ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ค้นพระไตรปิฎก ชาดก หนังสือธรรมะ
     ฉบับหลวง   ฉบับมหาจุฬาฯ   บาลีอักษรไทย   PaliRoman 
พระไตรปิฎกเล่มที่ ๕ พระวินัยปิฎกเล่มที่ ๕ [ฉบับมหาจุฬาฯ] มหาวรรค ภาค ๒
๑๗๘. สีหเสนาปติวัตถุ
ว่าด้วยสีหเสนาบดีสาวกของนิครนถ์นาฏบุตร
[๒๙๐] สมัยนั้น เจ้าลิจฉวีผู้มีชื่อเสียงนั่งประชุมกันในสันถาคาร๑- กล่าวสรรเสริญ พระพุทธ กล่าวสรรเสริญพระธรรม กล่าวสรรเสริญพระสงฆ์โดยประการต่างๆ สมัยนั้น สีหเสนาบดีสาวกของนิครนถ์ นั่งอยู่ในที่ประชุมนั้นด้วย ลำดับนั้น สีหเสนาบดีได้มีความคิดดังนี้ว่า “พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น ต้องเป็นพระอรหันต สัมมาสัมพุทธเจ้าแน่ เพราะเจ้าลิจฉวีผู้มีชื่อเสียงเหล่านี้นั่งประชุมกันในสันถาคาร ต่างก็กล่าวสรรเสริญพระพุทธ กล่าวสรรเสริญพระธรรม กล่าวสรรเสริญพระสงฆ์ โดยประการต่างๆ อย่ากระนั้นเลย เราควรเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมา สัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น” ต่อมา เขาเข้าไปหานิครนถ์นาฏบุตรถึงที่อยู่ ไหว้แล้วนั่งอยู่ ณ ที่สมควร ได้กล่าวกับนิครนถ์นาฏบุตรดังนี้ว่า “ข้าพเจ้าปรารถนาจะไปเฝ้าพระ สมณโคดม เจ้าข้า” นิครนถ์นาฏบุตรกล่าวว่า “สีหะ ท่านเป็นผู้สอนให้ทำ ไฉนจึงจะไปเฝ้าพระ สมณโคดมผู้สอนไม่ให้ทำเล่า สีหะ เพราะพระสมณโคดมเป็นผู้สอนไม่ให้ทำ ย่อม แสดงธรรมเพื่อการไม่ทำ ทั้งแนะนำพวกสาวกตามแนวนั้น” ครั้งนั้นแล สีหเสนาบดีจึงล้มเลิกความตั้งใจที่จะไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค @เชิงอรรถ : @ สันถาคาร มีความหมาย ๒ นัยคือ หมายถึงอาคารที่สร้างขึ้นเพื่อเป็นที่พักผ่อนสำหรับมหาชน ถูกสร้าง @ขึ้นที่ใจกลางเมือง คนที่อยู่รอบๆ ทั้ง ๔ ทิศสามารถมองเห็นได้ คนที่มาจากทิศทั้ง ๔ จะพักผ่อนที่อาคาร @นี้ก่อนที่จะไปพักในที่สบายสำหรับตน นัยที่ ๒ หมายถึงอาคารที่สร้างขึ้นเพื่อประชุมพิจารณาราชกิจสำหรับ @ราชตระกูล ในที่นี้หมายถึงนัยที่ ๒ (องฺ.อฏฺฐก.อ. ๓/๑๒/๒๒๙-๒๓๐, ดู องฺ.อฏฺฐก. ๒๓/๑๒/๑๔๙ ด้วย) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๕ หน้า : ๑๐๘}

พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๖. เภสัชชขันธกะ]

๑๗๘. สีหเสนาปติวัตถุ

แม้ครั้งที่ ๒ ฯลฯ แม้ครั้งที่ ๓ เจ้าลิจฉวีผู้มีชื่อเสียงนั่งประชุมอยู่ในสันถาคาร กล่าวสรรเสริญ พระพุทธ กล่าวสรรเสริญพระธรรม กล่าวสรรเสริญพระสงฆ์ โดยประการต่างๆ แม้ครั้งที่ ๓ สีหเสนาบดีก็มีความคิดดังนี้ว่า “พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น ต้องเป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าแน่ เพราะเจ้าลิจฉวีผู้มีชื่อเสียงเหล่านี้นั่ง ประชุมกันในสันถาคาร ต่างก็กล่าวสรรเสริญพระพุทธ กล่าวสรรเสริญพระธรรม กล่าว สรรเสริญพระสงฆ์ โดยประการต่างๆ ก็พวกนิครนถ์เหล่านี้ เราจะบอกหรือไม่ก็ไม่ มีประโยชน์อะไร อย่ากระนั้นเลย เราจะไม่บอกพวกนิครนถ์แล้วเข้าไปเฝ้าพระผู้มี พระภาคพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น” ครั้งนั้น สีหเสนาบดีเดินทางออกจากกรุงเวสาลีแต่หัววัน พร้อมด้วยรถ ๕๐๐ คัน เดินทางไปด้วยยานพาหนะตลอดพื้นที่ที่ยานพาหนะจะไปได้แล้วลงเดินเข้าไปเฝ้า พระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ครั้นถึงแล้วได้ถวายอภิวาทพระผู้มีพระภาคแล้วนั่งอยู่ ณ ที่สมควร สีหเสนาบดีผู้นั่งอยู่ ณ ที่สมควรได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า “พระ องค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์ได้ฟังมาดังนี้ว่า ‘พระสมณโคดมเป็นผู้สอนไม่ให้ทำ ทรงแสดง ธรรมเพื่อการไม่ให้ทำ ทั้งแนะนำพวกสาวกตามแนวนั้น’ พระพุทธเจ้าข้า คนเหล่า ใดกล่าวอย่างนี้ว่า ‘พระสมณโคดมเป็นผู้สอนไม่ให้ทำ แสดงธรรมเพื่อการไม่ให้ทำ ทั้งแนะ นำพวกสาวกตามแนวนั้น’ พระพุทธเจ้าข้า คนเหล่านั้นจะชื่อว่ากล่าวตรงตามที่พระ ผู้มีพระภาคตรัสไว้ ไม่ชื่อว่ากล่าวตู่พระผู้มีพระภาคด้วยคำเท็จหรือ ชื่อว่ากล่าวแก้ อย่างสมเหตุสมผลหรือ ไม่มีบ้างหรือที่คำกล่าวเช่นนั้นและคำกล่าวต่อๆ กันมา จะ เป็นเหตุให้ถูกตำหนิได้ เพราะข้าพระองค์ไม่ประสงค์จะกล่าวตู่พระผู้มีพระภาคเลย”
ข้อกล่าวหาของคนทั่วไป ๘ ประการ
[๒๙๑] พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ๑. สีหะ ข้อที่เขากล่าวหาเราว่า ‘พระสมณโคดมเป็นผู้สอนไม่ให้ทำ ทรงแสดงธรรมเพื่อการไม่ให้ทำ ทั้งแนะนำพวกสาวกตามแนวนั้น’ นั้น มีมูลอยู่ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๕ หน้า : ๑๐๙}

พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๖. เภสัชชขันธกะ]

๑๗๘. สีหเสนาปติวัตถุ

๒. สีหะ ข้อที่เขากล่าวหาเราว่า ‘พระสมณโคดมเป็นผู้สอนให้ทำ แสดง ธรรมเพื่อการให้ทำ ทั้งแนะนำพวกสาวกตามแนวนั้น’ นั้นมีมูลอยู่ ๓. สีหะ ข้อที่เขากล่าวหาเราว่า ‘พระสมณโคดมเป็นผู้สอนให้ทำลาย แสดงธรรมเพื่อความทำลาย ทั้งแนะนำพวกสาวกตามแนวนั้น’ นั้น มีมูลอยู่ ๔. สีหะ ข้อที่เขากล่าวหาเราว่า ‘พระสมณโคดมเป็นคนช่างรังเกียจ แสดงธรรมเพื่อความรังเกียจ ทั้งแนะนำพวกสาวกตามแนวนั้น’ นั้น มีมูลอยู่ ๕. สีหะ ข้อที่เขากล่าวหาเราว่า ‘พระสมณโคดมเป็นคนช่างกำจัด แสดง ธรรมเพื่อความกำจัด ทั้งแนะนำพวกสาวกตามแนวนั้น’ นั้นมี มูลอยู่ ๖. สีหะ ข้อที่เขากล่าวหาเราว่า ‘พระสมณโคดมเป็นคนช่างเผาผลาญ แสดงธรรมเพื่อความเผาผลาญ ทั้งแนะนำพวกสาวกตามแนวนั้น’ นั้นมีมูลอยู่ ๗. สีหะ ข้อที่เขากล่าวหาเราว่า ‘พระสมณโคดมเป็นคนไม่ผุดไม่เกิด แสดงธรรมเพื่อไม่ผุดไม่เกิด ทั้งแนะนำพวกสาวกตามแนวนั้น’ นั้น มีมูลอยู่ ๘. สีหะ ข้อที่เขากล่าวหาเราว่า ‘พระสมณโคดมเป็นผู้เบาใจ แสดงธรรม เพื่อความเบาใจ ทั้งแนะนำพวกสาวกตามแนวนั้น’ นั้นมีมูลอยู่
พระดำรัสแก้ข้อกล่าวหา ๘ ประการ
[๒๙๒] สีหะ ข้อที่เขากล่าวหาเราว่า ‘พระสมณโคดมเป็นผู้สอนไม่ให้ทำทรง แสดงธรรมเพื่อการไม่ให้ทำ ทั้งแนะนำพวกสาวกตามแนวนั้น’ นั้นชื่อว่ามีมูลอยู่ เป็นอย่างไร {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๕ หน้า : ๑๑๐}

พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๖. เภสัชชขันธกะ]

๑๗๘. สีหเสนาปติวัตถุ

๑. สีหะ เพราะเราสอนไม่ให้ทำกายทุจริต วจีทุจริต มโนทุจริต ตลอด ถึงการไม่ให้ทำบาปอกุศลธรรมต่างๆ ข้อที่เขากล่าวหาเราว่า ‘พระ สมณโคดมเป็นผู้สอนไม่ให้ทำ แสดงธรรมเพื่อการไม่ให้ทำ ทั้งแนะนำ พวกสาวกตามแนวนั้น’ นี้แลมีมูลอยู่ สีหะ ข้อที่เขากล่าวหาเราว่า ‘พระสมณโคดมเป็นผู้สอนให้ทำ แสดงธรรม เพื่อการให้ทำ ทั้งแนะนำพวกสาวกตามแนวนั้น’ นั้นมีมูลอยู่ เป็นอย่างไร ๒. สีหะ เพราะเราสอนให้ทำกายสุจริต วจีสุจริต มโนสุจริต ตลอดถึง การทำกุศลธรรมต่างๆ ข้อที่เขากล่าวหาเราว่า ‘พระสมณโคดม เป็นผู้สอนให้ทำ ทรงแสดงธรรมเพื่อการให้ทำ ทั้งแนะนำพวกสาวก ตามแนวนั้น’ นี้แลมีมูลอยู่ สีหะ ข้อที่เขากล่าวหาเราว่า ‘พระสมณโคดมสอนให้ทำลาย แสดงธรรมเพื่อ ความทำลาย ทั้งแนะนำพวกสาวกตามแนวนั้น’ นั้นชื่อว่ามีมูลอยู่ เป็นอย่างไร ๓. สีหะ เพราะเราสอนให้ทำลายราคะ โทสะ โมหะ ตลอดถึงให้ทำลาย บาปอกุศลธรรมต่างๆ ข้อที่เขากล่าวหาเราว่า ‘พระสมณโคดม สอนให้ทำลาย แสดงธรรมเพื่อความทำลาย ทั้งแนะนำพวกสาวก ตามแนวนั้น’ นี้แลมีมูลอยู่ สีหะ ข้อที่เขากล่าวหาเราว่า ‘พระสมณโคดมเป็นคนช่างรังเกียจ แสดงธรรม เพื่อความรังเกียจ ทั้งแนะนำพวกสาวกตามแนวนั้น’ นั้นชื่อว่ามีมูลอยู่ เป็นอย่างไร ๔. สีหะ เพราะเราช่างรังเกียจกายทุจริต วจีทุจริต มโนทุจริต ตลอด ถึงรังเกียจบาป อกุศลธรรมต่างๆ ข้อที่เขากล่าวหาเราว่า ‘พระ สมณโคดมเป็นคน ช่างรังเกียจ แสดงธรรมเพื่อความรังเกียจ ทั้ง แนะนำพวกสาวกตามแนวนั้น’ นี้แลมีมูลอยู่ สีหะ ข้อที่เขากล่าวหาเราว่า ‘พระสมณโคดมเป็นคนช่างกำจัด แสดงธรรมเพื่อ ความกำจัด ทั้งแนะนำพวกสาวกตามแนวนั้น’ นั้นชื่อว่ามีมูลอยู่ เป็นอย่างไร {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๕ หน้า : ๑๑๑}

พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๖. เภสัชชขันธกะ]

๑๗๘. สีหเสนาปติวัตถุ

๕. สีหะ เพราะเราแสดงธรรมเพื่อกำจัดราคะ โทสะ โมหะ และบาป อกุศลธรรมต่างๆ ข้อที่เขากล่าวหาเราว่า ‘พระสมณโคดมเป็นคน ช่างกำจัด แสดงธรรมเพื่อความกำจัด ทั้งแนะนำพวกสาวกตาม แนวนั้น’ นี้แลมีมูลอยู่ สีหะ ข้อที่เขากล่าวหาเราว่า ‘พระสมณโคดมเป็นคนช่างเผาผลาญ แสดงธรรม เพื่อความเผาผลาญ ทั้งแนะนำพวกสาวกตามแนวนั้น’ นั้นชื่อว่ามีมูลอยู่ เป็นอย่างไร ๖. สีหะ เพราะเรากล่าวถึงบาปอกุศลธรรมทั้งหลาย คือ กายทุจริต วจีทุจริต มโนทุจริตว่าเป็นสิ่งที่ควรเผาผลาญ สีหะ เราเรียกคน ที่ละบาปอกุศลธรรมทั้งหลายที่ควรเผาผลาญได้หมดสิ้น ตัดราก ถอนโคนเหมือนต้นตาลที่ถูกตัดรากถอนโคนไปแล้วเหลือแต่พื้นที่ ทำให้ไม่มี เกิดขึ้นต่อไปไม่ได้ว่า ‘เป็นคนช่างเผาผลาญ’ ตถาคต ละบาปอกุศลธรรมต่างๆ ที่ควรเผาผลาญได้หมดสิ้น ข้อที่เขากล่าว หาเราว่า ‘พระสมณโคดมเป็นคนช่างเผาผลาญ แสดงธรรมเพื่อ การเผาผลาญ ทั้งแนะนำพวกสาวกตามแนวนั้น’ นี้แลมีมูลอยู่ สีหะ ข้อที่เขากล่าวหาเราว่า ‘พระสมณโคดมเป็นคนไม่ผุดไม่เกิด แสดงธรรม เพื่อความไม่ผุดไม่เกิด ทั้งแนะนำพวกสาวกตามแนวนั้น’ นั้นชื่อว่ามีมูลอยู่ เป็นอย่างไร ๗. สีหะ เพราะเราเรียกคนที่ละการอยู่ในครรภ์และการเกิดใหม่ได้หมด ตัดรากถอนโคนเหมือนต้นตาลที่ถูกตัดรากถอนโคนแล้ว เหลือแต่ พื้นที่ทำให้ไม่มี เกิดขึ้นต่อไปไม่ได้ว่า ‘เป็นคนไม่ผุดไม่เกิด’ ตถาคต ละการอยู่ในครรภ์และการเกิดใหม่ได้หมดสิ้นแล้ว ข้อที่เขากล่าว หาเราว่า ‘พระสมณโคดมเป็นคนไม่ผุดไม่เกิด แสดงธรรมเพื่อความ ไม่ผุดไม่เกิด ทั้งแนะนำพวกสาวกตามแนวนั้น’ นี้แลมีมูลอยู่ สีหะ ข้อที่เขากล่าวหาเราว่า ‘พระสมณโคดมเป็นผู้เบาใจ แสดงธรรมเพื่อความ เบาใจ ทั้งแนะนำพวกสาวกตามแนวนั้น’ นั้นชื่อว่ามีมูลอยู่ เป็นอย่างไร ๘. สีหะ เพราะเราเป็นผู้เบาใจด้วยความเบาใจอย่างยิ่ง แสดงธรรมเพื่อ ความเบาใจ ทั้งแนะนำพวกสาวกตามแนวนั้น ข้อที่เขากล่าวหาเราว่า {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๕ หน้า : ๑๑๒}

พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๖. เภสัชชขันธกะ]

๑๗๘. สีหเสนาปติวัตถุ

‘พระสมณโคดมเป็นผู้เบาใจ แสดงธรรมเพื่อความเบาใจ ทั้งแนะนำ พวกสาวกตามแนวนั้น’ นี้แลมีมูลอยู่ [๒๙๓] เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสตอบอย่างนี้แล้ว สีหเสนาบดีได้กราบทูล พระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า “พระองค์ผู้เจริญ ภาษิตของพระองค์ชัดเจนไพเราะยิ่งนัก พระองค์ผู้เจริญ ภาษิตของพระองค์ชัดเจนไพเราะยิ่งนัก พระองค์ทรงประกาศธรรม แจ่มแจ้งโดยประการต่างๆ เปรียบเหมือนบุคคลหงายของที่คว่ำ เปิดของที่ปิด บอกทางแก่ผู้หลงทาง หรือตามประทีปในที่มืดด้วยตั้งใจว่า คนมีตาดีจักเห็นรูป พระองค์ ผู้เจริญ ข้าพระองค์นี้ขอถึงพระผู้มีพระภาค พร้อมทั้งพระธรรมและพระสงฆ์เป็น สรณะ ขอพระผู้มีพระภาคจงทรงจำข้าพระองค์ว่าเป็นอุบาสกผู้เข้าถึงสรณะตั้งแต่วัน นี้เป็นต้นไปจนตลอดชีวิต” พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “สีหะ ท่านใคร่ครวญก่อนแล้วจึงตัดสินใจเถิด คนที่ มีชื่อเสียงเช่นท่านต้องใคร่ครวญให้รอบคอบก่อนจึงเป็นการดี” สีหเสนาบดีกราบทูลว่า “พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์ปลาบปลื้มชื่นใจอย่างยิ่ง เพราะพระดำรัส ที่พระองค์ตรัสว่า ‘ท่านใคร่ครวญก่อนแล้วจึงตัดสินใจเถิด คนที่มี ชื่อเสียงเช่นท่านต้องใคร่ครวญให้รอบคอบก่อนจึงเป็นการดี’ ความจริง เพราะพวก อัญเดียรถีย์ได้ข้าพระองค์เป็นสาวกแล้วก็ป่าวประกาศไปทั่วกรุงเวสาลีว่า ‘สีหเสนาบดี เป็นสาวกของพวกเรา’ แต่พระองค์กลับตรัสว่า ‘ท่านใคร่ครวญก่อนแล้วจึงค่อย ตัดสินใจเถิด คนที่มีชื่อเสียงเช่นท่านต้องใคร่ครวญให้รอบคอบก่อนจึงเป็นการดี’ พระองค์ผู้เจริญ แม้ครั้งที่ ๒ ข้าพระองค์นี้ขอถึงพระผู้มีพระภาค พร้อมทั้งพระธรรม และพระสงฆ์เป็นสรณะ ขอพระผู้มีพระภาค จงทรงจำข้าพระองค์ว่าเป็นอุบาสกผู้ เข้าถึงสรณะ ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไปจนตลอดชีวิตเถิด”
ทรงสนับสนุนให้อุปถัมภ์ลัทธิที่เคยนับถือมาก่อน
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “สีหะ ตระกูลของท่านเคยเป็นที่ต้อนรับพวกนิครนถ์ มานาน ดังนั้น ท่านพึงใส่ใจว่าควรให้บิณฑบาตแก่พวกนิครนถ์ผู้เข้าไปตระกูลต่อไปเถิด” {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๕ หน้า : ๑๑๓}

พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๖. เภสัชชขันธกะ]

๑๗๘. สีหเสนาปติวัตถุ

สีหเสนาบดีกราบทูลว่า “พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์ปลาบปลื้มชื่นใจอย่าง ยิ่งเพราะพระดำรัสที่พระองค์ตรัสว่า ‘สีหะ ตระกูลของท่านเคยเป็นที่ต้อนรับพวก นิครนถ์มานาน ดังนั้น ท่านพึงใส่ใจว่าควรให้บิณฑบาตแก่พวกนิครนถ์ผู้เข้าไป ตระกูลต่อไปเถิด’ ข้าพระองค์ได้ฟังมาดังนี้ พระสมณโคดมตรัสอย่างนี้ว่า ‘ควรให้ ทานแก่เราเท่านั้น ไม่ควรให้ทานแก่ศาสดาอื่น ควรให้ทานแก่สาวกของเราเท่านั้น ไม่ควรให้ทานแก่สาวกของศาสดาอื่น ทานที่ให้แก่เราเท่านั้นมีผลมาก ทานที่ให้ แก่ศาสดาอื่นไม่มีผลมาก ทานที่ให้แก่สาวกของเราเท่านั้นมีผลมาก ทานที่ให้แก่ สาวกของศาสดาอื่นไม่มีผลมาก’ แต่พระผู้มีพระภาคกลับทรงชักชวนให้ข้าพระองค์ ให้ทานแก่พวกนิครนถ์ ข้าพระองค์จะรู้เวลาในเรื่องนี้เอง พระองค์ผู้เจริญ แม้ครั้งที่ ๓ ข้าพระองค์นี้ขอถึงพระผู้มีพระภาค พร้อมทั้งพระธรรมและพระสงฆ์เป็นสรณะ ขอ พระผู้มีพระภาคจงทรงจำข้าพระองค์ว่า เป็นอุบาสกผู้เข้าถึงสรณะ ตั้งแต่วันนี้ เป็นต้นไปจนตลอดชีวิต” ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคได้ตรัสอนุปุพพิกถา คือ ทรงประกาศ ๑. ทานกถา ๒. สีลกถา ๓. สัคคกถา ๔. กามาทีนวกถา ๕. เนกขัมมานิสังสกถา แก่สีหะเสนาบดี เมื่อทรงทราบว่าสีหเสนาบดีมีจิตควร อ่อน ปราศจากนิวรณ์ เบิกบาน ผ่องใส จึงทรงประกาศสามุกกังสิกธรรมเทศนาของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย คือ ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค ธรรมจักษุอันปราศจากธุลีปราศจากมลทินได้เกิดขึ้นแก่สีหเสนาบดี นั้น ณ อาสนะนั้นแลว่า “สิ่งใดสิ่งหนึ่งมีความเกิดขึ้นเป็นธรรมดา สิ่งนั้นทั้งปวงมี ความดับไปเป็นธรรมดา” เปรียบเหมือนผ้าขาวสะอาดปราศจากมลทินควรรับน้ำย้อม ได้เป็นอย่างดี ครั้งนั้น สีหเสนาบดีได้เห็นธรรมแล้ว บรรลุธรรมแล้ว รู้แจ้งธรรมแล้ว หยั่งลง สู่ธรรมแล้ว ข้ามความสงสัยแล้ว ปราศจากความแคลงใจ ถึงความเป็นผู้แกล้วกล้า {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๕ หน้า : ๑๑๔}

พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๖. เภสัชชขันธกะ]

๑๗๘. สีหเสนาปติวัตถุ

ไม่ต้องเชื่อใครอีกในคำสอนของพระศาสดา จึงกราบทูลว่า “ขอพระผู้มีพระภาค พร้อมภิกษุสงฆ์โปรดรับภัตตาหารของข้าพระองค์เพื่อเจริญกุศลในวันพรุ่งนี้เถิด พระพุทธเจ้าข้า” พระผู้มีพระภาคทรงรับนิมนต์โดยดุษณีภาพ สีหเสนาบดีนั้นทราบการที่พระผู้มีพระภาคทรงรับนิมนต์แล้ว จึงได้ลุกจาก อาสนะ ถวายอภิวาทพระผู้มีพระภาค ทำประทักษิณแล้วกลับไป [๒๙๔] ครั้งนั้น สีหเสนาบดีใช้มหาดเล็กผู้หนึ่งว่า “เธอไปหาซื้อเนื้อสดที่มี ขายมา” โดยล่วงไปแห่งราตรีนั้นได้จัดเตรียมของเคี้ยวของฉันอันประณีตแล้วให้ มหาดเล็กไปกราบทูลภัตกาลพระผู้มีพระภาคว่า “ถึงเวลาแล้ว พระพุทธเจ้าข้า ภัตตาหารเสร็จแล้ว” ครั้นเวลาเช้า พระผู้มีพระภาคทรงครองอันตรวาสกแล้ว ทรงถือบาตรและจีวร เสด็จไปที่นิเวศน์ของสีหเสนาบดี ประทับนั่งบนอาสนะที่จัดถวายพร้อมกับภิกษุสงฆ์ สมัยนั้น พวกนิครนถ์จำนวนมากพากันกอดแขนคร่ำครวญไปตามถนนสี่แยก สามแยกทั่วกรุงเวสาลีว่า “วันนี้ สีหเสนาบดีฆ่าสัตว์เลี้ยงตัวอ้วนๆ ทำอาหาร เลี้ยงพระสมณโคดม พระสมณโคดมทั้งที่รู้อยู่ก็ยังฉันเนื้อที่เขาทำเจาะจงตนเอง” ครั้งนั้น มหาดเล็กผู้หนึ่งเข้าไปหาสีหเสนาบดี กล่าวว่า “เจ้านายพึงทราบเถิด พวกนิครนถ์จำนวนมากพากันกอดแขนคร่ำครวญไปตามถนนสี่แยกสามแยกทั่ว กรุงเวสาลีว่า ‘วันนี้ สีหเสนาบดีฆ่าสัตว์เลี้ยงตัวอ้วนๆ ทำอาหารเลี้ยงพระสมณโคดม พระสมณโคดมทั้งที่รู้อยู่ก็ยังฉันเนื้อที่เขาทำเจาะจงตนเอง” สีหเสนาบดีตอบว่า “ช่างเถิด ท่านเหล่านั้นประสงค์จะตำหนิพระพุทธ ประสงค์ จะตำหนิพระธรรม ประสงค์จะตำหนิพระสงฆ์มานานแล้ว อนึ่ง ท่านเหล่านั้นกล่าวตู่ พระผู้มีพระภาคด้วยเรื่องที่ไม่มีอยู่ เปล่าประโยชน์ เป็นเรื่องเท็จ ไม่เป็นจริง ส่วน พวกเราไม่จงใจฆ่าสัตว์แม้เพราะเหตุแห่งชีวิต” {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๕ หน้า : ๑๑๕}

พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๖. เภสัชชขันธกะ]

๑๗๙. กัปปิยภูมิอนุชานนา

ลำดับนั้น สีหเสนาบดี ได้นำของเคี้ยวของฉันอันประณีตประเคนภิกษุสงฆ์มี พระพุทธเจ้าเป็นประธานด้วยตนเอง กระทั่งพระผู้มีพระภาคเสวยเสร็จ ทรงห้าม ภัตตาหารแล้วทรงละพระหัตถ์จากบาตร จึงได้นั่งเฝ้าอยู่ ณ ที่สมควร
เรื่องทรงห้ามฉันเนื้อที่เขาทำเจาะจง
พระผู้มีพระภาคทรงชี้แจงให้สีหเสนาบดีเห็นชัด ชวนให้อยากรับไปปฏิบัติ เร้าใจให้อาจหาญแกล้วกล้า ปลอบชโลมใจให้สดชื่นร่าเริงด้วยธรรมีกถาแล้ว ทรง แสดงธรรมีกถาเพราะเรื่องนี้เป็นต้นเหตุ รับสั่งกับภิกษุทั้งหลายว่า “ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุรู้อยู่ ไม่พึงฉันเนื้อที่เขาทำเจาะจง รูปใดฉัน ต้องอาบัติทุกกฏ ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตปลา เนื้อเป็นของบริสุทธิ์ด้วยอาการ ๓ อย่างคือ ๑. ไม่ได้เห็น ๒. ไม่ได้ยิน ๓. ไม่ได้นึกสงสัย


                  เนื้อความพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาฯ เล่มที่ ๕ หน้าที่ ๑๐๘-๑๑๖. http://84000.org/tipitaka/english/m_siri.php?B=5&siri=21              ฟังเนื้อความพระไตรปิฎก : [1], [2], [3].                   อ่านเทียบพระไตรปิฎกฉบับหลวง :- http://84000.org/tipitaka/english/v.php?B=5&A=1924&Z=2100                   ศึกษาอรรถกถานี้ได้ที่ :- http://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=5&i=78              พระไตรปิฏกฉบับภาษาบาลีอักษรไทย :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/pali_item_s.php?book=5&item=78&items=3              อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย :- http://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=3&A=4045              The Pali Tipitaka in Roman :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/roman_item_s.php?book=5&item=78&items=3              The Pali Atthakatha in Roman :- http://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=3&A=4045                   สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่ ๕ http://84000.org/tipitaka/read/?index_mcu5              อ่านเทียบฉบับแปลอังกฤษ Compare with English Translation :- https://suttacentral.net/pli-tv-kd6/en/brahmali#pli-tv-kd6:31.1.0 https://suttacentral.net/pli-tv-kd6/en/horner-brahmali#BD.4.318



บันทึก ๓๑ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๕๙ บันทึกล่าสุด ๒๒ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๖๐ การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจากพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย. หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :