ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ค้นพระไตรปิฎก ชาดก หนังสือธรรมะ
     ฉบับหลวง   ฉบับมหาจุฬาฯ   บาลีอักษรไทย   PaliRoman 
พระไตรปิฎกเล่มที่ ๕ พระวินัยปิฎกเล่มที่ ๕ [ฉบับมหาจุฬาฯ] มหาวรรค ภาค ๒

พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๘. จีวรขันธกะ]

๒๑๖. ฉินทกจีวรานุชานนา

เรื่องพระฉัพพัคคีย์ใช้จีวรที่ไม่ได้ตัด
สมัยนั้น พวกภิกษุฉัพพัคคีย์ใช้จีวรที่ไม่ได้ตัดที่ย้อมน้ำฝาดมีสีเหมือนงาช้าง คนทั้งหลายตำหนิ ประณาม โพนทะนาว่า “เหมือนคฤหัสถ์ผู้บริโภคกาม” ภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุไม่พึงใช้จีวรที่ไม่ได้ตัด ภิกษุใด ใช้ต้องอาบัติทุกกฏ”
๒๑๖. ฉินทกจีวรานุชานนา
ว่าด้วยทรงอนุญาตจีวรตัด
เรื่องตัดจีวรตามแบบคันนา
[๓๔๕] สมัยนั้น พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ กรุงราชคฤห์ตามพระ อัธยาศัยแล้ว เสด็จจาริกไปทักขิณาคิรีชนบท ทอดพระเนตรเห็นนาของชาวมคธ ซึ่งเขาพูนดินเป็นคันนาสี่เหลี่ยมจตุรัส ก่อคันนายาวทั้งด้านยาวและด้านกว้าง คั่นระหว่างด้วยคันนาสั้นๆ เชื่อมกันเหมือนทางสี่แพร่ง ตามที่ซึ่งคันนาตัดผ่านกัน รับสั่งกับท่านพระอานนท์ว่า “อานนท์ เธอเห็นนาของชาวมคธซึ่งเขาพูนดินเป็น คันนาสี่เหลี่ยม ยาวทั้งด้านยาวและด้านกว้าง คั่นระหว่างด้วยคันนาสั้นๆ เชื่อมกัน เหมือนทางสี่แพร่ง หรือ” ท่านพระอานนท์กราบทูลว่า “เห็น พระพุทธเจ้าข้า” พระผู้มีพระภาคตรัสถามว่า “เธอสามารถทำจีวรของภิกษุให้มีรูปอย่างนั้นได้ หรือ” ท่านพระอานนท์กราบทูลว่า “สามารถทำได้ พระพุทธเจ้าข้า” เมื่อพระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ ทักขิณาคิรีชนบทตามพระอัธยาศัยแล้ว เสด็จกลับมายังกรุงราชคฤห์อีก ครั้งนั้น ท่านพระอานนท์แต่งจีวรสำหรับภิกษุ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๕ หน้า : ๒๑๓}

พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๘. จีวรขันธกะ]

๒๑๖. ฉินทกจีวรานุชานนา

หลายรูป แล้วเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคได้กราบทูลดังนี้ว่า “ขอพระองค์โปรดทอด พระเนตรจีวรที่ข้าพระองค์จัดทำแล้ว พระพุทธเจ้าข้า”
ตรัสสรรเสริญพระอานนท์
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคทรงแสดงธรรมีกถาเพราะเรื่องนี้เป็นต้นเหตุ แล้วรับ สั่งกับภิกษุทั้งหลายว่า “ภิกษุทั้งหลาย อานนท์เป็นบัณฑิต ภิกษุทั้งหลาย อานนท์ มีปัญญามาก ที่เข้าใจความหมายที่เรากล่าวย่อๆ ได้อย่างพิสดาร เธอทำผ้ากุสิบ้าง ทำผ้าอัฑฒกุสิบ้าง ทำผ้ามณฑลบ้าง ทำผ้าอัฑฒมณฑลบ้าง ทำผ้าวิวัฏฏะบ้าง ทำผ้าอนุวิวัฏฏะบ้าง ทำผ้าคีเวยยกะบ้าง ทำผ้าชังเฆยยกะบ้าง ทำผ้าพาหันตะบ้าง๑- จีวรเป็นผ้าที่ต้องตัด เศร้าหมองเพราะศัสตรา เหมาะแก่สมณะ และพวกโจรไม่ ต้องการ ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตสังฆาฏิตัด อุตตราสงค์ตัด และอันตรวาสกตัด @เชิงอรรถ : @ ผ้ากุสิ คือ ผ้ายาวที่ติดขอบจีวรทั้งด้านยาวและด้านกว้าง (อนุวาต) @ผ้าอัฑฒกุสิ คือ ผ้าสั้นที่แทรกอยู่เป็นตอนๆ ในระหว่างผ้ายาว @ผ้ามณฑล คือ ผ้ามีบริเวณกว้างใหญ่ในแต่ละตอนของจีวร ๕ ตอน (จีวร ๕ ขัณฑ์) @ผ้าอัฑฒมณฑล คือ ผ้ามีบริเวณเล็กๆ @ผ้าวิวัฏฏะ คือ ตอน (ขัณฑ์) ของผ้าที่อยู่ตรงกลางซึ่งเย็บผ้ามณฑลและอัฑฒมณฑลเข้าด้วยกัน @ผ้าอนุวิวัฏฏะ คือ ผ้า ๒ ตอน (ขัณฑ์) ที่อยู่ ๒ ด้านของจีวร @ผ้าคีเวยยกะ คือ ผ้าที่เอาด้ายเย็บเล็มทาบเข้ามาทีหลังเพื่อทำให้แน่นหนา บริเวณที่พันรอบคอ @ผ้าชังเฆยยกะ คือ ผ้าที่เอาด้ายเย็บทาบเข้าทีหลัง บริเวณที่ปิดแข้ง @ผ้าพาหันตะ คือ ผ้าทั้ง ๒ ด้าน (ของจีวร) ที่ภิกษุเมื่อห่มจีวรขนาดพอดี จะม้วนมาพาดไว้บนแขน @หันหน้าออกด้านนอก (วิ.อ. ๓/๓๔๕/๒๑๗) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๕ หน้า : ๒๑๔}

พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๘. จีวรขันธกะ]

๒๑๗. ติจีวรานุชานนา

๒๑๗. ติจีวรานุชานนา
ว่าด้วยการอนุญาตไตรจีวร
เรื่องทอดพระเนตรเห็นภิกษุแบกห่อจีวร
[๓๔๖] สมัยนั้น พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ กรุงราชคฤห์ตามพระ อัธยาศัยแล้ว เสด็จจาริกไปกรุงเวสาลี พระผู้มีพระภาคทรงดำเนินทางไกลระหว่าง กรุงราชคฤห์ต่อกับกรุงเวสาลี ได้ทอดพระเนตรเห็นภิกษุในธรรมวินัยนี้จำนวน มากหอบผ้าพะรุงพะรัง บ้างก็ทูนห่อผ้าที่พับดังฟูกไว้บนศีรษะ บ้างก็แบกขึ้นบ่า บ้างก็กระเดียดไว้ที่สะเอวเดินมา ครั้นทอดพระเนตรเห็นแล้ว พระผู้มีพระภาคได้มี พระดำริว่า “โมฆบุรุษเหล่านี้หมกมุ่นเพื่อความมักมากในจีวรเหลือเกิน อย่ากระนั้นเลย เราควรกำหนดเขตแดน เราควรกำหนดกฎเกณฑ์ในเรื่องผ้าแก่ภิกษุทั้งหลาย” แล้ว เสด็จจาริกไปโดยลำดับจนถึงกรุงเวสาลี ประทับอยู่ที่โคตมกเจดีย์ สมัยนั้น เป็นยามค่ำคืนที่หนาวเหน็บในฤดูหนาวอยู่ในช่วงเดือน ๓ เดือน ๔ พระผู้มีพระภาคทรงห่มจีวรผืนเดียว ประทับนั่งอยู่กลางแจ้งตลอดราตรีขณะที่น้ำค้างตก แต่ไม่ทรงหนาว เมื่อปฐมยามผ่านไปทรงรู้สึกหนาว ทรงห่มจีวรผืนที่ ๒ จึงไม่ทรง หนาว เมื่อมัชฌิมยามผ่านไป ทรงรู้สึกหนาว ทรงห่มจีวรผืนที่ ๓ จึงไม่ทรงหนาว เมื่อปัจฉิมยามผ่านไป ยามรุ่งอรุณแห่งราตรีอันเป็นเบื้องต้นแห่งความสดชื่น ทรง รู้สึกหนาว ทรงห่มจีวรผืนที่ ๔ จึงไม่ทรงหนาว แล้วทรงพระดำริว่า “กุลบุตรในธรรม วินัยนี้ที่เป็นคนมีปกติหนาว กลัวความหนาว อาจครองชีพอยู่ได้ด้วยผ้า ๓ ผืน อย่ากระนั้นเลย เราควรกำหนดเขตแดน ควรกำหนดกฎเกณฑ์ในเรื่องผ้า เราควร อนุญาตผ้า ๓ ผืนแก่ภิกษุทั้งหลาย”
เรื่องทรงอนุญาตไตรจีวร
สมัยนั้น พระผู้มีพระภาคทรงแสดงธรรมีกถาเพราะเรื่องนี้เป็นต้นเหตุ แล้ว รับสั่งกับภิกษุทั้งหลายว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราเดินทางไกลระหว่างกรุงราชคฤห์กับ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๕ หน้า : ๒๑๕}

พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๘. จีวรขันธกะ]

๒๑๘. อติเรกจีวรกถา

กรุงเวสาลีต่อกัน ได้เห็นภิกษุในธรรมวินัยนี้จำนวนมากหอบผ้าพะรุงพะรัง บ้างก็ทูน ห่อผ้าที่พับดังฟูกไว้บนศีรษะ บ้างก็แบกขึ้นบ่า บ้างก็กระเดียดไว้ที่สะเอวเดินมา ครั้นเห็นแล้ว เราได้มีความคิดดังนี้ว่า ‘โมฆบุรุษเหล่านี้หมกมุ่นเพื่อความมักมากใน จีวรเหลือเกิน อย่ากระนั้นเลย เราควรกำหนดเขตแดน เราควรกำหนดกฏเกณฑ์ใน เรื่องผ้าแก่ภิกษุทั้งหลาย’ ต่อมา ในยามค่ำคืนที่หนาวเหน็บในฤดูหนาวอยู่ในช่วง เดือน ๓ เดือน ๔ เราครองจีวรผืนเดียวนั่งอยู่กลางแจ้งตลอดราตรีขณะที่น้ำค้างตก แต่ยังไม่รู้สึกหนาว เมื่อปฐมยามผ่านไป รู้สึกหนาว ห่มจีวรผืนที่ ๒ จึงไม่หนาว เมื่อมัชฌิมยามผ่านไป รู้สึกหนาว ห่มจีวรผืนที่ ๓ จึงไม่หนาว เมื่อปัจฉิมยามผ่านไป ยามรุ่งอรุณแห่งราตรีอันเป็นเบื้องต้นแห่งความสดชื่น รู้สึกหนาว ห่มจีวรผืนที่ ๔ จึงไม่หนาว ภิกษุทั้งหลาย เราเองได้มีความคิดดังนี้ว่า ‘กุลบุตรในธรรมวินัยนี้ที่เป็น คนมีปกติหนาว กลัวความหนาว อาจครองชีพอยู่ได้ด้วยผ้า ๓ ผืน อย่ากระนั้น เลย เราควรกำหนดเขตแดน เราควรกำหนดกฏเกณฑ์ในเรื่องผ้าแก่ภิกษุทั้งหลาย เราควรอนุญาตผ้า ๓ ผืน ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตไตรจีวร คือ สังฆาฏิ ๒ ชั้น อุตตราสงค์ชั้นเดียว อันตรวาสกชั้นเดียว”
๒๑๘. อติเรกจีวรกถา
ว่าด้วยอติเรกจีวร
เรื่องพระฉัพพัคคีย์ทรงอติเรกจีวรชุดอื่นเข้าบ้าน
[๓๔๗] สมัยนั้น พวกภิกษุฉัพพัคคีย์ทราบว่า “พระผู้มีพระภาคทรงอนุญาต ไตรจีวรแล้ว” จึงใช้ไตรจีวรชุดหนึ่งเข้าบ้าน ใช้ไตรจีวรอีกชุดหนึ่งอยู่ในอาราม ใช้ไตรจีวรอีกชุดหนึ่งลงสรงน้ำ บรรดาภิกษุผู้มักน้อยสันโดษตำหนิ ประณาม โพนทะนาว่า “ไฉนพวกภิกษุฉัพพัคคีย์จึงทรงอติเรกจีวรเล่า” แล้วนำเรื่องนี้ไป กราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๕ หน้า : ๒๑๖}

พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๘. จีวรขันธกะ]

๒๑๘. อติเรกจีวรกถา

ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคทรงแสดงธรรมีกถาเพราะเรื่องนี้เป็นต้นเหตุ รับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุไม่พึงทรงอติเรกจีวร ภิกษุใดทรง พึงปรับอาบัติตามธรรม” สมัยนั้น อติเรกจีวรเกิดขึ้นแก่ท่านพระอานนท์ ท่านพระอานนท์ต้องการจะ ถวายอติเรกจีวรนั้นแก่ท่านพระสารีบุตร แต่ท่านพระสารีบุตรอยู่เมืองสาเกต ทีนั้น ท่านพระอานนท์ ได้มีความคิดดังนี้ว่า “พระผู้มีพระภาคทรงบัญญัติสิกขาบทไว้ว่า ‘ภิกษุไม่พึงทรงอติเรกจีวร’ ก็อติเรกจีวรนี้เกิดขึ้นแก่เรา เราต้องการจะถวายท่าน พระสารีบุตร แต่ท่านอยู่ที่เมืองสาเกต เราจะพึงปฏิบัติอย่างไรหนอ” ครั้งนั้น ท่านพระอานนท์จึงได้นำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ พระผู้มีพระภาคตรัสถามว่า “อานนท์ อีกนานเพียงไร สารีบุตรจะกลับมา” ท่านพระอานนท์กราบทูลว่า “อีก ๙ วัน หรือ ๑๐ วัน จึงจะกลับมา พระพุทธเจ้าข้า” ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคทรงแสดงธรรมีกถาเพราะเรื่องนี้เป็นต้นเหตุ รับสั่ง กับภิกษุทั้งหลายว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้ทรงอติเรกจีวรไว้ได้ ๑๐ วัน เป็นอย่างมาก”
เรื่องอติเรกจีวรเกิดขึ้น
สมัยนั้น อติเรกจีวรเกิดขึ้นแก่พวกภิกษุ ลำดับนั้น ภิกษุทั้งหลายได้มี ความคิดดังนี้ว่า “พวกเราจะปฏิบัติในอติเรกจีวรอย่างไร” แล้วนำเรื่องนี้ไปกราบทูล พระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้วิกัปอติเรกจีวร”
เรื่องทรงอนุญาตผ้าปะเมื่ออันตรวาสกขาดทะลุ
[๓๔๘] สมัยนั้น พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ กรุงเวสาลีตามพระอัธยาศัย แล้วเสด็จจาริกไปทางกรุงพาราณสี เสด็จจาริกไปโดยลำดับ จนถึงกรุงพาราณสี ทราบว่า พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน เขตกรุงพาราณสี {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๕ หน้า : ๒๑๗}

พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๘. จีวรขันธกะ]

๒๑๙. วิสาขาวัตถุ

ครั้งนั้น อันตรวาสกของภิกษุรูปหนึ่งขาดทะลุ ภิกษุนั้นได้มีความคิดดังนี้ว่า “พระผู้มีพระภาคทรงอนุญาตผ้า ๓ ผืน คือ สังฆาฏิ ๒ ชั้น อุตตราสงค์ชั้นเดียว อันตรวาสกชั้นเดียว ก็อันตรวาสกของเราผืนนี้ขาดทะลุ อย่ากระนั้นเลย เราควร ทาบผ้าปะ บริเวณโดยรอบจะเป็น ๒ ชั้น ตรงกลางเป็นชั้นเดียว” จึงได้ทาบผ้าปะ พระผู้มีพระภาคเสด็จไปตามเสนาสนะ ทอดพระเนตรเห็นภิกษุนั้นกำลังทาบ ผ้าปะจึงเสด็จเข้าไปหาภิกษุทั้งหลายตรัสดังนี้ว่า “เธอทำอะไรภิกษุ” ภิกษุนั้นกราบทูลว่า “ข้าพระองค์กำลังทาบผ้าปะ พระพุทธเจ้าข้า” พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “ดีละ ดีละ ภิกษุ ดีแล้วที่เธอทาบผ้าปะ” ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคทรงแสดงธรรมีกถาเพราะเรื่องนี้เป็นต้นเหตุ รับสั่ง กับภิกษุทั้งหลายว่า “ภิกษุทั้งหลาย สำหรับผ้าใหม่และผ้าเทียมผ้าใหม่ เรา อนุญาตสังฆาฏิ ๒ ชั้น อุตตราสงค์ชั้นเดียว อันตรวาสกชั้นเดียว สำหรับผ้าที่เก็บไว้ ค้างฤดูเราอนุญาตสังฆาฏิ ๔ ชั้น อุตตราสงค์ ๒ ชั้น อันตรวาสกชั้นเดียว ภิกษุพึงทำอุตสาหะในผ้าบังสุกุลได้ตามต้องการหรือในผ้าที่เก็บมาจากร้านตลาด ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตผ้าปะ การชุน รังดุม ลูกดุม การทำให้แน่น”


                  เนื้อความพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาฯ เล่มที่ ๕ หน้าที่ ๒๑๓-๒๑๘. http://84000.org/tipitaka/english/m_siri.php?B=5&siri=38              ฟังเนื้อความพระไตรปิฎก : [1], [2].                   อ่านเทียบพระไตรปิฎกฉบับหลวง :- http://84000.org/tipitaka/english/v.php?B=5&A=3899&Z=4004                   ศึกษาอรรถกถานี้ได้ที่ :- http://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=5&i=148              พระไตรปิฏกฉบับภาษาบาลีอักษรไทย :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/pali_item_s.php?book=5&item=148&items=5              อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย :- http://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=3&A=4867              The Pali Tipitaka in Roman :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/roman_item_s.php?book=5&item=148&items=5              The Pali Atthakatha in Roman :- http://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=3&A=4867                   สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่ ๕ http://84000.org/tipitaka/read/?index_mcu5              อ่านเทียบฉบับแปลอังกฤษ Compare with English Translation :- https://suttacentral.net/pli-tv-kd8/en/brahmali#pli-tv-kd8:11.2.11 https://suttacentral.net/pli-tv-kd8/en/horner-brahmali#Kd.8.12.1



บันทึก ๓๑ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๕๙ บันทึกล่าสุด ๒๒ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๖๐ การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจากพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย. หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :