ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ค้นพระไตรปิฎก ชาดก หนังสือธรรมะ
     ฉบับหลวง   ฉบับมหาจุฬาฯ   บาลีอักษรไทย   PaliRoman 
พระไตรปิฎกเล่มที่ ๗ พระวินัยปิฎกเล่มที่ ๗ [ฉบับมหาจุฬาฯ] จุลวรรค ภาค ๒
รวมเรื่องที่มีในวัตตขันธกะ
ภิกษุอาคันตุกะสวมรองเท้า กั้นร่ม คลุมศีรษะ พาดจีวรบนศีรษะเข้าไปอาราม ใช้น้ำดื่มล้างเท้า ไม่ไหว้ภิกษุผู้อยู่ประจำในอาวาสผู้แก่พรรษา ไม่ต้อนรับด้วยเสนาสนะ งูตกลงมา ภิกษุผู้มีศีลตำหนิ พระผู้มีพระภาคทรงบัญญัติว่า ภิกษุอาคันตุกะจะเข้าอาราม พึงถอดรองเท้า ลดร่ม ลดจีวรลงบ่า ไม่ต้องรีบเข้าอาราม พึงสังเกตว่า ผู้อยู่ประจำในอาวาสประชุมกันที่ไหน เก็บบาตรจีวรไว้ด้านหนึ่ง ถืออาสนะที่เหมาะสม ถามถึงน้ำดื่ม น้ำใช้ พึงล้างเท้า เช็ดรองเท้าด้วยผ้าแห้งก่อนแล้วเช็ดด้วยผ้าเปียกทีหลัง อภิวาทภิกษุผู้อยู่ประจำในอาวาสผู้มีพรรษามากกว่า ให้ภิกษุผู้อยู่ประจำในอาวาสผู้มีพรรษาน้อยกว่าอภิวาท ถามเสนาสนะทั้งที่มีและไม่มีภิกษุ ถามถึงโคจรคามและอโคจรคาม ตระกูลเสกขสมมติ ที่ถ่ายอุจจาระปัสสาวะ น้ำดื่มน้ำใช้ ไม้เท้า กติกาสงฆ์ที่ตั้งไว้ว่า ควรเข้าออกเวลาไหน พึงรอสักครู่ วิหารรกพึงชำระให้สะอาด {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๗ หน้า : ๒๖๗}

พระวินัยปิฎก จูฬวรรค [๘. วัตตขันธกะ]

รวมเรื่องที่มีในวัตตขันธกะ

พึงขนเครื่องลาดพื้นไปไว้ที่สมควร เขียงรองเตียง ฟูก หมอนเตียง ตั่ง กระโถน พนักพิง พึงกวาดหยากไย่ตั้งแต่เพดานลงมาก่อน เช็ดกรอบหน้าต่างและมุมห้อง ฝาที่ทาสีเหลืองหรือพื้นทาสีดำขึ้นรา ใช้ผ้าชุบน้ำบิดแล้วเช็ด พื้นไม่ได้ทา ใช้น้ำพรมแล้วเช็ด เก็บหยากเยื้อทิ้ง พรหมปูพื้น เขียงรองเตียง เตียง ตั่ง ฟูก หมอน ผ้าปูนั่ง กระโถน พนักพิง ควรผึ่งแดด แล้วเก็บไว้ที่เดิม เก็บบาตรจีวร อย่าวางบาตรไว้บนพื้นไม่มีเครื่องรอง เก็บจีวรเอาชายไว้นอกเอกขนดไว้ใน มีลมเจือฝุ่นละอองพัดมาทางทิศตะวันออก ตะวันตก ทิศเหนือหรือทิศใต้ พึงปิดหน้าต่าง ทางทิศนั้นๆ ฤดูหนาว กลางวันเปิดหน้าต่าง ปิดกลางคืน หน้าร้อนตอนกลางวันปิดหน้าต่าง เปิดตอนกลางคืน กวาดบริเวณ ซุ้มน้ำ โรงฉัน โรงไฟและวัจกุฎี จัดเตรียมน้ำดื่มน้ำใช้และน้ำในหม้อชำระ วัตรของภิกษุผู้จรมาดังกล่าวนี้ พระผู้มีพระภาคผู้ทรงพระคุณ อย่างไม่มีที่เปรียบทรงบัญญัติไว้แล้ว ภิกษุผู้อยู่ประจำในอาวาส ไม่ปูอาสนะ ไม่ตั้งน้ำล้างเท้า ไม่ลุกรับไม่ต้อนรับด้วยน้ำดื่มน้ำใช้ ไม่ไหว้ ไม่จัดเสนาสนะให้ ภิกษุผู้มีศีลตำหนิภิกษุผู้อยู่ประจำในอาวาสเห็นภิกษุอาคันตุกะ ผู้แก่พรรษากว่า ควรปูอาสนะ ตั้งน้ำล้างเท้า ลุกรับ นำน้ำดื่มน้ำใช้ต้อนรับ เช็ดรองเท้าให้ ซักผ้าเช็ดรองเท้าผึ่งไว้ด้านหนึ่ง อภิวาทภิกษุอาคันตุกะผู้แก่พรรษากว่า จัดเสนาสนะถวาย บอกเสนาสนะที่มีและไม่มีภิกษุอยู่ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๗ หน้า : ๒๖๘}

พระวินัยปิฎก จูฬวรรค [๘. วัตตขันธกะ]

รวมเรื่องที่มีในวัตตขันธกะ

บอกโคจรคามและอโคจรคาม ตระกูลเสกขสมมติ วัจกุฎี น้ำดื่มน้ำใช้ ไม้เท้า กติกาสงฆ์ที่ตั้งไว้ว่า เวลานี้ควรเข้าออก ภิกษุอาคันตุกะพรรษาน้อย กว่าพึงนั่ง บอกแนะนำภิกษุอาคันตุกะพรรษาน้อยกว่าให้ไหว้ บอกเสนาสนะ นอกจากนั้น เหมือนในนัยตามที่กล่าวไว้แล้ว วัตรของภิกษุผู้อยู่ในอาวาสดังกล่าวนี้ พระผู้มีพระภาคผู้ทรงเป็น ผู้นำหมู่ได้ทรงแสดงไว้แล้ว ภิกษุผู้เตรียมจะออกเดินทาง ไม่เก็บเครื่องใช้ไม้ เครื่องใช้ดินเปิดประตูหน้าต่างทิ้งไว้ ไม่บอกมอบหมายเสนาสนะ เครื่องใช้ไม้ เครื่องใช้ดินเสียหาย เสนาสนะ ไม่มีใครรักษา ภิกษุผู้มีศีลตำหนิ ภิกษุผู้จะเดินทางพึงเก็บเครื่องใช้ไม้ เครื่องใช้ดิน ปิดประตูหน้าต่าง มอบหมายเสนาสนะแล้วหลีกไป พึงมอบหมายภิกษุสามเณร คนวัดหรืออุบาสกยกเตียงขึ้นวางไว้บนศิลา กองเครื่องเสนาสนะไว้ข้างบน เก็บเครื่องใช้ไม้ เครื่องใช้ดิน ปิดประตูหน้าต่าง หากวิหารฝนรั่ว ถ้าสามารถพึงมุงบัง หรือขวนขวาย ในวิหารที่ฝนไม่รั่วก็เหมือนกัน ถ้าวิหารฝนรั่วทุกแห่งพึงขนเครื่องเสนาสนะเข้าบ้าน ในที่แจ้งก็เหมือนกัน คิดว่าอย่างไรเสียส่วนของเตียงตั่ง ก็คงเหลืออยู่บ้างนี้คือวัตรของภิกษุผู้ออกเดินทาง ภิกษุไม่อนุโมทนาในโรงอาหารทำให้คนทั้งหลายตำหนิ พระผู้มีพระภาคทรงอนุญาตให้ภิกษุผู้เถระอนุโมทนา ภิกษุปล่อยภิกษุผู้เถระไว้ให้อนุโมทนารูปเดียว พระผู้มีพระภาคทรงอนุญาตให้พระเถรานุเถระอยู่ ๔-๕ รูป ภิกษุรูปหนึ่งปวดอุจจาระกลั้นไว้จนสลบ นี้คือวัตรในการอนุโมทนา {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๗ หน้า : ๒๖๙}

พระวินัยปิฎก จูฬวรรค [๘. วัตตขันธกะ]

รวมเรื่องที่มีในวัตตขันธกะ

พวกภิกษุฉัพพัคคีย์นุ่งห่มไม่เรียบร้อย ไม่มีมารยาท เดินแซง นั่งเบียดภิกษุผู้เถระ กีดกันอาสนะภิกษุนวกะ นั่งทับสังฆาฏิ ภิกษุผู้มีศีลตำหนิ ภิกษุพึงนุ่งห่มปิดมณฑล ๓ คาดประคดเอว ห่มผ้าสังฆาฏิที่พับซ้อนกัน กลัดลูกดุม ไม่เดินแซง ปกปิดกายให้ดี มีจักษุทอดลง ไม่เวิกผ้า ไม่หัวเราะดัง มีเสียงเบา ไม่โคลงกาย ไม่แกว่งแขน ไม่โคลงศีรษะ ไม่เท้าสะเอว ไม่คลุมศีรษะ ไม่เดินกระโหย่ง ปกปิดกายให้ดี สำรวมดี มีจักษุทอดลง ไม่เวิกผ้า ไม่หัวเราะดัง มีเสียงเบา ไม่โคลงกาย ไม่แกว่งแขน ไม่โคลงศีรษะ ไม่เท้าสะเอว ไม่คลุมศีรษะ ไม่นั่งรัดเข่า ไม่นั่งเบียดภิกษุผู้เถระ ไม่เกียดกันอาสนะภิกษุนวกะ ไม่นั่งทับสังฆาฏิ เมื่อเขาถวายน้ำพึงรับไปล้างบาตร ถืออย่างระมัดระวัง เทน้ำลงกระโถนด้วยคิดว่า กระโถนอย่าเลอะเทอะ ผู้นั่งใกล้อย่าถูกน้ำกระเซ็นเปียก สังฆาฏิอย่าถูกน้ำกระเซ็น เมื่อเขาถวายข้าวสุก พึงประคองบาตรรับ เว้นที่สำหรับแกง จัดถวายแกงอ่อมเท่ากันทุกรูป รับบิณฑบาตโดยเคารพ มีความสำคัญในบาตร รับบิณฑบาตพอเหมาะสมกับแกง รับเสมอขอบปากบาตร ภิกษุผู้เถระไม่พึงฉันก่อน จนกว่าข้าวสุกจะทั่วถึง ภิกษุทุกรูปฉันบิณฑบาตโดยเคารพ มีความสำคัญในบาตรขณะฉัน ฉันตามลำดับ ฉันพอเหมาะสมกับแกง ไม่ฉันขยุ้มแต่ยอดลงไป ไม่ฉันกลบแกงหรือกับข้าว ไม่ขอแกงหรือกับข้าวมาฉัน ไม่แลดูบาตรของภิกษุอื่นด้วยมุ่งตำหนิ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๗ หน้า : ๒๗๐}

พระวินัยปิฎก จูฬวรรค [๘. วัตตขันธกะ]

รวมเรื่องที่มีในวัตตขันธกะ

ไม่ทำคำข้าวให้ใหญ่ ทำคำข้าวให้กลมกล่อม ไม่อ้าปากไว้รอท่า ไม่สอดนิ้วมือเข้าปาก ไม่พูดทั้งในปากมีคำข้าว ไม่ฉันโยนคำข้าว ไม่ฉันกัดคำข้าว ไม่ฉันทำแก้มให้ตุ่ย ไม่ฉันสลัดมือ ไม่ฉันโปรยเมล็ดข้าว ไม่ฉันแลบลิ้น ไม่ฉันทำเสียงดังจั๊บๆ ไม่ฉันทำเสียงดังซู้ดๆ ไม่ฉันเลียมือ ไม่ฉันขอดบาตร ไม่ฉันเลียริมฝีปาก มือเปื้อนไม่ควรรับขันน้ำ ภิกษุผู้เถระไม่รับน้ำก่อนที่ภิกษุทุกรูปยังฉันไม่เสร็จ ล้างบาตรอย่างระมัดระวัง เทน้ำลงกระโถนอย่างระมัดระวัง กระโถนอย่าเลอะน้ำ ภิกษุใกล้เคียงอย่าถูกน้ำกระเซ็น สังฆาฏิอย่าถูกน้ำ เทน้ำลงบนพื้นดินอย่างระมัดระวัง ไม่เทน้ำล้างบาตรมีเมล็ดข้าว เมื่อกลับภิกษุนวกะพึงกลับก่อน ภิกษุผู้เถระกลับทีหลัง ปกปิดกายด้วยดี ไม่เดินกระโหย่ง วัตรในโรงฉันนี้ พระผู้มีพระภาคผู้เป็นพระธรรมราชาทรงบัญญัติไว้แล้ว ภิกษุเที่ยวบิณฑบาตนุ่งห่มไม่เรียบร้อย ไม่มีมารยาทเข้าบ้าน ออกจากบ้านโดยไม่สังเกต เข้าออกรีบร้อนเกินไป ยืนไกลเกินไป ใกล้เกินไป นานเกินไป กลับเร็วเกินไป อีกรูปหนึ่งก็เช่นเดียวกัน ภิกษุถือเที่ยวบิณฑบาตเป็นวัตร จะเข้าบ้านพึงปกปิดกายด้วยดี สำรวมด้วยดี มีจักษุทอดลง ไม่เวิกผ้า ไม่หัวเราะดัง พูดเสียงเบา ไม่โคลงกาย ไม่แกว่งแขน ไม่โคลงศีรษะ ไม่เท้าสะเอว ไม่คลุมศีรษะ ไม่เดินกระโหย่ง พึงสังเกตก่อน อย่ารีบเข้าออก อย่ายืนไกลนัก ใกล้นัก นานนัก อย่ากลับเร็วนัก พึงยืนกำหนดว่า เขาจะหยุดงานลุกจากที่นั่งจับทัพพี ภาชนะตั้งไว้หรือไม่ แหวกผ้าสังฆาฏิน้อมบาตรเข้าไป {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๗ หน้า : ๒๗๑}

พระวินัยปิฎก จูฬวรรค [๘. วัตตขันธกะ]

รวมเรื่องที่มีในวัตตขันธกะ

ประคองบาตรรับอาหาร ขณะรับ ไม่มองดูหน้าผู้ถวาย แม้ในแกงก็กำหนดเช่นเดียวกัน เมื่อเขาถวายอาหารแล้ว ใช้สังฆาฏิคลุมบาตรกลับไป ปกปิดกายด้วยดีเดินไป สำรวมด้วยดี มีจักษุทอดลง ไม่เวิกผ้า ไม่หัวเราะดัง มีเสียงค่อย ไม่โคลงกาย ไม่แกว่งแขน ไม่โคลงศีรษะ ไม่เท้าสะเอว ไม่คลุมศีรษะ ไม่เดินกระโหย่ง รูปที่กลับมาก่อนปูอาสนะไว้รอ ล้างภาชนะที่ใส่ของฉัน เตรียมน้ำดื่มน้ำใช้ รูปที่กลับทีหลังจะฉันก็พึงฉัน ถ้าไม่ฉันก็เททิ้ง รื้อขนอาสนะ เก็บน้ำล้างเท้า ตั่งรองเท้า กระเบื้องเช็ดเท้า เก็บน้ำฉันน้ำใช้ กวาดโรงฉัน รูปใดเห็นหม้อน้ำฉัน หม้อน้ำใช้หรือหม้อน้ำชำระว่างเปล่า พึงจัดหาตั้งไว้ ถ้าเป็นเรื่องสุดวิสัยพึงกวักมือเรียกเพื่อนมาช่วย แต่ไม่ควรออกคำสั่ง นี้คือวัตรของภิกษุผู้เที่ยวบิณฑบาต ภิกษุอยู่ป่า ไม่เตรียมน้ำดื่ม น้ำใช้ ไฟ ไม้สีไฟ ไม่รู้นักษัตรไม่รู้จักทิศ พวกโจรถามก็ตอบว่าไม่มี ไม่รู้ทุกอย่าง จึงถูกทำร้าย ภิกษุผู้อยู่ป่า พึงสวมถุงบาตร คล้องบ่า พาดจีวรบนไหล่ ครั้นจะเข้าบ้านควรถอดรองเท้าใส่ถุง คล้องบ่า ปกปิดมณฑล ๓ ให้เรียบร้อย แม้ในอารัญญิกวัตรก็มีนัยเหมือนในบิณฑจาริกวัตร ออกจากบ้านแล้ว สวมถุงบาตรคล้องบ่า พับจีวรวางบนศีรษะ สวมรองเท้าเดินไป เตรียมน้ำฉัน น้ำใช้ ไฟ ไม้สีไฟ ไม้เท้า เรียนนักษัตรทุกประเภทหรือเพียงบางส่วน รู้จักทิศ วัตรของภิกษุผู้อยู่ป่านี้ พระผู้มีพระภาคผู้ ทรงเป็นผู้สูงสุดกว่า สรรพสัตว์ทรงบัญญัติไว้แล้ว {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๗ หน้า : ๒๗๒}

พระวินัยปิฎก จูฬวรรค [๘. วัตตขันธกะ]

รวมเรื่องที่มีในวัตตขันธกะ

ภิกษุหลายรูปทำจีวรในที่แจ้ง ถูกฝุ่นธุลีฟุ้งกลบ ภิกษุผู้มีศีลตำหนิ ถ้าวิหารรก เมื่อจะปัดกวาด เริ่มต้นควรขนบาตรจีวรออกไป ขนฟูก หมอน เตียง ตั่ง กระโถน พนักพิงออกไป กวาดหยากเยื่อลงจากเพดาน เช็ดกรอบประตูหน้าต่างและมุมห้อง ฝาทาน้ำมัน พื้นทาสีดำขึ้นรา ถ้าพื้นไม่ได้ทา พึงเช็ดทำให้สะอาด ปัดกวาดหยากเยื่อทิ้ง ไม่เคาะเสนาสนะใกล้ภิกษุ วิหาร น้ำดื่ม น้ำใช้ ไม่เคาะในที่สูง เหนือลม ใต้ลม พรหมปูพื้น เขียงรองเตียง เตียง ตั่ง ฟูก หมอน ผ้าปูนั่ง กระโถน พนักพิง ตากทำความสะอาดแล้วเก็บไว้ตามเดิม เก็บบาตรจีวร อย่าวางบาตรไว้บนพื้นที่ไม่มีเครื่องรอง จีวรต้องพาดชายไว้ด้านนอกขนดไว้ด้านใน หากลมทิศตะวันออก ทิศตะวันตก ทิศเหนือหรือทิศใต้ พัดมาปิดหน้าต่างด้านทิศนั้นๆ หน้าหนาวตอนกลางวันเปิดหน้าต่าง กลางคืนปิด หน้าร้อน กลางวันเปิดหน้าต่าง กลางคืนปิด ปัดกวาดบริเวณ ซุ้ม โรงฉัน โรงไฟ วัจกุฎี ตักน้ำดื่มน้ำใช้มาตั้งไว้ ตักน้ำใส่หม้อชำระไว้ อยู่กับภิกษุผู้มีพรรษามากกว่า ถ้ายังไม่ได้บอก อย่าให้อุทเทส ปริปุจฉา อย่าสาธยาย อย่าแสดงธรรม อย่าตามประทีป อย่าเปิดหน้าต่าง อย่าปิดหน้าต่าง ควรเดินตามภิกษุแก่พรรษากว่า อย่ากระทบแม้ด้วยชายสังฆาฏิ วัตรในเสนาสนะ พระผู้มีพระภาคผู้ทรงเป็นพระมหาวีระทรงบัญญัติไว้แล้ว พวกภิกษุฉัพพัคคีย์ถูกภิกษุผู้เถระห้าม ปิดประตู ภิกษุผู้เถระสลบ ภิกษุผู้มีศีลตำหนิ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๗ หน้า : ๒๗๓}

พระวินัยปิฎก จูฬวรรค [๘. วัตตขันธกะ]

รวมเรื่องที่มีในวัตตขันธกะ

ภิกษุควรนำเถ้าไปเททิ้ง ปัดกวาดเรือนไฟชาน ภายนอกบริเวณซุ้มประตู ศาลาเรือนไฟ บดจุรณ แช่ดินเหนียว ตักน้ำไว้ในราง เอาดินเหนียว ทาหน้าปิดทั้งข้างหน้าข้างหลัง ไม่นั่งเบียดภิกษุผู้เถระ ไม่เกียดกันอาสนะภิกษุนวกะ ถ้ามีความอุตสาหะควรทำบริกรรมแก่ภิกษุผู้เถระในเรือนไฟ อย่าสรงน้ำข้างหน้า เหนือน้ำ ให้หนทาง เรือนไฟเปรอะเปื้อน ล้างรางแช่ดินเหนียว เก็บตั่ง ดับไฟ ปิดประตูนี้คือวัตรในเรือนไฟ ภิกษุถ่ายอุจจาระแล้วไม่ชำระ ถ่ายอุจจาระตามลำดับพรรษา ทรงอนุญาตให้ถ่ายตามลำดับผู้มาถึง พวกภิกษุฉัพพัคคีย์เข้าวัจกุฎีเร็ว เวิกผ้านุ่งเข้าไป ถอนหายใจพลางถ่ายอุจจาระ เคี้ยวไม้ชำระฟัน พลางถ่ายอุจจาระ ถ่ายอุจจาระปัสสาวะออกนอกราง บ้วนน้ำลายลงในราง ใช้ไม้ชำระเนื้อแข็ง ทิ้งไม้ชำระลงในช่องถ่ายอุจจาระออกมาเร็วเกิน เวิกผ้าออกมา ชำระมีเสียงดังโจ๊กโจ๊ก เหลือน้ำไว้ในกระบอกชำระ ภิกษุผู้อยู่ข้างนอกพึงกระแอม ภิกษุผู้อยู่ข้างในกระแอมรับ พาดจีวรไว้บนราว สายระเดียง อย่ารีบเข้าไป อย่าเวิกผ้าเข้าไป ยืนบนเขียง อย่าถอนหายใจดัง อย่าเคี้ยวไม้ชำระฟัน อย่าถ่ายอุจจาระปัสสาวะออกนอกราง อย่าบ้วนน้ำลายลงในราง อย่าใช้ไม้ชำระเนื้อแข็ง อย่าทิ้งไม้ชำระลงในช่องถ่าย ยืนบนเขียงถ่ายแล้ว ปิดผ้า อย่าออกมาเร็วนัก อย่าเวิกผ้าออกมา ยืนบนเขียงถ่ายแล้วจึงปิด อย่าชำระมีเสียงดังจะปุจะปุ อย่าเหลือน้ำชำระไว้ ยืนบนเขียงชำระแล้วปิดผ้า {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๗ หน้า : ๒๗๔}

พระวินัยปิฎก จูฬวรรค [๘. วัตตขันธกะ]

รวมเรื่องที่มีในวัตตขันธกะ

วัจกุฎีเลอะเทอะต้องทำความสะอาด ตะกร้าไม้ชำระเต็มควรนำไปเท วัจกุฎีชานภายนอกบริเวณซุ้มประตูรกก็ควรกวาด ตักน้ำใส่หม้อชำระ นี้คือวัตรในวัจกุฏี สัทธิวิหาริก ถอดรองเท้า ถวายไม้ชำระฟัน น้ำล้างหน้า ปูอาสนะ ถวายข้าวต้ม ล้างภาชนะเก็บไว้ เก็บอาสนะ ที่รกพึงกวาด เข้าบ้าน ถวายผ้านุ่ง ประคดเอว สังฆาฏิที่ซ้อน ๒ ชั้น บาตรพร้อมทั้งน้ำ ปัจฉาสมณะ นุ่งปิดมณฑล ๓ ให้เรียบร้อย คาดประคดเอว ห่มสังฆาฏิที่ซ้อน ล้างบาตร เป็นปัจฉาสมณะ เดินไม่ห่างนัก ไม่ชิดนักรับของในบาตร พระอุปัชฌาย์กำลังกล่าวถ้อยคำใกล้ต่ออาบัติ กลับมาก่อนปูอาสนะไว้รอ ตั้งน้ำล้างเท้า ตั่งรองเท้า กระเบื้องเช็ดเท้า ลุกไปรับ ถวายผ้านุ่ง ผลัด ผึ่งที่แดด ผึ่งทิ้งไว้ครู่หนึ่ง อย่าให้มีรอยพับ ม้วนประคดเอวไว้ในขนด พระอุปัชฌาย์ต้องการจะฉัน น้อมถวายปิณฑบาต ถามถึงน้ำดื่ม ถวายน้ำ รับบาตรถือมาอย่างระมัดระวัง ผึ่งแดดไว้ครู่หนึ่ง อย่าผึ่งทิ้งไว้ พึงเก็บบาตรและจีวร อย่าเก็บบาตรไว้บนพื้น ไม่มีเครื่องลาด พาดชายจีวรไว้ข้างนอก ขนดไว้ข้างใน เก็บอาสนะและน้ำล้างเท้า ปัดกวาดที่รก พระอุปัชฌาย์จะสรงน้ำ ถวายน้ำเย็น น้ำร้อน เรือนไฟ บดจุรณ แช่ดิน ตามหลังเข้าไปถวายตั่ง รับจีวร ถวายจุรณและดิน ถ้ามีความสามารถก็ใช้ดินทา หน้าปิดทั้งข้างหน้าข้างหลัง ไม่นั่งเบียดภิกษุผู้เถระ ไม่กีดกันอาสนะภิกษุนวกะ ทำบริกรรม ออกจากเรือนไฟ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๗ หน้า : ๒๗๕}

พระวินัยปิฎก จูฬวรรค [๘. วัตตขันธกะ]

รวมเรื่องที่มีในวัตตขันธกะ

ปิดทั้งข้างหน้าข้างหลัง ทำบริกรรมในน้ำ สรงน้ำแล้วขึ้นมาก่อน นุ่งผ้า เช็ดตัวให้แห้ง เช็ดน้ำจากตัวพระอุปัชฌาย์ถวายผ้านุ่ง สังฆาฏิ ถือตั่งเรือนไฟ ปูอาสนะไว้ ตั้งน้ำล้างเท้า ตั่งรองเท้า กระเบื้องเช็ดเท้า ถามถึงน้ำดื่ม พึงเรียนพึงสอบถาม ถ้ามีความอุตสาหะก็ควรปัดกวาดวิหารที่รก ก่อนปัดกวาด ควรขนบาตรจีวร ผ้าปูนั่ง ผ้าปูนอน ฟูก หมอน เตียง ตั่ง เขียงรองเตียง กระโถน พนักพิงและเครื่องลาดพื้นออกไป ปัดกวาดหยากเยื่อตั้งแต่เพดานลงมา เช็ดกรอบหน้าต่าง ฝาทาน้ำมัน พื้นทาสีดำ พื้นไม่ได้ทำ พรหมปูพื้นผึ่งแดด เขียงรองเตียง เตียง ตั่ง ฟูก หมอน ผ้าปูนั่ง ผ้าปูนอน กระโถน พนักพิง เก็บบาตรจีวร ลมเจือฝุ่นละอองพัดมาทางทิศตะวันออก ทิศตะวันตก ทิศเหนือหรือทิศใต้ ควรปิดหน้าต่างด้านนั้นๆ หน้าหนาว หน้าร้อน กลางวัน กลางคืน บริเวณ ซุ้ม โรงฉัน โรงไฟ วัจกุฎี ตักน้ำดื่มน้ำใช้ หม้อชำระ พระอุปัชฌาย์เกิดความไม่ยินดี รำคาญ เห็นผิด ต้องอาบัติหนัก ควรชักเข้าหาอาบัติเดิม มานัต อัพภาน ถ้าถูกลงตัชชนียกรรม นิยสกรรม ปัพพาชนียกรรม ปฏิสารณียกรรมและอุกเขปนียกรรม จีวรของพระอุปัชฌาย์ควรซัก ทำย้อม ย้อมให้พลิกกลับไปมา รับบาตรจีวรและบริขาร ปลงผม ไม่ทำบริกรรมหรือ ขวนขวาย เป็นปัจฉาสมณะ ให้บิณฑบาต เข้าบ้าน อย่าไปป่าช้า อย่าไปสู่ทิศ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๗ หน้า : ๒๗๖}

พระวินัยปิฎก จูฬวรรค [๘. วัตตขันธกะ]

รวมเรื่องที่มีในวัตตขันธกะ

พระอุปัชฌาย์อาพาธ ควรพยาบาลตลอดชีวิต ภิกษุทั้งหลาย นี้คืออุปัชฌายวัตร อันสัทธิวิหาริกพึงประพฤติชอบ พระอุปัชฌาย์สงเคราะห์ด้วยอุทเทส ปริปุจฉา โอวาท และอนุศาสน์ ให้บาตร จีวรและบริขาร คราวอาพาธ ไม่พึงเป็นปัจฉาสมณะ แม้อาจริยวัตรก็เหมือนกับอุปัชฌายวัตร อันเตวาสิกวัตรก็เหมือนกับสัทธิวิหาริกวัตร อาวาสิกวัตรก็เหมือนกับอาคันตุกวัตร คมิกวัตร อนุโมทนาวัตร ภัตตัคควัตร ปิณฑจาริกวัตร อารัญญิกวัตร เสนาสนวัตร ชันตาฆรวัตร วัจกุฎีวัตร อุปัชฌายวัตร สัทธิวิหาริกวัตร อาจริยวัตร อันเตวาสิกวัตรก็เหมือนกัน ในขันธกะนี้มี ๑๙ เรื่อง ๑๔ วัตร ภิกษุผู้ไม่บำเพ็ญวัตร ชื่อว่าไม่บำเพ็ญศีล ผู้มีศีลไม่บริสุทธิ์ ทรามปัญญา ย่อมไม่ประสบเอกัคคตาจิต ผู้มีจิตฟุ้งซ่าน อารมณ์มาก ย่อมไม่เห็นธรรมโดยชอบ เมื่อไม่เห็นพระสัทธรรม ย่อมไม่พ้นไปจากทุกข์ ภิกษุผู้บำเพ็ญวัตร ชื่อว่าบำเพ็ญศีล ผู้มีศีลบริสุทธิ์ มีปัญญา ย่อมได้รับเอกัคคตาจิต ผู้ไม่ฟุ้งซ่าน อารมณ์เดียว ย่อมเห็นธรรมโดยธรรม เมื่อเห็นพระสัทธรรม ย่อมพ้นจากทุกข์ได้ เพราะเหตุนั้น ภิกษุผู้เป็นพุทธชิโนรส มีปัญญาเห็นประจักษ์ พึงบำเพ็ญวัตร อันเป็นพระโอวาทของพระพุทธเจ้าผู้ประเสริฐ แต่นั้นจะถึงพระนิพพานได้ดังนี้แล
วัตตขันธกะ จบ
{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๗ หน้า : ๒๗๗}


                  เนื้อความพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาฯ เล่มที่ ๗ หน้าที่ ๒๖๗-๒๗๗. http://84000.org/tipitaka/english/m_siri.php?B=7&siri=72              ฟังเนื้อความพระไตรปิฎก : [1], [2], [3], [4].                   อ่านเทียบพระไตรปิฎกฉบับหลวง :- http://84000.org/tipitaka/english/v.php?B=7&A=5176&Z=5359                   ศึกษาอรรถกถานี้ได้ที่ :- http://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=7&i=446              พระไตรปิฏกฉบับภาษาบาลีอักษรไทย :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/pali_item_s.php?book=7&item=446&items=1              The Pali Tipitaka in Roman :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/roman_item_s.php?book=7&item=446&items=1                   สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่ ๗ http://84000.org/tipitaka/read/?index_mcu7              อ่านเทียบฉบับแปลอังกฤษ Compare with English Translation :- https://suttacentral.net/pli-tv-kd18/en/horner-brahmali#Kd.18.14.1



บันทึก ๓๑ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๕๙ บันทึกล่าสุด ๒๒ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๖๐ การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจากพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย. หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :