ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ค้นพระไตรปิฎก ชาดก หนังสือธรรมะ
     ฉบับหลวง   ฉบับมหาจุฬาฯ   บาลีอักษรไทย   PaliRoman 
พระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๕ พระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๑๗ [ฉบับมหาจุฬาฯ] ขุททกนิกาย ขุททกปาฐะ-ธรรมบท-อุทาน-อิติวุตตกะ-สุตตนิบาต
๒. ปธานสูตร
ว่าด้วยความเพียรอย่างเด็ดเดี่ยว
(พระผู้มีพระภาคตรัสแก่ภิกษุทั้งหลายดังนี้) [๔๒๘] เราตั้งจิตบำเพ็ญเพียร ขะมักเขม้น เพ่งพินิจอยู่ เพื่อบรรลุธรรมอันเป็นแดนเกษมจากโยคะ อยู่ที่ริมฝั่งแม่น้ำเนรัญชรานั้น [๔๒๙] มารได้เข้ามาหาพร้อมกับกล่าวถ้อยคำแสดงความเอ็นดูว่า ท่านมีร่างกายผ่ายผอม มีผิวพรรณซูบซีด ใกล้จะตายอยู่แล้ว [๔๓๐] ท่านมีโอกาสตายถึง ๑,๐๐๐ ส่วน โอกาสรอดชีวิตมีเพียงส่วนเดียวเท่านั้น ท่านเอ๋ย การที่ท่านมีชีวิตอยู่นั้นดีแล้ว เพราะเมื่อมีชีวิตอยู่ ท่านก็จักบำเพ็ญบุญทั้งหลายได้ [๔๓๑] ท่านประพฤติพรหมจรรย์๑- และบูชาไฟอยู่ ก็ชื่อว่าสั่งสมบุญไว้มาก ท่านจักบำเพ็ญเพียรไปทำไม [๔๓๒] ทางเพื่อความเพียรดำเนินไปถึงยาก ทำได้ยาก ยากยิ่งนักที่จะก่อผลสำเร็จ มารได้ยืนกล่าวคาถาเหล่านี้อยู่ใกล้ๆ เราผู้จะเป็นพุทธะ @เชิงอรรถ : @ พรหมจรรย์ ในที่นี้หมายถึงเมถุนวิรัติ (ขุ.สุ.อ. ๒/๔๓๑/๒๐๘) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า : ๕๙๘}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [๓. มหาวรรค]

๒. ปธานสูตร

[๔๓๓] พระผู้มีพระภาคได้ตรัสตอบมารผู้กล่าวอย่างนั้นว่า มารผู้มีบาป ผู้เป็นเผ่าพันธุ์ของคนประมาท ท่านมาที่นี้มีความประสงค์ใด [๔๓๔] เราไม่มีความต้องการบุญแม้แต่น้อย ความจริง ท่านผู้เป็นมาร ควรไปบอกแก่คนผู้ต้องการบุญ [๔๓๕] เพราะเหตุไร ท่านจึงเฝ้าเพียรถามเรา ผู้มีทั้งศรัทธา ตบะ วิริยะ และปัญญา ผู้มีจิตมุ่งมั่น มีความเป็นอยู่อย่างนี้ [๔๓๖] กระแสแม่น้ำทุกสาย ลมนี้สามารถพัดให้เหือดแห้งได้ แต่ว่าเลือดของเราผู้มีจิตมุ่งมั่นไม่เหือดแห้งไปแม้สักหยดเลย [๔๓๗] เมื่อเลือดกำลังเหือดแห้งไป ดี เสลดก็กำลังเหือดแห้งไปด้วย และเมื่อเนื้อกำลังจะหมดสิ้นไป แต่จิตของเราก็ยิ่งผ่องใส สติ และปัญญาก็ผ่องใส สมาธิของเราก็ยิ่งตั้งมั่นขึ้นไปอีก [๔๓๘] เรานั้นถึงจะได้รับทุกขเวทนาอันแรงกล้าอยู่อย่างนี้ จิตก็หาได้หวนคนึงถึงกามทั้งหลายไม่ ท่านจงคอยดูภาวะที่เราเป็นสัตว์บริสุทธิ์ [๔๓๙] กิเลสกามทั้งหลาย เราเรียกว่าเสนากองที่ ๑ ของท่าน ความไม่ยินดี เราเรียกว่าเสนากองที่ ๒ ของท่าน ความหิวกระหาย เราเรียกว่าเสนากองที่ ๓ ของท่าน ตัณหา(ความทะยานอยาก) เราเรียกว่าเสนากองที่ ๔ ของท่าน [๔๔๐] ถีนมิทธะ(ความหดหู่และเซื่องซึม) เราเรียกว่าเสนากองที่ ๕ ของท่าน ความกลัว เราเรียกว่าเสนากองที่ ๖ ของท่าน วิจิกิจฉา(ความลังเลสงสัย) เราเรียกว่าเสนากองที่ ๗ ของท่าน มักขะ(ความลบหลู่คุณท่าน) และถัมภะ(ความหัวดื้อ) เราเรียกว่าเสนากองที่ ๘ ของท่าน {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า : ๕๙๙}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [๓. มหาวรรค]

๒. ปธานสูตร

[๔๔๑] ลาภ ความสรรเสริญ สักการะ และยศที่ได้มาที่ผิดๆ เราเรียกว่าเสนากองที่ ๙ ของท่าน การยกตนและข่มผู้อื่น เราเรียกว่าเสนากองที่ ๑๐ ของท่าน [๔๔๒] มารเอ๋ย เสนาของท่านผู้มีธรรมดำนี้ มีปกติประหารสมณพราหมณ์ คนขลาดเอาชนะเสนานั้นไม่ได้ แต่คนกล้า เอาชนะเสนามารได้แล้วย่อมได้รับสุข๑- [๔๔๓] แม้เรานี้ก็รักษาหญ้ามุงกระต่ายไว้ น่าติเตียน(ถ้า)ชีวิตของเรา(จะพ่ายแพ้) เราตายเสียในสงครามประเสริฐกว่า แพ้แล้วเป็นอยู่จะประเสริฐอะไร [๔๔๔] สมณพราหมณ์บางพวกตกอยู่ในอำนาจเสนาของท่านแล้ว ย่อมไม่ปรากฏเกียรติคุณ และย่อมไม่รู้ทางที่เหล่าท่านผู้มีวัตรดีดำเนินไปอยู่ [๔๔๕] เราได้เห็นมารขี่ช้างเป็นพาหนะ นำเสนาออกมาโดยรอบทิศ จึงเตรียมเผชิญหน้าเพื่อจะต่อสู้ โดยมั่นใจว่า มารอย่าหวังที่จะให้เราลุกจากที่ [๔๔๖] ชาวโลกพร้อมทั้งเทวโลก ไม่สามารถเอาชนะเสนาของท่านนั้นได้ แต่เราจะใช้ปัญญาเป็นอาวุธ ทำลายเสนาท่านนั้นให้พินาศ เหมือนคนใช้ก้อนหินทุบภาชนะดิน ทั้งที่ยังไม่ได้เผาและที่เผาแล้วให้แตกไป ฉะนั้น @เชิงอรรถ : @ ดูเทียบ ขุ.ม. (แปล) ๒๙/๒๘/๑๑๖, ๖๘/๒๑๐-๒๑๑, ขุ.จู. (แปล) ๓๐/๔๗/๑๙๘ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า : ๖๐๐}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [๓. มหาวรรค]

๒. ปธานสูตร

[๔๔๗] เราจักเจริญสัมมาสังกัปปะให้เชี่ยวชาญ และตั้งสติไว้อย่างมั่นคงแล้ว เที่ยวจาริกแนะนำพร่ำสอนสาวกจำนวนมากไปทุกแว่นแคว้น [๔๔๘] สาวกผู้ไม่ประมาทเหล่านั้น มีจิตมุ่งมั่น ปฏิบัติตามคำสอนของเรา เป็นผู้หมดความปรารถนา ก็จะเข้าถึงสถานที่ซึ่งเหล่าชนผู้ไปแล้ว ไม่เศร้าโศก [๔๔๙] (มารกล่าวดังนี้) ข้าพเจ้าได้สะกดรอยตามพระผู้มีพระภาคนานถึง ๗ ปี ก็ยังหาโอกาสที่จะทำลายพระสัมมาสัมพุทธเจ้าผู้ทรงพระสิริไม่ได้เลย [๔๕๐] กาตัวหนึ่งบินอยู่รอบๆ แท่นศิลา ที่มีสีคล้ายมันข้น ด้วยคิดว่า ‘เรากำลังจะได้ของอ่อนนุ่มในสิ่งนี้ ความยินดีพอใจก็จะมีแก่เรา’ (แต่เมื่อไม่ได้ความพอใจ รู้ว่า ‘นี้คือแท่นศิลา’ จึงหลีกไป)๑- [๔๕๑] ข้าพเจ้าก็เช่นเดียวกัน ตั้งใจว่า จะมารบกวนก่อความรำคาญพระทัย ให้พระสมณโคดมเบื่อเสด็จลุกหนีไป แต่ข้าพเจ้ากลับไม่ได้รับความยินยอมจากพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เกิดความท้อแท้จึงหลีกไป [๔๕๒] เมื่อมารนั้นกำลังเศร้าโศกมาก พิณที่หนีบอยู่นั้นจึงตกลงจากรักแร้ ลำดับนั้น มารนั้นผู้เสียใจ ได้อันตรธานหายไปในที่นั้นเอง
ปธานสูตรที่ ๒ จบ
@เชิงอรรถ : @ ข้อความนี้แปลเติมตามนัยอรรถกถา (ขุ.สุ.อ. ๒/๔๔๙-๔๕๑/๒๑๔-๒๑๕) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า : ๖๐๑}


                  เนื้อความพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาฯ เล่มที่ ๒๕ หน้าที่ ๕๙๘-๖๐๑. http://84000.org/tipitaka/english/m_siri.php?B=25&siri=255              ฟังเนื้อความพระไตรปิฎก : [1], [2].                   อ่านเทียบพระไตรปิฎกฉบับหลวง :- http://84000.org/tipitaka/english/v.php?B=25&A=8436&Z=8498                   ศึกษาอรรถกถานี้ได้ที่ :- http://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=25&i=355              พระไตรปิฏกฉบับภาษาบาลีอักษรไทย :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/pali_item_s.php?book=25&item=355&items=1              อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย :- http://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=29&A=4647              The Pali Tipitaka in Roman :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/roman_item_s.php?book=25&item=355&items=1              The Pali Atthakatha in Roman :- http://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=29&A=4647                   สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๕ http://84000.org/tipitaka/read/?index_mcu25              อ่านเทียบฉบับแปลอังกฤษ Compare with English Translation :- http://84000.org/tipitaka/english/metta.lk/25i354-e.php#sutta2 https://accesstoinsight.org/tipitaka/kn/snp/snp.3.02.than.html https://accesstoinsight.org/tipitaka/kn/snp/snp.3.02.irel.html https://suttacentral.net/snp3.2/en/nyanamoli https://suttacentral.net/snp3.2/en/sujato



บันทึก ๓๑ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๕๙ บันทึกล่าสุด ๒๒ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๖๐ การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจากพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย. หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :