ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ค้นพระไตรปิฎก ชาดก หนังสือธรรมะ
     ฉบับหลวง   ฉบับมหาจุฬาฯ   บาลีอักษรไทย   PaliRoman 
พระไตรปิฎกเล่มที่ ๓๐ พระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๒๒ [ฉบับมหาจุฬาฯ] ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส [ปารายนวรรค]

๕. มาณวปัญหานิทเทส ๑๑. ชตุกัณณิมาณวปัญหานิทเทส

๑๑. ชตุกัณณิมาณวปัญหานิทเทส๑-
ว่าด้วยปัญหาของชตุกัณณิมาณพ
[๖๕] (ท่านชตุกัณณิทูลถาม ดังนี้) ข้าแต่พระวีระ ข้าพระองค์ได้ยินว่า พระองค์ไม่มีความใคร่กาม ล่วงพ้นห้วงกิเลส จึงมาเฝ้าเพื่อทูลถามพระองค์ผู้ไม่มีกาม ข้าแต่พระสหชเนตร ขอพระองค์โปรดตรัสบอกสันติบท ข้าแต่พระผู้มีพระภาค ขอพระองค์โปรดตรัสบอกธรรม อันแท้จริงนั้นแก่ข้าพระองค์ (๑) คำว่า ข้าแต่พระวีระ ข้าพระองค์ได้ยินว่า พระองค์ไม่มีความใคร่กาม อธิบายว่า ข้าพระองค์ได้ยิน คือ สดับ เรียน ทรงจำ เข้าไปกำหนดไว้ว่า “แม้ เพราะเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น เป็นพระอรหันต์ ฯลฯ เป็นพระพุทธเจ้า เป็นพระผู้มีพระภาค” รวมความว่า ข้าพระองค์ได้ยินว่า
ว่าด้วยพระผู้มีพระภาคชื่อว่าวีระ
คำว่า ข้าแต่พระวีระ อธิบายว่า พระผู้มีพระภาคผู้วีระ มีพระวิริยะ จึงชื่อว่าวีระ พระผู้มีพระภาคทรงองอาจ จึงชื่อว่าวีระ พระผู้มีพระภาคทรงให้ผู้อื่นพากเพียร จึงชื่อว่าวีระ พระผู้มีพระภาคทรงสามารถ จึงชื่อว่าวีระ พระผู้มีพระภาคทรงกล้าหาญ จึงชื่อว่าวีระ คือ ทรงก้าวไปข้างหน้า ไม่ขลาด ไม่หวาดเสียว ไม่สะดุ้ง ไม่หนี ทรงละ ภัยและความหวาดกลัวได้แล้ว หมดความขนพองสยองเกล้า จึงชื่อว่าพระวีระ @เชิงอรรถ : @ ขุ.สุ. ๒๕/๑๑๐๓-๑๑๐๗/๕๔๕ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๐ หน้า : ๒๔๕}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส [ปารายนวรรค]

๕. มาณวปัญหานิทเทส ๑๑. ชตุกัณณิมาณวปัญหานิทเทส

พระผู้มีพระภาคทรงเว้นขาดจากบาปธรรมทั้งปวงในโลกนี้ ก้าวล่วงทุกข์ในนรก ทรงอยู่ด้วยความเพียร ทรงมีความเพียร มีความมุ่งมั่น แกล้วกล้า มั่นคง เรียกได้ว่า ทรงเป็นอย่างนั้น คำว่า ข้าแต่พระวีระ ข้าพระองค์ได้ยินว่าพระองค์ไม่มีความใคร่กาม อธิบายว่า คำว่า กาม ได้แก่ กาม ๒ อย่าง แบ่งตามหมวด คือ (๑) วัตถุกาม (๒) กิเลสกาม ฯลฯ เหล่านี้เรียกว่า วัตถุกาม ฯลฯ เหล่านี้ เรียกว่ากิเลสกาม๑- พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าทรงกำหนดรู้วัตถุกาม ทรงละกิเลสกามได้แล้ว เพราะ เป็นผู้ทรงกำหนดรู้วัตถุกาม เพราะทรงละกิเลสกามได้แล้ว พระผู้มีพระภาคจึงไม่ ทรงใคร่ในกาม คือ ไม่ปรารถนา ไม่มุ่งหมาย ไม่มุ่งหวังในกาม ชนเหล่าใดใคร่กาม ปรารถนา มุ่งหมาย มุ่งหวังกาม ชนเหล่านั้น ชื่อว่า ยังใคร่กาม กำหนัดในราคะ มีความสำคัญในสัญญา พระผู้มีพระภาคไม่ทรงใคร่กาม ไม่ทรงปรารถนา ไม่มุ่งหมาย ไม่มุ่งหวังกาม ฉะนั้น พระพุทธเจ้าจึงชื่อว่าไม่มีกาม คือ ทรงปราศจากกาม สละกามแล้ว คายกามแล้ว ปล่อยกามแล้ว ละกามแล้ว สลัดทิ้งกามแล้ว คลายราคะแล้ว ปราศจากราคะแล้ว สละราคะแล้ว คายราคะแล้ว ปล่อยราคะแล้ว ละราคะแล้ว สลัดทิ้งราคะแล้ว เป็นผู้หมดความอยากแล้ว ดับแล้ว เย็นแล้ว มีตนอันประเสริฐ เสวยสุขอยู่ รวมความว่า ข้าแต่พระวีระ ข้าพระองค์ได้ยินว่าพระองค์ไม่มีความ ใคร่กาม คำว่า ดังนี้ ในคำว่า ท่านชตุกัณณิทูลถาม ดังนี้ เป็นบทสนธิ ฯลฯ คำว่า ดังนี้ นี้ เป็นคำเชื่อมบทหน้ากับบทหลังเข้าด้วยกัน คำว่า ท่าน เป็นคำกล่าวด้วยความรัก คำว่า ท่าน นี้ เป็นคำกล่าวที่มี ความเคารพและความยำเกรง @เชิงอรรถ : @ ดูรายละเอียดข้อ ๘/๖๖-๖๗ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๐ หน้า : ๒๔๖}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส [ปารายนวรรค]

๕. มาณวปัญหานิทเทส ๑๑. ชตุกัณณิมาณวปัญหานิทเทส

คำว่า ชตุกัณณิ เป็นโคตรของพราหมณ์นั้น ฯลฯ ชื่อเรียกเฉพาะ๑ รวมความ ว่า ท่านชตุกัณณิทูลถาม ดังนี้ คำว่า ล่วงพ้นห้วงกิเลส ในคำว่า ล่วงพ้นห้วงกิเลส จึงมาเฝ้าเพื่อทูลถาม พระองค์ผู้ไม่มีกาม อธิบายว่า ล่วงพ้นห้วงกิเลส คือ ก้าวล่วง ก้าวพ้น ล่วง พ้นห้วงกิเลสแล้ว รวมความว่า ล่วงพ้นห้วงกิเลส คำว่า เพื่อทูลถาม ได้แก่ เพื่อทูลถาม คือ เพื่อทูลปุจฉา ทูลขอ ทูลอัญเชิญ ทูลให้ทรงประกาศ คำว่า จึงมาเฝ้า ... ผู้ไม่มีกาม อธิบายว่า จึงมาเฝ้า คือ เป็นผู้มาเฝ้าแล้ว มาเข้าเฝ้าแล้ว ถึงพร้อมแล้ว เป็นผู้มาถึงพร้อมกับพระองค์แล้ว เพื่อทูลถามพระ องค์ผู้ไม่มีกาม คือ ทรงปราศจากกาม สละกามแล้ว คายกามแล้ว ปล่อยกามแล้ว ละกามแล้ว สลัดทิ้งกามแล้ว ได้แก่ คลายราคะแล้ว ปราศจากราคะแล้ว สละ ราคะแล้ว คายราคะแล้ว ปล่อยราคะแล้ว ละราคะแล้ว สลัดทิ้งราคะแล้ว รวม ความว่า ล่วงพ้นห้วงกิเลส จึงมาเฝ้าเพื่อทูลถามพระองค์ผู้ไม่มีกาม คำว่า ข้าแต่พระสหชเนตร ขอพระองค์โปรดตรัสบอกสันติบท อธิบายว่า คำว่า สันติ ได้แก่ ทั้งสันติและสันติบท มีความหมายอย่างเดียวกัน สันติบท นั้นเอง คือ อมตนิพพาน ได้แก่ ธรรมเป็นที่ระงับสังขารทั้งปวง เป็นที่สลัดทิ้งอุปธิ ทั้งหมด เป็นที่สิ้นตัณหา เป็นที่คลายกำหนัด เป็นที่ดับกิเลส เป็นที่เย็นสนิท สมจริงดังที่พระผู้มีพระภาคตรัสไว้ว่า “บทนี้สงบ บทนี้ประณีต คือ ธรรม เป็นที่ระงับสังขารทั้งปวง เป็นที่สลัดทิ้งอุปธิทั้งหมด เป็นที่สิ้นตัณหา เป็นที่ดับกิเลส เป็นที่เย็นสนิท” อีกประการหนึ่ง ธรรมเหล่าใด เป็นไปเพื่อบรรลุความสงบ ถูกต้องความสงบ ทำให้แจ้งความสงบ คือ สติปัฏฐาน ๔ สัมมัปปธาน ๔ อิทธิบาท ๔ อินทรีย์ ๕ พละ ๕ โพชฌงค์ ๗ อริยมรรคมีองค์ ๘ เหล่านี้ก็ตรัสเรียกว่า สันติบท @เชิงอรรถ : @ ดูรายละเอียดข้อ ๑/๔๔ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๐ หน้า : ๒๔๗}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส [ปารายนวรรค]

๕. มาณวปัญหานิทเทส ๑๑. ชตุกัณณิมาณวปัญหานิทเทส

ขอพระองค์โปรดตรัส คือ โปรดบอก แสดง บัญญัติ กำหนด เปิดเผย จำแนก ทำให้ง่าย ประกาศสันติบท คือ ตาณบท เลณบท สรณบท อภยบท อัจจุตบท อมตบท นิพพานบท คำว่า ข้าแต่พระสหชเนตร อธิบายว่า พระสัพพัญญุตญาณตรัสเรียกว่า พระเนตร พระเนตรและความเป็นพระชินเจ้าของพระผู้มีพระภาคพุทธเจ้า เกิดขึ้น ในขณะเดียวกัน ไม่ก่อน ไม่หลังกัน ที่โคนต้นโพธิ์ ฉะนั้น พระพุทธเจ้า จึงมี พระนามว่าพระสหชเนตร รวมความว่า ข้าแต่พระสหชเนตร ขอพระองค์โปรด ตรัสบอกสันติบท คำว่า ข้าแต่พระผู้มีพระภาค ขอพระองค์โปรดตรัสบอกธรรมอันแท้จริงนั้น แก่ข้าพระองค์ อธิบายว่า อมตนิพพานตรัสเรียกว่า ธรรมแท้จริง ได้แก่ ธรรม เป็นที่ระงับสังขารทั้งปวง เป็นที่สลัดทิ้งอุปธิทั้งหมด เป็นที่สิ้นตัณหา เป็นที่คลาย กำหนัด เป็นที่ดับกิเลส เป็นที่เย็นสนิท คำว่า พระผู้มีพระภาค นี้ เป็นคำกล่าวโดยความเคารพ ฯลฯ คำว่า พระ ผู้มีพระภาค นี้ เป็นสัจฉิกาบัญญัติ๑- คำว่า ขอพระองค์โปรดตรัสบอก...นั้นแก่ข้าพระองค์ ได้แก่ ขอพระองค์ โปรดตรัส คือ โปรดบอก ฯลฯ ประกาศ รวมความว่า ข้าแต่พระผู้มีพระภาค ขอพระองค์ โปรดตรัสบอกธรรมอันแท้จริงนั้นแก่ข้าพระองค์ ด้วยเหตุนั้น พราหมณ์นั้นจึงกราบทูลว่า (ท่านชตุกัณณิทูลถาม ดังนี้) ข้าแต่พระวีระ ข้าพระองค์ได้ยินว่า พระองค์ไม่มีความใคร่กาม ล่วงพ้นห้วงกิเลส จึงมาเฝ้าเพื่อจะทูลถามพระองค์ผู้ไม่มีกาม ข้าแต่พระสหชเนตร ขอพระองค์โปรดตรัสบอกสันติบท ข้าแต่พระผู้มีพระภาค ขอพระองค์โปรดตรัสบอกธรรม อันแท้จริงนั้นแก่ข้าพระองค์ @เชิงอรรถ : @ ดูรายละเอียดข้อ ๒/๔๖-๔๘ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๐ หน้า : ๒๔๘}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส [ปารายนวรรค]

๕. มาณวปัญหานิทเทส ๑๑. ชตุกัณณิมาณวปัญหานิทเทส

[๖๖] (ท่านชตุกัณณิทูลถามว่า) อนึ่ง พระผู้มีพระภาคทรงครอบงำกามทั้งหลาย ด้วยพระเดช ทรงเคลื่อนไหว(อิริยาบถ)อยู่ เหมือนดวงอาทิตย์มีแสงสว่าง ส่องแสงปกคลุมทั่วปฐพี พระองค์ผู้มีพระปัญญาดุจภูริ ขอพระองค์โปรดตรัสบอกธรรมเป็นเครื่องละชาติ และชราในโลกนี้ ซึ่งข้าพระองค์จะพึงรู้แจ้ง แก่ข้าพระองค์ผู้มีปัญญาน้อยด้วยเถิด (๒) คำว่า พระผู้มีพระภาค ในคำว่า อนึ่ง พระผู้มีพระภาคทรงครอบงำกาม ทั้งหลาย (ด้วยพระเดช) ทรงเคลื่อนไหว (อิริยาบถ) อยู่ เป็นคำกล่าวโดย ความเคารพ ฯลฯ คำว่า พระผู้มีพระภาค นี้ เป็นสัจฉิกาบัญญัติ คำว่า กาม ได้แก่ กาม ๒ อย่าง แบ่งตามหมวด คือ (๑) วัตถุกาม (๒) กิเลสกาม ฯลฯ เหล่านี้เรียกว่า วัตถุกาม ฯลฯ เหล่านี้เรียกว่า กิเลสกาม พระผู้มีพระภาคทรงกำหนดรู้วัตถุกาม ทรงละ ครอบงำ คือ ข่มขี่ ท่วมทับ ควบคุม ย่ำยีกิเลสกามได้แล้ว เสด็จไป ประทับอยู่ ทรงเคลื่อนไหว ทรงเป็นไป ทรงเลี้ยงพระชนมชีพ ทรงดำเนินไป ทรงยังพระชนมชีพให้ดำเนินไปอยู่ รวมความว่า อนึ่ง พระผู้มีพระภาคทรงครอบงำกามทั้งหลาย (ด้วยพระเดช) ทรงเคลื่อนไหว (อิริยาบถ)อยู่ คำว่า เหมือนดวงอาทิตย์มีแสงสว่าง ส่องแสงปกคลุมทั่วปฐพี อธิบายว่า พระสุรียะเรียกว่า ดวงอาทิตย์ พื้นแผ่นดินเรียกว่า ปฐพี ดวงอาทิตย์มีแสงสว่าง คือ ประกอบด้วยแสงสว่าง ครอบงำ ข่มขี่ ท่วมทับ ปกคลุม แผดเผาแผ่นดิน ขจัดความมืด คือกำจัดความมืดมิดในอากาศทั้งหมดแล้ว ส่องแสงสว่างโคจรไปในอากาศบนท้องฟ้าอันโปร่งใส ฉันใด พระผู้มีพระภาคมีพระ เดชคือญาณ คือ ประกอบด้วยพระเดชคือญาณ ทรงกำจัดอภิสังขารสมุทัยทั้งปวง ฯลฯ ความมืดคือกิเลส ความมืดคืออวิชชา ทรงส่องแสงสว่างคือพระญาณ ทรง กำหนดรู้วัตถุกาม ทรงละ ครอบงำ ข่มขี่ ท่วมทับ ควบคุม ย่ำยีกิเลสกามได้แล้ว {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๐ หน้า : ๒๔๙}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส [ปารายนวรรค]

๕. มาณวปัญหานิทเทส ๑๑. ชตุกัณณิมาณวปัญหานิทเทส

เสด็จไป ประทับอยู่ ทรงเคลื่อนไหว ทรงเป็นไป ทรงเลี้ยงพระชนมชีพ ทรงดำเนินไป ทรงยังพระชนมชีพให้ดำเนินไป ฉันนั้น รวมความว่า เหมือน ดวงอาทิตย์มีแสงสว่าง ส่องแสงปกคลุมทั่วปฐพี คำว่า พระองค์ผู้มีพระปัญญาดุจภูริ... แก่ข้าพระองค์ผู้มีปัญญาน้อยด้วย เถิด อธิบายว่า ข้าพระองค์เป็นผู้มีปัญญาน้อย คือ มีปัญญาต่ำทราม มีปัญญา น่ารังเกียจ มีปัญญาหยาบ ส่วนพระองค์มีพระปัญญามาก คือ มีพระปัญญา กว้างขวาง มีพระปัญญาอาจหาญ มีพระปัญญาฉับไว มีพระปัญญาเฉียบคม มี พระปัญญาเพิกถอนกิเลส แผ่นดินท่านเรียกว่า ภูริ พระผู้มีพระภาคทรงประกอบด้วยปัญญาอันกว้าง ขวาง แผ่ไป เสมอด้วยแผ่นดินนั้น รวมความว่า พระองค์ผู้มีพระปัญญาดุจภูริ... แก่ข้าพระองค์ผู้มีปัญญาน้อยด้วยเถิด คำว่า ขอพระองค์โปรดตรัสบอกธรรม ในคำว่า ขอพระองค์โปรดตรัสบอก ธรรม ... ซึ่งข้าพระองค์จะพึงรู้แจ้ง อธิบายว่า ขอพระองค์โปรดตรัสบอก คือ แสดง บัญญัติ กำหนด เปิดเผย จำแนก ทำให้ง่าย ประกาศธรรม คือ พรหมจรรย์ ที่มีความงามในเบื้องต้น มีความงามในท่ามกลาง มีความงามในที่สุด พร้อมทั้ง อรรถและพยัญชนะ บริสุทธิ์บริบูรณ์ครบถ้วน สติปัฏฐาน ๔ ฯลฯ นิพพาน และปฏิปทาเครื่องดำเนินไปสู่นิพพาน คำว่า ซึ่งข้าพระองค์จะพึงรู้แจ้ง ได้แก่ ซึ่งข้าพระองค์พึงรู้ คือ พึงรู้ทั่ว รู้แจ่มแจ้ง รู้เฉพาะ รู้แจ้งเฉพาะ แทงตลอด บรรลุ ถูกต้อง ทำให้แจ้ง รวมความว่า โปรดตรัสบอกธรรม... ซึ่งข้าพระองค์จะพึงรู้แจ้ง คำว่า ธรรมเป็นเครื่องละชาติและชราในโลกนี้ อธิบายว่า ธรรมเป็นเครื่อง ละ คือ ธรรมเป็นเครื่องเข้าไปสงบ เป็นเครื่องสลัดทิ้ง เป็นเครื่องระงับชาติชรา และมรณะในโลกนี้ คืออมตนิพพาน รวมความว่า ธรรมเป็นเครื่องละชาติและชรา ในโลกนี้ ด้วยเหตุนั้น พราหมณ์นั้นจึงกราบทูลว่า {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๐ หน้า : ๒๕๐}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส [ปารายนวรรค]

๕. มาณวปัญหานิทเทส ๑๑. ชตุกัณณิมาณวปัญหานิทเทส

อนึ่ง พระผู้มีพระภาคทรงครอบงำกามทั้งหลาย ด้วยพระเดช ทรงเคลื่อนไหว(อิริยาบถ)อยู่ เหมือนดวงอาทิตย์มีแสงสว่าง ส่องแสงปกคลุมทั่วปฐพี พระองค์ผู้มีพระปัญญาดุจภูริ ขอพระองค์โปรดตรัสบอกธรรมเป็นเครื่องละชาติ และชราในโลกนี้ ซึ่งข้าพระองค์จะพึงรู้แจ้ง แก่ข้าพระองค์ผู้มีปัญญาน้อยด้วยเถิด [๖๗] (พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า ชตุกัณณิ) เธอจงกำจัดความติดใจในกามทั้งหลายเสีย เธอเห็นเนกขัมมะโดยความเกษมแล้ว ควรสลัดเครื่องกังวลที่ยึดถือ หรือว่าเครื่องกังวลอย่าได้มีแก่เธอ (๓) คำว่า ในกามทั้งหลาย ในคำว่า เธอจงกำจัดความติดใจในกามทั้งหลาย เสีย ได้แก่ กาม ๒ อย่าง แบ่งตามหมวด คือ (๑) วัตถุกาม (๒) กิเลสกาม ฯลฯ เหล่านี้เรียกว่า วัตถุกาม ฯลฯ เหล่านี้เรียกว่า กิเลสกาม๑- คำว่า ความติดใจ อธิบายว่า ตัณหาตรัสเรียกว่า ความติดใจ ได้แก่ ความกำหนัด ความกำหนัดนัก ฯลฯ อภิชฌา อกุศลมูลคือโลภะ คำว่า เธอจงกำจัดความติดใจในกามทั้งหลายเสีย อธิบายว่า เธอจงกำจัด คือ ขจัด ละ บรรเทา ทำให้หมดสิ้นไป ให้ถึงความไม่มีอีกซึ่งความกำหนัดใน กามทั้งหลาย รวมความว่า เธอจงกำจัดความติดใจในกามทั้งหลายเสีย คำว่า ชตุกัณณิ เป็นคำที่พระผู้มีพระภาคตรัสเรียกพราหมณ์นั้นโดยโคตร คำว่า พระผู้มีพระภาค นี้ เป็นคำกล่าวโดยความเคารพ ฯลฯ คำว่า พระผู้มีพระภาค นี้ เป็นสัจฉิกาบัญญัติ๒- รวมความว่า พระผู้มีพระภาตตรัสตอบว่า ชตุกัณณิ @เชิงอรรถ : @ ดูรายละเอียดข้อ ๘/๖๖-๖๗ @ ดูรายละเอียดข้อ ๒/๔๖-๔๘ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๐ หน้า : ๒๕๑}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส [ปารายนวรรค]

๕. มาณวปัญหานิทเทส ๑๑. ชตุกัณณิมาณวปัญหานิทเทส

ว่าด้วยธรรมอันเกษม
คำว่า เนกขัมมะ ในคำว่า เธอเห็นเนกขัมมะโดยความเกษมแล้ว อธิบาย ว่า เธอเห็นแล้ว คือ แลเห็น เทียบเคียง พิจารณา ทำให้กระจ่าง ทำให้แจ่ม แจ้งซึ่งการปฏิบัติชอบ การปฏิบัติเหมาะสม การปฏิบัติที่ไม่เป็นข้าศึก การปฏิบัติ ที่เอื้อประโยชน์ การปฏิบัติธรรมถูกต้องตามหลักธรรม การรักษาศีลให้บริบูรณ์ ความเป็นผู้สำรวมอินทรีย์ ๖ (ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ) ความเป็นผู้รู้จัก ประมาณ ในการบริโภคอาหาร ความเป็นผู้มีความเพียรเป็นเครื่องตื่นอยู่เสมอ สติสัมปชัญญะ สติปัฏฐาน ๔ สัมมัปปธาน ๔ อิทธิบาท ๔ อินทรีย์ ๕ พละ ๕ โพชฌงค์ ๗ อริยมรรคมีองค์ ๘ นิพพาน และปฏิปทาเครื่องดำเนินไปสู่นิพพาน โดยความเป็นธรรมเกษม คือ เป็นที่ปกป้อง เป็นที่หลีกเร้น เป็นที่พึ่ง ที่อาศัย ที่ ปลอดภัย ที่ไม่จุติ ที่ไม่ตาย ที่ดับเย็น รวมความว่า เธอเห็นเนกขัมมะโดยความ เกษมแล้ว คำว่า เครื่องกังวลที่ยึดถือ ในคำว่า ควรสลัดเครื่องกังวลที่ยึดถือ หรือว่า อธิบายว่า เครื่องกังวลที่ถือแล้ว ยึดมั่นแล้ว ถือมั่นแล้ว ติดใจแล้ว น้อมใจเชื่อแล้ว ด้วยอำนาจตัณหา ด้วยอำนาจทิฏฐิ คำว่า ควรสลัด ... หรือว่า อธิบายว่า ควรสลัด คือ ควรเปลื้อง ละ บรรเทา ทำให้หมดสิ้นไป ให้ถึงความไม่มีอีก หรือว่า รวมความว่า ควรสลัดเครื่องกังวล ที่ยึดถือ หรือว่า คำว่า เครื่องกังวลอย่าได้มีแก่เธอ อธิบายว่า เครื่องกังวลคือราคะ เครื่อง กังวลคือโทสะ เครื่องกังวลคือโมหะ เครื่องกังวลคือมานะ เครื่องกังวลคือทิฏฐิ เครื่องกังวลคือกิเลส เครื่องกังวลคือทุจริต เครื่องกังวลนี้อย่าได้มี คือ อย่าได้ ประสบ อย่าได้ปรากฏแก่เธอเลย ได้แก่ เธอจงละ บรรเทา ทำให้หมดสิ้นไป ให้ถึงความไม่มีอีก รวมความว่า เครื่องกังวลอย่าได้มีแก่เธอ ด้วยเหตุนั้น พระผู้- มีพระภาคจึงตรัสว่า {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๐ หน้า : ๒๕๒}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส [ปารายนวรรค]

๕. มาณวปัญหานิทเทส ๑๑. ชตุกัณณิมาณวปัญหานิทเทส

(พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า ชตุกัณณิ) เธอจงกำจัดความติดใจในกามทั้งหลายเสีย เธอเห็นเนกขัมมะโดยความเกษมแล้ว ควรสลัดเครื่องกังวลที่ยึดถือ หรือว่าเครื่องกังวลอย่าได้มีแก่เธอ [๖๘] (พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า) เธอจงทำกิเลสที่ปรารภสังขารในส่วนเบื้องต้นให้เหือดแห้งไป เครื่องกังวลที่ปรารภสังขารในส่วนภายหลังอย่าได้มีแก่เธอ ถ้าเธอจักไม่ถือสังขารในส่วนท่ามกลางไว้ ก็จักเป็นผู้เข้าไปสงบ เที่ยวไป (๔) คำว่า เธอจงทำกิเลสที่ปรารภสังขารในส่วนเบื้องต้นให้เหือดแห้งไป อธิบายว่า กิเลสเหล่าใดพึงปรารภสังขารที่เป็นอดีตเกิดขึ้น เธอจงทำกิเลสเหล่านั้น ให้แห้งไป เหือดแห้งไป คือ แห้งเหือดไป แห้งหายไป ทำให้หมดพืชพันธุ์ จงละ บรรเทา ทำให้หมดสิ้นไป ให้ถึงความไม่มีอีก รวมความว่า เธอจงทำกิเลสที่ ปรารภสังขารในส่วนเบื้องต้นให้เหือดแห้งไป อย่างนี้บ้าง อีกนัยหนึ่ง กัมมาภิสังขารที่เป็นอดีตซึ่งให้ผลเหล่าใด เธอจงทำกัมมาภิ- สังขารเหล่านั้นให้แห้งไป เหือดแห้งไป คือ แห้งเหือดไป แห้งหายไป ทำให้ หมดพืชพันธุ์ จงละ บรรเทา ทำให้หมดสิ้นไป ให้ถึงความไม่มีอีก รวมความว่า เธอจงทำกิเลสที่ปรารภสังขารในส่วนเบื้องต้นให้เหือดแห้งไป อย่างนี้บ้าง

ว่าด้วยอนาคตตรัสเรียกว่าส่วนภายหลัง คำว่า เครื่องกังวลที่ปรารภสังขารในส่วนภายหลังอย่าได้มีแก่เธอ อธิบายว่า เครื่องกังวลส่วนอนาคต ตรัสเรียกว่า ภายหลัง {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๐ หน้า : ๒๕๓}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส [ปารายนวรรค]

๕. มาณวปัญหานิทเทส ๑๑. ชตุกัณณิมาณวปัญหานิทเทส

เครื่องกังวลคือราคะ เครื่องกังวลคือโทสะ เครื่องกังวลคือโมหะ เครื่องกังวล คือมานะ เครื่องกังวลคือทิฏฐิ เครื่องกังวลคือกิเลส เครื่องกังวลคือทุจริต อัน ปรารภสังขารที่เป็นส่วนอนาคต เครื่องกังวลนี้อย่าได้มี คือ อย่าได้มีแล้วแก่เธอ ได้แก่ เธออย่าให้เกิด อย่าให้เกิดขึ้น อย่าให้บังเกิด จงละ บรรเทา ทำให้หมดสิ้นไป ให้ถึงความไม่มีอีก รวมความว่า เครื่องกังวลที่ปรารภสังขารในส่วนภายหลังอย่า ได้มีแก่เธอ คำว่า ถ้าเธอจักไม่ถือสังขารในส่วนท่ามกลางไว้ อธิบายว่า รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ที่เป็นปัจจุบัน ตรัสเรียกว่า ส่วนท่ามกลาง เธอจักไม่ถือ คือ ไม่ถือ ไม่ยึดถือ ไม่ใยดี ไม่พูดถึง ไม่ติดใจสังขารที่เป็น ปัจจุบันด้วยอำนาจตัณหา ด้วยอำนาจทิฏฐิ คือ จักละ บรรเทา ทำให้หมดสิ้นไป ให้ถึงความไม่มีอีกซึ่งความยินดี การบ่นถึง ความติดใจ ความถือ ความยึดมั่น ความถือมั่น รวมความว่า ถ้าเธอจักไม่ถือสังขารในส่วนท่ามกลางไว้ คำว่า ก็จักเป็นผู้เข้าไปสงบ เที่ยวไป อธิบายว่า ชื่อว่าเป็นผู้สงบ เพราะ สงบราคะ ชื่อว่าเป็นผู้สงบ เพราะสงบโทสะ ฯลฯ ชื่อว่าเป็นผู้สงบ เพราะสงบโมหะ ฯลฯ ชื่อว่าเป็นผู้สงบ เข้าไปสงบ คือ สงบเย็น ดับ ระงับ เพราะสงบ ระงับ สงบเย็น เผา ดับ ปราศจาก สงบระงับโกธะ ฯลฯ อุปนาหะ ฯลฯ อกุสลาภิสังขารทุกประเภท เที่ยวไป คือ อยู่ เคลื่อนไหว เป็นไป เลี้ยงชีวิต ดำเนินไป ยังชีวิตให้ดำเนินไป รวมความว่า ก็จักเป็นผู้เข้าไปสงบ เที่ยวไป ด้วยเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคจึงตรัส ตอบว่า เธอจงทำกิเลสที่ปรารภสังขารในส่วนเบื้องต้นให้เหือดแห้งไป เครื่องกังวลที่ปรารภสังขารในส่วนภายหลังอย่าได้มีแก่เธอ ถ้าเธอจักไม่ถือสังขารในส่วนท่ามกลางไว้ ก็จักเป็นผู้เข้าไปสงบ เที่ยวไป [๖๙] (พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า) พราหมณ์ อาสวะทั้งหลาย อันเป็นเหตุให้ถึงอำนาจแห่งมัจจุ ไม่มีแก่บุคคลนั้น ผู้คลายความติดใจในนามรูป โดยประการทั้งปวง (๕) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๐ หน้า : ๒๕๔}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส [ปารายนวรรค]

๕. มาณวปัญหานิทเทส ๑๑. ชตุกัณณิมาณวปัญหานิทเทส

คำว่า โดยประการทั้งปวง ในคำว่า พราหมณ์... ผู้คลายความติดใจใน นามรูปโดยประการทั้งปวง ได้แก่ ทุกสิ่งโดยอาการทั้งหมด ทุกอย่าง ไม่เหลือ ไม่มีส่วนเหลือโดยประการทั้งปวง คำว่า โดยประการทั้งปวง นี้ เป็นคำกล่าวรวมๆ ไว้ทั้งหมด คำว่า นาม ได้แก่ อรูปขันธ์ ๔ คำว่า รูป ได้แก่ มหาภูตรูป ๔ ๑- และรูปที่อาศัยมหาภูตรูป ๔ ๒- ตัณหา ตรัสเรียกว่า ความติดใจ ได้แก่ ความกำหนัด ความกำหนัดนัก ฯลฯ อภิชฌา อกุศลมูลคือโลภะ คำว่า พราหมณ์ ... ผู้คลายความติดใจในนามรูป โดยประการทั้งปวง อธิบายว่า พราหมณ์ พระอรหันตขีณาสพ ผู้คลายความติดใจแล้ว คือ ผู้ปราศจาก ความติดใจแล้ว สละความติดใจแล้ว คายความติดใจแล้ว ปล่อยความติดใจแล้ว ละความติดใจแล้ว สลัดทิ้งความติดใจได้แล้ว รวมความว่า พราหมณ์ ... ผู้ คลายความติดใจในนามรูป โดยประการทั้งปวง คำว่า อาสวะทั้งหลาย ในคำว่า อาสวะทั้งหลาย ... ไม่มีแก่บุคคลนั้น ได้แก่ อาสวะ ๔ อย่าง คือ ๑. กามาสวะ ๒. ภวาสวะ ๓. ทิฏฐาสวะ ๔. อวิชชาสวะ คำว่า แก่บุคคลนั้น ได้แก่ พระอรหันตขีณาสพ คำว่า ไม่มี อธิบายว่า อาสวะเหล่านี้ไม่มี คือ ไม่มีอยู่ ไม่ปรากฏ หาไม่ ได้แก่พระอรหันตขีณาสพนั้น ได้แก่ อาสวะทั้งหลายท่านละได้แล้ว ตัดขาดได้แล้ว ทำให้สงบได้แล้ว ระงับได้แล้ว ทำให้เกิดขึ้นไม่ได้อีก เผาด้วยไฟคือญาณแล้ว รวมความว่า อาสวะทั้งหลาย ... ไม่มีแก่บุคคลนั้น @เชิงอรรถ : @ มหาภูตรูป ๔ ดูเชิงอรรถข้อ ๕/๕๘ @ รูปที่อาศัยมหาภูตรูป ๔ ดูเชิงอรรถข้อ ๕/๕๘ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๐ หน้า : ๒๕๕}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส [ปารายนวรรค]

๕. มาณวปัญหานิทเทส ๑๑. ชตุกัณณิมาณวปัญหานิทเทส

คำว่า อันเป็นเหตุให้ถึงอำนาจแห่งมัจจุ อธิบายว่า อาสวะทั้งหลาย ที่ เป็นเหตุให้ไปสู่อำนาจแห่งมรณะ หรือ ไปสู่อำนาจของมรณะ หรือ ไปสู่อำนาจ ของพรรคพวกมาร ไม่มี คือ ไม่มีอยู่ ไม่มีปรากฏ หาไม่ได้แก่พระอรหันตขีณาสพนั้น ได้แก่ อาสวะทั้งหลายท่านละได้แล้ว ตัดขาดได้แล้ว ทำให้สงบได้แล้ว ระงับได้แล้ว ทำให้เกิดขึ้นไม่ได้อีก เผาด้วยไฟคือญาณแล้ว รวมความว่า อันเป็นเหตุให้ถึง อำนาจแห่งมัจจุ ด้วยเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคจึงตรัสตอบว่า พราหมณ์ อาสวะทั้งหลาย อันเป็นเหตุให้ถึงอำนาจแห่งมัจจุ ไม่มีแก่บุคคลนั้น ผู้คลายความติดใจในนามรูป โดยประการทั้งปวง พร้อมกับการจบคาถา ฯลฯ ชตุกัณณิมาณพ ... โดยประกาศว่า “ข้าแต่ พระองค์ผู้เจริญ พระผู้มีพระภาคเป็นศาสดาของข้าพระองค์ ข้าพระองค์เป็นสาวก”
ชตุกัณณิมาณวปัญหานิทเทสที่ ๑๑ จบ
{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๐ หน้า : ๒๕๖}


                  เนื้อความพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาฯ เล่มที่ ๓๐ หน้าที่ ๒๔๕-๒๕๖. http://84000.org/tipitaka/english/m_siri.php?B=30&siri=30              ฟังเนื้อความพระไตรปิฎก : [1], [2], [3], [4].                   อ่านเทียบพระไตรปิฎกฉบับหลวง :- http://84000.org/tipitaka/english/v.php?B=30&A=3559&Z=3782                   ศึกษาอรรถกถานี้ได้ที่ :- http://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=30&i=388              พระไตรปิฏกฉบับภาษาบาลีอักษรไทย :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/pali_item_s.php?book=30&item=388&items=25              อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย :- http://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=46&A=921              The Pali Tipitaka in Roman :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/roman_item_s.php?book=30&item=388&items=25              The Pali Atthakatha in Roman :- http://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=46&A=921                   สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่ ๓๐ http://84000.org/tipitaka/read/?index_mcu30              อ่านเทียบฉบับแปลอังกฤษ Compare with English Translation :- https://www.ancient-buddhist-texts.net/Texts-and-Translations/Parayanavagga/Parayanavaggo-11.htm



บันทึก ๓๑ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๕๙ บันทึกล่าสุด ๒๒ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๖๐ การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจากพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย. หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :