ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ค้นพระไตรปิฎก ชาดก หนังสือธรรมะ
     ฉบับหลวง   ฉบับมหาจุฬาฯ   บาลีอักษรไทย   PaliRoman 
พระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๓ พระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๑๕ [ฉบับมหาจุฬาฯ] อังคุตตรนิกาย สัตตก-อัฏฐก-นวกนิบาต

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย อัฏฐกนิบาต [๑. ปฐมปัณณาสก์]

๓. คหปติวรรค ๑. ปฐมอุคคสูตร

๓. คหปติวรรค
หมวดว่าด้วยคหบดี
๑. ปฐมอุคคสูตร
ว่าด้วยธรรมที่น่าอัศจรรย์ของอุคคคหบดี สูตรที่ ๑
[๒๑] สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ กูฏาคารศาลา ป่ามหาวัน เขตกรุงเวสาลี ณ ที่นั้นแล พระผู้มีพระภาคได้รับสั่งเรียกภิกษุทั้งหลายมาตรัสว่า “ภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายจงทรงจำอุคคคหบดีชาวเมืองเวสาลีว่าเป็นผู้ประกอบ ด้วยธรรมที่น่าอัศจรรย์ ไม่เคยปรากฏ ๘ ประการ” พระผู้มีพระภาคผู้สุคตได้ตรัส เวยยากรณภาษิตนี้แล้ว เสด็จลุกจากพุทธอาสน์เข้าไปสู่พระวิหาร ครั้นในเวลาเช้า ภิกษุรูปหนึ่งครองอันตรวาสก ถือบาตรและจีวรเข้าไปยังนิเวศน์ ของอุคคคหบดีชาวเมืองเวสาลีแล้วนั่งบนอาสนะที่ปูลาดไว้ ลำดับนั้น อุคคคหบดี ชาวเมืองเวสาลีเข้าไปหาภิกษุนั้นถึงที่อยู่ อภิวาทแล้วนั่ง ณ ที่สมควร ภิกษุนั้นได้ ถามอุคคคหบดีนั้นดังนี้ว่า “ท่านอุคคคหบดี พระผู้มีพระภาคทรงพยากรณ์ว่า ท่านเป็นผู้ประกอบด้วย ธรรมที่น่าอัศจรรย์ ไม่เคยปรากฏ ๘ ประการ ธรรมที่น่าอัศจรรย์ ไม่เคยปรากฏ ๘ ประการ ที่เป็นเหตุให้ท่านได้รับพยากรณ์จากพระผู้มีพระภาค เป็นอย่างไร” อุคคคหบดีกล่าวว่า “ท่านผู้เจริญ โยมไม่ทราบเลยว่า พระผู้มีพระภาคทรง พยากรณ์ว่าโยมเป็นผู้ประกอบด้วยธรรมที่น่าอัศจรรย์ ไม่เคยปรากฏ ๘ ประการ เหล่าไหน แต่ขอท่านโปรดฟังธรรมที่น่าอัศจรรย์ ไม่เคยปรากฏ ๘ ประการที่โยมมี อยู่เถิด โปรดใส่ใจให้ดี โยมจักกล่าว ภิกษุนั้นรับคำแล้ว อุคคคหบดีชาวเมืองเวสาลี จึงได้กล่าวเรื่องนี้ว่า ๑. “เมื่อโยมได้เห็นพระผู้มีพระภาคแต่ที่ไกลเป็นครั้งแรก พร้อมกับ การเห็นนั่นเอง โยมก็มีจิตเลื่อมใสต่อพระผู้มีพระภาค นี้แลเป็น ธรรมที่น่าอัศจรรย์ ไม่เคยปรากฏประการที่ ๑ ที่โยมมีอยู่ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๓ หน้า : ๒๕๗}

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย อัฏฐกนิบาต [๑. ปฐมปัณณาสก์]

๓. คหปติวรรค ๑. ปฐมอุคคสูตร

๒. โยมมีจิตเลื่อมใสแล้ว เข้าไปนั่งใกล้พระผู้มีพระภาค พระองค์ได้ทรง แสดงอนุปุพพีกถาแก่โยม คือ ทรงประกาศทานกถา(เรื่องทาน) สีลกถา(เรื่องศีล) สัคคกถา(เรื่องสวรรค์) กามาทีนวกถา(เรื่องโทษ ความต่ำทราม ความเศร้าหมองแห่งกาม) เนกขัมมานิสังสกถา (เรื่องอานิสงส์แห่งการออกจากกาม) เมื่อพระผู้มีพระภาคทรงทราบว่า โยมเป็นผู้มีจิตควร อ่อน ปราศจากนิวรณ์ เบิกบาน ผ่องใส จึงทรงประกาศสามุกกังสิกเทศนา๑- คือ ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค ธรรมจักษุอันปราศจากธุลี ปราศจาก มลทิน ได้เกิดแก่โยมบนที่นั่งนั้นเองว่า ‘สิ่งใดสิ่งหนึ่งมีความเกิดขึ้น เป็นธรรมดา สิ่งนั้นทั้งปวงมีความดับไปเป็นธรรมดา’ เปรียบเหมือน ผ้าขาวสะอาด ปราศจากมลทิน ควรรับน้ำย้อมได้เป็นอย่างดี ท่าน ผู้เจริญ โยมนั้นได้เห็นธรรม บรรลุธรรม รู้ธรรม หยั่งลงสู่ธรรม ข้ามพ้นความสงสัย ปราศจากความเคลือบแคลง ถึงความแกล้วกล้า ปราศจากความมีผู้อื่นเป็นปัจจัยในศาสนาของพระศาสดา ได้ถึง พระพุทธเจ้า พระธรรม และพระสงฆ์เป็นสรณะแล้ว และได้สมาทาน สิกขาบทที่มีพรหมจรรย์เป็นที่ ๕ บนที่นั่งนั่นเอง นี้แลเป็นธรรม ที่น่าอัศจรรย์ ไม่เคยปรากฏประการที่ ๒ ที่โยมมีอยู่ ๓. โยมนั้นมีภรรยาที่เป็นสาวรุ่น ๔ คน โยมเข้าไปหาภรรยาเหล่านั้น ถึงที่อยู่แล้วกล่าวกับพวกเธอว่า ‘น้องหญิงทั้งหลาย ฉันได้สมาทาน สิกขาบทที่มีพรหมจรรย์เป็นที่ ๕ แล้ว หญิงใดปรารถนา หญิงนั้น จงใช้จ่ายโภคทรัพย์เหล่านี้ และจงทำบุญ หรือกลับไปยังตระกูลญาติ ของตนเถิด หรือมีความประสงค์ชาย ฉันก็จะมอบพวกเธอให้แก่เขา’ เมื่อโยมกล่าวอย่างนี้แล้ว ภรรยาหลวงได้กล่าวกับโยมว่า ‘ขอท่าน โปรดมอบดิฉันให้แก่ชายผู้มีชื่อนี้เถิด’ ลำดับนั้น โยมได้เรียกชาย คนนั้นมา ใช้มือซ้ายจับภรรยา มือขวาจับเต้าน้ำหลั่งน้ำมอบให้ ชายคนนั้นไป เมื่อบริจาคภรรยาสาวรุ่นให้เป็นทาน โยมไม่รู้สึก ว่าจิตแปรไป นี้แลเป็นธรรมที่น่าอัศจรรย์ ไม่เคยปรากฏประการ ที่ ๓ ที่โยมมีอยู่ @เชิงอรรถ : @ ดูเชิงอรรถที่ ๑ อัฏฐกนิบาต ข้อ ๑๒ หน้า ๒๓๓ ในเล่มนี้ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๓ หน้า : ๒๕๘}

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย อัฏฐกนิบาต [๑. ปฐมปัณณาสก์]

๓. คหปติวรรค ๑. ปฐมอุคคสูตร

๔. ตระกูลของโยมมีโภคทรัพย์อยู่พร้อม และโภคทรัพย์เหล่านั้น โยม ได้จำแนกแจกจ่ายกับผู้มีศีล มีกัลยาณธรรม นี้แลเป็นธรรมที่น่า อัศจรรย์ ไม่เคยปรากฏประการที่ ๔ ที่โยมมีอยู่ ๕. โยมเข้าไปนั่งใกล้ภิกษุใด ก็เข้าไปนั่งใกล้โดยเคารพเท่านั้น มิใช่เข้าไป นั่งใกล้โดยไม่เคารพ นี้แลเป็นธรรมที่น่าอัศจรรย์ ไม่เคยปรากฏ ประการที่ ๕ ที่โยมมีอยู่ ๖. หากท่านผู้มีอายุนั้นจะแสดงธรรมแก่โยม โยมจะฟังโดยเคารพ เท่านั้น มิใช่ฟังโดยไม่เคารพ หากท่านผู้มีอายุนั้นจะไม่แสดงธรรม แก่โยม โยมก็จะแสดงธรรมแก่ท่าน นี้แลเป็นธรรมที่น่าอัศจรรย์ ไม่เคยปรากฏประการที่ ๖ ที่โยมมีอยู่ ๗. ไม่น่าอัศจรรย์เลย ที่พวกเทวดาเข้ามาหาโยมแล้วบอกว่า ‘ท่าน คหบดี ธรรมอันพระผู้มีพระภาคตรัสไว้ดีแล้ว’ เมื่อพวกเทวดากล่าว อย่างนี้แล้ว โยมได้กล่าวกับเทวดาเหล่านั้นอย่างนี้ว่า ‘เทวดา พวกท่านจะบอกอย่างนี้ หรือไม่บอกอย่างนี้ก็ตาม แท้จริง ธรรมก็ เป็นธรรมอันพระผู้มีพระภาคตรัสไว้ดีแล้ว’ โยมไม่รู้สึกฟูใจเพราะ เหตุนั้นเลยว่า ‘พวกเทวดาเข้ามาหาโยม หรือโยมสนทนากับพวก เทวดา’ นี้แลป็นธรรมที่น่าอัศจรรย์ ไม่เคยปรากฏประการที่ ๗ ที่โยมมีอยู่ ๘. สังโยชน์เบื้องต่ำ ๕ ประการ ที่พระผู้มีพระภาคได้ทรงแสดงไว้ โยม ไม่เห็นสังโยชน์อะไรในตนที่ยังละไม่ได้ นี้แลป็นธรรมที่น่าอัศจรรย์ ไม่เคยปรากฏประการที่ ๘ ที่โยมมีอยู่ ท่านผู้เจริญ ธรรมที่น่าอัศจรรย์ ไม่เคยปรากฏ ๘ ประการนี้แล ที่โยมมีอยู่ แต่โยมไม่ทราบเลยว่า พระผู้มีพระภาคได้ทรงพยากรณ์ว่าโยมเป็นผู้ประกอบด้วยธรรม ที่น่าอัศจรรย์ ไม่เคยปรากฏ ๘ ประการเหล่าไหน” ลำดับนั้น ภิกษุนั้นรับบิณฑบาตในนิเวศน์ของอุคคคหบดีชาวเมืองเวสาลีแล้ว ลุกจากอาสนะจากไป ท่านกลับจากบิณฑบาต หลังจากฉันอาหารเสร็จแล้ว เข้าไป เฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวายอภิวาทแล้วนั่ง ณ ที่สมควร ได้กราบทูลเรื่อง ที่สนทนาปราศรัยกับอุคคคหบดีชาวเมืองเวสาลีทั้งหมดให้พระผู้มีพระภาคทรงทราบ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๓ หน้า : ๒๕๙}

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย อัฏฐกนิบาต [๑. ปฐมปัณณาสก์]

๓. คหปติวรรค ๒. ทุตติยอุคคสูตร

พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “ดีละ ดีละ ภิกษุ อุคคคหบดีชาวเมืองเวสาลี เมื่อจะ พยากรณ์ให้ถูกต้อง พึงพยากรณ์ไปตามนั้น ภิกษุ เราพยากรณ์ว่าอุคคคหบดีชาว เมืองเวสาลีเป็นผู้ประกอบด้วยธรรมที่น่าอัศจรรย์ ไม่เคยปรากฏ ๘ ประการนี้แล และเธอจงทรงจำอุคคคหบดีชาวเมืองเวสาลีว่าเป็นผู้ประกอบด้วยธรรมที่น่าอัศจรรย์ ไม่เคยปรากฏ ๘ ประการนี้”
ปฐมอุคคสูตรที่ ๑ จบ


                  เนื้อความพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาฯ เล่มที่ ๒๓ หน้าที่ ๒๕๗-๒๖๐. http://84000.org/tipitaka/english/m_siri.php?B=23&siri=94              ฟังเนื้อความพระไตรปิฎก : [1], [2].                   อ่านเทียบพระไตรปิฎกฉบับหลวง :- http://84000.org/tipitaka/english/v.php?B=23&A=4258&Z=4339                   ศึกษาอรรถกถานี้ได้ที่ :- http://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=23&i=111              พระไตรปิฏกฉบับภาษาบาลีอักษรไทย :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/pali_item_s.php?book=23&item=111&items=1              อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย :- http://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=16&A=5496              The Pali Tipitaka in Roman :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/roman_item_s.php?book=23&item=111&items=1              The Pali Atthakatha in Roman :- http://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=16&A=5496                   สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๓ http://84000.org/tipitaka/read/?index_mcu23              อ่านเทียบฉบับแปลอังกฤษ Compare with English Translation :- http://84000.org/tipitaka/english/metta.lk/23i111-e.php# https://suttacentral.net/an8.21/en/sujato https://suttacentral.net/an8.21/en/bodhi



บันทึก ๓๑ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๕๙ บันทึกล่าสุด ๒๒ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๖๐ การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจากพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย. หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :