ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ค้นพระไตรปิฎก ชาดก หนังสือธรรมะ
     ฉบับหลวง   ฉบับมหาจุฬาฯ   บาลีอักษรไทย   PaliRoman 
พระไตรปิฎกเล่มที่ ๑๔ พระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๖ [ฉบับมหาจุฬาฯ] มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์ [๕. สฬายตนวรรค]

๔. นันทโกวาทสูตร

๔. นันทโกวาทสูตร
ว่าด้วยการให้โอวาทของพระนันทกะ
[๓๙๘] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้ สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อารามของ อนาถบิณฑิกเศรษฐี เขตกรุงสาวัตถี ครั้งนั้นแล ภิกษุณีมหาปชาบดีโคตมี พร้อม ด้วยภิกษุณีประมาณ ๕๐๐ รูป เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวาย อภิวาทแล้ว ยืน ณ ที่สมควร ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ขอพระผู้มีพระภาคโปรดประทานพระโอวาทสั่งสอน ภิกษุณีทั้งหลาย โปรดแสดงธรรมีกถาแก่ภิกษุณีทั้งหลายเถิด” สมัยนั้นแล ภิกษุผู้เถระทั้งหลาย ย่อมโอวาทภิกษุณีทั้งหลายโดยเวียนกันไป แต่ท่านพระนันทกะ ไม่ปรารถนาจะโอวาทภิกษุณีทั้งหลายโดยเวียนกันไป ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาครับสั่งเรียกท่านพระอานนท์มาตรัสถามว่า “อานนท์ วันนี้ วาระ ให้โอวาทภิกษุณีเวียนมาถึงใครหนอ” ท่านพระอานนท์กราบทูลว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ วาระให้โอวาทภิกษุณี ทั้งหลาย ภิกษุทุกรูปกระทำแล้วโดยเวียนกันไป แต่ท่านพระนันทกะรูปนี้ ไม่ ปรารถนาจะให้โอวาทภิกษุณีทั้งหลายโดยเวียนกันไป” ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาครับสั่งเรียกท่านพระนันทกะมาตรัสว่า “นันทกะ เธอจงโอวาทสั่งสอนภิกษุณีทั้งหลาย พราหมณ์ เธอจงแสดงธรรมีกถาแก่ภิกษุณี ทั้งหลายเถิด” ท่านพระนันทกะทูลรับสนองพระดำรัสแล้ว ในเวลาเช้าจึงครองอันตรวาสก ถือบาตรและจีวร เข้าไปบิณฑบาตยังกรุงสาวัตถี เที่ยวบิณฑบาตในกรุงสาวัตถีแล้ว กลับจากบิณฑบาต ภายหลังฉันภัตตาหารเสร็จแล้ว ผู้เดียวเข้าไปยังราชการาม๑- ภิกษุณีเหล่านั้นเห็นท่านพระนันทกะเดินมาแต่ไกล จึงช่วยกันปูลาดอาสนะและตั้ง @เชิงอรรถ : @ ราชการาม หมายถึงวิหารที่พระเจ้าปเสนทิโกศลทรงให้ก่อสร้างไว้เหมือนกับถูปาราม ในด้านทิศใต้แห่ง @พระนคร (ม.อุ.อ. ๓/๓๙๘/๒๔๗) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๔ หน้า : ๔๕๒}

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์ [๕. สฬายตนวรรค]

๔. นันทโกวาทสูตร

น้ำล้างเท้าไว้ ท่านพระนันทกะนั่งบนอาสนะที่ปูลาดไว้แล้ว ล้างเท้า แม้ภิกษุณี เหล่านั้นก็พากันกราบท่านพระนันทกะแล้วนั่ง ณ ที่สมควร ท่านพระนันทกะได้กล่าวกับภิกษุณีเหล่านั้นว่า “น้องหญิงทั้งหลาย การถาม ตอบกันจักมีขึ้น ในการถามตอบกันนั้น น้องหญิงทั้งหลายเมื่อรู้ พึงตอบว่า ‘ดิฉันทั้งหลายรู้’ เมื่อไม่รู้พึงตอบว่า ‘ดิฉันทั้งหลายไม่รู้’ หรือน้องหญิงรูปใดมี ความเคลือบแคลง หรือความสงสัย น้องหญิงรูปนั้นพึงถามอาตมภาพในเรื่องนั้น ว่า ‘ข้าแต่ท่านผู้เจริญ เรื่องนี้เป็นอย่างไร เรื่องนี้มีเนื้อความอย่างไร” ภิกษุณีเหล่านั้นกล่าวว่า “ข้าแต่ท่านผู้เจริญ ดิฉันทั้งหลายมีใจยินดีชื่นชม พระคุณเจ้านันทกะ ด้วยเหตุที่พระคุณเจ้านันทกะปวารณาแก่ดิฉันทั้งหลายเช่นนี้” [๓๙๙] ท่านพระนันทกะถามว่า “น้องหญิงทั้งหลาย ท่านทั้งหลายเข้าใจ ความข้อนั้นว่าอย่างไร คือ จักขุเที่ยงหรือไม่เที่ยง” ภิกษุณีเหล่านั้นตอบว่า “ไม่เที่ยง เจ้าข้า” “ก็สิ่งใดไม่เที่ยง สิ่งนั้นเป็นทุกข์หรือเป็นสุข” “เป็นทุกข์ เจ้าข้า” “ก็สิ่งใดไม่เที่ยง เป็นทุกข์ มีความแปรผันเป็นธรรมดา ควรหรือที่จะ พิจารณาเห็นสิ่งนั้นว่า ‘นั่นของเรา เราเป็นนั่น นั่นเป็นอัตตาของเรา” “ข้อนั้นไม่ควรเลย เจ้าข้า”๑- “ท่านทั้งหลายเข้าใจความข้อนั้นว่าอย่างไร คือ โสตะเที่ยงหรือไม่เที่ยง” “ไม่เที่ยง เจ้าข้า” ฯลฯ “ฆานะเที่ยงหรือไม่เที่ยง” “ไม่เที่ยง เจ้าข้า” ฯลฯ “ชิวหาเที่ยงหรือไม่เที่ยง” “ไม่เที่ยง เจ้าข้า” ฯลฯ @เชิงอรรถ : @ ดูเทียบ สํ.สฬา (แปล) ๑๘/๓๒/๓๕ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๔ หน้า : ๔๕๓}

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์ [๕. สฬายตนวรรค]

๔. นันทโกวาทสูตร

“กายเที่ยงหรือไม่เที่ยง” “ไม่เที่ยง เจ้าข้า” ฯลฯ “มโนเที่ยงหรือไม่เที่ยง” “ไม่เที่ยง เจ้าข้า” ฯลฯ “ก็สิ่งใดไม่เที่ยง สิ่งนั้นเป็นทุกข์หรือเป็นสุข” “เป็นทุกข์ เจ้าข้า” “ก็สิ่งใดไม่เที่ยง เป็นทุกข์ มีความแปรผันเป็นธรรมดา ควรหรือที่จะ พิจารณาเห็นสิ่งนั้นว่า ‘นั่นของเรา เราเป็นนั่น นั่นเป็นอัตตาของเรา” “ข้อนั้นไม่ควรเลย เจ้าข้า” “ข้อนั้นเพราะเหตุไร” “เพราะก่อนนี้ ดิฉันทั้งหลายได้เห็นดีแล้วตามความเป็นจริงด้วยปัญญาอัน ชอบ๑- ว่า ‘อายตนะภายใน ๖ ของเรา ไม่เที่ยง แม้เพราะเหตุนี้’ เจ้าข้า” ท่านพระนันทกะกล่าวว่า “ดีละ ดีละ น้องหญิงทั้งหลาย พระอริยสาวกผู้เห็น ตามความเป็นจริงด้วยปัญญาอันชอบ ย่อมมีความเห็นเรื่องนี้อย่างนี้” [๔๐๐] “น้องหญิงทั้งหลาย ท่านทั้งหลายเข้าใจความข้อนั้นว่าอย่างไร คือ รูปเที่ยงหรือไม่เที่ยง” “ไม่เที่ยง เจ้าข้า” “ก็สิ่งใดไม่เที่ยง สิ่งนั้นเป็นทุกข์หรือเป็นสุข” “เป็นทุกข์ เจ้าข้า” “ก็สิ่งใดไม่เที่ยง เป็นทุกข์ มีความแปรผันเป็นธรรมดา ควรหรือที่จะ พิจารณาเห็นสิ่งนั้นว่า ‘นั่นของเรา เราเป็นนั่น นั่นเป็นอัตตาของเรา” “ข้อนั้นไม่ควรเลย เจ้าข้า” @เชิงอรรถ : @ ด้วยปัญญาอันชอบ หมายถึงเห็นตามเหตุ ตามการณ์ ด้วยวิปัสสนาปัญญา ตามความเป็นจริง @(ม.อุ.อ. ๓/๓๙๙/๒๔๗) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๔ หน้า : ๔๕๔}

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์ [๕. สฬายตนวรรค]

๔. นันทโกวาทสูตร

“น้องหญิงทั้งหลาย ท่านทั้งหลายเข้าใจความข้อนั้นว่าอย่างไร คือ เสียง เที่ยงหรือไม่เที่ยง” “ไม่เที่ยง เจ้าข้า” ฯลฯ “กลิ่นเที่ยงหรือไม่เที่ยง” “ไม่เที่ยง เจ้าข้า” ฯลฯ “รสเที่ยงหรือไม่เที่ยง” “ไม่เที่ยง เจ้าข้า” ฯลฯ “โผฏฐัพพะเที่ยงหรือไม่เที่ยง” “ไม่เที่ยง เจ้าข้า” ฯลฯ “ธรรมารมณ์เที่ยงหรือไม่เที่ยง” “ไม่เที่ยง เจ้าข้า” ฯลฯ “ก็สิ่งใดไม่เที่ยง สิ่งนั้นเป็นทุกข์หรือเป็นสุข” “เป็นทุกข์ เจ้าข้า” ฯลฯ “ก็สิ่งใดไม่เที่ยง เป็นทุกข์ มีความแปรผันเป็นธรรมดา ควรหรือที่จะ พิจารณาเห็นสิ่งนั้นว่า ‘นั่นของเรา เราเป็นนั่น นั่นเป็นอัตตาของเรา” “ข้อนั้นไม่ควรเลย เจ้าข้า” “ข้อนั้นเพราะเหตุไร” “เพราะก่อนนี้ ดิฉันทั้งหลายได้เห็นดีแล้วตามความเป็นจริงด้วยปัญญาอัน ชอบว่า ‘อายตนะภายนอก ๖ ของเรา ไม่เที่ยง แม้เพราะเหตุนี้’ เจ้าข้า” ท่านพระนันทกะกล่าวว่า “ดีละ ดีละ น้องหญิงทั้งหลาย พระอริยสาวกผู้เห็น ตามความเป็นจริงด้วยปัญญาอันชอบ ย่อมมีความเห็นเรื่องนี้อย่างนี้แล” [๔๐๑] “น้องหญิงทั้งหลาย ท่านทั้งหลายเข้าใจความข้อนั้นว่าอย่างไร คือ จักขุวิญญาณเที่ยงหรือไม่เที่ยง” “ไม่เที่ยง เจ้าข้า” {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๔ หน้า : ๔๕๕}

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์ [๕. สฬายตนวรรค]

๔. นันทโกวาทสูตร

“ก็สิ่งใดไม่เที่ยง สิ่งนั้นเป็นทุกข์หรือเป็นสุข” “เป็นทุกข์ เจ้าข้า” “ก็สิ่งใดไม่เที่ยง เป็นทุกข์ มีความแปรผันเป็นธรรมดา ควรหรือที่จะ พิจารณาเห็นสิ่งนั้นว่า ‘นั่นของเรา เราเป็นนั่น นั่นเป็นอัตตาของเรา” “ข้อนั้นไม่ควรเลย เจ้าข้า” “น้องหญิงทั้งหลาย ท่านทั้งหลายเข้าใจความข้อนั้นว่าอย่างไร คือ โสตวิญญาณเที่ยงหรือไม่เที่ยง” “ไม่เที่ยง เจ้าข้า” ฯลฯ “ฆานวิญญาณเที่ยงหรือไม่เที่ยง” “ไม่เที่ยง เจ้าข้า” ฯลฯ “ชิวหาวิญญาณเที่ยงหรือไม่เที่ยง” “ไม่เที่ยง เจ้าข้า” ฯลฯ “กายวิญญาณเที่ยงหรือไม่เที่ยง” “ไม่เที่ยง เจ้าข้า” ฯลฯ “มโนวิญญาณเที่ยงหรือไม่เที่ยง” “ไม่เที่ยง เจ้าข้า” “ก็สิ่งใดไม่เที่ยง สิ่งนั้นเป็นทุกข์หรือเป็นสุข” “เป็นทุกข์ เจ้าข้า” “ก็สิ่งใดไม่เที่ยง เป็นทุกข์ มีความแปรผันเป็นธรรมดา ควรหรือที่จะ พิจารณาเห็นสิ่งนั้นว่า ‘นั่นของเรา เราเป็นนั่น นั่นเป็นอัตตาของเรา” “ข้อนั้นไม่ควรเลย เจ้าข้า” “ข้อนั้นเพราะเหตุไร” “เพราะก่อนนี้ ดิฉันทั้งหลายได้เห็นดีแล้วตามความเป็นจริงด้วยปัญญาอัน ชอบว่า ‘หมวดวิญญาณ ๖ ของเรา ไม่เที่ยง แม้เพราะเหตุนี้’ เจ้าข้า” {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๔ หน้า : ๔๕๖}

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์ [๕. สฬายตนวรรค]

๔. นันทโกวาทสูตร

“ดีละ ดีละ น้องหญิงทั้งหลาย พระอริยสาวกผู้เห็นตามความเป็นจริงด้วย ปัญญาอันชอบ ย่อมมีความเห็นเรื่องนี้อย่างนี้แล [๔๐๒] น้องหญิงทั้งหลาย เปรียบเหมือนเมื่อประทีปน้ำมันถูกจุดไว้ น้ำมันก็ดี ไส้ก็ดี เปลวไฟก็ดี แสงสว่างก็ดี ล้วนไม่เที่ยง มีความแปรผันเป็นธรรมดา ผู้ใด พึงกล่าวอย่างนี้ว่า ‘เมื่อประทีปน้ำมันโน้นถูกจุดไว้ น้ำมันก็ดี ไส้ก็ดี เปลวไฟก็ดี ล้วนไม่เที่ยง มีความแปรผันเป็นธรรมดา แต่ว่าแสงสว่างของประทีปน้ำมันนั้น เที่ยง ยั่งยืน เป็นไปติดต่อ มีความไม่แปรผันเป็นธรรมดา’ ผู้ที่กล่าวนั้นชื่อว่าพึงกล่าว ชอบหรือไม่” “ไม่ชอบ เจ้าข้า” “ข้อนั้นเพราะเหตุไร” “เพราะเมื่อประทีปน้ำมันโน้นถูกจุดไว้ น้ำมันก็ดี ไส้ก็ดี เปลวไฟก็ดี ล้วน ไม่เที่ยง มีความแปรผันเป็นธรรมดา ไม่จำเป็นต้องพูดถึงแสงสว่างของประทีปน้ำ มันนั้นซึ่งไม่เที่ยง มีความแปรผันเป็นธรรมดาเลย เจ้าข้า” “ฉันนั้นเหมือนกัน น้องหญิงทั้งหลาย บุคคลใดพึงกล่าวอย่างนี้ว่า ‘อายตนะ ภายใน ๖ ของเรานี้ ไม่เที่ยง แต่เราอาศัยอายตนะภายใน ๖ แล้ว ย่อมเสวย เวทนาใด เป็นสุขก็ตาม เป็นทุกข์ก็ตาม เป็นอทุกขมสุขก็ตาม เวทนานั้น เที่ยง ยั่งยืน เป็นไปติดต่อ มีความไม่แปรผันเป็นธรรมดา’ ผู้ที่กล่าวนั้นชื่อว่าพึงกล่าว ชอบหรือไม่” “ไม่ชอบ เจ้าข้า” “ข้อนั้นเพราะเหตุไร” “เพราะอาศัยปัจจัยที่เกิดจากอายตนะภายในนั้นๆ เวทนาที่เกิดจากอายตนะ ภายในนั้นๆ จึงเกิดขึ้น เพราะปัจจัยที่เกิดจากอายตนะภายในนั้นๆ ดับ เวทนา ที่เกิดจากอายตนะภายในนั้นๆ จึงดับ” “ดีละ ดีละ น้องหญิงทั้งหลาย พระอริยสาวกผู้เห็นตามความเป็นจริงด้วย ปัญญาอันชอบ ย่อมมีความเห็นเรื่องนี้อย่างนี้แล {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๔ หน้า : ๔๕๗}

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์ [๕. สฬายตนวรรค]

๔. นันทโกวาทสูตร

[๔๐๓] น้องหญิงทั้งหลาย เปรียบเหมือนต้นไม้ใหญ่ประเภทยืนต้นมีแก่น มีราก ลำต้น กิ่งและใบ และเงา ล้วนไม่เที่ยง มีความแปรผันเป็นธรรมดา ผู้ใด พึงกล่าวอย่างนี้ว่า ‘ต้นไม้ใหญ่ประเภทยืนต้นมีแก่น มีราก ลำต้น กิ่งและใบ และเงา ล้วนไม่เที่ยง มีความแปรผันเป็นธรรมดา แต่ว่าเงาของต้นไม้นั้นเที่ยง ยั่งยืน เป็นไปติดต่อ ไม่มีความแปรผันเป็นธรรมดา’ ผู้ที่กล่าวนั้นชื่อว่าพึงกล่าว ชอบหรือไม่” “ไม่ชอบ เจ้าข้า” “ข้อนั้นเพราะเหตุไร” “เพราะต้นไม้ใหญ่ประเภทยืนต้นมีแก่น มีราก ลำต้น กิ่งและใบล้วนไม่เที่ยง มีความแปรผันเป็นธรรมดา ไม่จำเป็นต้องพูดถึงเงาของต้นไม้นั้นซึ่งไม่เที่ยง มี ความแปรผันเป็นธรรมดาเลย เจ้าข้า” “ฉันนั้นเหมือนกัน น้องหญิงทั้งหลาย บุคคลใดพึงกล่าวอย่างนี้ว่า ‘อายตนะ ภายนอก ๖ ของเรา ไม่เที่ยง แต่เราอาศัยอายตนะภายนอก ๖ แล้ว ย่อม เสวยเวทนาใด เป็นสุขก็ตาม เป็นทุกข์ก็ตาม เป็นอทุกขมสุขก็ตาม เวทนานั้นเที่ยง ยั่งยืน เป็นไปติดต่อ มีความไม่แปรผันเป็นธรรมดา’ ผู้ที่กล่าวนั้นชื่อว่าพึงกล่าว ชอบหรือไม่” “ไม่ชอบ เจ้าข้า” “ข้อนั้นเพราะเหตุไร” “เพราะอาศัยปัจจัยที่เกิดจากอายตนะภายนอกนั้นๆ เวทนาที่เกิดจาก อายตนะภายนอกนั้นๆ จึงเกิดขึ้น เพราะปัจจัยที่เกิดจากอายตนะภายนอกนั้นๆ ดับ เวทนาที่เกิดจากอายตนะภายนอกนั้นๆ จึงดับ เจ้าข้า” “ดีละ ดีละ น้องหญิงทั้งหลาย พระอริยสาวกผู้เห็นตามความเป็นจริงด้วย ปัญญาอันชอบ ย่อมมีความเห็นเรื่องนี้อย่างนี้แล [๔๐๔] น้องหญิงทั้งหลาย เปรียบเหมือนคนฆ่าโคหรือลูกมือคนฆ่าโค ผู้ชำนาญ ฆ่าแม่โคแล้ว ใช้มีดแล่เนื้อที่คมชำแหละแม่โค แยกส่วนเนื้อไว้ข้างใน แยกส่วนหนังไว้ข้างนอก ในส่วนเนื้อนั้น ส่วนใดๆ เป็นเนื้อสัน เส้นเอ็นใหญ่ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๔ หน้า : ๔๕๘}

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์ [๕. สฬายตนวรรค]

๔. นันทโกวาทสูตร

เส้นเอ็นเล็กในภายใน ก็ใช้มีดแล่เนื้อที่คมตัดชำแหละเฉือนส่วนนั้นๆ แล้วเลาะ ส่วนหนังไว้ข้างนอก ใช้หนังนั้นนั่นแหละคลุมแม่โคนั้นไว้ แล้วพึงกล่าวอย่างนี้ว่า ‘แม่โคตัวนี้เราประกอบไว้ด้วยหนังผืนนี้เท่านั้น’ คนฆ่าโคหรือลูกมือคนฆ่าโคนั้น เมื่อกล่าว ชื่อว่าพึงกล่าวชอบหรือไม่ “ไม่ชอบ เจ้าข้า” “ข้อนั้นเพราะเหตุไร” “เพราะคนฆ่าโคหรือลูกมือคนฆ่าโคผู้ชำนาญโน้น ฆ่าแม่โคแล้ว ใช้มีดแล่ เนื้อที่คมชำแหละแม่โค แยกส่วนเนื้อไว้ข้างใน แยกส่วนหนังไว้ข้างนอก ในส่วน เนื้อนั้น ส่วนใดๆ เป็นเนื้อสัน เส้นเอ็นใหญ่ เส้นเอ็นเล็กในภายใน ก็ใช้มีดแล่ เนื้อที่คมตัดชำแหละเฉือนส่วนนั้นๆ แล้วเลาะส่วนหนังไว้ข้างนอก ใช้หนังนั้น นั่นแหละคลุมแม่โคนั้นไว้ พึงกล่าวอย่างนี้ว่า ‘แม่โคตัวนี้เราประกอบไว้ด้วยหนัง ผืนนี้เท่านั้น’ แม้ก็จริง ถึงอย่างนั้น แม่โคนั้นก็แยกกันแล้วจากหนังผืนนั้นนั่นเอง เจ้าข้า” “น้องหญิงทั้งหลาย อาตมภาพทำอุปมานี้เพื่อให้เข้าใจเนื้อความชัดเจนขึ้น เนื้อความในอุปมานั้นดังต่อไปนี้ คำว่า ส่วนเนื้อข้างใน นั้น เป็นชื่อของอายตนะภายใน ๖ คำว่า ส่วนหนังข้างนอก นั้น เป็นชื่อของอายตนะภายนอก ๖ คำว่า เนื้อสัน เส้นเอ็นใหญ่ เส้นเอ็นเล็ก นั้น เป็นชื่อของนันทิราคะ คำว่า มีดแล่เนื้อที่คม นั้น เป็นชื่อของอริยปัญญาที่ตัด ชำแหละ เฉือน กิเลสในภายใน สังโยชน์ในภายใน และเครื่องผูกในภายใน
โพชฌงค์ ๗ ประการ
[๔๐๕] น้องหญิงทั้งหลาย เพราะโพชฌงค์ ๗ ประการนี้ที่ภิกษุเจริญ ทำให้มากแล้ว เพราะอาสวะทั้งหลายสิ้นไป ภิกษุจึงทำให้แจ้งเจโตวิมุตติ ปัญญา วิมุตติ อันหาอาสวะมิได้ ด้วยปัญญาอันยิ่งเองเข้าถึงอยู่ในปัจจุบัน {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๔ หน้า : ๔๕๙}

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์ [๕. สฬายตนวรรค]

๔. นันทโกวาทสูตร

โพชฌงค์ ๗ ประการ อะไรบ้าง คือ ภิกษุในพระธรรมวินัยนี้ ๑. ย่อมเจริญสติสัมโพชฌงค์อันอาศัยวิเวก(ความสงัด) อาศัยวิราคะ (ความคลายกำหนัด) อาศัยนิโรธ(ความดับ) น้อมไปใน โวสสัคคะ(ความสละคืน) ๒. ย่อมเจริญธัมมวิจยสัมโพชฌงค์ ... ๓. ย่อมเจริญวิริยสัมโพชฌงค์ ... ๔. ย่อมเจริญปีติสัมโพชฌงค์ ... ๕. ย่อมเจริญปัสสัทธิสัมโพชฌงค์ ... ๖. ย่อมเจริญสมาธิสัมโพชฌงค์ ... ๗. ย่อมเจริญอุเบกขาสัมโพชฌงค์อันอาศัยวิเวก อาศัยวิราคะ อาศัย นิโรธ น้อมไปในโวสสัคคะ๑- เพราะโพชฌงค์ ๗ ประการนี้แล ที่ภิกษุเจริญ ทำให้มากแล้ว เพราะ อาสวะทั้งหลายสิ้นไป ภิกษุจึงทำให้แจ้งเจโตวิมุตติ ปัญญาวิมุตติ อันหาอาสวะมิได้ ด้วยปัญญาอันยิ่งเองเข้าถึงอยู่ในปัจจุบัน” [๔๐๖] ครั้งนั้น ท่านพระนันทกะกล่าวสอนภิกษุณีเหล่านั้นด้วยโอวาทนี้แล้ว จึงส่งไปด้วยคำว่า “น้องหญิงทั้งหลาย ท่านทั้งหลายจงไปเถิด สมควรแก่เวลาแล้ว” ลำดับนั้น ภิกษุณีเหล่านั้น ชื่นชมยินดีภาษิตของท่านพระนันทกะ แล้วลุก ขึ้นจากอาสนะ กราบท่านพระนันทกะ กระทำประทักษิณ แล้วเข้าไปเฝ้าพระผู้มี พระภาคถึงที่ประทับ ถวายอภิวาทแล้ว ยืน ณ ที่สมควร พระผู้มีพระภาคได้ ตรัสกับภิกษุณีเหล่านั้นดังนี้ว่า “ภิกษุณีทั้งหลาย เธอทั้งหลายจงไปเถิด สมควร แก่เวลาแล้ว” ครั้งนั้น ภิกษุณีเหล่านั้น ได้ถวายอภิวาทพระผู้มีพระภาค กระทำประทักษิณ แล้วจากไป @เชิงอรรถ : @ ดูเทียบ สํ.ม. (แปล) ๑๙/๑๘๒/๑๐๙-๑๑๐ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๔ หน้า : ๔๖๐}

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์ [๕. สฬายตนวรรค]

๔. นันทโกวาทสูตร

เมื่อภิกษุณีเหล่านั้นจากไปแล้วไม่นาน พระผู้มีพระภาครับสั่งเรียกภิกษุ ทั้งหลายมาตรัสว่า “ภิกษุทั้งหลาย ในวันอุโบสถ ๑๔ ค่ำนั้น ชนเป็นอันมากไม่ มีความเคลือบแคลงหรือความสงสัยเลยว่า ‘ดวงจันทร์ไม่เต็มดวงหรือเต็มดวงหนอ’ แต่ที่แท้ ดวงจันทร์ก็ยังไม่เต็มดวงนั่นเอง แม้ฉันใด ภิกษุณีเหล่านั้น ก็ฉันนั้น เหมือนกัน ย่อมเป็นผู้มีใจยินดีต่อธรรมเทศนาของนันทกะ ทั้งที่ยังมีความดำริไม่ บริบูรณ์” [๔๐๗] ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาครับสั่งเรียกท่านพระนันทกะมาตรัสว่า “นันทกะ ถ้าเช่นนั้น วันพรุ่งนี้ เธอพึงโอวาทภิกษุณีเหล่านั้นด้วยโอวาทนั้น นั่นแหละ” ท่านพระนันทกะทูลรับสนองพระดำรัสแล้ว เมื่อล่วงราตรีนั้นไป ครั้นเวลาเช้า ท่านพระนันทกะครองอันตรวาสก ถือบาตรและจีวร เข้าไปบิณฑบาตยังกรุงสาวัตถี เที่ยวบิณฑบาตในกรุงสาวัตถีแล้ว กลับจากบิณฑบาต ภายหลังฉันภัตตาหารเสร็จแล้ว ผู้เดียวเข้าไปยังราชการาม ภิกษุณีเหล่านั้นเห็นท่านพระนันทกะเดินมาแต่ไกล จึงช่วยกันปูลาดอาสนะและตั้ง น้ำล้างเท้าไว้ ท่านพระนันทกะนั่งบนอาสนะที่ปูลาดไว้ แล้วล้างเท้า แม้ภิกษุณี เหล่านั้นกราบท่านพระนันทกะแล้วนั่ง ณ ที่สมควร ท่านพระนันทกะได้กล่าวกับ ภิกษุณีเหล่านั้นว่า “น้องหญิงทั้งหลาย การถามตอบกันจักมีขึ้น ในการถามตอบกันนั้น น้อง หญิงทั้งหลายเมื่อรู้ พึงตอบว่า ‘ดิฉันทั้งหลายรู้’ เมื่อไม่รู้พึงตอบว่า ‘ดิฉัน ทั้งหลายไม่รู้’ หรือน้องหญิงรูปใดมีความเคลือบแคลง หรือความสงสัย น้องหญิง รูปนั้นพึงถามอาตมภาพในเรื่องนั้นว่า ‘ข้าแต่ท่านผู้เจริญ เรื่องนี้เป็นอย่างไร เรื่องนี้มีเนื้อความอย่างไร” ภิกษุณีเหล่านั้นกล่าวว่า “ข้าแต่ท่านผู้เจริญ ดิฉันทั้งหลายมีใจยินดีชื่นชม พระคุณเจ้านันทกะ ด้วยเหตุที่พระคุณเจ้านันทกะปวารณาแก่ดิฉันทั้งหลายเช่นนี้” [๔๐๘] “น้องหญิงทั้งหลาย ท่านทั้งหลายเข้าใจความข้อนั้นว่าอย่างไร คือ จักขุเที่ยงหรือไม่เที่ยง” “ไม่เที่ยง เจ้าข้า” {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๔ หน้า : ๔๖๑}

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์ [๕. สฬายตนวรรค]

๔. นันทโกวาทสูตร

“ก็สิ่งใดไม่เที่ยง สิ่งนั้นเป็นทุกข์หรือเป็นสุข” “เป็นทุกข์ เจ้าข้า” “ก็สิ่งใดไม่เที่ยง เป็นทุกข์ มีความแปรผันเป็นธรรมดา ควรหรือที่จะ พิจารณาเห็นสิ่งนั้นว่า ‘นั่นของเรา เราเป็นนั่น นั่นเป็นอัตตาของเรา” “ข้อนั้นไม่ควรเลย เจ้าข้า” “ท่านทั้งหลายเข้าใจความข้อนั้นว่าอย่างไร คือ โสตะเที่ยงหรือไม่เที่ยง” “ไม่เที่ยง เจ้าข้า” ฯลฯ “ฆานะเที่ยงหรือไม่เที่ยง” “ไม่เที่ยง เจ้าข้า” ฯลฯ “ชิวหาเที่ยงหรือไม่เที่ยง” “ไม่เที่ยง เจ้าข้า” ฯลฯ “กายเที่ยงหรือไม่เที่ยง” “ไม่เที่ยง เจ้าข้า” ฯลฯ “มโนเที่ยงหรือไม่เที่ยง” “ไม่เที่ยง เจ้าข้า” ฯลฯ “ก็สิ่งใดไม่เที่ยง สิ่งนั้นเป็นทุกข์หรือเป็นสุข” “เป็นทุกข์ เจ้าข้า” “ก็สิ่งใดไม่เที่ยง เป็นทุกข์ มีความแปรผันเป็นธรรมดา ควรหรือที่จะ พิจารณาเห็นสิ่งนั้นว่า ‘นั่นของเรา เราเป็นนั่น นั่นเป็นอัตตาของเรา” “ข้อนั้นไม่ควรเลย เจ้าข้า” “ข้อนั้นเพราะเหตุไร” “เพราะก่อนนี้ ดิฉันทั้งหลายได้เห็นดีแล้วตามความเป็นจริงด้วยปัญญาอัน ชอบว่า ‘อายตนะภายใน ๖ ของเรา ไม่เที่ยง แม้เพราะเหตุนี้’ เจ้าข้า” “ดีละ ดีละ น้องหญิงทั้งหลาย พระอริยสาวกผู้เห็นตามความเป็นจริงด้วย ปัญญาอันชอบ ย่อมมีความเห็นเรื่องนี้อย่างนี้ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๔ หน้า : ๔๖๒}

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์ [๕. สฬายตนวรรค]

๔. นันทโกวาทสูตร

[๔๐๙] น้องหญิงทั้งหลาย ท่านทั้งหลายเข้าใจความข้อนั้นว่าอย่างไร คือ รูปเที่ยงหรือไม่เที่ยง” “ไม่เที่ยง เจ้าข้า” “ก็สิ่งใดไม่เที่ยง สิ่งนั้นเป็นทุกข์หรือเป็นสุข” “เป็นทุกข์ เจ้าข้า” “ก็สิ่งใดไม่เที่ยง เป็นทุกข์ มีความแปรผันเป็นธรรมดา ควรหรือที่จะ พิจารณาเห็นสิ่งนั้นว่า ‘นั่นของเรา เราเป็นนั่น นั่นเป็นอัตตาของเรา” “ข้อนั้นไม่ควรเลย เจ้าข้า” “น้องหญิงทั้งหลาย ท่านทั้งหลายเข้าใจความข้อนั้นว่าอย่างไร คือ เสียงเที่ยงหรือไม่เที่ยง” “ไม่เที่ยง เจ้าข้า” ฯลฯ “กลิ่นเที่ยงหรือไม่เที่ยง” “ไม่เที่ยง เจ้าข้า” ฯลฯ “รสเที่ยงหรือไม่เที่ยง” “ไม่เที่ยง เจ้าข้า” ฯลฯ “โผฏฐัพพะเที่ยงหรือไม่เที่ยง” “ไม่เที่ยง เจ้าข้า” ฯลฯ “ธรรมารมณ์เที่ยงหรือไม่เที่ยง” “ไม่เที่ยง เจ้าข้า” “ก็สิ่งใดไม่เที่ยง สิ่งนั้นเป็นทุกข์หรือเป็นสุข” “เป็นทุกข์ เจ้าข้า” “ก็สิ่งใดไม่เที่ยง เป็นทุกข์ มีความแปรผันเป็นธรรมดา ควรหรือที่จะ พิจารณาเห็นสิ่งนั้นว่า ‘นั่นของเรา เราเป็นนั่น นั่นเป็นอัตตาของเรา” “ข้อนั้นไม่ควรเลย เจ้าข้า” {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๔ หน้า : ๔๖๓}

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์ [๕. สฬายตนวรรค]

๔. นันทโกวาทสูตร

“ข้อนั้นเพราะเหตุไร” “เพราะก่อนนี้ ดิฉันทั้งหลายได้เห็นดีแล้วตามความเป็นจริงด้วยปัญญาอัน ชอบว่า ‘อายตนะภายนอก ๖ ของเรา ไม่เที่ยง แม้เพราะเหตุนี้’ เจ้าข้า” “ดีละ ดีละ น้องหญิงทั้งหลายพระอริยสาวกผู้เห็นตามความเป็นจริงด้วย ปัญญาอันชอบ ย่อมมีความเห็นเรื่องนี้อย่างนี้แล [๔๑๐] น้องหญิงทั้งหลาย ท่านทั้งหลายเข้าใจความข้อนั้นว่าอย่างไร คือ จักขุวิญญาณเที่ยงหรือไม่เที่ยง” “ไม่เที่ยง เจ้าข้า” “ก็สิ่งใดไม่เที่ยง สิ่งนั้นเป็นทุกข์หรือเป็นสุข” “เป็นทุกข์ เจ้าข้า” “ก็สิ่งใดไม่เที่ยง เป็นทุกข์ มีความแปรผันเป็นธรรมดา ควรหรือที่จะ พิจารณาเห็นสิ่งนั้นว่า ‘นั่นของเรา เราเป็นนั่น นั่นเป็นอัตตาของเรา” “ข้อนั้นไม่ควรเลย เจ้าข้า” “ข้อนั้นเพราะเหตุไร” “เพราะก่อนนี้ ดิฉันทั้งหลายได้เห็นตามความเป็นจริงด้วยปัญญาอันชอบว่า ‘หมวดวิญญาณ ๖ ของเรา ไม่เที่ยง แม้เพราะเหตุนี้’ เจ้าข้า” “ดีละ ดีละ น้องหญิงทั้งหลาย พระอริยสาวกผู้เห็นตามความเป็นจริงด้วย ปัญญาอันชอบ ย่อมมีความเห็นเรื่องนี้อย่างนี้แล น้องหญิงทั้งหลาย ท่านทั้งหลายเข้าใจความข้อนั้นว่าอย่างไร คือ โสตวิญญาณเที่ยงหรือไม่เที่ยง” “ไม่เที่ยง เจ้าข้า” ฯลฯ “ฆานวิญญาณเที่ยงหรือไม่เที่ยง” “ไม่เที่ยง เจ้าข้า” ฯลฯ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๔ หน้า : ๔๖๔}

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์ [๕. สฬายตนวรรค]

๔. นันทโกวาทสูตร

“ชิวหาวิญญาณเที่ยงหรือไม่เที่ยง” “ไม่เที่ยง เจ้าข้า” ฯลฯ “กายวิญญาณเที่ยงหรือไม่เที่ยง” “ไม่เที่ยง เจ้าข้า” ฯลฯ “มโนวิญญาณเที่ยงหรือไม่เที่ยง” “ไม่เที่ยง เจ้าข้า” “ก็สิ่งใดไม่เที่ยง สิ่งนั้นเป็นทุกข์หรือเป็นสุข” “เป็นทุกข์ เจ้าข้า” “ก็สิ่งใดไม่เที่ยง เป็นทุกข์ มีความแปรผันเป็นธรรมดา ควรหรือที่จะ พิจารณาเห็นสิ่งนั้นว่า ‘นั่นของเรา เราเป็นนั่น นั่นเป็นอัตตาของเรา” “ข้อนั้นไม่ควรเลย เจ้าข้า” “ข้อนั้นเพราะเหตุไร” “เพราะก่อนนี้ ดิฉันทั้งหลายได้เห็นดีแล้วตามความเป็นจริงด้วยปัญญาอัน ชอบว่า ‘หมวดวิญญาณ ๖ ของเรา ไม่เที่ยง แม้เพราะเหตุนี้’ เจ้าข้า” “ดีละ ดีละ น้องหญิงทั้งหลาย พระอริยสาวกผู้เห็นตามความเป็นจริงด้วย ปัญญาอันชอบ ย่อมมีความเห็นเรื่องนี้อย่างนี้แล [๔๑๑] น้องหญิงทั้งหลาย เมื่อประทีปน้ำมันถูกจุดไว้ น้ำมันก็ดี ไส้ก็ดี เปลวไฟก็ดี แสงสว่างก็ดี ล้วนไม่เที่ยง มีความแปรผันเป็นธรรมดา ผู้ใดพึงกล่าว อย่างนี้ว่า ‘เมื่อประทีปน้ำมันโน้นถูกจุดไว้ น้ำมันก็ดี ไส้ก็ดี เปลวไฟก็ดี ล้วน ไม่เที่ยง มีความแปรผันเป็นธรรมดา แต่ว่าแสงสว่างของประทีปน้ำมันนั้น เที่ยง ยั่งยืน เป็นไปติดต่อ มีความไม่แปรผันเป็นธรรมดา’ ผู้ที่กล่าวนั้นชื่อว่าพึงกล่าว ชอบหรือไม่” “ไม่ชอบ เจ้าข้า” {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๔ หน้า : ๔๖๕}

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์ [๕. สฬายตนวรรค]

๔. นันทโกวาทสูตร

“ข้อนั้นเพราะเหตุไร” “เพราะเมื่อประทีปน้ำมันโน้นถูกจุดไว้ น้ำมันก็ดี ไส้ก็ดี เปลวไฟก็ดี ล้วน ไม่เที่ยง มีความแปรผันเป็นธรรมดา ไม่จำเป็นต้องพูดถึงแสงสว่างของประทีป น้ำมันนั้นซึ่งไม่เที่ยง มีความแปรผันเป็นธรรมดาเลย เจ้าข้า” “ฉันนั้นเหมือนกัน น้องหญิงทั้งหลาย บุคคลใดพึงกล่าวอย่างนี้ว่า ‘อายตนะ ภายใน ๖ ของเรานี้ ไม่เที่ยง แต่เราอาศัยอายตนะภายใน ๖ แล้ว ย่อมเสวย เวทนาใด เป็นสุขก็ตาม เป็นทุกข์ก็ตาม เป็นอทุกขมสุขก็ตาม เวทนานั้น เที่ยง ยั่งยืน เป็นไปติดต่อ มีความไม่แปรผันเป็นธรรมดา ผู้ที่กล่าวนั้น ชื่อว่าพึงกล่าว ชอบหรือไม่” “ชอบ เจ้าข้า” “ข้อนั้นเพราะเหตุไร” “เพราะอาศัยปัจจัยที่เกิดจากอายตนะภายในนั้นๆ เวทนาที่เกิดจากอายตนะ ภายในนั้นๆ จึงเกิดขึ้น เพราะปัจจัยที่เกิดจากอายตนะภายในนั้นๆ ดับ เวทนา ที่เกิดจากอายตนะภายในนั้นๆ จึงดับ” “ดีละ ดีละ น้องหญิงทั้งหลาย พระอริยสาวกผู้เห็นตามความเป็นจริงด้วย ปัญญาอันชอบ ย่อมมีความเห็นเรื่องนี้อย่างนี้แล [๔๑๒] น้องหญิงทั้งหลาย ต้นไม้ใหญ่ประเภทยืนต้นมีแก่น มีราก ลำต้น กิ่งและใบ และเงา ล้วนไม่เที่ยง มีความแปรผันเป็นธรรมดา ผู้ใดพึงกล่าวอย่างนี้ว่า ‘รากก็ดี ลำต้นก็ดี กิ่งและใบก็ดี เงาก็ดี ของต้นไม้ใหญ่ประเภทยืนต้น มีแก่น ล้วนไม่เที่ยง มีความแปรผันเป็นธรรมดา แต่ว่าเงาของต้นไม้นั้นเที่ยง ยั่งยืน เป็นไปติดต่อ ไม่มีความแปรผันเป็นธรรมดา’ ผู้ที่กล่าวนั้นชื่อว่าพึงกล่าวชอบ หรือไม่” “ไม่ชอบ เจ้าข้า” “ข้อนั้นเพราะเหตุไร” “เพราะต้นไม้ใหญ่ประเภทยืนต้นมีแก่น มีราก ลำต้น กิ่งและใบ ล้วนไม่เที่ยง มีความแปรผันเป็นธรรมดา ไม่จำเป็นต้องพูดถึงเงาของต้นไม้นั้นซึ่งไม่เที่ยง มีความแปรผันเป็นธรรมดาเลย เจ้าข้า” {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๔ หน้า : ๔๖๖}

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์ [๕. สฬายตนวรรค]

๔. นันทโกวาทสูตร

“ฉันนั้นเหมือนกัน บุคคลใดพึงกล่าวอย่างนี้ว่า ‘อายตนะภายนอก ๖ ของ เรานี้ ไม่เที่ยง แต่เราอาศัยอายตนะภายนอก ๖ แล้ว ย่อมเสวยเวทนาใด เป็น สุขก็ตาม เป็นทุกข์ก็ตาม เป็นอทุกขมสุขก็ตาม เวทนานั้นเที่ยง ยั่งยืน เป็นไปติดต่อ มีความไม่แปรผันเป็นธรรมดา’ ผู้ที่กล่าวนั้นชื่อว่าพึงกล่าวชอบ หรือไม่” “ไม่ชอบ เจ้าข้า” “ข้อนั้นเพราะเหตุไร” “เพราะอาศัยปัจจัยที่เกิดจากอายตนะภายนอกนั้นๆ เวทนาที่เกิดจาก อายตนะภายนอกนั้นๆ จึงเกิดขึ้น เพราะปัจจัยที่เกิดจากอายตนะภายนอกนั้นๆ ดับ เวทนาที่เกิดจากอายตนะภายนอกนั้นๆ จึงดับ” “ดีละ ดีละ น้องหญิงทั้งหลาย พระอริยสาวกผู้เห็นตามความเป็นจริงด้วย ปัญญาอันชอบ ย่อมมีความเห็นเรื่องนี้อย่างนี้แล [๔๑๓] น้องหญิงทั้งหลาย เปรียบเหมือนคนฆ่าโคหรือลูกมือคนฆ่าโคผู้ชำนาญ ฆ่าแม่โคแล้ว ใช้มีดแล่เนื้อที่คมชำแหละแม่โค แยกส่วนเนื้อไว้ข้างใน แยกส่วน หนังไว้ข้างนอก ในส่วนเนื้อนั้น ส่วนใดๆ เป็นเนื้อสัน เส้นเอ็นใหญ่ เส้นเอ็น เล็กในภายใน ก็ใช้มีดแล่เนื้อที่คมตัด ชำแหละ เฉือนส่วนนั้นๆ แล้วเลาะส่วนหนัง ไว้ข้างนอก ใช้หนังนั้นนั่นแหละคลุมแม่โคนั้นไว้ แล้วพึงกล่าวอย่างนี้ว่า ‘แม่โคตัวนี้ เราประกอบไว้ด้วยหนังผืนนี้เท่านั้น’ คนฆ่าโคหรือลูกมือคนฆ่าโคนั้นเมื่อกล่าว ชื่อว่าพึงกล่าวชอบหรือไม่” “ไม่ชอบ เจ้าข้า” “ข้อนั้นเพราะเหตุไร” “เพราะคนฆ่าโคหรือลูกมือคนฆ่าโคผู้ชำนาญโน้น ฆ่าแม่โคแล้ว ใช้มีดแล่ เนื้อที่คมชำแหละแม่โค แยกส่วนเนื้อไว้ข้างใน แยกส่วนหนังไว้ข้างนอก ในส่วน เนื้อนั้น ส่วนใดๆ เป็นเนื้อสัน เส้นเอ็นใหญ่ เส้นเอ็นเล็กในภายใน ก็ใช้มีด {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๔ หน้า : ๔๖๗}

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์ [๕. สฬายตนวรรค]

๔. นันทโกวาทสูตร

แล่เนื้อที่คมตัด ชำแหละ เฉือนส่วนนั้นๆ แล้วเลาะส่วนหนังไว้ข้างนอก ใช้หนังนั้น นั่นแหละคลุมแม่โคนั้นไว้ พึงกล่าวอย่างนี้ว่า ‘แม่โคตัวนี้เราประกอบไว้ด้วยหนัง ผืนนี้เท่านั้น’ แม้ก็จริง ถึงอย่างนั้น แม่โคนั้นก็แยกกันแล้วจากหนังผืนนั้นนั่นเอง” “น้องหญิงทั้งหลาย อาตมภาพทำอุปมานี้เพื่อให้เข้าใจเนื้อความได้ชัดเจนขึ้น เนื้อความในอุปมานั้นดังต่อไปนี้ คำว่า ส่วนเนื้อข้างใน นั้น เป็นชื่อของอายตนะภายใน ๖ คำว่า ส่วนหนังข้างนอก นั้น เป็นชื่อของอายตนะภายนอก ๖ คำว่า เนื้อสัน เส้นเอ็นใหญ่ เส้นเอ็นเล็ก นั้น เป็นชื่อของนันทิราคะ คำว่า มีดแล่เนื้อที่คม นั้น เป็นชื่อของอริยปัญญาที่ตัด ชำแหละ เฉือน กิเลสในภายใน สังโยชน์ในภายใน และเครื่องผูกในภายใน
โพชฌงค์ ๗ ประการ
[๔๑๔] น้องหญิงทั้งหลาย เพราะโพชฌงค์ ๗ ประการนี้ ที่ภิกษุเจริญ ทำให้มากแล้ว เพราะอาสวะทั้งหลายสิ้นไป ภิกษุจึงทำให้แจ้งเจโตวิมุตติ ปัญญา วิมุตติ อันหาอาสวะมิได้ ด้วยปัญญาอันยิ่งเองเข้าถึงอยู่ในปัจจุบัน โพชฌงค์ ๗ ประการ อะไรบ้าง คือ ภิกษุในพระธรรมวินัยนี้ ๑. ย่อมเจริญสติสัมโพชฌงค์อันอาศัยวิเวก อาศัยวิราคะ อาศัยนิโรธ น้อมไปในโวสสัคคะ ๒. ย่อมเจริญธัมมวิจยสัมโพชฌงค์ ... ๓. ย่อมเจริญวิริยสัมโพชฌงค์ ... ๔. ย่อมเจริญปีติสัมโพชฌงค์ ... ๕. ย่อมเจริญปัสสัทธิสัมโพชฌงค์ ... ๖. ย่อมเจริญสมาธิสัมโพชฌงค์ ... {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๔ หน้า : ๔๖๘}

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์ [๕. สฬายตนวรรค]

๔. นันทโกวาทสูตร

๗. ย่อมเจริญอุเบกขาสัมโพชฌงค์อันอาศัยวิเวก อาศัยวิราคะ อาศัย นิโรธ น้อมไปในโวสสัคคะ เพราะโพชฌงค์ ๗ ประการนี้ ที่ภิกษุเจริญ ทำให้มากแล้ว เพราะอาสวะ ทั้งหลายสิ้นไป ภิกษุจึงทำให้แจ้งเจโตวิมุตติ ปัญญาวิมุตติ อันหาอาสวะมิได้ ด้วยปัญญาอันยิ่งเองเข้าถึงอยู่ในปัจจุบัน” [๔๑๕] ครั้งนั้น ท่านพระนันทกะโอวาทภิกษุณีเหล่านั้นด้วยโอวาทนี้แล้ว จึงส่งไปด้วยคำว่า “น้องหญิงทั้งหลาย ท่านทั้งหลายจงไปเถิด สมควรแก่เวลาแล้ว” ลำดับนั้น ภิกษุณีเหล่านั้นชื่นชมยินดีภาษิตของท่านพระนันทกะ แล้ว ลุกขึ้นจากอาสนะ กราบท่านพระนันทกะ กระทำประทักษิณ แล้วเข้าไปเฝ้าพระผู้ มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวายอภิวาทแล้ว ยืน ณ ที่สมควร พระผู้มีพระภาคได้ ตรัสกับภิกษุณีเหล่านั้นดังนี้ว่า “ภิกษุณีทั้งหลาย เธอทั้งหลายจงไปเถิด สมควร แก่เวลาแล้ว” ครั้งนั้น ภิกษุณีเหล่านั้นได้ถวายอภิวาทพระผู้มีพระภาค กระทำประทักษิณ แล้วจากไป เมื่อภิกษุณีเหล่านั้นจากไปแล้วไม่นาน พระผู้มีพระภาครับสั่งเรียกภิกษุ ทั้งหลายมาตรัสว่า “ภิกษุทั้งหลาย ในวันอุโบสถ ๑๕ ค่ำนั้น ชนเป็นอันมากไม่ มีความเคลือบแคลงหรือความสงสัยเลยว่า ‘ดวงจันทร์ไม่เต็มดวงหรือเต็มดวง หนอ’ แต่ที่แท้ ดวงจันทร์ก็เต็มดวงแล้ว ฉันใด ภิกษุณีเหล่านั้นก็ฉันนั้นเหมือนกัน ย่อมเป็นผู้มีใจยินดีต่อธรรมเทศนาของพระนันทกะและมีความดำริบริบูรณ์แล้ว ภิกษุทั้งหลาย บรรดาภิกษุณี ๕๐๐ รูปนั้น รูปที่ได้คุณธรรมชั้นต่ำที่สุดเป็น โสดาบัน ไม่มีทางตกต่ำ มีความแน่นอนที่จะสำเร็จสัมโพธิในวันข้างหน้า” พระผู้มีพระภาคได้ตรัสภาษิตนี้แล้ว ภิกษุเหล่านั้นมีใจยินดีต่างชื่นชมพระ ภาษิตของพระผู้มีพระภาค ดังนี้แล
นันทโกวาทสูตรที่ ๔ จบ
{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๔ หน้า : ๔๖๙}


                  เนื้อความพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาฯ เล่มที่ ๑๔ หน้าที่ ๔๕๒-๔๖๙. http://84000.org/tipitaka/english/m_siri.php?B=14&siri=46              ฟังเนื้อความพระไตรปิฎก : [1], [2], [3], [4], [5], [6].                   อ่านเทียบพระไตรปิฎกฉบับหลวง :- http://84000.org/tipitaka/english/v.php?B=14&A=9746&Z=10190                   ศึกษาอรรถกถานี้ได้ที่ :- http://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=14&i=766              พระไตรปิฏกฉบับภาษาบาลีอักษรไทย :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/pali_item_s.php?book=14&item=766&items=29              อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย :- http://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=10&A=6232              The Pali Tipitaka in Roman :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/roman_item_s.php?book=14&item=766&items=29              The Pali Atthakatha in Roman :- http://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=10&A=6232                   สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่ ๑๔ http://84000.org/tipitaka/read/?index_mcu14              อ่านเทียบฉบับแปลอังกฤษ Compare with English Translation :- http://84000.org/tipitaka/english/metta.lk/14i766-e.php# https://accesstoinsight.org/tipitaka/mn/mn.146.than.html https://suttacentral.net/mn146/en/sujato https://suttacentral.net/mn146/en/bodhi



บันทึก ๓๑ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๕๙ บันทึกล่าสุด ๒๒ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๖๐ การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจากพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย. หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :