ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ค้นพระไตรปิฎก ชาดก หนังสือธรรมะ
     ฉบับหลวง   ฉบับมหาจุฬาฯ   บาลีอักษรไทย   PaliRoman 
พระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๖ พระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๑๘ [ฉบับมหาจุฬาฯ] ขุททกนิกาย วิมาน-เปตวัตถุ เถร-เถรีคาถา

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย วิมานวัตถุ [๒. ปุริสวิมาน]

๕. มหารถวรรค ๒. เรวตีวิมาน

๒. เรวตีวิมาน
ว่าด้วยวิมานที่เกิดขึ้นแก่นันทิยะอุบาสกผู้เป็นสามีของนางเรวดี
(พระผู้มีพระภาคตรัสว่า) [๘๖๑] ญาติมิตรและสหายผู้มีใจดี ย่อมยินดีต้อนรับ บุคคลผู้ร้างแรมไปนาน แล้วกลับมาจากที่ไกลโดยสวัสดีว่า “มาแล้ว” ฉันใด [๘๖๒] บุญทั้งหลายก็เช่นเดียวกัน ย่อมต้อนรับ เฉพาะบุคคลผู้ทำบุญไว้แล้ว ซึ่งจากโลกนี้ไปสู่โลกหน้า เหมือนญาติต้อนรับญาติที่รักผู้กลับมา (ยักษ์บริวารของท้าวเวสวัณปรารถนาจะจับนางเรวดีโยนลงไปในอุสสทนรกจึงกล่าวว่า) [๘๖๓] จงลุกขึ้น นางเรวดีผู้แสนจะชั่วช้า มีปกติไม่ให้ทาน ประตู(นรก)เปิดแล้ว พวกเราจะนำเจ้าไปโยนลงนรก อันเป็นสถานที่ทอดถอนใจของเหล่าสัตว์นรก ผู้มีความทุกข์ทรมานทนทุกข์อยู่ (พระธรรมสังคีติกาจารย์ทั้งหลายกล่าวว่า) [๘๖๔] ยักษ์ใหญ่ตาแดงสองตนดังทูตพญายมนั้น ครั้นกล่าวดังนี้แล้ว ก็จับแขนนางเรวดีคนละข้าง พาไปใกล้หมู่เทวดา (นางเรวดีถามยักษ์สองตนว่า) [๘๖๕] นั่นวิมานของใคร มีรัศมีดังแสงอาทิตย์ น่าพอใจ เรืองรอง งดงาม น่าอยู่อาศัย ปกคลุมด้วยตาข่ายทอง เนืองแน่นไปด้วยเทพบุตรและเทพธิดา รุ่งโรจน์ดังแสงอาทิตย์ [๘๖๖] หมู่เทพนารีลูบไล้กายด้วยแก่นจันทน์หอม ช่วยทำวิมานทั้งภายในและภายนอกให้งดงาม วิมานนั้นมีรัศมีปรากฏเสมอด้วยแสงอาทิตย์ คนที่ขึ้นสวรรค์บันเทิงอยู่ในวิมานเป็นใครกัน {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า : ๑๐๑}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย วิมานวัตถุ [๒. ปุริสวิมาน]

๕. มหารถวรรค ๒. เรวตีวิมาน

(ยักษ์สองตนจึงบอกแก่นางเรวดีว่า) [๘๖๗] ที่กรุงพาราณสี มีอุบาสกชื่อนันทิยะ เป็นคนไม่ตระหนี่ เป็นทานบดี รู้ความประสงค์ของผู้ขอ วิมานที่เนืองแน่นไปด้วยเทพบุตรและเทพธิดา รุ่งโรจน์ดังแสงอาทิตย์ นั้นเป็นของนันทิยอุบาสก [๘๖๘] หมู่เทพนารีลูบไล้กายด้วยแก่นจันทน์หอม ช่วยทำวิมานทั้งภายในและภายนอกให้งดงาม วิมานนั้นมีรัศมีปรากฏเสมอด้วยแสงอาทิตย์ คนที่ขึ้นสวรรค์ บันเทิงอยู่ในวิมาน คือนันทิยอุบาสก (นางเรวดีกล่าวว่า) [๘๖๙] ฉันเป็นภรรยาของนันทิยอุบาสก เป็นใหญ่ในเรือน เป็นใหญ่ในทรัพย์สินทั้งหมดของสามี บัดนี้ ฉันจะรื่นรมย์ในวิมานของสามี ไม่ปรารถนาจะเห็นนรก (ยักษ์สองตนนั้นไม่ยอมเชื่อจึงพาตัวนางลงไปใกล้อุสสทนรกแล้วกล่าวว่า) [๘๗๐] นางผู้แสนจะชั่วช้า นี่แหละนรกสำหรับเจ้า บุญเจ้าไม่ได้ทำไว้ในมนุษยโลก เพราะคนตระหนี่ มักโกรธ มีบาปธรรม ย่อมไม่ได้อยู่ร่วมกับผู้เกิดในสวรรค์ (นางเรวดีเห็นนายนิรยบาลสองตนพากันมาฉุดคร่าตน เพื่อจะโยนลงไป ในคูถนรก ชื่อว่า สังสวกะ จึงถามถึงนรกนั้นว่า) [๘๗๑] ทำไมหนอจึงปรากฏแต่อุจจาระ ปัสสาวะ สิ่งสกปรก เหตุไฉน อุจจาระนี้จึงมีกลิ่นเหม็นร้ายกาจ คละคลุ้งไปเล่า (นายนิรยบาลตอบว่า) [๘๗๒] นางเรวดี นรกที่เจ้าจะหมกไหม้อยู่หลายพันปีนี้ มีชื่อว่า สังสวกนรก ลึกร้อยชั่วคน {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า : ๑๐๒}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย วิมานวัตถุ [๒. ปุริสวิมาน]

๕. มหารถวรรค ๒. เรวตีวิมาน

(นางเรวดีจึงถามว่า) [๘๗๓] ฉันทำกรรมชั่วทางกายวาจาใจอะไรหรือหนอ จึงตกสังสวกนรกที่ลึกร้อยชั่วคน (นายนิรยบาลตอบว่า) [๘๗๔] เจ้าลวงสมณพราหมณ์และวณิพกพวกอื่น ด้วยการกล่าวเท็จนั่นแหละบาปที่เจ้าทำไว้ [๘๗๕] เพราะบาปนั้นเจ้าจึงตกสังสวกนรกที่ลึก ๑๐๐ ชั่วคน นางเรวดี เจ้าจะต้องหมกไหม้อยู่ในนรกนั้นหลายพันปี [๘๗๖] นายนิรยบาลทั้งหลาย จะตัดมือ เท้า หู แม้กระทั่งจมูก อนึ่ง แม้ฝูงนกกาก็จะพากันมารุมจิกกินเจ้าที่ดิ้นทุรนทุรายอยู่ (นางเรวดีกล่าวว่า) [๘๗๗] โปรดเถิดพ่อคุณ ขอท่านทั้งหลายช่วยนำดิฉันกลับไปเถิด ดิฉันจักสร้างกุศลกรรม ที่คนทำแล้วได้รับความสุข และไม่เดือดร้อนในภายหลังนั้นให้มาก ด้วยการให้ทาน ประพฤติธรรมสม่ำเสมอ การสำรวม และการฝึกอินทรีย์ (นายนิรยบาลกล่าวว่า) [๘๗๘] เมื่อก่อน เจ้าประมาทมัวเมา บัดนี้จะมาร่ำไห้ทำไมเล่า เจ้าจักต้องเสวยผลกรรมทั้งหลายที่เจ้าทำไว้เอง (นางเรวดีกล่าวว่า) [๘๗๙] ใครจากเทวโลกไปยังมนุษยโลก เมื่อถูกถาม พึงกล่าวถ้อยคำของดิฉันอย่างนี้ว่า ขอท่านทั้งหลายจงถวายทาน คือผ้านุ่ง ผ้าห่ม ที่นอน ที่นั่ง ข้าวและน้ำ ในสมณพราหมณ์ทั้งหลายผู้ปล่อยวางอาชญา เพราะว่าคนตระหนี่ มักโกรธ มีบาปธรรม ย่อมไม่ได้เกิดร่วมกับผู้ไปสวรรค์ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า : ๑๐๓}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย วิมานวัตถุ [๒. ปุริสวิมาน]

๕. มหารถวรรค ๒. เรวตีวิมาน

[๘๘๐] ถ้าดิฉันนั้นจากที่นี้ไป ได้เกิดเป็นมนุษย์แล้ว จักรู้ความประสงค์ของผู้ขอ สมบูรณ์ด้วยศีล จักสร้างกุศลให้มากด้วยการให้ทาน ประพฤติธรรมสม่ำเสมอ การสำรวม และการฝึกอินทรีย์ [๘๘๑] ดิฉันจักปลูกสวนไม้ดอกไม้ผล จักตัดทางเข้าไปในสถานที่ที่เดินลำบาก ขุดบ่อน้ำและตั้งน้ำดื่มไว้ด้วยใจที่ผ่องแผ้ว [๘๘๒] จักเข้าจำอุโบสถศีลซึ่งประกอบด้วยองค์ ๘ ทุกวัน ๑๔ ค่ำ ๑๕ ค่ำและ ๘ ค่ำแห่งปักษ์ และตลอดวันปาฏิหาริยปักษ์ [๘๘๓] ดิฉันจักสำรวมระวังในศีลตลอดเวลา และจักไม่ละเลยในการให้ทาน เพราะผลกรรมนี้ ดิฉันได้เห็นเองแล้ว (พระสังคีติกาจารย์กล่าวไว้ว่า) [๘๘๔] นายนิรยบาลทั้งหลายช่วยกันโยนนางเรวดี ที่กำลังพร่ำเพ้อดิ้นรนไปมาอยู่อย่างนี้ ให้เท้าชี้หัวดิ่งลงไปในนรกอันน่ากลัว (นางเรวดีได้กล่าวคาถาสุดท้ายอีกว่า) [๘๘๕] ชาติก่อน ฉันเป็นคนตระหนี่ ด่าว่าสมณพราหมณ์ และลวงสามีด้วยเรื่องไม่จริง จึงหมกไหม้ในนรกที่น่ากลัว
เรวตีวิมานที่ ๒ จบ
{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า : ๑๐๔}


                  เนื้อความพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาฯ เล่มที่ ๒๖ หน้าที่ ๑๐๑-๑๐๔. http://84000.org/tipitaka/english/m_siri.php?B=26&siri=52              ฟังเนื้อความพระไตรปิฎก : [1], [2].                   อ่านเทียบพระไตรปิฎกฉบับหลวง :- http://84000.org/tipitaka/english/v.php?B=26&A=1817&Z=1902                   ศึกษาอรรถกถานี้ได้ที่ :- http://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=26&i=52              พระไตรปิฏกฉบับภาษาบาลีอักษรไทย :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/pali_item_s.php?book=26&item=52&items=1              อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย :- http://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=30&A=5339              The Pali Tipitaka in Roman :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/roman_item_s.php?book=26&item=52&items=1              The Pali Atthakatha in Roman :- http://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=30&A=5339                   สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๖ http://84000.org/tipitaka/read/?index_mcu26



บันทึก ๓๑ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๕๙ บันทึกล่าสุด ๒๒ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๖๐ การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจากพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย. หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :