ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ค้นพระไตรปิฎก ชาดก หนังสือธรรมะ
     ฉบับหลวง   ฉบับมหาจุฬาฯ   บาลีอักษรไทย   PaliRoman 
อ่านหน้า[ต่าง] แรกอ่านหน้า[ต่าง] ที่แล้วแสดงหมายเลขหน้า
ในกรณี :- 
   บรรทัดแรกชองแต่ละหน้าอ่านหน้า[ต่าง] ถัดไปอ่านหน้า[ต่าง] สุดท้าย
พระไตรปิฎก เล่มที่ ๒๒ พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๑๔ อังคุตตรนิกาย ปัญจก-ฉักกนิบาต
๓. ฉฬาภิชาติยสูตร
[๓๒๘] สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ ภูเขาคิชฌกูฏ ใกล้ กรุงราชคฤห์ ครั้งนั้น ท่านพระอานนท์เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวายบังคมแล้วนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นแล้วได้กราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ ผู้เจริญ ปูรณกัสสป บัญญัติชาติ ๖ ประการ คือ บัญญัติชาติดำ ๑ ชาติเขียว ๑ ชาติแดง ๑ ชาติเหลือง ๑ ชาติขาว ๑ ชาติขาวจัด ๑ ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ปูรณกัสสปบัญญัติคนฆ่าแพะ คนฆ่าสุกร คนฆ่านก พรานเนื้อ ชาวประมง โจร เพชฌฆาต เจ้าหน้าที่เรือนจำ ก็หรือคนที่ทำงานหยาบช้าอื่นใด ว่าเป็นชาติ ดำ บัญญัติพวกภิกษุ พวกผู้เชื่อไปในฝ่ายดำ หรือพวกกรรมวาท กิริยาวาท อื่นใด ว่าเป็นชาติเขียว บัญญัติพวกนิครนถ์ใช้ผ้าผืนเดียวว่าเป็นชาติแดง บัญญัติ คฤหัสถ์นุ่งห่มผ้าขาว สาวกของอเจลก (นักบวชเปลือยกาย) ว่าเป็นชาติเหลือง บัญญัติอาชีวก อาชีวิกา ว่าเป็นชาติขาว บัญญัติเจ้าลัทธิชื่อนันทวัจฉโคตร ชื่อ กัจจสังกิจจโคตร มักขลิโคสาล ว่าเป็นชาติขาวจัด ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ปูรณกัสสปบัญญัติชาติ ๖ เหล่านี้ พระผู้มีพระภาคตรัสถามว่า ดูกรอานนท์ การที่ปูรณกัสสปบัญญัติชาติ ๖ นี้นั้น โลกทั้งปวงเห็นด้วยหรือ ฯ อา. หามิได้ พระเจ้าข้า ฯ พ. ดูกรอานนท์ เปรียบเหมือนคนทั้งหลายบังคับให้บุรุษผู้ยากจนขัดสน เข็ญใจ ผู้ไม่ปรารถนา ให้รับส่วนเนื้อว่า ดูกรบุรุษผู้เจริญ ท่านพึงกินเนื้อนี้ และต้องใช้ราคาเนื้อ ฉันใด ปูรณกัสสปก็ฉันนั้นเหมือนกัน บัญญัติชาติ ๖ แห่งสมณพราหมณ์เหล่านั้น โดยที่โลกไม่รับรอง เหมือนดังคนพาลไม่เฉียบ แหลม ไม่รู้เขตบัญญัติ ไม่ฉลาด ดูกรอานนท์ ก็เราแลจะบัญญัติชาติ ๖ ประการ เธอจงฟัง จงใส่ใจให้ดี เราจักกล่าว ท่านพระอานนท์ทูลรับพระผู้มีพระภาคแล้ว พระผู้มีพระภาคได้ตรัสว่า ดูกรอานนท์ ก็ชาติ ๖ เป็นไฉน คือ บุคคลบางคน ในโลกนี้ เป็นผู้มีชาติดำ ประพฤติธรรมดำ ๑ บางคนมีชาติดำ ประพฤติธรรม ขาว ๑ บางคนมีชาติดำ บรรลุนิพพานที่ไม่ดำไม่ขาว ๑ บางคนมีชาติขาว ประพฤติธรรมดำ ๑ บางคนมีชาติขาว ประพฤติธรรมขาว ๑ บางคนมีชาติขาว บรรลุนิพพานที่ไม่ดำไม่ขาว ๑ ฯ ดูกรอานนท์ ก็บุคคลผู้มีชาติดำ ประพฤติธรรมดำเป็นอย่างไร คือ บุคคลบางคนในโลกนี้ เกิดในสกุลต่ำ คือ สกุลจัณฑาล สกุลพรานป่า สกุล ช่างจักสาน สกุลทำรถ สกุลเทหยากเยื่อ ซึ่งยากจน มีข้าวน้ำโภชนะน้อย เป็น อยู่ฝืดเคือง ได้อาหารและเครื่องนุ่งห่มโดยยาก และเขาผู้นั้นเป็นผู้มีผิวพรรณ ทราม ไม่น่าดู เป็นคนแคระ ขี้โรค ตาบอด ง่อย กระจอก เป็นอัมพาต ไม่ได้ข้าวน้ำเครื่องนุ่งห่ม ยานพาหนะ ดอกไม้ ของหอม เครื่องลูบไล้ ที่นอน ที่ อยู่ เครื่องประทีป เขายังประพฤติทุจริตด้วยกาย ด้วยวาจา ด้วยใจ ครั้น ประพฤติทุจริตด้วยกาย ด้วยวาจา ด้วยใจแล้ว เมื่อตายไป ย่อมเข้าถึงอบาย ทุคติ วินิบาต นรก ดูกรอานนท์ บุคคลมีชาติดำ ประพฤติธรรมดำ อย่างนี้แล ฯ ดูกรอานนท์ ก็บุคคลผู้มีชาติดำ ประพฤติธรรมขาวเป็นอย่างไร คือ บุคคลบางคนในโลกนี้ เป็นผู้เกิดในสกุลต่ำ คือ สกุลจัณฑาล สกุลพรานป่า สกุลช่างจักสาน สกุลทำรถ สกุลเทหยากเยื่อ ซึ่งยากจน มีข้าวน้ำโภชนะน้อย เป็นผู้ฝืดเคือง ได้อาหารและเครื่องนุ่งห่มโดยยาก และเขาผู้นั้นเป็นผู้มีผิวพรรณ ทราม ไม่น่าดู เป็นคนแคระ ขี้โรค ตาบอด ง่อย กระจอก เป็นอัมพาต ไม่ได้ข้าว น้ำ เครื่องนุ่งห่ม ยานพาหนะ ดอกไม้ ของหอม เครื่องลูบไล้ ที่นอน ที่อยู่ เครื่องประทีป แต่เขาประพฤติสุจริตด้วยกาย ด้วยวาจา ด้วยใจ ครั้นประพฤติสุจริตด้วยกาย ด้วยวาจา ด้วยใจแล้ว เมื่อตายไป ย่อมเข้าถึงสุคติ โลกสวรรค์ ดูกรอานนท์ บุคคลมีชาติดำ ประพฤติธรรมขาว อย่างนี้แล ฯ ดูกรอานนท์ ก็บุคคลผู้มีชาติดำ บรรลุนิพพานที่ไม่ดำไม่ขาวเป็นอย่างไร คือ บุคคลบางคนในโลกนี้ เป็นผู้เกิดในสกุลต่ำ ฯลฯ มีผิวพรรณทราม ไม่ น่าดู เป็นคนแคระ เขาปลงผมและหนวด นุ่งห่มผ้ากาสายะออกบวชเป็นบรรพชิต เขาบวชแล้วอย่างนี้ ละนิวรณ์ ๕ ประการ อันเป็นเครื่องเศร้าหมองใจ ทำปัญญา ให้ทุรพล เป็นผู้มีจิตตั้งอยู่ด้วยดีในสติปัฏฐานทั้ง ๔ เจริญโพชฌงค์ ๗ ตาม ความเป็นจริง แล้วได้บรรลุนิพพานอันไม่ดำไม่ขาว ดูกรอานนท์ บุคคลมีชาติดำ บรรลุนิพพานอันไม่ดำไม่ขาว อย่างนี้แล ฯ ดูกรอานนท์ ก็บุคคลผู้มีชาติขาว ประพฤติธรรมดำเป็นอย่างไร คือ บุคคลบางคนในโลกนี้ ย่อมเกิดในสกุลสูง คือ สกุลกษัตริย์มหาศาล สกุล พราหมณ์มหาศาล สกุลคฤหบดีมหาศาล ซึ่งมั่งคั่ง มีทรัพย์มาก มีโภคะมาก มีทองและเงินมาก มีอุปกรณ์เครื่องปลื้มใจมาก มีทรัพย์ คือ ข้าวเปลือกมาก และเขาผู้นั้นเป็นผู้มีรูปงาม น่าดู น่าเลื่อมใส ประกอบด้วยผิวพรรณงามยิ่ง ได้ ข้าว น้ำ เครื่องนุ่งห่ม ยานพาหนะ ดอกไม้ ของหอม เครื่องลูบไล้ ที่นอน ที่อยู่ เครื่องประทีป เขาประพฤติทุจริตด้วยกาย ด้วยวาจา ด้วยใจ ครั้น ประพฤติทุจริตด้วยกาย ด้วยวาจา ด้วยใจแล้ว เมื่อตายไป ย่อมเข้าถึงอบาย ทุคติ วินิบาต นรก ดูกรอานนท์ บุคคลมีชาติขาว ประพฤติธรรมดำ อย่าง นี้แล ฯ ดูกรอานนท์ ก็บุคคลผู้มีชาติขาว ประพฤติธรรมขาว เป็นอย่างไร คือ บุคคลบางคนในโลกนี้ เกิดในสกุลสูง ฯลฯ เขาประพฤติสุจริตด้วยกาย ด้วย วาจา ด้วยใจ ครั้นประพฤติสุจริตด้วยกาย ด้วยวาจา ด้วยใจแล้ว เมื่อตายไป ย่อมเข้าถึงสุคติ โลกสวรรค์ ดูกรอานนท์ บุคคลมีชาติขาว ประพฤติธรรมขาว อย่างนี้แล ฯ ดูกรอานนท์ ก็บุคคลผู้มีชาติขาว บรรลุนิพพานอันไม่ดำไม่ขาว เป็น อย่างไร คือ บุคคลบางคนในโลกนี้ เป็นผู้เกิดในสกุลสูง ฯลฯ เขาปลงผม และหนวด นุ่งห่มผ้ากาสายะ ออกบวชเป็นบรรพชิต เขาบวชแล้วอย่างนี้ ละ นิวรณ์ ๕ ประการ อันเป็นเครื่องเศร้าหมองใจ ทำปัญญาให้ทุรพล เป็นผู้มีจิต ตั้งอยู่ด้วยดีในสติปัฏฐานทั้ง ๔ เจริญโพชฌงค์ ๗ ตามความเป็นจริง แล้วได้ บรรลุนิพพานที่ไม่ดำ ไม่ขาว ดูกรอานนท์ บุคคลมีชาติขาว บรรลุนิพพานอัน ไม่ดำ ไม่ขาว อย่างนี้แล ดูกรอานนท์ ชาติ ๖ นี้แล ฯ
จบสูตรที่ ๓

             เนื้อความพระไตรปิฎก เล่มที่ ๒๒ บรรทัดที่ ๙๐๓๓-๙๑๐๘ หน้าที่ ๓๙๔-๓๙๗. http://84000.org/tipitaka/english/v.php?B=22&A=9033&Z=9108&pagebreak=0 http://84000.org/tipitaka/english/r.php?B=22&A=9033&pagebreak=0              ฟังเนื้อความพระไตรปิฎก : [1], [2]              อ่านเทียบพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาฯ :- http://84000.org/tipitaka/read/m_siri.php?B=22&siri=308              ศึกษาอรรถกถาได้ที่ :- http://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=22&i=328              พระไตรปิฏกฉบับภาษาบาลีอักษรไทย :- http://84000.org/tipitaka/read/pali_read.php?B=22&A=9034              อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย :- http://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=16&A=3132              The Pali Tipitaka in Roman :- http://84000.org/tipitaka/read/roman_read.php?B=22&A=9034              The Pali Atthakatha in Roman :- http://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=16&A=3132              สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๒ http://84000.org/tipitaka/read/?index_22              อ่านเทียบฉบับแปลอังกฤษ Compare with English Translation :- http://84000.org/tipitaka/english/metta.lk/22i326-e.php#sutta3 https://suttacentral.net/an6.57/en/sujato

อ่านหน้า[ต่าง] แรกอ่านหน้า[ต่าง] ที่แล้วแสดงหมายเลขหน้า
ในกรณี :- 
   บรรทัดแรกชองแต่ละหน้าอ่านหน้า[ต่าง] ถัดไปอ่านหน้า[ต่าง] สุดท้าย

บันทึก ๒๖ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๔๖. บันทึก ๓๐ มกราคม พ.ศ. ๒๕๔๙. บันทึกล่าสุด ๕ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๖๐. การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจากพระไตรปิฎกฉบับหลวง. หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]