ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ค้นพระไตรปิฎก ชาดก หนังสือธรรมะ
     ฉบับหลวง   ฉบับมหาจุฬาฯ   บาลีอักษรไทย   PaliRoman 
พระไตรปิฎกเล่มที่ ๓๓ พระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๒๕ [ฉบับมหาจุฬาฯ] ขุททกนิกาย อปทาน ภาค ๒ -พุทธวังสะ-จริยาปิฎก
๘. ปทุมพุทธวงศ์
ว่าด้วยพระประวัติพระปทุมพุทธเจ้า
[๑] สมัยต่อจากพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระนามว่าอโนมทัสสี ได้มีพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระนามว่าปทุมะตามพระโคตร ผู้สูงสุดแห่งเทวดาและมนุษย์ ไม่มีใครเสมอเหมือน ไม่มีบุคคลเปรียบ [๒] แม้ศีลของพระองค์ก็ไม่มีสิ่งไรเสมอ แม้สมาธิก็ไม่มีที่สุด พระญาณอันประเสริฐนับไม่ถ้วน และแม้วิมุตติก็ไม่มีอะไรเปรียบ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๓ หน้า : ๖๒๘}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย พุทธวงศ์ ๘. ปทุมพุทธวงศ์

[๓] แม้ในคราวที่พระองค์ผู้มีเดชหาอะไรเทียบมิได้ ทรงประกาศพระธรรมจักร การบรรลุธรรม กำจัดความมืดใหญ่ได้มี ๓ ครั้ง [๔] ในการบรรลุธรรม ครั้งที่ ๑ พระพุทธธีรเจ้า ทรงช่วยเทวดาและมนุษย์ ประมาณ ๑๐๐ โกฏิ ให้บรรลุ ในการบรรลุธรรม ครั้งที่ ๒ ทรงช่วยเทวดาและมนุษย์ ประมาณ ๙๐ โกฏิ ให้บรรลุ [๕] และในคราวเมื่อพระปทุมพุทธเจ้า ตรัสสอนพระราชโอรสของพระองค์ เทวดาและมนุษย์ประมาณ ๘๐ โกฏิ ได้บรรลุธรรม ครั้งที่ ๓ [๖] พระปทุมพุทธเจ้าผู้แสวงหาคุณอันยิ่งใหญ่ ได้มีการประชุมสาวก ๓ ครั้ง ภิกษุประมาณ ๑๐๐,๐๐๐ โกฏิ มาประชุมกัน เป็นครั้งที่ ๑ [๗] เมื่อกฐินจีวรเกิดขึ้นในสมัยกรานกฐิน ภิกษุทั้งหลายช่วยกันเย็บจีวรเพื่อประโยชน์แก่พระธรรมเสนาบดี [๘] ครั้งนั้น ภิกษุเหล่านั้นล้วนปราศจากมลทิน ได้อภิญญา ๖ มีฤทธิ์มาก ผู้ไม่พ่ายแพ้ ประมาณ ๓๐๐,๐๐๐ รูป มาประชุมกัน [๙] สมัยต่อมา ในคราวที่พระปทุมพุทธเจ้า ผู้องอาจกว่านรชนทรงเข้าจำพรรษาในป่าใหญ่ ครั้งนั้น ภิกษุประมาณ ๒๐๐,๐๐๐ รูป มาประชุมกัน [๑๐] สมัยนั้น ข้าพเจ้าเกิดเป็นราชสีห์ เป็นเจ้าแห่งฝูงเนื้อได้เห็นพระชินเจ้า ซึ่งกำลังเจริญวิเวกธรรมอยู่ในป่าใหญ่ [๑๑] ข้าพเจ้ากราบพระยุคลบาทด้วยศีรษะ กระทำประทักษิณพระองค์ บันลือสีหนาท ๓ ครั้ง บำรุงพระชินเจ้าอยู่ตลอด ๗ วัน {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๓ หน้า : ๖๒๙}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย พุทธวงศ์ ๘. ปทุมพุทธวงศ์

[๑๒] ครบ ๗ วันแล้ว พระตถาคตเสด็จออกจากสมาบัติอันประเสริฐ ทรงมีหทัยดำริให้ภิกษุจำนวน ๑ โกฏิ มาประชุมกัน [๑๓] แม้ครั้งนั้น พระมหาวีระพระองค์นั้น ก็ทรงพยากรณ์ในท่ามกลางภิกษุเหล่านั้นว่า ในกัปอันประมาณมิได้นับจากกัปนี้ไป พญาราชสีห์นี้ จักเป็นพระพุทธเจ้า พระตถาคตได้เสด็จออกจากกรุงกบิลพัสดุ์ที่น่ารื่นรมย์ [๑๔] พระตถาคตทรงเริ่มตั้งความเพียร บำเพ็ญทุกรกิริยา จักประทับนั่งที่โคนต้นอชปาลนิโครธ ทรงรับข้าวปายาสในที่นั้นแล้ว เสด็จไปยังแม่น้ำเนรัญชรา พระชินเจ้าพระองค์นั้นจักเสวยข้าวปายาส ที่ริมฝั่งแม่น้ำเนรัญชรา แล้วเสด็จไปที่โคนต้นโพธิ์ ตามหนทางอันประเสริฐที่ตกแต่งไว้แล้ว จากนั้น พระองค์ผู้มีพระยศยิ่งใหญ่ จักทำประทักษิณโพธิมัณฑ์อันยอดเยี่ยมแล้ว ตรัสรู้ที่โคนต้นอัสสัตถพฤกษ์ พระมารดาผู้ให้กำเนิดพระชินเจ้าพระองค์นี้ จักมีพระนามว่ามายา พระบิดาจักมีพระนามว่าสุทโธทนะ พระชินเจ้าพระองค์นี้จักมีพระนามว่าโคดม พระโกลิตเถระและพระอุปติสสเถระ ผู้ไม่มีอาสวะ สิ้นราคะ มีจิตสงบ ตั้งมั่นดีจักเป็นพระอัครสาวก พระเถระนามว่าอานนท์ จักเป็นพระอุปัฏฐาก บำรุงพระชินเจ้าพระองค์นี้ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๓ หน้า : ๖๓๐}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย พุทธวงศ์ ๘. ปทุมพุทธวงศ์

พระเขมาเถรีและพระอุบลวรรณาเถรี ผู้ไม่มีอาสวะ สิ้นราคะ มีจิตสงบ ตั้งมั่นดี จักเป็นพระอัครสาวิกา ต้นไม้เป็นที่ตรัสรู้ของพระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น ชาวโลกเรียกว่า ต้นอัสสัตถพฤกษ์ จิตตคหบดีอุบาสกและหัตถกคหบดีอุบาสก ชาวเมืองอาฬวี จักเป็นอัครอุปัฏฐาก นันทมารดาอุบาสิกาและขุชชุตตราอุบาสิกา จักเป็นอัครอุปัฏฐายิกา พระโคดมผู้มียศพระองค์นั้น จักมีพระชนมายุประมาณ ๑๐๐ ปี เทวดาและมนุษย์ได้ฟังพระดำรัสนี้ ของพระพุทธเจ้าผู้ไม่มีใครเสมอเหมือน ผู้แสวงหาคุณอันยิ่งใหญ่แล้ว ต่างก็มีความชื่นชมกล่าวว่า ‘ท่านผู้นี้เป็นหน่อพุทธางกูร’ สัตว์ทั้งหลายในหมื่นจักรวาลพร้อมทั้งเทวดา ต่างก็เปล่งเสียงโห่ร้องปรบมือ ร่าเริง ประนมมือนมัสการว่า ‘ถ้าเราทั้งหลายจักพลาดศาสนาของพระโลกนาถพระองค์นี้ เราทั้งหลายก็จักพร้อมหน้าหน่อพุทธางกูรนี้ในอนาคตกาล มนุษย์ทั้งหลายเมื่อจะข้ามแม่น้ำ พลาดท่าเฉพาะหน้าแล้ว ก็ยึดเอาท่าถัดไปจึงข้ามแม่น้ำใหญ่ไป ฉันใด เราทั้งหมดก็ฉันนั้นเหมือนกัน ถ้าพลาดพระชินเจ้าพระองค์นี้ ก็จักพร้อมหน้าหน่อพุทธางกูรนี้ในอนาคตกาล’ [๑๕] เราได้ฟังพระดำรัสของพระพุทธเจ้าแม้พระองค์นั้นแล้ว ก็ทำจิตให้เลื่อมใสอย่างยิ่ง ได้อธิษฐานวัตรเพื่อบำเพ็ญบารมี ๑๐ ประการให้ยิ่งขึ้นไป {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๓ หน้า : ๖๓๑}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย พุทธวงศ์ ๘. ปทุมพุทธวงศ์

[๑๖] กรุงชื่อว่าจัมปกะ กษัตริย์พระนามว่าอสมะ เป็นพระชนก พระเทวีพระนามว่าอสมา เป็นพระชนนี ของพระพุทธเจ้าพระนามว่าปทุมะ ผู้แสวงหาคุณอันยิ่งใหญ่ [๑๗] พระองค์ทรงครองฆราวาสอยู่ ๑๐,๐๐๐ ปี มีปราสาทที่อุดมอยู่ ๓ หลัง คือนันทปราสาท วสุปราสาท และยสุตตรปราสาท [๑๘] มีนางสนมกำนัล ๓๓,๐๐๐ นาง ล้วนประดับประดาสวยงาม พระมเหสีพระนามว่าอุตตรา พระราชโอรสพระนามว่ารัมมะ [๑๙] พระชินเจ้าทรงเห็นนิมิต ๔ ประการ จึงทรงราชพาหนะคือรถออกผนวชแล้ว ทรงบำเพ็ญเพียรอยู่ ๘ เดือนเต็ม(จึงได้บรรลุพระโพธิญาณ) [๒๐] พระมหาวีระพระนามว่าปทุมะ ทรงเป็นผู้นำสัตว์โลก ผู้อันพรหมทูลอาราธนาแล้ว ทรงประกาศพระธรรมจักร ณ พระอุทยานธนัญชะอันประเสริฐ [๒๑] พระสาลเถระและพระอุปสาลเถระเป็นพระอัครสาวก พระเถระนามว่าวรณะเป็นพระอุปัฏฐากของพระปทุมพุทธเจ้า ผู้แสวงหาคุณอันยิ่งใหญ่ [๒๒] พระราธาเถรีและพระสุราธาเถรีเป็นพระอัครสาวิกา ต้นไม้เป็นที่ตรัสรู้ของพระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น ชาวโลกเรียกว่า ต้นอ้อยช้างใหญ่ [๒๓] สภิยอุบาสกและอสมอุบาสกเป็นอัครอุปัฏฐาก รุจิอุบาสิกาและนันทรามาอุบาสิกาเป็นอัครอุปัฏฐายิกา [๒๔] พระมหามุนีทรงมีพระวรกายสูง ๕๘ ศอก พระองค์มีพระรัศมีหาอะไรเสมอมิได้ ซึ่งแผ่ซ่านออกทั่วทิศ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๓ หน้า : ๖๓๒}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย พุทธวงศ์ ๙. นารทพุทธวงศ์

[๒๕] แสงดวงจันทร์ แสงดวงอาทิตย์ แสงรัตนะ แสงไฟ และแสงแก้วมณีจินดาแม้ทุกอย่างนั้น ครั้นมาถึงรัศมีอันสูงสุดของพระชินเจ้าแล้วย่อมอันตรธานไป [๒๖] ขณะนั้น มนุษย์ทั้งหลายมีอายุประมาณ ๑๐๐,๐๐๐ ปี พระองค์ก็ทรงดำรงพระชนมายุประมาณเท่านั้น ทรงช่วยหมู่ชนให้ข้ามพ้นได้เป็นจำนวนมาก [๒๗] พระองค์พร้อมกับสาวกนั้น ทรงช่วยเหล่าสัตว์ ที่มีญาณแก่กล้าให้ตรัสรู้ได้โดยไม่เหลือ ทรงพร่ำสอนชนที่เหลืออื่นๆ แล้วเสด็จดับขันธปรินิพพาน [๒๘] พระองค์ทรงละทิ้งสังขารทั้งปวงเหมือนงูลอกคราบเก่า ดังรุกขชาติสลัดใบเก่า แล้วเสด็จดับขันธปรินิพพาน เหมือนเปลวเพลิงดับไป [๒๙] พระปทุมชินศาสดาผู้ประเสริฐ เสด็จดับขันธปรินิพพานที่ธรรมาราม พระบรมสารีริกธาตุของพระองค์ แผ่ไปอย่างกว้างขวางในนานาอารยประเทศ ฉะนี้แล
ปทุมพุทธวงศ์ที่ ๘ จบ


                  เนื้อความพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาฯ เล่มที่ ๓๓ หน้าที่ ๖๒๘-๖๓๓. http://84000.org/tipitaka/english/m_siri.php?B=33&siri=200              ฟังเนื้อความพระไตรปิฎก : [1], [2].                   อ่านเทียบพระไตรปิฎกฉบับหลวง :- http://84000.org/tipitaka/english/v.php?B=33&A=7605&Z=7658                   ศึกษาอรรถกถานี้ได้ที่ :- http://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=33&i=189              พระไตรปิฏกฉบับภาษาบาลีอักษรไทย :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/pali_item_s.php?book=33&item=189&items=1              อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย :- http://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=51&A=5760              The Pali Tipitaka in Roman :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/roman_item_s.php?book=33&item=189&items=1              The Pali Atthakatha in Roman :- http://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=51&A=5760                   สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่ ๓๓ http://84000.org/tipitaka/read/?index_mcu33



บันทึก ๓๑ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๕๙ บันทึกล่าสุด ๒๒ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๖๐ การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจากพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย. หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :