ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ค้นพระไตรปิฎก ชาดก หนังสือธรรมะ
     ฉบับหลวง   ฉบับมหาจุฬาฯ   บาลีอักษรไทย   PaliRoman 
พระไตรปิฎกเล่มที่ ๗ พระวินัยปิฎกเล่มที่ ๗ [ฉบับมหาจุฬาฯ] จุลวรรค ภาค ๒
เรื่องภิกษุสำรอกอาหาร
[๒๗๓] สมัยนั้น ภิกษุรูปหนึ่งมีนิสัยเคี้ยวเอื้อง ท่านสำรอกอาหารออกมาเคี้ยว แล้วกลืนเข้าไปอีก ภิกษุทั้งหลายตำหนิ ประณาม โพนทะนาว่า “ภิกษุนี้ฉันอาหาร ในเวลาวิกาล” แล้วนำเรื่องไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุนี้เพิ่งจุติมาจากกำเนิดโค ภิกษุ ทั้งหลาย เราอนุญาตให้ภิกษุผู้มีนิสัยเคี้ยวเอื้อง เคี้ยวเอื้องได้ ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุ ไม่พึงกลืนอาหารที่ออกมานอกปากแล้วเข้าไปอีก รูปใดกลืน พึงปรับอาบัติตามธรรม” {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๗ หน้า : ๕๙}

พระวินัยปิฎก จูฬวรรค [๕. ขุททกวัตถุขันธกะ]

ขุททกวัตถุ

สมัยนั้น สมาคมหนึ่งได้จัดสังฆภัต มีเมล็ดข้าวตกกลาดเกลื่อนในโรงอาหาร มากมาย คนทั้งหลายตำหนิ ประณาม โพนทะนาว่า “ไฉนพวกพระสมณะเชื้อสาย ศากยบุตร เมื่อเขาถวายข้าวสุก จึงไม่รับโดยเอื้อเฟื้อเล่า ข้าวแต่ละเมล็ดกว่าจะ สำเร็จได้ต้องใช้กรรมวิธีนับร้อย” ภิกษุทั้งหลายได้ยินคนเหล่านั้นตำหนิ ประณาม โพนทะนา จึงนำเรื่องนี้ไป กราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้หยิบอาหารที่เขาถวาย ซึ่งตกลงไปขึ้นมาฉันได้เอง อาหารนั้นพวกทายกเขาบริจาคแล้ว”
เรื่องการไว้เล็บและตัดเล็บ
[๒๗๔] สมัยนั้น ภิกษุรูปหนึ่งไว้เล็บยาวเที่ยวบิณฑบาต หญิงคนหนึ่งเห็นจึง กล่าวกับภิกษุนั้นดังนี้ว่า “เชิญท่านมาเสพเมถุนธรรมกันเถิดเจ้าค่ะ” ภิกษุตอบว่า “อย่าเลยน้องหญิง เรื่องนี้ไม่สมควร” หญิงนั้นกล่าวว่า “ถ้าท่านไม่เสพ ดิฉันจักใช้เล็บหยิกข่วนเนื้อตัวเองแล้วส่งเสียง เอะอะเดี๋ยวนี้ว่า “ภิกษุรูปนี้กระทำมิดีมิร้ายดิฉัน” ภิกษุตอบว่า “จงรู้เองเถิด น้องหญิง” ลำดับนั้น หญิงนั้นใช้เล็บหยิกข่วนเนื้อตัวเอง ส่งเสียงเอะอะว่า “ภิกษุนี้กระทำ มิดีมิร้ายดิฉัน” คนทั้งหลายวิ่งเข้าไปจับกุมภิกษุนั้น ได้เห็นผิวหนังบ้าง เลือดบ้างที่เล็บมือของ หญิงนั้นจึงกล่าวกันว่า “นี้เป็นการกระทำของหญิงนี้เอง ภิกษุนี้ไม่ได้เป็นตัวการ” แล้ว ปล่อยภิกษุนั้นไป ครั้นภิกษุนั้นไปถึงวัดได้บอกเรื่องนั้นให้ภิกษุทั้งหลายทราบ ภิกษุทั้งหลายถามว่า “ท่านไว้เล็บยาวหรือ” ภิกษุนั้นตอบว่า “จริงอย่างนั้น ท่านทั้งหลาย” {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๗ หน้า : ๖๐}

พระวินัยปิฎก จูฬวรรค [๕. ขุททกวัตถุขันธกะ]

ขุททกวัตถุ

บรรดาภิกษุผู้มักน้อยสันโดษ ฯลฯ พากันตำหนิ ประณาม โพนทะนาว่า “ไฉน ภิกษุจึงไว้เล็บยาวเล่า” จึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุไม่พึงไว้เล็บยาว รูปใดไว้ ต้อง อาบัติทุกกฏ” สมัยนั้น ภิกษุทั้งหลายใช้เล็บมือตัดเล็บมือบ้าง ใช้ปากกัดเล็บบ้าง ใช้เล็บมือ ครูดที่ฝาผนังบ้าง นิ้วมือเจ็บ ภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตมีดตัดเล็บ” ภิกษุทั้งหลายตัดเล็บจนเลือดออก นิ้วมือเจ็บ ภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้ไป กราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้ตัดเล็บเสมอเนื้อ”
เรื่องขัดเล็บ
สมัยนั้น พวกภิกษุฉัพพัคคีย์ช่วยกันขัดเล็บทั้ง ๒๐ เล็บ คนทั้งหลายตำหนิ ประณาม โพนทะนาว่า “ทำเหมือนคฤหัสถ์ผู้บริโภคกาม” ภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุไม่พึงขัดเล็บทั้ง ๒๐ เล็บ รูปใดขัด ต้องอาบัติทุกกฏ ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้แคะขี้เล็บได้เท่านั้น”
เรื่องมีดโกน
[๒๗๕] สมัยนั้น ภิกษุทั้งหลายไว้ผมยาว ภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูล พระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ พระผู้มีพระภาครับสั่งถามว่า “ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุสามารถปลงผมให้แก่กัน ได้หรือ” ภิกษุทั้งหลายทูลตอบว่า “สามารถ พระพุทธเจ้าข้า” {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๗ หน้า : ๖๑}

พระวินัยปิฎก จูฬวรรค [๕. ขุททกวัตถุขันธกะ]

ขุททกวัตถุ

พระผู้มีพระภาครับสั่งให้ประชุมสงฆ์เพราะเรื่องนี้เป็นต้นเหตุ ฯลฯ รับสั่งกับ ภิกษุทั้งหลายว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตมีดโกน หินลับมีด ฝักมีด ผ้าพันมีด เครื่องใช้โกนทุกชนิด”
เรื่องแต่งหนวด
สมัยนั้น พวกภิกษุฉัพพัคคีย์ช่วยกันแต่งหนวด ... ปล่อยหนวดไว้ยาว ... ไว้ เครายาว(เหมือนหนวดแพะ) ... ช่วยกันแต่งหนวดเป็นรูปสี่เหลี่ยม ... ช่วยกันแต่งขน หน้าอก ... ช่วยกันแต่งขนหน้าท้อง ... ช่วยกันแต่งหนวดเป็นเขี้ยวโง้ง ... ช่วยกัน โกนขนในที่แคบ คนทั้งหลายตำหนิ ประณาม โพนทะนาว่า “เหมือนคฤหัสถ์ผู้บริโภคกาม” ภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุไม่พึงช่วยกันตัดหนวด ... ไม่พึง ปล่อยหนวดไว้ยาว ... ไม่พึงไว้เครายาว(เหมือนหนวดแพะ) ... ไม่พึงช่วยกันแต่งหนวด เป็นรูปสี่เหลี่ยม ... ไม่พึงช่วยกันแต่งขนหน้าอก ... ไม่พึงช่วยกันแต่งขนหน้าท้อง ... ไม่พึงช่วยกันแต่งหนวดเป็นเขี้ยวโง้ง ... ไม่พึงช่วยกันโกนขนในที่แคบ รูปใดช่วยกันโกน ต้องอาบัติทุกกฏ”
เรื่องทรงอนุญาตให้โกนขนในที่ลับ
สมัยนั้น ภิกษุรูปหนึ่งเป็นแผลในที่แคบ ทายาไม่ติด ภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้ ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้โกนขนในที่แคบได้ เพราะ อาพาธเป็นปัจจัย”
เรื่องกรรไกร
สมัยนั้น พวกภิกษุฉัพพัคคีย์ใช้กรรไกรตัดผม คนทั้งหลายตำหนิ ประณาม โพนทะนาว่า “เหมือนคฤหัสถ์ผู้บริโภคกาม” {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๗ หน้า : ๖๒}

พระวินัยปิฎก จูฬวรรค [๕. ขุททกวัตถุขันธกะ]

ขุททกวัตถุ

ภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุไม่พึงใช้กรรไกรตัดผม รูปใดใช้ตัด ต้องอาบัติทุกกฏ” สมัยนั้น ภิกษุรูปหนึ่งเป็นแผลที่ศีรษะ ไม่อาจจะใช้มีดโกนปลงผมได้ ภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้ใช้กรรไกรตัดผมได้ เพราะอาพาธเป็นปัจจัย”
เรื่องไว้ขนจมูก
สมัยนั้น ภิกษุทั้งหลาย ปล่อยขนจมูกไว้ยาว คนทั้งหลายตำหนิ ประณาม โพนทะนาว่า “เหมือนปีศาจ” ภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุไม่พึงไว้ขนจมูกยาว รูปใดไว้ ต้องอาบัติทุกกฏ” สมัยนั้น ภิกษุทั้งหลายใช้ก้อนกรวดบ้าง ขี้ผึ้งบ้างถอนขนจมูก จมูกเจ็บ ภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้ใช้แหนบ”
เรื่องพระฉัพพัคคีย์ผมหงอก
สมัยนั้น พวกภิกษุฉัพพัคคีย์ช่วยกันถอนผมหงอก พวกคนทั้งหลายพากันตำหนิ ประณาม โพนทะนาว่า “เหมือนคฤหัสถ์ผู้บริโภคกาม” ภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุไม่พึงช่วยกันถอนผมหงอก รูปใดช่วยกันถอน ต้องอาบัติทุกกฏ” {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๗ หน้า : ๖๓}

พระวินัยปิฎก จูฬวรรค [๕. ขุททกวัตถุขันธกะ]

ขุททกวัตถุ

เรื่องไม้แคะหู
[๒๗๖] สมัยนั้น ภิกษุรูปหนึ่งมีขี้หูจุกช่องหูทั้ง ๒ ข้าง ภิกษุทั้งหลายจึงนำ เรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้ใช้ไม้แคะขี้หู” สมัยนั้น พวกภิกษุฉัพพัคคีย์ใช้ไม้แคะขี้หูชนิดต่างๆ คือทำด้วยทอง ทำด้วยเงิน คนทั้งหลายตำหนิ ประณาม โพนทะนาว่า “เหมือนคฤหัสถ์ผู้บริโภคกาม” ภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุไม่พึงใช้ไม้แคะหูชนิดต่างๆ รูปใดใช้ ต้องอาบัติทุกกฏ ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้ใช้ไม้แคะขี้หูทำด้วยกระดูก ทำด้วยงา ทำด้วยเขาสัตว์ ทำด้วยไม้อ้อ ทำด้วยไม้ไผ่ ทำด้วยไม้ธรรมดา ทำด้วยครั่ง ทำด้วยเมล็ดผลไม้ ทำด้วยโลหะ ทำด้วยกระดองสังข์”


                  เนื้อความพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาฯ เล่มที่ ๗ หน้าที่ ๕๙-๖๔. http://84000.org/tipitaka/english/m_siri.php?B=7&siri=15              ฟังเนื้อความพระไตรปิฎก : [1], [2].                   อ่านเทียบพระไตรปิฎกฉบับหลวง :- http://84000.org/tipitaka/english/v.php?B=7&A=1108&Z=1193                   ศึกษาอรรถกถานี้ได้ที่ :- http://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=7&i=144              พระไตรปิฏกฉบับภาษาบาลีอักษรไทย :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/pali_item_s.php?book=7&item=144&items=15              The Pali Tipitaka in Roman :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/roman_item_s.php?book=7&item=144&items=15                   สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่ ๗ http://84000.org/tipitaka/read/?index_mcu7              อ่านเทียบฉบับแปลอังกฤษ Compare with English Translation :- https://suttacentral.net/pli-tv-kd15/en/brahmali#pli-tv-kd15:25.1.1 https://suttacentral.net/pli-tv-kd15/en/horner-brahmali#Kd.15.25



บันทึก ๓๑ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๕๙ บันทึกล่าสุด ๒๒ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๖๐ การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจากพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย. หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :