  ๒, ๓๐ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๔๗ การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจาก พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ พิมพ์ครั้งที่ ๑๐. พ.ศ. ๒๕๔๖ หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]