ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ค้นพระไตรปิฎก ชาดก หนังสือธรรมะ
     ฉบับหลวง   ฉบับมหาจุฬาฯ   บาลีอักษรไทย   PaliRoman 
พระไตรปิฎกเล่มที่ ๓๓ พระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๒๕ [ฉบับมหาจุฬาฯ] ขุททกนิกาย อปทาน ภาค ๒ -พุทธวังสะ-จริยาปิฎก
๘. อุรุเวลกัสสปเถราปทาน
ประวัติในอดีตชาติของพระอุรุเวลกัสสปเถระ
(พระอุรุเวลกัสสปเถระ เมื่อจะประกาศประวัติในอดีตชาติของตน จึงกล่าวว่า) [๒๕๑] พระชินเจ้าพระนามว่าปทุมุตตระ ทรงรู้แจ้งโลกทั้งปวง เป็นพระมุนี มีพระจักษุ เสด็จอุบัติขึ้นแล้วในกัปที่ ๑๐๐,๐๐๐ นับจากกัปนี้ไป [๒๕๒] พระองค์เป็นผู้ตรัสสอน ทรงแสดงธรรมให้สัตว์รู้ชัดได้ ทรงช่วยสรรพสัตว์ให้ข้ามพ้น ทรงฉลาดในเทศนา เป็นพระพุทธเจ้า ทรงช่วยหมู่ชนให้ข้ามพ้นได้เป็นจำนวนมาก [๒๕๓] พระองค์เป็นผู้อนุเคราะห์ ประกอบด้วยพระกรุณา แสวงหาประโยชน์เกื้อกูลเพื่อสรรพสัตว์ ทรงทำเดียรถีย์ที่มาเฝ้าทั้งหมดให้ดำรงอยู่ในศีล ๕ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๓ หน้า : ๒๗๒}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๕๔. กัจจายนวรรค]

๘. อุรุเวลกัสสปเถราปทาน

[๒๕๔] เมื่อเป็นเช่นนี้ ศาสนาจึงหมดความอากูล ว่างจากพวกเดียรถีย์ และงดงามด้วยพระอรหันต์ทั้งหลาย ผู้ได้วสี ผู้คงที่ [๒๕๕] พระมหามุนีพระองค์นั้น ทรงมีพระวรกายสูง ๕๘ ศอก มีพระฉวีวรรณคล้ายทองคำที่ล้ำค่า มีพระลักษณะอันประเสริฐ ๓๒ ประการ๑- [๒๕๖] ขณะนั้น สัตว์ทั้งหลายมีอายุประมาณ ๑๐๐,๐๐๐ ปี พระชินสีห์พระองค์นั้น ก็ดำรงพระชนมายุอยู่ประมาณเท่านั้น ทรงช่วยหมู่ชนให้ข้ามพ้นได้เป็นจำนวนมาก [๒๕๗] ครั้งนั้น ข้าพเจ้าเป็นพราหมณ์ชาวกรุงหงสวดี ประชาชนสมมติว่าเป็นผู้ประเสริฐ ได้เข้าเฝ้าพระพุทธเจ้าผู้ส่องโลกให้สว่างไสว แล้วได้ฟังพระธรรมเทศนา [๒๕๘] ครั้งนั้น ข้าพเจ้าได้ฟังพระผู้มีพระภาค ทรงแต่งตั้งสาวกของพระองค์ในตำแหน่งเอตทัคคะ ในที่ประชุมใหญ่ จึงพลอยยินดี [๒๕๙] ได้ทูลนิมนต์พระมหาชินเจ้าพร้อมกับสาวกจำนวนมาก แล้วได้ถวายทานพร้อมด้วยพราหมณ์อีก ๑,๐๐๐ คน [๒๖๐] ครั้นถวายมหาทานแล้ว ข้าพเจ้าได้ถวายอภิวาทพระผู้มีพระภาค ผู้ทรงเป็นผู้นำสัตว์โลก แล้วยืนอยู่ ณ ที่สมควร เป็นผู้เบิกบาน ได้กราบทูลดังนี้ว่า [๒๖๑] ‘ข้าแต่พระองค์ผู้แกล้วกล้า ด้วยความเชื่อในพระองค์และด้วยอธิการคุณ ขอให้ข้าพระองค์ผู้เกิดในภพนั้นๆ จงมีบริวารมากเถิด’ @เชิงอรรถ : @ ดูเชิงอรรถหน้า ๑๐ ในเล่มนี้ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๓ หน้า : ๒๗๓}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๕๔. กัจจายนวรรค]

๘. อุรุเวลกัสสปเถราปทาน

[๒๖๒] ครั้งนั้น พระศาสดาผู้มีพระสุรเสียงก้อง เหมือนเสียงคชสารคำราม มีพระสำเนียงไพเราะเหมือนเสียงนกการเวก ได้ตรัสกับบริษัทว่า ‘จงดูพราหมณ์นี้ [๒๖๓] ผู้มีผิวพรรณดุจทองคำ แขนใหญ่ ปากและดวงตาเหมือนดอกปทุม มีโลมชาติชูชันและมีใจฟูขึ้น ร่าเริงมีศรัทธาในคุณของเรา [๒๖๔] เขาปรารถนาตำแหน่งภิกษุผู้มีเสียงเหมือนราชสีห์ ในอนาคตกาล เขาจักได้ตำแหน่งนี้สมความปรารถนา [๒๖๕] ในกัปที่ ๑๐๐,๐๐๐ นับจากกัปนี้ไป พระศาสดาพระนามว่าโคดม ตามพระโคตร ทรงสมภพในราชสกุลโอกกากราช จักอุบัติขึ้นในโลก [๒๖๖] พราหมณ์นี้จักมีนามว่ากัสสปะ ตามโคตร เป็นธรรมทายาท เป็นโอรสที่ธรรมเนรมิต จักเป็นสาวกของพระศาสดาพระองค์นั้น [๒๖๗] ในกัปที่ ๙๒ นับจากกัปนี้ไป ได้มีพระผู้เป็นผู้นำชั้นเลิศของโลกพระนามว่าผุสสะ ทรงเป็นศาสดาผู้ยอดเยี่ยม หาผู้เปรียบมิได้ ไม่มีใครเสมอเหมือน [๒๖๘] พระศาสดาพระนามว่าผุสสะพระองค์นั้นแล ทรงกำจัดความมืด๑- ทั้งปวง ถางรกชัฏใหญ่ ทรงบันดาลฝนคืออมตธรรมให้ตกลง ให้มนุษย์และทวยเทพอิ่มหนำ @เชิงอรรถ : @ ความมืด ในที่นี้หมายถึงกิเลสมีราคะ โทสะ และโมหะเป็นต้น (ขุ.อป.อ. ๒/๒๖๘/๒๙๘) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๓ หน้า : ๒๗๔}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๕๔. กัจจายนวรรค]

๘. อุรุเวลกัสสปเถราปทาน

[๒๖๙] ครั้งนั้น ข้าพเจ้า ๓ คนพี่น้อง ได้เป็นราชอำมาตย์ในกรุงพาราณสี ล้วนแต่เป็นที่ไว้วางพระทัยของพระราชา [๒๗๐] รูปร่างองอาจแกล้วกล้า สมบูรณ์ด้วยพละกำลัง ไม่พ่ายแพ้ในสงคราม ครั้งนั้น พระเจ้าแผ่นดินผู้ถูกเจ้าเมืองชายแดนก่อกำเริบ จึงมีรับสั่งกับพวกข้าพเจ้าว่า [๒๗๑] ‘ท่านทั้งหลายจงไปชนบทชายแดน ปราบปรามขบถของแผ่นดินให้ราบคาบแล้วกลับมา’ และทรงพร่ำสอนว่า ‘พวกท่านบำรุงแว่นแคว้นของเรา ให้เกษมแล้วจงมอบคืน’ [๒๗๒] ลำดับนั้น ข้าพเจ้าได้กราบทูลว่า ‘ถ้าพระองค์จะพึงประทานพระผู้ทรงเป็นผู้นำ เพื่อให้ข้าพระองค์ทั้งหลายอุปัฏฐากบ้าง พระองค์ทั้งหลายก็จักทำกิจของพระองค์ให้สำเร็จ’ [๒๗๓] ลำดับนั้น ข้าพเจ้าได้รับพระราชทานพรแล้ว ถูกพระภูมิบาลส่งไปปราบปรามชายแดนที่กำเริบให้วางอาวุธแล้ว จึงกลับมายังนครนั้นอีก [๒๗๔] ข้าพเจ้าทูลขอการรับอุปัฏฐากพระศาสดาจากพระราชา ได้พระศาสดาทรงเป็นผู้นำสัตว์โลก เป็นพระมุนีผู้ประเสริฐแล้ว ได้บูชาพระองค์จนตลอดชีวิต [๒๗๕] ผ้ามีค่ามาก อาหารมีรสเลิศ เสนาสนะเป็นที่รื่นรมย์และเภสัชที่มีประโยชน์ [๒๗๖] พวกข้าพเจ้ามีศีล มีกรุณา มีใจประกอบด้วยภาวนา จึงถวายปัจจัยที่พวกข้าพเจ้าให้เกิดขึ้นโดยธรรม แด่พระมุนีพร้อมทั้งพระสงฆ์ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๓ หน้า : ๒๗๕}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๕๔. กัจจายนวรรค]

๘. อุรุเวลกัสสปเถราปทาน

[๒๗๗] อุปัฏฐากพระผู้ทรงเป็นผู้นำด้วยจิตเมตตาตลอดเวลา เมื่อพระผู้ทรงเป็นผู้นำ ผู้เลิศในโลกนั้นปรินิพพานแล้ว ก็ทำการบูชาตามกำลัง [๒๗๘] ทุกคนจุติจากอัตภาพนั้นแล้ว ได้ไปเกิดในสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ เสวยสุขอย่างมากในสวรรค์ชั้นดาวดึงส์นั้น นี้เป็นผลแห่งการบูชาพระพุทธเจ้า [๒๗๙] ข้าพเจ้าเมื่อเกิดอยู่ในภพ เป็นเหมือนนายช่างดอกไม้ ได้ดอกไม้ตามแต่จะหามาได้แล้ว จัดแสดงให้เป็นแบบต่างๆ มากมาย ได้เป็นพระเจ้าวิเทหราช [๒๘๐] ข้าพเจ้ามีอัธยาศัยเป็นมิจฉาทิฏฐิ เพราะถ้อยคำของอเจลกคุณ ตกนรกเพราะไม่เชื่อคำตักเตือนของธิดาของข้าพเจ้านามว่ารุจา [๒๘๑] ถูกนารทพรหมพร่ำสอนมากมาย จึงละทิฏฐิอันชั่วช้านั้นได้ [๒๘๒] แล้วบำเพ็ญกุศลกรรมบถ ๑๐ ให้บริบูรณ์โดยพิเศษ ละกายมนุษย์แล้วจึงได้ไปเกิดในสวรรค์ ดุจไปยังที่อยู่ของตน [๒๘๓] เมื่อถึงภพสุดท้าย ข้าพเจ้าได้เป็นเผ่าพันธุ์ของพราหมณ์ เกิดในตระกูลพราหมณมหาศาล ในกรุงพาราณสีที่มั่งคั่ง [๒๘๔] ข้าพเจ้ากลัวต่อความแก่ ความเจ็บ และความตาย จึงเข้าป่าใหญ่ แสวงหาบทคือพระนิพพาน ได้บวชในสำนักของชฎิล {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๓ หน้า : ๒๗๖}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๕๔. กัจจายนวรรค]

๘. อุรุเวลกัสสปเถราปทาน

[๒๘๕] ครั้งนั้น น้องชายทั้ง ๒ ของข้าพเจ้า ก็ได้บวชพร้อมกับข้าพเจ้า ข้าพเจ้าได้สร้างอาศรมอาศัยอยู่ที่ตำบลอุรุเวลา [๒๘๖] ข้าพเจ้ามีชื่อว่ากัสสปะ ตามโคตร แต่เพราะอาศัยอยู่ที่ตำบลอุรุเวลา จึงได้นามบัญญัติว่าอุรุเวลกัสสปะ [๒๘๗] เพราะน้องชายของข้าพเจ้าอาศัยอยู่ใกล้แม่น้ำ เขาจึงได้นามว่านทีกัสสปะ เพราะน้องชายอีกคนหนึ่งของข้าพเจ้า อาศัยอยู่ที่ตำบลคยา เขาจึงประกาศนามว่าคยากัสสปะ [๒๘๘] น้องชายคนเล็กมีศิษย์ ๒๐๐ คน น้องชายคนกลางมีศิษย์ ๓๐๐ คน ส่วนข้าพเจ้ามีไม่น้อยกว่า ๕๐๐ คน ศิษย์ทุกคนล้วนประพฤติตามข้าพเจ้า [๒๘๙] ครั้งนั้น พระพุทธเจ้าทรงเป็นผู้เลิศในโลก เป็นสารถีฝึกนรชน ได้เสด็จมาหาข้าพเจ้า ทรงทำปาฏิหาริย์ต่างๆ แก่ข้าพเจ้า และทรงแนะนำ [๒๙๐] ข้าพเจ้ากับบริวาร ๑,๐๐๐ ได้อุปสมบท ด้วยเอหิภิกขุอุปสัมปทา ได้บรรลุอรหัตพร้อมกับภิกษุเหล่านั้นทุกรูป [๒๙๑] ภิกษุเหล่านั้นและภิกษุเหล่าอื่นจำนวนมาก แวดล้อมข้าพเจ้าเป็นบริวารยศ และข้าพเจ้าก็สามารถสั่งสอนได้ ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคผู้เป็นฤๅษี ผู้ประเสริฐก็สั่งสอนข้าพเจ้า {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๓ หน้า : ๒๗๗}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๕๔. กัจจายนวรรค]

๙. ราธเถราปทาน

[๒๙๒] พระองค์ทรงตั้งข้าพเจ้าไว้ในตำแหน่งเอตทัคคะ คือความเป็นผู้มีบริษัทมาก โอ สักการะที่ได้ทำไว้ในพระพุทธเจ้า ได้ก่อให้เกิดผลแก่ข้าพเจ้าแล้ว [๒๙๓] กิเลสทั้งหลายข้าพเจ้าก็เผาได้แล้ว ภพทั้งปวงข้าพเจ้าก็ถอนได้แล้ว ข้าพเจ้าตัดกิเลสเครื่องผูกพันได้แล้วอยู่อย่างผู้ไม่มีอาสวะ ดุจพญาช้างตัดเครื่องพันธนาการได้แล้วอยู่อย่างอิสระ [๒๙๔] การที่ข้าพเจ้ามาในสำนักของพระพุทธเจ้า เป็นการมาดีแล้วโดยแท้ วิชชา ๓ ข้าพเจ้าได้บรรลุแล้วโดยลำดับ คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ข้าพเจ้าก็ได้ทำสำเร็จแล้ว [๒๙๕] คุณวิเศษเหล่านี้ คือ ปฏิสัมภิทา ๔ วิโมกข์ ๘ และอภิญญา ๖ ข้าพเจ้าได้ทำให้แจ้งแล้ว คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ข้าพเจ้าก็ได้ทำสำเร็จแล้ว ดังนี้แล ได้ทราบว่า ท่านพระอุรุเวลกัสสปเถระได้ภาษิตคาถาเหล่านี้ ด้วยประการฉะนี้
อุรุเวลกัสสปเถราปทานที่ ๘ จบ


                  เนื้อความพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาฯ เล่มที่ ๓๓ หน้าที่ ๒๗๒-๒๗๘. http://84000.org/tipitaka/english/m_siri.php?B=33&siri=128              ฟังเนื้อความพระไตรปิฎก : [1], [2].                   อ่านเทียบพระไตรปิฎกฉบับหลวง :- http://84000.org/tipitaka/english/v.php?B=33&A=3212&Z=3297                   ศึกษาอรรถกถานี้ได้ที่ :- http://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=33&i=128              พระไตรปิฏกฉบับภาษาบาลีอักษรไทย :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/pali_item_s.php?book=33&item=128&items=1              อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย :- http://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=50&A=6362              The Pali Tipitaka in Roman :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/roman_item_s.php?book=33&item=128&items=1              The Pali Atthakatha in Roman :- http://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=50&A=6362                   สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่ ๓๓ http://84000.org/tipitaka/read/?index_mcu33              อ่านเทียบฉบับแปลอังกฤษ Compare with English Translation :- https://suttacentral.net/tha-ap540/en/walters



บันทึก ๓๑ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๕๙ บันทึกล่าสุด ๒๒ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๖๐ การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจากพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย. หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :