ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ค้นพระไตรปิฎก ชาดก หนังสือธรรมะ
     ฉบับหลวง   ฉบับมหาจุฬาฯ   บาลีอักษรไทย   PaliRoman 
พระไตรปิฎกเล่มที่ ๓๖ พระอภิธรรมปิฎกเล่มที่ ๓ [ฉบับมหาจุฬาฯ] ธาตุกถา-ปุคคลบัญญัติปกรณ์
๕. ปัญจกปุคคลบัญญัติ
[๑๙๑] บรรดาบุคคลที่แสดงแล้วเหล่านั้น บุคคลผู้ต้องอาบัติและเดือดร้อน ทั้งไม่รู้ชัดตามความเป็นจริงซึ่งเจโตวิมุตติปัญญาวิมุตติอันเป็นที่ดับไปโดยไม่เหลือ แห่งสภาวธรรมที่เป็นอกุศลซึ่งเป็นบาปอันเกิดขึ้นแล้วแก่ตน บุคคลนั้นพึงถูกว่า กล่าวอย่างนี้ว่า “อาสวะที่เกิดจากการต้องอาบัติมีแก่ท่าน อาสวะที่เกิดจากความ เดือดร้อนเจริญแก่ท่าน ดีละ ท่านจงละอาสวะที่เกิดจากการต้องอาบัติ บรรเทา อาสวะที่เกิดจากความเดือดร้อน เจริญจิตและเจริญปัญญา เมื่อเจริญอย่างนี้แล้ว ท่านจักเป็นผู้เสมอด้วยบุคคลที่ ๕ ๑-” บรรดาบุคคลเหล่านั้น บุคคลผู้ต้องอาบัติแต่ไม่เดือดร้อน ทั้งไม่รู้ชัดตามความ เป็นจริงซึ่งเจโตวิมุตติปัญญาวิมุตติอันเป็นที่ดับไปโดยไม่เหลือแห่งสภาวธรรมที่เป็น อกุศลซึ่งเป็นบาปอันเกิดขึ้นแล้วแก่ตน บุคคลนั้นพึงถูกว่ากล่าวอย่างนี้ว่า “อาสวะ ที่เกิดจากการต้องอาบัติมีแก่ท่าน อาสวะที่เกิดจากความเดือดร้อนย่อมไม่เจริญแก่ ท่าน ดีละ ท่านจงละอาสวะที่เกิดจากการต้องอาบัติแล้ว เจริญจิตและปัญญา เมื่อเจริญอย่างนี้แล้ว ท่านจักเป็นผู้เสมอด้วยบุคคลที่ ๕” บรรดาบุคคลเหล่านั้น บุคคลผู้ไม่ต้องอาบัติแต่เดือดร้อนและไม่รู้ชัดตาม ความเป็นจริงซึ่งเจโตวิมุตติปัญญาวิมุตติอันเป็นที่ดับไปโดยไม่เหลือแห่งสภาวธรรม ที่เป็นอกุศลซึ่งเป็นบาปอันเกิดขึ้นแล้วแก่ตน บุคคลนั้นพึงถูกว่ากล่าวอย่างนี้ว่า “อาสวะที่เกิดจากการต้องอาบัติไม่มีแก่ท่าน อาสวะที่เกิดจากความเดือดร้อนเจริญ แก่ท่าน ดีละ ท่านจงละอาสวะที่เกิดจากความเดือดร้อนแล้วเจริญจิตและปัญญา เมื่อเจริญแล้วอย่างนี้ ท่านจักเป็นผู้เสมอด้วยบุคคลที่ ๕” @เชิงอรรถ : @ หมายถึง ผู้สิ้นอาสวะแล้ว (อภิ.ปญฺจ.อ. ๑๙๑/๑๑๒) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๖ หน้า : ๒๑๘}

พระอภิธรรมปิฎก ปุคคลบัญญัติ ๕. ปัญจกปุคคลบัญญัติ

บรรดาบุคคลเหล่านั้น บุคคลผู้ไม่ต้องอาบัติ ไม่เดือดร้อน และไม่รู้ชัดตาม ความเป็นจริงซึ่งเจโตวิมุตติปัญญาวิมุตติอันเป็นที่ดับไปโดยไม่เหลือแห่งสภาวธรรม ที่เป็นอกุศลซึ่งเป็นบาปอันเกิดขึ้นแล้วแก่ตน บุคคลนั้นพึงถูกว่ากล่าวอย่างนี้ว่า “อาสวะที่เกิดจากการต้องอาบัติไม่มีแก่ท่าน อาสวะที่เกิดจากความเดือดร้อนไม่ เจริญแก่ท่าน ดีละ ท่านจงเจริญจิตและปัญญา เมื่อเจริญอย่างนี้แล้ว ท่านจัก เป็นผู้เสมอด้วยบุคคลที่ ๕” บุคคล ๔ จำพวกเหล่านี้ เมื่อบุคคลที่ ๕ โอวาทพร่ำสอนอยู่อย่างนี้ จะถึง ความสิ้นอาสวะโดยลำดับ [๑๙๒] บุคคลให้แล้วดูหมิ่น เป็นไฉน บุคคลบางคนในโลกนี้ให้จีวร บิณฑบาต เสนาสนะ และคิลานปัจจัยเภสัช บริขารแก่บุคคลใด บุคคลนั้นกลับมีความคิดอย่างนี้ว่า “เราจะให้ ผู้นี้จะรับ” ให้ แล้วย่อมดูหมิ่นผู้นั้น บุคคลเช่นนี้ชื่อว่าให้แล้วดูหมิ่น บุคคลดูหมิ่นด้วยการอยู่ร่วมกัน เป็นไฉน บุคคลบางคนในโลกนี้อยู่ร่วมกับบุคคลใดตลอด ๒ หรือ ๓ ปี ดูหมิ่นบุคคล นั้นเพราะการอยู่ร่วมกัน บุคคลเช่นนี้ชื่อว่าดูหมิ่นด้วยการอยู่ร่วมกัน บุคคลผู้เชื่อง่าย เป็นไฉน บุคคลบางคนในโลกนี้เมื่อเขากล่าวสรรเสริญหรือกล่าวติเตียนผู้อื่นก็เชื่อทันที บุคคลเช่นนี้ชื่อว่าผู้เชื่อง่าย บุคคลผู้โลเล เป็นไฉน บุคคลบางคนในโลกนี้มีศรัทธานิดหน่อย มีความภักดีนิดหน่อย มีความรัก นิดหน่อย มีความเลื่อมใสนิดหน่อย บุคคลเช่นนี้ชื่อว่าผู้โลเล บุคคลผู้โง่งมงาย เป็นไฉน บุคคลบางคนในโลกนี้ไม่รู้สภาวธรรมทั้งที่เป็นกุศลและอกุศล มีโทษและไม่มี โทษ ที่เลวและประณีต มีส่วนเปรียบด้วยธรรมฝ่ายดำและธรรมฝ่ายขาว บุคคลเช่นนี้ ชื่อว่าผู้โง่งมงาย [๑๙๓] ในบทมาติกานั้น บุคคลเปรียบเหมือนนักรบอาชีพ ๕ จำพวก เป็นไฉน นักรบอาชีพ ๕ จำพวก คือ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๖ หน้า : ๒๑๙}

พระอภิธรรมปิฎก ปุคคลบัญญัติ ๕. ปัญจกปุคคลบัญญัติ

นักรบบางคนในโลกนี้พอเห็นกลุ่มควัน๑- เท่านั้น ย่อมชะงัก หยุด ไม่ตั้งมั่น ไม่สามารถเข้าสู่สงครามได้ นักรบบางคนแม้เช่นนี้ก็ชื่อว่าเป็นนักรบอาชีพ นักรบ อาชีพจำพวกที่ ๑ นี้มีปรากฏอยู่ในโลก ยังมีอีก นักรบอาชีพบางคนในโลกนี้แม้เห็นกลุ่มควันก็อดทนได้ แต่ว่าเห็น ปลายธง๒- แล้วย่อมชะงัก หยุด ไม่ตั้งมั่น ไม่สามารถจะเข้าสู่สงครามได้ นักรบ บางคนแม้เช่นนี้ก็ชื่อว่าเป็นนักรบอาชีพ นักรบอาชีพจำพวกที่ ๒ นี้มีปรากฏอยู่ในโลก ยังมีอีก นักรบอาชีพบางคนในโลกนี้แม้เห็นกลุ่มควันก็อดทนได้ เห็นปลาย ธงก็อดทนได้ แต่พอได้ยินเสียงอึกทึก๓- แล้วย่อมชะงัก หยุด ไม่ตั้งมั่น ไม่สามารถ จะเข้าสู่สงครามได้ นักรบบางคนแม้เช่นนี้ก็ชื่อว่าเป็นนักรบอาชีพ นักรบอาชีพจำ พวกที่ ๓ นี้มีปรากฏอยู่ในโลก ยังมีอีก นักรบอาชีพบางคนในโลกนี้แม้เห็นกลุ่มควันก็อดทนได้ เห็นปลาย ธงก็อดทนได้ ได้ยินเสียงอึกทึกก็อดทนได้ แต่พอปะทะกันย่อมเหนื่อยหน่าย ระส่ำระสาย นักรบบางคนแม้เช่นนี้ก็ชื่อว่าเป็นนักรบอาชีพ นักรบอาชีพจำพวกที่ ๔ นี้มีปรากฏอยู่ในโลก ยังมีอีก นักรบอาชีพบางคนในโลกนี้แม้เห็นกลุ่มควันก็อดทนได้ เห็นปลายธง ก็อดทนได้ ได้ยินเสียงอึกทึกก็อดทนได้ ปะทะกันก็อดทนได้ นักรบอาชีพนั้นชนะ สงครามนั้นแล้วชื่อว่าผู้พิชิตสงคราม ย่อมครอบครองค่ายที่ชนะมาไว้ได้ นักรบบาง คนแม้เช่นนี้ก็ชื่อว่าเป็นนักรบอาชีพ นักรบอาชีพจำพวกที่ ๕ นี้มีปรากฏอยู่ในโลก นักรบอาชีพ ๕ จำพวกเหล่านี้มีปรากฏอยู่ในโลก [๑๙๔] บุคคลเปรียบเหมือนนักรบอาชีพ ๕ จำพวกเหล่านี้มีปรากฏอยู่ใน ภิกษุทั้งหลายอย่างนี้เหมือนกัน @เชิงอรรถ : @ กลุ่มควัน ในที่นี้หมายถึงฝุ่นซึ่งโพยพุ่งขึ้นไปตามภาคพื้นดินอันเกิดจากการเหยียบย่ำของช้างและม้าเป็นต้น @(อภิ.ปญฺจ.อ. ๑๙๓/๑๑๓) @ ปลายธง ในที่นี้หมายถึงยอดธงที่เขายกประดับไว้บนหลังช้าง ม้า หรือรถ (อภิ.ปญฺจ.อ. ๑๙๓/๑๑๔) @ เสียงอึกทึก ในที่นี้หมายถึงเสียงเอ็ดตะโรของช้าง ม้า รถ และพลเดินเท้า (อภิ.ปญฺจ.อ. ๑๙๓/๑๑๔) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๖ หน้า : ๒๒๐}

พระอภิธรรมปิฎก ปุคคลบัญญัติ ๕. ปัญจกปุคคลบัญญัติ

ภิกษุ ๕ จำพวก เป็นไฉน ภิกษุบางรูปในธรรมวินัยนี้เห็นกลุ่มธุลีเท่านั้น ย่อมซบเซา หงอยเหงา ไม่ ตั้งมั่น ย่อมไม่สามารถจะสืบต่อพรหมจรรย์๑- ประกาศความย่อหย่อนในสิกขา บอกคืนสิกขาเวียนมาเป็นคฤหัสถ์ อะไรเป็นกลุ่มธุลีของภิกษุนั้น ภิกษุในธรรมวินัย นี้ได้ทราบข่าวว่า “ในบ้านหรือนิคมชื่อโน้น มีหญิงหรือกุมารี ผู้มีรูปงาม น่าดู น่าชื่นชม มีผิวพรรณงามยิ่ง” เธอได้ทราบข่าวนั้นแล้ว ย่อมซบเซา หงอยเหงา ไม่ตั้งมั่น ไม่สามารถเพื่อจะสืบต่อพรหมจรรย์ได้ ประกาศความย่อหย่อนในสิกขา บอกคืน สิกขาเวียนมาเป็นคฤหัสถ์ นี้ชื่อว่ากลุ่มธุลีของภิกษุนั้น นักรบอาชีพนั้นพอเห็นกลุ่มควันเท่านั้นย่อมชะงัก หยุดอยู่ ไม่ตั้งมั่น ไม่ สามารถจะเข้าสู่สงครามได้แม้ฉันใด ภิกษุนี้ก็อุปมาฉันนั้น บุคคลบางคนในโลกนี้ เป็นเช่นนี้ บุคคลเปรียบเหมือนนักรบอาชีพจำพวกที่ ๑ นี้มีปรากฏอยู่ในภิกษุ ทั้งหลาย [๑๙๕] ยังมีอีก ภิกษุบางรูปในธรรมวินัยนี้เห็นกลุ่มธุลีก็อดทนได้ แต่พอเห็น ปลายธงเท่านั้นย่อมซบเซา หงอยเหงา ไม่ตั้งมั่น ย่อมไม่สามารถจะสืบต่อ พรหมจรรย์ได้ ประกาศความย่อหย่อนในสิกขา บอกคืนสิกขาเวียนมาเป็นคฤหัสถ์ อะไรเป็นปลายธงของภิกษุนั้น ภิกษุในธรรมวินัยนี้ไม่เพียงได้ยินข่าวว่า “ในบ้าน หรือนิคมชื่อโน้น มีหญิงหรือกุมารี มีรูปงาม น่าดู น่าชื่นชม มีผิวพรรณงามยิ่ง” ครั้นเธอเห็นแล้ว ก็ประกาศความย่อหย่อนในสิกขา หงอยเหงา ไม่ตั้งมั่น ไม่ สามารถจะสืบต่อพรหมจรรย์ ประกาศความย่อหย่อนในสิกขา บอกคืนสิกขาเวียน มาเป็นคฤหัสถ์ นี้ชื่อว่าปลายธงของภิกษุนั้น นักรบอาชีพนั้นพอเห็นกลุ่มควันก็อดทนได้ เห็นปลายธงจึงชะงัก หยุดอยู่ ไม่ตั้งมั่น ไม่สามารถจะเข้าสู่สงครามได้แม้ฉันใด ภิกษุนี้ก็อุปมาฉันนั้น บุคคลบางคนในโลกนี้ เป็นเช่นนี้ บุคคลเปรียบเหมือนนักรบอาชีพจำพวกที่ ๒ นี้มีปรากฏอยู่ในภิกษุ ทั้งหลาย @เชิงอรรถ : @ พรหมจรรย์ ในที่นี้หมายถึงการอยู่ประพฤติพรหมจรรย์ในเพศบรรพชิต (อภิ.ปญฺจ.อ. ๑๙๔/๑๑๔) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๖ หน้า : ๒๒๑}

พระอภิธรรมปิฎก ปุคคลบัญญัติ ๕. ปัญจกปุคคลบัญญัติ

[๑๙๖] ยังมีอีก ภิกษุบางรูปในธรรมวินัยนี้เห็นกลุ่มธุลีก็อดทนได้ เห็นปลาย ธงก็อดทนได้ แต่พอได้ยินเสียงอึกทึกเท่านั้นก็จมอยู่ในมิจฉาวิตก หยุดอยู่ ไม่ตั้งมั่น ไม่สามารถจะสืบต่อพรหมจรรย์ ประกาศความย่อหย่อนในสิกขา บอกคืนสิกขา เวียนมาเป็นคฤหัสถ์ อะไรเป็นเสียงอึกทึกของภิกษุนั้น มาตุคาม เข้าไปหาภิกษุใน ธรรมวินัยนี้ผู้อยู่ป่า อยู่โคนไม้ หรืออยู่เรือนว่าง ย่อมยิ้มยวน ทักทาย ซิกซี้ พูดล้อเลียน เธอถูกมาตุคามยิ้มยวน ทักทาย ซิกซี้ ล้อเลียน ย่อมจมอยู่ในมิจฉาวิตก หยุดอยู่ ไม่ตั้งมั่น ไม่สามารถจะสืบต่อพรหมจรรย์ได้ ประกาศความย่อหย่อนในสิกขา บอกคืนสิกขาเวียนมาเป็นคฤหัสถ์ นี้ชื่อว่าเสียงอึกทึกของภิกษุนั้น นักรบอาชีพนั้นเห็นกลุ่มธุลีก็อดทนได้ เห็นปลายธงก็อดทนได้ แต่พอได้ยิน เสียงอึกทึกเท่านั้น ย่อมชะงัก หยุด ไม่ตั้งมั่น ไม่สามารถจะเข้าสู่สงครามได้ แม้ฉันใด ภิกษุนี้ก็อุปมาฉันนั้น บุคคลบางคนในโลกนี้เป็นเช่นนี้ บุคคลเปรียบเหมือนนักรบ อาชีพจำพวกที่ ๓ นี้มีปรากฏอยู่ในภิกษุทั้งหลาย [๑๙๗] ยังมีอีก ภิกษุบางรูปในธรรมวินัยนี้เห็นกลุ่มธุลีก็อดทนได้ เห็นปลาย ธงก็อดทนได้ ได้ยินเสียงอึกทึกก็อดทนได้ แต่เมื่อปะทะกันก็เหนื่อยหน่าย ระส่ำ ระสาย อะไรเป็นการปะทะกันของภิกษุนั้น คือ มาตุคามเข้าไปหาภิกษุในธรรม วินัยนี้ผู้อยู่ป่า อยู่โคนไม้ หรืออยู่เรือนว่าง ย่อมนั่งใกล้ชิด นอนใกล้ชิด กอดรัด เธอถูกมาตุคามนั่งใกล้ชิด นอนใกล้ชิด กอดรัดอยู่ก็ไม่บอกคืนสิกขา ไม่ประกาศ ความย่อหย่อนให้ปรากฏ เสพเมถุนธรรม นี้ชื่อว่าการปะทะกันของภิกษุนั้น นักรบอาชีพนั้นเห็นกลุ่มควันก็อดทนได้ เห็นปลายธงก็อดทนได้ ได้ยินเสียง อึกทึกก็อดทนได้ แต่ว่าย่อมเหนื่อยหน่าย ระส่ำระสายในเมื่อมีการปะทะกัน แม้ฉันใด ภิกษุนี้ก็อุปมาฉันนั้น บุคคลบางคนในโลกนี้เป็นเช่นนี้ บุคคลเปรียบ เหมือนนักรบอาชีพจำพวกที่ ๔ นี้มีปรากฏอยู่ในภิกษุทั้งหลาย [๑๙๘] ยังมีอีก ภิกษุบางรูปในธรรมวินัยนี้เห็นกลุ่มธุลีก็อดทนได้ เห็นปลาย ธงก็อดทนได้ ได้ยินเสียงอึกทึกก็อดทนได้ ปะทะกันก็อดทนได้ เธอชนะสงคราม แล้วชื่อว่าผู้พิชิตสงคราม ย่อมครอบครองค่ายรบที่ชนะมาไว้ได้ อะไรเป็นชัยชนะใน สงครามของภิกษุนั้น คือ มาตุคามเข้าไปหาภิกษุในธรรมวินัยนี้ผู้อยู่ป่า อยู่โคนไม้ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๖ หน้า : ๒๒๒}

พระอภิธรรมปิฎก ปุคคลบัญญัติ ๕. ปัญจกปุคคลบัญญัติ

หรืออยู่เรือนว่างแล้ว ย่อมนั่งใกล้ชิด นอนใกล้ชิด กอดรัด เธอถูกมาตุคามนั่งใกล้ชิด นอนใกล้ชิด กอดรัดอยู่ก็ปลดเปลื้องเอาตัวรอดได้ หลีกไปตามที่ปรารถนา ภิกษุนั้นย่อมเข้าสู่เสนาสนะอันสงัด เช่น ป่า โคนไม้ ภูเขา ซอกเขา ถ้ำ ป่าช้า ป่าทึบ กลางแจ้ง ลอมฟาง เธออยู่ป่า อยู่โคนไม้ หรืออยู่เรือนว่าง นั่งคู้บัลลังก์ ตั้งกายให้ตรงดำรงสติให้มั่น เธอละอภิชฌาในโลก มีใจปราศจากอภิชฌา ชำระจิต ให้หมดจดจากอภิชฌา ละความมุ่งร้ายคือพยาบาท มีจิตไม่พยาบาท มุ่งประโยชน์ เกื้อกูลแก่สรรพสัตว์อยู่ ชำระจิตให้หมดจดจากความมุ่งร้ายคือพยาบาท ละถีนมิทธะ ปราศจากถีนมิทธะ กำหนดแสงสว่าง มีสติสัมปชัญญะ ชำระจิตให้หมดจดจาก ถีนมิทธะ ละอุทธัจจกุกกุจจะ เป็นผู้ไม่ฟุ้งซ่าน มีจิตสงบภายใน ชำระจิตให้หมด จดจากอุทธัจจกุกกุจจะ ละวิจิกิจฉา ข้ามพ้นวิจิกิจฉาได้แล้ว ไม่มีความสงสัยใน กุศลธรรมทั้งหลายอยู่ ชำระจิตให้หมดจดจากวิจิกิจฉา ภิกษุนั้นละนิวรณ์ ๕ ประการเหล่านี้ ที่ทำให้จิตเศร้าหมอง บั่นทอนกำลัง ปัญญา สงัดจากกาม สงัดจากสภาวธรรมที่เป็นอกุศล บรรลุปฐมฌานที่มีวิตก มี วิจาร มีปีติ และสุขอันเกิดแต่วิเวกอยู่ เพราะวิตกวิจารสงบระงับไป บรรลุทุติยฌาน ฯลฯ บรรลุตติยฌาน ฯลฯ บรรลุจตุตถฌาน ฯลฯ อยู่ ภิกษุนั้น เมื่อจิตเป็นสมาธิ บริสุทธิ์ ผุดผ่อง ไม่มีกิเลสเพียงดังเนิน ปราศจาก ความเศร้าหมอง อ่อน เหมาะแก่การใช้งาน ตั้งมั่น ไม่หวั่นอย่างนี้ น้อมจิตไป เพื่ออาสวักขยญาณ เธอย่อมรู้ชัดตามความเป็นจริงว่า “นี้ทุกข์ นี้เหตุเกิดแห่ง ทุกข์ นี้ความดับทุกข์ นี้ข้อปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์ นี้อาสวะ นี้เหตุเกิดแห่งอาสวะ นี้ความดับอาสวะ นี้ข้อปฏิบัติให้ถึงความดับอาสวะ” เมื่อเธอรู้เห็นอยู่อย่างนี้ จิตย่อมหลุดพ้นจากกามาสวะ ภวาสวะ และอวิชชาสวะ เมื่อจิตหลุดพ้นแล้ว ก็รู้ว่า “หลุดพ้นแล้ว” รู้ชัดว่า “ชาติสิ้นแล้ว อยู่จบพรหม- จรรย์แล้ว ทำกิจที่ควรทำเสร็จแล้ว ไม่มีกิจอื่นเพื่อความเป็นอย่างนี้อีกต่อไป” นี้ คือการได้ชัยชนะในสงครามของภิกษุนั้น นักรบอาชีพนั้นเห็นกลุ่มควันแล้วก็อดทนได้ เห็นปลายธงก็อดทนได้ ได้ยินเสียงอึกทึกก็อดทนได้ ปะทะกันก็อดทนได้ นักรบ อาชีพนั้น ชนะสงครามนั้นแล้ว เป็นผู้พิชิตสงคราม ย่อมครอบครองค่ายรบที่ชนะ มานั้นนั่นแล แม้ฉันใด ภิกษุนี้ก็อุปมาฉันนั้น บุคคลบางคนในโลกนี้เป็นเช่นนี้ บุคคลเปรียบเหมือนนักรบอาชีพ ๕ จำพวกนี้มีปรากฏอยู่ในภิกษุทั้งหลาย {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๖ หน้า : ๒๒๓}

พระอภิธรรมปิฎก ปุคคลบัญญัติ ๕. ปัญจกปุคคลบัญญัติ

[๑๙๙] ในบทมาติกานั้น ภิกษุผู้ถือบิณฑบาตเป็นวัตร ๕ จำพวก เป็นไฉน ภิกษุเป็นผู้ถือบิณฑบาตเป็นวัตร เพราะความไม่เข้าใจ ความไม่รู้ มีความ ปรารถนาเลวทราม ถูกความอยากครอบงำ เป็นผู้ถือบิณฑบาตเป็นวัตร เพราะ วิกลจริต มีจิตฟุ้งซ่าน เป็นผู้ถือบิณฑบาตเป็นวัตรเพราะคิดว่า “การถือ บิณฑบาตเป็นวัตรนี้ พระพุทธเจ้า สาวกของพระพุทธเจ้ากล่าวสรรเสริญ” อีกประการหนึ่ง เป็นผู้ถือบิณฑบาตเป็นวัตร เพราะอาศัยความเป็นผู้มัก น้อยอย่างเดียว เพราะอาศัยความสันโดษอย่างเดียว เพราะอาศัยความขัดเกลา อย่างเดียว เพราะอาศัยความต้องการปฏิบัติในวัตรอันดีงามนี้อย่างเดียว บรรดา ภิกษุเหล่านั้น ภิกษุใด เป็นผู้ถือบิณฑบาตเป็นวัตร เพราะอาศัยความมักน้อย อย่างเดียว เพราะอาศัยความสันโดษอย่างเดียว เพราะอาศัยความขัดเกลาอย่าง เดียว เพราะอาศัยความต้องการปฏิบัติในวัตรอันดีงามนี้อย่างเดียว ภิกษุนี้เป็นผู้เลิศ ประเสริฐสุด เป็นประธาน สูงสุด และยิ่งใหญ่ที่สุด เปรียบเหมือนนมสดเกิดจากแม่โค นมส้มเกิดจากนมสด เนยข้นเกิดจาก นมส้ม เนยใสเกิดจากเนยข้น ยอดเนยใสเกิดจากเนยใส ยอดเนยใสชาวโลกถือว่า เป็นเลิศ ในบรรดานมสดเป็นต้นนั้น ฉันใด บรรดาภิกษุผู้ถือบิณฑบาตเป็นวัตร ๕ จำพวกนี้ ภิกษุผู้ถือบิณฑบาตเป็นวัตร เพราะอาศัยความมักน้อยอย่างเดียว เพราะอาศัยความสันโดษอย่างเดียว เพราะ อาศัยความขัดเกลาอย่างเดียว เพราะอาศัยความต้องการปฏิบัติในวัตรอันดีงามนี้ อย่างเดียว เป็นผู้เลิศ ประเสริฐสุด เป็นประธาน สูงสุด และยิ่งใหญ่ที่สุด ฉันนั้น ภิกษุผู้ถือบิณฑบาตเป็นวัตร ๕ จำพวกเหล่านี้ [๒๐๐] บรรดาภิกษุเหล่านั้น ภิกษุผู้ถือการห้ามภัตอันเขานำมาถวายใน ภายหลังเป็นวัตร ๕ จำพวก ฯลฯ ภิกษุผู้ถือการนั่งฉันอาสนะเดียวเป็นวัตร ๕ จำพวก ฯลฯ ภิกษุผู้ถือผ้าบังสุกุลเป็นวัตร ๕ จำพวก ฯลฯ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๖ หน้า : ๒๒๔}

พระอภิธรรมปิฎก ปุคคลบัญญัติ ๕. ปัญจกปุคคลบัญญัติ

ภิกษุผู้ถือไตรจีวรเป็นวัตร ๕ จำพวก ฯลฯ ภิกษุผู้ถือการอยู่ป่าเป็นวัตร ๕ จำพวก ฯลฯ ภิกษุผู้ถือการอยู่โคนไม้เป็นวัตร ๕ จำพวก ฯลฯ ภิกษุผู้ถือการอยู่กลางแจ้งเป็นวัตร ๕ จำพวก ฯลฯ ภิกษุผู้ถือการนั่งเป็นวัตร ๕ จำพวก ฯลฯ ภิกษุผู้ถือการนั่งบนอาสนะตามที่ได้จัดไว้เป็นวัตร ๕ จำพวก เป็นไฉน ฯลฯ [๒๐๑] บรรดาภิกษุเหล่านั้น ภิกษุผู้ถือการอยู่ป่าช้าเป็นวัตร ๕ จำพวก เป็นไฉน ภิกษุผู้ถือการอยู่ป่าช้าเป็นวัตร เพราะความไม่เข้าใจ ความไม่รู้ มีความ ปรารถนาเลวทราม ถูกความอยากครอบงำ เป็นผู้ถือการอยู่ป่าช้าเป็นวัตร เพราะ วิกลจริต มีจิตฟุ้งซ่าน เป็นผู้ถือการอยู่ป่าช้าเป็นวัตรเพราะคิดว่า “การอยู่ป่าช้า เป็นวัตรนี้ พระพุทธเจ้า สาวกของพระพุทธเจ้ากล่าวสรรเสริญ” อีกประการหนึ่ง เป็นผู้ถือการอยู่ป่าช้าเป็นวัตร เพราะอาศัยความมักน้อย อย่างเดียว เพราะอาศัยความสันโดษอย่างเดียว เพราะอาศัยความขัดเกลาอย่าง เดียว เพราะอาศัยความต้องการปฏิบัติในวัตรอันดีงามอย่างเดียว บรรดาภิกษุเหล่านั้น ภิกษุใดเป็นผู้ถือการอยู่ป่าช้าเป็นวัตร เพราะอาศัยความมักน้อยอย่างเดียว เพราะ อาศัยความสันโดษอย่างเดียว เพราะอาศัยความขัดเกลาอย่างเดียว เพราะอาศัย ความต้องการปฏิบัติในวัตรอันดีงามอย่างเดียว ภิกษุนี้เป็นผู้เลิศ ประเสริฐสุด เป็นประธาน สูงสุด และยิ่งใหญ่ที่สุด {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๖ หน้า : ๒๒๕}

พระอภิธรรมปิฎก ปุคคลบัญญัติ ๖. ฉักกปุคคลบัญญัติ

เปรียบเหมือนนมสดเกิดจากแม่โค นมส้มเกิดจากนมสด เนยข้นเกิดจากนม ส้ม เนยใสเกิดจากเนยข้น ยอดเนยใสเกิดจากเนยใส ยอดเนยใสชาวโลกถือว่า เป็นเลิศในบรรดานมสดเป็นต้นนั้น ฉันใด บรรดาภิกษผู้ถือการอยู่ป่าช้าเป็นวัตร ๕ จำพวกนี้ ภิกษุผู้ถือการอยู่ป่าช้าเป็นวัตร เพราะอาศัยความมักน้อยอย่างเดียว เพราะอาศัยความสันโดษอย่างเดียว เพราะอาศัยความขัดเกลาอย่างเดียว เพราะอาศัยความปฏิบัติในวัตรอันดีงามนี้ อย่างเดียว เป็นผู้เลิศ ประเสริฐสุด เป็นประธาน สูงสุด และยิ่งใหญ่ที่สุด ฉันนั้น ภิกษุผู้ถือการอยู่ป่าช้าเป็นวัตร ๕ จำพวกเหล่านี้
ปัญจกนิทเทส จบ


                  เนื้อความพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาฯ เล่มที่ ๓๖ หน้าที่ ๒๑๘-๒๒๖. http://84000.org/tipitaka/english/m_siri.php?B=36&siri=31              ฟังเนื้อความพระไตรปิฎก : [1], [2], [3].                   อ่านเทียบพระไตรปิฎกฉบับหลวง :- http://84000.org/tipitaka/english/v.php?B=36&A=4545&Z=4768                   ศึกษาอรรถกถานี้ได้ที่ :- http://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=36&i=656              พระไตรปิฏกฉบับภาษาบาลีอักษรไทย :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/pali_item_s.php?book=36&item=656&items=6              อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย :- http://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=55&A=2487              The Pali Tipitaka in Roman :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/roman_item_s.php?book=36&item=656&items=6              The Pali Atthakatha in Roman :- http://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=55&A=2487                   สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่ ๓๖ http://84000.org/tipitaka/read/?index_mcu36              อ่านเทียบฉบับแปลอังกฤษ Compare with English Translation :- https://suttacentral.net/pp2.5/en/law



บันทึก ๓๑ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๕๙ บันทึกล่าสุด ๒๒ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๖๐ การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจากพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย. หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :