ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ค้นพระไตรปิฎก ชาดก หนังสือธรรมะ
     ฉบับหลวง   ฉบับมหาจุฬาฯ   บาลีอักษรไทย   PaliRoman 
อ่านหน้า[ต่าง] แรกอ่านหน้า[ต่าง] ที่แล้วแสดงหมายเลขหน้า
ในกรณี :- 
   บรรทัดแรกชองแต่ละหน้าอ่านหน้า[ต่าง] ถัดไปอ่านหน้า[ต่าง] สุดท้าย
พระไตรปิฎก เล่มที่ ๒๐ พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๑๒ อังคุตตรนิกาย เอก-ทุก-ติกนิบาต
             [๒๘๗] ดูกรภิกษุทั้งหลาย บริษัท ๒ จำพวกนี้ ๒ จำพวกเป็นไฉน คือ
บริษัทตื้น ๑ บริษัทลึก ๑ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็บริษัทตื้นเป็นไฉน ดูกรภิกษุ
ทั้งหลาย บริษัทใดในธรรมวินัยนี้ มีภิกษุฟุ้งซ่านเชิดตัว มีจิตกวัดแกว่ง ปากกล้า
พูดจาอื้อฉาว หลงลืมสติ ไม่มีสัมปชัญญะ มีจิตไม่ตั้งมั่น คิดจะสึก ไม่สำรวม
อินทรีย์ บริษัทเช่นนี้เรียกว่าบริษัทตื้น ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็บริษัทลึกเป็นไฉน
ดูกรภิกษุทั้งหลาย บริษัทใดในธรรมวินัยนี้ มีภิกษุไม่ฟุ้งซ่าน ไม่เชิดตัว มีจิต
ไม่กวัดแกว่ง ปากไม่กล้า ไม่พูดจาอื้อฉาว ดำรงสติมั่น มีสัมปชัญญะ มีใจ
ตั้งมั่น มีจิตเป็นเอกัคคตา สำรวมอินทรีย์ บริษัทเช่นนี้ เรียกว่าบริษัทลึก ดูกร
ภิกษุทั้งหลาย บริษัท ๒ จำพวกนี้แล บรรดาบริษัท ๒ จำพวกนี้ บริษัทลึกเป็นเลิศ ฯ
             [๒๘๘] ดูกรภิกษุทั้งหลาย บริษัท ๒ จำพวกนี้ ๒ จำพวกเป็นไฉน คือ
บริษัทที่แยกออกเป็นพวก ๑ บริษัทที่สามัคคีกัน ๑ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็บริษัทที่
แยกออกเป็นพวกเป็นไฉน ดูกรภิกษุทั้งหลาย บริษัทใดในธรรมวินัยนี้ มีภิกษุ
หมายมั่นทะเลาะวิวาทกัน ต่างเอาหอก คือปากทิ่มแทงกันและกันอยู่ บริษัทเช่นนี้
เรียกว่าบริษัทที่แยกกันเป็นพวก ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็บริษัทที่สามัคคีกันเป็นไฉน
ดูกรภิกษุทั้งหลาย บริษัทใดในธรรมวินัยนี้ มีภิกษุพร้อมเพรียงกัน ชื่นชมกัน
ไม่วิวาทกัน เป็นเหมือนน้ำนมกับน้ำ ต่างมองดูกันและกันด้วยนัยน์ตาเป็นที่รักอยู่
บริษัทเช่นนี้ เรียกว่าบริษัทที่สามัคคีกัน ดูกรภิกษุทั้งหลาย บริษัท ๒ จำพวกนี้
แล บรรดาบริษัท ๒ จำพวกนี้ บริษัทที่สามัคคีกันเป็นเลิศ ฯ
             [๒๘๙] ดูกรภิกษุทั้งหลาย บริษัท ๒ จำพวกนี้ ๒ จำพวกเป็นไฉน คือ
บริษัทที่ไม่มีอัครบุคคล ๑ บริษัทที่มีอัครบุคคล ๑ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็บริษัทที่ไม่
มีอัครบุคคลเป็นไฉน ดูกรภิกษุทั้งหลาย บริษัทใดในธรรมวินัยนี้ มีพวกภิกษุ
เถระเป็นคนมักมาก เป็นคนย่อหย่อน เป็นหัวหน้าในการก้าวไปสู่ทางต่ำ ทอดทิ้ง
ธุระในปวิเวก ไม่ปรารภความเพียรเพื่อถึงธรรมที่ยังไม่ถึง เพื่อบรรลุธรรมที่ยังไม่ได้
บรรลุ เพื่อทำให้แจ้งซึ่งธรรมที่ยังมิได้ทำให้แจ้ง ประชุมชนภายหลังต่างถือเอา
ภิกษุเถระเหล่านั้นเป็นตัวอย่าง ถึงประชุมชนนั้นก็เป็นผู้มักมาก ย่อหย่อน เป็น
หัวหน้าในการก้าวไปสู่ทางต่ำ ทอดทิ้งธุระในปวิเวก ไม่ปรารภความเพียรเพื่อ
ถึงธรรมที่ยังไม่ถึง เพื่อบรรลุธรรมที่ยังไม่บรรลุ เพื่อทำให้แจ้งซึ่งธรรมที่ยังไม่
ได้ทำให้แจ้ง ดูกรภิกษุทั้งหลาย บริษัทเช่นนี้ เรียกว่าบริษัทไม่มีอัครบุคคล
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็บริษัทที่มีอัครบุคคลเป็นไฉน ดูกรภิกษุทั้งหลาย บริษัท
ใดในธรรมวินัยนี้ มีพวกภิกษุเถระเป็นคนไม่มักมาก ไม่ย่อหย่อน ทอดทิ้งธุระ
ในการก้าวไปสู่ทางต่ำ เป็นหัวหน้าในปวิเวก ปรารภความเพียรเพื่อถึงธรรมที่ยัง
ไม่ถึง เพื่อบรรลุธรรมที่ยังไม่ได้บรรลุ เพื่อทำให้แจ้งซึ่งธรรมที่ยังไม่ได้ทำให้
แจ้ง ประชุมชนภายหลังต่างถือเอาภิกษุเถระเหล่านั้นเป็นตัวอย่าง ถึงประชุมชนนั้น
ก็เป็นผู้ไม่มักมาก ไม่ย่อหย่อน ทอดทิ้งธุระในการก้าวไปสู่ทางต่ำ เป็นหัวหน้า
ในปวิเวก ปรารภความเพียรเพื่อถึงธรรมที่ยังไม่ถึง เพื่อบรรลุธรรมที่ยังไม่ได้
บรรลุ เพื่อทำให้แจ้งซึ่งธรรมที่ยังไม่ได้ทำให้แจ้ง ดูกรภิกษุทั้งหลาย บริษัท
เช่นนี้ เรียกว่าบริษัทมีอัครบุคคล ดูกรภิกษุทั้งหลาย บริษัท ๒ จำพวกนี้แล
ดูกรภิกษุทั้งหลาย บรรดาบริษัท ๒ จำพวกนี้ บริษัทที่มีอัครบุคคลเป็นเลิศ ฯ
             [๒๙๐] ดูกรภิกษุทั้งหลาย บริษัท ๒ จำพวกนี้ ๒ จำพวกเป็นไฉน คือ
บริษัทที่มิใช่อริยะ ๑ บริษัทที่เป็นอริยะ ๑ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็บริษัทที่มิใช่
อริยะเป็นไฉน ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุในบริษัทใดในธรรมวินัยนี้ ไม่รู้ชัดตาม
เป็นจริงว่า นี้ทุกข์ นี้เหตุให้เกิดทุกข์ นี้ความดับทุกข์ นี้ข้อปฏิบัติให้ถึงความ
ดับทุกข์ ดูกรภิกษุทั้งหลาย บริษัทเช่นนี้ เรียกว่าบริษัทที่มิใช่อริยะ ดูกรภิกษุ
ทั้งหลาย ก็บริษัทที่เป็นอริยะเป็นไฉน ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุในบริษัทใดใน
ธรรมวินัยนี้ รู้ชัดตามเป็นจริงว่า นี้ทุกข์ นี้เหตุให้เกิดทุกข์ นี้ความดับทุกข์
นี้ข้อปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์ ดูกรภิกษุทั้งหลาย บริษัทเช่นนี้เรียกว่า บริษัทที่
เป็นอริยะ ดูกรภิกษุทั้งหลาย บริษัท ๒ จำพวกนี้แล ดูกรภิกษุทั้งหลาย บรรดา
บริษัท ๒ จำพวกนี้ บริษัทที่เป็นอริยะเป็นเลิศ ฯ
             [๒๙๑] ดูกรภิกษุทั้งหลาย บริษัท ๒ จำพวกนี้ ๒ จำพวกเป็นไฉน คือ
บริษัทหยากเยื่อ ๑ บริษัทใสสะอาด ๑ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็บริษัทหยากเยื่อเป็น
ไฉน ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุในบริษัทใดในธรรมวินัยนี้ ย่อมถึงฉันทาคติ
โทสาคติ โมหาคติ ภยาคติ ดูกรภิกษุทั้งหลาย บริษัทเช่นนี้ เรียกว่าบริษัท
หยากเยื่อ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็บริษัทใสสะอาดเป็นไฉน ดูกรภิกษุทั้งหลาย
ภิกษุในบริษัทใดในธรรมวินัยนี้ ย่อมไม่ถึงฉันทาคติ โทสาคติ โมหาคติ ภยาคติ
ดูกรภิกษุทั้งหลาย บริษัทเช่นนี้ เรียกว่าบริษัทใสสะอาด ดูกรภิกษุทั้งหลาย
บริษัท ๒ จำพวกนี้แล ดูกรภิกษุทั้งหลาย บรรดาบริษัท ๒ จำพวกนี้ บริษัทใส
สะอาดเป็นเลิศ ฯ
             [๒๙๒] ดูกรภิกษุทั้งหลาย บริษัท ๒ จำพวกนี้ ๒ จำพวกเป็นไฉน คือ
บริษัทที่ดื้อด้านไม่ได้รับการสอบถามแนะนำ ๑ บริษัทที่ได้รับการสอบถามแนะนำ
ไม่ดื้อด้าน ๑ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็บริษัทที่ดื้อด้านไม่ได้รับการสอบถามแนะนำ
เป็นไฉน ภิกษุในบริษัทใดในธรรมวินัยนี้ เมื่อผู้อื่นกล่าวพระสูตรที่ตถาคตภาษิต
ไว้ซึ่งลึกล้ำ มีอรรถอันลึกล้ำ เป็นโลกุตระ ปฏิสังยุตด้วยสุญญตธรรม ไม่
ตั้งใจฟังให้ดี ไม่เงี่ยหูลงสดับ ไม่เข้าไปตั้งจิตไว้เพื่อจะรู้ทั่วถึง อนึ่ง ภิกษุเหล่า
นั้นไม่เข้าใจธรรมที่ตนควรเล่าเรียนท่องขึ้นใจ แต่เมื่อผู้อื่นกล่าวพระสูตรที่กวีได้
รจนาไว้ เป็นคำกวี มีอักษรวิจิตร มีพยัญชนะวิจิตร มีในภายนอก ซึ่งสาวก
ได้ภาษิตไว้ ย่อมตั้งใจฟังเป็นอย่างดี เงี่ยหูลงสดับ เข้าไปตั้งจิตไว้เพื่อจะรู้ทั่วถึง
อนึ่ง ภิกษุเหล่านั้นย่อมเข้าใจธรรมที่ตนควรเล่าเรียน ท่องขึ้นใจ ภิกษุเหล่านั้น
เรียนธรรมนั้นแล้ว ไม่สอบสวน ไม่เที่ยวไต่ถามกันและกันว่า พยัญชนะนี้
อย่างไร อรรถแห่งภาษิตนี้เป็นไฉน ภิกษุเหล่านั้นไม่เปิดเผยอรรถที่ลี้ลับ ไม่
ทำอรรถที่ลึกซึ้งให้ตื้น และไม่บรรเทาความสงสัยในธรรมเป็นที่ตั้งแห่งความสงสัย
หลายอย่างเสีย ดูกรภิกษุทั้งหลาย บริษัทนี้เรียกว่าบริษัทดื้อด้านไม่ได้รับการ
สอบถามแนะนำ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็บริษัทที่ได้รับการสอบถามแนะนำไม่ดื้อ
ด้านเป็นไฉน ภิกษุในบริษัทใดในธรรมวินัยนี้ เมื่อผู้อื่นกล่าวพระสูตรที่กวีรจนาไว้
เป็นคำกวี มีอักษรวิจิตร มีพยัญชนะวิจิตร มีในภายนอก เป็นสาวก-
*ภาษิต ไม่ตั้งใจฟังด้วยดี ไม่เงี่ยหูลงสดับ ไม่เข้าไปตั้งจิตไว้เพื่อจะรู้ทั่วถึง
อนึ่ง ภิกษุเหล่านั้นไม่เข้าใจธรรมที่ตนควรเล่าเรียน ท่องขึ้นใจ แต่ว่า เมื่อผู้อื่น
กล่าวพระสูตรที่ตถาคตภาษิตไว้ ซึ่งลึกล้ำ มีอรรถลึกล้ำ เป็นโลกุตระปฏิสังยุต
ด้วยสุญญตธรรม ย่อมตั้งใจฟังเป็นอย่างดี เงี่ยหูลงสดับ เข้าไปตั้งจิตเพื่อจะรู้
ทั่วถึง และภิกษุเหล่านั้นย่อมเข้าใจธรรมที่ตนควรเล่าเรียน ท่องขึ้นใจ ภิกษุ
เหล่านั้นเรียนธรรมนั้นแล้ว ย่อมสอบสวนเที่ยวไต่ถามกันและกันว่า พยัญชนะนี้
อย่างไร อรรถแห่งภาษิตนี้เป็นไฉน ภิกษุเหล่านั้นย่อมเปิดเผยอรรถที่ลี้ลับ ทำ
อรรถที่ลึกซึ้งให้ตื้น และบรรเทาความสงสัยในธรรมเป็นที่ตั้งแห่งความสงสัย
หลายอย่างเสีย ดูกรภิกษุทั้งหลาย บริษัทนี้เรียกว่า บริษัทผู้ได้รับการสอบถาม
แนะนำ ไม่ดื้อด้าน ดูกรภิกษุทั้งหลาย บริษัท ๒ จำพวกเหล่านี้แล ดูกรภิกษุ
ทั้งหลาย บรรดาบริษัท ๒ จำพวกนี้ บริษัทที่ได้รับการสอบถามแนะนำ ไม่ดื้อ
ด้าน เป็นเลิศ ฯ
             [๒๙๓] ดูกรภิกษุทั้งหลาย บริษัท ๒ จำพวกนี้ ๒ จำพวกเป็นไฉน คือ
บริษัทที่หนักในอามิส ไม่หนักในสัทธรรม ๑ บริษัทที่หนักในสัทธรรม ไม่หนัก
ในอามิส ๑ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็บริษัทที่หนักในอามิส ไม่หนักในสัทธรรม
เป็นไฉน ภิกษุบริษัทใดในธรรมวินัยนี้ ต่างสรรเสริญคุณของกันและกันต่อหน้า
คฤหัสถ์ผู้นุ่งห่มผ้าขาวว่า ภิกษุรูปโน้นเป็นอุภโตภาควิมุต รูปโน้นเป็นปัญญาวิมุต
รูปโน้นเป็นกายสักขี รูปโน้นเป็นทิฏฐิปัตตะ รูปโน้นเป็นสัทธาวิมุต รูปโน้น
เป็นธรรมานุสารี รูปโน้นเป็นสัทธานุสารี รูปโน้นมีศีล มีกัลยาณธรรม รูปโน้น
ทุศีล มีธรรมเลวทราม เธอต่างได้ลาภด้วยเหตุนั้น ครั้นได้แล้ว ต่างก็กำหนัด
ยินดี หมกมุ่น ไม่เห็นโทษ ไร้ปัญญาเป็นเหตุออกไปจากภพบริโภคอยู่ ดูกร
ภิกษุทั้งหลาย บริษัทนี้เรียกว่า บริษัทผู้หนักในอามิส ไม่หนักในสัทธรรม ดูกร
ภิกษุทั้งหลาย ก็บริษัทที่หนักในสัทธรรม ไม่หนักในอามิสเป็นไฉน ภิกษุใน
บริษัทใดในธรรมวินัยนี้ ต่างไม่พูดสรรเสริญคุณของกันและกัน ต่อหน้าคฤหัสถ์
ผู้นุ่งห่มผ้าขาวว่า ภิกษุรูปโน้นเป็นอุภโตภาควิมุต รูปโน้นเป็นปัญญาวิมุต รูปโน้น
เป็นกายสักขี รูปโน้นเป็นทิฏฐิปัตตะ รูปโน้นเป็นสัทธาวิมุต รูปโน้น
เป็นธรรมานุสารี เป็นสัทธานุสารี รูปโน้นมีศีล มีกัลยาณธรรม รูปโน้นทุศีล
มีธรรมเลวทราม เธอต่างได้ลาภด้วยเหตุนั้น ครั้นได้แล้วก็ไม่กำหนัด ไม่ยินดี
ไม่หมกมุ่น มักเห็นโทษ มีปัญญาเป็นเหตุออกไปจากภพบริโภคอยู่ ดูกรภิกษุ
ทั้งหลาย บริษัทนี้เรียกว่า บริษัทผู้หนักในสัทธรรม ไม่หนักในอามิส ดูกรภิกษุ
ทั้งหลาย บริษัท ๒ จำพวกนี้แล ดูกรภิกษุทั้งหลาย บรรดาบริษัท ๒ จำพวกนี้
บริษัทที่หนักในสัทธรรม ไม่หนักในอามิสเป็นเลิศ ฯ
             [๒๙๔] ดูกรภิกษุทั้งหลาย บริษัท ๒ จำพวกนี้ ๒ จำพวกเป็นไฉน คือ
บริษัทไม่เรียบร้อย ๑ บริษัทเรียบร้อย ๑ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็บริษัทไม่เรียบร้อย
เป็นไฉน ในบริษัทใดในธรรมวินัยนี้ กรรมฝ่ายอธรรมเป็นไป กรรมฝ่ายธรรมไม่
เป็นไป กรรมที่ไม่เป็นวินัยเป็นไป กรรมที่เป็นวินัยไม่เป็นไป กรรมฝ่ายอธรรม
รุ่งเรือง กรรมฝ่ายธรรมไม่รุ่งเรือง กรรมที่ไม่เป็นวินัยรุ่งเรือง กรรมที่เป็นวินัยไม่
รุ่งเรือง ดูกรภิกษุทั้งหลาย บริษัทนี้เรียกว่า บริษัทไม่เรียบร้อย ดูกรภิกษุทั้งหลาย
เพราะบริษัทเป็นผู้ไม่เรียบร้อย กรรมฝ่ายอธรรมจึงเป็นไป กรรมฝ่ายธรรมจึงไม่
เป็นไป กรรมที่ไม่เป็นวินัยจึงเป็นไป กรรมที่เป็นวินัยจึงไม่เป็นไป กรรมฝ่าย
อธรรมจึงรุ่งเรือง กรรมที่เป็นธรรมจึงไม่รุ่งเรือง กรรมที่ไม่เป็นวินัยจึงรุ่งเรือง
กรรมที่เป็นวินัยจึงไม่รุ่งเรือง ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็บริษัทเรียบร้อยเป็นไฉน ใน
บริษัทใดในธรรมวินัยนี้ กรรมฝ่ายธรรมเป็นไป กรรมฝ่ายอธรรมไม่เป็นไป กรรม
ที่เป็นวินัยเป็นไป กรรมที่ไม่เป็นวินัยไม่เป็นไป กรรมฝ่ายธรรมรุ่งเรือง กรรม
ฝ่ายอธรรมไม่รุ่งเรือง กรรมที่เป็นวินัยรุ่งเรือง กรรมที่ไม่เป็นวินัยไม่รุ่งเรือง
ดูกรภิกษุทั้งหลาย บริษัทนี้เรียกว่า บริษัทเรียบร้อย ดูกรภิกษุทั้งหลาย เพราะ
บริษัทเรียบร้อย กรรมฝ่ายธรรมจึงเป็นไป กรรมฝ่ายอธรรมจึงไม่เป็นไป กรรมที่
เป็นวินัยจึงเป็นไป กรรมที่ไม่เป็นวินัยจึงไม่เป็นไป กรรมฝ่ายธรรมจึงรุ่งเรือง
กรรมฝ่ายอธรรมจึงไม่รุ่งเรือง กรรมที่เป็นวินัยจึงรุ่งเรือง กรรมที่ไม่เป็นวินัยจึงไม่
รุ่งเรือง ดูกรภิกษุทั้งหลาย บริษัท ๒ จำพวกนี้แล ดูกรภิกษุทั้งหลาย บรรดา
บริษัท ๒ จำพวกนี้ บริษัทที่เรียบร้อยเป็นเลิศ ฯ
             [๒๙๕] ดูกรภิกษุทั้งหลาย บริษัท ๒ จำพวกนี้ ๒ จำพวกเป็นไฉน
คือ บริษัทที่ไร้ธรรม ๑ บริษัทที่ประกอบด้วยธรรม ๑ ฯลฯ ดูกรภิกษุทั้งหลาย
บริษัท ๒ จำพวกนี้แล ดูกรภิกษุทั้งหลาย บรรดาบริษัท ๒ จำพวกนี้ บริษัทที่
ประกอบด้วยธรรมเป็นเลิศ ฯ
             [๒๙๖] ดูกรภิกษุทั้งหลาย บริษัท ๒ จำพวกนี้ ๒ จำพวกเป็นไฉน
คือ อธรรมวาทีบริษัท ๑ ธรรมวาทีบริษัท ๑ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็อธรรมวาที
บริษัทเป็นไฉน ดูกรภิกษุทั้งหลาย ในบริษัทใดในธรรมวินัยนี้ ภิกษุทั้งหลายยึด
ถืออธิกรณ์ เป็นธรรมหรือไม่เป็นธรรมก็ตาม ภิกษุเหล่านั้น ครั้นยึดถืออธิกรณ์
นั้นแล้ว ไม่ยังกันและกันให้ยินยอม ไม่เข้าถึงความตกลงกัน ไม่ยังกันและกัน
ให้เพ่งโทษตน และไม่เข้าถึงการเพ่งโทษตน ภิกษุเหล่านั้นมีการไม่ตกลงกันเป็น
กำลัง มีการไม่เพ่งโทษตนเป็นกำลัง คิดไม่สละคืน ยึดมั่นอธิกรณ์นั้นแหละด้วย
กำลัง ด้วยการลูบคลำ แล้วกล่าวว่า "คำนี้เท่านั้นจริง คำอื่นเปล่า" ดังนี้ ดูกร
ภิกษุทั้งหลาย บริษัทนี้เรียกว่า "อธรรมวาทีบริษัท" ฯ
             ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็ธรรมวาทีบริษัทเป็นไฉน ดูกรภิกษุทั้งหลาย ใน
บริษัทใดในธรรมวินัยนี้ ภิกษุทั้งหลายยึดถืออธิกรณ์ เป็นธรรมหรือไม่เป็นธรรม
ก็ตาม ภิกษุเหล่านั้นครั้นยึดถืออธิกรณ์นั้นแล้ว ยังกันและกันให้ยินยอม เข้าถึง
ความตกลงกัน ยังกันและกันให้เพ่งโทษ เข้าถึงการเพ่งโทษตน ภิกษุเหล่านั้นมี
ความตกลงกันเป็นกำลัง มีการเพ่งโทษตนเป็นกำลัง คิดสละคืน ไม่ยึดมั่น
อธิกรณ์นั้นด้วยกำลัง ด้วยการลูบคลำ แล้วกล่าวว่า "คำนี้เท่านั้นจริง คำอื่นเปล่า"
ดังนี้ ดูกรภิกษุทั้งหลาย บริษัทนี้เรียกว่า "ธรรมวาทีบริษัท" ดูกรภิกษุทั้งหลาย
บริษัท ๒ จำพวกนี้แล ดูกรภิกษุทั้งหลาย บรรดาบริษัท ๒ จำพวกนี้ ธรรมวาที
บริษัทเป็นเลิศ ฯ
จบปริสวรรคที่ ๕
จบปฐมปัณณาสก์
-----------------------------------------------------

             เนื้อความพระไตรปิฎก เล่มที่ ๒๐ บรรทัดที่ ๑๘๔๑-๑๙๙๐ หน้าที่ ๗๙-๘๕. http://84000.org/tipitaka/english/v.php?B=20&A=1841&Z=1990&pagebreak=0 http://84000.org/tipitaka/english/r.php?B=20&A=1841&pagebreak=0              ฟังเนื้อความพระไตรปิฎก : [1], [2], [3]              อ่านเทียบพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาฯ :- http://84000.org/tipitaka/read/m_siri.php?B=20&siri=33              ศึกษาอรรถกถาได้ที่ :- http://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=20&i=287              พระไตรปิฏกฉบับภาษาบาลีอักษรไทย :- http://84000.org/tipitaka/read/pali_read.php?B=20&A=1820              อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย :- http://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=15&A=1186              The Pali Tipitaka in Roman :- http://84000.org/tipitaka/read/roman_read.php?B=20&A=1820              The Pali Atthakatha in Roman :- http://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=15&A=1186              สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๐ http://84000.org/tipitaka/read/?index_20              อ่านเทียบฉบับแปลอังกฤษ Compare with English Translation :- http://84000.org/tipitaka/english/metta.lk/20i287-e.php# https://accesstoinsight.org/tipitaka/an/an02/an02.046.than.html https://suttacentral.net/an2.42-51/en/sujato https://suttacentral.net/an2.42-51/en/thanissaro

อ่านหน้า[ต่าง] แรกอ่านหน้า[ต่าง] ที่แล้วแสดงหมายเลขหน้า
ในกรณี :- 
   บรรทัดแรกชองแต่ละหน้าอ่านหน้า[ต่าง] ถัดไปอ่านหน้า[ต่าง] สุดท้าย

บันทึก ๒๖ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๔๖. บันทึก ๓๐ มกราคม พ.ศ. ๒๕๔๙. บันทึกล่าสุด ๕ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๖๐. การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจากพระไตรปิฎกฉบับหลวง. หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]