ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ค้นพระไตรปิฎก ชาดก หนังสือธรรมะ
     ฉบับหลวง   ฉบับมหาจุฬาฯ   บาลีอักษรไทย   PaliRoman 
พระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๓ พระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๑๕ [ฉบับมหาจุฬาฯ] อังคุตตรนิกาย สัตตก-อัฏฐก-นวกนิบาต

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย นวกนิบาต [๑. ปฐมปัณณาสก์]

๒. สีหนาทวรรค ๑๐. เวลามสูตร

๑๐. เวลามสูตร
ว่าด้วยเวลามพราหมณ์
[๒๐] สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อารามของ อนาถบิณฑิกเศรษฐี เขตกรุงสาวัตถี ครั้งนั้นแล อนาถบิณฑิกเศรษฐีเข้าไปเฝ้า พระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวายอภิวาทแล้วนั่ง ณ ที่สมควร พระผู้มีพระภาค ได้ตรัสกับท่านดังนี้ว่า “ท่านคหบดี ในตระกูลของท่านยังให้ทานอยู่หรือ” อนาถบิณฑิกคหบดีกราบทูลว่า “ในตระกูลของข้าพระองค์ยังให้ทานอยู่ พระพุทธเจ้าข้า แต่ทานนั้นแลเป็นของเศร้าหมอง เป็นปลายข้าวกับน้ำผักดอง” พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “คหบดี บุคคลให้ทานเศร้าหมอง หรือประณีตก็ตาม ถ้าให้ทานนั้นโดยไม่เคารพ ไม่ทำความนอบน้อมให้ทาน ไม่ให้ด้วยมือของตนเอง ให้ทานเหมือนจะทิ้ง๑- เป็นผู้ไม่เห็นผลที่จะตามมาให้ทาน๒- ในตระกูลที่ทานนั้นๆ บังเกิดผล เขาไม่น้อมจิตไปเพื่อบริโภคอาหารอย่างดี ไม่น้อมจิตไปเพื่อนุ่งห่มผ้า อย่างดี ไม่น้อมจิตไปเพื่อใช้ยานอย่างดี และไม่น้อมจิตไปเพื่อบริโภคกามคุณ๓- ๕ อย่างดี แม้แต่บริวารของผู้ให้ทานนั้น คือ บุตร ภรรยา ทาส คนใช้ หรือกรรมกร ก็ไม่ตั้งใจฟังด้วยดี ไม่เงี่ยโสตสดับ ไม่ตั้งใจใฝ่รู้ ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะผลกรรม ที่ตนได้กระทำโดยไม่เคารพ @เชิงอรรถ : @ ให้ทานเหมือนจะทิ้ง ในที่นี้หมายถึงไม่ให้ทานอย่างต่อเนื่อง ให้ทานเหมือนต้องการจะทิ้ง @(องฺ.นวก.อ. ๓/๒๐/๒๙๗) @ ไม่เห็นผลที่จะตามมาให้ทานในที่นี้หมายถึงไม่เชื่อกรรมและผลกรรมแต่ก็ให้ทาน (องฺ.นวก.อ. ๓/๒๐/๒๙๗) @ กามคุณ แยกอธิบายว่า ที่ชื่อว่า กาม เพราะมีความหมายว่าเป็นสิ่งที่บุคคลพึงใคร่ ที่ชื่อว่า คุณ เพราะมี @ความหมายว่าผูกพันไว้ ร้อยรัดไว้ ดุจคำว่า “อนฺตํ อนฺตคุณํ” แปลว่า “ไส้ใหญ่ ไส้เล็ก” ดู ที.ม. ๑๐/๓๗๗/๒๕๑, @ม.มู. ๑๒/๑๑๐/๗๙, ขุ.ขุ. ๒๕/๓/๒, และดุจคำว่า “กยิรา มาลาคุเณ พหู” แปลว่า “ช่างดอกไม้พึง @ร้อยพวงมาลัยไว้เป็นจำนวนมาก” ดู ขุ.ธ. ๒๕/๕๓/๒๖ (องฺ.ฉกฺก.อ. ๓/๖๓/๑๔๘) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๓ หน้า : ๔๗๐}

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย นวกนิบาต [๑. ปฐมปัณณาสก์]

๒. สีหนาทวรรค ๑๐. เวลามสูตร

คหบดี บุคคลให้ทานเศร้าหมอง หรือประณีตก็ตาม ถ้าให้ทานนั้นโดยเคารพ ทำความนอบน้อมให้ทาน ให้ทานด้วยมือของตนเอง ให้ทานไม่เหมือนจะทิ้ง เป็นผู้ เห็นผลที่จะตามมาให้ทานในตระกูลที่ทานนั้นๆ บังเกิดผล เขาน้อมจิตไปเพื่อ บริโภคอาหารอย่างดี น้อมจิตไปเพื่อนุ่งห่มผ้าอย่างดี น้อมจิตไปเพื่อใช้ยานอย่างดี และน้อมจิตไปเพื่อบริโภคกามคุณ ๕ อย่างดี แม้แต่บริวารของผู้ให้ทานนั้น คือ บุตร ภรรยา ทาส คนใช้ หรือกรรมกรก็ตั้งใจฟังด้วยดี เงี่ยโสตสดับ ตั้งใจใฝ่รู้ ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะผลกรรมที่ตนได้กระทำไว้โดยเคารพ คหบดี เรื่องเคยมีมาแล้ว มีพราหมณ์ชื่อเวลามะ๑- เขาให้ทานเป็นมหาทาน อย่างนี้ คือ ได้ให้ถาดทองคำเต็มด้วยรูปิยะ ๘๔,๐๐๐ ถาด ถาดรูปิยะเต็มด้วย ทองคำ ๘๔,๐๐๐ ถาด ถาดสำริดเต็มด้วยเงิน ๘๔,๐๐๐ ถาด ให้ช้าง ๘๔,๐๐๐ เชือก มีเครื่องประดับทองคำ มีธงทองคำ คลุมด้วยข่ายทองคำ ให้รถ ๘๔,๐๐๐ คัน หุ้มด้วยหนังราชสีห์ หุ้มด้วยหนังเสือโคร่ง หุ้มด้วยหนังเสือเหลือง หุ้มด้วยผ้ากัมพล เหลือง มีเครื่องประดับทองคำ มีธงทองคำ คลุมด้วยข่ายทองคำ ให้แม่โคนม ๘๔,๐๐๐ ตัว มีน้ำนมที่รีดและไหลสะดวก มีภาชนะสำริดสำหรับรองรับ ให้หญิงสาว ๘๔,๐๐๐ คนสวมแก้วมณีและแก้วกุณฑล ให้บัลลังก์๒- ๘๔,๐๐๐ ที่ลาดด้วยผ้าโกเชาว์๓- ลาดด้วยเครื่องลาดทำด้วยขนแกะสีขาว ลาดด้วยเครื่องลาด ทำด้วยขนแกะลาย ดอกไม้ ลาดด้วยเครื่องลาดอย่างดีทำด้วยหนังชมด ข้างบนมีเพดาน มีหมอนสี แดงวางไว้ทั้ง ๒ ข้าง๔- ให้ผ้า ๘๔,๐๐๐ พับ เป็นผ้าเปลือกไม้เนื้อละเอียด ผ้าไหม @เชิงอรรถ : @ ที่มีชื่อว่า เวลามะ เพราะมีคุณสมบัติมากมาย ไร้ขอบเขต เช่น เพียบพร้อมด้วยชาติ โคตร รูปร่างลักษณะ @โภคสมบัติ ศรัทธา และปัญญา (เวลาโมติ เอตฺถ มา-สทฺโธ ปฏิเสธวจโน, ชาติโคตฺตรูปโภคาทิคุณานํ @เวลา มริยาทา นตฺถิ เอตสฺมินฺติ เวลาโม) ดู องฺ.อฏฺฐก.ฏีกา ๓/๒๐/๓๕๔ @ บัลลังก์ ในที่นี้หมายถึงเตียงที่มีเท้าแกะสลักเป็นรูปสัตว์ร้าย (วิ.อ. ๓/๒๕๔/๑๖๙) @ ผ้าโกเชาว์ หมายถึงผ้าที่ทำด้วยขนแพะหรือขนแกะผืนใหญ่ มีขนยาวเกิน ๔ นิ้ว (วิ.อ. ๓/๒๕๔/๑๖๙) @ หมอนสีแดงวางไว้ทั้ง ๒ ข้าง หมายถึงหมอนที่ใช้สำหรับหนุนศีรษะ ๑ ใบ และใช้หนุนเท้า ๑ ใบ วางไว้ @ส่วนศีรษะและส่วนเท้า (วิ.อ. ๓/๒๕๔/๑๖๙-๑๗๐) และดู องฺ.ติก. (แปล) ๒๐/๓๕/๑๙๐ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๓ หน้า : ๔๗๑}

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย นวกนิบาต [๑. ปฐมปัณณาสก์]

๒. สีหนาทวรรค ๑๐. เวลามสูตร

เนื้อละเอียด ผ้ากัมพลเนื้อละเอียด ผ้าฝ้ายเนื้อละเอียด ไม่จำต้องกล่าวถึงข้าว น้ำ ของเคี้ยว ของบริโภค ของลิ้ม ของดื่ม ไหลออกไปเหมือนแม่น้ำ คหบดี ท่านอาจจะมีความคิดอย่างนี้ว่า ‘สมัยนั้น เวลามพราหมณ์ผู้ให้ทาน เป็นมหาทาน เป็นคนอื่นแน่แท้ แต่ท่านไม่พึงเห็นอย่างนั้น เพราะเวลามพราหมณ์ ผู้ให้ทานเป็นมหาทาน ในสมัยนั้น ก็คือเรานั่นเอง แต่ในทานนั้น ไม่มีใครเป็น พระทักขิไณยบุคคล ใครๆ ก็ชำระทักษิณานั้นให้หมดจดไม่ได้๑- คหบดี การที่บุคคลเชื้อเชิญบุคคลผู้ถึงพร้อมด้วยทิฏฐิผู้เดียวให้บริโภค มีผล มากกว่าการที่เวลามพราหมณ์ได้ให้ทานเป็นมหาทาน การที่บุคคลเชื้อเชิญบุคคลผู้เป็นสกทาคามีผู้เดียวให้บริโภค มีผลมากกว่า การที่บุคคลเชื้อเชิญบุคคลผู้ถึงพร้อมด้วยทิฏฐิตั้งร้อยให้บริโภค การที่บุคคลเชื้อเชิญบุคคลผู้เป็นอนาคามีผู้เดียวให้บริโภค มีผลมากกว่าการ ที่บุคคลเชื้อเชิญบุคคลผู้เป็นสกทาคามีตั้งร้อยให้บริโภค การที่บุคคลเชื้อเชิญบุคคลผู้เป็นอรหันต์ผู้เดียวให้บริโภค มีผลมากกว่าการ ที่บุคคลเชื้อเชิญบุคคลผู้เป็นอนาคามีตั้งร้อยให้บริโภค การที่บุคคลเชื้อเชิญพระปัจเจกพุทธเจ้าองค์เดียวให้บริโภค มีผลมากกว่าการ ที่บุคคลเชื้อเชิญบุคคลผู้เป็นอรหันต์ตั้งร้อยให้บริโภค การที่บุคคลเชื้อเชิญตถาคตอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าให้บริโภค มีผลมากกว่า การที่บุคคลเชื้อเชิญพระปัจเจกพุทธเจ้าตั้งร้อยให้บริโภค @เชิงอรรถ : @ ข้อความพระดำรัสนี้ หมายความว่า ในมหาทานนั้น ไม่มีสมณะ พราหมณ์ เทวดา มาร หรือเมื่อว่า @โดยบุคคลชั้นยอดไม่มีพระพุทธเจ้า ไม่มีสาวกเช่นพระสารีบุตรนั้นเลยที่จะเป็นปฏิคาหกสามารถทำให้ @ทักษิณามีผลเลิศได้ (องฺ.นวก.อ. ๓/๒๐/๓๐๑) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๓ หน้า : ๔๗๒}

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย นวกนิบาต [๑. ปฐมปัณณาสก์]

๒. สีหนาทวรรค ๑๐. เวลามสูตร

การที่บุคคลเชื้อเชิญภิกษุสงฆ์มีพระพุทธเจ้าเป็นประธานให้บริโภค มีผลมาก กว่าการที่บุคคลเชื้อเชิญตถาคตอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าให้บริโภค การที่บุคคลสร้างวิหารอุทิศถวายสงฆ์ผู้มาจากทิศทั้ง ๔ มีผลมากกว่าการที่ บุคคลเชื้อเชิญภิกษุสงฆ์มีพระพุทธเจ้าเป็นประธานให้บริโภค การที่บุคคลมีจิตเลื่อมใสถึงพระพุทธเจ้า พระธรรม และพระสงฆ์เป็นสรณะ มีผลมากกว่าการที่บุคคลสร้างวิหารอุทิศถวายสงฆ์ผู้มาจากทิศทั้ง ๔ การที่บุคคลมีจิตเลื่อมใส สมาทานสิกขาบท คือ การงดเว้นจากการฆ่าสัตว์ การงดเว้นจากการลักทรัพย์ การงดเว้นจากการประพฤติผิดในกาม การงดเว้นจาก การพูดเท็จ การงดเว้นจากการเสพของมึนเมาคือสุราและเมรัยอันเป็นเหตุแห่งความ ประมาท มีผลมากกว่าการที่บุคคลมีจิตเลื่อมใสถึงพระพุทธเจ้า พระธรรม และ พระสงฆ์เป็นสรณะ การที่บุคคลเจริญเมตตาจิตอย่างน้อยชั่วสูดดมกลิ่นหอม มีผลมากกว่าการที่ บุคคลมีจิตเลื่อมใสสมาทานสิกขาบท คือ การงดเว้นจากการฆ่าสัตว์ เป็นต้นนั้น คหบดี การที่บุคคลเจริญอนิจจสัญญาชั่วลัดนิ้วมือเดียว มีผลมากกว่าการที่ เวลามพราหมณ์ได้ให้ทานเป็นมหาทาน มากกว่าการที่บุคคลเชื้อเชิญบุคคลผู้ถึงพร้อม ด้วยทิฏฐิให้บริโภค มากกว่าการที่บุคคลเชื้อเชิญบุคคลผู้ถึงพร้อมด้วยทิฏฐิตั้งร้อย ให้บริโภค มากกว่าการที่บุคคลเชื้อเชิญบุคคลผู้เป็นสกทาคามีผู้เดียวให้บริโภค มากกว่า การที่บุคคลเชื้อเชิญบุคคลผู้เป็นสกทาคามีตั้งร้อยให้บริโภค มากกว่าการที่บุคคล เชื้อเชิญบุคคลผู้เป็นอนาคามีผู้เดียวให้บริโภค มากกว่าการที่บุคคลเชื้อเชิญบุคคล ผู้เป็นอนาคามีตั้งร้อยให้บริโภค มากกว่าการที่บุคคลเชื้อเชิญบุคคลผู้เป็นอรหันต์ ผู้เดียวให้บริโภค มากกว่าการที่บุคคลเชื้อเชิญบุคคลผู้เป็นอรหันต์ตั้งร้อยให้บริโภค มากกว่าการที่บุคคลเชื้อเชิญพระปัจเจกพุทธเจ้าองค์เดียวให้บริโภค มากกว่าการที่บุคคล {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๓ หน้า : ๔๗๓}

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย นวกนิบาต [๑. ปฐมปัณณาสก์]

๒. สีหนาทวรรค รวมพระสูตรที่มีในวรรค

เชื้อเชิญพระปัจเจกพุทธเจ้าตั้งร้อยให้บริโภค มากกว่าการที่บุคคลเชื้อเชิญตถาคตอรหันต- สัมมาสัมพุทธเจ้าให้บริโภค มากกว่าการที่บุคคลเชื้อเชิญภิกษุสงฆ์ มีพระพุทธเจ้า เป็นประธานให้บริโภค มากกว่าการที่บุคคลสร้างวิหารอุทิศถวายสงฆ์ผู้มาจากทิศ ทั้ง ๔ มากกว่าการที่บุคคลมีจิตเลื่อมใสถึงพระพุทธเจ้า พระธรรม และพระสงฆ์ เป็นสรณะ มากกว่าการที่บุคคลมีจิตเลื่อมใสสมาทานสิกขาบท คือ การงดเว้นจาก การฆ่าสัตว์ ฯลฯ การงดเว้นจากการเสพของมึนเมาคือสุราและเมรัยอันเป็นเหตุ แห่งความประมาท และมากกว่าการที่บุคคลเจริญเมตตาจิตอย่างน้อยชั่วสูดดม กลิ่นหอมนั้น”
เวลามสูตรที่ ๑๐ จบ
สีหนาทวรรคที่ ๒ จบ
รวมพระสูตรที่มีในวรรคนี้ คือ
๑. สีหนาทสูตร ๒. สอุปาทิเสสสูตร ๓. โกฏฐิตสูตร ๔. สมิทธิสูตร ๕. คัณฑสูตร ๖. สัญญาสูตร ๗. กุลสูตร ๘. นวังคุโปสถสูตร ๙. เทวตาสูตร ๑๐. เวลามสูตร {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๓ หน้า : ๔๗๔}


                  เนื้อความพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาฯ เล่มที่ ๒๓ หน้าที่ ๔๗๐-๔๗๔. http://84000.org/tipitaka/english/m_siri.php?B=23&siri=183              ฟังเนื้อความพระไตรปิฎก : [1], [2].                   อ่านเทียบพระไตรปิฎกฉบับหลวง :- http://84000.org/tipitaka/english/v.php?B=23&A=8336&Z=8416                   ศึกษาอรรถกถานี้ได้ที่ :- http://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=23&i=224              พระไตรปิฏกฉบับภาษาบาลีอักษรไทย :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/pali_item_s.php?book=23&item=224&items=1              อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย :- http://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=16&A=6671              The Pali Tipitaka in Roman :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/roman_item_s.php?book=23&item=224&items=1              The Pali Atthakatha in Roman :- http://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=16&A=6671                   สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๓ http://84000.org/tipitaka/read/?index_mcu23              อ่านเทียบฉบับแปลอังกฤษ Compare with English Translation :- http://84000.org/tipitaka/english/metta.lk/23i215-e.php#sutta10 https://accesstoinsight.org/tipitaka/an/an09/an09.020.than.html https://suttacentral.net/an9.20/en/sujato https://suttacentral.net/an9.20/en/thanissaro



บันทึก ๓๑ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๕๙ บันทึกล่าสุด ๒๒ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๖๐ การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจากพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย. หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :