ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ค้นพระไตรปิฎก ชาดก หนังสือธรรมะ
     ฉบับหลวง   ฉบับมหาจุฬาฯ   บาลีอักษรไทย   PaliRoman 
พระไตรปิฎกเล่มที่ ๑๙ พระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๑๑ [ฉบับมหาจุฬาฯ] สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค
๒. กังเขยยสูตร
ว่าด้วยข้อกังขาของเจ้าศากยะพระนามว่ามหานามะ
[๙๘๘] สมัยหนึ่ง ท่านพระโลมสกังภิยะอยู่ที่นิโครธาราม เขตกรุงกบิลพัสดุ์ แคว้นสักกะ ครั้งนั้น เจ้าศากยะทรงพระนามว่ามหานามะ เสด็จเข้าไปหาท่าน พระโลมสกังภิยะถึงที่อยู่ ทรงอภิวาทแล้วประทับนั่ง ณ ที่สมควร ได้ตรัสถามท่าน พระโลมสกังภิยะดังนี้ว่า “พระคุณเจ้าผู้เจริญ เสขวิหารธรรม (ธรรมเป็นเครื่องอยู่ ของพระเสขะ) กับตถาคตวิหารธรรมเป็นอย่างเดียวกันหรือ หรือว่าเสขวิหารธรรม เป็นอย่างหนึ่ง ตถาคตวิหารธรรมเป็นอีกอย่างหนึ่ง” ท่านพระโลมสกังภิยะ ถวายพระพรว่า “ขอถวายพระพร มหาบพิตร เสขวิหารธรรมกับตถาคตวิหารธรรมไม่ใช่อย่างเดียวกัน เสขวิหารธรรมเป็นอย่าง หนึ่ง ตถาคตวิหารธรรมเป็นอีกอย่างหนึ่ง มหาบพิตร ภิกษุเหล่าใดเป็นพระเสขะยังไม่บรรลุอรหัตตผล ปรารถนาธรรม เป็นแดนเกษมจากโยคะอันยอดเยี่ยมอยู่ ภิกษุเหล่านั้นชื่อว่าละนิวรณ์ ๕ ประการอยู่ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๙ หน้า : ๔๗๐}

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค [๑๐. อานาปานสังยุต]

๒. ทุติยวรรค ๒. กังเขยยสูตร

ละนิวรณ์ ๕ ประการ อะไรบ้าง คือ ๑. ละกามฉันทนิวรณ์อยู่ ๒. ละพยาบาทนิวรณ์อยู่ ๓. ละถีนมิทธนิวรณ์อยู่ ๔. ละอุทธัจจกุกกุจจนิวรณ์อยู่ ๕. ละวิจิกิจฉานิวรณ์อยู่ ภิกษุเหล่าใดเป็นพระเสขะยังไม่บรรลุอรหัตตผล ปรารถนาธรรมเป็นแดนเกษม จากโยคะอันยอดเยี่ยมอยู่ ภิกษุเหล่านั้นชื่อว่าละนิวรณ์ ๕ ประการนี้อยู่ มหาบพิตร ส่วนภิกษุเหล่าใดเป็นพระอรหันตขีณาสพ อยู่จบพรหมจรรย์แล้ว ทำกิจที่ควรทำเสร็จแล้ว ปลงภาระได้แล้ว บรรลุประโยชน์ตนโดยลำดับแล้ว สิ้น ภวสังโยชน์แล้ว หลุดพ้นเพราะรู้โดยชอบ นิวรณ์ ๕ ประการเป็นอันภิกษุเหล่านั้น ละได้เด็ดขาด ตัดรากถอนโคนเหมือนต้นตาลที่ถูกตัดรากถอนโคนไปแล้ว เหลือแต่ พื้นที่ ทำให้ไม่มี เกิดขึ้นต่อไปไม่ได้ นิวรณ์ ๕ ประการ อะไรบ้าง คือ ๑. กามฉันทนิวรณ์เป็นอันภิกษุเหล่านั้นละได้เด็ดขาด ตัดรากถอน โคนเหมือนต้นตาลที่ถูกตัดราถอนโคนไปแล้วเหลือแต่พื้นที่ ทำให้ไม่มี เกิดขึ้นต่อไปไม่ได้ ๒. พยาบาทนิวรณ์... ๓. ถีนมิทธนิวรณ์... ๔. อุทธัจจกุกกุจจนิวรณ์... ๕. วิจิกิจฉานิวรณ์เป็นอันภิกษุเหล่านั้นละได้เด็ดขาด ตัดรากถอนโคน เหมือนต้นตาลที่ถูกตัดรากถอนโคนไปแล้ว เหลือแต่พื้นที่ ทำให้ไม่มี เกิดขึ้นต่อไปไม่ได้ มหาบพิตร ภิกษุเหล่าใดเป็นพระอรหันตขีณาสพ อยู่จบพรหมจรรย์แล้ว ทำกิจที่ควรทำเสร็จแล้ว ปลงภาระได้แล้ว บรรลุประโยชน์ตนโดยลำดับแล้ว สิ้น ภวสังโยชน์แล้ว หลุดพ้นเพราะรู้โดยชอบ นิวรณ์ ๕ ประการนี้เป็นอันภิกษุเหล่า นั้นละได้เด็ดขาด ตัดรากถอนโคนเหมือนต้นตาลที่ถูกตัดรากถอนโคนไปแล้ว เหลือ แต่พื้นที่ ทำให้ไม่มี เกิดขึ้นต่อไปไม่ได้ ขอพระองค์ทรงทราบเรื่องนี้โดยปริยายที่ว่า เสขวิหารธรรมเป็นอย่างหนึ่ง ตถาคตวิหารธรรมก็เป็นอีกอย่างหนึ่ง {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๙ หน้า : ๔๗๑}

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค [๑๐. อานาปานสังยุต]

๒. ทุติยวรรค ๒. กังเขยยสูตร

มหาบพิตร สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ ไพรสณฑ์ชื่ออิจฉานังคละ เขตกรุงอิจฉานังคละ ณ ที่นั้น พระผู้มีพระภาครับสั่งเรียกภิกษุทั้งหลายมาตรัสว่า ‘ภิกษุทั้งหลาย เราปรารถนาจะหลีกเร้นอยู่คนเดียวสัก ๓ เดือน ใครๆ อย่าเข้า ไปหาเรา ยกเว้นภิกษุผู้นำอาหารบิณฑบาตเข้าไปให้รูปเดียว’ ภิกษุเหล่านั้นทูลรับ สนองพระดำรัสแล้ว ใน ๓ เดือนนี้ จึงไม่มีใครๆ เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเลย ยกเว้นภิกษุผู้นำอาหารบิณฑบาตเข้าไปถวายรูปเดียว ครั้นล่วง ๓ เดือนนั้นไป พระผู้มีพระภาคก็เสด็จออกจากที่หลีกเร้นแล้ว รับสั่ง เรียกภิกษุทั้งหลายมาตรัสว่า ‘ภิกษุทั้งหลาย ถ้าพวกอัญเดียรถีย์ปริพาชกพึงถาม เธอทั้งหลายอย่างนี้ว่า ‘ผู้มีอายุทั้งหลาย โดยมากพระสมณโคดมทรงอยู่จำพรรษา ด้วยวิหารธรรมข้อไหน’ เธอทั้งหลายถูกถามอย่างนี้พึงตอบอัญญเดียรถีย์ปริพาชก เหล่านั้นอย่างนี้ว่า ‘ท่านทั้งหลาย โดยมากพระผู้มีพระภาคทรงอยู่จำพรรษาด้วย อานาปานสติสมาธิ’ ภิกษุทั้งหลาย ขณะนี้เรามีสติหายใจเข้า มีสติหายใจออก เมื่อหายใจเข้ายาว ก็รู้ชัดว่าหายใจเข้ายาว หรือเมื่อหายใจออกยาวก็รู้ชัดว่าหายใจออกยาว ฯลฯ ย่อมรู้ชัดว่า จะพิจารณาเห็นความสละคืน หายใจเข้า จะพิจารณาเห็นความสละคืน หายใจออก ภิกษุทั้งหลาย ความจริง บุคคลเมื่อจะกล่าวให้ถูกต้อง พึงกล่าวถึงธรรมนั้น ใดว่า อริยวิหารบ้าง พรหมวิหารบ้าง ตถาคตวิหารบ้าง เมื่อจะกล่าวให้ถูกต้อง พึงกล่าวถึงอานาปานสติสมาธิว่า อริยวิหารบ้าง พรหมวิหารบ้าง ตถาคตวิหารบ้าง ภิกษุเหล่าใดเป็นเสขะยังไม่บรรลุอรหัตตผล ปรารถนาธรรมเป็นแดนเกษมจากโยคะ อันยอดเยี่ยมอยู่ อานาปานสติสมาธิที่ภิกษุเหล่านั้นเจริญ ทำให้มากแล้ว ย่อมเป็นไป เพื่อความสิ้นอาสวะ ส่วนภิกษุเหล่าใดเป็นอรหันตขีณาสพ อยู่จบพรหมจรรย์แล้ว ทำกิจที่ควรทำเสร็จแล้ว ปลงภาระได้แล้ว บรรลุประโยชน์ตนโดยลำดับแล้ว สิ้น ภวสังโยชน์แล้ว หลุดพ้นเพราะรู้โดยชอบ อานาปานสติสมาธิที่ภิกษุเหล่านั้นเจริญ ทำให้มากแล้ว ย่อมเป็นไปเพื่ออยู่เป็นสุขในปัจจุบันและเพื่อมีสติ มีสัมปชัญญะ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๙ หน้า : ๔๗๒}

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค [๑๐. อานาปานสังยุต]

๒. ทุติยวรรค ๓. ปฐมอานันทสูตร

ภิกษุทั้งหลาย ความจริง บุคคลเมื่อจะกล่าวให้ถูกต้อง พึงกล่าวถึงธรรมนั้น ใดว่า อริยวิหารบ้าง พรหมวิหารบ้าง ตถาคตวิหารบ้าง เมื่อจะกล่าวให้ถูกต้อง ก็พึงกล่าวถึงอานาปานสติสมาธิว่า อริยวิหารบ้าง พรหมวิหารบ้าง ตถาคตวิหารบ้าง’ ขอถวายพระพร มหาบพิตร ขอพระองค์ทรงทราบเรื่องนี้โดยปริยายที่ว่า เสขวิหารธรรมเป็นอย่างหนึ่ง ตถาคตวิหารธรรมก็เป็นอีกอย่างหนึ่ง”
กังเขยยสูตรที่ ๒ จบ


                  เนื้อความพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาฯ เล่มที่ ๑๙ หน้าที่ ๔๗๐-๔๗๓. http://84000.org/tipitaka/english/m_siri.php?B=19&siri=310              ฟังเนื้อความพระไตรปิฎก : [คลิกเพื่อฟัง]                   อ่านเทียบพระไตรปิฎกฉบับหลวง :- http://84000.org/tipitaka/english/v.php?B=19&A=7952&Z=8009                   ศึกษาอรรถกถานี้ได้ที่ :- http://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=19&i=1369              พระไตรปิฏกฉบับภาษาบาลีอักษรไทย :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/pali_item_s.php?book=19&item=1369&items=11              The Pali Tipitaka in Roman :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/roman_item_s.php?book=19&item=1369&items=11                   สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่ ๑๙ http://84000.org/tipitaka/read/?index_mcu19              อ่านเทียบฉบับแปลอังกฤษ Compare with English Translation :- https://suttacentral.net/sn54.12/en/sujato



บันทึก ๓๑ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๕๙ บันทึกล่าสุด ๒๒ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๖๐ การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจากพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย. หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :