ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ค้นพระไตรปิฎก ชาดก หนังสือธรรมะ
     ฉบับหลวง   ฉบับมหาจุฬาฯ   บาลีอักษรไทย   PaliRoman 
พระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๕ พระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๑๗ [ฉบับมหาจุฬาฯ] ขุททกนิกาย ขุททกปาฐะ-ธรรมบท-อุทาน-อิติวุตตกะ-สุตตนิบาต

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [๓. มหาวรรค]

๑๑. นาลกสูตร

๑๑. นาลกสูตร
ว่าด้วยนาลกดาบสทูลถามปัญหา
[๖๘๕] อสิตฤๅษีอยู่ในที่พักกลางวัน ได้เห็นท้าวสักกะจอมเทพ และทวยเทพชั้นดาวดึงส์มีใจชื่นชมโสมนัส ยกผ้าทิพย์ขึ้นชมเชยอยู่มิได้ขาด ณ ที่สถิตอันสะอาด [๖๘๖] ครั้นเห็นแล้วจึงทำความนอบน้อม พลางถามเทวดาทั้งหลายผู้มีใจเบิกบานในที่นั้นว่า เพราะเหตุไร ทวยเทพจึงดีใจอย่างล้นเหลือ เพราะอาศัยอะไร ท่านทั้งหลายจึงยกผ้าทิพย์ขึ้นแล้วรื่นเริงอยู่เช่นนี้ [๖๘๗] แม้คราวที่เกิดสงครามกับพวกอสูร ทวยเทพได้ชัยชนะ เหล่าอสูรปราชัย อาการดีใจขนลุกขนพองสยองเกล้าเช่นนี้ก็มิได้มี เทวดาทั้งหลายได้เห็นเหตุอะไรที่ไม่เคยมีมาก่อน จึงพากันเบิกบานสำราญใจมากมายเช่นนี้ [๖๘๘] ทวยเทพเปล่งเสียงชมเชยขับร้องบรรเลงดนตรี ปรบมือฟ้อนรำกันอยู่ ข้าพเจ้าขอถามท่านทั้งหลายผู้อยู่บนยอดเขาพระสุเมรุว่า ท่านผู้ไร้ทุกข์ทั้งหลาย ขอพวกท่านจงช่วยกันขจัดความสงสัยของข้าพเจ้า ให้สิ้นไปโดยเร็วเถิด (เทวดาทั้งหลายกล่าวตอบดังนี้) [๖๘๙] พระโพธิสัตว์ผู้เป็นรัตนะอันประเสริฐ ไม่มีผู้เปรียบเทียบ ได้บังเกิดแล้วในมนุษยโลก ที่ป่าลุมพินีวัน ในคามชนบทของเจ้าศากยะทั้งหลาย เพื่อประโยชน์เกื้อกูลและความสุข เพราะเหตุนั้น เราทั้งหลายจึงพากันยินดีเบิกบานใจอย่างล้นเหลือ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า : ๖๖๓}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [๓. มหาวรรค]

๑๑. นาลกสูตร

[๖๙๐] พระโพธิสัตว์นั้น เป็นบุคคลผู้เลิศเป็นผู้สูงสุดในสรรพสัตว์ เป็นนรชนผู้องอาจ ประเสริฐสูงสุดในหมู่สัตว์ทั้งปวง จะทรงประกาศธรรมจักรที่ป่าอิสิปตนะ เปรียบเหมือนพญาราชสีห์ มีกำลัง มีอำนาจเหนือหมู่เนื้อบันลือสีหนาทอยู่ [๖๙๑] อสิตฤๅษีนั้นฟังเสียงของเทวดานั้นแล้ว จึงรีบลงเข้าไปสู่ที่ประทับของพระเจ้าสุทโธทนะ ณ เวลานั้นทันที ครั้นนั่งแล้วได้ทูลถามเจ้าศากยะทั้งหลายในที่นั้นว่า พระกุมารประทับอยู่ที่ไหน อาตมภาพประสงค์จะเฝ้า [๖๙๒] ลำดับนั้น เจ้าศากยะทั้งหลาย ได้ทรงนำพระกุมาร ผู้ทรงเปล่งปลั่งดังทอง ที่ปากเบ้าซึ่งช่างทองผู้ชำนาญหลอมดีแล้ว ทรงรุ่งเรืองยิ่งด้วยพระสิริ มีพระฉวีวรรณผุดผ่อง เป็นพระโอรสผู้ประเสริฐ ออกมาให้อสิตฤๅษีเฝ้าชมพระบารมี [๖๙๓] อสิตฤๅษีได้เห็นพระกุมารผู้ทรงรุ่งเรืองดังเปลวไฟ เหมือนดวงจันทร์เพ็ญลอยเด่นในนภากาศ มีแสงพราวกว่าหมู่ดาว ดุจดวงอาทิตย์พ้นจากเมฆแผดแสงอยู่ในสารทกาล จึงเกิดความยินดี ได้รับปีติไพบูลย์ [๖๙๔] ทวยเทพกั้นเศวตฉัตร มีซี่มากมาย ประกอบด้วยชั้น ๑,๐๐๐ ชั้น ไว้ในนภากาศ จามรด้ามทองทั้งหลาย โบกไปมาอยู่ แต่ผู้ถือจามรและเศวตฉัตรไม่ปรากฏ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า : ๖๖๔}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [๓. มหาวรรค]

๑๑. นาลกสูตร

[๖๙๕] ฤๅษีเกล้าชฎา นามว่ากัณหสิริ ได้เห็นพระกุมารงามดุจแท่งทองบนผ้ากัมพลแดง และเศวตฉัตรที่กั้นอยู่บนพระเศียร ก็มีจิตเบิกบาน ดีใจพลางช้อนอุ้มพระกุมารไว้แนบกาย [๖๙๖] พออุ้มพระกุมารผู้ประเสริฐไว้แล้ว อสิตฤๅษีผู้เรียนจบลักษณะมนตร์ ก็ตรวจพิจารณาลักษณะ มีจิตเลื่อมใส ได้เปล่งวาจาว่า พระกุมารนี้ไม่มีผู้อื่นเยี่ยมกว่า เป็นผู้สุงสุดในบรรดาสัตว์ ๒ เท้า [๖๙๗] ครั้นแล้ว อสิตฤๅษีหวนระลึกถึงการที่ตนต้องไปเกิด ก็ระทมใจจนน้ำตาไหล ซึ่งเจ้าศากยะทั้งหลายได้ทอดพระเนตรเห็นฤๅษีร้องไห้เช่นนั้น จึงตรัสถามว่า พระกุมารจะมีอันตรายหรืออย่างไร [๖๙๘] อสิตฤๅษีได้ทูลเจ้าศากยะทั้งหลาย ผู้ทอดพระเนตรเห็นแล้ว ไม่ทรงสบายพระทัยว่า ไม่ใช่อาตมภาพระลึกถึงสิ่งที่เป็นอัปปมงคลในพระกุมาร และก็ไม่ใช่พระกุมารนั้นจะทรงมีอันตราย พระกุมารนี้ไม่เป็นผู้ต่ำต้อยเลย ขอมหาบพิตรทั้งหลายจงสบายพระทัยเถิด [๖๙๙] พระกุมารนี้จะทรงบรรลุพระสัพพัญญุตญาณ จะทรงเห็นนิพพานที่บริสุทธิ์อย่างยิ่ง จะทรงบำเพ็ญประโยชน์เกื้อกูลแก่มหาชน จักประกาศธรรมจักร {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า : ๖๖๕}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [๓. มหาวรรค]

๑๑. นาลกสูตร

พรหมจรรย์๑- ของพระกุมารนี้ จะเผยแผ่ขจรไปอย่างกว้างขวาง [๗๐๐] แต่อายุของอาตมภาพเหลืออยู่ในโลกนี้ไม่นาน อาตมภาพจะต้องมรณภาพไปในระหว่างนี้ อาตมภาพนั้นจะไม่ได้สดับธรรมของพระกุมาร ผู้ทรงมีความเพียรหาผู้เสมอเหมือนมิได้ เพราะเหตุนั้น อาตมภาพจึงเร่าร้อนถึงความพินาศ ทุกข์ใจ [๗๐๑] อสิตฤๅษีนั้นทูลให้เจ้าศากยะทั้งหลาย เกิดความปีติเป็นล้นพ้นแล้ว จึงออกจากพระราชวังไปบำเพ็ญพรหมจรรย์ต่อไป พร้อมกับอนุเคราะห์หลานของตนเอง ฝึกให้เขาสมาทานในธรรมของพระผู้มีพระภาค ผู้ทรงมีความเพียรหาผู้เสมอเหมือนมิได้ [๗๐๒] กล่าวสอนว่า ต่อไปภายหน้า เจ้าได้ยินเสียงระบือไปว่า พระพุทธเจ้า พระสิทธัตถราชกุมารนี้ทรงบรรลุพระสัพพัญญุตญาณแล้ว กำลังทรงเผยแผ่ทางดำเนินสู่อมตธรรม เจ้าจงไปทูลสอบถามด้วยตนเองในสำนักของพระองค์ จงประพฤติพรหมจรรย์ในสำนักของพระผู้มีพระภาคพระองค์นั้นเถิด [๗๐๓] นาลกดาบสสั่งสมบุญไว้มาก ได้รับคำพร่ำสอนจากอสิตฤๅษี ผู้มีใจเกื้อกูล มีจิตมั่นคง ซึ่งเป็นผู้เห็นนิพพานอันบริสุทธิ์อย่างยิ่งในอนาคต จึงเฝ้ารักษาโสตินทรีย์ รอคอยพระชินสีห์อยู่ @เชิงอรรถ : @ พรหมจรรย์ ในที่นี้หมายถึงศาสนา (ขุ.สุ.อ. ๒/๖๙๙/๓๒๐) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า : ๖๖๖}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [๓. มหาวรรค]

๑๑. นาลกสูตร

[๗๐๔] นาลกดาบสได้ฟังเสียงระบือถึงการที่พระชินสีห์ ทรงประกาศธรรมจักรอันประเสริฐ จึงไปเข้าเฝ้าพระผู้มีพระภาคผู้ประเสริฐ องอาจกว่าฤๅษี แล้วเลื่อมใส ได้ทูลถามปฏิปทาที่ประเสริฐสุดกับพระมุนีผู้ประเสริฐ ในเมื่อเวลาคำสั่งสอนของอสิตฤๅษีมาถึงเข้า
วัตถุคาถา จบ
(นาลกดาบสทูลถามดังนี้) [๗๐๕] ข้าแต่พระโคดม คำของอสิตฤๅษีนั้น ข้าพระองค์ได้รู้ว่า เป็นจริงตามที่กล่าวแล้ว เพราะเหตุนั้น ข้าพระองค์ขอทูลถามพระองค์ ผู้ถึงฝั่งแห่งธรรมทั้งปวง [๗๐๖] พระองค์ผู้อันข้าพระองค์ทูลถามแล้ว ขอจงตรัสบอกมุนีและปฏิปทาอันสูงสุดของมุนีแห่งบรรพชิต ผู้แสวงหาการเที่ยวไปเพื่อภิกษา แก่ข้าพระองค์เถิด (พระผู้มีพระภาคตรัสตอบดังนี้) [๗๐๗] เราจักพยากรณ์ปฏิปทาของมุนีที่ปฏิบัติได้ยาก ทั้งให้เกิดความยินดีได้ยากแก่เธอ เอาเถิด เราจะบอกปฏิปทาของมุนีนั้นแก่เธอ เธอจงช่วยเหลือตนเอง จงเป็นผู้มั่นคงเถิด [๗๐๘] มุนีพึงทำทั้งคำด่าและการกราบไหว้ ในหมู่บ้านให้มีส่วนเสมอกัน คือพึงรักษาจิตไม่ให้คิดร้าย เป็นผู้สงบ ไม่ฟุ้งซ่านเที่ยวไป {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า : ๖๖๗}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [๓. มหาวรรค]

๑๑. นาลกสูตร

[๗๐๙] อารมณ์สูงต่ำ๑- เปรียบเหมือนเปลวไฟในป่าย่อมปรากฏ นารีมักประเล้าประโลมมุนี เธอจงระวังอย่าให้นางประเล้าประโลมได้ [๗๑๐] มุนีพึงงดเว้นจากเมถุนธรรม ละกามคุณทั้งที่ประณีตและไม่ประณีต ไม่ยินดียินร้ายในสัตว์ผู้ยังหวาดสะดุ้งและที่มั่นคง [๗๑๑] มุนีพึงทำตนให้เป็นอุปมาว่า เราฉันใด สัตว์เหล่านี้ก็ฉันนั้น สัตว์เหล่านี้ฉันใด เราก็ฉันนั้น ดังนี้แล้ว ไม่ฆ่าเอง ไม่ใช้ให้ผู้อื่นฆ่า [๗๑๒] มุนีละความปรารถนาและความโลภในปัจจัย ๔ ที่ปุถุชนพากันหลงยึดติดได้แล้ว เป็นผู้มีจักษุ ปฏิบัติปฏิปทาของมุนี ก็จะข้ามพ้นความทะยานอยากในปัจจัยซึ่งเป็นดุจเหวลึกนี้ได้ [๗๑๓] มุนีควรเป็นผู้มีท้องพร่อง ฉันอาหารแต่พอประมาณ มีความปรารถนาน้อย ปราศจากความละโมบ หมดความกระหายหิวด้วยความอยาก ไม่มีความอยากอีกต่อไป ดับความเร่าร้อนได้ตลอดกาล @เชิงอรรถ : @ อารมณ์สูงต่ำ หมายถึงอิฏฐารมณ์(อารมณ์ที่น่าปรารถนา) และอนิฏฐารมณ์(อารมณ์ที่ไม่น่าปรารถนา) @(ขุ.สุ.อ. ๒/๗๐๙/๓๒๔) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า : ๖๖๘}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [๓. มหาวรรค]

๑๑. นาลกสูตร

[๗๑๔] มุนีนั้นเที่ยวรับบิณฑบาตแล้ว ควรเข้าไปชายป่าทันที ยืนหรือนั่งที่โคนต้นไม้ชายป่านั้น [๗๑๕] มุนีนั้นควรจะขวนขวายในฌาน ทรงปัญญา ยินดีอยู่เฉพาะในชายป่า ควรเพ่งพินิจ ทำตนให้ยินดียิ่ง ณ โคนต้นไม้นั้น [๗๑๖] จากนั้น เมื่อราตรีสว่างแล้ว มุนีควรเข้าไปสู่บริเวณหมู่บ้าน ไม่ควรยินดีรับนิมนต์ฉันที่เรือน และอาหารที่เขานำมาจากบ้านถวายเจาะจง [๗๑๗] มุนีเข้าไปถึงหมู่บ้านแล้ว ไม่ควรรีบร้อนเข้าไปเรือนตระกูลอุปัฏฐาก เป็นผู้ตัดการพูดคุย ไม่ควรกล่าววาจาเกี่ยวกับการแสวงหาของกิน [๗๑๘] มุนีนั้นคิดว่า สิ่งที่เราได้แล้วล้วนแต่เป็นประโยชน์ทั้งนั้น ถึงไม่ได้ก็ดี ดังนี้แล้ว เป็นผู้คงที่ เพราะการได้และไม่ได้ทั้ง ๒ อย่างนั้น กลับเข้าไปยังที่อยู่ของตน เหมือนคนหาผลไม้เข้าไปยังต้นไม้ ฉะนั้น [๗๑๙] มุนีนั้นอุ้มบาตรเที่ยวไป ไม่เป็นใบ้ก็สมมติตนว่าเป็นใบ้ ไม่ควรดูหมิ่นทานว่าน้อย ไม่ควรดูแคลนทายกผู้ให้ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า : ๖๖๙}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [๓. มหาวรรค]

๑๑. นาลกสูตร

[๗๒๐] ปฏิปทา๑- ที่พระสมณะประกาศแล้ว มีทั้งสูงและต่ำ๒- มุนีผู้ปฏิบัติจะไปถึงฝั่งถึง ๒ ครั้งหามิได้๓- ฝั่งนี้ ผู้ปฏิบัติรู้ได้ครั้งเดียว ก็หามิได้๔- [๗๒๑] อนึ่ง มุนีเป็นภิกษุซึ่งตัดกระแสขาดแล้ว ไม่มีตัณหาซ่านไป ละกิจน้อยใหญ่ได้แล้ว ย่อมไม่มีความเร่าร้อน๕- [๗๒๒] เราจะพยากรณ์ปฏิปทาของมุนีให้เธอทราบต่อไปคือ ภิกษุผู้ปฏิบัติควรเป็นผู้มีคมมีดโกนเป็นเครื่องเปรียบ กดเพดานไว้ด้วยลิ้น สำรวมท้อง [๗๒๓] ควรเป็นผู้มีจิตไม่ท้อแท้ และไม่ควรครุ่นคิดกังวลมาก เป็นผู้หมดกลิ่นสาบ๖- ไม่มีตัณหาและทิฏฐิอาศัย มีพรหมจรรย์เป็นจุดหมาย @เชิงอรรถ : @ ปฏิปทา หมายถึงประเภทของการปฏิบัติ มี ๔ อย่าง คือ (๑) ทุกขาปฏิปทา ทันธาภิญญา (ปฏิบัติลำบาก @และรู้ได้ช้า) (๒) ทุกขาปฏิปทา ขิปปาภิญญา(ปฏิบัติลำบาก แต่รู้ได้เร็ว) (๓) สุขาปฏิปทา ทันธาภิญญา @(ปฏิบัติสะดวก แต่รู้ได้ช้า) (๔) สุขาปฏิปทา ขิปปาภิญญา(ปฏิบัติสะดวก และรู้ได้เร็ว) @(องฺ.จตุกฺก. (แปล) ๒๑/๑๖๑-๑๖๓/๒๒๖-๒๓๐) @ มีทั้งสูงและต่ำ หมายถึงปฏิปทาสูง คือ ทุกขาปฏิปทา ขิปปาภิญญา และสุขาปฏิปทา ขิปปาภิญญา @ส่วนปฏิปทาต่ำ คือ ทุกขาปฏิปทา ทันธาภิญญา และสุขาปฏิปทา ทันธาภิญญา (ขุ.สุ.อ. ๒/๗๒๐/๓๓๐) @ หมายถึงมุนีไม่สามารถบรรลุนิพพานถึง ๒ ครั้งได้ ข้อความนี้แสดงถึงภาวะที่ไม่มีความเสื่อม กล่าวคือ @กิเลสเหล่าใดที่ละได้แล้ว ก็ไม่ต้องกลับไปละกิเลสเหล่านั้นซ้ำอีก (ขุ.สุ.อ. ๒/๗๒๐/๓๓๐) @ ข้อความนี้แสดงภาวะที่ละกิเลสด้วยมรรคนั้นๆ ตามลำดับถึงอรหัตตมรรค มิใช่ละกิเลสทั้งหมดด้วยมรรค @ใดมรรคหนึ่ง (ขุ.สุ.อ. ๒/๗๒๐/๓๓๐) และดู อภิ.ก. ๓๗/๒๖๕/๔๗๔ @ ดูเทียบ ขุ.จู. (แปล) ๓๐/๗๔/๒๗๐ @ กลิ่นสาบ หมายถึงความโกรธ (องฺ.ฉกฺก.อ. ๓/๕๔/๑๓๔) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า : ๖๗๐}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [๓. มหาวรรค]

๑๑. นาลกสูตร

[๗๒๔] พึงฝึกฝนเพื่อการนั่งสงบผู้เดียว และเพื่อบำเพ็ญจิตภาวนาของสมณะ ความเป็นมุนีที่เราบอกไว้แล้วโดยส่วนเดียว หากเธอจักยินดีอยู่ผู้เดียว เธอก็จักปรากฏเกียรติคุณไปทั่ว ๑๐ ทิศ [๗๒๕] เธอได้ฟังเสียงสรรเสริญของนักปราชญ์ทั้งหลาย ผู้เพ่งพินิจอยู่ ตัดขาดจากกามแล้ว ต่อจากนั้น ควรทำหิริและศรัทธาให้ยิ่งขึ้น จึงนับว่าเป็นสาวกของเราได้ [๗๒๖] เธอจะเข้าใจคำที่เรากล่าวแล้วนั้นได้แจ่มแจ้ง ด้วยการเปรียบเทียบแม่น้ำกับลำคลอง และหนองบึง คือ แม่น้ำน้อยไหลดังสนั่น แม่น้ำสายใหญ่ๆ ไหลเงียบสงบ [๗๒๗] สิ่งใดพร่อง สิ่งนั้นดัง สิ่งใดเต็ม สิ่งนั้นเงียบ คนพาลเปรียบได้กับหม้อน้ำที่มีน้ำเพียงครึ่งเดียว บัณฑิตเปรียบได้กับห้วงน้ำที่เต็มเปี่ยม [๗๒๘] พระสมณพุทธเจ้าทรงรู้จักถ้อยคำที่จะตรัสให้มากว่า มีสาระประกอบด้วยประโยชน์ จึงทรงแสดงธรรม พระองค์ทรงรู้อยู่จึงตรัสได้มาก {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า : ๖๗๑}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [๓. มหาวรรค]

๑๒. ทวยตานุปัสสนาสูตร

[๗๒๙] อนึ่ง สมณะใดรู้แจ้งธรรม สำรวมจิตของตนได้ ไม่กล่าวมากทั้งที่รู้ สมณะนั้นชื่อว่าเป็นมุนี ย่อมควรแก่ปฏิปทาของมุนี สมณะนั้นเป็นมุนีได้บรรลุปฏิปทาของมุนี๑- แล้ว
นาลกสูตรที่ ๑๑ จบ
๑๒. ทวยตานุปัสสนาสูตร
ว่าด้วยการพิจารณาเห็นธรรมเป็นคู่
ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้ สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ บุพพาราม ปราสาทของนางวิสาขา- มิคารมาตา เขตกรุงสาวัตถี สมัยนั้นเป็นคืนวันเพ็ญ เป็นวันอุโบสถขึ้น ๑๕ ค่ำ พระผู้มีพระภาคประทับนั่งกลางแจ้งมีภิกษุสงฆ์แวดล้อม ทอดพระเนตรเห็นภิกษุ- สงฆ์สงบนิ่งจึงตรัสว่า “ภิกษุทั้งหลาย หากมีผู้ถามว่า ‘การฟังกุศลธรรมที่เป็นของ พระอริยะ เป็นเครื่องนำออกจากโลก เป็นเหตุให้ดำเนินไปสู่ความตรัสรู้ จะมี ประโยชน์อะไรแก่ท่านทั้งหลาย’ เธอทั้งหลายควรตอบเขาอย่างนี้ว่า ‘มีประโยชน์ให้ รู้จักธรรมแยกออกเป็น ๒ คู่ตามความเป็นจริง’ เธอทั้งหลายควรตอบเขาถึงธรรมแยกออกเป็น ๒ คู่ คือ (๑) การพิจารณาเห็นเนืองๆ ว่า ‘นี้ทุกข์ นี้ทุกขสมุทัย’ นี้เป็นคู่ที่ ๑ การพิจารณาเห็นเนืองๆ ว่า ‘นี้ทุกขนิโรธ นี้ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา’ นี้เป็นคู่ ที่ ๒ ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้พิจารณาเห็นธรรมแยกออกเป็น ๒ คู่โดยชอบเนืองๆ @เชิงอรรถ : @ บรรลุปฏิปทาของมุนี หมายถึงบรรลุอรหัตตมัคคญาณ (ขุ.สุ.อ. ๒/๗๒๗-๗๒๙/๓๓๒-๓๓๓) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า : ๖๗๒}


                  เนื้อความพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาฯ เล่มที่ ๒๕ หน้าที่ ๖๖๓-๖๗๒. http://84000.org/tipitaka/english/m_siri.php?B=25&siri=264              ฟังเนื้อความพระไตรปิฎก : [1], [2], [3].                   อ่านเทียบพระไตรปิฎกฉบับหลวง :- http://84000.org/tipitaka/english/v.php?B=25&A=9556&Z=9695                   ศึกษาอรรถกถานี้ได้ที่ :- http://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=25&i=388              พระไตรปิฏกฉบับภาษาบาลีอักษรไทย :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/pali_item_s.php?book=25&item=388&items=2              อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย :- http://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=29&A=7078              The Pali Tipitaka in Roman :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/roman_item_s.php?book=25&item=388&items=2              The Pali Atthakatha in Roman :- http://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=29&A=7078                   สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๕ http://84000.org/tipitaka/read/?index_mcu25              อ่านเทียบฉบับแปลอังกฤษ Compare with English Translation :- http://84000.org/tipitaka/english/metta.lk/25i354-e.php#sutta11 https://accesstoinsight.org/tipitaka/kn/snp/snp.3.11.than.html https://accesstoinsight.org/tipitaka/kn/snp/snp.3.11.olen.html https://suttacentral.net/snp3.11/en/mills https://suttacentral.net/snp3.11/en/sujato



บันทึก ๓๑ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๕๙ บันทึกล่าสุด ๒๒ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๖๐ การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจากพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย. หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :