ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ค้นพระไตรปิฎก ชาดก หนังสือธรรมะ
     ฉบับหลวง   ฉบับมหาจุฬาฯ   บาลีอักษรไทย   PaliRoman 
พระไตรปิฎกเล่มที่ ๑๓ พระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๕ [ฉบับมหาจุฬาฯ] มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์
๙. ธัมมเจติยสูตร
ว่าด้วยธรรมเจดีย์
[๓๖๔] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้ สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ นิคมของพวกเจ้าศากยะชื่อเมทฬุปะ แคว้นสักกะ สมัยนั้นแล พระเจ้าปเสนทิโกศลเสด็จไปนิคมชื่อนครกะด้วยพระราช- กรณียกิจบางอย่าง ลำดับนั้น ท้าวเธอรับสั่งกับเสนาบดีชื่อทีฆการายนะว่า “การายนะ เพื่อนรัก ท่านจงจัดยานพาหนะคันงามๆ เตรียมไว้ เราจะไปดูสถานที่อันรื่นรมย์ ในอุทยานหลวง” {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๓ หน้า : ๔๔๙}

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ [๔. ราชวรรค]

๙. ธัมมเจติยสูตร

ทีฆการายนเสนาบดีทูลรับสนองพระราชดำรัสแล้วให้จัดยานพาหนะคันงามๆ หลายคันไว้ แล้วกราบทูลแด่พระเจ้าปเสนทิโกศลว่า “ขอเดชะ ข้าพระองค์จัดยาน พาหนะคันงามๆ หลายคันไว้เพื่อพระองค์แล้ว ขอพระองค์ทรงกำหนดเวลาที่สมควร ณ บัดนี้เถิด พระเจ้าข้า” ลำดับนั้น พระเจ้าปเสนทิโกศลทรงขึ้นยานพาหนะคันงามเสด็จออกจากนิคม ชื่อนครกะ พร้อมกับยานพาหนะคันงามๆ ตามเสด็จ ด้วยราชานุภาพอย่างยิ่งใหญ่ เสด็จไปยังอุทยานอันน่ารื่นรมย์ จนสุดทางที่ยานพาหนะจะไปได้แล้วลงจากยาน เสด็จพระราชดำเนินด้วยพระบาทเข้าไปยังอุทยาน ท้าวเธอพระราชดำเนินพักผ่อน ไปมาในอุทยาน ได้ทอดพระเนตรเห็นหมู่ไม้ล้วนน่าร่มรื่น ชวนให้เกิดความเพลินใจ มีเสียงน้อย มีเสียงอึกทึกน้อย ปราศจากการสัญจรไปมาของผู้คน ควรเป็นสถาน ที่ทำการลับของมนุษย์ สมควรเป็นที่หลีกเร้น ครั้นเห็นแล้วทรงเกิดพระปีติปรารภ พระผู้มีพระภาคว่า “หมู่ไม้เหล่านี้ล้วนน่าร่มรื่น ชวนให้เกิดความเพลินใจ มีเสียงน้อย มีเสียงอึกทึก น้อย ปราศจากการสัญจรไปมาของผู้คน ควรเป็นสถานที่ทำการลับของมนุษย์ สมควรเป็นที่หลีกเร้น เป็นเหมือนสถานที่ที่เราเคยเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคอรหันต- สัมมาสัมพุทธเจ้ามาก่อน” [๓๖๕] ครั้งนั้น พระเจ้าปเสนทิโกศลรับสั่งเรียกทีฆการายนเสนาบดีมาตรัสว่า “การายนะเพื่อนรัก หมู่ไม้เหล่านี้ล้วนน่าร่มรื่น ชวนให้เกิดความเพลินใจ มีเสียงน้อย มีเสียงอึกทึกน้อย ปราศจากการสัญจรไปมาของผู้คน ควรเป็นสถานที่ทำการลับ ของมนุษย์ สมควรเป็นที่หลีกเร้น เป็นเหมือนสถานที่ที่เราเคยเข้าไปเฝ้าพระผู้มี พระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้ามาก่อน การายนะเพื่อนรัก บัดนี้ พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น ประทับอยู่ ณ ที่ไหน” ทีฆการายนเสนาบดีกราบทูลว่า “บัดนี้ พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมา- สัมพุทธเจ้าพระองค์นั้นประทับอยู่ที่นิคมของพวกเจ้าศากยะชื่อเมทฬุปะ พระเจ้าข้า” {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๓ หน้า : ๔๕๐}

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ [๔. ราชวรรค]

๙. ธัมมเจติยสูตร

พระเจ้าปเสนทิโกศลตรัสถามว่า “การายนะเพื่อนรัก นิคมของพวกเจ้าศากยะ ชื่อเมทฬุปะ อยู่ห่างจากนิคมชื่อนครกะเท่าไร” ทีฆการายนเสนาบดีทูลตอบว่า “ไม่ไกลนัก ระยะทางประมาณ ๓ โยชน์ อาจเสด็จไปถึงได้โดยใช้ระยะเวลาไม่ถึงวัน พระเจ้าข้า” พระเจ้าปเสนทิโกศลตรัสว่า “การายนะเพื่อนรัก ถ้าเช่นนั้น ท่านจงจัดยาน พาหนะคันงามๆ หลายคันไว้ เราจักไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า พระองค์นั้น” ทีฆการายนเสนาบดีทูลรับสนองพระราชดำรัสแล้วสั่งให้จัดยานพาหนะคันงามๆ หลายคันไว้ แล้วกราบทูลพระเจ้าปเสนทิโกศลว่า “ขอเดชะ ข้าพระองค์จัดยาน พาหนะคันงามๆ หลายคันไว้แล้ว พระเจ้าข้า ขอพระองค์ทรงกำหนดเวลาที่สมควร ณ บัดนี้เถิด” ลำดับนั้น พระเจ้าปเสนทิโกศลทรงขึ้นยานพาหนะคันงาม เสด็จออกจากนิคม ชื่อนครกะ พร้อมกับยานพาหนะคันงามๆ ตามเสด็จ ถึงนิคมของพวกเจ้าศากยะ ชื่อเมทฬุปะโดยใช้เวลาไม่ถึงวัน เสด็จไปยังอารามจนสุดทางที่ยานพาหนะจะไปได้แล้ว ลงจากยาน เสด็จพระราชดำเนินด้วยพระบาทเข้าไปยังอาราม
พระเจ้าปเสนทิโกศลเข้าเฝ้าพระผู้มีพระภาค
[๓๖๖] สมัยนั้น ภิกษุหลายรูปเดินจงกรมอยู่ที่กลางแจ้ง ลำดับนั้น พระเจ้า ปเสนทิโกศลเสด็จเข้าไปหาภิกษุเหล่านั้นถึงที่อยู่ แล้วตรัสถามว่า “พระคุณเจ้า ผู้เจริญ บัดนี้ พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้นประทับอยู่ ณ ที่ไหนหนอ โยมประสงค์จะเฝ้าพระองค์” ภิกษุเหล่านั้นถวายพระพรว่า “ขอมหาบพิตร จงเงียบเสียง เสด็จเข้าไปยัง พระวิหารหลังนั้นซึ่งมีประตูปิดสนิทดีแล้ว อย่าทรงรีบด่วน เสด็จเข้าไปยังระเบียง ทรงกระแอม แล้วทรงเคาะกลอนประตูนิดหน่อยเถิด พระผู้มีพระภาคจักทรงเปิด ประตูรับ ขอถวายพระพร” {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๓ หน้า : ๔๕๑}

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ [๔. ราชวรรค]

๙. ธัมมเจติยสูตร

ลำดับนั้น พระเจ้าปเสนทิโกศลทรงมอบพระแสงขรรค์และพระอุณหิสแก่ทีฆ- การายนเสนาบดีในที่นั้น หลังจากนั้นทีฆการายนเสนาบดีได้คิดว่า “บัดนี้ พระมหาราชจัก ทรงปรึกษาความลับ เราควรจะยืนอยู่ในที่นี้แล” ลำดับนั้น พระเจ้าปเสนทิโกศลได้ทรงเงียบเสียง เสด็จเข้าไปยังพระวิหารหลัง นั้นซึ่งมีประตูปิดสนิทดีแล้ว มิได้ทรงรีบด่วน เสด็จเข้าไปยังระเบียง ทรงกระแอม แล้วทรงเคาะกลอนประตูนิดหน่อย พระผู้มีพระภาคทรงเปิดประตูรับ ครั้งนั้น พระเจ้าปเสนทิโกศลเสด็จเข้าไปยังพระวิหาร ทรงซบพระเศียรลงจุมพิต พระยุคลบาทของพระผู้มีพระภาคด้วยพระโอษฐ์ ทรงนวดพระยุคลบาทด้วยฝ่าพระหัตถ์ ทั้งสอง และทรงประกาศพระนามว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ หม่อมฉันคือพระเจ้า ปเสนทิโกศล ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ หม่อมฉันคือพระเจ้าปเสนทิโกศล”
ทรงสรรเสริญพระธรรมวินัย
[๓๖๗] พระผู้มีพระภาคตรัสถามว่า “มหาบพิตร พระองค์ทรงเห็นอำนาจ ประโยชน์อะไร จึงทรงกระทำความนอบน้อมเป็นอย่างยิ่งในสรีระนี้ถึงเพียงนี้ และทรง แสดงอาการฉันมิตรถึงเพียงนี้” พระเจ้าปเสนทิโกศลทูลตอบว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ หม่อมฉันมีความเห็น คล้อยตามธรรม๑- ในพระผู้มีพระภาคว่า ‘พระผู้มีพระภาคตรัสรู้ด้วยพระองค์เองโดยชอบ พระธรรมอันพระผู้มีพระภาคตรัสไว้ดีแล้ว พระสงฆ์สาวกของพระผู้มีพระภาคเป็นผู้ ปฏิบัติดีแล้ว’ ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ขอประทานวโรกาส หม่อมฉันเห็นสมณพราหมณ์ พวกหนึ่ง ประพฤติพรหมจรรย์มีกำหนด ๑๐ ปีบ้าง ๒๐ ปีบ้าง ๓๐ ปีบ้าง ๔๐ ปีบ้าง สมัยต่อมา สมณพราหมณ์เหล่านั้นอาบน้ำดำหัว ลูบไล้อย่างดี แต่งผมและหนวด บำเรอตนให้เอิบอิ่มพรั่งพร้อมด้วยกามคุณ ๕ ประการ แต่หม่อมฉันได้เห็นภิกษุ @เชิงอรรถ : @ ความเห็นคล้อยตามธรรม หมายถึงความเห็นคล้อยตามธรรมคือญาณเครื่องเห็นประจักษ์ @(ม.ม.อ. ๒/๓๖๗/๒๕๕) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๓ หน้า : ๔๕๒}

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ [๔. ราชวรรค]

๙. ธัมมเจติยสูตร

ทั้งหลายในพระธรรมวินัยนี้ ประพฤติพรหมจรรย์อันบริสุทธิ์บริบูรณ์ มอบกาย ถวายชีวิตอยู่ อนึ่ง หม่อมฉันไม่เห็นพรหมจรรย์อื่นที่บริสุทธิ์ บริบูรณ์อย่างนี้ นอกจาก พระธรรมวินัยนี้ ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ แม้ข้อนี้เองที่หม่อมฉันมีความเห็นคล้อยตามธรรม ในพระผู้มีพระภาคว่า ‘พระผู้มีพระภาคตรัสรู้ด้วยพระองค์เองโดยชอบ พระธรรม อันพระผู้มีพระภาคตรัสไว้ดีแล้ว พระสงฆ์สาวกของพระผู้มีพระภาคเป็นผู้ปฏิบัติดีแล้ว’ [๓๖๘] ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ อีกประการหนึ่ง แม้พระราชายังวิวาทกับ พระราชา แม้กษัตริย์ยังวิวาทกับกษัตริย์ แม้พราหมณ์ยังวิวาทกับพราหมณ์ แม้คหบดียังวิวาทกับคหบดี แม้มารดายังวิวาทกับบุตร แม้บุตรยังวิวาทกับมารดา แม้บิดายังวิวาทกับบุตร แม้บุตรยังวิวาทกับบิดา แม้พี่ชายน้องชายยังวิวาทกับ พี่สาวน้องสาว แม้พี่สาวน้องสาวยังวิวาทกับพี่ชายน้องชาย แม้สหายก็ยังวิวาทกับ สหาย แต่หม่อมฉันได้เห็นภิกษุทั้งหลายในพระธรรมวินัยนี้ สมัครสมานสามัคคี ไม่วิวาทกัน เข้ากันได้สนิทเหมือนน้ำกับน้ำนม มองดูกันและกันด้วยสายตาเปี่ยม ด้วยความรักอยู่ หม่อมฉันไม่เห็นบริษัทอื่นที่สมัครสมานสามัคคีกันอย่างนี้ นอกจาก บริษัทนี้ ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ แม้ข้อนี้เองที่หม่อมฉันมีความเห็นคล้อยตามธรรม ในพระผู้มีพระภาคว่า ‘พระผู้มีพระภาคตรัสรู้ด้วยพระองค์เองโดยชอบ พระธรรม อันพระผู้มีพระภาคตรัสไว้ดีแล้ว พระสงฆ์สาวกของพระผู้มีพระภาคเป็นผู้ปฏิบัติดีแล้ว’ [๓๖๙] อีกประการหนึ่ง หม่อมฉันเดินเที่ยวชมรอบๆ พระอาราม รอบๆ อุทยานไปมา ณ ที่นั้นๆ หม่อมฉันได้เห็นสมณพราหมณ์พวกหนึ่ง ซูบผอม มีผิวพรรณ ไม่ผ่องใส ผอมเหลือง ตามตัวสะพรั่งไปด้วยเส้นเอ็น ดูเหมือนว่าจะไม่กล้าสบตาคน หม่อมฉันนั้นได้เกิดความดำริว่า ‘ท่านเหล่านี้คงไม่ยินดีประพฤติพรหมจรรย์เป็นแน่ หรือว่าท่านเหล่านั้นมีบาปกรรมอะไร ที่ทำแล้วปกปิดไว้ ท่านเหล่านั้นจึงซูบผอม มีผิวพรรณไม่ผ่องใส ผอมเหลือง ตามตัวสะพรั่งไปด้วยเส้นเอ็น ดูเหมือนว่าจะไม่ กล้าสบตาคน’ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๓ หน้า : ๔๕๓}

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ [๔. ราชวรรค]

๙. ธัมมเจติยสูตร

หม่อมฉันเข้าไปหาสมณพราหมณ์เหล่านั้น แล้วถามอย่างนี้ว่า ‘ท่านผู้มีอายุ ทั้งหลาย เหตุไร พวกท่านจึงซูบผอม เศร้าหมอง มีผิวพรรณไม่ผ่องใส ผอมเหลือง ตามตัวสะพรั่งไปด้วยเส้นเอ็น ดูเหมือนว่าจะไม่กล้าสบตาคน’ สมณพราหมณ์เหล่านั้นได้ตอบอย่างนี้ว่า ‘มหาบพิตร พวกอาตมภาพเป็นโรค พันธุกรรม๑-’ แต่หม่อมฉันได้เห็นภิกษุทั้งหลายในพระธรรมวินัยนี้ ร่าเริงยิ่งนัก มีใจชื่นบาน มีรูปอันน่ายินดี มีอินทรีย์ผ่องใส มีความขวนขวายน้อย ไม่หวาดกลัว เลี้ยงชีพด้วย ของที่ผู้อื่นให้ มีจิตดุจมฤคอยู่ หม่อมฉันนั้นได้ดำริว่า ‘ท่านเหล่านี้ คงรู้คุณวิเศษขึ้นไปกว่าเดิมในศาสนาของ พระผู้มีพระภาคเป็นแน่ ท่านเหล่านี้จึงร่าเริงยินดียิ่งนัก มีจิตชื่นบาน มีรูปอันน่า ยินดี มีอินทรีย์ผ่องใส มีความขวนขวายน้อย ไม่หวาดกลัว เลี้ยงชีพด้วยของที่ผู้อื่นให้ มีจิตดุจมฤคอยู่’ ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ แม้ข้อนี้เองที่หม่อมฉันมีความเห็นคล้อยตามธรรม ในพระผู้มีพระภาคว่า ‘พระผู้มีพระภาคตรัสรู้ด้วยพระองค์เองโดยชอบ พระธรรม อันพระผู้มีพระภาคตรัสไว้ดีแล้ว พระสงฆ์สาวกของพระผู้มีพระภาคเป็นผู้ปฏิบัติดีแล้ว’ [๓๗๐] อีกประการหนึ่ง หม่อมฉันเป็นราชามหากษัตริย์ผู้ได้รับมูรธาภิเษก๒- แล้ว ย่อมสามารถที่จะฆ่าคนที่สมควรฆ่าได้ จะให้ริบทรัพย์ของคนที่สมควรริบได้ จะให้ เนรเทศคนที่สมควรเนรเทศได้ เมื่อหม่อมฉันนั่งอยู่ในที่วินิจฉัยอรรถคดี ก็ยังมีคน ทั้งหลายพูดแทรกขึ้นมาในระหว่างๆ หม่อมฉันนั้นไม่ได้เพื่อจะห้ามว่า ‘ท่านผู้เจริญ ทั้งหลาย เมื่อเรานั่งอยู่ในที่วินิจฉัยอรรถคดี พวกท่านอย่าพูดแทรกขึ้นระหว่าง ถ้อยคำของเรา จงรอให้เราพูดจบเสียก่อน’ @เชิงอรรถ : @ โรคพันธุกรรม หมายถึงโรคที่เกิดจากสายเลือดฝ่ายมารดาหรือฝ่ายบิดา เช่น โรคโลหิตจาง โรคจิต @ฟั่นเฟือน โรคเบาหวาน เป็นต้น อีกนัยหนึ่ง เรียกว่า โรคประจำตระกูล (ม.ม.อ. ๒/๓๖๙/๒๕๕-๒๕๖) @ ดูเชิงอรรถที่ ๑ ข้อ ๙ (กันทรกสูตร) หน้า ๙ ในเล่มนี้ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๓ หน้า : ๔๕๔}

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ [๔. ราชวรรค]

๙. ธัมมเจติยสูตร

คนทั้งหลายก็ยังพูดแทรกขึ้นในระหว่างถ้อยคำของหม่อมฉัน แต่หม่อมฉันได้ เห็นภิกษุทั้งหลายในพระธรรมวินัยนี้ ในสมัยที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงธรรมแก่ บริษัทหลายร้อย สาวกทั้งหลายของพระผู้มีพระภาค ก็ไม่มีเสียงไอหรือเสียงจามเลย เรื่องเคยมีมาแล้ว พระผู้มีพระภาคทรงแสดงธรรมแก่บริษัทหลายร้อย ในบริษัทนั้น สาวกของพระผู้มีพระภาครูปหนึ่งได้ไอขึ้น เพื่อนพรหมจารีรูปหนึ่งได้ใช้เข่าสะกิดเธอ ด้วยความประสงค์ให้เธอรู้สึกตัวได้ว่า ‘ท่านจงเงียบ อย่าทำเสียงดังไป พระผู้มีพระภาค ผู้เป็นศาสดาของเราทั้งหลายทรงแสดงธรรมอยู่’ หม่อมฉันนั้นได้ดำริว่า ‘ท่านผู้เจริญทั้งหลาย น่าอัศจรรย์จริง ไม่เคยปรากฏ ได้ยินว่า พระผู้มีพระภาคทรงแนะนำบริษัทอย่างดีเช่นนี้ โดยไม่ต้องใช้อาชญา โดยไม่ต้อง ใช้ศัสตราเลย’ หม่อมฉันไม่เห็นบริษัทอื่นที่ได้รับการแนะนำอย่างดีเช่นนี้ นอกจาก บริษัทนี้ ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ แม้ข้อนี้เองที่หม่อมฉันมีความเห็นคล้อยตามธรรม ในพระผู้มีพระภาคว่า ‘พระผู้มีพระภาคตรัสรู้ด้วยพระองค์เองโดยชอบ พระธรรม อันพระผู้มีพระภาคตรัสไว้ดีแล้ว พระสงฆ์สาวกของพระผู้มีพระภาคเป็นผู้ปฏิบัติดีแล้ว’ [๓๗๑] อีกประการหนึ่ง หม่อมฉันได้เห็นกษัตริย์ ผู้เป็นบัณฑิตบางพวก ในโลกนี้ มีปัญญาละเอียดอ่อน โต้วาทะกับคนอื่นได้ สามารถนับขนทรายได้ กษัตริย์ เหล่านั้นเหมือนดั่งเที่ยวทำลายทิฏฐิของผู้อื่นด้วยปัญญา พอได้ฟังข่าวว่า ‘ท่านผู้ เจริญทั้งหลาย ได้ยินว่า พระสมณโคดมจักเสด็จมาถึงบ้านหรือนิคมชื่อโน้น’ กษัตริย์ เหล่านั้นก็พากันแต่งปัญหา ด้วยตั้งใจว่า ‘เราทั้งหลายจักพากันเข้าไปหาพระสมณ- โคดมแล้วถามปัญหานี้ ถ้าพระสมณโคดมถูกเราทั้งหลายถามแล้วอย่างนี้ จักตรัส ตอบอย่างนี้ เราทั้งหลายจักโต้วาทะอย่างนี้กับพระสมณโคดม ถ้าแม้พระสมณโคดม ถูกเราทั้งหลายถามแล้วอย่างนี้ จักตรัสตอบอย่างนี้ เราทั้งหลายจักโต้วาทะอย่างนี้ กับพระสมณโคดม’ กษัตริย์เหล่านั้นได้ฟังข่าวว่า ‘ท่านผู้เจริญทั้งหลาย ได้ยินว่า พระสมณโคดม เสด็จมาถึงบ้านหรือนิคมโน้น’ แล้วก็พากันเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ พระผู้มีพระภาคทรงชี้แจงให้กษัตริย์เหล่านั้นเห็นชัด ชวนใจให้อยากรับเอาไปปฏิบัติ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๓ หน้า : ๔๕๕}

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ [๔. ราชวรรค]

๙. ธัมมเจติยสูตร

เร้าใจให้อาจหาญแกล้วกล้า ปลอบชโลมใจให้สดชื่นร่าเริงด้วยธรรมีกถา กษัตริย์ เหล่านั้นที่พระผู้มีพระภาคทรงชี้แจงให้เห็นชัด ชวนใจให้อยากรับเอาไปปฏิบัติ เร้าใจ ให้อาจหาญแกล้วกล้า ปลอบชโลมใจให้สดชื่นร่าเริงด้วยธรรมีกถา ก็ไม่ทูลถามปัญหา กับพระผู้มีพระภาคอีก ที่ไหนจักโต้วาทะกับพระองค์ได้เล่า โดยที่แท้ก็พากันยอมตน เข้าเป็นสาวกของพระผู้มีพระภาค ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ แม้ข้อนี้เองที่หม่อมฉันมีความเห็นคล้อยตามธรรมของ พระผู้มีพระภาคว่า ‘พระผู้มีพระภาคตรัสรู้ด้วยพระองค์เองโดยชอบ พระธรรม อันพระผู้มีพระภาคตรัสไว้ดีแล้ว พระสงฆ์สาวกของพระผู้มีพระภาคเป็นผู้ปฏิบัติดีแล้ว’ [๓๗๒] อีกประการหนึ่ง หม่อมฉันได้เห็นพราหมณ์ผู้เป็นบัณฑิต ฯลฯ คหบดีผู้เป็นบัณฑิต ฯลฯ สมณะผู้เป็นบัณฑิตบางพวกในโลกนี้ มีปัญญาละเอียด อ่อน โต้วาทะกันคนอื่นได้ สามารถนับขนทรายได้ สมณะเหล่านั้นเหมือนดั่งเที่ยว ทำลายทิฏฐิของผู้อื่นด้วยปัญญา พอได้ฟังข่าวว่า ‘ท่านผู้เจริญทั้งหลาย ได้ยินว่า พระสมณโคดมจักเสด็จมาถึงบ้านหรือนิคมชื่อโน้น’ สมณะเหล่านั้นก็พากันแต่ง ปัญหา ด้วยตั้งใจว่า ‘เราทั้งหลายจักพากันเข้าไปหาพระสมณโคดมแล้วถามปัญหานี้ ถ้าพระโคดมถูกเราทั้งหลายถามแล้วอย่างนี้ จักตรัสตอบอย่างนี้ เราทั้งหลาย จักโต้วาทะอย่างนี้กับพระสมณโคดม ถ้าแม้พระสมณโคดมถูกเราทั้งหลายถามแล้ว อย่างนี้ จักตรัสตอบอย่างนี้ เราทั้งหลายจักโต้วาทะอย่างนี้กับพระสมณโคดม’ สมณะเหล่านั้นได้ฟังข่าวว่า ‘ท่านผู้เจริญทั้งหลาย ได้ยินว่า พระสมณโคดม เสด็จมาถึงบ้านหรือนิคมโน้น’ แล้วก็พากันเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ พระผู้มีพระภาคทรงชี้แจงให้สมณะเหล่านั้นเห็นชัด ชวนใจให้อยากรับเอาไปปฏิบัติ เร้าใจให้อาจหาญแกล้วกล้า ปลอบชโลมใจให้สดชื่นร่าเริงด้วยธรรมีกถา สมณะ เหล่านั้นที่พระผู้มีพระภาคทรงชี้แจงให้เห็นชัด ชวนใจให้อยากรับเอาไปปฏิบัติ เร้าใจ ให้อาจหาญแกล้วกล้า ปลอบชโลมใจให้สดชื่นร่าเริง ด้วยธรรมีกถาก็ไม่ทูลถาม ปัญหากับพระผู้มีพระภาคอีก ที่ไหนจักโต้วาทะกับพระองค์ได้เล่า โดยที่แท้ก็ขอโอกาส เพื่อออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิตกับพระผู้มีพระภาค {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๓ หน้า : ๔๕๖}

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ [๔. ราชวรรค]

๙. ธัมมเจติยสูตร

พระผู้มีพระภาคก็ทรงให้พวกเขาบวช พวกเขาเมื่อบวชแล้วอย่างนี้ก็หลีกไปอยู่ ผู้เดียว ไม่ประมาท มีความเพียร อุทิศกายและใจอยู่ ไม่นานนักก็ทำให้แจ้งซึ่ง ประโยชน์ยอดเยี่ยมอันเป็นที่สุดแห่งพรหมจรรย์ ที่เหล่ากุลบุตรผู้ออกจากเรือนบวช เป็นบรรพชิตโดยชอบต้องการ ด้วยปัญญาอันยิ่งเองเข้าถึงอยู่ในปัจจุบัน พวกเขา พากันกล่าวอย่างนี้ว่า ‘เราทั้งหลายไม่พินาศละซิหนอ ท่านผู้เจริญ เราทั้งหลาย ไม่พินาศละซิหนอ ท่านผู้เจริญ ด้วยว่า เมื่อก่อนเราทั้งหลายไม่ได้เป็นสมณะเลย ก็ปฏิญญาว่า ‘เป็นสมณะ’ ไม่ได้เป็นพราหมณ์เลยก็ปฏิญญาว่า ‘เป็นพราหมณ์’ ไม่ได้เป็นพระอรหันต์เลยก็ปฏิญญาว่า ‘เป็นพระอรหันต์’ บัดนี้ เราทั้งหลายเป็น สมณะ เป็นพราหมณ์ เป็นพระอรหันต์’ ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ แม้ข้อนี้เองที่หม่อมฉันมีความเห็นคล้อยตามธรรม ในพระผู้มีพระภาคว่า ‘พระผู้มีพระภาคตรัสรู้ด้วยพระองค์เองโดยชอบ พระธรรม อันพระผู้มีพระภาคตรัสไว้ดีแล้ว พระสงฆ์สาวกของพระผู้มีพระภาคเป็นผู้ปฏิบัติดีแล้ว’ [๓๗๓] อีกประการหนึ่ง ช่างไม้ชื่ออิสิทันตะ และช่างไม้ชื่อปุราณะเหล่านี้ กินอยู่กับหม่อมฉัน ใช้ยวดยานของหม่อมฉัน หม่อมฉันให้เครื่องเลี้ยงชีพแก่เขา ตั้งยศให้เขา แต่ถึงกระนั้น พวกเขาจะทำความเคารพนบนอบในหม่อมฉันเหมือน ในพระผู้มีพระภาคก็หาไม่ เรื่องเคยมีมาแล้ว หม่อมฉันยกกองทัพออกไป เมื่อจะทดลองช่างไม้ชื่อ อิสิทันตะ และช่างไม้ชื่อปุราณะเหล่านี้ จึงเข้าพักในที่พักอันแคบแห่งหนึ่ง ครั้งนั้นแล ช่างไม้ชื่ออิสิทันตะและช่างไม้ชื่อปุราณะ เหล่านี้ใช้เวลาให้หมดไปด้วยการสนทนา ธรรมีกถาตลอดราตรีเป็นส่วนใหญ่ ได้ยินว่า พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ทางทิศใด พวกเขาก็หันศีรษะไปทางทิศนั้น นอนเหยียดเท้ามาทางหม่อมฉัน หม่อมฉันนั้นได้ ดำริว่า ‘ท่านผู้เจริญทั้งหลาย น่าอัศจรรย์จริง ไม่เคยปรากฏ ช่างไม้ชื่ออิสิทันตะ และช่างไม้ชื่อปุราณะเหล่านี้กินอยู่กับเรา ใช้ยวดยานของเรา เราให้เครื่องเลี้ยงชีพ แก่พวกเขา ตั้งยศให้พวกเขา แต่ถึงกระนั้น พวกเขาจะได้ทำความเคารพนบนอบ ในเรา เหมือนในพระผู้มีพระภาคก็หาไม่ ทั้ง ๒ คนนี้คงจะรู้คุณวิเศษยิ่งขึ้นไป กว่าเดิม ในศาสนาของพระผู้มีพระภาคพระองค์นั้นเป็นแน่’ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๓ หน้า : ๔๕๗}

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ [๔. ราชวรรค]

๙. ธัมมเจติยสูตร

ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ แม้ข้อนี้เองที่หม่อมฉันมีความเห็นคล้อยตามธรรม ในพระผู้มีพระภาคว่า ‘พระผู้มีพระภาคตรัสรู้ด้วยพระองค์เองโดยชอบ พระธรรม อันพระผู้มีพระภาคตรัสไว้ดีแล้ว พระสงฆ์สาวกของพระผู้มีพระภาค เป็นผู้ปฏิบัติดีแล้ว’
พระพุทธเจ้ากับพระเจ้าปเสนทิโกศลมีพระชนม์เท่ากัน
[๓๗๔] ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ อีกประการหนึ่ง พระผู้มีพระภาคทรงเป็น กษัตริย์ แม้หม่อมฉันก็เป็นกษัตริย์ พระผู้มีพระภาคทรงเป็นชาวโกศล แม้หม่อมฉัน ก็เป็นชาวโกศล พระผู้มีพระภาคทรงมีพระชนมายุ ๘๐ พรรษา แม้หม่อมฉันก็มี อายุ ๘๐ ปี แม้ด้วยการที่พระผู้มีพระภาคทรงเป็นกษัตริย์ แม้หม่อมฉันก็เป็น กษัตริย์ พระผู้มีพระภาคทรงเป็นชาวโกศล แม้หม่อมฉันก็เป็นชาวโกศล พระผู้มี พระภาคทรงมีพระชนมายุ ๘๐ พรรษา แม้หม่อมฉันก็มีอายุ ๘๐ ปีนี้ หม่อมฉัน จึงได้ทำความเคารพนบนอบเป็นอย่างยิ่งในพระผู้มีพระภาค และแสดงอาการฉันมิตร ถึงเพียงนี้ เอาเถิด บัดนี้ หม่อมฉันขอทูลลากลับ เพราะมีกิจ มีหน้าที่ที่จะต้องทำ อีกมาก พระพุทธเจ้าข้า” พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “มหาบพิตร ขอพระองค์จงกำหนดเวลาที่สมควร ณ บัดนี้เถิด” ลำดับนั้น พระเจ้าปเสนทิโกศลทรงลุกจากที่ประทับ ถวายอภิวาทพระผู้มี พระภาค ทรงกระทำประทักษิณแล้วเสด็จจากไป ครั้งนั้นแล เมื่อพระเจ้าปเสนทิโกศลเสด็จจากไปไม่นาน พระผู้มีพระภาครับสั่ง เรียกภิกษุทั้งหลายมาตรัสว่า “ภิกษุทั้งหลาย พระเจ้าปเสนทิโกศลพระองค์นี้ตรัส ธรรมเจดีย์๑- ทรงลุกจากที่ประทับแล้วเสด็จจากไป เธอทั้งหลายจงเรียนธรรมเจดีย์ @เชิงอรรถ : @ ธรรมเจดีย์ หมายถึงพระวาจาเคารพธรรม เพราะเมื่อกระทำความเคารพในรัตนะหนึ่ง ก็ย่อมเป็นอัน @กระทำความเคารพรัตนะทั้งสาม ฉะนั้น เมื่อกระทำความเคารพในพระผู้มีพระภาค ก็ย่อมเป็นอันกระทำ @ความเคารพพระธรรมและพระสงฆ์ด้วย (ม.ม.อ. ๒/๓๗๔/๒๕๗) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๓ หน้า : ๔๕๘}

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ [๔. ราชวรรค]

๑๐. กัณณกัตถลสูตร

จงศึกษา จงทรงจำธรรมเจดีย์นี้ไว้ ภิกษุทั้งหลาย ธรรมเจดีย์ประกอบด้วยประโยชน์ เป็นอาทิพรหมจรรย์๑-” พระผู้มีพระภาคได้ตรัสภาษิตนี้แล้ว ภิกษุเหล่านั้นมีใจยินดีต่างชื่นชมพระภาษิต ของพระผู้มีพระภาค ดังนี้แล
ธัมมเจติยสูตรที่ ๙ จบ
๑๐. กัณณกัตถลสูตร
ว่าด้วยเหตุการณ์ที่ตำบลกัณณกัตถละ
[๓๗๕] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้ สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ ตำบลกัณณกัตถละเป็นที่ให้อภัย หมู่เนื้อ ใกล้นครชื่ออุทัญญา สมัยนั้นแล พระเจ้าปเสนทิโกศลเสด็จไปยังอุทัญญานคร ด้วยพระราชกรณียกิจบางอย่าง ได้รับสั่งเรียกบุรุษคนหนึ่งมาตรัสว่า “มาเถิด พ่อยอดชาย เธอจงเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับแล้ว ถวายอภิวาทพระยุคลบาทของพระผู้มีพระภาคด้วยเศียรเกล้า จงทูลถามถึงพระสุขภาพ ความมีพระโรคาพาธน้อย กระปรี้กระเปร่า มีพระพลานามัยสมบูรณ์ อยู่สำราญ ตามคำของเราว่า ‘ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พระเจ้าปเสนทิโกศลขอถวายอภิวาท พระยุคลบาทของพระผู้มีพระภาคด้วยเศียรเกล้า ทูลถามถึงพระสุขภาพ ความมี พระโรคาพาธน้อย กระปรี้กระเปร่า มีพระพลานามัยสมบูรณ์ อยู่สำราญ’ และจง กราบทูลอย่างนี้ว่า ‘ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ได้ทราบว่า วันนี้พระเจ้าปเสนทิโกศล เสวยพระกระยาหารเช้าเสร็จแล้ว ภายหลังเวลาพระกระยาหาร จักเสด็จมาเฝ้า พระผู้มีพระภาค” @เชิงอรรถ : @ อาทิพรหมจรรย์ ในที่นี้หมายถึงธรรมอันเป็นเบื้องต้นแห่งมรรคพรหมจรรย์ ได้แก่ ข้อปฏิบัติเป็นเครื่อง @อบรมกาย วาจา ใจ ตามลำดับ (ม.ม.อ. ๒/๓๗๔/๒๕๗) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๓ หน้า : ๔๕๙}


                  เนื้อความพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาฯ เล่มที่ ๑๓ หน้าที่ ๔๔๙-๔๕๙. http://84000.org/tipitaka/english/m_siri.php?B=13&siri=39              ฟังเนื้อความพระไตรปิฎก : [1], [2], [3], [4].                   อ่านเทียบพระไตรปิฎกฉบับหลวง :- http://84000.org/tipitaka/english/v.php?B=13&A=8789&Z=8961                   ศึกษาอรรถกถานี้ได้ที่ :- http://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=13&i=559              พระไตรปิฏกฉบับภาษาบาลีอักษรไทย :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/pali_item_s.php?book=13&item=559&items=12              อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย :- http://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=9&A=6357              The Pali Tipitaka in Roman :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/roman_item_s.php?book=13&item=559&items=12              The Pali Atthakatha in Roman :- http://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=9&A=6357                   สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่ ๑๓ http://84000.org/tipitaka/read/?index_mcu13              อ่านเทียบฉบับแปลอังกฤษ Compare with English Translation :- http://84000.org/tipitaka/english/metta.lk/13i559-e1.php# https://suttacentral.net/mn89/en/sujato https://suttacentral.net/mn89/en/horner



บันทึก ๓๑ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๕๙ บันทึกล่าสุด ๒๒ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๖๐ การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจากพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย. หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :