ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ค้นพระไตรปิฎก ชาดก หนังสือธรรมะ
     ฉบับหลวง   ฉบับมหาจุฬาฯ   บาลีอักษรไทย   PaliRoman 
พระไตรปิฎกเล่มที่ ๓๓ พระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๒๕ [ฉบับมหาจุฬาฯ] ขุททกนิกาย อปทาน ภาค ๒ -พุทธวังสะ-จริยาปิฎก

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๔๙. ปังสุกูลวรรค]

๕. จันทนมาลิยเถราปทาน

๕. จันทนมาลิยเถราปทาน
ประวัติในอดีตชาติของพระจันทนมาลิยเถระ๑-
(พระจันทนมาลิยเถระ เมื่อจะประกาศประวัติในอดีตชาติของตน จึงกล่าวว่า) [๗๕] ข้าพเจ้าละเบญจกามคุณที่น่ายินดี น่าพอใจ และละทรัพย์ประมาณ ๘๐ โกฏิแล้ว จึงออกบวชเป็นบรรพชิต [๗๖] ครั้นบวชแล้ว ได้เว้นกายทุจริต ละวจีทุจริต อาศัยอยู่ริมฝั่งแม่น้ำ [๗๗] ข้าพเจ้าอยู่คนเดียว พระพุทธเจ้าผู้ประเสริฐที่สุด ได้เสด็จมาใกล้ ข้าพเจ้าไม่ทราบว่าเป็นพระพุทธเจ้า แต่ก็ได้ทำการปฏิสันถาร [๗๘] ครั้นทำการปฏิสันถารแล้ว จึงได้ทูลถามถึงชื่อและโคตรว่า ท่านเป็นเทวดาหรือคนธรรพ์ หรือเป็นท้าวสักกปุรินททะ [๗๙] ท่านเป็นใคร หรือเป็นบุตรของใคร หรือเป็นท้าวมหาพรหม มา ณ ที่นี้ สว่างไสวไปทั่วทุกทิศ เหมือนดวงอาทิตย์อุทัย [๘๐] ข้าแต่ท่านผู้นิรทุกข์ จักรมีกำพันหนึ่งปรากฏที่เท้าของท่าน ท่านเป็นใคร หรือเป็นบุตรของใคร เราจักรู้จักท่านได้อย่างไร ขอท่านจงบอกชื่อและโคตร ขจัดความสงสัยของเราเถิด [๘๑] พระพุทธเจ้าตรัสว่า เราไม่ใช่เทวดา ไม่ใช่คนธรรพ์ ไม่ใช่ท้าวสักกปุรินททะ และเราไม่ได้เป็นพรหม เราเป็นผู้สูงส่งกว่าชนเหล่านั้น @เชิงอรรถ : @ พระจันทนมาลิยเถระ หมายถึงพระวัลลิยเถระหรือพระกัณหมิตตะ ชาวกรุงเวสาลี (ขุ.เถร.อ. ๑/๑๖๘/๔๕๑) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๓ หน้า : ๑๔๕}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๔๙. ปังสุกูลวรรค]

๕. จันทนมาลิยเถราปทาน

[๘๒] ล่วงวิสัยของชนเหล่านั้น ทำลายเครื่องผูกมัดคือกามได้แล้ว เผากิเลสหมดแล้ว บรรลุสัมโพธิญาณอันสูงสุด [๘๓] ข้าพเจ้าได้ฟังพระดำรัสของพระองค์แล้ว จึงได้กราบทูลคำนี้ว่า ข้าแต่พระมหามุนี ถ้าพระองค์เป็นพระสัพพัญญูพุทธเจ้า ขอเชิญพระองค์ประทับนั่งเถิด [๘๔] พระองค์ทำที่สุดทุกข์ได้ ข้าพระองค์จักบูชาพระองค์ ข้าพเจ้าจึงได้ลาดหนังสัตว์ถวายพระศาสดา [๘๕] พระผู้มีพระภาคประทับนั่งบนหนังสัตว์นั้น ดุจพญาราชสีห์นั่งอยู่ในถ้ำ ข้าพเจ้ารีบขึ้นภูเขาเก็บผลมะม่วง [๘๖] ดอกสาละที่สวยงามและแก่นจันทน์ซึ่งมีราคามาก ข้าพเจ้ารีบหอบของทั้งหมดเข้าเฝ้าพระผู้ทรงเป็นผู้นำสัตว์โลก [๘๗] ได้ถวายผลไม้แด่พระพุทธเจ้า แล้วใช้ดอกสาละบูชา ได้ใช้แก่นจันทน์ลูบไล้แล้วไหว้พระศาสดา [๘๘] ข้าพเจ้าเป็นผู้มีจิตเลื่อมใส มีใจยินดี มีปีติไพบูลย์แล้ว พระศาสดาผู้ทรงเป็นผู้นำสัตว์โลก พระนามว่าสุเมธะ ประทับนั่งบนหนังสัตว์ [๘๙] พระองค์เมื่อจะให้ข้าพเจ้ารื่นเริง ได้ทรงพยากรณ์กรรมของข้าพเจ้าในครั้งนั้นว่า ด้วยการถวายผลไม้กับของหอมและดอกไม้ทั้ง ๒ อย่างนี้ [๙๐] ผู้นี้จักรื่นรมย์ในเทวโลกตลอด ๑๒๕ กัป เขาจักเป็นผู้มีความดำริทางใจไม่บกพร่อง มีอำนาจ [๙๑] จักไปเกิดเป็นมนุษย์ ได้เป็นพระเจ้าจักรพรรดิผู้มีฤทธิ์มาก มีมหาสมุทรทั้ง ๔ เป็นขอบเขตตลอด ๑๒๖ กัป {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๓ หน้า : ๑๔๖}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๔๙. ปังสุกูลวรรค]

๕. จันทนมาลิยเถราปทาน

[๙๒] วิสสุกรรมเทพบุตรเนรมิตนครมีนามว่าเวภาระ นครนั้นจักเป็นทองคำล้วน ประดับด้วยรัตนชาตินานาชนิด [๙๓] เขาจักเวียนเกิดเวียนตายในกำเนิดทั้งหลายด้วยอุบายนี้แล จักเป็นผู้มีความสุขทุกภพ คือในภพเทวดาหรือภพมนุษย์ [๙๔] เมื่อถึงภพสุดท้าย เขาจักเกิดเป็นเผ่าพันธุ์ของท่านผู้ประเสริฐ๑- จักออกบวชเป็นบรรพชิต จักเป็นผู้ไม่ออกปากขอปัจจัย ไม่มีอาสวะแล้วนิพพาน [๙๕] ครั้นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระนามว่าสุเมธะ ผู้ทรงเป็นผู้นำสัตว์โลกตรัสอย่างนี้แล้ว ขณะที่ข้าพเจ้ากำลังเพ่งดูอยู่ ได้เสด็จเหาะไปในอากาศ [๙๖] ด้วยกรรมที่ข้าพเจ้าได้ทำไว้ดีแล้วนั้น และด้วยเจตนาที่ตั้งไว้มั่น ข้าพเจ้าละกายมนุษย์แล้ว จึงได้ไปเกิดในสวรรค์ชั้นดุสิต [๙๗] จุติจากสวรรค์ชั้นดุสิตแล้ว อุบัติในครรภ์มารดา เมื่อข้าพเจ้าอยู่ในครรภ์ ข้าพเจ้าไม่มีความบกพร่องในโภคะเลย [๙๘] เมื่อข้าพเจ้ายังอยู่ในครรภ์มารดา โภชนาหารคือข้าวและน้ำ บังเกิดแก่มารดาตามความพอใจ ตามปรารถนาของข้าพเจ้า [๙๙] ข้าพเจ้าบวชเป็นบรรพชิตเมื่ออายุได้ ๕ ขวบ ขณะปลงผมเสร็จก็ได้บรรลุอรหัตตผล @เชิงอรรถ : @ เผ่าพันธุ์ของท่านผู้ประเสริฐ หมายถึงผู้เกิดในตระกูลพราหมณ์ (ขุ.อป.อ. ๑/๒๗๔/๒๗๗) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๓ หน้า : ๑๔๗}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๔๙. ปังสุกูลวรรค]

๕. จันทนมาลิยเถราปทาน

[๑๐๐] ข้าพเจ้าค้นหาบุพกรรมอยู่ ก็มิได้เห็นบุพกรรมอะไรๆ แต่ข้าพเจ้ามาระลึกถึงกรรมของตนได้ นอกเหนือไปในกัปที่ ๓๐,๐๐๐ [๑๐๑] ข้าแต่พระองค์ผู้เป็นบุรุษอาชาไนย ข้าพระองค์ขอนอบน้อมพระองค์ ข้าแต่พระองค์ผู้เป็นบุรุษสูงสุด ข้าพระองค์ขอนอบน้อมพระองค์ ข้าพระองค์อาศัยคำสั่งสอนของพระองค์ จึงได้บรรลุบทที่ไม่หวั่นไหว [๑๐๒] ในกัปที่ ๓๐,๐๐๐ (นับจากกัปนี้ไป) ข้าพเจ้าได้บูชาพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไว้ จึงไม่รู้จักทุคติเลย นี้เป็นผลแห่งการบูชาพระพุทธเจ้า [๑๐๓] กิเลสทั้งหลายข้าพเจ้าก็เผาได้แล้ว ภพทั้งปวงข้าพเจ้าก็ถอนได้แล้ว ข้าพเจ้าตัดกิเลสเครื่องผูกพันได้แล้วอยู่อย่างผู้ไม่มีอาสวะ ดุจพญาช้างตัดเครื่องพันธนาการได้แล้วอยู่อย่างอิสระ [๑๐๔] การที่ข้าพเจ้ามาในสำนักของพระพุทธเจ้า เป็นการมาดีแล้วโดยแท้ วิชชา ๓ ข้าพเจ้าได้บรรลุแล้วโดยลำดับ คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ข้าพเจ้าก็ได้ทำสำเร็จแล้ว [๑๐๕] คุณวิเศษเหล่านี้ คือ ปฏิสัมภิทา ๔ วิโมกข์ ๘ และอภิญญา ๖ ข้าพเจ้าก็ได้ทำให้แจ้งแล้ว คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ข้าพเจ้าก็ได้ทำสำเร็จแล้ว ดังนี้แล ได้ทราบว่า ท่านพระจันทนมาลิยเถระได้ภาษิตคาถาเหล่านี้ ด้วยประการฉะนี้
จันทนมาลิยเถราปทานที่ ๕ จบ
{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๓ หน้า : ๑๔๘}


                  เนื้อความพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาฯ เล่มที่ ๓๓ หน้าที่ ๑๔๕-๑๔๘. http://84000.org/tipitaka/english/m_siri.php?B=33&siri=75              ฟังเนื้อความพระไตรปิฎก : [1], [2].                   อ่านเทียบพระไตรปิฎกฉบับหลวง :- http://84000.org/tipitaka/english/v.php?B=33&A=1622&Z=1677                   ศึกษาอรรถกถานี้ได้ที่ :- http://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=33&i=75              พระไตรปิฏกฉบับภาษาบาลีอักษรไทย :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/pali_item_s.php?book=33&item=75&items=1              The Pali Tipitaka in Roman :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/roman_item_s.php?book=33&item=75&items=1                   สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่ ๓๓ http://84000.org/tipitaka/read/?index_mcu33              อ่านเทียบฉบับแปลอังกฤษ Compare with English Translation :- https://suttacentral.net/tha-ap487/en/walters



บันทึก ๓๑ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๕๙ บันทึกล่าสุด ๒๒ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๖๐ การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจากพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย. หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :