ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ค้นพระไตรปิฎก ชาดก หนังสือธรรมะ
     ฉบับหลวง   ฉบับมหาจุฬาฯ   บาลีอักษรไทย   PaliRoman 
พระไตรปิฎกเล่มที่ ๒ พระวินัยปิฎกเล่มที่ ๒ [ฉบับมหาจุฬาฯ] มหาวิภังค์ ภาค ๒

พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [๕. ปาจิตติยกัณฑ์]

๑. มุสาวาทวรรค ๕. สหเสยยสิกขาบท นิทานวัตถุ

๑. มุสาวาทวรรค
๕. สหเสยยสิกขาบท
ว่าด้วยการนอนร่วมกัน
เรื่องภิกษุบวชใหม่
[๔๙] สมัยนั้น พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าประทับอยู่ ณ อัคคาฬวเจดีย์ เขต เมืองอาฬวี สมัยนั้น พวกอุบาสกมาฟังธรรมที่อาราม เมื่อพระธรรมกถึกแสดง ธรรมแล้ว พระภิกษุเถระทั้งหลายกลับไปที่อยู่ พวกภิกษุบวชใหม่นอนร่วมกันกับ อุบาสกในโรงฉัน ขาดสติสัมปชัญญะเปลือยกายละเมอ กรน พวกอุบาสกพากัน ตำหนิ ประณาม โพนทะนาว่า “ไฉนพระคุณเจ้าทั้งหลายจึงนอนขาดสติสัมปชัญญะ เปลือยกายละเมอ กรน เล่า” ภิกษุทั้งหลายได้ยินพวกอุบาสกตำหนิ ประณาม โพนทะนาแล้ว บรรดาภิกษุ ผู้มักน้อยสันโดษ ฯลฯ จึงพากันตำหนิ ประณาม โพนทะนาว่า “ไฉนพวกภิกษุ จึงนอนขาดสติสัมปชัญญะเปลือยกายละเมอ กรน เล่า” ครั้นภิกษุเหล่านั้นตำหนิ พวกภิกษุบวชใหม่โดยประการต่างๆ แล้วจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ ทรงทราบ
ทรงประชุมสงฆ์บัญญัติสิกขาบท
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาครับสั่งให้ประชุมสงฆ์เพราะเรื่องนี้เป็นต้นเหตุ ทรง สอบถามภิกษุทั้งหลายว่า “ภิกษุทั้งหลาย ทราบว่า พวกภิกษุนอนร่วมกันกับอนุปสัมบัน จริงหรือ” ภิกษุทั้งหลายทูลรับว่า “จริง พระพุทธเจ้าข้า” พระผู้มีพระภาคทรง ตำหนิว่า “ฯลฯ ภิกษุทั้งหลาย ไฉนโมฆบุรุษเหล่านั้นจึงนอนร่วมกับอนุปสัมบันเล่า ภิกษุทั้งหลาย การกระทำอย่างนี้ มิได้ทำคนที่ยังไม่เลื่อมใสให้เลื่อมใส ฯลฯ” แล้ว จึงรับสั่ง ให้ภิกษุทั้งหลายยกสิกขาบทนี้ขึ้นแสดงดังนี้ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒ หน้า : ๒๓๗}

พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [๕. ปาจิตติยกัณฑ์]

๑. มุสาวาทวรรค ๕. สหเสยยสิกขาบท พระบัญญัติ

พระบัญญัติ
ก็ ภิกษุใดนอนร่วมกันกับอนุปสัมบัน ต้องอาบัติปาจิตตีย์ สิกขาบทนี้พระผู้มีพระภาคทรงบัญญัติไว้แก่ภิกษุทั้งหลายอย่างนี้
เรื่องภิกษุบวชใหม่ จบ
เรื่องสามเณรราหุล
[๕๐] ครั้นพระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ เมืองอาฬวี ตามพระอัธยาศัยแล้ว ได้เสด็จจาริกไปทางกรุงโกสัมพี เสด็จจาริกไปโดยลำดับจนถึงกรุงโกสัมพี ทราบว่า พระองค์ประทับอยู่ ณ พทริการาม เขตกรุงโกสัมพีนั้น ภิกษุทั้งหลายได้กล่าวกับท่านราหุล๑- ดังนี้ว่า “ท่าน พระผู้มีพระภาคทรงบัญญัติ สิกขาบทไว้ว่า ภิกษุไม่พึงนอนร่วมกันกับอนุปสัมบัน ท่านราหุล ท่านจงหาที่นอน” คืนนั้น ท่านราหุลหาที่นอนไม่ได้จึงไปนอนในวัจกุฎี๒- ครั้นเวลาใกล้รุ่ง พระผู้มีพระภาคทรงตื่นบรรทมเสด็จไปวัจกุฎี ครั้นถึงแล้วจึง ทรงพระกาสะ แม้ท่านราหุลก็กระแอมรับ “ใครอยู่ในที่นี่” “ข้าพระพุทธเจ้าราหุล พระพุทธเจ้าข้า” “ราหุล เธอมานอนที่นี่ทำไม” ทีนั้น ท่านราหุลจึงกราบทูลเรื่องนั้นให้ทรงทราบ ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคทรงแสดงธรรมีกถาเพราะเรื่องนี้เป็นต้นเหตุ รับสั่ง กับภิกษุทั้งหลายว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้ภิกษุนอนร่วมกันกับอนุปสัมบัน ได้ ๒-๓ คืน” แล้วจึงรับสั่งให้ภิกษุทั้งหลายยกสิกขาบทนี้ขึ้นแสดงดังนี้ @เชิงอรรถ : @ พระราหุลยังบวชเป็นสามเณรอยู่ @ “วัจกุฎี” คือห้องสุขา {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒ หน้า : ๒๓๘}

พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [๕. ปาจิตติยกัณฑ์]

๑. มุสาวาทวรรค ๕. สหเสยยสิกขาบท บทภาชนีย์

พระอนุบัญญัติ
[๕๑] อนึ่ง ภิกษุใดนอนร่วมกันกับอนุปสัมบันเกิน ๒-๓ คืน ต้องอาบัติปาจิตตีย์
เรื่องสามเณรราหุล จบ
สิกขาบทวิภังค์
[๕๒] คำว่า อนึ่ง...ใด คือ ผู้ใด ผู้เช่นใด ฯลฯ นี้ที่พระผู้มีพระภาคตรัสว่า อนึ่ง...ใด คำว่า ภิกษุ มีอธิบายว่า ชื่อว่าภิกษุ เพราะเป็นผู้ขอ ฯลฯ นี้ที่พระผู้มีพระภาคทรง ประสงค์เอาว่า ภิกษุ ในความหมายนี้ ที่ชื่อว่า อนุปสัมบัน คือ ยกเว้นภิกษุ นอกนั้นชื่อว่าอนุปสัมบัน คำว่า เกิน ๒-๓ คืน คือ มากกว่า ๒-๓ คืน คำว่า ร่วมกัน คือ ด้วยกัน ที่ชื่อว่า ที่นอน ได้แก่ ที่นอนมีเครื่องมุงทั้งหมด มีเครื่องบังทั้งหมด หรือ มีเครื่องมุงส่วนมาก มีเครื่องบังส่วนมาก คำว่า นอน ความว่า เมื่อดวงอาทิตย์อัสดงในวันที่ ๔ เมื่ออนุปสัมบันนอน ภิกษุก็นอน ต้องอาบัติปาจิตตีย์ เมื่อภิกษุนอนอนุปสัมบันก็นอน ต้องอาบัติปาจิตตีย์ หรือทั้งภิกษุและอนุปสัมบันนอน ต้องอาบัติปาจิตตีย์ ภิกษุลุกขึ้นแล้วกลับไปนอนอีก ต้องอาบัติปาจิตตีย์
บทภาชนีย์
ติกปาจิตตีย์
[๕๓] อนุปสัมบัน ภิกษุสำคัญว่าเป็นอนุปสัมบัน นอนร่วมกันเกิน ๒-๓ คืน ต้องอาบัติปาจิตตีย์ อนุปสัมบัน ภิกษุไม่แน่ใจ นอนร่วมกันเกิน ๒-๓ คืน ต้องอาบัติปาจิตตีย์ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒ หน้า : ๒๓๙}

พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [๕. ปาจิตติยกัณฑ์]

๑. มุสาวาทวรรค ๕. สหเสยยสิกขาบท อนาปัตติวาร

อนุปสัมบัน ภิกษุสำคัญว่าเป็นอุปสัมบัน นอนร่วมกันเกิน ๒-๓ คืน ต้อง อาบัติปาจิตตีย์
ติกทุกกฏ
ที่นอนมีเครื่องมุงครึ่งเดียว มีเครื่องบังครึ่งเดียว ต้องอาบัติทุกกฏ อุปสัมบัน ภิกษุสำคัญว่าเป็นอนุปสัมบัน ต้องอาบัติทุกกฏ อุปสัมบัน ภิกษุไม่แน่ใจ นอนร่วมกันเกิน ๒-๓ คืน ต้องอาบัติทุกกฏ อุปสัมบัน ภิกษุสำคัญว่าเป็นอุปสัมบัน นอนร่วมกันเกิน ๒-๓ คืน ไม่ต้องอาบัติ
อนาปัตติวาร
ภิกษุต่อไปนี้ไม่ต้องอาบัติ คือ [๕๔] ๑. ภิกษุนอนพัก ๒-๓ คืน ๒. ภิกษุพักต่ำกว่า ๒-๓ คืน ๓. ภิกษุพัก ๒ คืน พอคืนที่ ๓ ออกไปก่อนอรุณขึ้นแล้วกลับเข้ามา ๔. ภิกษุนอนร่วมกันในที่นอนมีเครื่องมุงทั้งหมด แต่ไม่มีเครื่องบังทั้งหมด ๕. ภิกษุนอนร่วมกันในที่นอนมีเครื่องบังทั้งหมด แต่ไม่มีเครื่องมุงทั้งหมด ๖. ภิกษุนอนร่วมกันในที่นอนไม่มีเครื่องมุงส่วนมาก ไม่มีเครื่องบังส่วนมาก ๗. ภิกษุนั่งในเมื่ออนุปสัมบันนอน ๘. ภิกษุนอน อนุปสัมบันนั่ง ๙. ภิกษุนั่งและอนุปสัมบันก็นั่ง ๑๐. ภิกษุวิกลจริต ๑๑. ภิกษุต้นบัญญัติ
สหเสยยสิกขาบทที่ ๕ จบ
{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒ หน้า : ๒๔๐}


                  เนื้อความพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาฯ เล่มที่ ๒ หน้าที่ ๒๓๗-๒๔๐. http://84000.org/tipitaka/english/m_siri.php?B=2&siri=41              ฟังเนื้อความพระไตรปิฎก : [คลิกเพื่อฟัง]                   อ่านเทียบพระไตรปิฎกฉบับหลวง :- http://84000.org/tipitaka/english/v.php?B=2&A=7166&Z=7249                   ศึกษาอรรถกถานี้ได้ที่ :- http://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=2&i=289              พระไตรปิฏกฉบับภาษาบาลีอักษรไทย :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/pali_item_s.php?book=2&item=289&items=5              อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย :- http://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=2&A=6201              The Pali Tipitaka in Roman :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/roman_item_s.php?book=2&item=289&items=5              The Pali Atthakatha in Roman :- http://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=2&A=6201                   สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่ ๒ http://84000.org/tipitaka/read/?index_mcu2              อ่านเทียบฉบับแปลอังกฤษ Compare with English Translation :- https://suttacentral.net/pli-tv-bu-vb-pc5/en/brahmali



บันทึก ๓๑ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๕๙ บันทึกล่าสุด ๒๒ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๖๐ การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจากพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย. หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :