ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ค้นพระไตรปิฎก ชาดก หนังสือธรรมะ
     ฉบับหลวง   ฉบับมหาจุฬาฯ   บาลีอักษรไทย   PaliRoman 
อ่านหน้า[ต่าง] แรกอ่านหน้า[ต่าง] ที่แล้วแสดงหมายเลขหน้า
ในกรณี :- 
   บรรทัดแรกชองแต่ละหน้าอ่านหน้า[ต่าง] ถัดไปอ่านหน้า[ต่าง] สุดท้าย
พระไตรปิฎก เล่มที่ ๒๓ พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๑๕ อังคุตตรนิกาย สัตตก-อัฏฐก-นวกนิบาต
ตปุสสสูตร
[๒๔๕] สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ นิคมของชนชาวมัลละ ชื่ออุรุเวลกัปปะ ในแคว้นมัลละ ครั้งนั้น เวลาเช้า พระผู้มีพระภาคทรงครองอันตร วาสก ทรงถือบาตรและจีวรเสด็จเข้าไปบิณฑบาตยังอุรุเวลกัปปนิคม ครั้นแล้ว เสด็จกลับจากบิณฑบาต ภายหลังภัต ตรัสเรียกท่านพระอานนท์ว่า ดูกรอานนท์ เธอจงอยู่ในที่นี้ก่อน จนกว่าเราจะไปถึงป่ามหาวันเพื่อผักผ่อนในกลางวัน ท่าน พระอานนท์ทูลรับพระผู้มีพระภาคแล้ว ลำดับนั้นพระผู้มีพระภาคเสด็จถึงป่ามหาวัน ประทับพักผ่อนกลางวันอยู่ที่โคนไม้แห่งหนึ่ง ฯ ครั้งนั้นแล ตปุสสคฤหบดี เข้าไปหาท่านพระอานนท์ถึงที่อยู่ อภิวาท แล้ว นั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นแล้วได้กล่าวกะท่านพระอานนท์ว่า ข้าแต่ พระอานนท์ผู้เจริญ พวกข้าพเจ้าเป็นคฤหัสถ์บริโภคกาม เพลิดเพลินยินดีหมกมุ่น อยู่ในกาม เนกขัมมะไม่ปรากฏแก่ข้าพเจ้าเหล่านั้นเหมือนดังเหว ข้าแต่ท่านผู้เจริญ ข้าพเจ้าทั้งหลายได้สดับมาดังนี้ว่า จิตของภิกษุหนุ่มๆ ในธรรมวินัยนี้ ย่อมแล่น ไป เลื่อมใส ตั้งอยู่ในเนกขัมมะ ย่อมหลุดพ้นในเพราะเนกขัมมะ เมื่อเธอ เหล่านั้นพิจารณาเห็นว่า นั่นสงบ ข้าแต่ท่านผู้เจริญ ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ล้วน แต่เป็นวิสภาคกับชนเป็นอันมาก นั้นก็ คือ เนกขัมมะ ฯ ท่านพระอานนท์กล่าวว่า ดูกรคฤหบดี เหตุแห่งถ้อยคำนี้มีอยู่มาเราไปเฝ้า พระผู้มีพระภาคกันเถิด เราจักเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ แล้วจัก กราบทูลเนื้อความนี้ พระผู้มีพระภาคจักทรงพยากรณ์แก่เราอย่างไร เราจักกระทำ อย่างนั้น ตปุสสคฤหบดีรับคำท่านพระอานนท์แล้ว ลำดับนั้น ท่านพระอานนท์ พร้อมด้วยตปุสสคฤหบดีเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวายบังคมพระผู้มี พระภาคแล้ว นั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นแล้ว ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาค ว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ตปุสสคฤหบดีกล่าวอย่างนี้ว่า ข้าแต่ท่านพระอานนท์ ผู้เจริญ พวกข้าพเจ้าเป็นคฤหัสถ์บริโภคกาม เพลิดเพลินยินดีหมกมุ่นอยู่ในกาม เนกขัมมะไม่ปรากฏแก่ข้าพเจ้าเหล่านั้นเหมือนดังเหว ข้าแต่ท่านผู้เจริญ ข้าพเจ้า ทั้งหลายได้สดับมาดังนี้ว่า จิตของพวกภิกษุหนุ่มๆ ในธรรมวินัยนี้ย่อมแล่นไป เลื่อมใส ตั้งอยู่ในเนกขัมมะ หลุดพ้นในเพราะเนกขัมมะ เมื่อเธอเหล่านั้นพิจารณา เห็นว่า นั่นสงบ ข้าแต่ท่านผู้เจริญ ภิกษุในธรรมวินัยนี้ล้วนแต่เป็นวิสภาคกับชน เป็นอันมาก นั่นก็ คือ เนกขัมมะ ดังนี้ พระเจ้าข้า ฯ พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ข้อนี้เป็นอย่างนั้น อานนท์ ข้อนี้เป็นอย่างนั้น อานนท์ ดูกรอานนท์ แม้เมื่อเราเองก่อนแต่การตรัสรู้ ยังเป็นโพธิสัตว์ ยังไม่ ได้ตรัสรู้ ได้มีความคิดอย่างนี้ว่า เนกขัมมะเป็นความดี วิเวกเป็นความดี จิต ของเรานั้นยังไม่แล่นไป ยังไม่เลื่อมใส ยังไม่ตั้งมั่นในเนกขัมมะ ยังไม่หลุดพ้น ใน เพราะเนกขัมมะ เพราะเราพิจารณาเห็นว่า นี้สงบ เรานั้นได้มีความคิดว่า อะไรหนอแล เป็นเหตุเป็นปัจจัยเครื่องให้จิตของเรา ไม่แล่นไป ไม่เลื่อมใส ไม่ตั้งอยู่ในเนกขัมมะ ไม่หลุดพ้น ใน เพราะเนกขัมมะ เพราะเราเห็นว่า นั่นสงบ เรานั้นจึงคิดต่อไปว่าโทษในกามทั้งหลายที่เรายังไม่เห็น และไม่ได้กระทำให้มาก อานิสงส์ในเนกขัมมะ เรายังไม่ได้บรรลุ และไม่ได้เสพโดยมาก เพราะฉะนั้น จิตของเราจึงไม่แล่นไป ไม่เลื่อมใส ไม่ตั้งอยู่ในเนกขัมมะ ไม่หลุดพ้นในเพราะ เนกขัมมะ เพราะเราพิจารณาเห็นว่า นั่นสงบ เรานั้นได้มีความคิดว่า ถ้าว่าเรา เห็นโทษในกามทั้งหลายแล้ว พึงกระทำให้มาก บรรลุอานิสงส์ในเนกขัมมะแล้ว พึงเสพอานิสงส์นั้นโดยมาก ข้อนี้เป็นฐานะที่จะมีได้ คือ จิตของเราจะพึงแล่นไป พึงเลื่อมใส พึงตั้งอยู่ในเนกขัมมะ พึงหลุดพ้นในเพราะเนกขัมมะ เมื่อเรา พิจารณาเห็นว่า นั่นสงบ ดูกรอานนท์ สมัยต่อมา เรานั้นเห็นโทษในกามแล้ว ได้กระทำให้มาก บรรลุอานิสงส์ในเนกขัมมะแล้วเสพโดยมาก จิตของเรานั้นจึง แล่นไป เลื่อมใส ตั้งอยู่ในเนกขัมมะ หลุดพ้นในเพราะเนกขัมมะ เพราะเรา พิจารณาเห็นว่า นั่นสงบ ดูกรอานนท์ เราสงัดจากกาม สงัดจากอกุศลธรรม บรรลุปฐมฌาน มีวิตกวิจาร มีปีติและสุขเกิดจากวิเวกอยู่ เมื่อเรานั้นอยู่ด้วยวิหาร ธรรมนี้ สัญญามนสิการอันสหรคตด้วยกามย่อมฟุ้งซ่าน ข้อนั้นเป็นอาพาธของเรา เปรียบเหมือนความทุกข์ พึงบังเกิดขึ้นแก่คนผู้มีความสุข เพียงเพื่อเบียดเบียน ฉะนั้น ฯ ดูกรอานนท์ เรานั้นมีความคิดว่า ไฉนหนอ เราพึงบรรลุทุติยฌาน ฯลฯ ดูกรอานนท์ จิตของเรานั้นไม่แล่นไป ไม่เลื่อมใส ไม่ตั้งอยู่ในทุติยฌานอันไม่มี วิตกวิจาร ไม่หลุดพ้นในเพราะทุติยฌานอันไม่มีวิตกวิจาร เพื่อพิจารณาเห็นว่า นั่นสงบ ดูกรอานนท์ เรานั้นได้มีความคิดว่า อะไรหนอแล เป็นเหตุเป็นปัจจัย เครื่องให้จิตของเราไม่แล่นไป ... ในเพราะทุติยฌานอันไม่มีวิตกวิจาร เพราะ พิจารณาเห็นว่า นั่นสงบ ดูกรอานนท์ เรานั้นได้มีความคิดว่า โทษในวิตก เรา ไม่เห็นและไม่ได้ทำให้มาก อานิสงส์ในทุติยฌานอันไม่มีวิตกวิจาร เราไม่ได้บรรลุ และไม่ได้เสพโดยมาก เหตุนั้นจิตของเราจึงไม่แล่นไป ... ในเพราะทุติยฌานอัน ไม่มีวิตกวิจาร เพราะพิจารณาเห็นว่า นั่นสงบ เรานั้นได้มีความคิดว่า ถ้าแลเรา เห็นโทษในวิตกแล้วพึงกระทำให้มาก บรรลุอานิสงส์ในทุติยฌานอันไม่มีวิตกวิจาร แล้วพึงเสพโดยมาก ข้อนั้นเป็นฐานะที่จะมีได้ คือ จิตของเราพึงแล่นไป ... ดูกร อานนท์ สมัยต่อมา เรานั้นแล เห็นโทษในวิตก ... เสพโดยมาก ดูกรอานนท์ จิตของเรานั้นจึงแล่นไป ... ในเพราะทุติยฌานอันไม่มีวิตกวิจาร ... เรานั้นบรรลุ ทุติยฌาน ฯลฯ ดูกรอานนท์ เมื่อเราอยู่ด้วยวิหารธรรมนี้ สัญญามนสิการอันสหรคต ด้วยวิตก ... ฉะนั้น ฯ ดูกรอานนท์ เรานั้นได้มีความคิดว่า ไฉนหนอ เราจะพึงมีอุเบกขา มีสติ มีสัมปชัญญะ เสวยสุขด้วยนามกาย เพราะปีติสิ้นไป บรรลุตติยฌานที่พระ- *อริยเจ้าทั้งหลายสรรเสริญว่า ผู้ได้ฌานนี้ เป็นผู้มีอุเบกขา มีสติอยู่เป็นสุข ดูกร อานนท์ จิตของเรานั้นย่อมไม่แล่นไป ... ดูกรอานนท์ เรานั้นได้มีความคิดว่า อะไรหนอแล เป็นเหตุเป็นปัจจัยเครื่องให้จิตของเราไม่แล่นไป ... ในเพราะ ตติยฌานอันไม่มีปีติ เมื่อพิจารณาเห็นว่า นั่นสงบ ดูกรอานนท์ เรานั้นได้มี ความคิดว่า โทษในปีติ เราไม่เห็นและไม่ได้ทำให้มาก อานิสงส์ในตติยฌานอัน ไม่มีปีติ เราไม่ได้บรรลุและไม่ได้เสพโดยมาก เหตุนั้นจิตของเราจึงไม่แล่นไป ... ในเพราะตติยฌานอันไม่มีปีติ เพราะพิจารณาเห็นว่า นั่นสงบ เรานั้นได้มีความ คิดว่า ถ้าแลเราเห็นโทษในปีติแล้วพึงกระทำให้มาก บรรลุอานิสงส์ในตติยฌาน อันไม่มีปีติแล้วพึงเสพโดยมาก ข้อนั้นเป็นฐานะที่จะมีได้ คือ จิตของเราพึงแล่น ไป ... ดูกรอานนท์ สมัยต่อมาเรานั้นเห็นโทษในปีติ ... เสพโดยมาก ดูกรอานนท์ จิตของเรานั้นจึงแล่นไป ... ในเพราะตติยฌานอันไม่มีปีติ ... เรานั้นบรรลุตติย ฌาน ฯลฯ ดูกรอานนท์ เมื่อเราอยู่ด้วยวิหารธรรมนี้ สัญญามนสิการอันสหรคต ด้วยปีติ ... ฉะนั้น ฯ ดูกรอานนท์ เรานั้นได้มีความคิดว่า ไฉนหนอ เราพึงบรรลุจตุตถฌาน ... ดูกรอานนท์ จิตของเรานั้น ย่อมไม่แล่นไป ... ในจตุตถฌานอันไม่มีทุกข์ ไม่มี สุข เพราะพิจารณาเห็นว่า นั่นสงบ ดูกรอานนท์ เรานั้นได้มีความคิดว่า อะไร หนอแล เป็นเหตุเป็นปัจจัยเครื่องให้จิตของเราไม่แล่นไป ... ในเพราะจตุตถฌาน อันไม่มีทุกข์ ไม่มีสุข เมื่อพิจารณาเห็นว่า นั่นสงบ ดูกรอานนท์ เรานั้นมีความ คิดว่า โทษในอุเบกขาและสุข เราไม่เห็นและไม่ได้ทำให้มาก อานิสงส์ใน จตุตถฌานอันไม่มีทุกข์ไม่มีสุข เราไม่ได้บรรลุและไม่ได้เสพโดยมาก เหตุนั้น จิตของเราจึงไม่แล่นไป ... ในเพราะจตุตถฌานอันไม่มีทุกข์ไม่มีสุข เพราะพิจารณา เห็นว่า นั่นสงบ เรานั้นได้มีความคิดว่า ถ้าแลเราเห็นโทษในอุเบกขาและสุขแล้ว พึงกระทำให้มาก บรรลุอานิสงส์ในจตุตถฌานอันไม่มีทุกข์ไม่มีสุขแล้วพึงเสพ โดยมาก ข้อนั้นเป็นฐานะที่จะมีได้ คือ จิตของเราพึงแล่นไป ... ดูกรอานนท์ สมัยต่อมา เรานั้นเห็นโทษในอุเบกขาและสุข ... เสพโดยมาก ดูกรอานนท์ จิต ของเรานั้นจึงแล่นไป ... ในเพราะจตุตถฌานอันไม่มีทุกข์ไม่มีสุข ... เรานั้นบรรลุ จตุตถฌาน ฯลฯ ดูกรอานนท์ เมื่อเราอยู่ด้วยวิหารธรรมนี้ สัญญามนสิการอัน สหรคตด้วยอุเบกขา ... ฉะนั้น ฯ ดูกรอานนท์ เรานั้นได้มีความคิดว่า ไฉนหนอ เรา ... พึงบรรลุ อากาสานัญจายตนฌาน ... ดูกรอานนท์ จิตของเรานั้น ย่อมไม่แล่นไป ... ใน เพราะอากาสานัญจายตนฌาน เพราะพิจารณาเห็นว่า นั่นสงบ ดูกรอานนท์ เรา นั้นมีความคิดว่า อะไรหนอ เป็นเหตุเป็นปัจจัยเครื่องให้จิตของเราไม่แล่นไป ... ในเพราะอากาสานัญจายตนฌาน เมื่อพิจารณาเห็นว่า นั่นสงบ ดูกรอานนท์ เรา นั้นได้มีความคิดว่า โทษในรูปฌานทั้งหลาย เราไม่เห็นและไม่ได้ทำให้มาก อานิสงส์ในอากาสานัญจายตนฌาน เราไม่ได้บรรลุและไม่ได้เสพโดยมาก เหตุนั้น จิตของเราจึงไม่แล่นไป ... ในเพราะอากาสานัญจายตนฌาน เพราะพิจารณาเห็นว่า นั่นสงบเรานั้นได้มีความคิดว่า ถ้าแลเราเห็นโทษในรูปฌานทั้งหลายแล้วพึงกระทำ ให้มาก บรรลุอานิสงส์ในอากาสานัญจายตนฌานแล้ว พึงเสพโดยมาก ข้อนั้น เป็นฐานะที่จะมีได้ คือ จิตของเราพึงแล่นไป ... ดูกรอานนท์ สมัยต่อมา เราเห็น โทษในรูปฌานทั้งหลาย ... เสพโดยมาก ดูกรอานนท์ จิตของเรานั้นจึงแล่นไป ... ในเพราะอากาสานัญจายตนฌาน ... เรานั้นแล ... บรรลุอากาสานัญจายตนฌาน ฯลฯ ดูกรอานนท์ เมื่อเราอยู่ด้วยวิหารธรรมนี้ สัญญามนสิการอันสหรคตด้วยรูปฌาน ทั้งหลาย ... ฉะนั้น ฯ ดูกรอานนท์ เรานั้นได้มีความคิดว่า ไฉนหนอ เรา ... พึงบรรลุ วิญญาณัญจายตนฌาน ... ดูกรอานนท์ จิตของเรานั้นย่อมไม่แล่นไป ... ในเพราะ วิญญาณัญจายตนฌาน เพราะพิจารณาเห็นว่า นั่นสงบ ดูกรอานนท์ เรานั้นได้ มีความคิดว่า อะไรหนอแลเป็นเหตุเป็นปัจจัยเครื่องให้จิตของเราไม่แล่นไป ... ใน เพราะวิญญาณัญจายตนฌาน เมื่อพิจารณาเห็นว่า นั่นสงบ ดูกรอานนท์ เรานั้น ได้มีความคิดว่า โทษในอากาสานัญจายตนฌาน เราไม่เห็นและไม่ได้ทำให้มาก อานิสงส์ในวิญญาณัญจายตนฌาน เราไม่ได้บรรลุและไม่ได้เสพโดยมาก เหตุนั้น จิตของเราจึงไม่แล่นไป ... ในเพราะวิญญาณัญจายตนฌาน เพราะพิจารณาเห็นว่า นั่นสงบ เรานั้นได้มีความคิดว่า ถ้าแลเราเห็นโทษในอากาสานัญจายตนฌานแล้ว พึงกระทำให้มาก บรรลุอานิสงส์ในวิญญาณัญจายตนฌานแล้วพึงเสพโดยมาก ข้อ นั้นเป็นฐานะที่จะมีได้ คือ จิตของเราพึงแล่นไป ... ดูกรอานนท์ สมัยต่อมา เรา นั้นเห็นโทษในอากาสานัญจายตนฌาน ... เสพโดยมาก ดูกรอานนท์ จิตของเรานั้น จึงแล่นไป ... ในเพราะวิญญาณัญจายตนฌาน ... เรานั้นแล ... บรรลุวิญญาณัญ- *จายตนฌาน ... ดูกรอานนท์ เมื่อเราอยู่ด้วยวิหารธรรมนี้ สัญญามนสิการอันสหรคต ด้วยอากาสานัญจายตนฌาน ... ฉะนั้น ฯ ดูกรอานนท์ เรานั้นได้มีความคิดว่า ไฉนหนอ เราพึงบรรลุ อากิญจัญญายตนฌาน ... ดูกรอานนท์ จิตของเรานั้นย่อมไม่แล่นไป ... ในเพราะ อากิญจัญญายตนฌาน เพราะพิจารณาเห็นว่า นั่นสงบ ดูกรอานนท์ เรานั้นได้มี ความคิดว่า อะไรหนอแล เป็นเหตุเป็นปัจจัยเครื่องให้จิตของเราไม่แล่นไป ... ในเพราะอากิญจัญญายตนฌาน เพื่อพิจารณาเห็นว่า นั่นสงบ ดูกรอานนท์ เรานั้น ได้มีความคิดว่า โทษในวิญญาณัญจายตนฌาน เราไม่ได้เห็นและไม่ได้ทำให้มาก อานิสงส์ในอากิญจัญญายตนฌาน เราไม่ได้บรรลุและไม่ได้เสพโดยมาก เหตุนั้น จิตของเราจึงไม่แล่นไป ... ในเพราะอากิญจัญญายตนฌาน เพราะพิจารณาเห็น ว่า นั่นสงบ เรานั้นได้มีความคิดว่า ถ้าแลเราเห็นโทษในวิญญาณัญจายตนฌาน แล้วพึงกระทำให้มาก บรรลุอานิสงส์ในอากิญจัญญายตนฌานแล้วพึงเสพโดยมาก ข้อนั้นเป็นฐานะที่จะมีได้ คือ จิตของเราพึงแล่นไป ... ดูกรอานนท์ สมัยต่อมา เรานั้นเห็นโทษในวิญญาณัญจายตนฌาน ... เสพโดยมาก ดูกรอานนท์ จิตของเรา นั้นจึงแล่นไป ... ในเพราะอากิญจัญญายตนฌาน ... เรานั้นแล ... บรรลุอากิญ- *จัญญายตนฌาน ... ดูกรอานนท์ เมื่อเราอยู่ด้วยวิหารธรรมนี้ สัญญามนสิการอัน สหรคตด้วยวิญญาณัญจายตนฌาน ... ฉะนั้น ฯ ดูกรอานนท์ เรานั้นได้มีความคิดว่า ไฉนหนอ เรา ... พึงบรรลุเนวสัญญา- *นาสัญญายตนฌาน จิตของเรานั้นย่อมไม่แล่นไป ... ในเพราะเนวสัญญา- *นาสัญญายตนฌาน เพราะพิจารณาเห็นว่านั่นสงบ ดูกรอานนท์ เรานั้นได้มีความ คิดว่า อะไรหนอแล เป็นเหตุเป็นปัจจัยเครื่องให้จิตของเราไม่แล่นไป ... ใน เพราะเนวสัญญานาสัญญายตนฌาน เมื่อพิจารณาเห็นว่า นั่นสงบ ดูกรอานนท์ เรานั้นได้มีความคิดว่า โทษในอากิญจัญญายตนฌาน เราไม่ได้เห็นและไม่ได้ทำ ให้มาก อานิสงส์ในเนวสัญญานาสัญญายตนฌาน เราไม่ได้บรรลุและไม่ได้เสพ โดยมาก เหตุนั้น จิตของเรา จึงไม่แล่นไป ... ในเพราะเนวสัญญานาสัญญายตน- *ฌาน เพราะพิจารณาเห็นว่า นั่นสงบ เรานั้นได้มีความคิดว่า ถ้าแลเราเห็นโทษ ในอากิญจัญญายตนฌานแล้วกระทำให้มาก บรรลุอานิสงส์ในเนวสัญญานาสัญ- *ญายตนฌานแล้วพึงเสพโดยมาก ข้อนั้นเป็นฐานะที่จะมีได้ คือ จิตของเราพึงแล่นไป ... ดูกรอานนท์ สมัยต่อมา เรานั้นเห็นโทษในอากิญจัญญายตนฌาน ... เสพโดยมาก ดูกรอานนท์ จิตของเรานั้นจึงแล่นไป ... ในเพราะเนวสัญญานาสัญญายตนฌาน ... เรานั้นแล ... บรรลุเนวสัญญานาสัญญายตนฌาน ... ดูกรอานนท์ เมื่อเรานั้นอยู่ ด้วยวิหารธรรมนี้ สัญญามนสิการอันสหรคตด้วยอากิญจัญญายตนฌาน ... ฉะนั้น ฯ ดูกรอานนท์ เรานั้นได้มีความคิดว่า ไฉนหนอ เรา เพราะล่วงเนวสัญญา- *นาสัญญายตนฌาน พึงบรรลุสัญญาเวทยิตนิโรธ จิตของเรานั้นย่อมไม่แล่นไป ไม่เลื่อมใส ไม่ตั้งมั่นในสัญญาเวทยิตนิโรธ ไม่หลุดพ้นในเพราะสัญญาเวทยิต นิโรธ เพราะพิจารณาเห็นว่า นั่นสงบ ดูกรอานนท์ เรานั้นได้มีความคิดว่า อะไรหนอแล เป็นเหตุเป็นปัจจัยเครื่องให้จิตของเราไม่แล่นไป ไม่เลื่อมใส ไม่ ตั้งมั่นในสัญญาเวทยิตนิโรธ ไม่หลุดพ้นในเพราะสัญญาเวทยิตนิโรธ เพราะ พิจารณาเห็นว่า นั่นสงบ ดูกรอานนท์ เรานั้นได้มีความคิดว่า โทษในเนวสัญญา- *นาสัญญายตนฌาน เราไม่เห็นและไม่ได้ทำให้มาก อานิสงส์ในสัญญาเวทยิต- *นิโรธ เราไม่ได้บรรลุและไม่ได้เสพโดยมาก เหตุนั้น จิตของเราจึงไม่แล่นไป ไม่เลื่อมใส ไม่ตั้งมั่นในสัญญาเวทยิตนิโรธ ไม่หลุดพ้นในเพราะสัญญาเวทยิต- *นิโรธ เพราะพิจารณาเห็นว่า นั่นสงบ ดูกรอานนท์ เรานั้นได้มีความคิดว่า ถ้า แลเราเห็นโทษในเนวสัญญานาสัญญายตนฌาน แล้วพึงกระทำให้มาก บรรลุ อานิสงส์ในสัญญาเวทยิตนิโรธแล้วพึงเสพโดยมาก ข้อนี้เป็นฐานะที่จะมีได้ คือ จิตของเราจะพึงแล่นไป พึงเลื่อมใส พึงตั้งมั่นในสัญญาเวทยิตนิโรธ พึงหลุดพ้น ในเพราะสัญญาเวทยิตนิโรธ เพราะพิจารณาเห็นว่า นั่นสงบ ดูกรอานนท์ สมัยต่อมา เรานั้นเห็นโทษในเนวสัญญานาสัญญายตนฌานแล้วทำให้มาก บรรลุ อานิสงส์ในสัญญาเวทยิตนิโรธแล้วเสพโดยมาก ดูกรอานนท์ จิตของเรานั้นจึง แล่นไป เลื่อมใส ตั้งมั่นในสัญญาเวทยิตนิโรธ หลุดพ้นในเพราะสัญญาเวทยิต- *นิโรธ เพราะพิจารณาเห็นว่า นั่นสงบ ดูกรอานนท์ เรานั้นแล บรรลุสัญญา เวทยิตนิโรธ เพราะล่วงเนวสัญญานาสัญญายตนฌานโดยประการทั้งปวง และ อาสวะทั้งหลายของเราได้ถึงความสิ้นไป เพราะเห็นด้วยปัญญา ฯ ดูกรอานนท์ ก็เรายังเข้าบ้าง ออกบ้าง ซึ่งอนุบุพพวิหารสมาบัติ ๙ ประการนี้ โดยอนุโลมและปฏิโลมอย่างนี้ไม่ได้เพียงใด เราก็ยังไม่ปฏิญาณว่า ได้ตรัสรู้อนุตรสัมมาสัมโพธิญาณ ในโลก พร้อมทั้งเทวโลก มารโลก พรหมโลก ในหมู่สัตว์ พร้อมทั้งสมณพราหมณ์ เทวดาและมนุษย์ เพียงนั้น ดูกรอานนท์ ก็เมื่อใดแล เราเข้าบ้าง ออกบ้าง ซึ่งอนุบุพพวิหารสมาบัติ ๙ ประการนี้ โดย อนุโลมและปฏิโลมอย่างนี้แล้ว เมื่อนั้น เราจึงปฏิญาณว่าได้ตรัสรู้แล้ว ซึ่งอนุตร- *สัมมาสัมโพธิญาณ ในโลกพร้อมทั้งเทวโลก มารโลก พรหมโลก ในหมู่สัตว์ พร้อมทั้งสมณพราหมณ์ เทวดาและมนุษย์ก็แหละญาณทัสนะเกิดขึ้นแก่เราว่า เจโตวิมุติของเราไม่กำเริบชาตินี้มีในที่สุด บัดนี้ภพใหม่ไม่มี ฯ
จบสูตรที่ ๑๐
จบมหาวรรคที่ ๔
-----------------------------------------------------
รวมพระสูตรที่มีในวรรคนี้ คือ
๑. วิหารสูตรที่ ๑ ๒. วิหารสูตรที่ ๒ ๓. นิพพานสูตร ๔. คาวีสูตร ๕. ฌานสูตร ๖. อานันทสูตร ๗. พราหมณสูตร ๘. เทวสูตร ๙. นาคสูตร ๑๐. ตปุสสสูตร ฯ
-----------------------------------------------------

             เนื้อความพระไตรปิฎก เล่มที่ ๒๓ บรรทัดที่ ๙๓๕๐-๙๕๔๓ หน้าที่ ๔๐๓-๔๑๑. http://84000.org/tipitaka/english/v.php?B=23&A=9350&Z=9543&pagebreak=0 http://84000.org/tipitaka/english/r.php?B=23&A=9350&pagebreak=0              ฟังเนื้อความพระไตรปิฎก : [1], [2], [3]              อ่านเทียบพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาฯ :- http://84000.org/tipitaka/read/m_siri.php?B=23&siri=204              ศึกษาอรรถกถาได้ที่ :- http://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=23&i=245              พระไตรปิฏกฉบับภาษาบาลีอักษรไทย :- http://84000.org/tipitaka/read/pali_read.php?B=23&A=9622              อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย :- http://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=16&A=7078              The Pali Tipitaka in Roman :- http://84000.org/tipitaka/read/roman_read.php?B=23&A=9622              The Pali Atthakatha in Roman :- http://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=16&A=7078              สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๓ http://84000.org/tipitaka/read/?index_23              อ่านเทียบฉบับแปลอังกฤษ Compare with English Translation :- http://84000.org/tipitaka/english/metta.lk/23i236-e.php#sutta10 https://accesstoinsight.org/tipitaka/an/an09/an09.041.than.html http://www.buddha-vacana.org/sutta/anguttara/09/an09-041.html https://suttacentral.net/an9.41/en/sujato https://suttacentral.net/an9.41/en/thanissaro

อ่านหน้า[ต่าง] แรกอ่านหน้า[ต่าง] ที่แล้วแสดงหมายเลขหน้า
ในกรณี :- 
   บรรทัดแรกชองแต่ละหน้าอ่านหน้า[ต่าง] ถัดไปอ่านหน้า[ต่าง] สุดท้าย

บันทึก ๒๖ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๔๖. บันทึก ๓๐ มกราคม พ.ศ. ๒๕๔๙. บันทึกล่าสุด ๕ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๖๐. การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจากพระไตรปิฎกฉบับหลวง. หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]