ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ค้นพระไตรปิฎก ชาดก หนังสือธรรมะ
     ฉบับหลวง   ฉบับมหาจุฬาฯ   บาลีอักษรไทย   PaliRoman 
พระไตรปิฎกเล่มที่ ๓๓ พระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๒๕ [ฉบับมหาจุฬาฯ] ขุททกนิกาย อปทาน ภาค ๒ -พุทธวังสะ-จริยาปิฎก
๔. วังคีสเถราปทาน
ประวัติในอดีตชาติของพระวังคีสเถระ
(พระวังคีสเถระ เมื่อจะประกาศประวัติในอดีตชาติของตน จึงกล่าวว่า) [๙๖] พระชินเจ้าพระนามว่าปทุมุตตระ ผู้มีพระจักษุในธรรมทั้งปวง ทรงเป็นผู้นำ เสด็จอุบัติขึ้นแล้วในกัปที่ ๑๐๐,๐๐๐ นับจากกัปนี้ไป {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๓ หน้า : ๓๐๒}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๕๕. ภัททิยวรรค]

๔. วังคีสเถราปทาน

[๙๗] ศาสนาของพระองค์งดงามไปด้วยพระอรหันต์ทั้งหลาย เหมือนคลื่นในสาคร และเหมือนดวงดาวในท้องฟ้า [๙๘] พระชินเจ้าผู้สูงสุด อันมนุษย์พร้อมทั้งทวยเทพ อสูร และนาคห้อมล้อมในท่ามกลางหมู่ชน ซึ่งเนืองแน่นไปด้วยสมณะและพราหมณ์ [๙๙] พระชินเจ้าพระองค์นั้นทรงถึงที่สุดโลก ทรงทำสัตว์โลกทั้งหลายให้ยินดีด้วยพระรัศมี ทรงทำดอกบัวคือเวไนยสัตว์ให้เบ่งบานด้วยพระดำรัส [๑๐๐] ทรงสมบูรณ์ด้วยเวสารัชชธรรม ๔ ๑- ประการ เป็นบุรุษผู้สูงสุด ละความกลัวและความกำหนัดได้แล้ว ทรงบรรลุธรรมที่เกษม มีความแกล้วกล้า [๑๐๑] พระผู้ทรงเป็นผู้เลิศในโลก ทรงปฏิญาณฐานะที่ประเสริฐ ล้ำเลิศ และพุทธภูมิทั้งสิ้น ไม่มีใครจะทักท้วงได้ในฐานะไหนๆ [๑๐๒] เมื่อพระพุทธเจ้าผู้คงที่พระองค์นั้น บันลือสีหนาทที่น่าสะพรึงกลัวอยู่ ย่อมไม่มีเทวดา มนุษย์ หรือพรหมบันลือตอบได้ [๑๐๓] พระพุทธเจ้าผู้แกล้วกล้า ทรงแสดงธรรมที่ประเสริฐ ทรงช่วยมนุษย์และเทวดา ให้ข้าม(สงสารวัฏ)ทรงประกาศธรรมจักรในท่ามกลางบริษัท [๑๐๔] ตรัสสรรเสริญคุณเป็นอันมาก แล้วตั้งพระสาวกผู้เลิศกว่าภิกษุผู้มีปฏิภาณ ที่ชาวโลกยกย่องว่าเป็นคนดีนั้นไว้ในตำแหน่งเอตทัคคะ @เชิงอรรถ : @ เวสารัชชธรรม ๔ (ม.มู. (แปล) ๑๒/๑๕๐/๑๔๘, ดูเทียบ องฺ.จตุกฺก. (แปล) ๒๑/๘/๑๓-๑๔, @ขุ.อป.อ. ๒/๑๐๐/๓๑๕) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๓ หน้า : ๓๐๓}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๕๕. ภัททิยวรรค]

๔. วังคีสเถราปทาน

[๑๐๕] ครั้งนั้น ข้าพเจ้าเป็นพราหมณ์ชาวกรุงหงสวดี ประชาชนสมมติว่าเป็นผู้ประเสริฐ รู้แจ้งพระเวททุกคัมภีร์ มีนามว่าวังคีสะ มีวาทะที่เป็นประโยชน์ [๑๐๖] ข้าพเจ้าได้เข้าเฝ้าพระมหาวีระพระองค์นั้น สดับพระธรรมเทศนานั้นแล้ว ได้ปีติอย่างประเสริฐ เป็นผู้ยินดีในคุณของสาวก [๑๐๗] ครั้งนั้น ข้าพเจ้าได้ทูลนิมนต์พระสุคตผู้ทำสัตว์โลกให้เพลิดเพลิน พร้อมทั้งพระสงฆ์ให้เสวยและฉันตลอด ๗ วันแล้ว ให้ครองผ้าชุดใหม่ [๑๐๘] ข้าพเจ้าได้หมอบลงแทบพระบาทด้วยเศียรเกล้า ได้โอกาสจึงยืนประนมมืออยู่ ณ ที่สมควร เป็นผู้ร่าเริง กล่าวสดุดีพระชินเจ้าผู้สูงสุดว่า [๑๐๙] ข้าแต่พระองค์ผู้มีวาทะที่เป็นประโยชน์ ข้าพระองค์ขอนอบน้อมพระองค์ ข้าแต่พระองค์ผู้เป็นพระฤาษีผู้ประเสริฐ ข้าพระองค์ขอนอบน้อมพระองค์ ข้าแต่พระองค์ผู้ทรงเป็นผู้เลิศในโลกทั้งปวง ข้าพระองค์ขอนอบน้อมพระองค์ ข้าแต่พระองค์ผู้ขจัดภัย ข้าพระองค์ขอนอบน้อมพระองค์ [๑๑๐] ข้าแต่พระองค์ผู้ทรงย่ำยีมาร ข้าพระองค์ขอนอบน้อมพระองค์ ข้าแต่พระองค์ผู้ทรงแสดงทิฏฐิ ข้าพระองค์ขอนอบน้อมพระองค์ ข้าแต่พระองค์ผู้ทรงประทานสันติสุข {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๓ หน้า : ๓๐๔}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๕๕. ภัททิยวรรค]

๔. วังคีสเถราปทาน

ข้าพระองค์ขอนอบน้อมพระองค์ ข้าแต่พระองค์ผู้ทรงทำที่พึ่ง ข้าพระองค์ขอนอบน้อมพระองค์ [๑๑๑] พระองค์ทรงเป็นที่พึ่งของชนทั้งหลายผู้ไม่มีที่พึ่ง ทรงประทานความไม่มีภัยแก่คนทั้งหลายที่ตื่นกลัว ทรงเป็นที่ไว้วางใจของคนทั้งหลายที่มีภูมิธรรม๑- สงบระงับ ทรงเป็นที่พึ่งของคนทั้งหลายผู้แสวงหาที่พึ่งที่ระลึก [๑๑๒] เราได้สดุดีพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ด้วยคำกล่าวสดุดีมีอาทิอย่างนี้แล้ว ได้กล่าวสรรเสริญพระคุณอันยิ่งใหญ่ จึงได้บรรลุคติของภิกษุผู้เป็นนักพูดผู้กล้า [๑๑๓] ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคผู้ทรงมีปฏิภาณไม่มีที่สิ้นสุด ได้ตรัสว่า ผู้นั้นใดเป็นผู้เลื่อมใสทูลนิมนต์พระพุทธเจ้า พร้อมทั้งสาวกให้เสวยและฉันตลอด ๗ วัน [๑๑๔] ด้วยมือทั้ง ๒ ของตน และได้กล่าวสดุดีคุณของเรา ผู้นั้นปรารถนาตำแหน่งของภิกษุผู้เป็นนักพูดผู้แกล้วกล้า [๑๑๕] ในอนาคตกาล เขาจักได้ตำแหน่งนี้สมความปรารถนา เสวยทิพยสมบัติและมนุษยสมบัติมีประมาณไม่น้อย [๑๑๖] ในกัปที่ ๑๐๐,๐๐๐ นับจากกัปนี้ไป พระศาสดาพระนามว่าโคดม ตามพระโคตร ทรงสมภพในราชสกุลโอกกากราช จักอุบัติขึ้นในโลก [๑๑๗] พราหมณ์นี้จักมีนามว่าวังคีสะ เป็นธรรมทายาท เป็นโอรสที่ธรรมเนรมิต เป็นสาวกของพระศาสดาพระองค์นั้น @เชิงอรรถ : @ ภูมิธรรม หมายถึงโสดาปัตติมรรคเป็นต้น (ขุ.อป.อ. ๒/๑๑๑/๓๑๕) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๓ หน้า : ๓๐๕}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๕๕. ภัททิยวรรค]

๔. วังคีสเถราปทาน

[๑๑๘] ข้าพเจ้าได้ฟังพุทธพยากรณ์นั้นแล้ว เป็นผู้เบิกบาน มีจิตประกอบด้วยเมตตา อุปัฏฐากพระชินเจ้าผู้ตถาคตด้วยปัจจัยทั้งหลาย จนตลอดชีวิตในครั้งนั้น [๑๑๙] ด้วยกรรมที่ข้าพเจ้าได้ทำไว้ดีแล้วนั้น และด้วยเจตนาที่ตั้งไว้มั่น ข้าพเจ้าละกายมนุษย์แล้ว จึงได้ไปเกิดในสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ [๑๒๐] บัดนี้ เป็นภพสุดท้าย ข้าพเจ้าเกิดในตระกูลปริพาชก เมื่อข้าพเจ้าเกิดเป็นครั้งสุดท้าย มีอายุได้ ๗ ขวบ [๑๒๑] เป็นผู้รู้แจ้งพระเวททุกคัมภีร์ แกล้วกล้าในวาทศาสตร์ มีเสียงไพเราะ มีถ้อยคำวิจิตร สามารถย่ำยีวาทะของผู้อื่นได้ [๑๒๒] เพราะข้าพเจ้าเกิดที่วังคชนบท และเป็นใหญ่ในถ้อยคำ ข้าพเจ้าจึงได้ชื่อว่าวังคีสะ เพราะฉะนั้น ถึงแม้ชื่อของข้าพเจ้าจะเป็นเลิศ ก็เป็นชื่อสมมติตามโลก [๑๒๓] ในกาลที่ข้าพเจ้ารู้เดียงสา อยู่ในวัยเริ่มเป็นหนุ่ม ได้เห็นท่านพระสารีบุตรในกรุงราชคฤห์ที่รื่นรมย์
ภาณวารที่ ๒๕ จบ
[๑๒๔] ท่านอุ้มบาตรสำรวม สายตาไม่ลอกแลก พูดพอประมาณ และมองดูเพียงชั่วแอก เที่ยวบิณฑบาตอยู่ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๓ หน้า : ๓๐๖}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๕๕. ภัททิยวรรค]

๔. วังคีสเถราปทาน

[๑๒๕] ครั้นเห็นท่านแล้วก็ยิ้มแย้ม ได้กล่าวบทคาถาที่สมควรอันวิจิตร เหมือนดอกกรรณิการ์ที่เป็นกลุ่ม [๑๒๖] ท่านบอกข้าพเจ้าถึงพระศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้า ผู้ทรงเป็นผู้นำสัตว์โลก ครั้งนั้น พระสารีบุตรผู้ฉลาด เป็นนักปราชญ์นั้น ได้พูดกับข้าพเจ้าให้ยิ่งขึ้นไป [๑๒๗] ข้าพเจ้าอันพระเถระผู้คงที่กล่าวถ้อยคำ อันประกอบด้วยวิราคธรรม ยอดเยี่ยมที่เห็นได้ยาก ให้ยินดีแล้ว ด้วยปฏิภาณอันวิจิตร [๑๒๘] จึงหมอบลงแทบเท้าของท่านด้วยเศียรเกล้า แล้วก็กล่าวว่า ขอได้โปรดให้กระผมบรรพชาเถิด ลำดับนั้น ท่านพระสารีบุตร ผู้มีปัญญามาก ได้นำข้าพเจ้าเข้าเฝ้าพระพุทธเจ้าผู้ประเสริฐที่สุด [๑๒๙] ข้าพเจ้าหมอบลงแทบพระยุคลพระบาทด้วยเศียรเกล้าแล้ว นั่ง ณ ที่ใกล้พระศาสดา พระพุทธเจ้าผู้ประเสริฐกว่าบัณฑิตทั้งหลาย ได้ตรัสถามข้าพเจ้าว่า วังคีสะ ศิลปะอะไรๆ ของท่านมีอยู่จริงหรือ [๑๓๐] (ข้าพเจ้ากราบทูลว่า จริง พระเจ้าข้า) พระพุทธเจ้าตรัสว่า ท่านรู้ศีรษะของคนที่ตายไปแล้วว่า ไปสู่สุคติหรือทุคติจริงหรือ ถ้าท่านสามารถรู้ได้ด้วยวิชาพิเศษของท่าน จงบอกมา [๑๓๑] เมื่อข้าพเจ้าทูลรับรองแล้ว พระพุทธองค์ก็ทรงแสดงกะโหลกศีรษะ ๓ กะโหลก ข้าพเจ้าได้กราบทูลว่า เป็นศีรษะของคนที่เกิดในนรกและเทวดา {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๓ หน้า : ๓๐๗}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๕๕. ภัททิยวรรค]

๔. วังคีสเถราปทาน

[๑๓๒] ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาค ทรงเป็นผู้นำ ได้แสดงกะโหลกศีรษะของพระขีณาสพ เพราะศีรษะนั้น ข้าพเจ้าหมดมานะ จึงทูลขอบรรพชา อย่างอ่อนน้อม [๑๓๓] ครั้นบรรพชาแล้ว ได้กล่าวสรรเสริญพระสุคตทุกๆ แห่ง เมื่อนั้นแหละ ภิกษุทั้งหลายพากันเพ่งโทษข้าพเจ้าว่าเป็นจินตกวี [๑๓๔] ลำดับนั้น พระพุทธเจ้า ทรงเป็นผู้นำวิเศษ ได้ตรัสถามข้าพเจ้าเพื่อทดลองว่า คาถาเหล่านี้ ย่อมแจ่มแจ้งโดยสมควรแก่เหตุแก่คนทั้งหลาย ผู้ตรึกตรองแล้วมิใช่หรือ [๑๓๕] ข้าแต่พระองค์ผู้มีความเพียร ข้าพระองค์มิใช่นักกาพย์กลอน แต่ว่าคาถาทั้งหลาย แจ่มแจ้งโดยสมควรแก่เหตุแก่ข้าพระองค์ วังคีสะ ถ้าเช่นนั้น ท่านจงกล่าวสดุดีเราโดยสมควรแก่เหตุในบัดนี้ [๑๓๖] ครั้งนั้น ข้าพเจ้าได้กล่าวคาถาสดุดีพระธีระผู้เป็นฤๅษีผู้ประเสริฐ ในกาลนั้น พระชินเจ้าพระองค์นั้นทรงพอพระทัยด้วยสมควรแก่เหตุ จึงทรงตั้งข้าพเจ้าไว้ในตำแหน่งอันเลิศ [๑๓๗] ข้าพเจ้ามีปฏิภาณอันวิจิตรจึงดูหมิ่นภิกษุรูปอื่น แต่มีศีลเป็นที่รัก เกิดความสลดใจเพราะการดูหมิ่นนั้นจึงได้บรรลุอรหัตแล้ว [๑๓๘] (พระผู้มีพระภาคได้ตรัสว่า) ไม่มีใครอื่นที่เลิศกว่าภิกษุทั้งหลาย ที่มีปฏิภาณเหมือนกับวังคีสภิกษุนี้ ภิกษุทั้งหลาย ท่านทั้งหลายจงจำไว้อย่างนี้ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๓ หน้า : ๓๐๘}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๕๕. ภัททิยวรรค]

๕. นันทกเถราปทาน

[๑๓๙] กรรมที่ข้าพเจ้าได้ทำไว้ในกัปที่ ๑๐๐,๐๐๐ ได้แสดงผลแก่ข้าพเจ้าแล้วในอัตภาพนี้ ข้าพเจ้าหลุดพ้นดีแล้ว(จากกิเลส) ดุจความเร็วแห่งลูกศรที่พ้นไปจากแล่ง ข้าพเจ้าเผากิเลสทั้งหลายได้แล้ว [๑๔๐] กิเลสทั้งหลายข้าพเจ้าก็เผาได้แล้ว ภพทั้งปวงข้าพเจ้าก็ถอนได้แล้ว ข้าพเจ้าตัดกิเลสเครื่องผูกพันได้แล้วอยู่อย่างผู้ไม่มีอาสวะ ดุจพญาช้างตัดเครื่องพันธนาการได้แล้วอยู่อย่างอิสระ [๑๔๑] การที่ข้าพเจ้ามาในสำนักของพระพุทธเจ้า เป็นการมาดีแล้วโดยแท้ วิชชา ๓ ข้าพเจ้าได้บรรลุแล้วโดยลำดับ คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ข้าพเจ้าก็ได้ทำสำเร็จแล้ว [๑๔๒] คุณวิเศษเหล่านี้ คือ ปฏิสัมภิทา ๔ วิโมกข์ ๘ และอภิญญา ๖ ข้าพเจ้าได้ทำให้แจ้งแล้ว คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ข้าพเจ้าก็ได้ทำสำเร็จแล้ว ดังนี้แล ได้ทราบว่า ท่านพระวังคีสเถระได้ภาษิตคาถาเหล่านี้ ด้วยประการฉะนี้
วังคีสเถราปทานที่ ๔ จบ


                  เนื้อความพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาฯ เล่มที่ ๓๓ หน้าที่ ๓๐๒-๓๐๙. http://84000.org/tipitaka/english/m_siri.php?B=33&siri=134              ฟังเนื้อความพระไตรปิฎก : [1], [2], [3].                   อ่านเทียบพระไตรปิฎกฉบับหลวง :- http://84000.org/tipitaka/english/v.php?B=33&A=3621&Z=3719                   ศึกษาอรรถกถานี้ได้ที่ :- http://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=33&i=134              พระไตรปิฏกฉบับภาษาบาลีอักษรไทย :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/pali_item_s.php?book=33&item=134&items=1              อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย :- http://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=50&A=6703              The Pali Tipitaka in Roman :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/roman_item_s.php?book=33&item=134&items=1              The Pali Atthakatha in Roman :- http://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=50&A=6703                   สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่ ๓๓ http://84000.org/tipitaka/read/?index_mcu33              อ่านเทียบฉบับแปลอังกฤษ Compare with English Translation :- https://suttacentral.net/tha-ap546/en/walters



บันทึก ๓๑ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๕๙ บันทึกล่าสุด ๒๒ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๖๐ การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจากพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย. หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :