ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ค้นพระไตรปิฎก ชาดก หนังสือธรรมะ
     ฉบับหลวง   ฉบับมหาจุฬาฯ   บาลีอักษรไทย   PaliRoman 
พระไตรปิฎกเล่มที่ ๘ พระวินัยปิฎกเล่มที่ ๘ [ฉบับมหาจุฬาฯ] ปริวาร

พระวินัยปิฎก ปริวาร [เสทโมจนคาถา]

๑. อวิปปวาสปัญหา

เสทโมจนคาถา
ว่าด้วยคาถาที่ทำให้เหงื่อแตก
๑. อวิปปวาสปัญหา
ปัญหาว่าด้วยการไม่อยู่ปราศ
[๔๗๙] ภิกษุทั้งหลายไม่อยู่ร่วมกับภิกษุณีทั้งหลาย ความสนิทชิดเชื้อบางอย่างในบุคคลนั้นทำไม่ได้ เพราะไม่อยู่ปราศไม่ต้องอาบัติ ปัญหาข้อนี้ ท่านผู้ฉลาดทั้งหลายคิดกันแล้ว ครุภัณฑ์ที่ไม่พึงสละ ไม่พึงแจก อันพระผู้มีพระภาค ผู้แสวงหาคุณอันยิ่งใหญ่ตรัสไว้ ๕ หมวด ภิกษุผู้สละใช้สอยไม่ต้องอาบัติ ปัญหาข้อนี้ ท่านผู้ฉลาดทั้งหลายคิดกันแล้ว ข้าพเจ้าไม่กล่าวถึงบุคคล ๑๐ จำพวก บุคคลที่พึงเว้น ๑๑ จำพวก ภิกษุไหว้ผู้แก่กว่าต้องอาบัติ ปัญหาข้อนี้ ท่านผู้ฉลาดทั้งหลายคิดกันแล้ว ภิกษุไม่ถูกสงฆ์ลงอุกเขปนียกรรม และมิได้อยู่ปริวาส ไม่เป็นผู้ทำลายสงฆ์ และไม่เป็นผู้ไปเข้ารีด ดำรงอยู่ในภูมิของภิกษุผู้มีสังวาสเสมอกัน ไฉนหนอจึงไม่ทั่วไปแก่สิกขา ปัญหาข้อนี้ ท่านผู้ฉลาดทั้งหลายคิดกันแล้ว บุคคลเข้าถึงธรรม สอบถามถึงกุศลที่ประกอบด้วยประโยชน์ มิใช่ผู้มีชีวิต มิใช่ผู้ตาย มิใช่ผู้ดับ ท่านผู้รู้ทั้งหลายเรียกบุคคลนั้นว่าอย่างไร ปัญหาข้อนี้ ท่านผู้ฉลาดทั้งหลายคิดกันแล้ว {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๘ หน้า : ๖๙๔}

พระวินัยปิฎก ปริวาร [เสทโมจนคาถา]

๑. อวิปปวาสปัญหา

ข้าพเจ้าไม่กล่าวถึงอวัยวะเหนือบริเวณรากขวัญขึ้นไป เว้นอวัยวะบริเวณใต้สะดือลงมา ภิกษุพึงเป็นปาราชิก เพราะเมถุนธรรมเป็นปัจจัยได้อย่างไร ปัญหาข้อนี้ ท่านผู้ฉลาดทั้งหลายคิดกันแล้ว ภิกษุสร้างกุฎีด้วยการขอเอาเอง ไม่ได้ให้สงฆ์แสดงพื้นที่ เกินขนาด ซึ่งเป็นพื้นที่มีอันตราย เป็นพื้นที่ไม่มีบริเวณโดยรอบ ไม่ต้องอาบัติ ปัญหาข้อนี้ ท่านผู้ฉลาดทั้งหลายคิดกันแล้ว ภิกษุสร้างกุฎีด้วยการขอเอาเอง ให้สงฆ์แสดงพื้นที่ ได้ขนาด เป็นพื้นที่ไม่มีอันตราย เป็นพื้นที่ไม่มีบริเวณโดยรอบ ต้องอาบัติ ปัญหาข้อนี้ ท่านผู้ฉลาดทั้งหลายคิดกันแล้ว ภิกษุไม่พยายามอะไรทางกาย และไม่พูดกับผู้อื่นทางวาจา แต่ต้องอาบัติหนักซึ่งเป็นมูลแห่งการตัดขาด ปัญหาข้อนี้ ท่านผู้ฉลาดทั้งหลายคิดกันแล้ว สัตบุรุษไม่ทำความชั่วอะไรทางกาย ทางวาจา และแม้ทางใจ ถูกสงฆ์นาสนะแล้ว ชื่อว่าถูกนาสนะด้วยดี เพราะเหตุไร ปัญหาข้อนี้ ท่านผู้ฉลาดทั้งหลายคิดกันแล้ว ภิกษุไม่เจรจากับมนุษย์ไรๆ ด้วยวาจา และไม่กล่าวถ้อยคำกับผู้อื่น ต้องอาบัติทางวาจา ไม่ต้องอาบัติทางกาย ปัญหาข้อนี้ ท่านผู้ฉลาดทั้งหลายคิดกันแล้ว สิกขาบททั้งหลาย อันพระพุทธเจ้าผู้ประเสริฐ พรรณาไว้แล้ว สังฆาทิเสส ๔ สิกขาบท ภิกษุณีต้องทั้งหมด ด้วยความพยายามครั้งเดียวกัน ปัญหาข้อนี้ ท่านผู้ฉลาดทั้งหลายคิดกันแล้ว ภิกษุณี ๒ รูป อุปสมบทแต่สงฆ์ฝ่ายเดียว ภิกษุรับจีวรจากมือของภิกษุณี ๒ รูป ต้องอาบัติต่างกัน ปัญหาข้อนี้ ท่านผู้ฉลาดทั้งหลายคิดกันแล้ว {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๘ หน้า : ๖๙๕}

พระวินัยปิฎก ปริวาร [เสทโมจนคาถา]

๒. ปาราชิกาทิปัญหา

ภิกษุ ๔ รูป ชวนกันไปลักครุภัณฑ์ ๓ รูป ต้องอาบัติปาราชิก อีก ๑ รูป ไม่ต้องอาบัติปาราชิก ปัญหาข้อนี้ ท่านผู้ฉลาดทั้งหลายคิดกันแล้ว
๒. ปาราชิกาทิปัญหา
ปัญหาว่าด้วยอาบัติปาราชิก เป็นต้น
[๔๘๐] สตรีอยู่ข้างในและภิกษุอยู่ข้างนอก ช่องในเรือนนั้นก็ไม่มี ภิกษุจะพึงต้องอาบัติปาราชิกเพราะเมถุนธรรมเป็นปัจจัยได้อย่างไร ปัญหาข้อนี้ ท่านผู้ฉลาดทั้งหลายคิดกันแล้ว เมื่อภิกษุรับประเคนน้ำมัน น้ำผึ้ง น้ำอ้อยและเนยใส ด้วยตนเองแล้วเก็บไว้ เมื่อยังไม่ล่วง ๗ วัน เมื่อปัจจัยมีอยู่จึงฉัน ต้องอาบัติ ปัญหาข้อนี้ ท่านผู้ฉลาดทั้งหลายคิดกันแล้ว อาบัตินิสสัคคิยปาจิตตีย์ อาบัติสุทธิกปาจิตตีย์ ภิกษุต้องพร้อมกัน ปัญหาข้อนี้ ท่านผู้ฉลาดทั้งหลายคิดกันแล้ว ภิกษุ ๒๐ รูป มาประชุมกัน สำคัญว่าพร้อมเพรียงจึงทำกรรม ภิกษุอยู่ไกล ๑๒ โยชน์ พึงยังกรรมนั้นให้เสียได้ เพราะการแบ่งพวกเป็นปัจจัย ปัญหาข้อนี้ ท่านผู้ฉลาดทั้งหลายคิดกันแล้ว ภิกษุต้องครุกาบัติที่ทำคืนได้ทั้งหมด ๖๔ คราวเดียวกัน ด้วยอาการเพียงย่างเท้า และด้วยกล่าววาจา ปัญหาข้อนี้ ท่านผู้ฉลาดทั้งหลายคิดกันแล้ว ภิกษุนุ่งผ้าอันตรวาสก ห่มผ้าสังฆาฏิ ๒ ชั้น ผ้าทั้งหมดนั้นเป็นนิสสัคคีย์ ปัญหาข้อนี้ ท่านผู้ฉลาดทั้งหลายคิดกันแล้ว {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๘ หน้า : ๖๙๖}

พระวินัยปิฎก ปริวาร [เสทโมจนคาถา]

๒. ปาราชิกาทิปัญหา

ญัตติก็ไม่ได้สวด กรรมวาจาก็ไม่ได้สวด พระชินเจ้าก็มิได้รับสั่งว่า เธอจงมาเป็นภิกษุเถิด ไตรสรณคมณ์เขาก็ไม่ได้รับ แต่อุปสัมปทกรรมของบุคคลนั้นไม่เสีย ปัญหาข้อนี้ ท่านผู้ฉลาดทั้งหลายคิดกันแล้ว บุคคลผู้โง่เขลาฆ่าสตรีซึ่งมิใช่มารดา และฆ่าบุรุษซึ่งมิใช่บิดา ฆ่าบุคคลผู้มิใช่อริยะ แต่ต้องอนันตริยกรรมเพราะโทษนั้น ปัญหาข้อนี้ ท่านผู้ฉลาดทั้งหลายคิดกันแล้ว บุคคลผู้โง่เขลาฆ่าสตรีผู้เป็นมารดา และฆ่าบุรุษผู้เป็นบิดา ครั้นฆ่ามารดาบิดาแล้ว ไม่ต้องอนันตริยกรรมเพราะโทษนั้น ปัญหาข้อนี้ ท่านผู้ฉลาดทั้งหลายคิดกันแล้ว ภิกษุไม่โจท ไม่สอบสวน แล้วทำกรรมแก่บุคคลผู้อยู่ลับหลัง และกรรมที่ทำแล้ว เป็นอันทำชอบแล้ว ทั้งการกสงฆ์ก็ไม่ต้องอาบัติ ปัญหาข้อนี้ ท่านผู้ฉลาดทั้งหลายคิดกันแล้ว ภิกษุโจท สอบสวนแล้ว พึงทำกรรมแก่บุคคลผู้อยู่ต่อหน้า และกรรมที่ทำแล้ว ไม่เป็นอันทำ ทั้งการกสงฆ์ก็ต้องอาบัติ ปัญหาข้อนี้ ท่านผู้ฉลาดทั้งหลายคิดกันแล้ว ภิกษุตัดต้องอาบัติก็มี ไม่ต้องอาบัติก็มี ภิกษุปกปิดต้องอาบัติก็มี ไม่ต้องอาบัติก็มี ปัญหาข้อนี้ ท่านผู้ฉลาดทั้งหลายคิดกันแล้ว ภิกษุพูดจริงต้องอาบัติหนัก พูดเท็จต้องอาบัติเบา พูดเท็จต้องอาบัติหนัก และพูดจริงต้องอาบัติเบา ปัญหาข้อนี้ ท่านผู้ฉลาดทั้งหลายคิดกันแล้ว {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๘ หน้า : ๖๙๗}

พระวินัยปิฎก ปริวาร [เสทโมจนคาถา]

๓. ปาจิตติยาทิปัญหา

๓. ปาจิตติยาทิปัญหา
ปัญหาว่าด้วยอาบัติปาจิตตีย์ เป็นต้น
[๔๘๑] ภิกษุใช้สอยจีวรที่อธิษฐานแล้ว ย้อมด้วยน้ำย้อม แม้กัปปะก็ทำแล้ว ยังต้องอาบัติ ปัญหาข้อนี้ ท่านผู้ฉลาดทั้งหลายคิดกันแล้ว เมื่อพระอาทิตย์อัสดงแล้ว ภิกษุฉันเนื้อ ไม่ใช่ผู้วิกลจริต ไม่ใช่ผู้มีจิตฟุ้งซ่าน และไม่ใช่ผู้กระสับกระส่ายเพราะเวทนา แต่ไม่ต้องอาบัติ และธรรมข้อนั้นพระสุคตทรงแสดงไว้แล้ว ปัญหาข้อนี้ ท่านผู้ฉลาดทั้งหลายคิดกันแล้ว ภิกษุไม่ใช่ผู้มีจิตกำหนัด ไม่ใช่ผู้มีจิตคิดลัก และแม้ผู้อื่นภิกษุนั้นก็ไม่ได้คิดจะฆ่า ความขาดย่อมมีแก่ภิกษุนั้นผู้ให้สลาก เมื่อภิกษุจับต้องอาบัติถุลลัจจัย ปัญหาข้อนี้ ท่านผู้ฉลาดทั้งหลายคิดกันแล้ว ไม่ใช่เสนาสนะป่าที่รู้กันว่าน่าหวาดระแวง และไม่ใช่สงฆ์ให้สมมติ ทั้งกฐินภิกษุนั้นก็ไม่ได้กราน ภิกษุนั้นเก็บจีวรไว้ ณ ที่นั้นเอง แล้วไปไกลถึงครึ่งโยชน์ เมื่ออรุณขึ้น ไม่ต้องอาบัติในเรื่องนั้นนั่นเล ปัญหาข้อนี้ ท่านผู้ฉลาดทั้งหลายคิดกันแล้ว อาบัติทั้งมวลที่เกิดทางกาย มิใช่เกิดทางวาจา มีวัตถุต่างกัน ภิกษุต้องในขณะเดียวกัน ไม่ก่อนไม่หลัง ปัญหาข้อนี้ ท่านผู้ฉลาดทั้งหลายคิดกันแล้ว อาบัติทั้งมวลที่เกิดทางวาจา มิใช่เกิดทางกาย มีวัตถุต่างกัน ภิกษุต้องในขณะเดียวกัน ไม่ก่อนไม่หลัง ปัญหาข้อนี้ ท่านผู้ฉลาดทั้งหลายคิดกันแล้ว ไม่มีการเสพเมถุนธรรมในสตรี ๓ จำพวก บุรุษ ๓ จำพวก คนไม่ประเสริฐ ๓ จำพวก และบัณเฑาะก์ ๓ จำพวก {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๘ หน้า : ๖๙๘}

พระวินัยปิฎก ปริวาร [เสทโมจนคาถา]

๓. ปาจิตติยาทิปัญหา

และไม่มีการเสพเมถุนธรรมในอวัยวะที่ปรากฏ แต่มีมูลแห่งการตัดขาด เพราะเมถุนธรรมเป็นปัจจัย ปัญหาข้อนี้ ท่านผู้ฉลาดทั้งหลายคิดกันแล้ว ภิกษุขอจีวรกับมารดา และไม่ได้น้อมลาภไปเพื่อสงฆ์ เพราะเหตุไร ภิกษุนั้นจึงต้องอาบัติ แต่ไม่ต้องอาบัติเพราะบุคคลผู้เป็นญาติ ปัญหาข้อนี้ ท่านผู้ฉลาดทั้งหลายคิดกันแล้ว ผู้โกรธย่อมให้สงฆ์ยินดี ผู้โกรธย่อมถูกสงฆ์ติเตียน ก็ธรรมที่เป็นเหตุให้สงฆ์สรรเสริญผู้โกรธนั้น ชื่ออะไร ปัญหาข้อนี้ ท่านผู้ฉลาดทั้งหลายคิดกันแล้ว ผู้แช่มชื่นย่อมให้สงฆ์ยินดี ผู้แช่มชื่นย่อมถูกสงฆ์ติเตียน ก็ธรรมที่เป็นเหตุให้สงฆ์ติเตียนผู้แช่มชื่นนั้น ชื่ออะไร ปัญหาข้อนี้ ท่านผู้ฉลาดทั้งหลายคิดกันแล้ว ภิกษุต้องอาบัติสังฆาทิเสส ถุลลัจจัย ปาจิตตีย์ ปาฏิเทสนียะ และทุกกฏในขณะเดียวกัน ปัญหาข้อนี้ ท่านผู้ฉลาดทั้งหลายคิดกันแล้ว ทั้ง ๒ มีอายุครบ ๒๐ ปี ทั้ง ๒ มีพระอุปัชฌาย์รูปเดียวกัน มีอาจารย์รูปเดียวกัน สวดกรรมวาจาเดียวกัน คนหนึ่งเป็นอุปสัมบัน คนหนึ่งเป็นอนุปสัมบัน ปัญหาข้อนี้ ท่านผู้ฉลาดทั้งหลายคิดกันแล้ว ผ้าที่ไม่ได้ทำกัปปะและไม่ได้ย้อมด้วยน้ำย้อม ภิกษุนุ่งห่มเดินทางไปตามปรารถนา และภิกษุนั้นไม่ต้องอาบัติ ธรรมนั้นพระสุคตทรงแสดงแล้ว ปัญหาข้อนี้ ท่านผู้ฉลาดทั้งหลายคิดกันแล้ว ภิกษุณีไม่ให้ ไม่รับ การรับไม่มีด้วยเหตุนั้น แต่ต้องอาบัติหนัก ไม่ต้องอาบัติเบา และต้องอาบัตินั้น {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๘ หน้า : ๖๙๙}

พระวินัยปิฎก ปริวาร [เสทโมจนคาถา]

๓. ปาจิตติยาทิปัญหา

เพราะการใช้สอยเป็นปัจจัย ปัญหาข้อนี้ ท่านผู้ฉลาดทั้งหลายคิดกันแล้ว ภิกษุณีไม่ให้ ไม่รับ การรับไม่มีด้วยเหตุนั้น แต่ต้องอาบัติเบา ไม่ต้องอาบัติหนัก และต้องอาบัตินั้น เพราะการใช้สอยเป็นปัจจัย ปัญหาข้อนี้ ท่านผู้ฉลาดทั้งหลายคิดกันแล้ว ภิกษุณีต้องอาบัติหนักมีส่วนเหลือ ปกปิดไว้ เพราะอาศัยความไม่เอื้อเฟื้อ ผู้ไม่ใช่ภิกษุณีก็ไม่ต้องโทษ ปัญหาข้อนี้ ท่านผู้ฉลาดทั้งหลายคิดกันแล้ว
เสทโมจนคาถา จบ
หัวข้อประจำเรื่อง
ไม่อยู่ร่วมกัน ไม่สละ บุคคล ๑๐ จำพวก ไม่ถูกสงฆ์ลงอุกเขปนียกรรม เข้าถึงธรรม อวัยวะเหนือบริเวณรากขวัญ จากนั้นสร้างกุฎีด้วยการขอเอาเอง ๒ สิกขาบท ไม่พยายามทางกาย แต่ต้องอาบัติหนัก ไม่ทำความชั่วทางกาย แต่ถูกสงฆ์นาสนะชอบแล้ว ไม่เจรจา สิกขาบท ชน ๒ คน และชน ๔ คน สตรี น้ำมัน นิสสัคคีย์ ภิกษุ ก้าวเท้าเดิน นุ่งผ้า ไม่สวดญัตติ ฆ่าสตรีมิใช่มารดา ฆ่าบุรุษมิใช่บิดา ไม่โจท โจท ตัด พูดจริง ผ้าที่อธิษฐาน พระอาทิตย์อัสดงคตแล้ว ไม่กำหนัด มิใช่เสนาสนะป่า อาบัติทางกาย ทางวาจา สตรี ๓ พวก มารดา โกรธแล้วให้ยินดี แช่มชื่น ต้องสังฆาทิเสส สองคน ผ้าไม่ได้ทำกัปปะ ไม่ให้ ต้องอาบัติหนัก คาถาที่คิดจนเหงื่อไหล เป็นปัญหาที่ท่านผู้รู้ได้ชี้แจงไว้แล้วแล {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๘ หน้า : ๗๐๐}


                  เนื้อความพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาฯ เล่มที่ ๘ หน้าที่ ๖๙๔-๗๐๐. http://84000.org/tipitaka/english/m_siri.php?B=8&siri=122              ฟังเนื้อความพระไตรปิฎก : [1], [2].                   อ่านเทียบพระไตรปิฎกฉบับหลวง :- http://84000.org/tipitaka/english/v.php?B=8&A=12883&Z=12990                   ศึกษาอรรถกถานี้ได้ที่ :- http://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=8&i=1296              พระไตรปิฏกฉบับภาษาบาลีอักษรไทย :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/pali_item_s.php?book=8&item=1296&items=44              อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย :- http://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=3&A=12170              The Pali Tipitaka in Roman :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/roman_item_s.php?book=8&item=1296&items=44              The Pali Atthakatha in Roman :- http://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=3&A=12170                   สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่ ๘ http://84000.org/tipitaka/read/?index_mcu8              อ่านเทียบฉบับแปลอังกฤษ Compare with English Translation :- https://suttacentral.net/pli-tv-pvr20/en/brahmali https://suttacentral.net/pli-tv-pvr20/en/horner-brahmali



บันทึก ๓๑ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๕๙ บันทึกล่าสุด ๒๒ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๖๐ การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจากพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย. หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :