ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ค้นพระไตรปิฎก ชาดก หนังสือธรรมะ
พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ป.อ. ปยุตฺโต) พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ. ปยุตฺโต) พระธรรมปิฎก (ประยุทธ์ ปยุตฺโต)
            การค้นหาคำว่า “ อริยมรรค ”             ผลการค้นหาพบ  15  ตำแหน่ง ดังนี้ :-

แสดงผลการค้น ลำดับที่  1 / 15
โคตรภู ผู้ตั้งอยู่ในญาณซึ่งเป็นลำดับที่จะถึงอริยมรรค, ผู้อยู่ในหัวต่อระหว่างความเป็นปุถุชนกับความเป็นอริยบุคคล

แสดงผลการค้น ลำดับที่  2 / 15
โคตรภูญาณ ญาณครอบโคตร
       คือ ปัญญาที่อยู่ในลำดับจะถึงอริยมรรค หรืออยู่ในหัวต่อที่จะข้ามพ้นภาวะปุถุชนขึ้นสู่ภาวะเป็นอริยะ
       ดู ญาณ ๑๖

แสดงผลการค้น ลำดับที่  3 / 15
ญาณ ๑๖ ญาณที่เกิดแก่ผู้บำเพ็ญวิปัสสนาโดยลำดับตั้งแต่ต้นจนถึงจุดหมาย คือมรรคผลนิพพาน ๑๖ อย่างคือ
       ๑. นามรูปปริจเฉทญาณ ญาณกำหนดแยกนามรูป
       ๒. (นามรูป) ปัจจัยปริคคหญาณ ญาณกำหนดจับปัจจัยแห่งนามรูป
       ๓. สัมมสนญาณ ญาณพิจารณานามรูปโดยไตรลักษณ์
       ๔. - ๑๒. (ตรงกับวิปัสสนาญาณ ๙)
       ๑๓. โคตรภูญาณ ญาณครอบโคตรคือหัวต่อที่ข้ามพ้นภาวะปุถุชน
       ๑๔. มัคคญาณ ญาณในอริยมรรค
       ๑๕. ผลญาณ ญาณในอริยผล
       ๑๖. ปัจจเวกขณญาณ ญาณที่พิจารณาทบทวน;
       ญาณ ๑๖ นี้เรียกเลียนคำบาลีว่า โสฬสญาณ หรือ เรียกกึ่งไทยว่า ญาณโสฬส;
       ดู วิปัสสนาญาณ ๙

แสดงผลการค้น ลำดับที่  4 / 15
ญาณทัสสนวิสุทธิ ความหมดจดแห่งญาณทัศนะ ได้แก่ ญาณในอริยมรรค ๔;
       ดู วิสุทธิ

แสดงผลการค้น ลำดับที่  5 / 15
พละ กำลัง
       1. พละ ๕ คือธรรมอันเป็นกำลัง ซึ่งเป็นเครื่องเกื้อหนุนแก่อริยมรรค จัดอยู่ในจำพวกโพธิปักขิยธรรม มี ๕ คือ สัทธา วิริยะ สติ สมาธิ ปัญญา; ดู อินทรีย์ ๕, โพธิปักขิยธรรม
       2. พละ ๔ คือธรรมอันเป็นพลังทำให้ดำเนินชีวิตด้วยความมั่นใจ ไม่ต้องหวาดหวั่นกลัวภัยต่างๆ ได้แก่
           ๑. ปัญญาพละ กำลังปัญญา
           ๒. วิริยพละ กำลังความเพียร
           ๓. อนวัชชพละ กำลังคือการกระทำที่ไม่มีโทษ (กำลังความสุจริตและการกระทำแต่กิจกรรมที่ดีงาม)
           ๔. สังคหพละ กำลังการสงเคราะห์ คือช่วยเหลือเกื้อกูลอยู่ร่วมกับผู้อื่นด้วยดี ทำตนให้เป็นประโยชน์แก่สังคม
       3. พละ ๕ หรือ ขัตติยพละ ๕ ได้แก่กำลังของพระมหากษัตริย์ หรือกำลังที่ทำให้มีความพร้อมสำหรับความเป็นกษัตริย์ ๕ ประการ ดังแสดงในคัมภีร์ชาดกคือ
           ๑. พาหาพละ หรือ กายพละ กำลังแขนหรือกำลังกาย คือแข็งแรงสุขภาพดี สามารถในการใช้แขนใช้มือใช้อาวุธ มีอุปกรณ์พรั่งพร้อม
           ๒. โภคพละ กำลังโภคสมบัติ
           ๓. อมัจจพละ กำลังข้าราชการที่ปรึกษาและผู้บริหารที่สามารถ
           ๔. อภิชัจจพละ กำลังความมีชาติสูง ต้องด้วยความนิยมเชิดชูของมหาชนและได้รับการศึกษาอบรมมาดี
           ๕. ปัญญาพละ กำลังปัญญา ซึ่งเป็นข้อสำคัญที่สุด

แสดงผลการค้น ลำดับที่  6 / 15
โพธิปักขิยธรรม ธรรมอันเป็นฝักฝ่ายแห่งความตรัสรู้,
       ธรรมที่เกื้อหนุนแก่อริยมรรค มี ๓๗ ประการ
       คือ สติปัฏฐาน ๔, สัมมัปปธาน ๔, อิทธิบาท ๔, อินทรีย์ ๕, พละ ๕, โพชฌงค์ ๗, มรรคมีองค์ ๘

แสดงผลการค้น ลำดับที่  7 / 15
มงคล สิ่งที่ทำให้มีโชคดี,
       ตามหลักพระพุทธศาสนา หมายถึง ธรรมที่นำมาซึ่งความสุขความเจริญ,
       มงคล ๓๘ ประการ หรือเรียกเต็มว่า อุดมมงคล (มงคลอันสูงสุด) ๓๘ ประการ มีดังนี้
       คาถาที่ ๑ =
           ๑. อเสวนา จ พาลานํ ไม่คบคนพาล
           ๒. ปณฺฑิตานญฺจเสวนา คบบัณฑิต
           ๓. ปูชา จ ปูชนียานํ บูชาคนที่ควรบูชา
       คาถาที่ ๒ =
           ๔. ปฏิรูปเทสวาโส จ อยู่ในปฏิรูปเทส, อยู่ในถิ่นมีสิ่งแวดล้อมดี
           ๕. ปุพฺเพ จ กตปุญฺญตา ได้ทำความดีให้พร้อมไว้ก่อน, ทำความดีเตรียมพร้อมไว้แต่ต้น
           ๖. อตฺตสมฺมาปณิธิ จ ตั้งตนไว้ชอบ
       คาถาที่ ๓ =
           ๗. พาหุสจฺจญฺจ เล่าเรียนศึกษามาก, ทรงความรู้กว้างขวาง, ใส่ใจสดับตรับฟังค้นคว้าหาความรู้อยู่เสมอ
           ๘. สิปฺปญฺจ มีศิลปวิทยา, ชำนาญในวิชาชีพของตน
           ๙. วินโย จ สุสิกฺขิโต มีระเบียบวินัย, ได้ฝึกอบรมตนไว้ดี
           ๑๐. สุภาสิตา จ ยา วาจา วาจาสุภาษิต, รู้จักใช้วาจาพูดให้เป็นผลดี
       คาถาที่ ๔ =
           ๑๑. มาตาปิตุอุปฏฺฐานํ บำรุงมารดาบิดา
           ๑๒/๑๓. ปุตฺตทารสฺส สงฺคโห =
               ปุตฺตสงฺคห สงเคราะห์บุตรและ ทารสงฺคห สงเคราะห์ภรรยา
           ๑๔. อนากุลา จ กมฺมนฺตา การงานไม่อากูล
       คาถาที่ ๕ =
           ๑๕. ทานญฺจ รู้จักให้, เผื่อแผ่แบ่งปัน, บริจาคสงเคราะห์และบำเพ็ญประโยชน์
           ๑๖. ธมฺมจริยา จ ประพฤติธรรม, ดำรงอยู่ในศีลธรรม
           ๑๗. ญาตกานญฺจ สงฺคโห สงเคราะห์ญาติ
           ๑๘. อนวชฺชานิ กมฺมานิ การงานที่ไม่มีโทษ, กิจกรรมที่ดีงาม เป็นประโยชน์ ไม่เป็นทางเสียหาย
       คาถาที่ ๖ =
           ๑๙. อารตี วิรตี ปาปา เว้นจากความชั่ว
           ๒๐. มชฺชปานา จ สญฺญโม เว้นจากการดื่มน้ำเมา
           ๒๑. อปฺปมาโท จ ธมฺเมสุ ไม่ประมาทในธรรมทั้งหลาย
       คาถาที่ ๗ =
           ๒๒. คารโว จ ความเคารพ, การแสดงออกที่แสดงถึงความเป็นผู้รู้จักถึงคุณค่าของบุคคล สิ่งของหรือกิจการนั้นๆ และรู้จักให้ความสำคัญและความใส่ใจเอื้อเฟื้อโดยเหมาะสม
           ๒๓. นิวาโต จ ความสุภาพอ่อนน้อม, ถ่อมตน
           ๒๔. สนฺตุฏฺฐี จ ความสันโดษ, ความเอิบอิ่มพอใจในผลสำเร็จที่ได้สร้างขึ้นหรือในปัจจัยลาภที่แสวงหามาได้ ด้วยเรี่ยวแรงความเพียรพยายามของตนเองโดยทางชอบธรรม
           ๒๕. กตญฺญุตา มีความกตัญญู
           ๒๖. กาเลน ธมฺมสฺสวนํ ฟังธรรมตามกาล, หาโอกาสแสวงหาความรู้ ในเรื่องที่แสดงหลักความจริง
       คาถาที่ ๘ =
           ๒๗. ขนฺตี จ มีความอดทน
           ๒๘. โสวจสฺสตา เป็นผู้ว่าง่ายสอนง่าย
           ๒๙. สมณานญฺจ ทสฺสนํ พบเห็นสมณะ, เยี่ยมเยือนเข้าหาท่านผู้สงบกิเลส
           ๓๐. กาเลน ธมฺมสากจฺฉา สนทนาธรรมตามกาล, หาโอกาสสนทนาถกเถียงเกี่ยวกับหลักความจริงและหลักความถูกต้องดีงาม
       คาถาที่ ๙ =
           ๓๑. ตโป จ มีความเพียรเผากิเลส, รู้จักบังคับควบคุมตน ไม่ปรนเปรอตามใจอยาก
           ๓๒. พฺรหฺมจริยญฺจ ประพฤติพรหมจรรย์, ดำเนินตามอริยมรรค, การรู้จักควบคุมตนในทางเพศ หรือถือเมถุนวิรัติตามควร
           ๓๓. อริยสจฺจานทสฺสนํ เห็นอริยสัจ, เข้าใจความจริงของชีวิต
           ๓๔. นิพฺพานสจฺฉิกิริยา จ ทำพระนิพพานให้แจ้ง, บรรลุนิพพาน
       คาถาที่ ๑๐ =
           ๓๕. ผุฏฺฐสฺส โลกธมฺเมหิ จิตฺตํ ยสฺส น กมฺปติ ถูกโลกธรรม จิตไม่หวั่นไหว
           ๓๖. อโสกํ จิตไร้เศร้า
           ๓๗. วิรชํ จิตปราศจากธุลี
           ๓๘. เขมํ จิตเกษม

แสดงผลการค้น ลำดับที่  8 / 15
มัคคญาณ ญาณในอริยมรรค, ปัญญาสูงสุดที่กำจัดกิเลสเป็นเหตุให้บรรลุความเป็นพระอริยบุคคลชั้นหนึ่งๆ;
       ดู ญาณ ๑๖

แสดงผลการค้น ลำดับที่  9 / 15
โลกุตตราริยมรรคผล อริยมรรคและอริยผลที่พ้นวิสัยของโลก

แสดงผลการค้น ลำดับที่  10 / 15
สมุจเฉทปหาน การละกิเลสได้โดยเด็ดขาดด้วยอริยมรรค

แสดงผลการค้น ลำดับที่  11 / 15
สัญญา ๑๐ ความกำหนดหมาย, สิ่งที่ความกำหนดหมายไว้ในใจ มี ๑๐ อย่าง คือ
       ๑. อนิจจสัญญา กำหนดหมายความไม่เที่ยงแห่งสังขาร
       ๒. อนัตตสัญญา กำหนดหมายความเป็นอนัตตาแห่งธรรมทั้งปวง
       ๓. อสุภสัญญา กำหนดหมายความไม่งามแห่งกาย
       ๔. อาทีนวสัญญา กำหนดหมายโทษแห่งกาย คือมีอาพาธต่างๆ
       ๕. ปหานสัญญา กำหนดหมายเพื่อละอกุศลวิตกและบาปธรรม
       ๖. วิราคสัญญา กำหนดหมายวิราคะ คืออริยมรรคว่าเป็นธรรมอันสงบประณีต
       ๗. นิโรธสัญญา กำหนดหมายนิโรธ คืออริยผล ว่าเป็นธรรมอันสงบประณีต
       ๘. สัพพโลเก อนภิรตสัญญา กำหนดหมายความไม่น่าเพลิดเพลินในโลกทั้งปวง
       ๙. สัพพสังขาเรสุ อนิฏฐสัญญา กำหนดหมายความไม่น่าปรารถนาใน สังขารทั้งปวง
       ๑๐. อานาปานัสสติ สติกำหนดลมหายใจเข้าออก

แสดงผลการค้น ลำดับที่  12 / 15
สุคโต “เสด็จไปดีแล้ว” คือ ทรงมีทางเสด็จที่ดีงามอันได้แก่อริยมรรค,
       เสด็จไปสู่ที่ดีงาม กล่าวคือพระนิพพาน,
       เสด็จไปด้วยดีโดยชอบ กล่าวคือ
           ทรงดำเนินรุดหน้าไม่หวนกลับคืนมาสู่กิเลสที่ทรงละได้แล้ว
           ทรงดำเนินสู่ผลสำเร็จไม่ถอยหลัง ไม่กลับตกจากฐานะที่ลุถึง
           ทรงดำเนินในทางอันถูกต้องคือมัชฌิมาปฏิปทา ไม่เฉเชือนไปในทางผิด คือ กามสุขัลลิกานุโยคและอัตตกิลมถานุโยค
           เสด็จไปดี เสด็จที่ใดก็ทรงทำประโยชน์ให้แก่มหาชนในที่นั้น เสด็จไปโดยสวัสดีและนำให้เกิดความสวัสดี แม้แต่พบองคุลิมาลมหาโจรร้าย ก็ทรงกลับใจให้เขากลายเป็นคนดีไม่มีภัย
           เสด็จผ่านไปแล้วด้วยดี ได้ทรงบำเพ็ญพุทธกิจไว้บริบูรณ์ ประดิษฐานพระพุทธศาสนาไว้ เพื่อชาวโลก ให้เป็นเครื่องเผล็ดประโยชน์แก่ประชาชนทั้งปวงผู้เกิดมาในภายหลัง,
       ทรงมีพระวาจาดี หรือตรัสโดยชอบ คือ ตรัสแต่คำจริงแท้ ประกอบด้วยประโยชน์ ในกาลที่ควรตรัส และแก่บุคคลที่ควรตรัส
       (ข้อ ๔ ในพุทธคุณ ๙)

แสดงผลการค้น ลำดับที่  13 / 15
สุภัททะ ปัจฉิมสิกขิสาวก (สาวกผู้ทันเห็นองค์สุดท้าย) ของพระพุทธเจ้า เรียกสั้นๆ ว่า ปัจฉิมสาวก
       เดิมเป็นพราหมณ์ตระกูลใหญ่ ต่อมาออกบวชเป็นปริพาชก อยู่ในเมืองกุสินารา ในวันที่พระพุทธเจ้าจะเสด็จดับขันธปรินิพพาน สุภัททปริพาชกได้ยินข่าวแล้ว คิดว่าตนมีข้อสงสัยอยู่อย่างหนึ่ง อยากจะขอให้พระพุทธเจ้าทรงแสดงธรรมเพื่อแก้ข้อสงสัยนั้นเสียก่อนที่จะปรินิพพาน จึงเดินทางไปยังสาลวัน ตรงไปหาพระอานนท์ แจ้งความประสงค์ขอเข้าเฝ้าพระบรมศาสดา พระอานนท์ได้ห้ามไว้ เพราะเกรงว่าพระองค์เหน็ดเหนื่อยอยู่แล้ว จะเป็นการรบกวนให้ทรงลำบาก สุภัททปริพาชกก็คะยั้นคะยอจะขอเข้าเฝ้าให้ได้
       พระอานนท์ก็ยืนกรานห้ามอยู่ถึง ๓ วาระ จนพระผู้มีพระภาคทรงได้ยินเสียงโต้ตอบกันนั้น จึงตรัสสั่งพระอานนท์ว่า สุภัททะมุ่งหาความรู้ มิใช่ประสงค์จะเบียดเบียนพระองค์ ขอให้ปล่อยให้เขาเข้าเฝ้าเถิด สุภัททปริพาชกเข้าเฝ้าแล้ว ทูลถามว่า สมณพราหมณ์เจ้าลัทธิที่มีชื่อเสียงทั้งหลาย คือ เหล่าครูทั้ง ๖ นั้น ล้วนได้ตรัสรู้จริงทั้งหมดตามที่ตนปฏิญญา หรือได้ตรัสรู้เพียงบางท่านหรือไม่มีใครตรัสรู้จริงเลย
       พระพุทธเจ้าทรงห้ามเสียและตรัสว่าจะทรงแสดงธรรม คือ หลักการหรือหลักความจริงให้ฟัง แล้วตรัสว่า
           อริยมรรคมีองค์ ๘ หาไม่ได้ในธรรมวินัยใด สมณะ (คืออริยบุคคลทั้ง ๔) ก็หาไม่ได้ในธรรมวินัยนั้น
           อริยมรรคมีองค์ ๘ หาได้ในธรรมวินัยใด สมณะก็หาได้ในธรรมวินัยนั้น
           อริยมรรคมีองค์ ๘ หาได้ในธรรมวินัยนี้ สมณะทั้ง ๔ จึงมีในธรรมวินัยนี้ ลัทธิอื่นๆ ว่างจากสมณะ
       และตรัสสรุปว่า
           ถ้าภิกษุทั้งหลายเป็นอยู่โดยชอบ โลกก็จะไม่ว่างจากพระอรหันต์ทั้งหลาย
       เมื่อจบพระธรรมเทศนา สุภัททปริพาชกเลื่อมใสทูลขอบรรพชาอุปสมบท
       พระพุทธเจ้าตรัสสั่งพระอานนท์ให้บวชสุภัททะในสำนักของพระองค์ โดยประทานพุทธานุญาตพิเศษให้ยกเว้นไม่ต้องอยู่ติตถิยปริวาส
       ท่านสุภัททะบวชแล้วไม่นาน (อรรถกถาว่าในวันนั้นเอง) ก็ได้บรรลุอรหัตตผล
       นับเป็นพุทธปัจฉิมสักขิสาวก

แสดงผลการค้น ลำดับที่  14 / 15
อริยมรรค ทางอันประเสริฐ, ทางดำเนินของพระอริยะ,
       ญาณอันให้สำเร็จความเป็นพระอริยะ มี ๔ คือ โสดาปัตติมรรค สกทาคามิมรรค อนาคามิมรรค และอรหัตตมรรค;
       บางทีเรียกมรรคมีองค์ ๘ ว่า อริยมรรค ก็มี แต่ควรเรียกเต็มว่า อริยอัฏฐังคิกมรรค

แสดงผลการค้น ลำดับที่  15 / 15
อุภโตภาควิมุต “ผู้หลุดพ้นทั้งสองส่วน”
       คือ พระอรหันต์ผู้บำเพ็ญสมถะมาเป็นอย่างมากจนได้สมาบัติ ๘ แล้ว จึงใช้สมถะนั้นเป็นฐานบำเพ็ญวิปัสสนาต่อไปจนบรรลุอรหัตตผล;
       หลุดพ้นทั้งสองส่วน (และสองวาระ) คือหลุดพ้นจากรูปกายด้วยอรูปสมาบัติ (เป็นวิกขัมภนะ) หนหนึ่งแล้ว จึงหลุดพ้นจากนามกายด้วยอริยมรรค (เป็นสมุจเฉท) อีกหนหนึ่ง;
       เทียบ ปัญญาวิมุต


พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์
http://84000.org/tipitaka/dic/v_seek.php?text=อริยมรรค&detail=on
http://84000.org/tipitaka/dic/v_seek.php?text=%CD%C3%D4%C2%C1%C3%C3%A4&detail=on


บันทึก  ๒, ๓๐ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๔๗ การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจาก พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ พิมพ์ครั้งที่ ๑๐. พ.ศ. ๒๕๔๖ หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]